Monday, July 5, 2010

บันทึกของ วิสา คัญทัพ ฉบับที่ 1 (การยุทธและการหยุด)

ทำไม วีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน จึงเขียนจดหมายประกาศยุติบทบาทการต่อสู้โดยประกาศลงที่สถานีบางซื่อ ไม่ขอเดินทางต่อไปถึงสถานีหัวลำโพง คำตอบย่อมมาจากการกลั่นกรองเหตุผลหลายประการจนตกผลึกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานที่ไม่ยอมให้มีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อประชาชนอีกต่อไป

เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานที่ยึดมั่นแนวทางสันติวิธีในการต่อสู้

เป็นการตัดสินใจที่เห็นว่าข้อเรียกร้อง "ยุบสภา" ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแล้วตามเงื่อนไขที่ได้เจรจากัน ดังที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนการเจรจา และผ่านมติเป็นเอกฉันท์ในทุกเรื่อง

รายละเอียดสุดท้ายคือการให้ประกันตัวแกนนำทั้ง 24 คน ซึ่งรัฐบาลยอมรับ ขณะที่แกนนำบางส่วนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะทำตามคำพูด เพราะหลายคนยังหวั่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งยังเพิ่มข้อเรียกร้องเรื่องนายสุเทพ เทือกสุบรรณต้องมอบตัวให้ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมกรณีสั่งฆ่าประชาชน 10 เมษาฯ อ้างว่าเพื่อเป็นการรับผิดชอบกับชีวิตวีรชนประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องเรื่องสุเทพมอบตัวทำให้เกิดความสับสนในข้อกฎหมายว่าจะสิ้นสุดลงอย่างไรจึงจะเป็นที่ยอมรับของแกนนำคนเสื้อแดง

วีระ มุสิกพงศ์ เลือกลดบทบาทจากแกนนำลงไปเป็นคนเสื้อแดงธรรมดาเพราะเห็นว่า การทำตามสัจจะที่ได้ประกาศไว้มีความสำคัญต่อสังคมอย่างที่สุด เมื่อประกาศร่วมกันว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่เอาการนิรโทษกรรม ย่อมถือว่าสังคมรับรู้แล้ว เมื่อประกาศจะยุบสภาตามวันเวลาที่ชัดแจ้งก็ผูกมัดรัฐบาลต่อสายตาสังคมโลก แกนนำคนเสื้อแดงสมควรมอบตัวโดยมิต้องหวั่นไหวใดๆ แม้จะมีการหักหลัง จับกุมกักขังไม่ให้ประกัน แม้อภิสิทธิ์ สุเทพจะหลบหลีกไม่ยอมมอบตัว ก็เป็นเรื่องปกติของฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจรัฐที่สามารถกระทำเช่นนั้นได้

ส่วนเราจะยื้อยุดฉุดดึงไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะในความเป็นจริง กระบวนการเอาผิดทางกฎหมายต่อรัฐบาลอาชญากรมือเปื้อนเลือดก็มิได้ยุติลงในรัฐบาลชุดนี้ อภิสิทธิ์ - สุเทพ หนีความผิดไม่พ้น ความไม่ชอบธรรมจะตกอยู่กับอภิสิทธิ์ - สุเทพทันที

การเลือกยุติการชุมนุมในจังหวะนี้ ความชอบธรรมจะอยู่กับฝ่าย นปช. สำคัญที่สุด ประชาชนไม่สมควรต้องสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตอีกเป็นอันขาด ประชาชนคนเสื้อแดงจะต้องกลับบ้านอย่างปลอดภัย องค์กร นปช.แดงทั้งแผ่นดินยังคงเคลื่อนไหวในหนทางสันติวิธีต่อไปได้ รัฐบาลจะถูกกดดันจากทุกภาคส่วนของสังคมให้ดำเนินการทุกอย่างไปสู่การยุบสภา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ จะกลายเป็นซากศพที่เดินได้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อดิศร เพียงเกษ,ไพจิตร อักษรณรงค์ และผม เห็นด้วยและตัดสินใจลงสถานีเดียวกัน

แนวทางและชุดความคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นจิตใจจำนนและถอย ยอมรัฐบาลมากเกินไป คนที่ยังไม่พร้อมจะลงจึงเดินทางต่อไป ถามว่า การเดินทางต่อมีความคิดชี้นำมาจากองค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากแกนนำที่ร่วมประชุมกันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยข้อมูลที่เป็นจริง จึงยังไม่อยากวิเคราะห์ล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม แนวทางและชุดความคิดนี้หากมองกลับเป็นตรงกันข้าม ย่อมสามารถมองว่าเป็นการ "ต่อสู้" ได้ เพราะการที่แกนนำเดินทางเข้ามอบตัวโดยไม่หวั่นกลัวต่อการจับกุมคุมขัง เท่ากับ แกนนำยอมเสียสละอิสรภาพของตนเพื่อแลกกับการให้ประชาชนกลับบ้าน โดยไม่สูญเสีย ไม่ต้องตายกันอีก เป็นการลงอย่างสันติวิธี ไม่รุนแรง รักษาองค์กรให้คงอยู่และเคลื่อนไหวต่อสู้ต่อไปได้

หลังการประชุมในตู้คอนเทนเนอร์ ที่เวทีราชประสงค์สิ้นสุดลง ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 วีระ มุสิกพงศ์ ไม่ได้ขึ้นพูดบนเวทีในคืนนั้น แล้วหายไปจากเวที ส่วน อดิศร เพียงเกษ,ไพจิตร อักษรณรงค์ และผม ยังอยู่ต่อ และเข้าร่วมประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 อดิศร ชี้แจงเหตุผลที่เขาต้องยุติบทบาท แล้วลงจากตู้คอนเทนเนอร์ไปก่อนการประชุมจะสิ้นสุดลง ส่วน ไพจิตรและผมได้แจ้งที่ประชุมว่าจะขอลงสถานีบางซื่อเช่นเดียวกับวีระและอดิศร เช้าวันรุ่งขึ้น ไพจิตร อักษรณรงค์ก็ล้มป่วยเป็นไข้หวัด เจ็บคอ ไม่มีเสียง นอนพักรักษาตัว เราสามคนไม่ได้กลับเข้าไปที่เวทีตั้งแต่วันนั้น

เมื่อครั้งที่ผมและไพจิตร อักษรณรงค์ได้รับมอบหมายให้ดูแลเวทีปราศรัยที่ผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 10 เมษายน เราคุมสถานการณ์ด้วยสันติวิธี ขณะเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์มาบินวนในช่วงบ่ายวันนั้น ผมประกาศให้คนออกมาจากเต็นท์ให้หมด มารวมกันหน้าเวที เพื่อให้เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินที่บินสังเกตุการณ์ได้เห็นว่ามีคนเสื้อแดงมากมาย ผมให้พี่น้องนั่งลง สงบนิ่ง ตั้งสติ ทำสมาธิ ยึดหลักการสันติอหิงสา ปล่อยให้ตำรวจทหารเข้ามาโดยไม่ขัดขวาง หากเขาจะมาจับแกนนำ ให้เปิดทางให้เขาเข้ามาจับบนเวที พวกเราพร้อม เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียใดๆกับพี่น้องประชาชน

หลังจากผมพูดจบลง ไมโครโฟนก็ถูกแย่งดึงโดยบางคนที่ปลุกเร้าเร่าร้อนระดมกำลังให้ออกไปปะทะเผชิญสะกัดกั้นไม่ให้ตำรวจทหารผ่านเข้ามาตามด่านต่างๆ ผลักดันสถานการณ์ไปสู่ความรุนแรง ผมเดินลงจากเวที เพราะผมไม่อยู่ในฐานะที่ไปห้ามปรามแล้วเพื่อนๆจะฟัง และไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพูดสวนทางกันให้สับสน ในใจคิดว่าหากมีการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตอีก คงรับไม่ไหว ผมติดต่อไปหาณัฐวุฒิ ใสยเกื้อที่เวทีราชประสงค์ให้มาคุมสถานการณ์ที่นี่ด้วยตัวเอง ก่อนที่มันจะลุกลามบานปลาย แต่ไม่เป็นผล ที่สุดก็ปะทะกันรุนแรง หลังเหตุการณ์นี้ผมเร่งเร้าให้ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยุติเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ หากไม่มีคนนำที่แกนนำเชื่อฟังมาคุมเวที ก่อนที่ประวัติศาตร์นองเลือดจะซ้ำรอย ซึ่งเป็นผลสำเร็จในที่สุดเมื่อตกลงย้ายการชุมนุมไปรวมที่ราชประสงค์จุดเดียว

