ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ << "ความเชื่อ" มักไม่ได้รองรับด้วยเหตุผล "ความเชื่อ" มักไม่ทนต่อความจริง "ความเชื่อ" มักอิงสิ่่งที่พิสูจน์ไม่ได้ >>
Thursday, April 26, 2012
ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ ๓๔ (วรเจตน์ ภาคีรัตน์)
หลังจากที่คณะนิติราษฎร์ได้เสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เสนอแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งต่อมาคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา ๑๑๒ (ครก. ๑๑๒)ได้ดำเนินการรวบรวมรายชื่ออย่างน้อย ๑๐๐๐๐ รายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไปยังรัฐสภา กำหนดระยะเวลารณรงค์ ๑๑๒ วัน และการรณรงค์ดังกล่าวจะครบกำหนดในวันที่ ๕ พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ มีผู้สอบถามมายังคณะนิติราษฎร์เกี่ยวกับกิจกรรมทางวิชาการและการเคลื่อนไหว ทางความคิดที่จะดำเนินต่อไปในโอกาสครบรอบ ๘๐ ปีของการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ ตลอดจนแนวทางทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คณะนิติราษฎร์เห็นสมควรที่จะได้แสดงจุดยืนและทัศนะต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ไว้โดยสังเขป ดังนี้
๒. คณะนิติราษฎร์ไม่เห็นด้วยอย่างสิ้นเชิงต่อแนวทางการปรองดองหรือสมานฉันท์โดยวิธีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลทุกฝ่ายดังเช่นการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ ๔ ถึงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พ.ศ.๒๕๒๑ (นิรโทษกรรมในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙) หรือการตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ พ.ศ.๒๕๓๕ (นิรโทษกรรมในเหตุการณ์พฤษภา ๓๕) เนื่องจากการนิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าวแม้จะทำให้ประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมพ้นจากความผิดและความรับผิด แต่ก็จะมีผลให้บรรดาผู้ที่สั่งการและปฏิบัติการสลายการชุมนุมพ้นจากความผิดไปพร้อมกันด้วย การนิรโทษกรรมในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งต่อผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์สลายการชุมนุมต่างๆที่เกิดขึ้นหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา
๓. คณะนิติราษฎร์เห็นว่าแนวทางการตรากฎหมายเพื่อการขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายภายหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ควรจะต้องพิจารณาแยกแยะลักษณะการกระทำของบรรดาบุคคลที่เกี่ยวข้องและจัดวางโครงสร้างของกฎหมายโดยมีสาระสำคัญหลัก คือ
ประการที่หนึ่ง ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงตลอดจนการสลายการชุมนุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา การกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น บุคคลนั้นยังคงมีความผิดตามกฎหมายและต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ประการที่สอง ให้มีการนิรโทษกรรมทันทีแก่ประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฝ่าฝืนบรรดากฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงที่ได้รับการประกาศใช้ในเหตุการณ์การเดินขบวนและการชุมนุมประท้วงทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆตามที่จะได้กำหนดไว้ในประกาศที่ออกตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งและบรรดาการกระทำต่างๆของผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆข้างต้น หากเป็นความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่อัตราโทษไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง ก็ให้บุคคลนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
ประการที่สาม บรรดาการกระทำทั้งหลายของบุคคลที่เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมืองที่ไม่เข้าข่ายที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เช่น การกระทำที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นและไม่ใช่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่อัตราโทษไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง ตลอดจนการกระทำความผิดของบุคคลที่แม้ไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง แต่มีข้อสงสัยว่ามีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลในลำดับชั้นใด ให้ศาลระงับการดำเนินกระบวนพิจารณา และให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาไปก่อน ในกรณีที่มีข้อสงสัยว่าการกระทำนั้นตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งหรือไม่ ให้คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยว่าการกระทำใดอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งหรือไม่ ให้มีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร และไม่อาจเป็นวัตถุในการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใดได้
ประการที่สี่ ในกรณีที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่าการกระทำใดไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขจัดความขัดแย้ง หรือวินิจฉัยว่าการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมต่างๆ ตลอดจนการกระทำที่มีข้อสงสัยว่ามีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองหลังการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา ไม่เกี่ยวข้องกับมูลเหตุจูงใจหรือแรงจูงใจทางการเมือง ให้ดำเนินการกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ในกรณีที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากมูลเหตุจูงใจหรือแรงจูงใจทางการเมืองหลังเหตุการณ์แย่งชิงอำนาจรัฐ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ก็ให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาดังกล่าวพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก
ประการที่ห้า การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวทางที่คณะนิติราษฎร์เสนอไว้เบื้องต้นโดยสังเขปนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งเป็นอีกหมวดหนึ่ง โดยนอกจากบทบัญญัติในหมวดนี้จะกล่าวถึงคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง และกฎเกณฑ์ต่างๆตามแนวทางที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังต้องกล่าวถึงการเยียวยาความเสียหายต่างๆด้วย การดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้สามารถทำได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และสามารถกระทำได้ทันที
๔. สำหรับกรณีของการลบล้างผลพวงรัฐประหารนั้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้บัญญัติเป็นหมวดอีกหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะได้จัดทำขึ้นใหม่ตามที่ได้เคยแถลงต่อสาธารณะไปแล้ว โดยคณะนิติราษฎร์ยืนยันหลักการของการประกาศให้การนิรโทษกรรมการทำรัฐประหารหรือการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นโมฆะ เพื่อเปิดทางให้บุคคลที่มีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารหรือแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำการเอง ผู้ใช้ ตลอดจนผู้สนับสนุน เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สำหรับบรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะผู้แย่งชิงอำนาจรัฐนั้น ก็ให้ลบล้างให้สิ้นผลไป ซึ่งไม่ได้หมายถึงการนิรโทษกรรม แต่ให้เริ่มกระบวนการใหม่ให้ถูกต้องเป็นธรรมต่อไป
คณะนิติราษฎร์ขอเรียนให้ผู้ที่ติดตามกิจกรรมทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์ทราบว่าในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ คณะนิติราษฎร์จะได้จัดกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับการลบล้างผลพวงรัฐประหาร การขจัดความขัดแย้งในสังคมไทย และวิเคราะห์วิจารณ์ข้อเสนอเกี่ยวกับการปรองดองของบุคคลและสถาบันต่างๆ นอกจากนี้เพื่อให้การเคลื่อนไหวทางความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยและนิติรัฐดำเนินไปในวงกว้างยิ่งขึ้น คณะนิติราษฎร์จะได้จัดให้มีการเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายมหาชน ให้แก่ประชาชนทั่วไป รายละเอียดในเรื่องเหล่านี้จะแถลงให้ทราบต่อไป
Friday, April 20, 2012
คณะคอมมิวนิสต์สยามวิจารณ์ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕
ข่าวคราวเกี่ยวกับการรื้อฟื้น พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ผนวกกับความพยายามในรอบหลายปีที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยม - มาร์กซิสต์ โดยกลุ่ม กปร. (กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน) ชวนให้นึกถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งจะว่าไปแล้วการดำรงอยู่ของการเคลื่อนไหวดังกล่าว สะท้อนระดับความเป็นประชาธิปไตยของรัฐเอง พอ ๆ กับที่สะท้อนลักษณะเผด็จการไปด้วยในตัว
ไม่เพียงแต่หลัง ๒๔๙๐ และ หลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เท่านั้น ที่การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ขึ้นสู่กระแสสูง อันที่จริงแม้แต่ครั้ง ๒๔๗๕ กิจกรรมการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ก็มีบทบาทสำคัญอันจะละเลยไปไม่ได้ ดังจะชี้ให้เห็นต่อไป
ภายหลังจากเหตุการณ์ยึดอำนาจโดยคณะราษฎรเมื่อ วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ผ่านพ้นไปไม่นาน จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ ๔, ๗ และ ๑๓ ตุลาคมของปีเดียวกันนั้นเอง ก็ปรากฏมีข่าวที่ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งทำการแจกใบปลิวตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เช่น ที่ธนบุรี นครราชสีมา อุบลราชสีมา สระบุรี อยุธยา นครสวรรค์ เพชรบุรี พิษณุโลก ( ดูข้อมูลใน เออิจิ มุราชิมา. การเมืองจีนสยาม : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย. (กรุงเทพฯ : ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๙), น. ๑๐๒. )
ใบ ปลิว / แถลงการณ์ที่แจกมีลักษณะพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง เขียว บางส่วนก็สีดำ แบ่งเป็น ๓ ภาษาด้วยกัน คือ ไทย จีน และอังกฤษ ระบุวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ลงนาม "คณะคอมมูนิสต์สยาม" และ "คณะคอมมูนิสต์หนุ่มสยาม" ( สะกดตามคำเดิมในเอกสาร )
เนื่อง จากการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสยาม เป็นที่จับตามองของรัฐบาลมาตั้งแต่ครั้งสมบูรณญาสิทธิราชย์ เอกสารข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับ "กิจการของคอมมูนิสต์ในสยาม" รัฐบาลใหม่หลังเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ก็ได้รับตกทอดมาจากรัฐบาลพระปกเกล้าฯ ทั้งยังได้เรียนรู้คุณประโยชน์ในวิธีการปราบปรามของรัฐบาลพระปกเกล้าฯ อีกต่อหนึ่งด้วย
เบื้องต้นโดยจุดใหญ่ใจความที่สำคัญ ๆ คณะราษฎรก็มองการเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ด้วยการผสมโรงเข้าเป็นการก่อ ความไม่สงบของพวกคนจีนอพยพ ฉะนั้น การตอบโต้หรือปราบปราม จึงเน้นไปที่กลุ่มคนจีนเป็นหลักและพุ่งเป้าไปที่ประเด็นปัญหาเชิงเชื้อชาติ นิยม (Racism) และด้วยเหตุที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยุคแรกยังทำงานฝังตัวอยู่แต่ในหมู่คนงาน การเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ยุคแรกเมื่อต้องเข้าสู่การพิจารณาของฝ่ายรัฐบาล พวกเขาจึงถูกลดทอนลงเป็นเพียงปัญหาการก่อความไม่สงบของคนงานจีน
