Sunday, April 6, 2014

การสร้างพลเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย- วรเจตน์ ภาคีรัตน์


การสร้างพลเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย – วรเจตน์ ภาคีรัตน์

“สำหรับในมุมมองของผม ในเบื้องต้นจะต้องมีความเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองซึ่ง มองว่ามนุษย์ทุกคนในสังคมล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ในทางการเมืองทั้งสิ้น”


คอลัมน์ บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ
ชื่อเรื่อง รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์  ภาคีรัตน์1. อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่อง “การสร้างพลเมืองกับการพัฒนาประชาธิปไตยไทย” เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๓  ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผู้เขียน กองบรรณาธิการจุลนิติ

จุลนิติ : หลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของนานาอารยประเทศในโลกนี้ได้วางหลัก การพื้นฐานอันถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไว้อย่าง ไร

รศ. ดร. วรเจตน์ฯ : คำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึงการปกครองโดยประชาชนเป็นใหญ่ เป็นรูปแบบหนึ่งของระบอบการปกครอง (Regime of Government) เราคงทราบว่าในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้น ได้ผ่านรูปแบบการปกครองมาแล้วหลายรูปแบบด้วยกัน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นประเด็นที่นับว่าเป็นคำถามที่สำคัญที่สุด คือ “อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยควรเป็นของใครหรือควรอยู่ที่ใคร” ซึ่งในที่สุดแล้วพัฒนาการของแนวความคิดทางด้านการเมืองโดยเฉพาะในยุคสมัย ใหม่เป็นต้นมา ได้ให้การยอมรับและถือว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ “ควรเป็นของประชาชน”

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว หลักการพื้นฐานหรือหัวใจที่มีความจำเป็นต้องพิจารณาและคำนึงถึงคือ อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศนั้นเป็นของใคร ฉะนั้น ถ้าหากว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของพระเจ้าหรือผู้แทนของพระเจ้า บนพื้นพิภพ หรือเป็นของพระมหากษัตริย์ หรือเป็นของนักวิชาการหรือนักปราชญ์แล้ว การปกครองในรูปแบบนั้นไม่ถือว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศต้องเป็นของประชาชน หลักการนี้คือหลักการพื้นฐานอันถือได้ว่าเป็นสาระสำคัญหรือนิยามที่สั้นที่ สุดของการปกครองระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ ให้พิจารณาในแง่ของตัวผู้ที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศว่า เป็นใคร อย่างไรก็ตามการแสดงออกซึ่งอำนาจของประชาชนนั้นอาจเป็นไปได้ในหลายลักษณะ ดังนั้นการใช้อำนาจสูงสุดจึงอาจมีรูปลักษณ์แตกต่างกันไปได้ เช่น การออกเสียงเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ การให้องค์กรของรัฐที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นต้น

จุลนิติ : ในทัศนะของอาจารย์มีความเห็นว่าปัจจุบันประชาชนชาวไทยมีความรู้ความเข้าใจในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด

รศ. ดร. วรเจตน์ฯ : เดิมสมัยที่ผมเป็นนักศึกษาและเรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัย ผมถูกสอนให้เชื่อหรือเข้าใจเหมือนกับที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่า ประชาชนของประเทศไทยยังไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย คืออะไร หรือยังไม่มีความเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ที่ทรงอำนาจหรือเป็นเจ้าของอำนาจ อธิปไตยอย่างไร และผมถูกสอนให้เชื่ออีกว่าสาเหตุที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยมี ปัญหานั้น สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร2. เป็นการชิงสุกก่อนห่าม เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยกลุ่มนักเรียนนอกหรือกลุ่มบุคคลซึ่ง เป็นคนหัวก้าวหน้าและได้รับอิทธิพลแนวความคิดมาจากตะวันตก พอกลับมาประเทศไทยจึงรีบร้อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยที่ประชาชนของประเทศยังไม่มีความรู้ความเข้าใจว่าการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยคืออะไร จนส่งผลทำให้เกิดเป็นปัญหาของประเทศมาจนถึงปัจจุบันนี้

