Saturday, December 31, 2011

เสวนา เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย (27/12/54)

ความเห็นเด็กรัฐศาสตร์ต่อกรณี Internet freedom-ม.112 : แสงสว่างท่ามกลางความมืดมน


ผู้เขียน : นายเกลือ ประชาธรรม
ภาพโดย : กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย

หลังจากผลการตัดสินคดีอากง(นายอำพล ตั้งนพกุล)ปรากฏต่อหน้าสาธารณชน ประเด็นม.112ได้กลายเป็นที่ถกเถียงของสังคม(ในวงจำกัดอันได้แก่ กลุ่มปัญญาชน นักวิชาการ)อีกครั้งหนึ่ง บางกลุ่มเห็นว่าโทษของกฎหมายมาตรานี้มีความรุนแรงเกินไปหากเทียบกับประเทศเจริญแล้ว อีกทั้งยังมองว่าผลการตัดสินคดีนี้เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะแค่สิทธิและเสรีภาพที่จะพูดยังไม่มี จึงควรที่จะแก้ไข ปฏิรูปหรือยกเลิกไป ส่วนอีกฝากหนึ่งแม้จะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรานี้ แต่ด้วยอัตราโทษที่สูงเกินไป มิหนำซ้ำยังไปบังเกิดกับคนอายุรุ่นคุณปู่ที่แถบจะพิมพ์ Sms ไม่เป็น ก็นำมาซึ่งการตั้งคำถาม(แบบถูกผีทักษิณครอบงำ) ว่า "เป็นเพราะทักษิณอยากล้มเจ้า จึงให้ดำเนินคดีนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจ" หรือจะเป็นการตั้งสมมุติฐานว่า "เป็นแผนของกลุ่มล้มเจ้า" แต่ทั้งสองสมมุติฐานสะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินคดีนั้นรุนแรงไป

อย่างไรก็ดี ประเด็นคดีอากงก็สะเทือนขวัญ อารมณ์ และมุมมองต่อกฎหมายมาตรานี้ในวงสังคมออนไลน์ที่จำกัดเท่านั้น เพราะเท่าที่สังเกตดูการเดินขบวนรณรงค์ปล่อยอากง และปฏิรูปม.112 ที่ถนนคนเดินวัวลายจังหวัดเชียงใหม่ มีแต่คนถามว่า "อากงคือใคร" "ทำอะไรผิด" พร้อมกับทำท่าตกใจเมื่อได้ทราบว่าเขาถูกจำคุก 20 ปีจากการส่ง sms นอกจากนี้แผ่นพับแสดงเจตจำนงและเหตุผลของกลุ่มที่ต้องการแก้ไขม.112 หลายร้อยแผ่น ก็ถูกแจกหมดเกลี้ยง

แม้ว่า คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา จะจัดเต็มโดยเชิญนักวิชาการมาออกรายการ "ตอบโจทย์" เพื่อพูดคุยมาตรา112 ถึง 3 ตอนเต็ม รวมทั้งนักวิชาการทั้งเหลือง แดง หลากสีก็ร่วมกันออกแถลงการณ์ให้แก้ไขมาตรานี้(อ่านข่าวนี้) แต่คนก็ยังพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก อาจจะมีบางคนดีใจที่เริ่มมีสื่อมวลชนถามรัฐบาลถึงประเด็นนี้ แต่ก็ได้รับคำตอบมาแบบตีกรรเชียงหนีว่า "รัฐบาลจะไม่แตะเรื่องนี้" และการกระทำของรัฐบาลโดยคำประกาศกร้าวของรองนายกรัฐมนตรีฯท่านหนึ่ง ยิ่งทำให้คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งที่เลือกรัฐบาลนี้เสียใจไปตามๆ กันคือ การประกาศว่าจะปราบเว็บหมิ่น หรือการกดไลน์ข้อความที่ผิดกฎหมายก็อาจจะมีความผิดไปด้วย เพราะกฎหมายที่ใช้อ้างอิงอย่างพ.ร.บ.คอมฯ ยังเป็นที่ถกเถียงกันในประเด็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตีความว่าแค่ไหนถึงหมิ่น ยังมิรวมถึงประเด็นที่ว่า เป็นการลิดรอนเสรีภาพหรือไม่