อย่าง ไรก็ตามท่าทีของรัฐบาลพระปกเกล้าฯ นั้น พบว่ายังเป็นไปโดยละมุนม่อม กล่าวคือมักใช้วิธีการเนรเทศกลับไปประเทศจีนเสียโดยมาก แม้แต่กรณีชาวญวนอพยพก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ เนื่องจากมีการวิเคราะห์กันในหมู่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ว่า ขบวนการคอมมิวนิสต์ในสยามขณะนั้น เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศอื่น เช่น จีน และ เวียดนาม เป็นต้น ไม่ได้เน้นที่การเปลี่ยนแปลงภายในของประเทศสยามแต่อย่างใด ( โปรดดู สุวดี เจริญพงศ์. ปฏิกิริยาของรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อการเคลื่อนไหวตาม แนวความคิดประชาธิปไตยและสังคมนิยมก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต เสนอต่อแผนกวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๑๙. )
กรณีเวียดนามซึ่งเคลื่อนไหว เน้นหนักไปในทางชาตินิยม ยังปรากฏท่าทีว่ารัฐบาลสยามมีความเห็นอกเห็นใจอยู่ด้วย เพราะต้องตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ชาติเดียวกับที่เคยคุกคามสยามเมื่อครั้ง ร.ศ. ๑๑๒ มานั่นเอง
การ วิเคราะห์ดังกล่าวมีส่วนถูกเพียงครึ่งเดียว กล่าวคือนอกจากที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมการเมืองในประเทศอื่น แล้ว ต่อกรณีสยามคณะคอมมิวนิสต์ก็หาได้ละเลยไม่ ในจำนวนแถลงการณ์ที่แจกจ่ายไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลัง ๒๔๗๕ มีแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ สยามรวมอยู่ด้วย ทั้งก่อนหน้านั้นยังปรากฎมีการออกเอกสารวิเคราะห์สรุปความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการ "แยกประเภทการปกครองและเศรษฐกิจของสยามกับวิธีการของสมาคม" เป็นการจำแนกชนชั้นต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสังคมสยามขณะนั้น รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติงานของคณะฯ ( ดูรายละเอียดเนื้อหาเอกสารนี้ได้ในภาคผนวกของ เบนจามิน เอ. บัทสัน. อวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราฯ, ๒๕๔๓), น. ๔๔๖ - ๔๕๕. )
นอกเหนือจากที่มักวิพากษ์วิจารณ์การเมืองทั้งในประเทศอื่นและระหว่างประเทศในทางสากล การจัดรำลึกวันสำคัญคณะฯ เช่น วันที่ ๑ พฤษภาคม ( May Day ) และ วันปฏิวัติรัสเซีย การชักธงแดงรูปค้อนเคียวในที่สำคัญต่าง ๆ เดินขบวนย่อย ๆ ร้องเพลง International เป็นต้น
ข่าว การเคลื่อนไหวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่ได้ทำให้คณะราษฎรนิ่งนอนใจ มีการส่งสายลับออกไปติดตามดูอยู่เป็นระยะ ๆ ในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็เช่นกัน จะด้วยเหตุเพราะก่อนหน้านั้นข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับฝ่ายคอมฯ เป็นไปอย่างครึกโครมหรืออย่างไรไม่เป็นที่แน่ชัด รัฐบาลจึงส่งตัวแทนออกไปสืบราชการ และ พร้อมกันนั้นก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปด้วย เพื่อสบโอกาสจะได้จับกุมตัวมาดำเนินคดียังกรุงเทพฯ
แต่ปรากฏว่าตัว แทนที่ส่งไปส่วนใหญ่เรียกได้ว่าพบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากสมาชิกคณะคอมมิวนิสต์ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ แล้ว ตัวแทนที่อาจกล่าวได้ว่าทำงานได้ผลอยู่บ้างก็คือ พลโท ประยูร ภมรมนตรี สมาชิกคณะราษฎร (เป็นตัวแทนในจำนวนไม่กี่คนที่มีดีกรีเป็นสมาชิกคณะราษฎรด้วย) รายงานที่ได้มาจากประยูร และคณะ (ประกอบด้วย พระยาสัจจาภิรมย์, พันตรีหลวงประจักษ์, และ ร้อยตำรวจเอกขุนนาม เป็นต้น) มีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ฝ่ายรัฐบาล และ เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา (ปัจจุบันรายงานนี้จัดเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เทเวศร์ ใน หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓ )
เนื่อง จากประยูรได้นำเอกสารแถลงการณ์ที่คณะคอมฯ แจกจ่ายในระหว่างวันที่ ๓๐ กันยายน ถึง วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ แนบกับรายงานดังกล่าวติดตัวกลับมาด้วย เหตุที่ประยูรได้แถลงการณ์นั้นมาก็เนื่องจากข้าราชการ (ไม่ระบุนามไว้) ในพื้นที่จังหวัดที่ประยูรไปตรวจราชการ (แต่ความจริงโดยเจตนาคือ ไปสืบหาคอมฯ และ จับตัวมาดำเนินคดี) คือที่จังหวัดนครราชสีมา ได้เก็บเอาไว้และตั้งใจจะจัดส่งไปให้กับคณะราษฎรคนใดคนหนึ่งเพื่อหาความดี ความชอบอยู่แล้ว ก็ประจวบเหมาะที่ประยูรได้ไปพบพอดี
ตามรายงานของประยูรพบว่า ผู้ที่เห็นแถลงการณ์คนแรก ๆ คือ นายสถานี (รถไฟ) นครราชสีมา ในเวลาราวตี ๕ เศษ รายงานยังระบุถึงความดีความชอบของนายสถานีผู้นี้ว่า เป็นผู้ที่ทำการเก็บใบปลิว / แถลงการณ์ ไปทิ้งเสียก่อนที่ประชาชนที่ผ่านสัญจรไปมาในสถานีจะพบเข้าในเวลารุ่งสาง แม้จะไม่ระบุนามก็จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่านายสถานีผู้นี้นั่นเองที่เป็นผู้ เก็บใบปลิว / แถลงการณ์ ดังกล่าวไว้ให้ประยูรได้กลับมา
อย่างที่ กล่าวแล้วว่าเอกสารใบปลิวดังกล่าวมีอยู่ด้วยกัน ๓ ภาษา แต่ละแบบ / ภาษา มีความยาว ๑ หน้ากระดาษพิมพ์ ซึ่งประยูรได้ครบทั้ง ๓ ฉบับภาษาอังกฤษได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ และ มุราชิมา (ในเล่มที่อ้างข้างต้น) ก็ได้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในงานของเขา ซึ่งเป็นการแปลมาเพียงบางส่วนพร้อมกับตีความสรุปตามแนวการศึกษาของเขา ส่วนในภาคภาษาไทยนั้นเอกสารมีเนื้อความทั้งหมดดังนี้
ชาวนา กรรมกร ทหาร และ
คนทุกข์ยากของประเทศสยาม!.