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ผมได้ตระหนักแล้วว่าสิ่งที่ผมเคยรับรู้มานั้นน่าจะเป็นแนวความคิดที่ผิด และถ้า หากถามผม ณ ปัจจุบันนี้ว่าประชาชนชาวไทยโดยส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในหลักการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด ผมเชื่อว่าในปัจจุบันนี้ประชาชนชาวไทยโดยส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจดี อย่างน้อยที่สุดก็ตระหนักรู้ในสิทธิในเสียงของตนเอง ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากพัฒนาการในทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วง ๓ ถึง ๔ ปี ที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในฝ่ายใดหรือสีใดก็ตาม ผมเชื่อว่าเขามีความเข้าใจและตระหนักดีว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศแท้ จริงแล้วมันเป็นอำนาจของเขา เพียงแต่วิธีการในการแสดงออกหรือการใช้อำนาจและแนวความคิดบางอย่างอาจจะไม่ ตรงกันเท่านั้น และบางส่วนอาจจะยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการเคารพเสียงข้างมากอย่างพียง พอ คือคิดว่าเสียงข้างน้อย (ที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ) ถูกต้อง เมื่อถูกต้องเสียแล้วจึงมีความชอบธรรมที่จะทำอะไรแม้แต่จะกระทบกับแก่นของ ประชาธิปไตยก็ได้เป็นความคิดที่ผิด

จุลนิติ : ปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรนั้นเกิดจากสาเหตุใด และกระบวนการในการสร้างประชาธิปไตยโดยเฉพาะการสร้างจิตสำนึกของประชาชนให้ ได้มีโอกาสเข้าถึงวิถีชีวิตแบบสังคมประชาธิปไตยที่ถูกต้องนั้นควรมีแนว ทางอย่างไร

รศ. ดร. วรเจตน์ฯ : สำหรับคำถามประเด็นนี้อาจจะตอบยาก เพราะว่าปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยใน ประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบการ เมืองของไทยในปัจจุบัน กล่าวคือ กลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยในปัจจุบันยังมีการโต้เถียงกันว่าแท้จริงแล้ว ประชาชนชาวไทยมีความพร้อมหรือมีความเข้าใจในหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือไม่ ฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่ายังไม่พร้อม เนื่องจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาทำให้ได้นักการเมืองเข้ามาทุจริตคอร์รัปชั่น และกระบวนการในการเลือกตั้งยังมีการซื้อเสียง รวมทั้งมีความเชื่อว่านักธุรกิจที่เข้าสู่ระบบการเมืองอาจจะผูกขาดอำนาจทาง การเมืองโดยผ่านกลไกพรรคการเมือง และอาจจะนำไปสู่ระบบเผด็จการนายทุนได้ ดังนั้น จึงทำให้มีความเข้าใจหรือความเชื่อว่าประชาชนชาวไทยยังไม่พร้อมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย

สำหรับในมุมมองของผม ในเบื้องต้นจะต้องมีความเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองซึ่ง มองว่ามนุษย์ทุกคนในสังคมล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ในทางการเมืองทั้งสิ้น เป็นเรื่องปัจเจกของบุคคลแต่ละคนหรือของกลุ่มบุคคลแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ชาวไร่ชาวนา คนขับรถแท็กซี่ ข้าราชการ หรือทุกคนที่อยู่ในระบบนี้ ล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ในทางการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่พยายามจัดสรรผลประโยชน์ในทางการเมืองให้มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายภายใต้หลักนิติรัฐ

หากถามว่าเพราะเหตุใดประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องนี้อยู่ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามีสาเหตุ สำคัญมาจากความไม่ลงตัวของดุลอำนาจหรือความไม่ลงตัวของโครงสร้างการเมืองการ ปกครอง นับตั้งแต่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ กล่าว คือ ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของพระมหา กษัตริย์ แต่ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหา กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของ ประชาชนทั้งหลายซึ่งหากพิจารณาในทางหลักการแล้วอาจจะมีการเปลี่ยน แปลง แต่หากพิจารณาในแง่ของดุลอำนาจจริง ๆ แล้ว ผมมีความเห็นว่าอาจจะไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณ ๑๕ ปีแรก ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ระบบกำลัง ดำเนินไปในทิศทางของประชาธิปไตยเป็นลำดับ แต่ก็มาสะดุดเอาเมื่อมีการทำรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๔๙๐3. และนับแต่นั้นเป็นต้นมาอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศแทบจะไม่ได้ตกมาอยู่ในมือหรือเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเหตุที่มักจะมีกระบวนการที่พยายามสกัดกั้นพัฒนาการของประชาธิปไตยมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เรื่อยมา และ ส่งผลทำให้ประเทศไทยเข้าสู่วงจรการทำรัฐประหาร การยึดอำนาจ ฉีกทำลายรัฐธรรมนูญ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และสุดท้ายก็มีการยึดอำนาจ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

สาเหตุประการหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จคือ ความล้มเหลวหรือความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรในการสถาปนาอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือนิติรัฐให้เป็นอุดมการณ์ของสังคม กล่าวคือ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรไม่สามารถที่จะทำให้อุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือนิติรัฐแทรกซึมผ่าน เข้าไปในกลุ่มคนหรือองค์กรที่มีอำนาจในทางวินิจฉัยชี้ขาดหรือตัดสินปัญหา สำคัญ ๆ ของประเทศได้ เราอาจพูดถึงองค์กรได้หลายองค์กร แต่อาจจะยกตัวอย่างให้เห็นเด่นชัดได้ เช่น กองทัพหรือองค์กรตุลาการ หากกล่าวเฉพาะองค์กรตุลาการ เราจะเห็นว่าองค์กรตุลาการเป็นองค์กร ที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นน้อยที่สุดภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เนื่องจากได้รับเอาโครงสร้างขององค์กรตุลาการเดิมก่อนมีการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองมาเกือบทั้งหมด รวมทั้งมีบทบาทในการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือมีส่วน ในการพัฒนาประชาธิปไตยน้อยมาก ดังนั้น พลังในการที่จะผลักหรือขับเคลื่อนประชาธิปไตยในช่วงเวลานั้นจึงอ่อนแรงลง ประกอบกับการต่อสู้กันของกลุ่มชนชั้นนำหรือกลุ่มอำนาจเดิมก่อนมีการเปลี่ยน แปลงการปกครองซึ่งมีความชาญฉลาดในการที่จะดึงอำนาจกลับคืนมาทีละเล็กทีละ น้อยผ่านบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จนทำให้อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศไม่ได้เป็นของประชาชน อย่างแท้จริง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงกองทัพที่แทบจะไม่มีอุดมการณ์ในเรื่องการรักษาคุณค่าของ ระบอบประชาธิปไตยหรือการพิทักษ์คุ้มครองรัฐธรรมนูญเลย

ความล้มเหลวหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของคณะราษฎรอาจมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งภายในคณะราษฎรเอง กล่าวคือ ภายหลังจากที่ได้อำนาจมา นอกจากจะต้องต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าแล้ว ในคณะราษฎรเองความคิดเห็นบางอย่างยังไม่ลงรอยกัน และความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันนี้ทำให้เกิดการต่อสู้กัน จนมาถึงจุดที่ทำให้สถานการณ์ผันแปรไป คือภายหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ ๘ และเป็นเหตุที่ทำให้ ศ. ดร. ปรีดี  พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม แกนนำของคณะราษฎรฝ่ายก้าวหน้า ผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ เหตุการณ์ดังกล่าวและต้องได้รับผลร้ายจนเป็นเหตุให้ต้องลี้ภัยการเมืองไปยัง ต่างประเทศและเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทางการเมือง เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในทางประวัติศาสตร์ในความคิดเห็นของผม เพราะถ้าไม่มีเหตุการณ์หรือจุดเปลี่ยนตรงนั้น ปัจจุบันนี้ประชาธิปไตยของประเทศไทยอาจมีพัฒนาการไปอีกระดับหนึ่งแล้ว

ปัญหาดังกล่าว ได้กลายเป็นปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้สร้างกลไกให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และรัฐบาลที่มีความเข้มแข็งดังกล่าวเป็นรัฐบาลชุดที่มีนโยบายและการทำงานถูก ใจประชาชนส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลชุดดังกล่าวได้ถูกกล่าวหาหรือมีข้อครหาเกี่ยวกับการ ทุจริตคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้นำ ในที่สุดปัญหาหรือแนวความคิดในสองด้านนี้ได้มาปะทะกัน และคนในสังคมไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าปัญหาเรื่องใดเป็นเรื่องหลัก ปัญหาเรื่องใดเป็นเรื่องรอง จึงได้ยกเอาเรื่องที่เป็นเรื่องรองกลายมาเป็นเรื่องหลัก กล่าวคือ ยกเอาเรื่องการจัดการกับอดีตนายกรัฐมนตรีมาเป็นเรื่องหลัก ซึ่งภายใต้แนวความคิดแบบนี้จึงเป็นต้นเหตุในการทำลายอุดมการณ์ประชาธิปไตยโดยไม่รู้ตัว เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งภายใต้หลักเกณฑ์ของประชาธิปไตย ในส่วนของข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ต้องดำเนินการหรือจัดการไปตามระบบหรือกลไกของประชาธิปไตย ซึ่งผมไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใด เพราะขึ้นอยู่กับตัวระบบที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ถ้าเราเชื่อในระบบหรือกลไกของประชาธิปไตย  แต่ถ้าหากเราไม่เชื่อว่าระบบหรือกลไกของประชาธิปไตยจะสามารถแก้ไขปัญหาด้วย ตัวเองได้ แล้วเราจะมาเรียกร้องประชาธิปไตยกันทำไม

