Saturday, February 15, 2014

เมื่อ 'รธน.' ขัดต่อ 'กฎมณเฑียรบาล' ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์


เมื่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 2 ขัดต่อกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467
ประการที่หนึ่ง
 
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 23 วรรคแรก บัญญัติว่า
 
“ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตาม กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ”
 
หมายความว่า แม้พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว พระรัชทายาทก็ยังไม่อาจขึ้นทรงราชย์ได้ทันที จะต้องรอกระบวนการทางคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเสียก่อน
 
หลังจากจบกระบวนการดังกล่าวแล้วยังจะต้องมีการประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาท หรือองค์ผู้สืบราชสันติวงศ์ชึ้นทรงราชย์อีกด้วย โดยมาตรา 24 วรรคแรก บัญญัติให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน
 
ยิ่งกว่านั้นรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 มาตรา 24 ก็ยังหาได้กำหนดระยะเวลาในการประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาท ไว้ว่าจะต้องกระทำการในกำหนดระยะเวลากี่วัน กี่เดือน กี่ปี
 
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 23 และ 24 นี้ จะขัดกับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า
 
“เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสมมุติท่านพระองค์ใดให้เป็นพระรัชทายาทแล้ว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข้อความให้ปรากฏแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ ราชเสวกบริพารและอาณาประชาชน ให้ทราบทั่วกันแล้ว ท่านว่า ให้ถือว่าท่านพระองค์นั้นเป็นพระรัชทายาทโดยแน่นอนปราศจากปัญหาใด ๆ และเมื่อใดถึงกาลอันจำเป็น ก็ให้พระรัชทายาทพระองค์นั้นเสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษโดยทันที ให้สมดังพระบรมราชประสงค์ที่ได้ทรงประกาศไว้นั้น”
 
บทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลฯ มาตรา 6 ดังกล่าวนี้จึงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 23 มาตรา 24 คือให้องค์รัชทายาทขึ้นทรงราชย์สันตติวงศ์ทันทีไม่ต้องมีประกาศอัญเชิญพระรัชทายาทจึงไม่มีขั้นตอนที่ประธานองคมนตรีจะต้องเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อนแต่อย่างใด
 
ประการที่สอง
 
รัฐธรรมนูญ มาตรา 20 วรรคแรก วรรคสอง บัญญัติว่า
 
“ในระหว่างไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามบัญญัติไว้ในมาตรา 18 (เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม) หรือมาตรา 19 (พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 18 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น) ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน...
 
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 18 หรือ มาตรา 19 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน...”
 
กรณีตามมาตรา 19 มาตรา 20 จะต้องมีกระบวนการโดยคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ทั้งยังกำหนดให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมิได้กำหนดระยะเวลาไว้เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องกระทำภายในกำหนด กี่วัน กี่เดือน กี่ปี
 
ในกรณีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยเฉพาะในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยังทรงพระเยาว์ นั้น ตามกฎหมายมณเฑียรบาลฯ มาตรา 15 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ดังกล่าวมาแล้วในมาตรา 14 (พระชนมายุยังไม่ครบ 20 พรรษาบริบูรณ์) แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านว่าให้ท่านเสนาบดีพร้อมกันเลือก เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์หนึ่งขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีพระชนมายุครบ 20 พรรษาบริบูรณ์ จึงให้ท่านผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์นั้นพ้นจากหน้าที่”
 
ผู้ที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีนี้ตามกฎมณเฑียรบาลฯ ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ และมาตรา 17 และมาตรา 18 ให้เสนาบดีผู้มีอาวุโสมากที่สุดในราชการสองท่านเป็นที่ปรึกษาของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เรียกว่า “สภาสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" หรือเรียกโดยย่อว่า “สภาสำเร็จราชการแผ่นดิน”
 
ประการที่สาม
 
รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 23 วรรคสอง บัญญัติว่า
 
“ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๒ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบในการนี้ จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธาน รัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหา กษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ"
 
ตามรัฐธรรมนูญมาตรานี้ หมายความว่า คณะองคมนตรีเป็นผู้เสนอพระนามของผู้สืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งจะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ส่วนกฎหมายมณเฑียรบาลฯ มาตรา 17 บัญญัติว่า “ในกาลสมัยนี้ยังไม่ถึงเวลาอันควรที่ราชนารีจะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระแม่อยู่หัวบรมราชินีนาถ ผู้ทรงสำเร็จราชการสิทธิ์ขาดอย่างพระเจ้าแผ่นดินโดยลำพังแห่งกรุงสยาม ฉะนั้นท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใด ๆ เข้าไว้ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์เป็นอันขาด"
 
ถ้าจะถามคนทั่วไปว่า เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายอื่นขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติกฎหมายอื่นที่ขัดกันก็ต้องถือว่าถูกยกเลิกแก้ไขไป
 
แต่สำหรับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ เป็นกฎหมายซึ่งตราขึ้นไนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นกฎหมายสำคัญเพราะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดของปวงชนชาวไทย
 
และกฎมณเฑียรบาลฯนี้ใช่จะห้ามการแก้ไขเปลี่ยนแปลง แต่การแก้ไขต้องทำตามหมวดที่ 7 ว่าด้วยการแก้กฎมณเฑียรบาล ดังนี้
 
มาตรา 19 บัญญัติว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ไว้ให้เป็นราชนิติธรรมอันมั่นคง เพื่อดำรงพระบรมราชจักรีวงศ์ไว้ชั่วกาลนาน และได้ทรงใช้พระวิจารณญาณโดยสุขุม ประชุมทั้งโบราณราชประเพณีแห่งกรุงสยามตามที่ได้เคยมีปรากฏมาในโบราณราชประวัติ ทั้งประเพณีตามที่โลกนิยมในสมัยนี้เข้าไว้พร้อมแล้วฉะนั้นหากว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดในอนาคตสมัยทรงพระราชดำริจะแก้ไขหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดแห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ก็ให้ทรงคำนึงถึงพระอุปการะคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ผู้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ขึ้นไว้ แล้วและทรงปฏิบัติตามข้อความในมาตรา 20 แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้เถิด"
 