"เราเลือกพรรคเพื่อไทยมา เพราะเห็นว่า เขาต่อต้านอำมาตย์ มีแนวคิดที่จะปฏิรูปประชาธิปไตยโดยการแก้รัฐธรรมนูญมากกว่าพรรคอื่น และประกาศคืนความเป็นธรรมให้คนเสื้อแดงที่ถูกฆ่า แต่หลังจากเป็นรัฐบาล นักโทษการเมืองก็ยังได้รับการประกันไม่หมด กฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพตกค้างมาจากรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างพ.ร.บ.คอมฯและม.112 ก็ไม่ได้รับการแก้ไข แถมถูกใช้ภายใต้รัฐบาลนี้มากขึ้น สงสัยจะฮั้วกันซะแล้วละมั้ง" คนเสื้อแดงไม่ประสงค์เปิดเผยนามคนหนึ่งกล่าว

เมื่อดูจากสถิติเรื่องการปิดเว็บก็จะเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยอยู่ได้ไม่ถึง 6 เดือน ปิด URL ไปแล้วกว่า 60,000 เว็บไซต์ ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่ง 2 ปี ปิด URL ไปแค่ 70,000 เว็บไซต์ ถ้ายึดสถิตินี้ก็จะเห็นว่ารัฐบาลที่เลือกไปยังทำงานไม่ได้ต่างไปจากรัฐบาลเท่าไรในแง่ของการปฏิรูปโครงสร้างการเมืองให้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น มิหนำซ้ำยังพยายามปรับตัวเองให้เข้ากับโครงสร้างทางการเมืองของอำมาตย์อีกด้วย

เมื่อดูจากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว รู้สึกหมดหวังกับรัฐบาลและสังคมนี้เหลือเกิน ความหวังที่จะมีสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมอันที่มนุษย์พึงมี พึงได้ตามแบบประเทศสแกนดิเนเวียช่างห่างไกล จนเกิดคำถามว่า เราจะทำอย่างไร และฝากความหวังไว้ที่ใครในสังคมนี้ได้บ้าง แต่พลันเมื่อนึกถึงปรากฏการณ์หนึ่งก็ทำให้ความหวังที่ริบหรี่ในใจลุกโชติช่วงขึ้นมา อีกครั้งหนึ่ง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งผมได้มีโอกาสไปงาน "การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12 A Smaller World, Bigger Differences: รัฐศาสตร์ให้คำตอบอะไร?" ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ท่ามกลางบรรยากาศทางวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งจัดนิทรรศการโดยใช้ชื่อ "Internet Freedom is human Right" เมื่อเดินเข้าไปดูก็จะพบการให้ความรู้เรื่องสิทธิการรับรู้ข่าวสารซึ่งเป็นปฎิญญาสิทธิมนุษยชนสากล รวมถึงการรวบรวมเหตุการณ์ต่างๆในประเทศไทยที่เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต ตลอดจนมีการใช้สัญญาลักษณ์ เช่น แถบเซ็นเซอร์สีแดงพันรอบคอมพิวเตอร์จำลอง สติ๊กเกอร์เซ็นเซอร์ติดรอบตัวนักศึกษา ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีมุมเล็กๆที่ให้ความรู้และข้อสงสัยเกี่ยวกับม.112 และคดีอากงอีกด้วย

ด้วยความสนใจจึงเข้าไปคุยกับ "ต้อม" หรือ นายวีรฉัตร แก้วประดิษฐ์ นักศึกษาจากสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มนักศึกษาผู้จัด ว่าทำไมถึงสนใจเลือกทำเรื่องนี้

