Saturday, February 5, 2011

จีน เป็นสังคมนิยมหรือทุนนิยม


ในประวัติศาสตร์ประเทศไทย การปฏิวัติที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือ พคท. ถือเป็นการปฏิวัติที่แท้จริงเพียงครั้งเดียวของไทย เพราะที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย เป็นเพียงการเปลี่ยนอำนาจปกครองประเทศจากชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น โดยที่โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมยังคงเหมือนเดิม แต่การปฏิวัติที่นำโดย พคท. มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศทั้งระบอบ เพื่อก้าวไปสู่สังคมสังคมนิยมและสังคมคอมมิวนิสต์ในที่สุด


พคท. เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นตามทฤษฎีลัทธิมาร์กซ-เลนิน ต่อมาเมื่อการปฏิวัติของจีนประสบความสำเร็จพรรคคอมมิว-นิสต์จีนสามารถสถาปนาอำนาจรัฐขึ้นมาปกครองประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) จากผลสะเทือน ดังกล่าว ในการประชุมสมัชชาครั้งที่สองของ พคท. เมื่อปี พ.ศ. 2495 ที่ประชุมจึงได้ผ่านมติยอมรับความคิด เหมา เจ๋อ ตง เป็นทฤษฎีชี้นำเช่นเดียวกับลัทธิมาร์กซ์-เลนิน ตั้งแต่ นั้นเป็นต้นมา การปฏิวัติของไทยที่นำโดย พคท. จึงยึดถือจีนเป็นแบบอย่างการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐจากชนชั้นปกครองใช้วิธีเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยใช้ ส่วนการสร้างสรรค์สังคมสังคมนิยมภายหลังได้รับชัยชนะ แม้จะไม่ได้กำหนด ไว้ชัดเจน แต่แน่นอนย่อมไม่ต่างจาก จีนมากนัก ในสายตาของนักปฏิวัติไทย ประเทศจีนที่เป็นรัฐสังคมนิยมจึงเป็นเสมือนภาพในอนาคตของประเทศไทย ที่พวกเขามุ่งมั่นต่อสู้เพื่อให้ไปถึงวันนั้น
เป็นที่น่าเสียดายว่า การปฏิวัติ ไทยที่นำโดย พคท. ต้องสะดุดหยุดลงในกลางทศวรรษ 2520 ความหวังที่จะเห็นสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นอันต้องเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด แต่อย่างใดก็ตาม เชื้อแห่งการปฏิวัติไทยยังไม่ดับมอดทีเดียว ผู้ที่เคยเข้าร่วมปฏิวัติกับ พคท. จำนวนมากยังไม่ละทิ้งอุดมการณ์ โอกาสที่พวกเขาจะรวมตัวกันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อผลักดันสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นยังมีความเป็นไปได้


ในขณะที่กระแสการปฏิวัติของ ไทยกำลังขึ้นสูงภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในจีนได้เกิดการเปลี่ยน แปลงครั้งสำคัญ พรรคคอมมิวนิสต์ จีนภายใต้การนำของ เติ้ง เสี่ยว ผิง ได้จัดการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางชุดที่ 11 เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ที่ประชุมได้ผ่านมติให้พรรค เน้นงานด้านเศรษฐกิจ แทนที่จะเป็นการเน้นงานด้านการเมืองและการปฏิวัติเหมือนในอดีต และได้กำหนดนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดหักเหของประวัติศาสตร์จีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการประชุมจุนอี้ในระหว่างเดินทัพทางไกลเมื่อปี 1935 เพราะนับแต่นี้ไป จีนได้เริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจตามแบบประเทศทุนนิยม จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกประเทศหนึ่ง ขณะเดียวกัน ท่าทีของจีนต่อการปฏิวัติก็เปลี่ยนไป จีนได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล ประเทศต่างๆ ที่ตนเคยโจมตีว่าเป็นสมุนจักรพรรดินิยม ส่วนความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศต่างๆกลับเสื่อมลง การเปลี่ยนแปลงของจีนได้ส่งผลกระทบกว้างขวางและลึกซึ้งต่อขบวนปฏิวัติของประเทศต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีผลทำให้การเคลื่อนไหว ปฏิวัติในหลายประเทศต้องปิดฉากลงหรือตกอยู่ในสภาพลำบากอย่างยิ่ง