ดังนั้น ผมจึงอยากให้พิจารณาให้ถ่องแท้ว่าต้นเหตุที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จอยู่ตรงไหน ต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่ประชาชนจริงหรือไม่ สำหรับผมแล้วผมคิดว่าเราคงไม่สามารถกล่าวได้ว่าประชาชนไทยทุกคนหรือแม้ กระทั่งในโลกนี้มีวิจารณญาณในการตัดสินใจที่เท่ากัน ตอนที่ผมเรียนหนังสืออยู่ในเยอรมัน ผมได้ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมัน ทำให้ทราบว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งของประเทศเยอรมันได้วางหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้ค่อนข้างสลับซับซ้อน และผมลองถามชาวบ้านเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ว่ามีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอย่างไรบ้าง ชาวบ้านตอบว่าไม่รู้และไม่มีทางที่จะรู้ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนมาก แต่อย่างน้อยชาวบ้านรู้ว่ามีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งและรู้ว่าอำนาจ สูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของเขา ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องในทางเทคนิคที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย

สำหรับประเทศ ไทย ผมมีความเห็นว่าปัจจุบันนี้กลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยหรือกลุ่มคนที่อยู่ใน ระดับผู้นำของประเทศน่าจะยังมีความไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา เป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชนอย่าง แท้จริง เพราะอาจกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของตนเอง และกลัวว่าประชาชนจะถูกหลอกโดยนักการเมืองฉ้อฉล ด้วยความกลัวดังกล่าวจึงทำให้คนกลุ่มนี้ รวมทั้งนักวิชาการและข้าราชการระดับสูง ได้พยายามแสวงหาวิธีการหรือระบอบการปกครองในอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน มาตรา ๒ และมาตรา ๓ จะได้วางหลักการไว้ว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยก็ตาม แต่หากพิจารณาลึกลงไปในทางเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นว่ามีกลไกบางประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่น หลักการเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการ เมืองซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิด เพราะเท่ากับไปทำลายการรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงเจตจำนงในทางการเมืองของประชาชน อีกทั้งหลักการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แต่ประการใด หรือหลักการที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีที่มาจากการสรรหาส่วนหนึ่ง หรือการกำหนดให้ตุลาการมีบทบาทและอำนาจเพิ่มมากขึ้นโดยที่ไม่สามารถที่จะ วิพากษ์วิจารณ์ได้หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยความยากลำบาก เป็นต้น

โดยสรุปแล้วปัญหา และอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ ประสบผลสำเร็จ คือ การที่อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น วิธีการหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ง่ายที่สุด คือการยอมรับกันในหลักการเบื้องต้นก่อนว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอำนาจ สูงสุดในการปกครองประเทศจะต้องเป็นของประชาชน หากประชาชนตัดสินใจอย่างใด ต้องยอมรับในการตัดสินใจนั้น และการแก้ไขปัญหาจะต้องแก้ไขไปตามระบบ นักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องมีการจัดการตามระบบของกฎหมาย มิใช่พอเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นก็นำกำลังทหารออกมายึดอำนาจ ซึ่งเท่ากับทำให้พัฒนาการของประชาธิปไตยสะดุดหรือหยุดชะงักลง สิ่งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยไปไม่ถึงไหน

จุลนิติ : เมื่อสักครู่อาจารย์ได้กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยในประเทศไทยไม่ประสบผลสำเร็จ คือ ความล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ของคณะราษฎรในการสถาปนาอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือนิติ รัฐให้เป็นอุดมการณ์ของสังคม ดังนั้น หากสามารถย้อนเวลากลับไปในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ และอาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมกับคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจารย์จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

รศ. ดร. วรเจตน์ฯ : ในฐานะที่ผมเป็นนักนิติศาสตร์ ผมคงจะทำได้ในแง่ของการจัดโครงสร้างของระบบกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าการดำเนินการเพียงแค่นี้อาจจะไม่เป็นการเพียงพอ เนื่องจากการ สถาปนาอุดมการณ์ประชาธิปไตยหรือนิติรัฐให้เป็นอุดมการณ์ของสังคมนั้น ไม่ได้อาศัยเพียงเฉพาะตัวบทกฎหมายที่เป็นตัวหนังสือดำ ๆ บนแผ่นกระดาษเท่านั้น เพราะยังหมายถึง สำนึก วิธีคิด อุดมการณ์ และความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ดังนั้น การปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้เป็นอุดมการณ์ของสังคมจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการในหลาย ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน

ดังนั้น ส่วนหนึ่งที่ผมจะทำคือการจัดวางโครงสร้างของระบบกฎหมายให้มีความสอดคล้องหรือรองรับกับอุดมการณ์ในทางประชาธิปไตย รวมทั้งในทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจด้วย สำหรับกฎเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าสิ่งที่จะต้องทำคือจัดการความสัมพันธ์ของโครงสร้างอำนาจในทางรัฐธรรมนูญให้รับกับตัวระบบ หมาย ความว่า อำนาจของรัฐทุกอำนาจที่ใช้จะต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของ อำนาจ ทั้งในด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ตลอดจนความสัมพันธ์ของอำนาจเหล่านี้กับประมุขของรัฐหรือพระมหากษัตริย์ด้วย โดยจะต้องจัดวางให้ได้ดุลยภาพภายใต้หลักการของความรับผิดชอบต่อประชาชน นั่นหมายความว่าองค์กรของรัฐองค์กรใดมีอำนาจโดยขาดความเชื่อมโยงในทาง ประชาธิปไตยกับประชาชนหรือใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบกับการใช้อำนาจนั้น จะต้องปรับเปลี่ยนการมีและการใช้อำนาจในลักษณะเช่นนั้นเสีย ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าในช่วงประมาณ ๑๕ ปีแรก ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นช่วงเวลาที่ระบบกำลังดำเนินไปในทิศทางของประชาธิปไตยเป็นลำดับ โดยเฉพาะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ ซึ่งผมมีความเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีความก้าวหน้ามาก โดยได้วางหลักการเกี่ยวกับอำนาจนิติบัญญัติไว้ค่อนข้างดี และถ้าผมมีส่วนในการยกร่าง คงจะต้องแก้ไขเพิ่มเติมหลักการในบางประการ เช่น ทำให้อำนาจของตุลาการมีความเชื่อมโยงกับประชาชน ให้มีผู้ตรวจการทหารซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพ เป็นต้น อย่างไรก็ตามนี่เป็นการตอบบนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญในช่วงสิบห้าปีแรกหลัง เปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ถ้าถามถึงรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้คงจะมีจุดที่ต้องปรับเปลี่ยนเยอะกว่า นี้มาก เรียกว่าต้องยกเครื่องใหม่ทีเดียว

จุลนิติ : การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง ตามหลักการที่ว่าเป็น “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” นั้นควรจะต้องมีการพัฒนาอย่างไรจึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้

รศ. ดร. วรเจตน์ฯ : วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการทำให้กลุ่มชนชั้นนำของสังคมไทยหรือกลุ่มคนที่ อยู่ในระดับผู้นำของประเทศมีความตระหนักและควรรู้ว่าในที่สุดจะไม่สามารถ ทัดทานกระแสประชาธิปไตยได้ เพราะแนวความคิดทางด้านการเมืองการปกครองของโลกได้พัฒนามาถึงจุดสุดท้ายแล้ว หรืออาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยคือคำตอบสุดท้าย ส่วนที่เหลือที่จะต้องมีการพัฒนาต่อไปเป็นเพียงรายละเอียดในแง่ของรูปแบบ ประชาธิปไตยเท่านั้น เนื่องจากปัจจุบันผมยังมองไม่เห็นว่ามีระบอบการปกครองใดที่จะดีไปกว่าระบอบ ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ระบอบการปกครองในโลกนี้ไม่ว่าระบอบใดต่าง ก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น ระบอบประชาธิปไตยก็มีปัญหาในตัวเอง แต่การมีปัญหาของระบอบประชาธิปไตยยังมีข้อดีคือ การเปิดโอกาสหรือการมีเสรีภาพในการที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นได้ ซึ่งถือเป็นคุณค่าสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำมากที่สุดในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน ตามหลักการที่ว่าเป็น “การ ปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” นั้น คือการทำให้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน และประชาชนสามารถที่จะใช้อำนาจนั้นได้อย่างแท้จริง ต้องเคารพการใช้อำนาจของประชาชน และการแสดงออกซึ่งอำนาจของประชาชนที่มีความชัดเจนที่สุดคือการเลือกตั้งกับ การออกเสียงประชามติ ถึงแม้การเลือกตั้งอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันนี้เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการเลือกตั้ง หรืออาจกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งมิใช่คำตอบทุกคำตอบของประชาธิปไตย แต่เป็นสาระสำคัญของประชาธิปไตย หากใครปฏิเสธการเลือกตั้งเท่ากับเป็นการปฏิเสธประชาธิปไตยในบั้นปลาย และโดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่าปัญหาในการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยอยู่ที่ชนชั้นนำ ปัญหาไม่ได้อยู่ทีประชาชน แน่นอนว่าในรายละเอียดคงจะต้องพูดถึงเรื่องการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น ของประชาชน เรื่องการกระจายอำนาจอะไรเหล่านี้ แต่สิ่งนี้มาทีหลัง ดังนั้นเวลาพูดว่าประชาชนไม่พร้อมเพราะยังไม่มีการศึกษา ต้องให้การศึกษากับประชาชน ซึ่งเป็นคำพูดมาตรฐานเวลาพูดถึงปัญหาประชาธิปไตยไทย ผมว่าอาจจะต้องพูดถึงการให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยและการปลูกจิตสำนึก ประชาธิปไตยให้กับคนที่มีการศึกษาเสียก่อน  ส่วนประเด็นเรื่องนักการเมืองไม่ดี พรรคการเมืองไม่ดี ปัญหาพวกนี้ค่อยๆแก้ไขไปได้ ซึ่งการวางระบบกฎหมายรัฐสภา กฎหมายพรรคการเมืองที่ดีก็จะช่วยได้ส่วนหนึ่ง

