Sunday, November 13, 2011

พอล แชมเบอร์ส บทบาทของกองทัพกับการเมืองไทย

คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ

โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร


พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวอเมริกัน คร่ำหวอดกับการศึกษาเรื่อง บทบาทของกองทัพกับการเมืองไทยมาเป็นเวลานาน งานเขียนของเขาชิ้นล่าสุด ซึ่งเสนอในการสัมมนาที่จุฬาฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ความยาวประมาณ 100 หน้า เป็นบทความสำคัญที่ผู้สนใจการเมืองไทยทุกคนควรอ่าน

ในงานชิ้นนี้ พอลแสดงให้เห็นว่า หลังการรัฐประหารปี 2549 ฝ่ายกองทัพได้หวนกลับคืนสู่ศูนย์กลางของอำนาจการเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากที่เสียความน่าเชื่อถือไปภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535

โดยขณะนี้ ทหารมีบทบาทนำเหนือรัฐบาลพลเรือน (จนกล่าวได้ว่าเป็นอิสระจากรัฐบาลพลเรือน) ในหลายด้านด้วยกัน

โดย เฉพาะอย่างยิ่งกองทัพมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังการเป็นรัฐบาลของพรรคประชา ธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล และยังเป็นกำลังสำคัญในการดูแลความมั่นคงของนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน และกิจกรรมสำคัญของรัฐบาล ในภาวะซึ่งรัฐบาลไม่สามารถกุมบังเหียนกำกับด้านความมั่นคงภายในได้เต็มที่

พอลเห็นด้วยกับนักวิเคราะห์ไทยท่านหนึ่งที่สรุปว่า "ทหารแต่งตั้งตัวเอง เป็นผู้พิทักษ์และปกป้องการเมืองไทยในอนาคต"


โดย เขาขยายความต่อไปว่า "กองทัพเป็นผู้ปกป้องอนาคตจริงๆ ในเรื่องการพิทักษ์ชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กองทัพก็แสดงให้เห็นว่า สนใจที่จะปกปักษ์ประชาธิปไตยและรัฐบาลพลเรือนน้อยลงทุกที"

และเขา ยังสรุปอย่างตรงไปตรงมาอีกว่า "เมืองไทยวันนี้ อยู่ภายใต้การคุ้มครองของทหาร เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ประชาธิปไตยกำลังอยู่ในช่วงขาลง อาจกล่าวได้เลยว่า เมืองไทยได้ลดฐานะลงไปเป็นประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ หรือประชาธิปไตยปีกหักไปแล้ว"

อีกนัยหนึ่งพอลกำลังบอกว่า รัฐบาลขณะนี้เป็น "นอมินี" ของกองทัพนั่นเอง

พอลชี้ว่าฝ่ายกองทัพซึ่งเป็นฝ่ายนำอยู่ในขณะนี้ (พันธมิตรสามขาระหว่าง พลเอกอนุพงษ์ พลเอกประวิตร และพลเอกเปรม) ได้ตระหนักภายหลังความล้มเหลวของอดีต คมช.ว่า ตั้งรัฐบาลนอมินีที่พอจะควบคุมได้ ดีกว่าทำรัฐประหารแล้วพยายามเป็นรัฐบาลเสียเอง เมื่อรัฐบาลนอมินีล้มเหลว ก็ไม่ถูกว่า ลอยตัวไป แล้วยังมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลนอมินีอื่นๆ แทนได้อีก

บท วิเคราะห์นี้จึงนำไปสู่คำถาม "เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จำเป็นต้องมีทหารหนุนหลังจึงจะอยู่ได้ แต่ทหารจำเป็นต้องมี หรือต้องการให้รัฐบาลประชาธิปัตย์อยู่ในอำนาจต่อไปหรือเปล่า"

คำถามนี้แสดงความเปราะบางทางการเมืองปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือรัฐบาลปัจจุบันต้องพึ่งพากองทัพเป็นอย่างมาก

แต่ ใช่ว่าสถานะภาพของทหารจะแน่นปึ๊กอย่างที่คาดหวัง เนื่องจากขณะนี้ ทั้งกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดง ล้วนไม่พอใจและแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายกองทัพอย่างโจ่งแจ้ง

มาก ขึ้นเรื่อยๆ และเนื่องจากแต่ละกลุ่มสีเสื้อต่างก็มีพรรคการเมืองและพลังมวลชนหนุนหลัง อยู่เป็นจำนวนมาก แผ่กระจายไปหลายภาคของประเทศ

สถานภาพของกองทัพ จึงไม่มั่นคง และอาจจะนำไปสู่สภาวะการสูญเสียความน่าเชื่อถือ หรือความชอบธรรมได้อีกในทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นสมัยหลัง 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535 ตามมาด้วยผลพวงต่างๆ ที่เป็นภาพลบ รวมทั้งการถูกตัดงบประมาณทหารได้อีก

ถ้าฐานะของทหารไม่มั่นคง ความพยายามที่จะเป็น King maker อยู่เบื้องหลังรัฐบาล "นอมินี" ดังที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ อาจจะไปได้ไม่กี่น้ำ

ดังนั้น ทหารจึงยังจะต้องวางแผนอื่นๆ เพื่อเป็นหลักประกันว่าบทบาทของตนจะยังอยู่ในศูนย์กลางของการเมืองไทยภายใต้ กรอบของ "ประชาธิปไตยแบบกำกับได้"

ในบทความชิ้นนี้ พอลจึงพูดถึง ความเป็นไปได้ที่ทหารจะต้องการก่อตั้งพรรคการเมืองที่จะเป็นตัวแทนปกป้องผล ประโยชน์ของกลุ่มตน ดังที่เคยพยายามทำในอดีต (พรรคสามัคคีธรรม)