พคท. เป็นพรรคที่ถูกกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนนโยบายของจีน พคท. จำต้องปิดสถานีวิทยุเสียงประชาชนไทยที่ตั้งอยู่ในจีน และยังต้องรับเคราะห์จากความขัดแย้งระหว่างจีนกับเวียดนาม ทำให้ไม่สามารถใช้ดินแดนลาวและกัมพูชาเป็นแนวหลังอีกต่อไป ที่หนักที่สุดคือ อาวุธและยุทธปัจจัยของกองกำลัง ทปท. เขตภาคเหนือและภาคอีสาน ที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากจีนไม่มีอีกแล้ว เพราะเส้นทางลำเลียงที่ผ่านลาวถูกตัดขาด พคท. ต้องพบกับความยากลำบากที่ไม่เคยประสบมาก่อน ทั้งที่กำลังอยู่ในช่วงกระแสสูงของการปฏิวัติ ทุกวันนี้แม้จะยังไม่มีการสรุปอย่างจริงจังถึงสาเหตุความล้มเหลวของ พคท. และการปฏิวัติไทย แต่การเปลี่ยนนโยบายของ จีนและสถานการณ์ในอินโดจีนขณะนั้นน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของขบวนปฏิวัติไทยในช่วงนั้น


ประเทศจีนภายหลังการปฏิรูปและเปิดประเทศ เศรษฐกิจของประเทศได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีปริมาณการค้าต่างประเทศใหญ่เป็นที่ 3 ของโลก และมีเงินตราต่างประเทศสำรองมากที่สุดในโลก จีนได้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ของโลกอย่างแท้จริง โดยใช้เวลาในการพัฒนาเพียง 20 กว่าปีเท่านั้น


อย่างใดก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ที่สำคัญคือปัญหาการกระจายรายได้ ที่เกิดความเหลื่อม ล้ำระหว่างเขตชายฝั่งกับดินแดนตอนใน ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมือง กับชนบท และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย ปัญหาการทำลายสภาพแวดล้อม ปัญหาการพัฒนาคุณภาพคน ปัญหาสังคมเช่น ยาเสพติด การพนัน การค้าประเวณี การค้ามนุษย์ การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ และปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่ระบาดไปทุกวงการ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาประเทศตามระบอบทุนนิยม ที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายรวมทั้งประเทศไทยประสบมาแล้วทั้งนั้น ที่น่าสังเกตคือ ปัญหาเหล่านี้เคยถูกกำจัดจนหมดสิ้นในยุคที่จีนเป็นรัฐสังคมนิยม แต่ได้ฟื้นขึ้นมาใหม่ภายหลังการปฏิรูปและเปิดประเทศ


ในช่วงแรกของการปฏิรูปและเปิดประเทศ ภายในพรรคคอมมิวนิสต์ จีนมีการต่อสู้สองแนวทางระหว่างการเดินหน้าปฏิรูปต่อไป กับการถอย กลับไปสู่นโยบายเดิม ส่วนในสังคมก็มีกระแสความไม่พอใจต่อพรรคคอมมิวนิสต์ อันเนื่องมาจากการละเลยในการจัดการปัญหาที่เกิดจากการปฏิรูปและเปิดประเทศ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง ความไม่พอใจนี้ได้นำไปสู่การชุมนุมประท้วงยืดเยื้อ จนกลายเป็นเหตุการณ์ นองเลือดเทียนอันเหมินที่มีผู้เสียชีวิตมากมายเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989


พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มี เติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นผู้นำสูงสุดได้ใช้วิธีเฉียบขาดในการจัดการกับผู้ชุมนุมที่ จัตุรัสเทียนอันเหมิน จากนั้นในปี 1992 เติ้ง เสี่ยว ผิง ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมมณฑลทางใต้ และได้กล่าว สุนทรพจน์หลายครั้ง เพื่อกระตุ้นให้เร่งปฏิรูปและเปิดประเทศให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการสยบเสียงคัดค้านภายพรรคให้เงียบลงไป นับตั้งแต่นั้นมา การปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนก็ได้เดินหน้าเต็มที่ การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนรุดหน้าเหมือนติดปีกบิน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่า 9 % ต่อปีติด ต่อกันเป็นเวลา 10 กว่าปี ซึ่งนับเป็นอัตราสูงที่สุดในโลก จนทำให้จีนกลายเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลก ส่วนในด้านการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ยึดกุมอำนาจรัฐไว้อย่างเหนียวแน่น โดยแทบไม่มีการปฏิรูปใดๆ เกิดขึ้น


การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนทำ ให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดีขึ้นมาก ทุกวันนี้คงไม่มีคนจีนคนใดต้องการให้ประเทศของเขากลับไปสู่ยุคเดิมอีก แต่ก็มีคนจีนจำนวนไม่น้อยเกิดความสงสัยว่า ประเทศของเขาเป็นประเทศสังคมนิยมหรือทุนนิยมกันแน่ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรือ และในอนาคตพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังจะนำพวกเขาก้าวเดินไปสู่สังคมสังคมนิยมและสังคมคอมมิวนิสต์อีกหรือไม่ คำถามเหล่านี้เป็นโจทย์ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องตอบให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน ชาวจีน

ไม่เพียงชาวจีนเท่านั้นที่เกิดความสงสัยในระบอบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศเขา ชาวต่างชาติโดยเฉพาะผู้ที่เคยเข้าร่วมขบวน การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม และเคยยึดถือจีนเป็นแบบอย่าง ก็เกิดความสับสนเช่นกันว่า ความสำเร็จใน การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเกิดจากการมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนนำ และมีทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์-เลนินเป็นความคิดชี้นำ หรือเกิดจากการเลียนแบบประเทศทุนนิยมกันแน่ ประสบ- การณ์ของจีนเป็นบทเรียนที่ใช้กับประเทศอื่นได้หรือไม่ และที่สำคัญที่สุดคือ จีนยังเป็นประเทศสังคม- นิยม ที่ใช้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นทางผ่าน เพื่อก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดในการปฏิวัติ หรือเป็นเพียงประเทศทุนนิยมที่ปกครองโดยกลุ่มเผด็จการในคราบของพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้น


พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตอบปัญหาทางทฤษฎีที่ค้างคาใจคนมาตลอด ซึ่งล่าสุดได้สรุปเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างชัดเจน ที่มีสาระสำคัญคือ ขณะนี้จีนอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นของสังคมสังคมนิยม และกำลังสร้างสรรค์ สังคมสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน โดยใช้รูปแบบเศรษฐกิจการตลาดสังคมนิยม ระบบกรรมสิทธิ์รวมยังเป็นระบบหลักในการถือครองปัจจัยการผลิต ส่วนระบบกรรมสิทธิ์อื่นเป็นเพียงระบบเสริมเท่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพยังเป็นชนชั้นนำของสังคม พรรคคอมมิว-นิสต์ยังเป็นตัวแทนชนชั้นกรรมาชีพ เป้าหมายระยะยาวของพรรคคอม-มิวนิสต์จีนยังคงเป็นการสร้างสังคมคอมมิวนิสต์ให้เกิดขึ้นบนพื้นพิภพ ดังนั้นจีนจึงเป็นประเทศสังคมนิยมโดยไม่ต้องสงสัย


ที่ยกมาข้างต้นเป็นคำกล่าวจากเอกสารทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งชาวจีนส่วนใหญ่แม้แต่สมาชิกพรรคยังไม่อยากเชื่อ การพิจารณาว่าจีนเป็นประเทศสังคมนิยมหรือทุนนิยมคงมิใช่ฟังจากทางการจีนเท่านั้น หากแต่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะสรุปได้ในทันทีทันใด หรือบางทีอาจไม่สามารถหาข้อสรุป จน กว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน


อย่างใดก็ตาม ผู้เขียนในฐานะที่เคยทำงานอยู่ในจีนนานถึง 17 ปี จะขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับจีนที่ผู้เขียนรับรู้มา เพื่อให้มิตรสหายพิจารณาเองว่า ประเทศจีนที่เป็นจริงจะเหมือนหรือต่างกับที่มิตรสหายจิตนาการหรือไม่ และสภาพของจีนในทุกวันนี้ควรจะเรียกว่าเป็นสังคม- นิยมหรือทุนนิยมกันแน่