จุลนิติ : บทสรุปส่งท้ายและข้อเสนอแนะอื่นๆ

รศ. ดร. วรเจตน์ฯ : การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นของประชาชน ประชาชนจะต้องตระหนักและรู้ว่าตนเองเป็นเจ้าของอำนาจนั้น ดังนั้น หน้าที่สำคัญของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยคือการไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือการ ไปออกเสียงประชามติ อันเป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจของตน

สำหรับในส่วนของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ผมมีความเห็นว่าควรมีการเพิ่มเติมสิทธิบางประการให้แก่ประชาชน เช่น สิทธิในการถอนคืนตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในเขตเลือกตั้ง ใน กรณีที่ปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นประพฤติหรือปฏิบัติตนไม่เหมาะสมที่ จะทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป แม้การกระทำดังกล่าวจะไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ตาม แต่หากประชาชนมีความรู้สึกว่าถ้าให้ทำหน้าที่ต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหาย ได้ และเมื่อผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่งไปควรมีกลไกให้ประชาชนในเขตเลือก ตั้งมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อถอนคืนตำแหน่งแล้วเลือกคนใหม่เข้าไปทำหน้าที่ แทน ดีกว่าการให้วุฒิสภามีอำนาจในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง เป็นต้น และควรมีการจัดความสัมพันธ์ของโครงสร้างอำนาจในทางรัฐธรรมนูญให้มีความสอด คล้องกับหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะวิธีการในการเข้าสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาตุลาการในศาลสูงควรที่จะให้มี ความเชื่อมโยงกับประชาชน เช่น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา (ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย) ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง กำหนดระบบการถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยเคารพหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ตุลาการ และจะต้องมีกลไกในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจดังกล่าวได้ เช่นการมีผู้พิพากษาสมทบที่เป็นประชาชนธรรมดาในศาลระดับล่าง การกำหนดหลักการประกาศองค์คณะให้ประชาชนทราบตัวผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีใน แต่ประเภทคดีในแต่ละปีการการตัดสินคดี การมีกฎหมายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กฎหมายรัฐมนตรีซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์การแสดงออกซึ่งอำนาจรัฐและการรับผลตอบแทน การขจัดประโยชน์ที่ได้รับมาโดยไม่สมควร เป็นต้น

ตามที่กล่าวมาในเบื้อง ต้น เป็นสิ่งหรือกลไกที่จะต้องมีการคิดและเพิ่มเติมไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง แต่สังเกตว่ากลไกที่ต้องเพิ่มเติมดังกล่าวส่วนใหญ่แล้วจะไปลดทอนอำนาจของชน ชั้นนำทั้งนั้น ประเด็นปัญหาจึงมีว่าจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ในสถานการณ์การเมืองที่ ต่อสู้และแย่งชิงกันในปัจจุบัน ดังนั้น สถานการณ์ในปัจจุบันจึงอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยได้เดินมาถึงจุดซึ่งเป็นทางเดินสองทางที่แยกออกจากกัน และไม่มีวันที่จะมาบรรจบกันได้เรา จะต้องเลือกเดินไปในทางใดทางหนึ่ง ระหว่างทางที่เป็นประชาธิปไตยจริง ๆ กับทางที่เป็นประชาธิปไตยปลอม ๆ หากถามว่าแนวโน้มในปัจจุบันสังคมไทยจะเดินไปในทิศทางใด ผมมีความเชื่อว่าในที่สุดแล้วสังคมไทยจะเดินไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งในระหว่างทางที่เดินนี้หากสามารถที่จะประนีประนอมกันได้ความรุนแรงอาจจะ มีไม่มาก เช่น ในประเทศอังกฤษซึ่งเขาก็มีการต่อสู้และประนีประนอมกัน เนื่องจากในปัจจุบันสภาขุนนาง (House of Lords)4. ของอังกฤษ ยังประกอบด้วยสมาชิกประเภทขุนนางสืบตระกูล (Hereditary Peers) ซึ่งมีที่มาจากการสืบทอดตำแหน่งทางสายโลหิตอยู่ แต่สมาชิกประเภทนี้จะค่อย ๆ ถูกลดจำนวนให้น้อยลงจนในที่สุดผมเชื่อว่าจะเลิกไป เพราะประเทศอังกฤษรู้ว่าระบบแบบนี้มีความไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยจึงต้อง มีการปฏิรูประบบการปกครองให้ไปในทิศทางประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น จึงพิจารณาเห็นได้ว่าปัจจุบันทุกประเทศมีแนวโน้มที่จะเดินไปในทิศทางนี้หมด อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยอาจจะนำมาซึ่งปัญหาใหม่ ๆ เช่น ปัญหาการใช้ทรัพยากรที่เกินขนาดและนำมาสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แต่ว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขและจัดการได้ภายใต้ระบอบ ประชาธิปไตยที่มีโครงสร้างและมีกลไกที่ดีและยอมรับว่าอำนาจสูงสุดเป็นของ ประชาชน

นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีการพูดถึงรัฐสวัสดิการ (Welfare state)5. รวมทั้งมีความพยายามที่จะปฏิรูปประเทศเนื่องจากมีความเห็นว่าสังคมไทยมี ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมนั้น ผมมีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ตราบใดที่โครง สร้างของประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยก่อน เพราะการที่จะปฏิรูปประเทศไปสู่รัฐสวัสดิการหรือสังคมแบบนั้นได้จะต้องผ่านสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยก่อนทั้งสิ้น การจัดทำกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินจะสำเร็จได้อย่างไรถ้าชนชั้นนำของประเทศยัง ถือครองที่ดินจำนวนมหาศาลอยู่ ใครจะยอมให้มีกฎหมายแบบนี้มาบังคับใช้ เพราะคนที่กุมอำนาจในการกำหนดนโยบายของประเทศไม่ใช่ประชาชนที่แท้จริง พรรคการเมืองใดที่คิดจะทำนโยบายในลักษณะนี้จะต้องถูกขัดขวางจากกลุ่มที่เป็น ชนชั้นนำของประเทศที่ถือครองที่ดินอยู่ เพราะนโยบายดังกล่าวจะกระทบกับผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้โดยตรง ดังนั้น ในการที่จะไปสู่รัฐสวัสดิการหรือปฏิรูปประเทศสิ่งที่จะต้องดำเนินการก่อนใน เบื้องต้นคือการทำให้โครงสร้างของประเทศเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงก่อน โดยต้อง เริ่มต้นทำให้อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งการทำให้สถาบันการเมืองหรือสถาบันในรัฐธรรมนูญทุกสถาบันอยู่ใน ตำแหน่งแห่งที่ที่ตนจะต้องอยู่ไม่มาก้าวก่ายกัน และแสดงบทบาทเท่าที่เป็นบทบาทที่อยู่ในรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยหากมีปัญหาเกิดขึ้นต้องมีการแก้ไขปัญหาไปตามระบบ ให้ระบบค่อย ๆ ปรับตัวเอง แล้วในที่สุดจะไปสู่รัฐสวัสดิการอย่างที่ต้องการได้

