Saturday, December 31, 2011

เสวนา เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย (27/12/54)

ความเห็นเด็กรัฐศาสตร์ต่อกรณี Internet freedom-ม.112 : แสงสว่างท่ามกลางความมืดมน


ผู้เขียน : นายเกลือ ประชาธรรม
ภาพโดย : กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย

หลังจากผลการตัดสินคดีอากง(นายอำพล ตั้งนพกุล)ปรากฏต่อหน้าสาธารณชน ประเด็นม.112ได้กลายเป็นที่ถกเถียงของสังคม(ในวงจำกัดอันได้แก่ กลุ่มปัญญาชน นักวิชาการ)อีกครั้งหนึ่ง บางกลุ่มเห็นว่าโทษของกฎหมายมาตรานี้มีความรุนแรงเกินไปหากเทียบกับประเทศเจริญแล้ว อีกทั้งยังมองว่าผลการตัดสินคดีนี้เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะแค่สิทธิและเสรีภาพที่จะพูดยังไม่มี จึงควรที่จะแก้ไข ปฏิรูปหรือยกเลิกไป ส่วนอีกฝากหนึ่งแม้จะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรานี้ แต่ด้วยอัตราโทษที่สูงเกินไป มิหนำซ้ำยังไปบังเกิดกับคนอายุรุ่นคุณปู่ที่แถบจะพิมพ์ Sms ไม่เป็น ก็นำมาซึ่งการตั้งคำถาม(แบบถูกผีทักษิณครอบงำ) ว่า "เป็นเพราะทักษิณอยากล้มเจ้า จึงให้ดำเนินคดีนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจ" หรือจะเป็นการตั้งสมมุติฐานว่า "เป็นแผนของกลุ่มล้มเจ้า" แต่ทั้งสองสมมุติฐานสะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินคดีนั้นรุนแรงไป

อย่างไรก็ดี ประเด็นคดีอากงก็สะเทือนขวัญ อารมณ์ และมุมมองต่อกฎหมายมาตรานี้ในวงสังคมออนไลน์ที่จำกัดเท่านั้น เพราะเท่าที่สังเกตดูการเดินขบวนรณรงค์ปล่อยอากง และปฏิรูปม.112 ที่ถนนคนเดินวัวลายจังหวัดเชียงใหม่ มีแต่คนถามว่า "อากงคือใคร" "ทำอะไรผิด" พร้อมกับทำท่าตกใจเมื่อได้ทราบว่าเขาถูกจำคุก 20 ปีจากการส่ง sms นอกจากนี้แผ่นพับแสดงเจตจำนงและเหตุผลของกลุ่มที่ต้องการแก้ไขม.112 หลายร้อยแผ่น ก็ถูกแจกหมดเกลี้ยง

แม้ว่า คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา จะจัดเต็มโดยเชิญนักวิชาการมาออกรายการ "ตอบโจทย์" เพื่อพูดคุยมาตรา112 ถึง 3 ตอนเต็ม รวมทั้งนักวิชาการทั้งเหลือง แดง หลากสีก็ร่วมกันออกแถลงการณ์ให้แก้ไขมาตรานี้(อ่านข่าวนี้) แต่คนก็ยังพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก อาจจะมีบางคนดีใจที่เริ่มมีสื่อมวลชนถามรัฐบาลถึงประเด็นนี้ แต่ก็ได้รับคำตอบมาแบบตีกรรเชียงหนีว่า "รัฐบาลจะไม่แตะเรื่องนี้" และการกระทำของรัฐบาลโดยคำประกาศกร้าวของรองนายกรัฐมนตรีฯท่านหนึ่ง ยิ่งทำให้คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งที่เลือกรัฐบาลนี้เสียใจไปตามๆ กันคือ การประกาศว่าจะปราบเว็บหมิ่น หรือการกดไลน์ข้อความที่ผิดกฎหมายก็อาจจะมีความผิดไปด้วย เพราะกฎหมายที่ใช้อ้างอิงอย่างพ.ร.บ.คอมฯ ยังเป็นที่ถกเถียงกันในประเด็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตีความว่าแค่ไหนถึงหมิ่น ยังมิรวมถึงประเด็นที่ว่า เป็นการลิดรอนเสรีภาพหรือไม่

"เราเลือกพรรคเพื่อไทยมา เพราะเห็นว่า เขาต่อต้านอำมาตย์ มีแนวคิดที่จะปฏิรูปประชาธิปไตยโดยการแก้รัฐธรรมนูญมากกว่าพรรคอื่น และประกาศคืนความเป็นธรรมให้คนเสื้อแดงที่ถูกฆ่า แต่หลังจากเป็นรัฐบาล นักโทษการเมืองก็ยังได้รับการประกันไม่หมด กฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพตกค้างมาจากรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างพ.ร.บ.คอมฯและม.112 ก็ไม่ได้รับการแก้ไข แถมถูกใช้ภายใต้รัฐบาลนี้มากขึ้น สงสัยจะฮั้วกันซะแล้วละมั้ง" คนเสื้อแดงไม่ประสงค์เปิดเผยนามคนหนึ่งกล่าว

เมื่อดูจากสถิติเรื่องการปิดเว็บก็จะเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยอยู่ได้ไม่ถึง 6 เดือน ปิด URL ไปแล้วกว่า 60,000 เว็บไซต์ ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่ง 2 ปี ปิด URL ไปแค่ 70,000 เว็บไซต์ ถ้ายึดสถิตินี้ก็จะเห็นว่ารัฐบาลที่เลือกไปยังทำงานไม่ได้ต่างไปจากรัฐบาลเท่าไรในแง่ของการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองให้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น มิหนำซ้ำยังพยายามปรับตัวเองให้เข้ากับโครงสร้างทางการเมืองของอำมาตย์อีกด้วย