ในด้านการเมืองการปกครอง จีนปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์มาตลอด ในหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน โรงพยาบาล ชุมชนต่างๆทั้งในเมืองและชนบท ฯลฯ จะมีคณะกรรมการพรรคหรือหน่วยพรรค ตั้งอยู่ ในกิจการลงทุนของต่างชาติและกิจการเอกชนบางแห่งก็มีคณะกรรมการพรรคหรือหน่วยพรรคเช่นกัน คณะกรรมการพรรคหรือหน่วยพรรคจะตั้งซ้อนกับองค์กรบริหารเช่น หัวหน้ากรมกอง ผู้จัดการโรงงานผู้อำนวยการโรงเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ โดยมีอำนาจในการตัดสินใจและถือว่าอยู่เหนือฝ่ายบริหาร ในองค์กรต่างๆ เลขาธิการพรรคถือเป็นบุคคลสำคัญอันดับหนึ่ง ส่วนหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นอันดับสอง


ในจีนมีพรรคการเมืองอื่นอีก 8 พรรค แต่พรรคเหล่านี้ไม่มีความอิสระในการดำเนินงาน ไม่สามารถเสนอนโยบายที่แตกต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์และไม่สามารถรับสมัคร สมาชิกโดยไม่ผ่านการยินยอม จากพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคเหล่านี้จึงไม่ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่แท้จริง


พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้อำนาจ ปกครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จ อำนาจ บริหาร อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจ ตุลาการอยู่ในมือของพรรคทั้งหมด สื่อทุกแขนงอยู่ใต้การควบคุมของพรรคอย่างเข้มงวด ประชาชนไม่มีสิทธิในการจัดตั้งกลุ่มการเมืองหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากแนวนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์


ปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีสมาชิกพรรคประมาณ 70 ล้านคน การเข้าเป็นสมาชิกพรรคมีขั้นตอนเช่นเดียวกับในอดีต คือต้องเป็นคนที่เอางานเอาการ กระตือรือร้น มีผู้แนะนำและต้องผ่านขั้นสมาชิกเตรียมระยะหนึ่ง สมาชิกพรรคต้องศึกษาทฤษฎีการเมืองอย่างต่อเนื่องและต้องใช้ชีวิตจัดตั้ง การเป็นสมาชิก พรรคเป็นเรื่องเปิดเผย ดังนั้นคนที่เป็นสมาชิกพรรคจึงต้องระมัดระวังคำพูดและการแสดงออกเวลาอยู่ต่อหน้าคนรู้จัก ส่วนลับหลังก็เหมือนคนทั่วไปที่มีความเห็นแก่ตัวและกิเลสตัณหาต่างๆ สมาชิกพรรคเท่าที่ผู้เขียนรู้จัก แทบไม่มีคนใดที่มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ บางคนยังยอมรับว่าที่เข้าพรรคเพราะต้องการไต่เต้าขึ้นไปเท่านั้น
ในด้านเศรษฐกิจ จีนแทบไม่แตกต่างจากประเทศทุนนิยม ชาวจีน สามารถเปิดกิจการค้าได้อย่างเสรี หรือจะลงทุนในตลาดหุ้น พันธบัตรรัฐบาล กองทุนต่างๆ ฯลฯ ก็มีทางเลือกมากมาย แม้แต่ไปลงทุนในต่างประเทศก็ทำได้ กฎหมายเกี่ยวกับการค้าการลงทุนและกฎหมายภาษีอากรของจีนค่อนข้างสมบูรณ์ ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่


รัฐวิสาหกิจของจีนแม้จะยังครองสัดส่วนการผลิตมากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่การบริหารแตกต่างจากเมื่อก่อนมาก รัฐวิสาหกิจที่ประสบความ สำเร็จในการดำเนินงานจะเป็นกิจการ ที่ร่วมทุนกับต่างชาติหรือมีการปรับปรุงการบริหารงานตามแบบประเทศทุนนิยม ส่วนรัฐวิสาหกิจที่บริหารตามแบบเดิมหรือไม่สามารถปรับปรุงให้ทันสมัยก็ยังขาดทุนต่อไป ซึ่งได้กลายเป็นภาระหนักอึ้งของรัฐบาลในการอุดหนุน


กิจการลงทุนต่างชาติและกิจการเอกชนเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีชีวิตชีวาที่สุดของจีน การเติบโตทางเศรษฐกิจและการส่งออกของจีนมาจากกิจการสองส่วนนี้เป็นหลัก รูปแบบกรรมสิทธิ์และการบริหารของกิจการสองส่วนนี้เป็นแบบทุนนิยมล้วนๆ ที่คำนึงแต่การแสวง หากำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น