ซึ่ง ในขณะนี้ก็มีข่าวคราวแล้วว่าในอนาคต พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หรือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อาจจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ หรืออาจจะเข้าร่วมมือกับพรรค เช่น ภูมิใจไทย ซึ่งพลเอกประวิตรมีความโยงใยอยู่กับเนวิน ชิดชอบ

ข้อเสนอของพอลมีความเป็นไปได้สูง กองทัพอาจเลือกทำทั้ง 2 อย่าง คือ ทั้งตั้งพรรคใหม่ และทั้งเข้าไปร่วมมือกับพรรคปัจจุบันบางพรรค

การ ตั้งพรรคใหม่มีภาษีตรงที่น่าจะเป็นตัวแทนของฝ่ายกองทัพได้ดีกว่า กรณีที่จะไปร่วมมือกับพรรคเดิมซึ่งมีกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ กำกับอยู่แล้ว

ใน การตั้งพรรคใหม่ ฝ่ายทหารก็ต้องพึ่งนักการเมืองหน้าเก่าๆ อยู่ดี เพราะลำพังฝ่ายทหารคงไม่มีฐานเสียงในระดับพื้นที่ ด้านพลังมวลชนที่แน่นหนาแต่อย่างใด หรือมีบ้างก็คงไม่มากพอ

ใน ประเด็นนี้ ก็มีนักการเมืองหน้าเก่าที่ยังมีฐานเสียง มีกระสุน และมีชนักปัญหาต่างๆ เป็นแรงจูงใจให้ต้องการหวนคืนสู่อำนาจให้ความร่วมมือด้วย (วัฒนา กำนันเป๊าะ ฯลฯ ) เราจึงอาจจะเห็นพัฒนาการหลายรูปแบบ รวมทั้งการร่วมมือกันระหว่างทหารกับนักการเมืองประเภทเจ้าพ่อหน้าเดิมๆ

โดย สรุป เป็นที่ชัดเจนจากงานศึกษาของพอล แชมเบอรส์ และจากการติดตามสถานการณ์ความเป็นจริงที่มองเห็นอยู่ว่าทหารได้หวนคืนสู่ ศูนย์กลางอำนาจการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง และคงจะพยายามดำรงสถานะนี้อยู่เป็นเวลานาน ด้วยภาวะของการแตกสลายของฟากพรรคการเมือง และด้วยความร่วมมือของพรรคการเมืองบางส่วนเอง

พอลแสดงความวิตก กังวลกับอนาคตของประชาธิปไตยไทยว่าปีกหัก เขาเกรงว่าประชาธิปไตยจะอยู่ในกำกับของทหารต่อไปในอนาคต ซึ่งจะทำให้การเมืองไทยเกิดภาวะไร้เสถียรภาพ และแนวโน้มที่จะเกิดรัฐประหารก็เป็นไปได้อีก โดยฝ่ายกองทัพสามารถอ้างสภาวะความมั่นคงภายในถูกคุกคามจากความไร้เสถียรภาพ ทางการเมืองเป็นเหตุผล

นัยของการหวนคืนสู่ศูนย์กลางอำนาจของฝ่ายทหาร ปรากฏให้เห็นแล้ว จากการที่งบประมาณทหารได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.2 ของงบประมาณประจำปี 2548 เป็นร้อยละ 8.5 ในปี 2551 ส่งผลให้เห็นเงินงบประมาณที่จะนำไปใช้ในด้านการสังคมการศึกษาและอื่นๆ ต้องลดลงไป

นอกจากนี้ยังมีนัยต่อประเด็นเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่น ในการศึกษาของผู้เขียนและคณะร่วมวิจัยที่จุฬาฯ จากผลงานหลายชิ้น เรามีข้อค้นพบว่า สมัยทหารเป็นใหญ่ (สฤษดิ์ ถนอม ประภาส) การคอร์รัปชั่นอาจจะสูงกว่าสมัยประชาธิปไตย และสมัยทหารเป็นใหญ่ การตรวจสอบทำได้ยากกว่า ส.ต.ง.ไม่อาจตรวจสอบงบฯทหารได้ และสื่อถูกปิดปาก ทำให้ไม่อาจเปิดโปงปัญหาการคอร์รัปชั่นได้ จะมารู้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลทหารดังกล่าวล่มสลายไปแล้ว

อดีตผู้อำนวย การสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์กับคณะวิจัยโดยกล่าวว่ารัฐบาลทหารเป็นใหญ่ "...มีโอกาสคอร์รั่ปชันสูงสุด เพราะการกระจุกตัวของอำนาจมีสูง และไม่ต้องแบ่งกับใคร ยุคประชาธิปไตยอัตราการคอร์รัปชั่นน่าจะต่ำกว่า เพราะทำได้ยากขึ้น..."

อนึ่ง กรณีการคอร์รัปชั่นโดยนักการเมืองที่ถูกฟ้องร้องถึงชั้นศาลจนมีนักการเมือง ระดับ ร.ม.ต.และผู้มีอิทธิพลถูกลงโทษรายสำคัญๆ (รักเกียรติ กำนันเป๊าะ วัฒนา ฯลฯ) ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในสมัยประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ขณะนี้เรา พูดถึงการร่วมมือกันระหว่างข้าราชการ นักธุรกิจ และนักการเมืองในการคอร์รัปชั่น ว่าร้ายแรงและแก้ยากพยายามหาทางแก้ไขอยู่ แต่ที่ร้ายแรงกว่าและจะแก้ยากกว่าจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างทหารและนักการ เมือง


(ที่มา มติชนรายวัน , 30 กันยายน 2552)