เมื่อดูจากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว รู้สึกหมดหวังกับรัฐบาลและสังคมนี้เหลือเกิน ความหวังที่จะมีสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมอันที่มนุษย์พึงมี พึงได้ตามแบบประเทศสแกนดิเนเวียช่างห่างไกล จนเกิดคำถามว่า เราจะทำอย่างไร และฝากความหวังไว้ที่ใครในสังคมนี้ได้บ้าง แต่พลันเมื่อนึกถึงปรากฏการณ์หนึ่งก็ทำให้ความหวังที่ริบหรี่ในใจลุกโชติช่วงขึ้นมา อีกครั้งหนึ่ง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งผมได้มีโอกาสไปงาน "การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12 A Smaller World, Bigger Differences: รัฐศาสตร์ให้คำตอบอะไร?" ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ท่ามกลางบรรยากาศทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งจัดนิทรรศการโดยใช้ชื่อ "Internet Freedom is human Right" เมื่อเดินเข้าไปดูก็จะพบการให้ความรู้เรื่องสิทธิการรับรู้ข่าวสารซึ่งเป็นปฎิญญาสิทธิมนุษยชนสากล รวมถึงการรวบรวมเหตุการณ์ต่างๆในประเทศไทยที่เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต ตลอดจนมีการใช้สัญญาลักษณ์ เช่น แถบเซ็นเซอร์สีแดงพันรอบคอมพิวเตอร์จำลอง สติ๊กเกอร์เซ็นเซอร์ติดรอบตัวนักศึกษา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีมุมเล็กๆที่ให้ความรู้และข้อสงสัยเกี่ยวกับม.112 และคดีอากงอีกด้วย

ด้วยความสนใจจึงเข้าไปคุยกับ "ต้อม" หรือ นายวีรฉัตร แก้วประดิษฐ์ นักศึกษาจากสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มนักศึกษาผู้จัด ว่าทำไมถึงสนใจเลือกทำเรื่องนี้

ต้อม เล่าว่า แรงจูงใจในการจัดนิทรรศการมีหลายส่วน ส่วนแรก เนื่องจากเป็นนักศึกษา สาขาการระหว่างประเทศ และต้องเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยตรง ประกอบกับ เหตุการณ์สถานการณ์ในประเทศไทยที่มีการจับกุมดำเนินคนใช้งานอินเตอร์เน็ต ที่ทำให้เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเซ็นเซอร์ และการบล็อกช่องทางในการสื่อสารต่างๆ จึงอยากนำเสนอเรื่องนี้

"เราคิดว่าในโอกาสที่คณะเราเป็นเจ้าภาพ งานรัฐศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายจะได้มารวมตัวกัน เราจึงคิดว่าน่าจะจัดอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้คนเห็นความสำคัญของประเด็นสิทธิ และการแสดงความคิดเห็น แต่เราจะเน้นเรื่อง อินเตอร์เน็ต เพราะว่า เวลาเราพูดถึงอินเตอร์เน็ตมันเป็นโครงสร้างที่ใหญ่มากของโลกสมัยใหม่ มันไม่ใช่แค่ตัวเราแต่มันคอนเน็คคนทั่วโลก มีคนมาถามเหมือนกันว่าทำไมไม่ทำเรื่อง Freedom of speech มันเหมือนกับว่าคุณมีสิทธิที่จะพูดอะไรก็ได้ แต่ถ้าเขาบล็อกอินเตอร์เน็ตคุณ คุณจะพูดอย่างไร อินเตอร์เน็ตมันเป็นเหมือนช่องทางในการแสดงออก มันเกี่ยวกับสิทธิในการศึกษา การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นปฎิญญาสิทธิมนุษยชนสากล"

"เราก็เลยคิดตีมขึ้นมาเลยว่า เอาเรื่องนี้ละกัน เพราะไหนๆ เราก็เรียนมา แต่มักไม่ค่อยได้ใช้ แล้วยิ่งมีสถานการณ์ การจับกุมผู้กระทำความผิด เพียงเพราะเขาคิดหรือแสดงออก ประกอบกับเรื่องที่น่าขายหน้ามาก คือ freedom house ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนสากล ทำการวัดมาตรฐานการใช้อินเตอร์เน็ต ปรากฏว่าประเทศไทยเรา Not free โดยสถานการณ์เมื่อปีที่แล้วก็ Not free ถ้าวัดเฉพาะตัวอินเตอร์เน็ต ตรงเสรีภาพในเน็ตมันก็ Not free แล้วเขา report ออกมาเลยว่า มีการบล็อกและปิดเว็บ"

การพูดคุยกันอย่างได้อรรถรส ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะถามต่อไปว่า "มีบล็อกเล็กๆ ที่พูดเกี่ยวกับม.112 และคดีอากง พร้อมกับให้คนมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ มันเกี่ยวกับเรื่อง Internet freedom อย่างไร และทำไมเราถึงยกเรื่องนี้ขึ้นมา"

"โดยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นคดีอาชญากรรมหรือคดีแพ่งก็มีวิธีพิจารณาตามครรลองที่เขาเซ็ตขึ้นมา แต่เมื่อมันถูกผูกโยงเข้ากับเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะมาตรา 112 มันเป็นอะไรที่ sensitive สำหรับคน ถ้าคุณผูกโยงสองสิ่งนี้ด้วยกัน ถามว่าถ้าอากงหมิ่นพี่ หรือคนธรรมดาจะโดน 20 ปีไหม คำตอบคือไม่ อาจจะโดนปรับไป มันคือสิทธิที่เราต้องแสดงความคิดเห็น"

