โดย จาตุรนต์ ฉายแสง
ที่มา สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย
เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้แสดงความเห็นต่อกรณีคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาทไปว่า ผมคาดว่าคงมีการยึดทรัพย์ทั้งหมดด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ส่วน
ส่วนที่หนึ่งคือ รัฐธรรมนูญของไทยได้รับรององค์กรตรวจสอบที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร ทั้งยังรับรองให้กระทำการใดๆก็ได้แม้การกระทำนั้นจะผิดกฎหมายก็ตาม และระบบยุติธรรมของไทยก็ยอมรับการรัฐประหารและคำสั่งต่างๆของคณะรัฐประหาร
ส่วนที่สองคือ ได้มีการแสดงความเห็นในลักษณะชี้นำสังคมและการกดดันศาลโดยบุคคลสำคัญในรัฐบาล กลุ่มพันธมิตรฯและอดีตกรรมการคตส.อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ โดยใช้สื่อของรัฐบาลเพื่อการนี้อย่างเต็มที่
ที่ผมเสนอความเห็นไปนั้นก็เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐและผู้เกี่ยวข้องยุติการชี้นำสังคมเพื่อให้สังคมตัดสินไปก่อนการตัดสินของศาล และเลิกล้มการวางแผนปูทางไปสู่การปราบประชาชน
ขณะเดียวกันผมก็เรียกร้องให้ฝ่ายประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยืนยันการต่อสู้โดยสันติวิธีอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังไม่ให้เข้าทางฝ่ายรัฐบาล
ผมยังได้คาดการณ์ไว้ด้วยว่าผลการตัดสินคดีนี้ย่อมมีทั้งผู้ที่พอใจยินดีและไม่พอใจ หรือแม้แต่โกรธแค้น ซึ่งก็คงต้องช่วยกันเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีความอดทนอดกลั้น ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาอย่างสันติ
นอกจากนี้ผมก็คาดการณ์ว่าผลการตัดสินคดีนี้จะนำไปสู่การตั้งคำถามต่อระบบยุติธรรมของประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งทางที่ดีก็ควรส่งเสริมให้มีการศึกษา วิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่ เพื่อสังคมไทยจะได้หาทางปรับปรุงระบบยุติธรรมของประเทศให้เกิดความยุติธรรม
ถึงวันนี้ผมก็ยังคาดการณ์อย่างเดิม แม้ว่าจะอยากให้คาดผิดอย่างที่เคยพูดไว้แล้วนั่นเอง
การคาดการณ์และวิเคราะห์ทั้งหมดที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้ไม่ได้เกิดจากการศึกษาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายของคดีนี้เท่าไรนัก ส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์จากการติดตามพฤติกรรมของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเสียมากกว่า
เมื่อปรากฏว่าการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคดีนี้สามารถกระทำได้ทั่วไป ผมจึงเห็นว่าควรจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้เพิ่มเติม เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยเฉพาะผู้สนใจบ้างตามสมควร
ในการแสดงความเห็นนี้ ผมไม่ประสงค์จะอธิบายอะไรแทนใคร และไม่ประสงค์จะตอบคำถามหรือเสนอข้อสรุปว่าควรจะเป็นอย่างไร แต่จะขอตั้งคำถามและเสนอปัญหาให้ผู้สนใจช่วยกันคิดต่อไป
ทรัพย์สิน 76,000 ล้านบาทนี้ ตามกฎหมายไม่ใช่ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นของผู้อื่น คือน้องสาวและลูกซึ่งมิใช่ข้าราชการการเมือง คตส.อาศัยเหตุผลอะไรในการยึดเป็นของรัฐ
หากจะใช้เหตุผลว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซุกหุ้นโดยถือว่าหุ้นทั้งหลายนั้นแท้จริงเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ พ.ต.ท.ทักษิณก็จะมีความผิด ๒ ประการคือ ๑).ทำผิดข้อห้ามที่ไม่ให้รัฐมนตรีถือหุ้น และ ๒).จงใจปกปิดไม่แสดงบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้อง