ต้อม เล่าว่า แรงจูงใจในการจัดนิทรรศการมีหลายส่วน ส่วนแรก เนื่องจากเป็นนักศึกษา สาขาการระหว่างประเทศ และต้องเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยตรง ประกอบกับ เหตุการณ์สถานการณ์ในประเทศไทยที่มีการจับกุมดำเนินคนใช้งานอินเตอร์เน็ต ที่ทำให้เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเซ็นเซอร์ และการบล็อกช่องทางในการสื่อสารต่างๆ จึงอยากนำเสนอเรื่องนี้

"เราคิดว่าในโอกาสที่คณะเราเป็นเจ้าภาพ งานรัฐศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายจะได้มารวมตัวกัน เราจึงคิดว่าน่าจะจัดอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้คนเห็นความสำคัญของประเด็นสิทธิ และการแสดงความคิดเห็น แต่เราจะเน้นเรื่อง อินเตอร์เน็ต เพราะว่า เวลาเราพูดถึงอินเตอร์เน็ตมันเป็นโครงสร้างที่ใหญ่มากของโลกสมัยใหม่ มันไม่ใช่แค่ตัวเราแต่มันคอนเน็คคนทั่วโลก มีคนมาถามเหมือนกันว่าทำไมไม่ทำเรื่อง Freedom of speech มันเหมือนกับว่าคุณมีสิทธิที่จะพูดอะไรก็ได้ แต่ถ้าเขาบล็อกอินเตอร์เน็ตคุณ คุณจะพูดอย่างไร อินเตอร์เน็ตมันเป็นเหมือนช่องทางในการแสดงออก มันเกี่ยวกับสิทธิในการศึกษา การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นปฎิญญาสิทธิมนุษยชนสากล"

"เราก็เลยคิดตีมขึ้นมาเลยว่า เอาเรื่องนี้ละกัน เพราะไหนๆ เราก็เรียนมา แต่มักไม่ค่อยได้ใช้ แล้วยิ่งมีสถานการณ์ การจับกุมผู้กระทำความผิด เพียงเพราะเขาคิดหรือแสดงออก ประกอบกับเรื่องที่น่าขายหน้ามาก คือ freedom house ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนสากล ทำการวัดมาตรฐานการใช้อินเตอร์เน็ต ปรากฏว่าประเทศไทยเรา Not free โดยสถานการณ์เมื่อปีที่แล้วก็ Not free ถ้าวัดเฉพาะตัวอินเตอร์เน็ต ตรงเสรีภาพในเน็ตมันก็ Not free แล้วเขา report ออกมาเลยว่า มีการบล็อกและปิดเว็บ"

การพูดคุยกันอย่างได้อรรถรส ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะถามต่อไปว่า "มีบล็อกเล็กๆ ที่พูดเกี่ยวกับม.112 และคดีอากง พร้อมกับให้คนมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ มันเกี่ยวกับเรื่อง Internet freedom อย่างไร และทำไมเราถึงยกเรื่องนี้ขึ้นมา"

"โดยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นคดีอาชญากรรมหรือคดีแพ่งก็มีวิธีพิจารณาตามครรลองที่เขาเซ็ตขึ้นมา แต่เมื่อมันถูกผูกโยงเข้ากับเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะมาตรา 112 มันเป็นอะไรที่ sensitive สำหรับคน ถ้าคุณผูกโยงสองสิ่งนี้ด้วยกัน ถามว่าถ้าอากงหมิ่นพี่ หรือคนธรรมดาจะโดน 20 ปีไหม คำตอบคือไม่ อาจจะโดนปรับไป มันคือสิทธิที่เราต้องแสดงความคิดเห็น"