กรณี 10 เมษายน 2553 คุกคามจิตใจผมให้หดหู่ ขมขื่น และเจ็บปวดอย่างหนัก สำหรับผม พอแล้ว มันเขียนอะไรไม่ออก มันบอกอะไรไม่ถูก มันไม่ได้สร้างพลังอะไรเลย นอกจากสำนึกแห่งธรรมที่ว่าการฆ่าคือบาป และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดการฆ่าเล่า จะพ้นบาปไปได้อย่างไร

วันที่ 10 พฤษภาคม 2553 เมื่อประธานวีระ มุสิกพงศ์ ลงขบวนรถไฟไป เหตุเพราะข้อเรียกร้อง "ยุบสภา" บรรลุแล้ว และแนวทางการต่อสู้ส่อเค้าจะหลุดเฟรมแห่งสันติวิธี มีสำเนียงบางอย่างกระตุ้นเร้าความรุนแรงแทรกซ้อนการนำของ นปช. ผมจึงเห็นด้วยและขอลงสถานีเดียวกับวีระ ใครจะชิงชังรังเกียจและหยามเหยียดอย่างไรก็ว่ากันไป เรารับเสียงร่ำไห้แห่งความโศกเศร้า เลือดเนื้อ น้ำตา การบาดเจ็บ สูญเสีย ไม่ได้อีกแล้ว

บันทึกนี้เขียนขึ้นเพื่อชี้แจงเหตุผลแห่งการยุติบทบาทอย่างเป็นทางการของผมและไพจิตร อักษรณรงค์

หยุดคือหยุด ไม่ให้ใคร ต้องตายอีก
หยุดคือหลีก ความรุนแรง อันแฝงฝัง
หยุดแล้วมวลชนได้ไม่พ่ายพัง
หยุดเขาขังหลอกเราก็เข้าใจ

หยุดอาจมีความหมายว่าไม่หยุด
หยุดเพราะแท้ที่สุด หาหยุดไม่
หยุดการตาย เพื่อให้อยู่ สู้ต่อไป
หยุดสงวนกำลังไว้ใช้อีกนาน

ถ้าเราหยุดละวางตรงบางซื่อ
จักได้ความเชื่อถือมหาศาล
คลื่นอธรรมก็จะซัดใส่รัฐบาล
ดำเนินการต้องประกอบด้วยชอบธรรม

หยุดเพราะว่ายุบสภาได้มาแล้ว
เราได้แนวนำเสนอไม่เพ้อพร่ำ
เป็นไปตามยุทธวิธีที่ชี้นำ
ให้ค่อยกินทีละคำจดหมดจาน

เหมือนจะยอม เหมือนจะแพ้ แท้แล้วสู้
ข้างหน้าคุก รออยู่ ไม่สะท้าน
เพื่อหยุดการเข่นฆ่าอย่างสามานย์
นี้คือการ เรียกร้อง หยุดของเรา

(บันทึกนี้เขียนวันที่ 13 พฤษภาคม 2553)

บันทึกของ วิสา คัญทัพ ฉบับที่ 2 (ปัญหาสองแนวทางของการนำ)

ปัญหาสองแนวทางของการนำ

ขั้นตอนการต่อสู้ หมายถึงยุทธวิธี มิใช่ยุทธศาสตร์ เหมือนที่ชอบเปรียบเทียบว่า กินข้าวหมดจาน แต่ต้องกินทีละคำ กินหมดจานเป็นยุทธศาสตร์ กินทีละคำเป็นยุทธวิธี อันที่จริง นปช.แดงทั้งแผ่นดิน มีแนวทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการต่อสู้ชัดเจน กรอบการปฏิบัติงานผ่านมติ จากแกนนำลงสู่ผู้ปฏิบัติงานและสมาชิก นปช.โดยบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน เคลื่อนไหวทางความคิดอย่างเป็นเอกภาพ เพียงแต่ในความเป็นจริง ในแกนนำกลับไม่เป็นเอกภาพ และยึดกุมแนวทางการต่อสู้ของ นปช.ไม่ได้ ต้องยอมรับว่า คนเสื้อแดงทั้งหมด บางส่วนอาจเห็นด้วยกับ นปช. แต่บางส่วนก็อาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป จน นปช.ต้องแถลงย้ำยืนยันถึงจุดยืน แยกตัวเองออกจาก กลุ่มแดงสยาม และกลุ่ม เสธ.แดง อยู่บ่อยๆ

การนัดชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศที่ผ่านมา กำหนดเป้าหมายการต่อสู้เรียกร้องชัดเจนคือ "ยุบสภา" มติเรื่องยุบสภาเป็นมติเอกฉันท์ ของแกนนำ นปช.เคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นเดียวชัดเจน ทั้งเนื้อหาเรื่องราวต่างๆที่จะพูดจาปราศรัยก็กำหนดกรอบแนวไว้ล้อมรอบเรื่องยุบสภา

การยุบสภาจึงเป็นยุทธวิธี ซึ่งต้องคิดว่าเรียกร้องแค่นี้ จะลงทุนลงแรงขนาดไหน ต้องสอดคล้องกับเรี่ยวแรงกำลัง และสภาพความจริงที่ตนมีอยู่ ต้องเดินหน้าไปด้วยเหตุผล มิใช่เดินหน้าไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ต้องคิดจากภววิสัยที่เป็นจริง มิใช่คิดจากอัตวิสัย

แต่ความจริงก็คือ องค์กรนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน อยู่ในระยะเริ่มต้นดำเนินงานจัดตั้ง การจัดตั้งยังไม่เข้มแข็งพอ แกนนำระดับต่างๆ ยังยอมรับและขึ้นต่อแกนนำระดับ ศูนย์กลางอย่างหลวมๆ การชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ ถึงที่สุดแล้ว การนำยังไม่เป็นเอกภาพ การนำอยู่ในสภาพการณ์ที่ยังไม่พร้อม เพราะฉะนั้นการคุมทิศทางใหญ่บนเวทีว่าจะไปทางใด แม้จะกำหนดจากมติในที่ประชุมแล้ว ก็ตาม แต่เป็นการกำหนดแบบวันต่อวัน อีกทั้งการปฏิบัติตามมติก็มิได้ เคร่งครัดเป็นแนวเดียวกันอย่าง มั่นคงก็หาไม่ มติพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า ดังกรณีการเคลื่อนกำลังส่วนหนึ่ง ไปชุมนุมกดดันที่ราชประสงค์ เดิมทีตกลงว่าไปแล้วกลับ หรือหากมีการตั้งเวทีก็จะตั้งชั่วคราวพอพูดจาปราศรัยได้ในเย็นวันนั้น แต่ต่อมาก็เปลี่ยนไป ไม่ทราบว่ามีการประชุมกันภายหลัง อย่างไร เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่เวทีผ่านฟ้าลีลาศ เช่นนี้เป็นต้น

ลักษณะพิเศษของสังคมไทยอย่างหนึ่ง คือ วัฒนธรรมเรื่องการพูดความจริง พูดความจริงทั้งหมด หรือพูดความจริงบางส่วน ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนี่ง เป็นต้นว่า พูดแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อกระบวนการทำงานทั้งหมด พูดแล้วจะส่งผลลบต่อผู้อื่น โดยลืมไปว่า บางครั้งการข้ามไปไม่พูดจะส่งผลเสียหายให้กับส่วนรวมยิ่งกว่า เพราะอาจทำให้ข้อผิดพลาดสำคัญใน เรื่องแนวทางใหญ่ผิดเพี้ยนไป ด้วยการละเลยไม่พูดถึง

ดังนั้น ปัญหาใหญ่ที่จะพูดถึงในที่นี้เป็น เรื่องหลักการ ซึ่งก็คือปัญหาการยึดกุมแนวทางการต่อสู้ของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน และการนำการต่อสู้ไปถูกทางหรือ ผิดทาง

> แนวทางที่ 1 คือแนวทางต่อสู้ด้วยสันติวิธี มีเป้าหมายที่ "ยุบสภา" การประเมินชัยชนะจากการต่อสู้ใน ครั้งนี้ ต้องถือเป็นชัยชนะทางยุทธวิธี คือยุบสภาพอแล้ว ไม่ใช่ยุทธศาสตร์คือการโค่นอิทธิพลของระบบอำมาตยาธิปไตยในสังคมไทย เพราะฉะนั้น การต่อสู้ดังกล่าวต้องสอดคล้องกับ ภววิสัยที่เป็นจริง จริงอยู่การพูดปลุกเร้าบนเวทีอาจเลยไกลแบบกลอนพาไปถึงอำมาตย์ ทว่าจะลืมเป้าหมายแท้จริงคือ "ยุบสภา"ไม่ได้ ดังนั้นความสำคัญของการประเมินสถานการณ์จึงเป็นเรื่องใหญ่ แม้ประเมินจากอัตวิสัยของผู้เคลื่อนไหวก็อาจก่อให้เกิดความผิด พลาดได้