————————————————————————
1. Doctor der Rechte (summa cum laude) Universität Göttingen ประเทศเยอรมัน, ปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
2. “คณะราษฎร” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มนักเรียนไทยซึ่งเป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ในประเทศฝรั่งเศสเป็นแกนนำ และต่อมาได้ร่วมมือกับกลุ่มนายทหารในประเทศไทยอีกจำนวนหนึ่งก่อตั้งเป็นคณะ ราษฎรขึ้น โดยคณะราษฎรได้ทำการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับ เรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ หอพักแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในถนนซอมเมอราร์ด กรุงปารีส โดยมีสมาชิกเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ จำนวน ๗ คน ได้แก่ ๑) นายปรีดี  พนมยงค์ ๒) ร้อยโท ประยูร  ภมรมนตรี ๓) ร้อยโท แปลก  ขีตตะสังคะ ๔) ร้อยตรี ทัศนัย  มิตรภักดี ๕) นายตั้ว  ลพานุกรม ๖) หลวงศิริราชไมตรี และ ๗) นายแนบ  พหลโยธิน ซึ่งต่อมาคณะราษฎรได้ชักชวนนายทหารในประเทศ ๔ นาย ซึ่งได้รับสมญานามว่า “สี่ทหารเสือ” เข้าร่วมกลุ่มด้วย ได้แก่ ๑) พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา  (พจน์  พหลโยธิน)  ๒) พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ  พันธุมเสน)  ๓) พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ  เอมะศิริ) และ ๔) พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน  ชูถิ่น).
3. การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นการยึดอำนาจโดยคณะทหารบก ซึ่งผู้นำส่วนใหญ่เป็นนายทหารนอกประจำการ โดยมีพลโท ผิน  ชุณหะวัณ เป็นผู้นำ และประกอบด้วย นาวาเอก กาจ  กาจสงคราม, พันโท ก้าน  จำนงภูมิเวท, พันเอก สวัสดิ์  สวัสดิเกียรติ, พันเอก สฤษดิ์  ธนะรัชต์ และพันเอก เผ่า ศรียานนท์  ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์  ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อทำการรัฐประหารได้สำเร็จ คณะรัฐประหารได้สนับสนุนให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม  ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย  และได้ประกาศยุบสภาและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ โดยได้นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐ หรือ “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ร่างโดยนาวาเอก กาจ  กาจสงคราม ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ในรัฐธรรมนูญฯ ฉบับดังกล่าว มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๗ ได้กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร โดยพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้ง และได้มอบหมายให้นายควง  อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อไป.
4. สภาขุนนาง (House of Lords) หมายถึง สภาสูงของสหราชอาณาจักร ประกอบไปด้วยสมาชิกที่เรียกว่า ลอร์ดส (Lords) หรือ เพียร์ส (peers) ประมาณ ๗๐๐ กว่าคน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด โดยแบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ
(๑) ขุนนางชั่วชีพ (Life Peers) มาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี และจะดำรงตำแหน่งไปตลอดชีวิต ปัจจุบันสมาชิกของเฮาส์ออฟลอร์ดสจำนวนมากอยู่ในประเภทนี้
(๒) ขุนนางสืบตระกูล (Hereditary Peers) มาจากการสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือด ในสมัยก่อนนั้นเฮาส์ออฟลอร์ดสมีเฉพาะสมาชิกประเภทนี้เท่านั้น แต่ปัจจุบันถูกลดจำนวนเหลือเพียงแค่ ๙๒ คน โดย Parliament Act ๑๙๙๙ ซึ่ง ๙๐ คนมาจากการเลือกตั้งโดย Hereditary Peers ด้วยกัน และอีกสองคนเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับรัฐสภาโดยตรงอยู่ก่อน แล้ว ได้แก่ Great Lord Chamberlain และ Earl Marshall
(๓) ขุนนางศาสนา (Spiritual Peers) มาจากตัวแทนของศาสนา เช่น บิชอปและอาร์คบิชอปต่าง ๆ
(๔) ขุนนางนิติ (Law Lords) เป็นสมาชิกที่มีความรู้ด้านกฎหมาย และทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหราชอาณาจักรด้วย ประกอบไปด้วยผู้พิพากษาจำนวน ๒๖ คน (ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org).
5. รัฐสวัสดิการ (Welfare state) เป็นระบบทางสังคมที่รัฐให้หลักประกันแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันใน ด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น หลักประกันด้านสุขภาพ ที่ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับบริการป้องกันและรักษาโรคฟรี หลักประกันด้านการศึกษา ที่ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาตามความสามารถโดยได้รับทุนการศึกษาฟรีจนทำงาน ได้ตามความสามารถในการเรียน หลักประกันด้านการว่างงาน ที่รัฐต้องช่วยให้ทุกคนได้งานทำ ใครยังหางานไม่ได้รัฐต้องให้เงินเดือนขั้นต่ำไปพลางก่อน หลักประกันด้านชราภาพ ที่รัฐให้หลักประกันด้านบำนาญสำหรับผู้สูงอายุทุกคน หลักประกันด้านที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน เป็นต้น
ประเทศที่มีระบบรัฐ สวัสดิการจะใช้ระบบการเก็บภาษีแบบก้าวหน้า คือเก็บภาษีจากคนรวยในอัตราต่อรายได้สูงกว่าคนจนมาก เก็บจากชนชั้นกลางในระดับพอประมาณ และเก็บจากคนจนน้อยหรือไม่เก็บเลย นอกจากนั้นอาจมีการเก็บเบี้ยประกันสังคมจากคนที่มีงานทำตามอัตราเงินเดือน เงินที่เก็บได้ทั้งหมดรัฐก็จะนำมาใช้จ่ายสำหรับบริการทางสังคมทั้งหมดในระบบ รัฐสวัสดิการ ระบบนี้จึงเป็นการ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” คนที่มีรายได้ดีต้องช่วยจ่ายค่าบริการทางสังคมส่วนหนึ่งแก่คนที่ยากจนกว่า (ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org).