รัฐบาล ของประชาธิปก ซึ่งเต็มไปด้วยความชั่วร้ายต่าง ๆ เช่น กดขี่ข่มเหง ปิดหูปิดตา และสูบเลือดของราษฎร ก็ได้ถูกโค่นลงแล้ว แต่รัฐบาลใหม่ซึ่งมีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายนี้จะทำประโยชน์อะไรแก่ชาวไทยเรา บ้าง ขอให้พิจารณาต่อไป
ก. คณะราษฎรซึ่งถือบังเหียนการปกครองแผ่นดินในเวลานี้ ล้วนเป็นข้าราชการของรัฐบาลเก่า ซึ่งได้รับความข่มเหงจากพวกเจ้า ทำให้หนทางทำมาหากินไม่ได้สดวกเหมือนแต่ก่อนจึงเอาชื่อราษฎร ใช้กำลังทหารเพื่อแย่งอำนาจจากพวกเจ้ามาหาประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น หาใช่หวังดีอะไรต่อพวกเราไม่ ในจำนวนผู้แทนคณะราษฎร ๗๐ คนนั้นส่วนมากเป็นขุนหลวง พระ พระยาทั้งนั้น จะหาคนยากจนสักคนเดียวก็ไม่ได้
ข. เมื่อก่อนชาวไทยเราได้ถูกประชาธิปกข่มเหงแต่คนเดียว มาบัดนี้มีคนเป็นจำนวนมากมาขี่คอพวกเราด้วย เช่น พระยาพหลฯ และหลวงประดิษฐ์ฯ และพรรคพวก เป็นต้น พวกนี้ได้ตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น ชั้นผู้ที่เป็นสมาชิกต้องสละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อคณะในการที่สืบข่าวจาก ราษฎรและปกครองราษฎรอย่างเด็ดขาด
ฆ. คณะราษฎรปลอมได้ประกาศว่า จะทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ และทำให้ราษฎรมีงานทำทุกคนให้ราษฎรมีความเสมอภาค และมีเสรีภาพ เป็นต้น แต่ขอให้พวกเราดูประเทศที่มีการปกครองอย่างราชาธิปตัย เช่น ญี่ปุ่น และ อังกฤษ กับประเทศที่มีการปกครองอย่างประชาธิปตัย เช่น ฝรั่งเศส และ สหปาลีรัฐอเมริกา เป็นต้น ประเทศเหล่านี้มีความเจริญรุ่งเรืองกว่าสยามเราหลายเท่า แต่พลเมืองที่ไม่มีงานทำนับเป็นจำนวนหลายล้านคน บางคนถึงกับไม่ได้กินอิ่ม ไม่มีเสื้อใส่พอ ไม่มีที่พักอาศัย ถึงฤดูหนาวในเวลากลางคืนไม่มีไฟผิง ต้องเดินไปเดินมาตามถนนตลอดคืนยันรุ่ง เพื่อให้ร่างกายมีความอบอุ่นดังนี้เป็นต้น ดังนั้นราษฎรของประเทศต่าง ๆ จึงต่อสู้กับรัฐบาลมิได้หยุด เพื่อจะแย่งอำนาจการปกครองของประเทศไว้ในกำมือของราษฎรโดยแท้
ค. คณะราษฎรปลอมทำคุณอันเล็กน้อยเพื่อซื้อเอาน้ำใจของพวกเรา กล่าวคือยกเลิกอากรนาเกลือ และ ภาษีสมพัตสร ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากเพื่อแสดงว่าคณะเขารักพวกเรามากกว่ารัฐบาล แต่เงินรัชชูปการซึ่งเก็บปีหนึ่งเป็นจำนวนตั้ง ๑๐ ล้าน ก็หาได้ยกเลิกไม่ พวกเราฆ่าหมูตัวหนึ่งต้องเสียเงิน ๕ บาท ตัดต้นไม้ต้นหนึ่งต้องเสียเงิน ๓ บาท และ ภาษีอากรอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นเงินที่พวกเราหาได้มาแทบเลือดตากระเด็นนั้นยังเก็บอยู่เรื่อยไป เงินนี้ใช้บำรุงข้าราชการซึ่งมีเงินเดือนนับตั้งหลายร้อยบาท ส่วนชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากอื่น ๆ จะได้รับผลประโยชน์ในการออกน้ำพักน้ำแรงทำงาน วันยันค่ำก็พอเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น
ง. ชาวไทยเรามิใช่แต่ได้ถูกพวกเจ้ากับคณะราษฎรปลอมกดขี่ข่มเหงเท่านั้น ชาวต่างประเทศก็มาสูบเอาเลือดของเราไปด้วย ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งได้แย่งเอาดินแดนของเราไปและได้มีสิทธิพิเศษในการป่าไม้ การขุดบ่อแร่ และการค้าขาย เป็นต้น
พี่ น้องเอ๋ย ถ้าเราไม่ช่วยตัวของเราเอง แล้วใครจะมาช่วยพวกเราได้ เราจะหวังพึ่งพวกคณะราษฎรซึ่งเป็นผู้มียศศักดิ์ อำนาจ และมีความมั่งคั่งสมบูรณ์นั้นไม่ได้ เพราะเขาไม่ทำให้เรายากจนลง เขาจะได้ความมั่งคั่งผาสุกนั้นมาแต่ไหน
เวลา นี้ในโลกนี้มีแต่ชาวรัสเซียเท่านั้นที่มีความสุข และ มีความเสรีภาพโดยแท้ เพราะเขาได้กำจัดพวกเจ้ากับคณะราษฎรปลอมเสียจนสิ้น และ ได้ยึดอำนาจการปกครองในประเทศไว้ในกำมือของเขาเอง
ให้ พวกเราสามัคคีกันเข้า รวมกำลังกันเพื่อจะกำจัดพวกเจ้าคณะราษฎรปลอม และ พวกเศรษฐี และชาวต่างประเทศที่สูบเลือดเราเสียให้สิ้น ตั้งรัฐบาลโซเวียดสยามขึ้นรวมทรัพย์และอำนาจไว้ในมือของพวกเรา คือ ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากทั่วไป เราและลูกหลานเหลนของเราจึงจะมีความสุขทั่วหน้ากันตลอดไปเป็นนิจ.
คณะ คอมมูนิสต์สยาม
คณะ คอมมูนิสต์หนุ่มสยาม
วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๕.