"แต่ว่าเมื่อกระบวนการพิจารณาคดี มันออกมาเป็นแบบนี้ มันผูกโยงเข้ากับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือ Internet freedom มันอยู่บนพื้นฐาน ของสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ถ้าเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วย "สิทธิมนุษยชน" มาตรา 19 เขาจะบอกไว้เลยว่าเรามีสิทธิแสดงความคิดเห็น ไม่ถูกแทรกแซง และข้ามพ้นเขตแดน เราสามารถคิดและพูดอะไรออกมาก็ได้ เพราะคำพูดมันไม่ทำให้ใครตาย"

"ถ้าไม่มี freedom of speech คุณมี internet freedom ไม่ได้ เพราะ freedom of speech มันไปสกัดกั้นการเซ็นเซอร์ ถ้าคุณไม่มี freedom of speech Freedom of Expression คุณก็จะถูกเซ็นเซอร์และก็จะเป็นคดีแบบอากง ลักษณะมันคล้ายๆกัน คือคุณไม่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ตัวตนคุณถูกทำให้เห็นเพียงแค่กรอบอะไรบางอย่างที่เขาขีดไว้ให้ ถามว่าแล้วคุณมีอำนาจอะไรมาขีดเส้นให้ฉันเดิน มันจึงสัมพันธ์กันตรงนี้"

"ถามว่าอากงไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ต ถูกต้อง แต่ต้องไม่ลืมว่าการจะเอาอากงเข้าคุกมันมาจากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ครอบคลุมโครงข่ายทั้งหมดของอินเตอร์เน็ต การเช็คอีมี่หรือการใช้งานมือถือ มันคือโครงสร้างที่ใหญ่และคลุมทั้งหมด"ต้อมตอบ

ด้วยความใคร่รู้ความคิดของนักศึกษา ที่เราเชื่อว่าเป็นความคิดบริสุทธิ์ ผมจึงถามต่อไปว่า "เราคิดยังไงกับม.112 หรือคดีอากง"

ต้อมตอบว่า "คิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าของสังคมเรา คนแก่อายุหกสิบกว่าต้องมารับชะตากรรมแบบนี้ในบั้นปลายของชีวิต ถ้าเรานึกว่าอากงคืออากงของเรา เป็นปู่เป็นตาของเรา เราจะรู้สึกอย่างไร คำถามง่ายๆ ที่เขาดีเฟ้นกันในชั้นศาล อากงทำจริงหรือเปล่า ทำหรือไม่ทำ ถ้าทำมันผิดขนาดนั้นเลยหรือ กดได้หรือไม่ได้ ส่งได้หรือไม่ได้อันนั้นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าทำจริงมันผิดขนาดนั้นเลยเหรอ ขนาดที่เขาต้องเอาชีวิตที่เหลือทั้งชีวิตมาทิ้งในคุก ถ้าโดนคดีตามที่ตัดสินจริง มันสมควรแล้วเหรอที่เราดูดายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเราได้"

เด็กคณะรัฐศาสตร์ เล่าให้ฟังอีกว่า งานประชุมรัฐศาสตร์แห่งชาติส่วนใหญ่ จะมีแต่งานเสนอ paper ไม่มีลักษณะของการให้คนมาปฏิสัมพันธ์กับประเด็นต่างๆ พอทำอะไรในสิ่งที่พวกเราคิด สิ่งที่พวกเราสนใจออกมา คนก็สนใจกันมาก เราทำสติ๊กเกอร์คนก็สนใจ

"ทุกคนใช้อินเตอร์เน็ต ถามว่าวันนี้ ถ้าไม่ใช้อินเตอร์เน็ต เหมือนคนไม่มีมือ ไม่มีปาก อยู่กับห้องเฉยๆมันเป็นไปไม่ได้ เพราะพอคนมันย้ายเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง คุณก็ต้องตามเข้าไป ผมเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่กระทบต่อตัวเขา"

ต้อมเล่าอีกว่า สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องการสื่อออกมาให้คนรับรู้ และนำไปสื่อสารต่อจากนิทรรศการนี้ คือ เมื่อยูเอ็นประกาศให้ สิทธิการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็น "สิทธิมนุษยชน" พวกเราที่เป็นมนุษย์มีสิทธิเข้าถึง รัฐไม่มีสิทธิมาปิดกั้นหรือแทรกแซง

"เราต้องการที่จะบอกกับคนที่มาร่วมงานว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ถ้าคุณยังรู้สึกว่าใช้แล้วไม่เดือดร้อน เพราะไอพีคุณไม่ถูกบล็อก เฟชบุ๊คคุณไม่ถูกปิด คุณไม่เดือดร้อน คุณไม่ถูกจับ แต่สักวันหนึ่งมันอาจจะเป็นคุณเหมือนแคมเปญที่บอกว่า "เราคืออากง" เหยื่อรายต่อไปอาจจะเป็นเราก็ได้"

ต้อมให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปมาตรา 112 อีกว่า ถ้าจะปฏิรูป ควรจะคิดกลไกขึ้นมาเพื่อให้การปฏิรูปนั้นมันไม่กลับมาในรูปแบบเดิม และควรคิดด้วยว่าจะปฏิรูปอย่างไรให้มันไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างคนที่คิดหรือเห็นต่าง