มาตรา 20 บัญญัติว่า “ถ้าแม้เมื่อใดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องแก้ไขหรือเพิกถอนข้อความใด ๆ แม้แต่ส่วนน้อยหนึ่งในกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนัดประชุมองคมนตรีสภา ให้มีองคมนตรีมาในที่ประชุมนั้นไม่น้อยกว่า 2 ส่วนใน 3 แห่งจำนวนองคมนตรีทั้งหมด แล้วและพระราชทานข้อความอันมีพระราชประสงค์จะให้แก้ไขหรือเพิกถอนนั้นให้สภาปรึกษากันและถวายความเห็นด้วยความจงรักภักดีซื่อสัตย์สุจริต”
 
ในมาตรา 20 วรรคสอง ตอนท้ายยังบัญญัติว่า “....ถ้าและองคมนตรีมีองคมนตรีที่มาประชุมนั้น มีผู้เห็นควรให้แก้ไขหรือเพิกถอนเป็นจำนวนไม่ถึง 2 ใน 3 แล้ว ก็ขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระขันติระงับพระราชดำริที่จะทรงแก้ไขหรือเพิกถอนนั้นไว้เถิด”
 
ส่วนรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติถึงเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ไว้ตามมาตรา 22 วรรคสอง ซึ่งต่างกับที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมณเฑียรบาลฯ
 
 
ข้อสังเกตของผู้เขียน
 
1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยเฉพาะหมวด 2 พระมหากษัตริย์มีบทบัญญัติขัดกับกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 อยู่หลายเรื่องซึ่งล้วนแต่เป็นสาระสำคัญอันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ก็ร่างขึ้นภายหลัง กฎมณเฑียรบาลฯ ควรจะหลีกเลี่ยงการขัดกันกับกฎหมายสำคัญ เช่นนี้
 
2) หากจะคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ประสงค์จะแก้ไขบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลก็ควรจะดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักการแก้ไขกฎหมาย
 
3) ตามกฎมณเฑียรบาล หมวดที่ 7 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นที่จะมีพระดำริว่ามีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขหรือเพิกถอนข้อความใด ๆ แม้แต่ส่วนน้อยหนึ่งในกฎมณเฑียรบาล
 
4) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงนัดประชุมองคมนตรี และต้องมีองคมนตรีมา ประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แห่งจำนวนองคมนตรีและองคมนตรีจำนวนดังกล่าวเห็นควรแก้ไขเพิกถอนตามพระราชประสงค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงค่อยมีพระบรมราชโองการให้แก้ไขหรือเพิกถอน
 
5) ถ้าองคมนตรีที่มาประชุมนั้นมีผู้เห็นควรให้แก้ไขหรือเพิกถอนมีจำนวนไม่ถึง 2 ใน 3 แล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระขันติระงับพระราชดำริที่จะทรงแก้ไขหรือเพิกถอนนั้นเสีย (คือไม่ทรงแก้ไข)
 
6) ได้ตรวจดูรายงานการประชุมของ สสร. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 23 มาตรา 24 หมวดพระมหากษัตริย์แล้ว มีบันทึกเจตนารมณ์ของผู้ร่างไว้แต่เพียงว่า “คงเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540" และยังบันทึกไว้ด้วยว่า “หลักการดังกล่าวนี้มีบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 เป็นครั้งแรก” การบันทึกเหตุผลไว้แต่เพียงสั้นๆ เช่นนี้ อาจเป็นเหตุให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจได้ จึงสมควรแสดงเหตุผลในการแก้ไขไว้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 หมวด 2 ในอนาคต
 
7) หากมีการพิจารณาหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 2 อย่างไรแล้วน่าจะต้องตรวจดูประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร มาตรา 107 ถึงมาตรา 112 เพราะอาจจะมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ดังกล่าวข้างต้น
 
8) การแสดงความคิดเห็นขอแก้ไขบทกฎหมายในเรื่องเหล่านี้โดยเปิดเผยไม่ควรถูกมองว่ามีเจตนาล้มล้างสถาบันแต่ประการใด เพราะเป็นการกระทำในวิถีทางของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ ผู้คิดล้มล้างสถาบันนั้นคงไม่เสนอขอแก้ไขกฎหมายที่บกพร่อง แต่น่าจะเป็นผู้ซึ่งคิดดำเนินการซ่องสุมผู้คนและซ่องสุมอาวุธเพื่อกระทำการดังกล่าวในทางลับ ๆ มากกว่า
 
ผู้เขียนมีโอกาสทราบทางสื่อว่ามีนักการเมืองและบุคคลบางกลุ่มออกมาคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์เป็นจำนวนไม่น้อย
 
แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่านักการเมืองหรือบุคคลเหล่านั้นได้ทราบความจริงในเรื่องนี้บ้างหรือไม่ ถ้าไม่ทราบคิดผิดแล้วคิดใหม่ได้
 
แต่ถ้าทราบมาก่อนแล้ว ยังคิดคัดค้านการแก้ไขอยู่อีก ท่านก็ต้องตั้งคำถามตัวท่านเองว่าการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดนี้ กระทำเพราะท่านจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยใจจริง หรือ ว่าทำไปเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น.
 