"แต่ว่าเมื่อกระบวนการพิจารณาคดี มันออกมาเป็นแบบนี้ มันผูกโยงเข้ากับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือ Internet freedom มันอยู่บนพื้นฐาน ของสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ถ้าเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วย "สิทธิมนุษยชน" มาตรา 19 เขาจะบอกไว้เลยว่าเรามีสิทธิแสดงความคิดเห็น ไม่ถูกแทรกแซง และข้ามพ้นเขตแดน เราสามารถคิดและพูดอะไรออกมาก็ได้ เพราะคำพูดมันไม่ทำให้ใครตาย"

"ถ้าไม่มี freedom of speech คุณมี internet freedom ไม่ได้ เพราะ freedom of speech มันไปสกัดกั้นการเซ็นเซอร์ ถ้าคุณไม่มี freedom of speech Freedom of Expression คุณก็จะถูกเซ็นเซอร์และก็จะเป็นคดีแบบอากง ลักษณะมันคล้ายๆกัน คือคุณไม่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ตัวตนคุณถูกทำให้เห็นเพียงแค่กรอบอะไรบางอย่างที่เขาขีดไว้ให้ ถามว่าแล้วคุณมีอำนาจอะไรมาขีดเส้นให้ฉันเดิน มันจึงสัมพันธ์กันตรงนี้"

"ถามว่าอากงไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ต ถูกต้อง แต่ต้องไม่ลืมว่าการจะเอาอากงเข้าคุกมันมาจากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ครอบคลุมโครงข่ายทั้งหมดของอินเตอร์เน็ต การเช็คอีมี่หรือการใช้งานมือถือ มันคือโครงสร้างที่ใหญ่และคลุมทั้งหมด"ต้อมตอบ

ด้วยความใคร่รู้ความคิดของนักศึกษา ที่เราเชื่อว่าเป็นความคิดบริสุทธิ์ ผมจึงถามต่อไปว่า "เราคิดยังไงกับม.112 หรือคดีอากง"

ต้อมตอบว่า "คิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าของสังคมเรา คนแก่อายุหกสิบกว่าต้องมารับชะตากรรมแบบนี้ในบั้นปลายของชีวิต ถ้าเรานึกว่าอากงคืออากงของเรา เป็นปู่เป็นตาของเรา เราจะรู้สึกอย่างไร คำถามง่ายๆ ที่เขาดีเฟ้นกันในชั้นศาล อากงทำจริงหรือเปล่า ทำหรือไม่ทำ ถ้าทำมันผิดขนาดนั้นเลยหรือ กดได้หรือไม่ได้ ส่งได้หรือไม่ได้อันนั้นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าทำจริงมันผิดขนาดนั้นเลยเหรอ ขนาดที่เขาต้องเอาชีวิตที่เหลือทั้งชีวิตมาทิ้งในคุก ถ้าโดนคดีตามที่ตัดสินจริง มันสมควรแล้วเหรอที่เราดูดายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเราได้"

เด็กคณะรัฐศาสตร์ เล่าให้ฟังอีกว่า งานประชุมรัฐศาสตร์แห่งชาติส่วนใหญ่ จะมีแต่งานเสนอ paper ไม่มีลักษณะของการให้คนมาปฏิสัมพันธ์กับประเด็นต่างๆ พอทำอะไรในสิ่งที่พวกเราคิด สิ่งที่พวกเราสนใจออกมา คนก็สนใจกันมาก เราทำสติ๊กเกอร์คนก็สนใจ

"ทุกคนใช้อินเตอร์เน็ต ถามว่าวันนี้ ถ้าไม่ใช้อินเตอร์เน็ต เหมือนคนไม่มีมือ ไม่มีปาก อยู่กับห้องเฉยๆมันเป็นไปไม่ได้ เพราะพอคนมันย้ายเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง คุณก็ต้องตามเข้าไป ผมเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่กระทบต่อตัวเขา"