"ผมคิดว่า สังคมเรามาไกลมาก เราเป็นสังคมสมัยใหม่ ที่คนรับความคิดปนเปื้อนกันทั้งโลก ผมคิดว่ามันน่าจะถึงจุดที่เรายอมรับเสรีภาพ ซึ่งทั่วโลกก็เห็นประเด็นนี้แต่ทำไมเราถึงยังมืดบอด และคิดไม่ออกกับเรื่องพวกนี้ ผมไม่รู้ว่าเราอยู่จุดไหนของคดีอากง แต่เพื่อนบ้านเราทั้งหมด แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาเขาก็เห็นว่าประเด็นนี้มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่เราเห็นคนๆหนึ่งติดคุกเพียงเพราะเหตุผลนี้ เราควรต้องปรับเปลี่ยนเสียที"

หลังจากผมคุยกับต้อมเสร็จ ผมเริ่มมีความหวังกับสังคมนี้ขึ้นมาบ้าง เพราะอย่างน้อย "คนรุ่นใหม่" ก็ยังมีความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และแสดงออกมาผ่านงานนิทรรศการนี้ แม้ว่าคนรุ่นปู่อย่างอากง รุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นผม หรือรุ่นต้อมจะยังไม่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ตราบใดที่ความคิดนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในหัวของ "มนุษย์" และส่งผ่านไปยังชนรุ่นหลัง ต่อไป ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยก็อยู่ในระดับจิตใจ เหมือนที่เรอเน่ เดส์การ์ตส์ (Ren? Descartes) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เขียนไว้ว่า I think, therefore, I am. (ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่) เพราะเราคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิเสรีภาพจึงมีอยู่

ฉะนั้นเมื่อใดที่คนไทยเริ่มตระหนักว่า ประเทศเราควรมีสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพย่อมจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ผมเดินกลับไปที่งานนิทรรศการ พร้อมกับอ่านข้อความในกระดานแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง ด้วยความปลาบปลื้มใจ และยิ่งปลาบปลื้มใจมากขึ้นเมื่อมีนักศึกษาหญิงคนหนึ่ง ติดสติ๊กเกอร์ที่เขียนคำว่า "Free Click speak Ah Kong" เดินมาหาพร้อมใบหน้าที่สดใส แล้วบอกว่า "พี่อยากเขียนอะไร เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ หรือเรื่องของอากง ไหมค่ะ" ผมยิ้มรับด้วยความรู้สึกดีใจ นึกอยากจะเข้าไปกอดมาก แต่ก็ไม่กล้าเพราะกลัวโดนตบ

Sunday, November 13, 2011

พอล แชมเบอร์ส บทบาทของกองทัพกับการเมืองไทย

คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร


พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวอเมริกัน คร่ำหวอดกับการศึกษาเรื่อง บทบาทของกองทัพกับการเมืองไทยมาเป็นเวลานาน งานเขียนของเขาชิ้นล่าสุด ซึ่งเสนอในการสัมมนาที่จุฬาฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ความยาวประมาณ 100 หน้า เป็นบทความสำคัญที่ผู้สนใจการเมืองไทยทุกคนควรอ่าน

ในงานชิ้นนี้ พอลแสดงให้เห็นว่า หลังการรัฐประหารปี 2549 ฝ่ายกองทัพได้หวนกลับคืนสู่ศูนย์กลางของอำนาจการเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากที่เสียความน่าเชื่อถือไปภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535

โดยขณะนี้ ทหารมีบทบาทนำเหนือรัฐบาลพลเรือน (จนกล่าวได้ว่าเป็นอิสระจากรัฐบาลพลเรือน) ในหลายด้านด้วยกัน

โดย เฉพาะอย่างยิ่งกองทัพมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังการเป็นรัฐบาลของพรรคประชา ธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล และยังเป็นกำลังสำคัญในการดูแลความมั่นคงของนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน และกิจกรรมสำคัญของรัฐบาล ในภาวะซึ่งรัฐบาลไม่สามารถกุมบังเหียนกำกับด้านความมั่นคงภายในได้เต็มที่

พอลเห็นด้วยกับนักวิเคราะห์ไทยท่านหนึ่งที่สรุปว่า "ทหารแต่งตั้งตัวเอง เป็นผู้พิทักษ์และปกป้องการเมืองไทยในอนาคต"


โดย เขาขยายความต่อไปว่า "กองทัพเป็นผู้ปกป้องอนาคตจริงๆ ในเรื่องการพิทักษ์ชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กองทัพก็แสดงให้เห็นว่า สนใจที่จะปกปักษ์ประชาธิปไตยและรัฐบาลพลเรือนน้อยลงทุกที"

และเขา ยังสรุปอย่างตรงไปตรงมาอีกว่า "เมืองไทยวันนี้ อยู่ภายใต้การคุ้มครองของทหาร เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ประชาธิปไตยกำลังอยู่ในช่วงขาลง อาจกล่าวได้เลยว่า เมืองไทยได้ลดฐานะลงไปเป็นประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ หรือประชาธิปไตยปีกหักไปแล้ว"

อีกนัยหนึ่งพอลกำลังบอกว่า รัฐบาลขณะนี้เป็น "นอมินี" ของกองทัพนั่นเอง

พอลชี้ว่าฝ่ายกองทัพซึ่งเป็นฝ่ายนำอยู่ในขณะนี้ (พันธมิตรสามขาระหว่าง พลเอกอนุพงษ์ พลเอกประวิตร และพลเอกเปรม) ได้ตระหนักภายหลังความล้มเหลวของอดีต คมช.ว่า ตั้งรัฐบาลนอมินีที่พอจะควบคุมได้ ดีกว่าทำรัฐประหารแล้วพยายามเป็นรัฐบาลเสียเอง เมื่อรัฐบาลนอมินีล้มเหลว ก็ไม่ถูกว่า ลอยตัวไป แล้วยังมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลนอมินีอื่นๆ แทนได้อีก