จาก เนื้อหาเอกสารจะเห็นได้ว่า "คณะคอมมูนิสต์" มีจุดยืนวิพากษ์ทั้งฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ คณะราษฎร ภายในคณะราษฎร คณะคอมฯ ก็วิพากษ์ทั้งพระยาพหลพลพยุหเสนา ( พจน์ พหลโยธิน ) และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ( ปรีดี พนมยงค์ ) เบื้องต้นจุดยืนดังกล่าวกรณีพระปกเกล้าฯ กับคณะราษฎรไม่ได้เป็นการวิพากษ์ทั้งสองฝ่ายพร้อมกัน มีความละเอียดอ่อนมากกว่านั้น เพราะเป็นการวิพากษ์เชิงซ้อน กล่าวคือ เป็นการวิพากษ์บนฐานคิดที่ยึดติดกับ "เวลา" เป็นสำคัญ
เนื่องจากขณะนั้นตามความเข้าใจของคณะคอมฯ คณะราษฎร คือ ผู้กุมอำนาจเพียงฝ่ายเดียว ส่วนฝ่ายพระปกเกล้าฯ หรือ "ประชาธิปก" (ตามคำในเอกสาร) "ได้ถูกโค่นลงแล้ว" การวิพากษ์จึงมุ่งเน้นไปที่คณะราษฎรเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันด้วยจุดยืนวิพากษ์ที่แสดงก่อนหน้านั้น (ครั้งก่อน ปี พ.ศ. ๒๔๗๕) คณะคอมฯ ก็มีบทบาทในการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเด็นจุดยืนต่อสถาบันจึงไม่เป็นปัญหาที่มีนัยสำคัญอะไรสำหรับคณะคอมฯ ขณะที่ต่อ "การปฏิวัติประชาธิปไตยในสยาม" คณะฯ ก็ไม่ได้มีความมุ่งหวังด้วยสักเท่าไร แม้ว่าความขัดแย้งอันแหลมคมระหว่างชนชั้นปกครองเดิมตามระบบศักดินากับกลุ่ม กระฎุมพียุคใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว
พวกเขาปฏิเสธแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม การจัดตั้งรัฐสภา และ การปกครองระบอบกษัตริย์ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีความเห็นว่า "…ทาง ที่จะหนีให้พ้นทุกข์ก็มีแต่ต้องกำจัดพวกจักรพรรดิ์กับพวกที่เป็นเครื่องมือ ของเขาเสีย และต้องคัดค้านการตั้งรัฐสภากับกฎธรรมนูญซึ่งเป็นการหลอกลวงมหาชนนั้นด้วย…" (จากเอกสารร่างแยกประเภทการปกครองและเศรษฐกิจของสยามฯ, อ้างแล้ว.) ไม่มีปัญหาว่าแนวคิดดังกล่าวจะไม่ถูกต้านทานจากหลายฝ่ายแม้แต่กับกลุ่มก้าวหน้าต่าง ๆ เวลานั้น…
แต่ กรณีที่นับเป็นปัญหาตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา ก็กลับเป็นปัญหาที่เกิดจากทัศนะ / จุดยืนต่อคณะราษฎร และ ๒๔๗๕ ซึ่งก็สืบเนื่องจากจุดยืนต่อ "การปฏิวัติประชาธิปไตยฯ" การวิพากษ์ทั้งพระยาพหลฯ และ ปรีดี ซึ่งต่างเป็นตัวแทนสำคัญของฝ่ายทหารและพลเรือนในคณะราษฎร เบื้องต้นนั่นสะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า คณะคอมมิวนิสต์กับนายปรีดี ไม่ได้มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันแต่อย่างใด แม้ว่าภายหลังฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ จะใช้เป็นเหตุผลกล่าวอ้างว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ก็ตาม ดูเหมือนเรื่องนี้จะมีความเกี่ยวข้องกันน้อยกว่าที่คิด และอาจกล่าวได้ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยก็ได้
หลายปีจากนั้น ปรีดีก็พูดถึงเรื่องนี้อย่างไม่สู้จะยินดีเท่าไรนัก (สำหรับการข้องเกี่ยวกับคณะคอมมิวนิสต์โดยที่ตนไม่ล่วงรู้ และไม่เต็มใจ) ตรงข้ามต่อคณะคอมฯ ปรีดีก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเช่นกัน (ดู คำให้สัมภาษณ์ของปรีดีตามที่ปรากฎถึงเรื่องนี้ในหนังสือ ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. สัมภาษณ์โดย ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ. (กรุงเทพฯ : โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526). )
ใน ทางกลับกันนั่นก็สะท้อนว่า คณะคอมฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใดในเหตุการณ์วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ และ ดูเหมือนเป็นหนึ่งในกลุ่มคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่พยายามจะมีอำนาจโดยไม่อ้าง ความชอบธรรมจากการเป็น "ผู้กระทำ" (Acter) จาก ๒๔๗๕ รัฐธรรมนูญจะเกิดจากการพระราชทานหรือโดยยึดอำนาจกดดันจากเบื้องล่างจึงไม่ เป็นปัญหาเป็น - ตาย สำหรับคณะคอมฯ ทั้งน้ำเสียงวิจารณ์ก็สะท้อนอยู่ในตัวว่าถึงที่สุดแล้วคณะคอมฯ ก็ไม่ได้คาดหวังอันใดต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากวันนั้น (๒๔ มิถุนาฯ)
การกดขี่หาได้หมดสิ้นไป ภารกิจสำคัญของคณะฯ ยังคงต้องดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง ตรงข้ามอย่างสุดขั้วทีเดียวในประเด็นสะท้อนที่ว่า "เมื่อก่อนชาวไทยเราได้ถูกประชาธิปกข่มเหงแต่คนเดียว มาบัดนี้มีคนเป็นจำนวนมากมาขี่คอพวกเราด้วย" ภายหลังตรรกะนี้พระปกเกล้าฯ ก็ทรงใช้วิจารณ์คณะราษฎรเช่นกัน ดังที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของพระองค์ แต่นั่นก็เป็นคนละบริบทกัน !!!