สมมุติว่าผิดทั้งสองข้อจริง ก็ไม่มีกฎหมายข้อไหนให้ยึดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณได้
ที่ผ่านมามีรัฐมนตรีในหลายรัฐบาลถือหุ้นอันเป็นการขัดต่อข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็เห็นเพียงแค่ทำให้รัฐมนตรีเหล่านั้นขาดคุณสมบัติไป ไม่มีการลงโทษอย่างอื่น หากรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องการที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งอีก ก็สามารถกระทำได้โดยไม่ขาดคุณสมบัติแต่อย่างใดด้วย
ส่วนรัฐมนตรีที่จงใจปกปิดทรัพย์สินก็มีมาแล้วหลายคน ผลก็คือต้องพ้นจากตำแหน่งไป และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา ๕ ปี
แต่ในทั้งสองกรณีไม่มีใครถูกยึดทรัพย์
คตส.กล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณใช้นโยบายเอื้อประโยชน์
ข้อกล่าวหานี้มีคำถามหลายอย่าง การดำเนินนโยบายเหล่านั้นเป็นไปโดยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ที่ว่าเอื้อประโยชน์นั้นเอื้อแก่ใครบ้าง เอื้อเป็นการทั่วไปหรือเอื้อเฉพาะราย ทำให้รัฐเสียประโยชน์จริงหรือไม่ ใครควรเป็นผู้วินิจฉัยว่าการใช้นโยบายเหล่านั้นดีหรือไม่ดี และการดำเนินนโยบายเหล่านั้นใครควรเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย นายกฯคนเดียวหรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ และสมมุติว่าผิดกฎหมายจริง มีบทลงโทษให้ยึดทรัพย์ทั้งหมดเป็นของรัฐหรือไม่
ดูจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายต่างๆนั้นไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การออกพรก.ซึ่งมีการร้องค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วและศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยมาแล้วว่าสามารถออกได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
การตกลงให้เงินกู้แก่ต่างประเทศก็เป็นไปตามมติครม. ซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้ให้ทำได้
ปัญหาที่เหลือในส่วนนี้คือ เป็นการเอื้อประโยชน์หรือทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ เสียประโยชน์เท่าไร และถ้าเอื้อประโยชน์หรือทำให้รัฐเสียประโยชน์ เอื้อประโยชน์ไปเท่าไร ทำให้รัฐเสียประโยชน์ไปเท่าไร และจะเรียกค่าเสียหายกันอย่างไร
กรณีเอื้อประโยชน์ในการให้ต่างประเทศกู้เงินนั้น เมื่อเป็นการกู้ก็ย่อมมีสัญญากู้เงิน มีการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ต้องถามว่ามีการชำระหรือไม่ ทวงหนี้ได้หรือไม่ หนี้เสียไปเท่าไร
ถึงแม้หนี้สูญไปทั้งหมด ๔,๐๐๐ ล้านบาท ก็ควรจะเรียกเงินชดเชยเอากับผู้ทำให้เกิดความเสียหาย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบความเสียหาย จะเอามาเป็นเหตุในการยึดทรัพย์ทั้งหมดไปได้อย่างไร
ส่วนเรื่องการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นภาษีสรรพสามิตนั้น ดูเหมือนจะมีข้อโต้แย้งทั้งในเชิงหลักการและข้อเท็จจริงว่าทำให้รัฐเสียประโยชน์จริงหรือไม่ และทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจจริงหรือไม่ ประเด็นนี้ผมไม่ขอวิจารณ์ในที่นี้ เพียงแต่อยากให้มีการรับฟังความเห็นของฝ่ายที่เขาชี้แจงกันมากกว่าที่เป็นอยู่เท่านั้น
ประเด็นที่ผมจะเสนอเกี่ยวกับการเปลี่ยนระบบสัมปทานมาเป็นการเก็บภาษีสรรพสามิตก็คือ การตัดสินใจว่าจะใช้ระบบใด จะเก็บภาษีหรือไม่ จะเก็บมากหรือน้อย รัฐจะเก็บภาษีมากหรือน้อย เป็นปัญหานโยบายไม่ใช่หรือ ทั่วโลกเขาถือเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่ใช่หรือ ความรับผิดชอบต่อเรื่องเช่นนี้ เมื่อไม่เป็นการผิดกฎหมาย แท้จริงแล้วย่อมเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองที่รัฐบาลพึงมีต่อสภาและต่อประชาชน กระบวนการที่พึงตรวจสอบเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้นนี้ จึงควรเป็นรัฐสภาและประชาชน