บท วิเคราะห์นี้จึงนำไปสู่คำถาม "เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จำเป็นต้องมีทหารหนุนหลังจึงจะอยู่ได้ แต่ทหารจำเป็นต้องมี หรือต้องการให้รัฐบาลประชาธิปัตย์อยู่ในอำนาจต่อไปหรือเปล่า"

คำถามนี้แสดงความเปราะบางทางการเมืองปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือรัฐบาลปัจจุบันต้องพึ่งพากองทัพเป็นอย่างมาก

แต่ ใช่ว่าสถานะภาพของทหารจะแน่นปึ๊กอย่างที่คาดหวัง เนื่องจากขณะนี้ ทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดง ล้วนไม่พอใจและแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายกองทัพอย่างโจ่งแจ้ง

มาก ขึ้นเรื่อยๆ และเนื่องจากแต่ละกลุ่มสีเสื้อต่างก็มีพรรคการเมืองและพลังมวลชนหนุนหลัง อยู่เป็นจำนวนมาก แผ่กระจายไปหลายภาคของประเทศ

สถานภาพของกองทัพ จึงไม่มั่นคง และอาจจะนำไปสู่สภาวะการสูญเสียความน่าเชื่อถือ หรือความชอบธรรมได้อีกในทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นสมัยหลัง 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535 ตามมาด้วยผลพวงต่างๆ ที่เป็นภาพลบ รวมทั้งการถูกตัดงบประมาณทหารได้อีก

ถ้าฐานะของทหารไม่มั่นคง ความพยายามที่จะเป็น King maker อยู่เบื้องหลังรัฐบาล "นอมินี" ดังที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ อาจจะไปได้ไม่กี่น้ำ

ดังนั้น ทหารจึงยังจะต้องวางแผนอื่นๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าบทบาทของตนจะยังอยู่ในศูนย์กลางของการเมืองไทยภายใต้ กรอบของ "ประชาธิปไตยแบบกำกับได้"

ในบทความชิ้นนี้ พอลจึงพูดถึง ความเป็นไปได้ที่ทหารจะต้องการก่อตั้งพรรคการเมืองที่จะเป็นตัวแทนปกป้องผล ประโยชน์ของกลุ่มตน ดังที่เคยพยายามทำในอดีต (พรรคสามัคคีธรรม)

ซึ่ง ในขณะนี้ก็มีข่าวคราวแล้วว่าในอนาคต พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หรือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ หรืออาจจะเข้าร่วมมือกับพรรค เช่น ภูมิใจไทย ซึ่งพลเอกประวิตรมีความโยงใยอยู่กับเนวิน ชิดชอบ

ข้อเสนอของพอลมีความเป็นไปได้สูง กองทัพอาจเลือกทำทั้ง 2 อย่าง คือ ทั้งตั้งพรรคใหม่ และทั้งเข้าไปร่วมมือกับพรรคปัจจุบันบางพรรค

การ ตั้งพรรคใหม่มีภาษีตรงที่น่าจะเป็นตัวแทนของฝ่ายกองทัพได้ดีกว่า กรณีที่จะไปร่วมมือกับพรรคเดิมซึ่งมีกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ กำกับอยู่แล้ว

ใน การตั้งพรรคใหม่ ฝ่ายทหารก็ต้องพึ่งนักการเมืองหน้าเก่าๆ อยู่ดี เพราะลำพังฝ่ายทหารคงไม่มีฐานเสียงในระดับพื้นที่ ด้านพลังมวลชนที่แน่นหนาแต่อย่างใด หรือมีบ้างก็คงไม่มากพอ

ใน ประเด็นนี้ ก็มีนักการเมืองหน้าเก่าที่ยังมีฐานเสียง มีกระสุน และมีชนักปัญหาต่างๆ เป็นแรงจูงใจให้ต้องการหวนคืนสู่อำนาจให้ความร่วมมือด้วย (วัฒนา กำนันเป๊าะ ฯลฯ ) เราจึงอาจจะเห็นพัฒนาการหลายรูปแบบ รวมทั้งการร่วมมือกันระหว่างทหารกับนักการเมืองประเภทเจ้าพ่อหน้าเดิมๆ

โดย สรุป เป็นที่ชัดเจนจากงานศึกษาของพอล แชมเบอรส์ และจากการติดตามสถานการณ์ความเป็นจริงที่มองเห็นอยู่ว่าทหารได้หวนคืนสู่ ศูนย์กลางอำนาจการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง และคงจะพยายามดำรงสถานะนี้อยู่เป็นเวลานาน ด้วยภาวะของการแตกสลายของฟากพรรคการเมือง และด้วยความร่วมมือของพรรคการเมืองบางส่วนเอง

พอลแสดงความวิตก กังวลกับอนาคตของประชาธิปไตยไทยว่าปีกหัก เขาเกรงว่าประชาธิปไตยจะอยู่ในกำกับของทหารต่อไปในอนาคต ซึ่งจะทำให้การเมืองไทยเกิดภาวะไร้เสถียรภาพ และแนวโน้มที่จะเกิดรัฐประหารก็เป็นไปได้อีก โดยฝ่ายกองทัพสามารถอ้างสภาวะความมั่นคงภายในถูกคุกคามจากความไร้เสถียรภาพ ทางการเมืองเป็นเหตุผล

