Wednesday, February 10, 2010

ใครจะล้ม?

โดย: จักรภพ เพ็ญแข
2 กุมภาพันธ์ 2553

สมัยก่อนเขาใช้ข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์มาใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง เพื่อทำลายศัตรูคู่แข่งหรือคนที่ตัวคิดว่าเป็นภัยคุกคาม เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนไปใช้ข้อกล่าวหาว่าจะ “ล้มเจ้า” มาทำลายแทน

เพื่อสื่อสารว่ามีคนคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นในเมืองไทย

แล้วก็แจ้งความ กล่าวหา ส่งสำนวน และสั่งฟ้องกันให้ชุลมุนไป ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เมื่อมวลชนใส่เสื้อเหลืองปรากฏตัวขึ้นอย่างดุดันก้าวร้าว มุ่งโค่นล้มรัฐบาลของฝ่ายประชาชนอย่างเป็นระบบและมีแรงสนับสนุนที่ดียิ่ง

จนต่อมามีการจับกุมคุมขังเกิดขึ้นหลายสิบรายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศตามการจุดชนวนนั้น

โชคดีที่การรณรงค์ของระบอบคอมมิวนิสต์ในระดับโลกสิ้นสุดลงไปพร้อมกับสงครามเย็น แต่น่าสนใจว่าข้อหาคอมมิวนิสต์ใหม่คือ “ล้มเจ้า” จะไปจบลงตรงไหน เนื่องจากเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน กรณีคอมมิวนิสต์มีที่มาของเรื่องที่ชัดเจนและเป็นปรากฏการณ์ในหลายประเทศทั่วโลก แต่กรณีหลังขาดทั้งความชัดเจนทางกฎหมายและมีลักษณะครอบงำทางสังคมจนไม่ต้องถามเหตุผล

ที่สำคัญคือเป็นปรากฏการณ์เฉพาะตัวของเมืองไทยที่สังคมโลกกำลังจับตามองอย่างสงสัย

สถาบันพระมหากษัตริย์มีอยู่ในหลายประเทศ แต่ไม่ปรากฏว่าประเทศใดยกเรื่องนี้ขึ้นมาไล่ล่าขับเคี่ยวกันอย่างนี้

หลายประเทศไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแปลว่ากระไร ยกเว้นฝรั่งเศส ซึ่งก่อการปฏิวัติประชาชนโค่นล้มกฎหมายประเภทนี้โดยตรง เราจึงรับมรดกเก่าๆ ของเขามาเรียกกันว่า les majesty

แต่เอาเถิด เมื่ออุตส่าห์ขุดค้นมาใช้งานกันถึงขนาดนี้แล้ว ตั้งวงคุยกันสักหน่อยไม่เสียหายอะไรไปมากกว่านี้หรอกครับ

สิ่งสำคัญอย่างยิ่งในสถาบันพระมหากษัตริย์ของทุกประเทศทั่วโลกคือ "พระราชอำนาจ"

พระราชอำนาจนั้นมีหลายทาง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอำนาจทางการเมือง ซึ่งรวมทั้งพิธีการและงานเฉพาะกิจอย่างสงคราม อำนาจทางสังคม และอำนาจทางวัฒนธรรม ส่วนอำนาจทางเศรษฐกิจนั้นไม่มีมากนักในสถาบันกษัตริย์ของโลก

ข้อกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงแปลว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำการที่ถือว่าหมิ่นอานุภาพอันล้นพ้นและยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน

การหมิ่นพระราชอำนาจจึงเป็นหัวใจของเรื่อง

แต่คนที่มุ่งทำลายศัตรูเพื่อหวังผลทางการเมือง เขานำข้อกล่าวหาเรื่องการหมิ่นพระราชอำนาจมาขยายจนเป็นการล้มเจ้าหรือทำให้คนทั่วไปคิดไปถึงขนาดนั้น