ถึงแม้ว่าเป็นไปโดยผิดกฎหมายและให้รัฐเสียประโยชน์จริง ก็ต้องลงโทษทางอาญาและให้ชดเชยความเสียหาย ไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการยึดทรัพย์ได้อยู่ดี
คำถามที่คนจำนวนมากยังสงสัยอยู่ก็คือ แล้วคตส.อาศัยข้อกล่าวหาและเหตุผลอะไรมาใช้ในการเสนอให้ยึดทรัพย์ทั้งหมด 76,000 ล้านบาท
คตส.บอกว่าเขาเห็นว่าทรัพย์สินนี้แท้จริงแล้วเป็นของ พตท.ทักษิณ ที่โอนให้ลูกและน้องนั้นไม่ได้โอนขาด แต่เป็นการอำพรางว่าโอน
คตส.ไม่ได้เล่นงานเรื่องถือหุ้นหรือซุกหุ้น ไม่เปิดเผยทรัพย์สิน แต่กล่าวหาว่าพ.ต.ท.ทักษิณในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ทำให้ทรัพย์สินของตนนั้นมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งเป็นการทำให้ “ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร”
ถือว่าเป็น “การร่ำรวยผิดปกติ”
เมื่อร่ำรวยผิดปรกติ ก็สามารถใช้กฎหมายว่าด้วยการร่ำรวยผิดปรกติมายึดทรัพย์ได้ ธรรมดาข้อหาร่ำรวยผิดปรกติเป็นเรื่องที่ต้องดูว่าทรัพย์สินส่วนไหนที่ไม่สามารถแสดงที่มาได้ ก็ต้องยึดส่วนนั้น
แต่กรณีนี้ถือว่าเมื่อทรัพย์นี้ “ได้มาโดยไม่สมควร” ก็ต้องยึดเสียทั้งหมด โดยไม่ต้องคำนวณว่าเดิมมีอยู่เท่าไร และที่เพิ่มมาโดยชอบและไม่ชอบเป็นเท่าไร
ทฤษฎี “วัวกินหญ้า” ก็เข้ามาเกี่ยวข้องตรงนี้
เขาบอกว่าเมื่อมีคนเอาวัวไปกินหญ้าของทางการจนอ้วน ก็ต้องยึดวัวทั้งตัวนั้นเป็นของทางการ
การใช้เหตุผลในประเด็นนี้มีปัญหามากกว่าประเด็นที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เพราะเป็นประเด็นเดียวที่ใช้เป็นเหตุผลในการยึดทรัพย์ทั้งหมดในครั้งนี้
รัฐธรรมนูญห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานของรัฐ เพราะฉะนั้นใครที่มีหุ้นแบบนี้อยู่ก่อนมาเป็นรัฐมนตรี ก็ต้องขายหรือโอนให้คนอื่นไปเสีย รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามโอนให้ลูกที่บรรลุนิติภาวะแล้วหรือญาติพี่น้อง
เมื่อโอนให้ลูกและน้องไม่ผิดกฎหมาย การตามไปดูว่าโอนให้กันอย่างไร ซื้อขายกันในเวลาต่อมาในราคาอย่างไร อย่างที่คตส.นำมากล่าวหานั้น ต้องถือว่าเป็นปัญหาโลกแตก จะจับผิดใครในกรณีทำนองเดียวกันก็ได้ทั้งนั้น ที่ถูกก็จะกลายเป็นผิดได้หมด
เช่นที่บอกว่ามีการขายให้กันในราคาถูกผิดปกติ หรือพ่อยังใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่อยู่ในชื่อของลูกได้ แสดงว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของลูกจริง แต่ยังเป็นของพ่ออยู่
ใช้บรรทัดฐานอย่างนี้เท่ากับไม่คำนึงถึงความเป็นพ่อลูกเลยแม้แต่น้อย
ถ้าใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ สมมุติว่าทรัพย์สินนั้นเป็นรถยนต์สักคันหนึ่ง พ่อซื้อให้ลูก จดทะเบียนในชื่อลูก ต่อมาพ่อไม่มีรถใช้หรือไม่ชอบรถของตัวเอง ก็ขอยืมรถลูกมาใช้เรื่อย แถมขอให้ลูกมาช่วยขับรถให้ทุกวันด้วย ลูกก็ไปขับรถของตนเองให้พ่อนั่งทุกวัน ไม่ได้ใช้สำหรับตัวเองเลย มีปัญหาขึ้นมาว่ารถนี้เป้นของใคร ถ้าใช้หลักเกณฑ์ของคตส.ที่ใช้ในเรื่องหุ้น ก็คงต้องสรุปว่ารถคันนี้เป็นของพ่ออยู่ ใครจะมายึดทรัพย์พ่อ ก็คงสามารถยึดรถคันนี้ได้ด้วย หลักกฎหมายที่จะใช้พิจารณาว่าทรัพย์สินใดเป็นของใคร และจะกลายเป็นของใครเมื่อใดก็คงสับสนไปหมด