นัยของการหวนคืนสู่ศูนย์กลางอำนาจของฝ่ายทหาร ปรากฏให้เห็นแล้ว จากการที่งบประมาณทหารได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.2 ของงบประมาณประจำปี 2548 เป็นร้อยละ 8.5 ในปี 2551 ส่งผลให้เห็นเงินงบประมาณที่จะนำไปใช้ในด้านการสังคมการศึกษาและอื่นๆ ต้องลดลงไป

นอกจากนี้ยังมีนัยต่อประเด็นเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น ในการศึกษาของผู้เขียนและคณะร่วมวิจัยที่จุฬาฯ จากผลงานหลายชิ้น เรามีข้อค้นพบว่า สมัยทหารเป็นใหญ่ (สฤษดิ์ ถนอม ประภาส) การคอร์รัปชั่นอาจจะสูงกว่าสมัยประชาธิปไตย และสมัยทหารเป็นใหญ่ การตรวจสอบทำได้ยากกว่า ส.ต.ง.ไม่อาจตรวจสอบงบฯทหารได้ และสื่อถูกปิดปาก ทำให้ไม่อาจเปิดโปงปัญหาการคอร์รัปชั่นได้ จะมารู้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลทหารดังกล่าวล่มสลายไปแล้ว

อดีตผู้อำนวย การสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์กับคณะวิจัยโดยกล่าวว่ารัฐบาลทหารเป็นใหญ่ "...มีโอกาสคอร์รั่ปชันสูงสุด เพราะการกระจุกตัวของอำนาจมีสูง และไม่ต้องแบ่งกับใคร ยุคประชาธิปไตยอัตราการคอร์รัปชั่นน่าจะต่ำกว่า เพราะทำได้ยากขึ้น..."

อนึ่ง กรณีการคอร์รัปชั่นโดยนักการเมืองที่ถูกฟ้องร้องถึงชั้นศาลจนมีนักการเมือง ระดับ ร.ม.ต.และผู้มีอิทธิพลถูกลงโทษรายสำคัญๆ (รักเกียรติ กำนันเป๊าะ วัฒนา ฯลฯ) ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในสมัยประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ขณะนี้เรา พูดถึงการร่วมมือกันระหว่างข้าราชการ นักธุรกิจ และนักการเมืองในการคอร์รัปชั่น ว่าร้ายแรงและแก้ยากพยายามหาทางแก้ไขอยู่ แต่ที่ร้ายแรงกว่าและจะแก้ยากกว่าจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างทหารและนักการ เมือง


(ที่มา มติชนรายวัน , 30 กันยายน 2552)

Sunday, October 2, 2011

รายการเชียงใหม่..มุมใหม่ พาชมนิทรรศการศิลปะ Madifesto-มิตร ใจอินทร์ อดข้าวประท้วง



มิตร ใจอินทร์ อดข้าวประท้วง ขอแก้ไขกฏหมาย 112 เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะ Madifesto

รายการเชียงใหม่..มุมใหม่ พาชมนิทรรศการศิลปะ ติดตามรับชมเพิ่มเติมในYoutube




Sunday, September 25, 2011

<<< คณะนิติราษฎร์ออกแถลงการณ์ 4 ประเด็น เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์ >>>

แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์

เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์

ประเด็นที่ ๑

การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้

๑. ประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๒. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๓. ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาที่เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

๔. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาล ที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง

๕. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ ๓ และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ ๔ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้

๖. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ

ประเด็นที่ ๒

การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และนำเสนอสู่สาธารณะตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ แล้วนั้น

๑. คณะนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ และอุดมการณ์ และจำเป็นต้องแก้ไข บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรปฏิเสธว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องแก้ไข ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาและอภิปรายในวงกว้างอย่างจริงจัง

๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นเรื่องความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ จึงไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๙

๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๑๙ (๓)

ประเด็นที่ ๓

กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลย

และการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

สืบเนื่องจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อยมา มีการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ มีการใช้ความรุนแรง มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และมีผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ดังนั้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อบรรเทาความเสียหายของประชาชน คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม

๑. คณะนิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อยุติกระบวนการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือมีประเด็นทางการเมืองเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับการประกันตามกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นธรรม (Due Process) ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในกรณีทั่วไป สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้องถูกพิจารณาโดยเคร่งครัดและอย่างเป็นภาวะวิสัย ในขณะที่การเรียกประกันหรือหลักประกันก็ต้องไม่เกินความจำเป็นแก่กรณี ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๐ วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสอดคล้องกับหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๙

๒. โดยอาศัยหลักความรับผิดของรัฐ คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยอาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราค่าทดแทน สามารถอาศัยแนวทางตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ หรือพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นต้น และการได้รับค่าทดแทนดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายพึงได้ตามกฎหมายอื่น

๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดตามตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘

ประเด็นที่ ๔

การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย

๑. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด ๑๖ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง

๔. เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยจนหมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยแม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้

๕. คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดและไม่มีวิธีใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้ การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ และการแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มั่นคงตลอดกาล