 
 
หมายเหตุ : น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล เป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ปัจจุบันอาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  
 

Friday, February 14, 2014

ญ. “หญิง”

ภายใต้ระบบการปกครองทางชนชั้น ทรัพย์สินทั้งหมดของชุมชนที่เคยเป็นของส่วนรวม ถูกแบ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่ตกในมือของผู้ปกครอง ผู้หญิงถูกบังคับให้อยู่ในระบบครอบครัวที่ชัดเจน เพื่อให้ชายผู้เป็นเจ้าสามารถให้มรดกกับลูกตนเองเท่านั้น

โดย ลั่นทมขาว

เราไม่สามารถสร้างสังคมใหม่แห่งสังคมนิยมได้ ถ้ากรรมาชีพชายและหญิงไม่สามัคคีกัน และถ้าจะเกิดความสามัคคีดังกล่าว ทั้งชายและหญิง แต่โดยเฉพาะผู้ชาย ต้องสลัดความคิดกดขี่หรือดูถูกผู้หญิงออกจากหัว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความดีความชั่วของปัจเจก แต่เป็นเรื่องโครงสร้างสังคม และการต่อสู้ทางชนชั้น

มันไม่ใช่เรื่อง “ธรรมชาติ” ที่มนุษย์จะมากดขี่กัน แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์บางคนสร้างขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขสังคมชนชั้นในอดีต เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง

นักมาร์คซิสต์คนสำคัญ ชื่อ เฟรดเดอริค เองเกิลส์ เป็นคนที่ริเริ่มการศึกษาปัญหาการกดขี่ทางเพศอย่างเป็นระบบ ในหนังสือ “กำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินเอกชน และรัฐ”  เองเกิลส์ อธิบายว่าแรกเริ่มมนุษย์บุพกาลไม่มีชนชั้น ไม่มีรัฐ และไม่มีครอบครัว คือหญิงชายมีความสัมพันธ์อย่างเสรีตามรสนิยมของแต่ละคน ไม่มีคู่ถาวร ตอนนั้นมนุษย์ไม่มีครอบครัวแต่มีเผ่า และลูกที่เกิดมาจะทราบว่าใครเป็นแม่ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่สำคัญเพราะเด็กๆ ทุกคนถือว่าเป็นลูกของชุมชน และทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของส่วนรวม แบ่งกันอย่างเสมอภาคเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ในยุคบุพกาลจะมีการเก็บของป่าและล่าสัตว์ สังคมไม่มีส่วนเกินหรือคลังอาหาร วันไหนได้อะไรก็มาแบ่งกันกิน แต่เมื่อมนุษย์รู้จักการเกษตรและเริ่มมีส่วนเกิน จะมีผู้ชายคนหนึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่หรือตั้งตัวเป็น “พระ” และจ้างอันธพาลติดอาวุธมาเป็นลูกน้องของตน ประชาชนที่เหลือจะตกเป็นทาสและถูกบังคับให้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งส่วย ให้ผู้ปกครอง แต่ในขณะเดียวกัน การจัดระเบียบสังคมใหม่แบบนี้ ให้ประโยชน์กับคนธรรมดาบ้าง เพราะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากในสมัยบุพกาลเดิม
   
ภายใต้ระบบการปกครองทางชนชั้น ทรัพย์สินทั้งหมดของชุมชนที่เคยเป็นของส่วนรวม ถูกแบ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่ตกในมือของผู้ปกครอง ผู้หญิงถูกบังคับให้อยู่ในระบบครอบครัวที่ชัดเจน เพื่อให้ชายผู้เป็นเจ้าสามารถให้มรดกกับลูกตนเองเท่านั้น จะเห็นว่าเริ่มมีการสร้างระเบียบครอบครัวที่ระบุว่าหญิงต้องเลี้ยงลูกเป็น หลักในขณะที่ชายมีบทบาทสาธารณะ และชนชั้นปกครองมักกล่อมเกลาให้ทั้งชายและหญิงยอมรับว่าผู้ชายสำคัญกว่า ผู้หญิง และผู้หญิงต้องไม่นอกใจผู้ชาย

นี่คือที่มาของการกดขี่สตรีในสังคมชนชั้น ซึ่งเกิดพร้อมกับระบบการปกครอง กองกำลังอันธพาล และกฎระเบียบหรือกฎหมายที่ใช้รองรับ “รัฐ” ซึ่งแปลว่าถ้าเราจะจัดการกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ เราต้องจัดการกับสังคมชนชั้น และรัฐนายทุนปัจจุบัน
   
แต่เนื่องจากระบบทุนนิยมต้องการให้ผู้หญิงออกไปทำงานในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทุกวัน และไม่พร้อมจะจ่ายเงินเดือนกับผู้ชายในระดับที่จะเลี้ยงลูกเมียได้ ผู้หญิงจึงได้รับการศึกษามากขึ้น และมีความมั่นใจซึ่งมาจากการที่ออกไปทำงาน มีรายได้ของตนเอง และไม่ต้องพึ่งผู้ชาย ซึ่งมีผลในการพัฒนาความคิดของสตรีเพื่อต่อสู้กับการกดขี่ ดังนั้นระบบทุนนิยมได้สร้างเงื่อนไขให้สตรีออกมาสู้เพื่อปลดแอกตนเองด้วย แต่พร้อมกันนั้นมักมีการเน้นหรือเสริมคุณค่าของ “ครอบครัวจารีต” เพื่อให้ชายกับหญิงสามัคคีกันยาก และเพื่อบังคับให้งานบ้าน และงานเลี้ยงลูกหรือคนชรา ตกอยู่กับผู้หญิง แทนที่จะเป็นภาระของส่วนรวม สรุปแล้วมันเป็นวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐนายทุน และลดภาษีที่เก็บจากกลุ่มทุน เพื่อเพิ่มกำไร
   
จะเห็นว่าทุนนิยมเป็นระบบที่ขัดแย้งในตัว เกี่ยวกับสภาพสตรี ทั้งกดขี่และสร้างเงื่อนไขในการต่อสู้พร้อมกัน
   