ส่วนการตีขลุมเอาดื้อๆว่า เมื่อมีการใช้นโยบายเอื้อประโยชน์แล้วไม่ต้องพิจารณาเลยว่าเอื้อประโยชน์ไปเท่าไร ทำให้รัฐเสียประโยชน์ไปเท่าไร และทำให้ทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมเพิ่มขึ้นเท่าไร โดยการถือว่าทั้งหมดเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร แล้วสนับสนุนโดยใช้ทฤษฎีวัวกินหญ้านั้น ใครๆก็รู้ว่าเป็นการยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่เลอะเทอะที่สุด
สมมุติว่ามีวัวอยู่ฝูงหนึ่งมีราคารวมกันสัก ๑ ล้านบาท ไปกินหญ้าในหมู่บ้านเสียเรียบ สมมุติว่ากินหญ้าของทางราชการไปด้วยก็ได้ แต่ถ้าปรากฏว่าหญ้าที่วัวกินไปนั้นมีมูลค่ารวมกันคำนวณได้ประมาณ ๑ หมื่นบาท ถามว่าควรจะทำยังไงกับเจ้าของวัว จะยึดวัวทั้งฝูงได้หรือ จะถือว่าวัวเป็นเครื่องมือในการกระทำผิดจึงต้องยึดเสียทั้งหมดได้หรือ
ทฤษฎีวัวกินหญ้าจึงเหมาะที่จะเป็นคำอธิบายของผู้ที่กินหญ้าเป็นอาหารเสียมากกว่า
ดูข้อกล่าวหาและเหตุผลของคตส.แล้ว จะเห็นว่าเป็นการจับแพะชนแกะเสียมากกว่าการอาศัยข้อกฎหมายที่มีเหตุผล หรือยึดหลักความยุติธรรมใดๆ
ถือว่าเป็นการกล่าวหาที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง
ข้อกล่าวหาและเหตุผลของคตส.นี้นอกจากขัดต่อหลักนิติธรรมและไม่ยุติธรรมแล้ว ยังจะทำให้เป็นปัญหาต่อหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องสำคัญดังนี้ ข้อกล่าวหาและเหตุผลของคตส.มีความหมายเท่ากับการห้ามรัฐมนตรีโอนหุ้นให้ลูกหรือญาติพี่น้อง ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้นั่นเอง
มีความหมายว่า ความที่ว่าคณะรัฐมนตรีย่อมรับผิดชอบร่วมกันในการบริหารราชการ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป
มีความหมายว่าผู้ใดจะร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่ามีทรัพย์สินเดิมอยู่เท่าใด ไม่จำเป็นต้องดูว่าสามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ แต่หากทางการเห็นว่าได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยไม่สมควรแม้เพียงบางส่วน ก็สามารถยึดทรัพย์นั้นทั้งหมดได้ รวมทั้งทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย และที่เคยถูกตรวจสอบว่าถูกกฎหมายมาแล้วด้วย
มีความหมายว่าบุคคลหรือบริษัทเอกชนอาจถูกลงโทษถึงขั้นยึดทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบของตนตามกฎหมายเนื่องจากการกระทำผิดของผู้อื่น มาถึงตรงนี้ก็นึกถึงความเห็นที่ได้ยินอยู่บ่อยๆในช่วงนี้คือ หากยึดทรัพย์นี้มาได้หมด แล้วเอามาแบ่งให้ประชาชนทั้งประเทศก็ดีเหมือนกัน เพราะคงได้คนละเป็นพันบาท บางคนก็ว่าการเอาทรัพย์คนรวยมาช่วยคนจนเป็นเรื่องไม่บาป เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ
ความเห็นนี้ฟังดูเผินๆก็เข้าทีดีอยู่หรอก คนเดือดร้อนก็มีแค่ครอบครัวเดียว แต่สังคมไทยไม่ควรลืมว่านี้เป็นความคิดแบบคอมมิวนิสต์ ที่แม้แต่ประเทศที่นิยมในลัทธินี้ก็ไม่ทำกันมานานแล้ว
พิจารณาจากข้อกล่าวหาและเหตุผลของคตส.แล้ว เรื่องคดียึดทรัพย์นี้อาจมีผลทำให้มีคนเดือดร้อนเพียงครอบครัวเดียวก็จริง แต่ความเสียหายอื่นที่อาจจะตามมาก็คือ ผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นกับความเชื่อถือต่อระบบยุติธรรมของประเทศไทย และความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยอาจจะมากยิ่งกว่าครั้งใดๆที่ผ่านมา
สังคมไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมรับกับสภาพการณ์เช่นนี้ วิธีป้องกันมิให้ปัญหาบานปลายและทางออกที่ดีก็คือ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ใช้เหตุผลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะหาทางทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย
และทำให้ระบบยุติธรรมของประเทศนี้มีความยุติธรรมจริงๆได้โดยสันติวิธี
No comments:
Post a Comment