๖. หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา

ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล

ธีระ สุธีวรางกูร

สาวตรี สุขศรี

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร

ท่าพระจันทร์, ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔


http://www.enlightened-jurists.com/download/56

Tuesday, March 29, 2011

ผู้ต้องขังเสื้อแดงเชียงใหม่ร่ำไห้วอนแกนนำช่วยประกันตัว


เมื่อวานนี้ (10 มีนาคม 2554) เวลา 9.00น. แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “แดงทั้งแผ่นดิน” นำโดย ธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธาน นปช. สมหวัง อัสราษี วรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ วรชัย เหมะ และรังษี เสรีชัย ร่วมด้วยแสวง บุตรดา ตัวแทนของกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 พร้อมทั้งบรรดาญาติผู้ต้องขัง ได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีเสื้อแดงกรณีร่วมกันฆ่านายเศรษฐา เจียมกิจวัฒนา บิดาของนายเทิดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา หรือ "โต้งวิหค" ดีเจแกนนำพันธมิตรในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงที่ทางเข้าหมู่บ้านระมิงค์เมื่อปลายปี 2551 (www.prachatai.com/journal/2008/11/19102) ซึ่งศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษาในวันที่ 8 เมษายน 2553 ตัดสินให้จำคุกจำเลยคนละ 20 ปี คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์

แกนนำ นปช. ได้เข้าพูดคุยสอบถามจำเลยและญาติ ในบรรยากาศที่หดหู่ เต็มไปด้วยน้ำตาจากความคับแค้น



ธิดากล่าวว่า แม้จะไม่ใช่คดีที่เกิดจากการสลายการชุมนุมเม.ย - พ.ค. 53 แต่แกนนำก็มาร่วมรับฟังเพื่อทราบปัญหา ได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับคดีโดยตลอด ไม่ได้ทอดทิ้ง รู้สึกเสียใจกับพี่น้องทุกคน สิ่งสำคัญที่สุดคือการต่อสู้คดีเพื่อความยุติธรรม คนเสื้อแดงสมควรต้องได้รับการประกันตัวทั้งสิ้น และรับปากว่าจะช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยในครั้งนี้แกนนำ นปช.ได้มอบเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้ต้องขังรายละ 2,000 บาทรวมทั้งสิ้น 6 ราย



นพรัตน์ แสงเพชร หนึ่งในจำเลยผู้ต้องขังกล่าวว่า ศาลตัดสินคดีโดยใช้หลักฐานเพียงภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ ซึ่งขณะเกิดเหตุเสียชีวิตไม่ปรากฏภาพของตนแต่อย่างใด พร้อมทั้งยืนยันว่า นี่คือหนึ่งในคดีเสื้อแดง

ปนัดดา แสงเพชร น้องสาวของ "นพรัตน์" เล่าว่า แม่ต้องป่วยกระเสาะกระแสะเนื่องจากช้อกจากการที่ลูกชายถูกตัดสินจำคุกถึง 20 ปีทั้งที่พยานหลักฐานก็ไม่ชัดเจน ส่วนครอบครัวต้องถูกยึดบ้านและรถ ต้องนำทรัพย์สินเก่าที่เคยมีออกขายเพื่อดำรงชีวิต เนื่องจาก "นพรัตน์" เป็นกำลังหลักในการหารายได้ให้ครอบครัว ทั้งนี้ "ปนัดดา" ได้กล่าวขอบคุณแสวง ในฐานะตัวแทนกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ที่ช่วยเหลือจากกลุ่มด้วยดีตลอดมา แต่ก็อยากให้พี่น้องเสื้อแดงอื่นๆ ได้เข้ามาร่วมกันช่วยพี่ชายตนด้วย

สมศักดิ์ อ่อนไสว ผู้ต้องขังอีกคนหนึ่งเล่าทั้งน้ำตาแสดงความน้อยใจว่า ขาดคนดูแลทั้งที่เวลาผ่านไปสองปีกว่าแล้ว ภรรยาจะมาเยี่ยมๆ บ่อยๆ ก็ไม่ได้เพราะลำพังการดำเนินชีวิตก็ลำบากขัดสนอยู่แล้ว ยืนยันได้ว่าตนไม่ใช่ผู้กระทำผิด

อุดม เมฆขุนทด ภรรยา "สมศักดิ์" (www.prachatai.com/journal/2011/01/32675) ได้นำจดหมายของสมศักดิ์มาแสดงให้แก่แกนนำที่มาเข้าเยี่ยมด้วย





พยอม ดวงแก้ว, บุญรอด ไชยมโน และ แดง ปวนมูล จำเลยในคดีเดียวกันอีกสามคน ได้แสดงความต้องการประกันตัวอย่างเร่งด่วนในระหว่างอุทธรณ์ โดยขอความช่วยเหลือจากแกนนำ นปช. และผู้เกี่ยวข้อง

แสงทอง ดวงแก้ว ภรรยาของ "พยอม" เล่าว่า "พยอม" มีอาชีพขายน้ำแข็งไส ไปสมัครเป็นการ์ดแล้วเขาไม่รับ แต่ก็ยังไปขายของในที่ชุมนุมทุกครั้ง ตนและพยอมมีภาระต้องเลี้ยงดูหลานชายอายุ 7 ขวบ ซึ่งมีอาการลิ้นหัวใจรั่ว เคยผ่าตัดสมองมาก่อน ทั้งเด็กยังมีอาการออทิสม์หรือที่เรียกว่า "เด็กพิเศษ" อีกด้วย

บัวจันทร์ ปวนมูล มารดาของ "แดง" เป็นแม่ค้าขายผักริมทาง สุขภาพไม่ดีเนื่องจากอายุมากแล้วยังต้องมาคอยดูแลลูกชาย จึงไม่ค่อยได้ขายของ อยากให้ลูกชายได้ประกันตัวออกมา

ส่วนประยุทธ บุญวิจิตร เป็นผู้ต้องขังรายเดียวที่ไม่มีญาติเข้าเยี่ยมด้วยในวันนี้เนื่องจากภรรยาประยุทธเป็นคนสติไม่สมประกอบและได้รับประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเดินไม่ได้ ก่อนหน้าจะถูกจับกุม "ประยุทธ" ประกอบอาชีพเก็บของเก่าขาย อาศัยอยู่เพิงสังกะสีบริเวณหลังวัดโลกโมฬี และตัว "ประยุทธ" เองก็มีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ก่อนถูกจับกุมด้วยเช่นกัน