สถานการณ์การชุมนุมยืดเยื้อข้าม เดือน เมื่อเมษายน และพฤษภาคมเป็นอย่างไร ต้องย้อนกลับมาที่ ข้อเรียกร้องที่วางไว้แค่ "ยุบสภา" แต่เดิมรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ยอมเจรจาใดๆกับฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดง ยืนยันว่าตนเองมาจากการเลือกตั้ง และจะอยู่ครบเทอม ต่อมามีการเจรจาครั้งแรก เป็นการเจรจาโดยตรงกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้ารัฐบาล แม้ผลการเจรจาจะจบลงด้วยการตกลงอะไรกันไม่ได้เลย แต่ก็สามารถตรวจสอบผลบวกลบจากกระแสสังคมได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกระแสสังคม "ตรงกลาง"

สถานการณ์ในเวลาต่อมาเข้มข้นดุ เดือดขึ้น และภาพลบตกอยู่กับฝ่ายรัฐบาลทันที ที่มีการ "ขอคืนพื้นที่" ที่สะพานผ่านฟ้า ราชดำเนิน มีการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวน มาก "กรณี 10 เมษายน" ทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรม ภาพพจน์ในทางสากลเสียหาย ผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายงานไป ทั่วโลก จนคณะฑูตจากประเทศต่างๆหลายประเทศ ต้องเข้ามาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเข้าพบทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงเข้าเยี่ยมเยียนผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ในเวลาต่อมาด้วย ต้องพูดว่ารัฐบาลไม่สามารถขอพื้นที่ที่สะพานผ่านฟ้าคืนได้ ประชาชนต้านการล้อมปราบด้วยสองมือเปล่าอย่างแข็งขัน ขณะที่เกิดการตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากชายในชุดไอ้โม่งดำอันเป็นกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่รัฐบาลก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นกำลังของใครกันแน่

กรณี 10 เมษายน ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์มีภาพลบ ฆ่าประชาชน ใช้ความรุนแรง ส่งผลให้การชุมนุมที่ราชประสงค์ เพิ่มจำนวนขึ้นคึกคักหนาตา จากคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ (รวมถึงคนที่อยู่ "ตรงกลาง") เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับคนเสื้อแดงดังขึ้นจากทุกวงการ แกนนำ นปช.ได้มอบหมายให้มีผู้แทนไปเจรจา กับเจ้าหน้าที่รัฐบาล ที่สุดรัฐบาลก็ยอมให้มีการเลือกตั้งภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ซึ่งมีความหมายว่าวันยุบสภาจะเป็นวันที่ 15-30 กันยายน ตรงนี้หากเราจะลองลำดับขั้นตอน การเรียกร้องต่อสู้เพื่อการ ยุบสภาของคนเสื้อแดงจะเห็นว่าได้รับชัยชนะมาเป็นลำดับได้ดังนี้

1. เริ่มต้นจากรัฐบาลประกาศจะอยู่ ครบเทอม โดยรัฐบาลยังมีเวลาถึง 1 ปี 9 เดือน
2. ต่อมา รัฐบาลขอเวลา 9 เดือน (เท่ากับลดไป 1 ปี)
3. สุดท้าย รัฐบาลประกาศวันเลือกตั้ง ซึ่งมีความหมายว่าจะยุบสภาภายใน 4-5 เดือน

ความจริงก็คือ หากไม่มีการเคลื่อนไหวของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน รัฐบาลย่อมไม่ยุบสภาอย่างแน่นอน ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวของ นปช.ต่างหากเล่าจึงทำให้รัฐบาล เริ่มยื้อเรื่องเวลาในการยุบสภายื้อไปยื้อมาก็ต้องยอมยุบสภาใน เวลาสั้นที่สุด หากถามว่าเป็นเช่นนี้จะถือเป็นชัยชนะที่น่าพอใจได้หรือยังสำหรับ นปช.