ต่อ กรณีปรีดีนั้นก็น่าพิจารณาเป็นอีกประเด็น เพราะสะท้อนแง่มุมความคิดและความเข้าใจของคณะคอมฯ ที่มีต่อคณะราษฎร แม้ว่าขณะที่คณะคอมฯ มีความเคลื่อนไหวดังกล่าว ยังไม่มีการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ อันเป็นหลักฐานหนึ่งที่สะท้อนอิทธิพลความคิดสังคมนิยมในการเมืองไทยยุคใหม่ แต่ในแถลงการณ์คณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็มีเนื้อหาระบุถึงแนวทางของคณะราษฎรเอาไว้ก่อนแล้วว่า "จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก" ทั้งยังทิ้งท้ายด้วยการให้ความหวังแก่ราษฎรอย่างมีนัยสำคัญ เช่นว่า "ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐที่เรียกกันเป็นศัพท์ว่า "ศรีอาริย์" นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า"
ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ แน่ชัดนักว่าคณะคอมฯ จะได้รู้เห็นหรือติดตามการทำงานของคณะราษฎรมากน้อยเพียงใด ลักษณะที่มีความเป็นจีนอย่างสูง (Lukjin Communist) บวกกับที่ศัพท์ "ศรีอาริย์" ขณะนั้นยังไม่มีการอธิบายเทียบเคียงกับ Socialism เท่าที่ควร ตรงข้ามสังคมนิยมแบบไทยที่แพร่หลายก็กลับเป็น "อุตตรกุรุ" ตามแนวคำอธิบายที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ ร. ๖ ด้วยเหตุง่ายดายเพียงเท่านี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าคณะจีนคอมมิวนิสต์ในสยามไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอัน ใดต่อศัพท์ "ศรีอาริย์" และด้วยเหตุอันเดียวกันนี้ แนวร่วมระหว่างคณะคอมฯ กับปีกก้าวหน้าในคณะราษฎรจึงเกิดขึ้นไม่ได้ และ กระทั่งมีท่าทีที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรต่อกันเท่าใดนัก
กรณีปรีดีอาจ พิจารณาได้อีกแง่หนึ่ง ตรงที่ภายหลังเขาเองถูกคุกคามจากฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ จนต้องผ่อนปรนข้อเสนอของตน และ การปกป้องตัวเองก็แสดงออกโดยง่ายว่าตนไม่ได้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ นั่นยิ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างปรีดีกับคณะคอมฯ ดูห่างไกลกันมากขึ้น กระทั่งไม่อาจติดต่อประสานการทำงานร่วมกันได้เลย กรณีนายสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรผู้ซึ่งแสดงท่าทีว่านิยมแนวคิดสังคมนิยม - มาร์กซิสต์ ด้วยมีผลงานแปลที่สำคัญและไม่มีชนักปักหลังเช่น ปรีดี แต่ปรากฏว่าต่อคณะคอมฯ สงวนกลับมีท่าทีที่ดู "แย่" กว่าปรีดีเสียอีก
ใน คราวที่สงวนได้รับหน้าที่ติดตามดูการเคลื่อนไหวของคณะคอมฯ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ รวม ๖ แห่ง ได้แก่ บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ย่านบางลำภู กลาโหม ทุ่งพระสุเมรุ และพระบรมรูป (ลานหน้าพระที่นั่งอนันตฯ) ในจดหมายลายมือลงชื่อ สงวน ตุลารักษ์ (เข้าใจว่าน่าจะเป็นรายงานการสืบราชการลับ) สงวนกลับรายงานต่อรัฐบาลว่าหัวหน้าคณะฯ ดังกล่าวได้รับค่าจ้างจากหม่อมเจ้านิทัศน์ (บู้) เป็นจำนวนเงิน ๕๐๐ บาท ให้ยิงพระยาพหลฯ ผู้นำคณะราษฎร โดยให้สังเกตว่าคนที่จะยิงนั้น "ไว้จอนหูยาว" (หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓). กอปรกับขณะนั้นเป็นที่น่าเชื่อได้ว่าคณะราษฎรจะมองการเคลื่อนไหวของคณะคอมฯ ว่าได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเจ้านายเดิมที่สูญเสียประโยชน์จากที่มีการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง
ฝ่ายพระยาพหลฯ เองก็มีจดหมายอีกฉบับส่งตรงมาถึงเขา แจ้งความว่ามีผู้คิดการร้ายต่อเขากับคณะ(ราษฎร) โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง "คณะเจ้า"(ตามคำในเอกสาร) ข้าราชการที่ถูกดุลในคราวที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ และชาวจีนกลุ่มหนึ่ง อาศัยอยู่คลองดำเนินสดวก จดหมายระบุชัดว่า ชาวจีนกลุ่มดังกล่าว "เป็นขี้ข้าตัวโปรดของกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ" (หจช. (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๙/๓ (๘) - (๙).) แม้ว่าจดหมายทั้งสองฉบับจะมีข้อความที่เป็นเท็จ เพราะไม่ปรากฏมีการลอบทำร้ายพระยาพหลฯ ดังที่แจ้งมา
