Sunday, January 23, 2011

กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์ของประชาชน


กุหลาบ สายประดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ร.ศ.๑๒๓ ซึ่งเป็นวันสิ้นปี พ.ศ.๒๔๔๗ ตามปฏิทินเก่า บิดาชื่อนายสุวรรณ เป็นเสมียนเอกกรมรถไฟ มารดาชื่อ นางสมบุญ กุหลาบมีพี่สาว ๑ คน ชื่อ จำรัส ได้รับการศึกษาในวัยเด็กที่โรงเรียนวัดหัวลำโพงจนจบชั้นประถม ๔ จากนั้นเข้าเรียนโรงเรียนทหารเด็กของเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุฒิ และมาเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์

บิดาของกุหลาบ ถึงแก่กรรมตั้งแต่เมื่อเขาอายุได้ ๖ ปี ทำให้ครอบครัวของเขาต้องอยู่ในฐานะยากจนมาก มารดาของเขาต้องรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนพี่สาวยึดอาชีพแสดงละครร้อง จึงสามารถที่จะส่งกุหลาบให้เรียนจบจบชั้นมัธยมได้ จากพื้นฐานครอบครัวเช่นนี้น่าจะทำให้กุหลาบเป็นคนที่มีความรู้สึกเห็นใจคน ยากจนตั้งแต่อยู่โรงเรียนมัธยม

กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้เริ่มเขียนหนังสือ และบทกวีลงตีพิมพ์ในนิตยสารหลายเล่ม และได้เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรกที่ได้ตีพิมพ์ใน พ.ศ.๒๔๖๗ คือเรื่อง “คุณพี่มาแล้ว” พิมพ์โดยคณะรวมการแปล กุหลาบ จบชั้นมัธยม ๘ ใน พ.ศ.๒๔๖๘ และกุหลาบก็เริ่มต้นชีวิตนักเขียน โดยการเขียนเรื่องส่งไปลงตามนิตยสารต่าง ๆ และเริ่มเขียนนวนิยายรักประโลมโลกภายใต้นามปากกาศรีบูรพา ได้แก่เรื่อง หัวใจปรารถนา โลกสันนิวาส ผจญบาป ลูกผู้ชาย ปราบพยศ เป็นต้น ในหนังสือเหล่านี้ เริ่มแสดงให้เห็นว่า กุหลาบนั้นมีความคิดที่รักความเป็นธรรม และคัดค้านความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ดังจะเห็นได้จากในนวนิยายเรื่อง ลูกผู้ชาย ซึ่งกุหลาบแต่งในปี พ.ศ.๒๔๗๑ แม้ว่าจะเป็นเรื่องรักประโลมโลกธรรมดา แต่ก็ได้สะท้อนให้เห็น อุดมการณ์แบบลูกผู้ชายที่เน้นการเสียสละเพื่อส่วนรวม


ต่อมา ใน พ.ศ.๒๔๗๒ ก็ได้ร่วมทุนกับเพื่อนเพื่อทำหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษรายปักษ์ โดยกุหลาบ รับตำแหน่งเจ้าของและบรรณาธิการ แนวความคิดในการออกหนังสือเล่มนี้ ก็ยังเป็นการเน้นอุดมการณ์สุภาพบุรุษที่เน้นการเสียสละเพื่อส่วนรวม และจะเห็นได้ว่ากุหลาบได้ปรับเปลี่ยนมาสู่อุดมการณ์แห่งความเสมอภาคของ มนุษย์ ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์ที่เกิดมาย่อมมีฐานะที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น เขาจึงได้เขียนบทความชุดในชื่อว่า มนุษยภาพ ลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุงเพื่อแสดงจุดมุ่งหมายให้สังคมไทยสนใจเรื่องสิทธิ และความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ บทความนี้ ทำให้หนังสือพิมพ์ศรีกรุงถูกปิดถึง ๗ วัน แต่กระนั้นกุหลาบก็ได้เขียนนวนิยายเรื่อง "สงครามชีวิต" เป็นรูปจดหมายรักโต้ตอบ โดยในจดหมายรักเหล่านี้ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะในเชิงวิจารณ์สังคมไทยโดยเฉพาะในเรื่องช่องว่าง ทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นสำนึกเกี่ยวกับความเป็นธรรมในสังคมเช่นเดียวกัน


เมื่อ เกิดการปฏิวัติวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ แล้ว กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็มีท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติทันที โดยการเขียนบทความเรื่อง “สร้างสยามใหม่ในชั่วเวลา ๗ วัน” อธิบายให้เห็นคุณูปการของการปฏิวัติครั้งนี้อย่างชัดเจนว่า ภายในเวลา ๗ วัน คณะราษฎรได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ทำไม่ได้นั่น คือ การดำเนินการให้มีธรรมนูญการปกครองและให้มีสภาราษฎรในสยาม