ในด้านสังคม จีนใช้ระบบสำมะโนครัวที่เข้มงวดแบ่งพลเมืองออกเป็นสองพวก คือคนในเมืองกับคนชนบท คนชนบทไม่สามรถย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ในเมือง สมัยก่อนคนในเมืองมีสวัสดิการต่างๆ เช่น บ้านพัก การรักษาพยาบาล การศึกษา เล่าเรียน การปันส่วนอาหาร ฯลฯ และมีโอกาสเข้าทำงานในหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ส่วนคนชนบทซึ่งมีจำนวนประมาณ 70% ของพลเมืองทั่วประเทศไม่มีสวัสดิการ ใดๆ ต้องเสียภาษีผลผลิตเกษตร แล้วยังต้องแบกภาระเงินเดือนของกำนันผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่น ครูประชาบาล และค่าใช้ จ่ายจีปาถะต่างๆ ปัจจุบันสวัสดิการของคนในเมืองถูกยกเลิกหมดแล้ว แต่ระบบสำมะโนครัวยังมีผลบังคับใช้ ภาระของชาวชนบทก็ยังเหมือนเดิม


จีนเป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกจำกัดมาก ชาวนาครอบครัวหนึ่งมีที่ดินเพาะปลูกประมาณ 1-3 ไร่ไทยเท่านั้น รายได้หลักของชาวชนบทจึงอยู่ที่การเข้าไปหางานทำในเมือง ชาวชนบทไม่สามารถเข้าเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นได้แค่ลูกจ้างชั่วคราวเท่านั้น อาชีพของชาวชนบทส่วนใหญ่ที่เข้าไปทำงานในเมืองได้แก่ กรรมกรในโรงงานเอกชน คนงานก่อสร้าง พนักงานบริการตามร้านอาหาร พนักงานทำความสะอาด พ่อค้าแม่ค้าในตลาด เป็นต้น ชาวชนบทเป็นแรงงาน ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน เป็นผู้สร้าง ถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่องและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในเมือง และเป็นผู้ที่ทำให้สินค้าจีนมีต้นทุนต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ จนส่งไปขายทั่วโลก ยึดครองตลาดทุกหนทุกแห่ง


ในขณะที่คนชนบทสร้างความเจริญให้เมืองต่างๆ และสร้างกำไรมหาศาลแก่เจ้าของกิจการ พวกเขากลับได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง นอกจากค่าแรงที่ต่ำกว่าคนในเมืองมากแล้ว ยังต้องทำงานวันละ 10-12 ชั่วโมง ต้องเสี่ยงอันตราย จากอุบัติเหตุ กินอาหารที่คนในเมือง ไม่กินกัน อาศัยอย่างแออัดอยู่ในห้อง แคบๆ ยามเจ็บไข้ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล บุตรหลานของพวกเขาไม่สามารถเข้าโรงเรียนในเมือง พวกเขามักถูกเจ้าของกิจการและผู้รับเหมาหาเหตุหักเงินเดือนหรือเบี้ยวค่าแรงดื้อๆ นอกจากนี้ยังถูกคนในเมืองดูถูกเหยียดหยาม ถูกเจ้าหน้าที่เทศกิจและตำรวจข่มเหงรังเก


การกดขี่ขูดรีดชาวชนบทเป็นเรื่องน่าละอายที่สุดในสังคมจีน ในจีนมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ใส่ใจดูแล พรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาล กลางของจีนได้ออกกฎระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่ให้ลดภาระหรือช่วยเหลือชาวชนบทมากมาย แต่ไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจังสักเรื่อง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ ชาวชนบทเป็นแรงงานราคาถูกและมีทักษะสูง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการลดต้นทุนการผลิต ทำให้สินค้าจีนมีราคา ถูกกว่าสินค้าประเทศอื่นๆ จึงสามารถ ส่งออกไปทุ่มตลาดต่างประเทศและนำเงินเข้าประเทศมากมายมหาศาล นี่คือเคล็ดลับของ การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนตระหนักดีว่า หากยกเลิก ระบบสำมะโนครัว ปล่อยให้ชาวชนบทย้ายเข้าเมืองได้อย่างเสรี จะไม่มีแรงงานราคาถูกอีกต่อไป ความสามารถในการแข่งขันของจีนจะลดลงไปทันที จึงต้องคงสภาพเดิมไว้ จนกว่าจีนจะมีความสามารถในการแข่งขันด้วยผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ใช้แรงงานเป็นหลัก นี่คือโศกนาฏกรรมชองชาวนาจีนที่ถูกกำหนดให้เป็นผู้เสียสละในการพัฒนาประเทศ
นอกจากความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในเมืองกับคนชนบทแล้ว

สังคมจีนยังเต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมเช่นเดียวกับสังคมทุนนิยมทั้งหลาย ในจีนทุกอย่างว่ากันด้วยเงิน คนที่มีเงินสามารถซื้อทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนคนจนต้องดิ้นรนให้มีชีวิตรอดด้วยความยากลำบาก ประเทศจีนปัจจุบันรัฐไม่มีสวัสดิการให้ประชาชน คนที่ทำงานราชการ รัฐวิสาหกิจ กิจการต่างชาติและกิจการเอกชนขนาดใหญ่สามารถใช้สวัสดิการของที่ทำงาน ส่วนคนที่ไม่มีหน่วยงานสังกัดหรือทำงานในกิจการเอกชนขนาดเล็กต้องช่วยเหลือตัวเอง ค่ารักษาพยาบาลกับค่าเล่าเรียนในจีนแพงมาก ที่อยู่อาศัยก็แพงขึ้นเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่จึงต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในยามเจ็บป่วย หรือเก็บไว้เป็นค่าเล่าเรียนของลูกหลานหรือซื้อบ้าน เพราะเมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ ไม่มีใครให้ความช่วยเหลือหรือจะขอความเมตตาจาก ใครได้ทั้งนั้น กรณีที่คนไข้ในโรงพยาบาลถูกไล่ออกกลางคันเพราะเงินหมดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปรกติมากในเมืองจีน


หน่วยราชการของจีนซับซ้อนใหญ่โต หน่วยงานแต่ละแห่งมีอำนาจ มากและมีข้อบังคับมากมาย การติดต่อเรื่องใดๆ กับหน่วยราชการเสียเวลามากและต้องเสียเงินทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น การซื้อรถยนต์คันหนึ่ง จะต้องเสียเวลาเป็นเดือนติดต่อกับหน่วยราชการ 10 กว่าหน่วย และเสียค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 1 ใน 3 ของราคารถยนต์ ท่าทีของเจ้าหน้าที่รัฐบาล ก็แย่มาก มีลักษณะวางตัวเป็นเจ้าขุนมูลนาย ทั้งที่หน้าหน่วยราชการทุกแห่งจะมีป้ายเขียนคำว่า “รับใช้ประชาชน” ติดไว้โก้หรู คนจีนบอกผู้เขียนว่า เขาต้องแก้เป็น “รับใช้เงินหยวน” จึงจะถูกต้อง


ปัญหาเรื่องพฤติกรรมของคนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความงุนงงแก่ผู้ไปเยือนจีน โดยเฉพาะผู้ที่เคยเข้าร่วมขบวนปฏิวัติต่างไม่เข้าใจว่า ทำไมพลเมืองของประเทศที่เคยอยู่ในระบอบสังคมนิยมนานถึง 30 ปี และปัจจุบันยังอยู่ใต้การปกครองของ พรรคคอมมิวนิสต์ถึงเป็นแบบนี้ คนจีนจำนวนมากไม่มีระเบียบ เวลาขึ้นรถลงเรือจะแย่งกัน ชอบขากเสลด ทั้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง เอะอะโวยวาย ไม่มีมารยาท พูดปดจนติดเป็นนิสัย เห็นแก่ตัว ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ด้อยกว่า ฯลฯ พฤติกรรม ของคนจีนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า สังคมสังคมนิยมหล่อหลอมคนให้เป็นเช่นนี้หรือ แล้วเราจะต่อสู้เพื่อให้เกิดสังคมที่มีคนเป็นแบบนี้หรือ
อย่างใดก็ดี ประสบการณ์ของผู้เขียนเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น การจะชี้ว่าจีนเป็นสังคมนิยม หรือทุนนิยมคงไม่ใช่สรุปกันง่ายๆ ผู้เขียนหวังว่ามิตรสหายคงจะศึกษาค้นคว้าต่อไป เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องออกมาให้ได้

No comments:

Post a Comment