ในขณะที่ผมเขียนบทบรรณาธิการนี้ ยังไม่ถึง “วันพิพากษา” ครับ ป่านนี้คงรู้กันแล้วว่า “ยึด” หมดหรือบางส่วนครับ!!!
ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน มีข่าวที่สำคัญมากข่าวหนึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจมากนักเพราะมัวแต่ไป “ติดกับดัก” ติดตามเรื่องการยึดทรัพย์เสียจนกลายเป็น “วาระสำคัญแห่งชาติ” ไป ข่าวดังกล่าวคือข่าวที่เกี่ยวกับ “ข้อขัดแย้ง” ทางความคิด ระหว่างศาลยุติธรรมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ “ระดับประเทศ” เรื่องหนึ่งที่สมควรทำการศึกษา ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจึงนำเรื่องดังกล่าวมานำเสนอ โดยจะแบ่งการนำเสนอออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของข้อเท็จจริง และส่วนของปัญหา
ในส่วนของข้อเท็จจริงนั้น เรื่องเริ่มต้นมาจากการที่ นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาพนักงานสอบสวน 2 นาย ที่ดำเนินการขออนุมัติหมายจับ และผู้อนุมัติหมายจับ คือ นายอิทธิพล โสขุมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในข้อหาทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมกรณีออกหมายจับนายสุนัยฯ โดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่นายสุนัยฯ ส่วนเหตุผลที่ตำรวจออกหมายจับก็เนื่องมาจากได้ออกหมายให้นายสุนัยฯ มาพบพนักงานสอบสวนหลายครั้งแล้วแต่นายสุนัยฯ ไม่มา จึงได้ขอศาลออกหมายจับนายสุนัยฯ
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับคำร้อง ตามกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงบุคคลทั้ง 3 ฐานกระทำความผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่นายสุนัยฯ ซึ่งต่อมา นายอิทธิพลฯ ผู้พิพากษา ก็ได้ทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ก.ต. พิจารณาแล้วมีหนังสือตอบกลับไปว่า นายอิทธิพลฯ มีสิทธิชี้แจงเป็นหนังสือต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. โดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง และขอไปให้การในชั้นศาลได้ นอกจากนี้ ก.ต. ยังเห็นว่า ผู้พิพากษามีดุลพินิจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีรวมถึงการออกหมายจับโดยไม่อาจมีการแทรกแซงหรือก้าวล่วงจากหน่วยงานหรือบุคคลใด
ต่อมาในวันที่ 28 มกราคม 2553 นายอิทธิพลฯ ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง แต่ ป.ป.ช. ก็ยืนยันที่จะทำการไต่สวนข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงจากเดิมที่มี นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน มาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คน ประกอบเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงชุดใหม่แทน
เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงตุลาการ มีการให้ความเห็นกันมากมาย ความเห็นที่สำคัญความเห็นหนึ่งเป็นของรองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ให้ความเห็นถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเอาไว้ว่า ในการทำงาน ผู้พิพากษามีอิสระและมีหลักประกันต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ให้ความเห็นยังได้อ้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุด 2 ฉบับมาประกอบความเห็นของตนด้วย แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เอง ก็มีกรรมการบางคนออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกันว่า การตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนก็เพื่อตรวจสอบดูว่า ข้อกล่าวหามีมูลความจริงหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ยกคำร้อง นอกจากนี้ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้หนึ่งยังมีความเห็นด้วยว่า ป.ป.ช. เข้าใจถึงความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีของศาล แต่ก็ต้องดูว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้ดุลพินิจอย่างถูกต้องหรือไม่ ถ้ามีการใช้อำนาจเกินเลย ป.ป.ช. ก็มีอำนาจที่จะตรวจสอบได้ ซึ่งในความเห็นหลังนี้เองที่มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยว่า การออกหมายจับเป็นดุลพินิจโดยอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี หน่วยงานอื่นไม่สามารถที่จะแทรกแซงได้
ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการรวบรวมมาจากหลาย ๆ แหล่ง ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ต้องขออภัยไว้ด้วยครับ