คนละเรื่องกันแท้ๆ ก็เอามาคลุกเคล้ากันจนเกิดความเสี่ยงต่อสถาบันเอง ตามคำโบราณว่าเสี่ยงพระมหากษัตริย์

ข้อกล่าวหาว่า “ล้มเจ้า” หมายความว่ามีขบวนการอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำงานยึดโยงกันเป็นหมู่คณะ มีแผน มีหน่วยปฏิบัติการอะไรต่างๆ มากมาย แม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์ ฟังดูน่ากลัวยิ่งนัก

แต่ผู้ที่ถูกกล่าวหา ถูกไล่ล่า และถูกจับกุมแต่ละราย กลับเป็นบุคคลเดี่ยวๆ ที่กระทำการต่างกรรมต่างวาระกันอย่างชัดเจนไม่มีความเชื่อมโยงกัน

หากขบวนการอย่างนี้มีจริง และผู้ที่มีหน้าที่ที่อ้างความจงรักภักดีทั้งหลายไม่นำออกมาให้สังคมได้เห็นเป็นประจักษ์ ก็เท่ากับว่าผู้ที่ขยันกล่าวหาคนอื่นนั่นเองที่เป็นตัวการสำคัญในเรื่องนี้ เพราะละเว้นไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญ

ส่วนข้อเสวนาเรื่องพระราชอำนาจนั้น มีความสำคัญต่ออนาคตของบ้านเมืองอย่างที่สุด เพราะจะนำไปสู่ทางออกทางการเมืองหรือจะสร้างปัญหายิ่งไปกว่านี้ก็ได้

พระราชอำนาจมิใช่สิ่งที่ทรงใช้โดยพระมหากษัตริย์เท่านั้น ยังมีผู้ที่ใช้พระราชอำนาจอย่างที่เรียกว่าทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยอีกเป็นจำนวนมากในเมืองไทย เช่น ตุลาการผู้ขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่ “ศาล” ผู้มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการระดับสูง องคมนตรี เป็นต้น

แม้กระทั่งพระบรมวงศานุวงศ์และคนทั่วไปที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนพระองค์ในบางกรณี ก็ใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่ในห้วงเวลานั้นๆ

รวมความแล้วพระราชอำนาจของกษัตริย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ

อำนาจรัฐคือเงื่อนไขสำคัญที่บอกเราว่า จะเขียนรัฐธรรมนูญและบังคับใช้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในรัฐ

รัฐธรรมนูญคือสิ่งที่ระบุว่าคนทุกๆ คนในรัฐนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น กษัตริย์กับราษฎร เจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน ข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน สิทธิและหน้าที่ของปัจเจกบุคคล เป็นต้น

ข้อเสวนาในเวลาอันควรเพื่อให้ประเทศชาติอยู่รอดได้ จึงต้องเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะสามปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดการกล่าวอ้างพระราชอำนาจหรือแม้แต่สงสัยกันว่าแอบอ้างพระราชอำนาจบ่อยครั้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

จริงหรือปลอมก็ถือว่ามีผลกระทบในทางลบทั้งนั้น เพราะการเมืองที่แล้วมาสามปีเป็นแบบ “ขวาพิฆาตประชาธิปไตย” ใครรับอุปถัมภ์ไว้เป็นซวยทุกคน ไม่ว่าหน้าไหนทั้งนั้น

จึงขอเตือนมายังคนที่ชอบกล่าวหาคนอื่นเรื่อง “ล้มเจ้า” ว่า หากเจตนาคือการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ จงหยุดการกระทำเช่นนี้ในทันที แต่ถ้าเจตนาเร้นลับคือการทำให้สถาบันฯ เสียหาย ก็ขอให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ พิจารณาโดยใช้สติปัญญาอย่างแยบคาย หรือ โยนิโสมนสิการ

ขนาดยอมให้โจรมาจัดงานที่เรียกว่ามหามงคล จะช่วยเสริมหรือทำให้ทรุด ใช้พุทธปัญญากันเอาเอง.

No comments:

Post a Comment