เราชาวมาร์คซิสต์จะต้องอาศัยการเพิ่มขึ้นของความมั่นใจในหมู่สตรี เพื่อช่วยกันผลักดันการต่อสู้ทางชนชั้น องค์กรจัดตั้งหรือพรรคสังคมนิยมของเรา จะต้องขยันต่อสู้ทางความคิดกับลัทธิศีลธรรมจารีตแบบคับแคบเสมอ เราต้องรณรงค์ให้กรรมาชีพเข้าใจลักษณะการกดขี่ทางเพศ และให้หญิงกับชายสามัคคีกัน พร้อมกันนั้นเราจะต้องต่อสู้เพื่อชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ เช่นสิทธิในการทำแท้งเสรี สิทธิที่จะได้เงินเดือนเท่าเทียมกันระหว่างเพศ หรือสิทธิลาคลอด ฯลฯ ซึ่งแยกไม่ออกจากการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ แต่ในระยะยาวเราต้องการสลายสถาบันครอบครัวที่กดขี่ผู้หญิง เราต้องการสลายระบบชนชั้น และเราต้องการล้มรัฐนายทุน มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเพศใด จะได้มีเสรีภาพที่จะเลือกวิถีชีวิตตามรสนิยม มีเสรีภาพที่จะรักเพื่อนมนุษย์คนใดก็ได้ตามรสนิยม และมีเสรีภาพที่จะรักและดูแลเด็กๆ ของสังคมทุกคนอย่างอบอุ่น

Monday, February 10, 2014

สังคมนิยมประชาธิปไตย ทางออก หรือ ทางเลือก


สังคมนิยมประชาธิปไตย คือรูปแบบการปกครอง ทางการเมืองในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ สามารถคิดค้นด้านการมีส่วนร่วมในหลายรูปแบบ ในส่วนที่เรียนรู้ปฏิบัติตาม หรือ ลอกเรียนแบบตามกันมาคือให้มีการเลือกตั้งโดยใช้ระบบเลือกตัวแทนเข้ามาบริหารประเทศ ส่วนรายละเอียดนั้นก็จะแตกต่างกันไป ในเงื่อนไขของการพัฒนาที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศให้มากที่สุด หลายประเทศคิดถึงระบบการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลจัดการตนเอง

ส่วนทางด้านเศรษฐกิจนั้น ใช้รูปแบบสังคมนิยม ระบบสังคมนิยมในจินตนาการตั้งอยู่บนความคิดที่ต้องการให้ระบบเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยุติธรรม ทุกคนร่วมกันทำงานเพื่อสร้างผลผลิตส่วนรวม และได้รับ สวัสดิการ พยายามกระจายรายได้โดยรัฐให้ประชาชนให้ทั่วถึงทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีรัฐสวัสดิการที่ควรมีอยู่พอสมควร ระบบสังคมนิยมไม่จำเป็นที่จะอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการหรือระบอบใดระบอบหนึ่งแต่สามารถอยู่ได้ทุกระบอบเพราะเป็นเพียงระบบเศรษฐกิจเท่านั้นไม่ใช่ระบอบการปกครอง
ความหมาย ธัมมิกสังคมนิยม (พุทธทาสภิกขุ)

“...โลกจะต้องมีระบบการปกครองที่ไม่เห็นแก่ตัวคน และให้ประกอบไปด้วยธรรมะ. ระบอบการปกครองในโลกที่ไม่เห็นแก่ตัวคนตัวบุคคลคือมือใครยาวสาวได้สาวเอานี้ จะเปิดโอกาสให้ระบบการปกครองนั้นประกอบอยู่ด้วยพระธรรม หรือพระเจ้า แล้วแต่จะเรียก ไม่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ก็เรียกไว้ทีก่อนว่า ระบบธัมมิกสังคมนิยม"

สังคมนิยม ก็แปลว่า เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ ไม่เห็นแก่ตัวเอง, ไม่เห็นแก่ตัวกูคนเดียว เห็นแก่เพื่อนมนุษย์ จึงจะเรียกว่าสังคมนิยม แล้วการเห็นแก่สังคมนั้นต้องถูกต้องด้วย ; เพราะว่าผิดก็ได้เหมือนกัน. การเห็นแก่สังคมผิด ๆ ก็คุมพวกไปปล้นคนอื่น หาประโยชน์มาให้แก่พวกตัวนี้ มันก็ผิด ก็เลยต้องใช้คำว่า “ธัมมิก” ประกอบอยู่ด้วยธรรมนี้ เข้ามานำหน้าไว้ว่า ธัมมิกสังคมนิยม-ระบอบที่ถือเอาประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก และประกอบไปด้วยธรรม

ตัวอย่างประเทศที่สามารถเรียนรู้ ที่มีการจัดรูปแบบ การปกครองที่เรียกว่า “สังคมนิยม ประชาธิปไตย” โดยรูปแบบการจัดการ “รัฐสวัสดิการ”

ประเทศสวีเดนคือประเทศหนึ่งของหลายประเทศ รูปแบบการปกครอง เป็นรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยทางอ้อม โดยใช้วิธีการเลือกตั้งตัวแทนไปนั่งในสภา เป็นแบบสภาเดียว แต่ยังมีพระมหากษัตริย์ เป็นองค์พระประมุขที่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ลักษณะหลักคิดวิธีการคล้ายประเทศไทย ความแตกต่างคือทุกอย่างที่เป็นกฎหมายการวางกฎเกณฑ์ร่วมกัน ที่นำไปสู่การปฏิบัติมีการกระทำอย่างเคารพ และยอมรับในกติกา ไม่มีการละเมิด ในทุกส่วน แม้กระทั่งระดับสูงสุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะที่นี่เขามีกติการ่วมกันว่า กฎหมายคืออำนาจสูงสุดของประเทศที่พลเมืองพึงปฏิบัติตาม เป็นสิทธิและหน้าที่ หัวใจของการปกครองโดยวิธีนี้ ผมวิเคราะห์ว่า ถ้าจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อคนในสังคม ต้องมีคุณภาพ มีวินัย มีศีลธรรมจริยาธรรม ให้เกียรติผู้คนอื่นๆ ที่สำคัญคือต้องรู้หน้าที่ เคารพกติกาที่ได้ถูกสร้างมาร่วมกัน