เมื่อทราบความเป็นมาของเรื่องแล้ว เรื่องต่อมาที่จะกล่าวก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อขัดแย้งดังกล่าว โดยปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจที่จะตรวจสอบศาล หรือไม่
เมื่อพิจารณาจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะพบว่า มีการให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบศาลอยู่หลายกรณีด้วยกัน จริงอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการตรวจสอบทางการเมืองอยู่มาก แต่ในขณะเดียวกันกฎหมายก็ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐเอาไว้ด้วย เพราะฉะนั้น การพิจารณาถึงอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบศาล จึงต้องแยกพิจารณาใน 2 ส่วนสำคัญ คือ อำนาจ “โดยตรง” ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบศาล และอำนาจ “ข้างเคียง” ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่อาจนำมาใช้เป็นฐานอำนาจในการตรวจสอบศาลได้
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ได้กล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีต่อศาลไว้หลายกรณีด้วยกัน โดยใน หมวด 3 การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ส่วนที่ 2 การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ได้กำหนดไว้ในมาตรา 39 ให้ประธานและรองประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานและรองประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ในหมวด 7 การร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 75 ประกอบกับมาตรา 80 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่ ประธานและรองประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานและรองประธานศาลปกครองสูงสุด ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ และหากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าบุคคลดังกล่าวร่ำรวยผิดปกติ ก็จะต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนในหมวดที่ 8 การตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 308 ของรัฐธรรมนูญ ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงและหากพบว่ามีการกระทำผิดวินัยจริง ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตุลาการหรือข้าราชการอัยการ ก็ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงานและเอกสารพร้อมความเห็นไปยังประธานศาลที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ หรือประธานคณะกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะของตน และเมื่อได้ผลประการใดก็ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 92 แห่งกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตครับ
ส่วนอำนาจ “ข้างเคียง” ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีต่อศาลนั้น เมื่อพิจารณาคำนิยามของคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แม้จะไม่พบว่าคำนิยามดังกล่าวหมายความรวมถึง “ผู้พิพากษาหรือตุลาการ” แต่คำนิยามดังกล่าวก็ได้กล่าวรวมถึง “ข้าราชการ” เอาไว้ด้วย ซึ่งข้าราชการในประเทศไทย ได้แก่ ข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ โดยในส่วนของข้าราชการประจำนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ ข้าราชการฝ่ายพลเรือน อันได้แก่ ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการครู ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการอัยการและข้าราชการฝ่ายรัฐสภา และข้าราชการทหาร ดังนั้น การที่กำหนดว่าข้าราชการถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจึงย่อมรวมถึงข้าราชการตุลาการด้วย และนอกจากนี้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตราต่างๆ ที่กล่าวถึงอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้กล่าวไปข้างต้นก็จะพบว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนั้น รวมถึง ผู้พิพากษาและตุลาการด้วย การตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงการตรวจสอบผู้พิพากษาและตุลาการด้วยครับ
จากบทบัญญัติที่เกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่กล่าวไปแล้วทั้งหมด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจในการตรวจสอบผู้พิพากษาได้ครับ
มีคำถามที่ตามก็คือ ตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหนครับ!