ต้อมเล่าอีกว่า สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องการสื่อออกมาให้คนรับรู้ และนำไปสื่อสารต่อจากนิทรรศการนี้ คือ เมื่อยูเอ็นประกาศให้ สิทธิการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเป็น "สิทธิมนุษยชน" พวกเราที่เป็นมนุษย์มีสิทธิเข้าถึง รัฐไม่มีสิทธิมาปิดกั้นหรือแทรกแซง

"เราต้องการที่จะบอกกับคนที่มาร่วมงานว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ถ้าคุณยังรู้สึกว่าใช้แล้วไม่เดือดร้อน เพราะไอพีคุณไม่ถูกบล็อก เฟชบุ๊คคุณไม่ถูกปิด คุณไม่เดือดร้อน คุณไม่ถูกจับ แต่สักวันหนึ่งมันอาจจะเป็นคุณเหมือนแคมเปญที่บอกว่า "เราคืออากง" เหยื่อรายต่อไปอาจจะเป็นเราก็ได้"

ต้อมให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปมาตรา 112 อีกว่า ถ้าจะปฏิรูป ควรจะคิดกลไกขึ้นมาเพื่อให้การปฏิรูปนั้นมันไม่กลับมาในรูปแบบเดิม และควรคิดด้วยว่าจะปฏิรูปอย่างไรให้มันไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างคนที่คิดหรือเห็นต่าง

"ผมคิดว่า สังคมเรามาไกลมาก เราเป็นสังคมสมัยใหม่ ที่คนรับความคิดปนเปื้อนกันทั้งโลก ผมคิดว่ามันน่าจะถึงจุดที่เรายอมรับเสรีภาพ ซึ่งทั่วโลกก็เห็นประเด็นนี้แต่ทำไมเราถึงยังมืดบอด และคิดไม่ออกกับเรื่องพวกนี้ ผมไม่รู้ว่าเราอยู่จุดไหนของคดีอากง แต่เพื่อนบ้านเราทั้งหมด แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาเขาก็เห็นว่าประเด็นนี้มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันไม่ใช่เรื่องสนุกที่เราเห็นคนๆหนึ่งติดคุกเพียงเพราะเหตุผลนี้ เราควรต้องปรับเปลี่ยนเสียที"

หลังจากผมคุยกับต้อมเสร็จ ผมเริ่มมีความหวังกับสังคมนี้ขึ้นมาบ้าง เพราะอย่างน้อย "คนรุ่นใหม่" ก็ยังมีความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และแสดงออกมาผ่านงานนิทรรศการนี้ แม้ว่าคนรุ่นปู่อย่างอากง รุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นผม หรือรุ่นต้อมจะยังไม่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ตราบใดที่ความคิดนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในหัวของ "มนุษย์" และส่งผ่านไปยังชนรุ่นหลัง ต่อไป ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยก็อยู่ในระดับจิตใจ เหมือนที่เรอเน่ เดส์การ์ตส์ (Ren? Descartes) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เขียนไว้ว่า I think, therefore, I am. (ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่) เพราะเราคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิเสรีภาพจึงมีอยู่

ฉะนั้นเมื่อใดที่คนไทยเริ่มตระหนักว่า ประเทศเราควรมีสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ ความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพย่อมจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ผมเดินกลับไปที่งานนิทรรศการ พร้อมกับอ่านข้อความในกระดานแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง ด้วยความปลาบปลื้มใจ และยิ่งปลาบปลื้มใจมากขึ้นเมื่อมีนักศึกษาหญิงคนหนึ่ง ติดสติ๊กเกอร์ที่เขียนคำว่า "Free Click speak Ah Kong" เดินมาหาพร้อมใบหน้าที่สดใส แล้วบอกว่า "พี่อยากเขียนอะไร เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ หรือเรื่องของอากง ไหมค่ะ" ผมยิ้มรับด้วยความรู้สึกดีใจ นึกอยากจะเข้าไปกอดมาก แต่ก็ไม่กล้าเพราะกลัวโดนตบ