> ตรงนี้ต่างหากเล่าที่แกนนำ นปช.มีความคิดเห็นแตกต่างกัน

> ตรงนี้ต่างหากเล่าที่เป็นปัญหา การนำสองแนวทางที่ไม่เหมือนกัน

> ตรงนี้ต่างหากเล่า ที่ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน นายวีระ มุสิกพงศ์ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจา เริ่มถอดใจ และเห็นว่าเราเดินทางมาถึงสถานี "บางซื่อ" ที่สมควรจะต้องลงจากรถไฟแล้ว

> ตรงนี้ต่างหากเล่าที่จะสร้างความ ชอบธรรมให้ นปช.ที่จะสลายการชุมนุมอย่างสันติสงบ ขณะคลื่นความรุนแรงอันควบคุมไม่ได้กำลังก่อเค้ามืดทะมึนขึ้นมาอย่างที่แกนนำก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ (ขณะนั้นมีกรณียิงเอ็ม 79 และการปะทะที่ศาลาแดงเกิดขึ้นแล้ว)

> ตรงนี้ต่างหากเล่าที่คนเสื้อแดง จะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย และยิ่งใหญ่ เหมือนขณะที่เมื่อขามาก็เข้ามาชุมนุมอย่างยิ่งใหญ่

> ตรงนี้ต่างหากเล่าที่จะสงวนกำลัง ของคนเสื้อแดงไว้เคลื่อนไหว ต่อสู้เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่านี้ต่อไป

> ตรงนี้ต่างหากเล่าที่กระแสสังคม ทุกภาคส่วนจะซัดกลับไปกดดันที่รัฐบาลว่าจะทำตามคำมั่น สัญญาประชาคมหรือไม่อย่างไร

> ตรงนี้ต่างหากเล่าที่จะทำให้รัฐ บาลต้องตกเป็นจำเลยแห่งความ รุนแรงในกรณีวันที่ 10 เมษายน

> ตรงนี้ต่างหากเล่าที่อภิสิทธิ์ จะล้างมือที่เปื้อนเลือดถึงสองครั้งสองคราทั้งจากเมษาปี 52 และเมษาปี 53 ได้หมดหรือไม่

> และตรงนี้ต่างหากเล่าที่จะทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์หมดความหมายกลายเป็นซากศพที่เดินได้ในที่สุด

คนจำนวนหนึ่งในแกนนำต้องการหยุด ตรงนี้ เพราะถือว่าการเรียกร้อง "ยุบสภา" ได้มาแล้ว ทั้งคิดสงวนกำลังไว้เพื่อศึกที่ ยิ่งใหญ่กว่านี้ในอนาคต บางคนได้แสดงออกโดยการลดบทบาทไม่ ขึ้นเวทีปราศรัยลงไปเป็นคนเสื้อแดงที่นั่งดูเหตุการณ์อยู่วงนอก

ข้อต่อรองอื่นๆนอกเหนือจากนี้ เป็นต้นว่า เมื่อแกนนำ นปช.เข้ามอบตัวแล้วให้ประกันตัวหรือไม่ ให้ประกันตัวกี่คน เจ้าหน้าที่รัฐบาลอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ต้องไปมอบตัวด้วย ไม่น่าจะถือเป็นประเด็น เพราะแม้รัฐบาลจะบิดเบี้ยวไม่ให้ประกันตัว ต้องควบคุมตัวตาม พรก.ก็ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะพี่น้องเราเสียสละชีวิตเมื่อ 10 เมษา ชีวิตสำคัญกว่าอิสระภาพของพวก เรา ข้อต่อรองเรื่องตัวเองจึงไม่ใช่สาระสำคัญ

แนวทางที่ 2 คือแนวทางที่ให้มีการชุมนุมต่อ ปฏิเสธการเจรจาที่ตกลงกันมาแล้ว ไม่เชื่อว่ารัฐบาลจริงใจที่จะทำตามคำมั่นสัญญา ทั้งวิเคราะห์ปัจจัยด้านบวกอีกหลายประการที่ทำให้เห็นว่า หากชุมนุมยืดเยื้อไปอีกจะได้ชัยชนะที่มากกว่าการยุบสภา มีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้พวกเขาเชื่ออย่างนั้น