ก่อนที่จะตอบคำถามดังกล่าว คงต้องนำเอาคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 137/2545 มาพิจารณาประกอบ โดยเนื้อหาส่วนที่น่าสนใจที่สุดของคำสั่งดังกล่าวอยู่ตรงที่ว่า “...โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) มาตรา 249 บัญญัติให้ ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ในการพิจารณาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น นอกจากนั้น มาตรา 271 และ มาตรา 276 ยังได้แบ่งแยกอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองออกเป็นส่วนสัดต่างหากจากกัน จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวข้างต้น แม้ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมจะเป็นข้าราชการเช่นเดียวกับข้าราชการอื่น ๆ แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาซึ่งได้แก่ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีนั้น ผู้พิพากษาจะมีอำนาจอิสระในการใช้ดุลพินิจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีระบบตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในระบบศาลยุติธรรมโดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตามลำดับ ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้วแต่ประเภทของคดี ซึ่งอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาดังกล่าวนี้ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ใดอีกสถานหนึ่งด้วย ดังนั้น ผู้พิพากษาถึงแม้จะเป็นข้าราชการก็เป็นข้าราชการที่มีอำนาจหน้าที่ในลักษณะพิเศษแตกต่างจากข้าราชการอื่น ๆ ผู้พิพากษาจึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 วรรคสอง (1)...” ครับ
ตัวบทของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.“ตรวจสอบ” ผู้พิพากษาได้ในฐานะที่เป็น “ข้าราชการ” ประเภทหนึ่ง ซึ่งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 137/2545 ก็“ยอมรับ” ว่าผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมเป็นข้าราชการเช่นเดียวกับข้าราชการอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมมีข้อแตกต่างจากข้าราชการประเภทอื่น ๆ ก็ตรงที่มีอำนาจที่มีลักษณะพิเศษ ดังนั้น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมจึงไม่ได้เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ทำให้ไม่อยู่ในเขตอำนาจการตรวจสอบของศาลปกครอง จากความเห็นของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว จึงมีประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาว่า จะนำมาปรับใช้กับปัญหาระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. กับศาลยุติธรรมที่กำลังเป็นข้อโต้แย้งอยู่ในวันนี้ได้หรือไม่
ในประเทศที่มีศาลปกครองและศาลยุติธรรมแยกออกต่างหากจากกันนั้น โดยหลักแล้ว ศาลแต่ละศาลต่างก็มีขอบอำนาจของตัวเองที่ชัดเจน ศาลปกครองจะไม่เข้าไปตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม เช่นเดียวกับศาลยุติธรรมที่จะไม่เข้าไปตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง จะมีเกี่ยวข้องกันบ้างก็ในเรื่องที่ “จำกัด” เช่น ศาลปกครองมีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจ “ทางปกครอง” ของคณะกรรมการตุลาการในเรื่องของการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาศาลยุติธรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เป็นต้น แต่สำหรับในประเทศไทยนั้น การเกิดขึ้นของศาลปกครองหลังจากที่ศาลยุติธรรมเกิดขึ้นก่อนเป็นเวลานานทำให้โดยสภาพแล้วศาลปกครองถูกจำกัดอำนาจไม่ให้เข้าไปตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ของศาลยุติธรรมได้ เรื่องดังกล่าวบัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองที่ห้ามศาลปกครองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ ดังนั้น การที่ศาลปกครองปฏิเสธที่จะไม่ตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลยุติธรรมจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะต่างฝ่ายต่างก็ให้ความเคารพต่อ “เขตอำนาจศาล” ซึ่งกันและกัน และนอกจากนี้แล้ว หากมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ยังมี “คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล” ที่จะเข้ามา“ให้ข้อยุติ” ในเรื่องเขตอำนาจของศาลทั้งสอง จึงทำให้เรื่องเขตอำนาจของศาลปกครองและศาลยุติธรรมมีข้อยุติได้ไม่ยากนัก แต่ในส่วนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการตรวจสอบผู้พิพากษาได้ในฐานะที่เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ”ประเภทข้าราชการ ซึ่งอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีข้อจำกัดอยู่ตามตัวบทที่ได้กล่าวไปแล้ว และอำนาจในการตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี ที่มาตรา 194 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ให้การรับรองไว้ ด้วยเหตุดังกล่าว หากพิจารณาตามตัวบทกฎหมายที่ปรากฏอยู่ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการออกหมายจับอันเป็นการดำเนินการตามมาตรา 88 ประกอบกับมาตรา 92 วรรคสอง แห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ครับ!!!