ส่วนคดีเสื้อแดงที่เกิดขึ้นภายหลังการสลายการชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่ (ชาย) แจ้งว่าได้รับการประกันตัวออกไปทั้งหมดแล้ว แต่บางรายยังไม่ทราบชัดว่าเป็นผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับเสื้อแดงหรือไม่ โดยเฉพาะรายที่ยิง m79 ใส่บ้านของคะแนน สุภา พ่อตาของเนวิน ชิดชอบ (www.prachatai.com/journal/2010/11/32026)

Monday, March 21, 2011

ชีวิตลูกเมียผู้ต้องขัง คดีแดงปะทะเหลืองเชียงใหม่

นักข่าวพลเมือง: ชีวิตลูกเมียผู้ต้องขัง คดีแดงปะทะเหลืองเชียงใหม่


เช้าวันเด็กแห่งชาติเมื่อเสาร์ก่อนที่สนามเด็กเล่นเล็กๆ ในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง อุดมพาลูกสาววัยสามขวบซึ่งจริงๆ แล้วเป็นลูกของน้องสาวตัวเองที่รับมาช่วยเลี้ยงดูร่วมกับสมศักดิ์ อ่อนไสว สามีที่ตอนนี้ถูกจับและถูกจองจำตลอดมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 ด้วยคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาอยู่ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างคนเสื้อแดงกับฝ่ายตรงข้ามในการชุมนุมทางการเมือง (อ่านเพิ่มเติม: สั่งจำคุก 20 ปี ไม่รอลงอาญา-ห้ามประกัน5 แกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ / รักเชียงใหม่ 51 ปะทะเดือดเจ็บ 2 ฝ่าย พ่อแกนนำทหารเสือพระราชาดับ)

มองเผินๆ แล้ว เด็กหญิงคนนี้ก็เหมือนเด็กอื่นทั่วไปที่อยากเล่นอยากรู้อยากเห็น แต่เมื่อสังเกตติดตามไปสักพักหนึ่งก็เห็นว่า เด็กมีนิสัยเก็บตัวไม่กล้าเข้าร่วมกลุ่มกับเด็กอื่นๆ
หนึ่งในนักศึกษาที่เป็นทีมงานจัดกิจกรรมวันเด็กครั้งนี้เข้าไปพูดคุยและชวนน้องเล่นกันสองคน เด็กหญิงก็เล่นด้วย แต่เมื่อชวนให้ร่วมกิจกรรมเล่นเกมหรือวาดรูปแข่งกับคนอื่น เด็กหญิงกลับหลบไปแอบเกาะติดอยู่กับแม่ จะเป็นด้วยความที่ตัวเล็กกว่าคนอื่น หรือด้วยความที่ขาดบางสิ่งบางอย่างหรือไม่ ที่ทำให้เด็กหญิงไม่กล้าเข้าร่วมกลุ่มกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน

การพบเจอกันเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ คงไม่สามารถจะสรุปได้ แต่ใครๆ ก็คงรู้สึกได้ไม่ต่างกันนัก

จากที่มีโอกาสได้พูดคุยกับ "อุดม" ในวันถัดมา ได้ความว่า หลังจากที่ "สมศักดิ์" ถูกจับ ชีวิตก็ต้องระหกระเหินย้ายที่อยู่บ่อยครั้ง อาชีพการงานไม่เป็นหลักแหล่ง "สมศักดิ์" เคยขับสามล้อรับจ้างหาเลี้ยงดูแลครอบครัว แต่เมื่อถูกจับกุมก็ไม่เคยได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เลย ยังไม่ถึงปีดี ก็มีคำพิพากษาศาลให้จำคุก 20 ปี ซึ่งทนายความแจ้งกับ "อุดม" ว่าคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ แต่ในสำเนาคำพิพากษาระบุว่าสมศักดิ์ "ไม่ได้ยื่นคำให้การ" ...

แม้จากปากคำของอุดมจะเล่าว่าสมศักดิ์ในขณะที่ต้องขังอยู่นี้ยังคงเชื่อว่า "ถ้าเราไม่ได้กระทำผิดจริงคงจะไม่เป็นอะไรหรอก" แต่คำแนะนำของทนายความ คือ ให้รอ...

แม้ "อุดม" จะได้รับการติดต่อจากหน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่มีหน้าที่ช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ได้อะไรมากไปกว่าเงินช่วยเหลือส่วนตัวเพื่อการศึกษาเด็กจำนวน 3,000 บาทจากเจ้าหน้าที่บางรายที่เห็นอกเห็นใจ

อุดมประสบชะตากรรมเหมือนกับอีกหลายครอบครัวที่ไม่รู้ว่าจะหาความช่วยเหลือได้จากที่ไหนอีก ไม่ว่าในทางคดีหรือทางความยากลำบากในชีวิตส่วนตัว

ปัจจุบันอุดมรับจ้างนวดแผนโบราณอยู่ที่โรงแรมเล็กๆ และอาศัยอยู่ในโรงแรมแห่งนั้นกับลูกสาววัยสามขวบ

==============================================================





==============================================================
ร่วมช่วยเหลือ "ครอบครัวผู้ต้องขัง"
บัญชี : นางแสงทอง ดวงแก้ว กับ นางอุดม เฆมขุนทด (ของครอบครัวโดยตรงครับ)
ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด สาขาตลาดสันทราย
เลขที่ 772-0-05572-7