กรณี รายงานของสงวน มีหลักฐานยืนยันว่ามีการทิ้งใบปลิวที่มีเนื้อหาวิจารณ์คณะราษฎรและการ เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยลงนาม "คณะคอมมูนิสต์" จริง แต่ก็ไม่ปรากฏมีการลอบยิงพระยาพหลฯ แต่อย่างใด ผู้ที่รู้วิธีการของขบวนการคอมมิวนิสต์ย่อมทราบกันโดยทั่วไปว่า นั่นไม่ใช่แนวทางของคอมมิวนิสต์ กระนั้นก็ตามต่อข้อมูลที่ผิดพลาดนี้อาจไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของสงวน หากแต่เป็น "สาย" ของคณะราษฎรเองที่ให้ข้อมูลมาผิด (หลัง เปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้จัดตั้งสายลับขึ้นเป็นจำนวนมาก ให้คอยติดตามดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนต่าง ๆ ตั้งแต่กลุ่มเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการ (ทั้งทหารและพลเรือน) เศรษฐีในเมือง (ยังไม่ถูกเรียกว่า "นายทุน") และกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มกรรมกร ชาวจีน และคอมมิวนิสต์ ต่อมาหน่วยงานนี้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยรวมสังกัดอยู่ในหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง เป็นต้น)
และ มีความเป็นไปได้มากว่ารายงานของสงวนจะเป็น Secondary Sources ที่อาศัยข้อมูลจาก Primary Sources อย่างรายงานของสายสืบที่ทำงานเกาะติดคณะคอมฯ อยู่ก่อนที่จะได้ให้ข้อมูลต่อตัวแทนคณะราษฎร ซึ่งในที่นี้ก็คือ สงวน บางครั้งถ้าเป็นรายงานลับที่ไม่มีการเปิดเผยหรือผ่านการ กลั่นกรองเท่าที่ควรก็จึงเป็นเรื่องง่ายที่อาจมีการรายงานผิดพลาดทางข้อมูล กันได้ ส่วนชีวิตคนที่อาจถูกคุกคามจากผลลัพธ์ของข้อมูลในรายงานเหล่านี้ สำหรับสายที่ไม่ได้ผ่านการอบรมมาดีพอ ก็อาจเห็นเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าจำนวนเงินค่าจ้างที่จะได้รับจาก การปฏิบัติงานก็ได้
กรณีหลังก็เป็นธรรมดา อันที่จริงพระยาพหลฯ และ คณะราษฎร มักจะได้รับจดหมายลักษณะนี้ทั้งจากผู้หวังดีทั้งข้าราชการและประชาชนอยู่ เป็นประจำ บางฉบับที่มีความสำคัญ (ในความเห็นของคณะฯ และ ผู้ได้รับ) พระยาพหลฯ ก็ตอบกลับไป แต่ในกรณีนี้ไม่ปรากฏมีการตอบขอบคุณจากพระยาพหลฯ แต่นั่นก็ไม่เป็นหลักฐานยืนยันว่าพระยาพหลฯ (รวมทั้งคณะราษฎร) จะไม่เชื่อ แม้จะดูเป็นจดหมายที่มีเนื้อหาแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้นำใหม่ก็ตาม ไม่ว่าจะเชื่อตามข้อความในจดหมายดังกล่าวหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ในทางปฏิบัติคณะราษฎรก็แสดงท่าทีคุกคามต่อคณะคอมฯ และกลุ่มอื่น ๆ ที่สงสัยว่าต่อต้านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะกลุ่ม "เจ้า" เท่านั้น
อย่าง ไรก็ตามท่าทีดังกล่าวมีผลทำให้การโจมตีคณะราษฎรของฝ่ายคอมมิวนิสต์ดูสมเหตุ สมผล ไม่เพียงแต่กับคอมมิวนิสต์เท่านั้น การนัดหยุดงานของกรรมกร การประท้วงของนักเรียนอัสสัมชัน การเคลื่อนไหวของกองทหารบางซื่อ หนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ และหลักเมือง เป็นต้น คณะราษฎรก็จัดการแก้ไขได้ไม่ดีเท่าที่ควร ภาษีรัชชูปการอันเป็นมรดกอย่างหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่ถูกยก เลิก ฯลฯ
ต่ออิทธิพลของ "พวกอิมเปอเรียลิสต์" ในทัศนะของคณะคอมมิวนิสต์ หลวงประดิษฐ์ฯ หรือ ปรีดี พนมยงค์ นั้นไซร้ก็กลับทำคุณเพียงเล็กน้อย การแก้ไขสนธิสัญญาที่รัฐบาลเก่าเคยทำไว้ถูกมองว่าเป็นการช่วยรักษาผล ประโยชน์ทั้งของ "พวกอิมเปอเรียลิสต์" และ ยังเป็นการช่วยฟื้นฟูเกียรติประวัติของชนชั้นปกครองของไทยสมัยสมบูรณาฯ อีกด้วย
ฉากแรกของการท้าทายต่อระบอบกษัตริย์ใต้กฎหมาย, นักศึกษาประวัติศาสตร์บางท่านอาจมองว่าจุดเริ่มสำคัญนั้นอยู่ที่การฟ้องพระ ปกเกล้าฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยนายถวัติ ฤทธิเดช เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเหมือนก้าวแรกที่จะพิสูจน์ว่ากษัตริย์ใต้กฎหมายนั้น จักเป็นจริงเพียงใด แต่อันที่จริงกลุ่มคนที่มีบทบาทในการต่อสู้คัดค้านระบอบดังกล่าวโดยตรงนั้น ไม่ใช่ใครอื่น หากอ่านดูใบปลิวต่าง ๆ ที่คณะคอมฯ แจกจ่ายไปตามที่ต่าง ๆ ครั้งนั้นก็จะพบประเด็นดังกล่าว แต่อาจเป็นเรื่องยุ่งยากมากกว่าที่คิด เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูลหลักฐานอยู่ ณ เวลานี้
จากเนื้อหาข้อความที่ปรากฏในใบปลิว "ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากฯ" สะท้อนความคิดเห็นที่เป็นข้อสรุปสำคัญในหมู่พวกเขาว่า รัฐบาลใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความต่อเนื่องบางอย่างร่วมกับรัฐบาล เก่า ท้ายสุดก็ไม่ได้สร้างหลักประกันแก่ความมีสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน อย่างแท้จริง มองจากจุดยืนของคนชั้นล่าง เช่น ชาวนา กรรมกร และคนทุกข์ยาก (ขณะนั้นยังไม่มีศัพท์บัญญัติ เช่น "กรรมาชีพ") แง่นี้รัฐบาลใหม่จึงอาจไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐบาลเก่า อีกทั้งยังเห็นว่าคณะราษฎรไม่ได้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของ "ราษฎร" อย่างแท้จริง หากเป็นแต่เพียง "คณะราษฎรปลอม" เท่านั้น