จาก นั้น กุหลาบก็ได้เขียนบทความ ๓ ตอนครั้งใหม่ โดยบทความแรกชื่อว่า สมรรถภาพของสยามใหม่อยู่ที่ไหน บทความที่สองชื่อ ชาติกำเนิดไม่ใช่สมรรถภาพของคน และ บทความสุดท้ายชื่อ ความเชื่อมั่นของสยามใหม่ อยู่ที่คุณวุฒิและคุณธรรมของบุคคล บทความชุดนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า ความยึดมั่นของชาวสยาม ที่เห็นว่าชาติกำเนิดเป็นที่มาแห่งสมรรถภาพของประเทศนั้นเป็นความยึดมั่นที่ ผิด คนที่กำเนิดมาดีหรือชนชั้นเจ้านั้น ก็เหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไปที่มีทั้งโง่และฉลาด ดังนั้นการผูกขาดอำนาจไว้ในมือเจ้านายจึงไม่ถูกต้องการปฏิวัติแล้วนำมาซึ่ง สิทธิของราษฎรจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วยเหตุผลแล้ว


หลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ ม.จ.วรรณไวยากร วรวรรณ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเจ้านายที่สนับสนุนการปฏิวัติ ต้องการที่จะออกหนังสือพิมพ์การเมืองชื่อ “ประชาชาติ” เพื่อเสริมสร้างความรู้ในด้านประชาธิปไตยแก่ประชาชน จึงได้ชักชวนให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการและชักชวนเพื่อนของกุหลาบหลายคนร่วมในกอง บรรณาธิการด้วย หนังสือพิมพ์นี้ออกฉบับปฐมฤกษ์ ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๕ และกลายเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญในสมัยแห่งการบริหารของคณะราษฎร แต่ต่อมา ได้เกิดปัญหา เพราะฝ่ายของ พ.อ.หลวงพิบูลสงครามเห็นว่า ประชาชาติแสดงท่าทีสนับสนุน พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของตน เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งถึงขั้นแตกหัก กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการ และเดินทางไปดูงานที่หนังสือพิมพ์อาซาฮี ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา ๖ เดือน ในระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๙ ซึ่งในโอกาสนี้เองที่เขาได้เก็บข้อมูลมาเขียนนวนิยายเรื่องสำคัญ คือ เรื่อง ข้างหลังภาพ


เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ถูกจับกุมเข้าคุกครั้งแรก ทั้งนี้เหตุการณ์สืบเนื่องมาจากการที่ญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ และรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตัดสินใจยอมให้ญี่ปุ่นผ่านแดนและร่วมมือกับญี่ปุ่น ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ ได้มีกลุ่มคนไทยผู้รักชาติใช้นามว่า คณะไทยอิสสระ ออกใบปลิวต่อต้านญี่ปุ่นและโจมตีรัฐบาลจอมพล ป. ว่ายอมตกเป็นเครื่องมือของญี่ปุ่น รัฐบาลหวาดระแวงสงสัยนักหนังสือพิมพ์ว่าอยู่เบื้องหลังการทำใบปลิว ในวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ จึงได้จับกุม กุหลาบ สายประดิษฐ์ อารีย์ ลีวีระ ขจร สหัสจินดา เฉวียง เศวตทัต ดำริห์ ปัทมะศิริ สุรีย์ ทองวานิช และคนอื่น ๆ ในข้อหาต้องสงสัยว่า จะเป็นผู้พิมพ์ใบปลิวแจก แต่ต่อมาปลายเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ ทางการตำรวจได้จับกุมนายเล้ง โบราณวงศ์ ในขณะที่กำลังเตรียมใบปลิวไทยอิสสระฉบับที่ ๒ จึงได้ทราบว่า กลุ่มนักเขียนที่จับมาไม่ใช่ไทยอิสระ กุหลาบและนักหนังสือพิมพ์คนอื่น ๆ จึงถูกปล่อยตัว แม้กระนั้นทางการรัฐบาลก็ยังคงคุมขังกุหลาบเอาไว้ถึง ๘๔ วัน


เมื่อ สงครามโลกยุติลงในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘ รัฐบาลพลเรือน ที่สนับสนุนนายปรีดี พยมยงค์ มีบทบาทสำคัญในการบริหารประเทศ หนังสือพิมพ์ก็สามารถเสนอข่าวสารได้อย่างเป็นอิสระ ในระยะนี้เอง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับความช่วยเหลือจากปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ให้กู้เงินธนาคารเอเชีย ไปศึกษาด้านรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เขาจึงออกเดินทางไปออสเตรเลียในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๐ และอยู่ในออสเตรเลีย จนถึงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ ก็เดินทางกลับ ซึ่งเป็นระยะที่รัฐบาลพลเรือนได้ถูกยึดอำนาจโค่นล้มไปแล้ว และรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหารเป็นผู้บริหารประเทศ

ในระยะนี้ เป็นระยะที่แนวคิดสังคมนิยมเริ่มเผยแพร่ในสังคมไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลสะเทือนจากการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน ที่น่าสนใจก็คือ กุหลาบก็ได้รับผลสะเทือนจากแนวคิดสังคมนิยมเช่นกัน หากแต่เป็นแนวคิดสังคมนิยมจากออสเตรเลีย ทำให้เขาเริ่มเปลี่ยนจากนักคิดเชิงมนุษยธรรมมาสู่นักคิดสังคมนิยม ที่ถือจุดยืนเพื่อประชาชนคนยากจน


กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เข้าร่วมในกองบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์น ซึ่งเป็นนิตยสารสำคัญที่เผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมในสังคมไทย และเขียนนวนิยายเรื่อง จนกว่าเราจะพบกันอีก (พ.ศ.๒๔๙๓) ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวนิยายเพื่อชีวิตเล่มแรกในสังคมไทย โดยเนื้อเรื่องของนวนิยายนี้ ดำเนินไปด้วยการสนทนาแต่ก็สะท้อนถึงการพัฒนาความคิดของกุหลาบที่อธิบายการ เปลี่ยนความคิดของตัวละครเอกที่เปลี่ยนจากการดำเนินชีวิตแบบหนุ่มเสเพลมาสู่ การเป็นนักอุดมคติที่มีความรักในมวลมนุษยชาติ และเปี่ยมไปด้วยความหวังที่จะกลับมาผลักดันสังคมไทยให้เปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ ดีขึ้น นอกจากนี้ก็คือเรื่อง ปรัชญาของลัทธิมาร์กซิส ใน พ.ศ.๒๔๙๓


ใน เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๓ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา กุหลาบได้เข้าร่วมก่อตั้งขบวนการสันติภาพเพื่อคัดค้านสงคราม และคัดค้านการส่งทหารไทยไปรบในเกาหลีจึงถูกจับเข้าคุกในข้อหากบฎที่เรียกว่า กบฎสันติภาพ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ และต้องอยู่ในคุกจนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ในระหว่างนี้ กุหลาบได้แต่งนวนิยายเรื่อง แลไปข้างหน้า ภาคปฐมวัย และภาคมัชฌิมวัย ซึ่งเป็นนวนิยายเพื่อชีวิตที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง


เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารและใช้อำนาจเผด็จการ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ในขณะนั้นกุหลาบอยู่ในระหว่างการเยือนประเทศจีน เขาจึงตัดสินใจที่จะไม่กลับประเทศไทย และได้ใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่นอกประเทศถึง ๑๖ ปี จนถึงแก่กรรมที่ประเทศจีนในวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๗ เมื่ออายุได้ ๖๙ ปี ในระหว่างนี้ กุหลาบ ก็ยังมีงานเขียนที่เป็นบทความ และบทกวี มากมาย ออกมาทางวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย และยังน่าจะเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเรียบเรียง และเป็นบรรณาธิการหนังสือปฏิวัติหลายเล่มที่แปลจากภาษาจีนออกเป็นภาษาไทย อย่างไรก็ตามเป็นการยากมากที่จะรวบรวมหรือระบุงานเขียนของเขาในระยะนี้ เพราะแทบจะไม่มีหลักฐานหลงเหลืออยู่แล้วเพียงแต่สามารถที่จะกล่าวได้ว่า แม้ว่าจะลี้ภัยในต่างประเทศแล้วกุหลาบก็มิได้หยุดการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชนไทยจนกระทั่งสุดท้ายในวาระชีวิตของเขา


และ นี่คือความมั่นคงในอุดมการณ์ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ บทกวีสำคัญที่กุหลาบแต่งเพื่อสดุดีชัยชนะของการต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนใน กรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ยังเป็นที่จดจำกันอยู่ดังนี้


หยดฝน ย้อยจากฟ้ามาสู่ดิน

ประมวลสินธุ์เป็นมหาสาครใหญ่

แผ่เสียงซัดปฐพี อึงมี่ไป

พลังไหลแรงรุดสุดต้านทาน

อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง

เป็น พลังแกร่งกล้ามหาศาล

แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล

ไม่อาจต้านแรงมหา ประชาชน