อีกประการหนึ่ง หลังวันที่ 10 พฤษภาคม ความรุนแรงบางส่วนที่ควบคุมไม่ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ทั้งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอีก วันใดวันหนึ่งก็ได้ กระทั่งมีกระแสเข้มข้นข่มขู่ห้ามสลายการชุมนุมในลักษณะปัจเจกบุคคลของบางคนด้วยถ้อยคำกร้าวร้าวรุนแรง

อะไรคือสิ่งที่มากไปกว่านั้นที่ ต้องการได้จากรัฐบาล อะไรคือจุดที่ทำให้แกนนำบางคนต้องเปลี่ยนความคิดกระทันหันจากการเลือกแนวทางที่ 1 มาเป็นแนวทางที่ 2 อะไรคือความคิดชี้นำที่ทำให้เชื่อมั่นว่า การสู้ต่อไปจะทำให้ได้ชัยชนะแบบเด็ดขาด ประเด็นก็คือ ชนะแค่ไหนและอย่างไร คุ้มต่อการต้องสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของพี่น้องประชาชนต่อไปอีกหรือไม่ โดยเฉพาะหากได้มาแค่ยุบสภาในทันที แล้วต้องเสียชีวิตบาดเจ็บมากมายขนาดนี้ คุ้มหรือ จริงแล้วแม้เพียงชีวิตคนเดียวก็ไม่สมควรแลก

บัดนี้ รอยต่อของสังคมไทยแตกแยกอย่างยาก ที่จะเชื่อมกลับคืนได้สนิท เหมือนเดิม เราอาจผ่านช่วงแห่งการดำเนินสงครามประชาชนระหว่างรัฐเผด็จการกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและแนวร่วมมาแล้วในอดีต แต่นั่น หากกล่าวให้ถึงที่สุด ก็เป็นสงครามความขัดแย้งทางการ เมืองของคนชั้นสูง คนชั้นกลาง และปัญญาชนที่ปฏิวัติ เท่านั้น สามัญชนธรรมดายังเป็นเพียงผู้ยืนดูอยู่วงนอก เป็นเพียงผู้ถูกแย่งชิงจากสองฝ่าย ยังไม่ตื่นตัวและเจ็บปวดล้ำลึกเท่าเหตุการณ์ในปี พ.ศ.นี้ เราจึงผ่านมาได้ด้วยนโยบายที่ใช้ การเมืองนำการทหาร(66/23)

วันนี้รัฐบาลกลับมาใช้การทหารนำ ทั้งเข่นฆ่าโหดเหี้ยมยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซ้ำมิได้กระทำต่อนักเรียน นักศึกษา ปัญญาชนเหมือนเหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 หากกระทำต่อคนรากหญ้าสามัญชนคนจำนวนเรือนล้านผู้ต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อำมหิตเกินกว่าอดีตที่ผ่านมาหลายเท่านัก เช่นนี้แล้วจะหานโยบายอันใดเล่าที่จะมาปรองดองสมานฉันท์ให้ไทยไม่แตกแยกได้ หลังเข่นฆ่าแล้ว เขายังจับกุมคุมขัง ลิดรอนสิทธิ์เสรี แบ่งขั้วแยกข้าง ปากปรองดองแต่ใจเชือดคอ ภาวะปริร้าวของสังคมจึงยากที่หาร่องรอยต่อติด

เมื่อไม่มีพื้นที่ของนิติรัฐนิติธรรม แล้วจะหาพื้นที่ของความเป็นกลาง ได้จากที่ไหน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตลอดกาล "อันรามลักษณ์ยักษ์ลิงจริงหรือไร สวมหัวให้จึงเป็นลักษณ์ยักษ์หรือลิง" สักวันหนึ่งโขนละครต้องปิดฉากจบเรื่องใครก่อกรรมทำเข็ญเช่นใดไว้จักต้องเผชิญกรรมจริงที่ตนกระทำหนีไม่พ้น "ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ" หากแต่ประชาชนยังอยู่ อยู่ตลอดไป

"ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป" ประชาชนฆ่าไม่ตาย ทำลายไม่หมด การใช้การทหารยุติปัญหา ก็เหมือนใช้ฝ่ามือปิดฟ้า ปิดอย่างไรก็ไม่มิด ประเทศไทยเดินเข้าจุดอับจนอย่าง ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้.

บันทึกนี้เขียนเสร็จ 11 มิถุนายน 2553