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาลักษณะดังกล่าวคงจะมีขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เพราะเหตุของการ “ตีความ” มาตรา 197 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้ไปเป็นไปโดยถูกต้อง…” มีความหมายกว้างออกไปไกลขนาดไหน การออกหมายจับเป็นของการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีหรือไม่ และการเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจของผู้พิพากษาในการออกหมายจับจะกระทบหลักว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการหรือไม่ อย่างไร ซึ่งในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจน คงต้องมีการดำเนินการหาข้อยุติบางอย่าง “ร่วมกัน” ระหว่าง องค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็น “ศาล” หรือไม่ก็ตามครับ คงต้องมาดูความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรต่างๆ ให้ชัดเจนครับว่า ใครคุมใคร และคุมเรื่องอะไรบ้าง!!!
ในส่วนตัวผมนั้น นับตั้งแต่มีการสร้างกระแสตุลาการภิวัตน์ขึ้นในประเทศไทย ผมมองว่า การควบคุมการใช้อำนาจตุลาการกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นเสียแล้วสำหรับประเทศไทย อย่างที่เราทราบกันดีว่า ในบรรดาอำนาจอธิปไตยทั้งสามนั้น มีเพียงอำนาจตุลาการเท่านั้นที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นเหมือนกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เหตุผลก็คงมาจากความเป็นมาทาง “ประวัติศาสตร์” ของเรา ที่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในปี พ.ศ. 2475 เราก็มุ่งที่จะแก้ไขและจัดระบบการเมืองการปกครองประเทศใหม่ตามแนวทางของประเทศตะวันตก ผลที่ได้ก็คือ อำนาจนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง อำนาจบริหารเชื่อมโยงกับอำนาจนิติบัญญัติ ส่วนอำนาจตุลาการที่มีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังเช่นอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารและไม่ได้มี “ที่มา” ที่เชื่อมโยงกับประชาชน เช่น อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ประกอบกับอำนาจตุลาการมีไว้ใช้เพื่อการระงับข้อพิพาทระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน ที่ผ่านมาจึงไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้น แต่ต่อมาหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ใช้บังคับ เกิดศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองซึ่งมีเขตอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” และ “การปกครองประเทศ” ปัญหาต่างๆ จึงเริ่มเกิดขึ้น และในที่สุด เมื่อ “การเมือง” สร้าง “ทางตัน” ให้กับการปกครองประเทศ ผู้พิพากษาตุลาการจำนวนหนึ่งจึงสร้างกระแส “ตุลาการภิวัตน์” ขึ้น เพื่อให้ความชอบธรรมกับการที่ศาลจะเข้าไปมีบทบาททบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลและขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาก็คือ เกิดการขยายอำนาจของศาลออกไปมากกว่าอำนาจศาลที่เคยมีมาในอดีต ดังนั้น เมื่อผู้พิพากษาตุลาการใช้อำนาจของตนเองเข้ามา “เกี่ยวข้อง” กับการเมืองซึ่งมีที่มาที่เชื่อมโยงกับประชาชนได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับระบบตุลาการใหม่ รวมไปถึงการสร้างระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของตุลาการด้วยครับ
ผมไม่มีข้อเสนอในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องใหญ่มากและจะไปกระทบกับผู้พิพากษาตุลาการส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับ “ตุลาการภิวัตน์” คงต้องไปต่อว่าผู้ที่ดึงศาลเข้าไปยุ่งกับการเมืองเอาเองครับ แต่อย่างไรก็ตาม ผมคงต้องขอเปิดประเด็นเอาไว้ตรงนี้ด้วยว่า หากผู้พิพากษาตุลาการซึ่งก็เป็น “คน” เหมือนกัน สามารถรักได้ เกลียดได้และมีความศรัทธาทางการเมืองได้เหมือนกับ “คน” ทั่ว ๆ ไป บิดเบือนการใช้อำนาจ ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบครับ
ในวันนี้ อำนาจตุลาการควรจะต้อง “โยง” เข้าหาประชาชนเหมือนกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารหรือไม่ เป็นสิ่งที่สมควรทำการศึกษาวิเคราะห์ให้ละเอียดชัดเจนต่อไปครับ
มีคำตอบเมื่อไร เราก็คงจะรู้ว่า “ใครคุมใคร” ครับ!!!
No comments:
Post a Comment