อำนาจที่นี่ไม่ถูกกระจุกไว้กับคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะความที่คนที่นี่มีกลุ่มคนที่หลากหลาย กลุ่มความคิดที่หลากหลาย กฎหมายของเขาไม่มีเลยที่จะปิดกั้นไม่ให้คนรวมกลุ่ม แม้แต่กลุ่มความคิดนั้นจะไม่เห็นด้วยกับภาครัฐ ไม่ห้ามตามกฎหมายแล้ว ยังแถมมีกฎหมายให้งบประมาณการรวมกลุ่มชนด้วย เพราะเขาถือว่าการรวมกลุ่มขึ้นมาก็เพื่อการสร้างสรรค์ สิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นในสังคม การรวมกลุ่มที่จะถูกยกเว้น คือกลุ่มองค์กรที่มีเจตนาร้าย และ กระทำการล้มล้างผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคมเท่านั้น การปกครองภายใต้กฎหมายของเขานี้เมื่อเขาว่ามันคืออำนาจสูงสุดมันก็สูงสุดจริงๆ ไม่มีใครแม้แต่จะกล้าคิดมาทำลายล้าง ความมั่นคงของสังคมเขาจึงมี และ ก้าวไปข้างหน้าเพื่อการสร้างสรรค์ตลอดเวลา

ประเทศสวีเดนเป็นประเทศที่ถูกปกครองด้วยระบบการเมืองหลายพรรค หลายอุดมการณ์ การจะให้อุดมการณ์แนวไหนเข้ามาปกครองประเทศก็ยู่ที่ประชาชน เป็นผู้ตัดสินใจ ฉะนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่นี่ มีค่อนข้างมาก ที่เป็นเช่นนี้ได้ดังที่กล่าวมาแล้วว่าสังคมที่นี่เป็นสังคมเปิด การรวมหมู่ รวมกลุ่ม จัดตั้งองค์กรเป็นไปอย่างหลากหลาย ตามความสนใจ ตามกลุ่มผลประโยชน์ ตามแนวคิด พรรคการเมืองที่มีอยู่ก็หลากหลาย มีทางเลือกให้กับผู้คนในสังคม

พรรคการเมืองที่มีอยู่ในประเทศสวีเดน แยกพรรคที่มีแนวความคิดที่แตกต่างกันได้ประมาณ 4-5 แนวคิดคล้ายกันบ้าง แตกต่างกันอย่างสุดขั้วบ้าง แนวทางของพรรคการเมืองที่เด่นชัดคือ

1. แนวทางสังคมนิยม ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกเลือกเข้ามาบริหารประเทศมากที่สุด มีอยู่สองพรรคการเมืองหลักที่อยู่ในแนวทางนี้ คือ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) ที่มีเสียงรองรับโดยมาตรฐานอยู่ที่ 29-32เปอร์เซ็นต์ และ พรรคฝ่ายซ้าย (Vanster) ก่อนที่ประเทศโซเวียติ ที่เป็นคอมมิวนิสต์จะล่มสลายคือพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศสวีเดน และ เป็นพรรคการเมืองที่แยกตัวออกมาจากพรรค สังคมนิยมประชาธิปไตย หลังจากการร่วมกันต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในประเทศ พรรคนี้ได้รับคะแนนเสียง อยู่ในระดับ 4-5 เปอร์เซ็นต์ พรรคแนวทางนี้ คะแนนเสียงที่ได้รับเป็นกรอบเป็นกำ จะมาจากองค์กรกรรมกร ซึ่งมีสมาชิกอยู่กว่าสามล้านกว่าคน จากประชากรประมาณ เก้าล้านคน

2. สายอนุรักษ์ธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม เพิ่งก่อเกิดขึ้นมาได้ไม่ถึงยี่สิบปี เป็นพรรคการเมืองที่คนหนุ่มคนสาวให้ความสนใจเข้าร่วมมาก นโยบายของพรรคนี้คือ การอนุรักษ์ทรัพยากร และ สิ่งแวดล้อม ชื่อพรรคก็ชื่อนี้ หรือคนต่างชาติมักจะเรียกชื่อว่าพรรค กรีน (Green)หรือพรรค เขียว ซึ่งพรรคการเมืองนี้จะจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อม และ การบริโภคมาก เขาเป็นหูเป็นตาในเรื่องนี้แทนประชาชนทั้งประเทศได้ พรรคนี้กำลังมาแรง คะแนนเสียงอยู่ในระดับ 5-10 เปอร์เซ็นต์ เวลาต้องเลือกลงคะแนนจัดตั้งรัฐบาล พรรคนี้มักให้คะแนนเสียงไปทางด้าน แนวทางสังคมนิยม

3. แนวเสรีนิยม คือพรรคประชาชน (Flock Party) คะแนนเสียงที่ได้รับส่วนใหญ่ คือผู้ประกอบการรายย่อย และคนทำงานในสำนักงาน หรือระดับผู้บริหาร องค์กรจัดตั้งที่เป็นส่วนงานบริหาร ที่แยกออกมาจากกรรมกร คะแนนเสียงจะไม่แน่นอน บางครั้งเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ บางครั้งเกือบไม่ได้เข้าไปนั่งในสภา ที่มีเกณฑ์ต่ำสุดไว้ 4 เปอร์เซ็นต์ พรรคนี้เป็นที่รู้จักกันเชิงแนวคิดฝ่ายขวา คือเรามักเข้าใจแบบชาวบ้านคือแนวทางทุนนิยม พรรคนี้จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับฝ่ายขวา คือพรรคที่มีแนวทางทุนนิยม และ อนุรักษ์นิยม (คำว่าเข้าร่วม กับ คำว่าสนับสนุน ผู้เขียนหมายความว่า ถ้าเข้าร่วมคือเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล คำว่าสนับสนุนคือลงคะแนนเสียงให้ แต่ไม่เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล)

4. แนวทางทุนนิยม ได้แก่พรรค โมเดอร์ลาสต์ เป็นพรรคฝ่ายขวาที่มีคะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุด สิบปลายๆ ถึงยี่สิบ เปอร์เซ็นต์ต้นๆ แนวคิดทางระบบทุนนิยม เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการ รายละเอียดของผู้มาลงคะแนนเสียงให้กับแต่ละพรรคก็น่าสนใจ มักเป็นไปตามนโยบายผลประโยชน์ และ แนวคิด

5. พรรคสนับสนุนเกษตรกร คือพรรค เซ็นเตอร์(Center) เสียงสนับสนุน ที่ได้รับคือผู้ประกอบการทางการเกษตร ผู้เข้าร่วมในพรรคเขาก็มีฐานทางการผลิต ประเทศนี้ที่น่าสนใจของพรรคการเมืองคือ เขาจะมีกิจกรรม ให้กับกลุ่มองค์กรของเขา และ การมีส่วนร่วมในการรักษาผลประโยชน์ พรรคการเมืองนี้เช่นเดียวกัน จะมีการบริการ ความรู้ ร้านค้า ซึ่งเป็นลักษณะการสร้างเป็นองค์กรบริการประชาชน คะแนนเสียงพรรคนี้จะไม่มาก ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ พรรคนี้ถ้าฝ่ายขวาได้คะแนนเสียวข้างมาก ก็จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล

6. พรรคทางด้านศาสนา คริสต์เตียนดีโมแครสต์ (Christian Democrat) หลักคิดเป็นไปตามชื่อที่เรียก มีแนวทางอนุรักษ์นิยม ใช้ศาสนาเป็นแนวทาง คะแนนเสียงสนับสนุน ส่วนใหญ่คือผู้ที่เคร่งศาสนา และ ผู้ที่เชื่อแนวทางแก้ปัญหาสังคมโดยแนวทางนี้ มีคะแนนเสียงมากเกือบเป็นลำดับหนึ่งของฝ่ายขวา ประมาณ สิบเปอร์เซ็นต์ขึ้น

7. ระยะหลังๆมีพรรคการเมือง ประเภทขวาจัดเกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้กันภายในประเทศ คือพรรคการเมืองประเภทต่อต้านสีผิว พรรคนี้ระยะหลังได้เข้าไปนั่งในสภาด้วย แต่พรรคการเมืองทั่วไปจะไม่สนใจให้เข้าร่วมกำหนดนโยบาย
จากข้อมูลระบบพรรคการเมืองการเลือกตั้ง เราจะได้เห็นพรรคการเมืองที่หลากหลายมาก ถ้าลงรายละเอียดของหลักคิดความเชื่อวิธีการจะแตกต่างกัน อย่างทุนนิยม และ เสรีนิยม หรือ สังคมนิยมกับพรรคฝ่ายซ้าย ซึ่งการมีพรรคการเมืองที่หลากหลาย สังคมผู้คนที่หลากหลาย มีความคิดความเชื่อที่แตกต่าง แต่ละคนที่มีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกตั้ง เขาก็จะคิดเลือกผู้แทน แน่นอน 1. กลุ่มก้อนที่เขาร่วมอยู่ 2. หลักคิดวิธีการการแก้ปัญหา ในแต่ละช่วง (โอกาสพลิกโผมักจะมีให้เห็นเสมอ)

จึงไม่เป็นเรื่องยากที่ประชาชนสวีเดน จะเลือกผู้แทนของเขา เขามักจะไม่สนใจว่ารัฐบาลจะต้องมีเสียงข้างมากหรือน้อย เมื่อพวกเขาตัดสินใจเลือกแล้ว นักการเมืองต้องไปทำหน้าที่ให้ประชาชนที่เลือกเขามาให้ได้ ฉะนั้นในประเทศสวีเดน จึงมีการปกครองระบบหลายพรรคการเมือง และ รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ ก็คือเสียงส่วนน้อยในสภา บางครั้งก็เป็นรัฐบาลร่วมหลายพรรค บางครั้งก็เป็นรัฐบาลเสียงส่วนน้อยเพียงพรรคเดียว แต่การเมืองในระบบรัฐสภาของเขาก็ไม่เคยที่จะสร้างปัญหาให้คนในสังคม

คนสวีเดนถูกฝึกฝนให้เคารพกติกา และ เคารพในหน้าที่ระบบการทำงานจึงไม่สับสน แถมไม่วุ่นวาย ผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่อยู่ตรงไหนก็ทำตรงนั้น ทำให้ดีทำตามหน้าที่ เคารพสิทธิของผู้อื่น

ระบบสังคมนิยมประชาธิปไตย รูปแบบรัฐสวัสดิการคือทางเลือกในการปกครองของประเทศนี้ การใช้เงินมากมายเพื่อนำมาดูแลคนในสังคม คนในสังคมจึงต้องมีจิตใจที่พร้อมจะเสียสละไม่คิดเล็กคิดน้อย ต้องยินดีให้รัฐจัดเก็บภาษี อย่างหนักเมื่อทำงาน นอกจากภาษีของบุคคลที่มีรายได้ทั่วไปที่เก็บกว่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วการเก็บภาษีประเภทก้าวหน้าเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คนในสังคมเขาก็ยินดีจะจ่ายให้ การจัดเก็บภาษีจึงเป็นหัวใจของการจัดระเบียบสังคม ขจัดความอยากมีอยากได้ความเห็นแก่ตัว บางคนอาจจะไม่พอใจ แต่เมื่อคนส่วนใหญ่ของสังคมเห็นด้วย ก็ต้องยอมจำนน การจัดเก็บภาษีของเขานอกจากเป็นภาษีรายได้ปกติแล้ว ภาษีสมบัติ ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน แม้แต่ภาษีเงินที่สะสม จากระบบการเก็บภาษี ในทุกเรื่องการสะสมสมบัติของคนที่นี่จึงมีน้อยมาก ฉะนั้นการเงินในประเทศนี้จึงหมุนเวียนคล่องตัว การสะสมเงินเพื่ออนาคตจึงมีน้อยมาก เขาคงไม่ต้องเป็นกังวลชีวิตอนาคต เพราะรัฐสวัสดิการดูแลให้ทุกเรื่องตั้งแต่เกิดจนตาย การดูแลของรัฐสวัสดิการ เขาใช้วิชาการในการศึกษา มีตัวชี้วัดความสุขของคน เมื่อมนุษย์มีความมั่นคงในชีวิต มนุษย์ก็ไม่ต้องสะสม ไม่กังวลทำเพื่อตัวเอง สมองก็ปลอดโปร่งที่จะได้คิดสร้างสรรค์ เมื่อคนในสังคมมีกินไม่อดอยากการก่ออาชญากรรมก็จะมีน้อย

นอกจากการเงินของรัฐที่ได้จากการเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว รัฐยังมีรายได้จากกิจกรรมของรัฐเองด้วย การจะจัดการเรื่องสวัสดิการให้ได้ดี รัฐจะต้องมีเงิน ฉะนั้นรัฐจึงต้องมีกิจการเป็นของรัฐ ในระบบการค้าเสรีรัฐไม่ได้หวงห้าม แต่รัฐก็เข้าร่วมการแข่งขันเพื่อการหารายได้เข้ารัฐด้วย บริษัทใหญ่ๆ และ เกี่ยวกับความมั่นคงในประเทศรัฐจะเป็นผู้เข้าดูแลจัดการ และพร้อมที่จะแข่งขันกับภาคเอกชน หรือ เข้าถือหุ้นเพื่อการดูแลแรงงาน ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่ศึกษาได้ จะเอาแบบอย่างหรือไม่เอา เราก็สามารถเรียนรู้นำมาเผยแพร่เพื่อให้คนในสังคมเรียนรู้ได้ เพื่อการตัดสินใจ หรือจะนำมาประยุค เพื่อนำทางสู่สังคมไทย

รัฐสวัสดิการ หัวใจของแนวคิดคือการขจัดความเหลื่อมลำทางสังคม สร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม ระบบการแข่งขัน มีกฎกติกาที่ให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน เริ่มต้นอย่างไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ ทุกครัวเรือนจะได้รับการดูแลเริ่มต้นจากครรภ์มารดา โอกาสทางการศึกษา ที่พักอาศัย อาชีพการงาน ระบบสาธารณูประโภคที่ดี ไม่ต้องหาเงินมาต่อเสริมเติมแต่งให้เกิดความสะดวกสบายกว่าผู้อื่น แม้วัยบั้นปลายของชีวิตรัฐก็จัดการเลี้ยงดูให้

ในประเทศสวีเดน ที่มีการวางระบบให้กับคนในสังคมอย่าง คิดว่าคนคือคน ทุกคนมีสิทธิที่จะได้อยู่ ได้รับอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ความเชื่อของระบบ คือมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องได้รับการบริการทางสังคมขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน ประเทศสวีเดนมีการปกครองรูปแบบสังคมประชาธิปไตย โดยการปกครองดูแลได้รับฉันทามติจากประชาชนที่คัดเลือกตัวแทนมาสู่การบริหารประเทศ ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบ สังคมนิยมในรูปแบบรัฐสวัสดิการ ที่รัฐต้องดูแลประชาชนให้มีความมั่นคงในชีวิต ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์ และ ศิลป์ที่ต้องผ่านประสบการ และ การเรียนรู้ หัวใจของการปกครองในระบอบนี้คือ ผู้นำต้องมีความเชื่อมั่น และ ศรัทธาในประชาชน เห็นคนเป็นเป็นคน ทุกคนในสังคมมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ปล่อยปละละเลยดูดาย ทำเพื่อความสุขแห่งตนเพียงผู้เดียว

                                                                          สุทธิธรรม เลขวิวัฒน์
 

Monday, February 3, 2014

แนะนำ “สังคมนิยม” และความคิด “มาร์คซิสต์ เบื้องต้น


สังคมนิยมคืออะไร
    
“สังคมนิยม” เป็นระบบที่มนุษย์ฝันถึงมานาน ตั้งแต่เกิดสังคมชนชั้นที่ไร้ความเสมอภาคและความยุติธรรม ในสมัยก่อนเขาอาจไม่เรียกว่า “สังคมนิยม” แต่มันมีความหมายเดียวกัน นักสังคมนิยมที่ทำความเข้าใจกับระบบเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันอย่างเป็นระบบ เพื่อหาทางปฏิวัติไปสู่สังคมนิยม คือ คาร์ล มาร์คซ์ และเพื่อนเขาชื่อ เฟรดเดอริค เองเกิลส์
    
พวกเราชาว “มาร์คซิสต์” เชื่อว่าสังคมนิยมต้องมาจากการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพส่วนใหญ่เอง ไม่ใช่มาจากการวางแผนโดยคนคนเดียว หรือกลุ่มคนชั้นสูงในวงแคบๆ หรือผู้นำพรรค หรือกองทัพปลดแอก ดังนั้นสังคมนิยมจะมีลักษณะตามที่กรรมาชีพและพลเมืองส่วนใหญ่พึงปรารถนา อย่างไรก็ตาม ถ้าเราจะสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยม มันน่าจะมีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้คือ
    
1.เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างทุนนิยมซึ่งอำนาจควบคุมการผลิตเป็นของนายทุน ทั้งนี้เพราะในระบบสังคมนิยมระบบเศรษฐกิจการผลิตจะถูกควบคุมโดยพลเมืองทุกคน ดังนั้นสังคมนิยมจะเป็นระบบก้าวหน้า ที่ปลดแอกมนุษย์อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์
    
2.ในระบบสังคมนิยมจะมีการวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่เพื่อสะสมอาวุธ หรือเพื่อการหวังกำไรของคนส่วนน้อย จะเป็นระบบที่มีความเสมอภาคเต็มที่ ไม่มีคนรวย ไม่มีคนจน ไม่มีการกดขี่ทางเพศหรือเชื้อชาติ

3.ในระบบสังคมนิยมจะยกเลิกการขูดรีดของนายทุน โดยการยกเลิกสิทธิ์อันไร้ความชอบธรรมของคนบางคน ที่จะควบคุมปัจจัยการผลิตอย่างผูกขาดแล้วนำกำไรเข้ากระเป๋าตนเองหรือลงทุน เพื่อหากำไรเพิ่ม ทุกสถานที่ทำงานจึงต้องเป็นของคนงานเอง ของสังคมโดยรวม ไม่มีเจ้านาย ไม่มีชนชั้น บริหารกันเอง ทรัพยากรของโลกจะเป็นของส่วนรวม ดังนั้นการกดขี่แย่งชิงกันระหว่างชาติก็จะหมดไป
    
4.มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่ ไม่ใช่ว่าบางคนมีงานทำที่น่าสนใจ และคนอื่นต้องทำงานซ้ำซาก การทำงานของพลเมืองควรจะเป็นเรื่องที่สร้างความภาคภูมิใจ และสนับสนุนความสร้างสรรค์ของเราทุกคน พลเมืองทั้งสังคมจะได้มีศักดิ์ศรีและได้รับความเคารพรักซึ่งกันและกัน

สังคมนิยมสองรูปแบบ
    
เมื่อเราพูดถึงสังคมนิยม มักจะมีคนนึกถึงระบบเผด็จการในรัสเซียหรือจีน หรือบางครั้งอาจนึกถึงระบบพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยภายใต้ทุนนิยมในประเทศ สแกนดิเนเวีย อังกฤษ หรือออสเตรเลีย แต่แนวคิดสังคมนิยมมีสองรูปแบบที่แตกต่างกันคือ
    
1.สังคมนิยมจากบนสู่ล่าง ซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการสร้างหรือบริหาร เช่นสังคมนิยมที่มาจากการสร้างเผด็จการของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ใน จีน ลาว คิวบา เกาหลีเหนือ หรือรัสเซีย(ภายใต้สตาลิน) หรือสังคมนิยมปฏิรูปที่มาจากการกระทำของ ส.ส. พรรคสังคมนิยมในรัฐสภา สังคมนิยมดังกล่าวเป็นสังคมนิยมประเภท “ท่านให้” ซึ่งเป็นสังคมนิยมจอมปลอม เป็นการประนีประนอมกับระบบกลไกตลาดเสรีของทุนนิยมและอำนาจนายทุน หรือไม่ก็เป็นเผด็จการข้าราชการแดงของพรรคคอมมิวนิสต์ที่กดขี่ขูดรีดประชาชน
    
2.สังคมนิยมจากล่างสู่บน เป็นสังคมนิยมที่สร้างโดยมวลชนกรรมาชีพเอง ร่วมกับชาวนาระดับยากจน โดยอาศัยการปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมเพื่อสถาปนารัฐกรรมาชีพ และรัฐกรรมาชีพดังกล่าวต้องมีกลไกในการควบคุมรัฐตามแนวประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เช่นต้องมีสภาคนงานในรูปแบบคอมมูนปารีส หรือสภาโซเวียตหลังการปฏิวัติรัสเซีย 1917 สมัย เลนิน สังคมนิยมประเภทนี้คือสังคมนิยมแบบ “มาร์คซิสต์” เพราะสังคมนิยมเหมือนกับประชาธิปไตยหรือสิทธิเสรีภาพอื่นๆ ไม่มีใครยกให้ได้ ต้องมาจากการต่อสู้เรียกร้องของมวลชนเอง นี่คือสังคมนิยมที่เราชื่นชมและอยากได้
    
สังคมนิยมมาร์คซิสต์ แตกต่างจากเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบ “สตาลิน-เหมา เจ๋อ ตุง” ที่พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกนำมาใช้ใน รัสเซีย จีน ลาว เขมร เวียดนาม คิวบา หรือ เกาหลีเหนือ และที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยเสนอ  
เนปาล
    
ถ้าเราไปดูประเทศเนปาล เราจะได้บทเรียนเพิ่มเติม ในเนปาลพรรคคอมมิวนิสต์สายเหมา เจ๋อ ตุง ใช้วิธีจับอาวุธสู้กับเผด็จการทุนนิยมของกษัตริย์เนปาล การต่อสู้นี้บวกกับการต่อสู้ของมวลชนในเมือง เช่นนักศึกษาและสหภาพแรงงาน ในที่สุดนำไปสู่ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในการเลือกตั้ง มีการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ แต่ระบบที่พรรคคอมมิวนิสต์เนปาลเสนอคืออะไร? พรรคคอมมิวนิสต์เนปาลต้องการกลไกตลาดเสรีของนายทุน!! และต้องการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ!! ซึ่งแปลว่าต้องคงไว้การขูดรีดกรรมกรและเกษตรกร เพียงแต่เปลี่ยนประเทศไปเป็นสาธารณะรัฐเท่านั้น
    
การจับอาวุธปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล จึงเป็นการต่อสู้เพื่อประนีประนอมกับระบบทุนนิยม แต่ข้อแตกต่างกับไทยคือ ในเนปาลไม่มีนายทุนใหญ่อย่างทักษิณที่มีอิทธิพลต่อขบวนการและสามารถดึงการต่อสู้ไปเพื่อคงไว้ระบบเดิมที่มีระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
    
ประชาธิปไตยแท้จะเกิดจากการเปลี่ยนประมุขอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีการยึดอำนาจโดยประชาชนในทุกเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ถ้าเรายกอำนาจให้นายทุนดำรงอยู่และขูดรีดต่อไป และถ้าเราเกาะติดนายทุนใหญ่ในขณะที่เขาประนีประนอมกับอำมาตย์ทุนนิยม เราก็จะปลดแอกสังคมไม่ได้
    
การจับอาวุธหรือสร้างกองกำลัง เป็นการตัดขาดบทบาทมวลชนจำนวนมาก เป็นการผูกขาดสิทธิที่จะกำหนดแนวทางโดยแกนนำเผด็จการใต้ดิน ถ้ามีการถกเถียงเกิดขึ้นในแกนนำ จะใช้ปืนแทนปัญญาในการตัดสิน และเมื่อมีการลดบทบาทหรือสลายพลังมวลชน เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่พลเมืองนำตนเองและร่วมสร้างสังคมใหม่ได้