ขณะเดียวกัน แม้ว่ามีความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองเดิมของระบบศักดินากับนายทุนนายหน้า และ ขุนศึก แต่ไม่ปรากฏข้อเสนอเรื่องการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย ตรงข้ามนั่นเป็นแนวทางที่เคยถูกปฏิเสธมาก่อนแล้ว ดังที่สะท้อนข้างต้น การที่ชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมก็ดูจะไม่ขัดแย้งกับรากฐานของแนวคิดเดิม เนื่องจากเห็นว่าท้ายสุด ชาวนาก็จะล้มละลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นคนงานผู้ไร้ปัจจัยการผลิต คณะคอมฯ จึงมีจุดยืนเน้นกลุ่มคนที่เรียกกันภายหลังคือ "ชนชั้นกรรมาชีพ"
ข้อเสนอเรื่องการจัดตั้ง "โซเวียดสยาม" นี้ ที่จริงต้องนับว่าเป็นข้อเสนออันเก่าแก่ตามแบบฉบับของ Classical Marxist เพราะยังไม่ปรากฏอิทธิพลจากความคิดสายสตาลิน - เหมา ความจริงแม้คณะคอมมิวนิสต์ในสยามจะมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานสากลที่ ๓ ( Comminturn III ) แต่ก็นับว่ายังห่างไกลจากความขัดแย้ง ระหว่างแนวทางปฏิวัติตลอดกาลของทรอตสกี กับ แนวทางสังคมนิยมประเทศเดียวของสตาลิน
ลัทธิ เหมายิ่งยังไม่เป็นปัญหา อย่างที่ทราบคือขณะนั้นเหมาเจอตุง กับแนวทางชนบทล้อมเมืองของเขา กว่าจะเป็นกระแสหลักภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานนัก "โซเวียดสยาม" ที่จริงจะเป็นข้อเสนอของขบวนการฝ่ายซ้ายภายใต้อิทธิพลของสากลที่ ๓ ไม่ได้เท่าไร เพราะดังที่ทราบกันคือภายหลังจากที่สตาลินกับพวกขึ้นสู่อำนาจก็มีการทำลาย สภาคนงาน (หรือที่เรียกเป็นภาษารัสเซียว่า "Soviet" (โซเวียต)) ลง โดยหันมาเชิดชูพรรคให้เป็นอำนาจรัฐรวมศูนย์เพียงขั้วเดียว
การ ให้ความสำคัญกับ "ทหาร" ในฐานะบทบาทหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงก็เป็นมรดกอันหนึ่งที่ได้จากการ ปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 เพราะทหารเปลี่ยนข้าง การปฏิวัติจึงสัมฤทธิ์ผล ในสยามเองก่อนหน้านั้น คณะ ร.ศ.๑๓๐ ก็เป็นกรณีหนึ่ง และ ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง การสไตรค์ของกองทหารบางซื่อ ดูเหมือนจะให้ความหวังใหม่แก่คณะคอมฯ การณ์นี้ทหารถูกผนวกรวมเป็นมวลชนพื้นฐานของคณะฯ ด้วย แต่นั่นไม่ง่ายดังหวัง เพราะการณ์ปรากฏออกมาคือ ทหารกลับกลายเป็นกำลังสำคัญให้กับฝ่ายคณะราษฎร
การ ใช้ "ชาวไทยเรา" สำหรับเรียกผู้รับสารในใบปลิว สะท้อนให้เห็นพัฒนาการสำคัญของขบวนการและปัญหาบางประการอันเกิดขึ้นควบคู่ กับแนวคิดที่ยังยึดถือ กล่าวคือ แม้ว่าหลังจากปี พ.ศ. ๒๔๗๓ คณะคอมฯ จะได้สมาชิกที่เป็นคนไทยรวมอยู่ด้วย แต่โดยสัดส่วนแล้วจำนวนคนไทยในคณะฯ ก็ยังน้อยนักเมื่อเทียบกับจำนวนชาวจีนและญวน และ แม้จะมีข่ายการปฏิบัติงานที่กว้างขวาง เช่น นอกจากแกนนำในกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีคณะกรรมการประจำภาคอีสาน, เหนือ, ใต้ และ ในพระนครเอง ก็มีคณะกรรมการประจำเทศบาลพระนคร
นอกนั้นก็เป็นคณะกรรมการประจำจังหวัด รวมทั้งมีกองอำนวยการฉุกเฉินที่เรียกว่า "กองบรรเทาทุกข์คนใหญ่" ( คน สะกด คะ - นะ ) สำหรับให้ความช่วยเหลือกรรมกรที่นัดหยุดงาน ภายใต้กรรมการใหญ่ในสยามยังประกอบด้วย คณะสาขา กองย่อย และ กิ่งสาขา แต่ละหน่วยมีกรรมการดำเนินงานและติดต่อประสานกับคณะกรรมการใหญ่ และ แต่ละหน่วยงานนั้น ๆ ปรกติจะมีสมาชิกตั้งแต่ ๘ คนขึ้นไป มีกรรมการประจำกิ่งสาขาประกอบด้วยฝ่ายต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขและความเหมาะสม
แม้จะถูกพิจารณาบ่อยครั้ง ว่าเป็นเพียงส่วนย่อยหนึ่งของข่ายการปฏิบัติงานของคณะจีน แต่ความจริงปรากฏว่า "สหาย" จากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาปฏิบัติงานในสยามยังต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ คณะทำงานในสยาม ขณะเดียวกันหากสมาชิกคณะคอมฯสยามเดินทางกลับเข้าสู่เขตอิทธิพลของ คอมมิวนิสต์จีน ก็ยังต้องสมัครขึ้นทะเบียนต่อสำนักอำนาจรัฐของคณะคอมมิวนิสต์ที่นั่น ปลายสมัยสมบูรณาฯ จึงปรากฎว่าคณะคอมมิวนิสต์ในสยามมีสถานภาพเป็นอีกคณะหนึ่งแยกออกจากคณะ คอมมิวนิสต์ในจีน มีอิสระ และ ดำเนินแนวทางที่เป็นของตนเองอยู่พอสมควร
กระนั้น ก็ตามการอ้างถึง "ชาวไทยเรา" ก็ไม่น่าเกิดขึ้นขณะเดียวกับที่วิจารณ์คณะราษฎรอย่างรุนแรงว่า เป็น "คณะราษฎรปลอม" เพราะการอ้างดังกล่าว (ชาวไทยเรา) มีนัยไม่ผิดแปลกไปจากการอ้างเป็นตัวแทนรูปแบบอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ้างที่ครอบคลุมผู้คนทั่วประเทศ การมีข่ายการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมอาณาเขตอำนาจของรัฐอย่างกว้างขวางไม่เป็น เหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอสำหรับการอ้างเป็นตัวแทน พูดแทน และ กระทำการต่าง ๆ ในฐานะตัวแทน !!!
การ สะท้อนว่า "ความสุข... และเสรีภาพโดยแท้" เกิดขึ้นที่รัสเซียหลังการปฏิวัติก็มีผลทำให้คณะคอมมิวนิสต์สยามกระทำความ ผิดพลาดอีกคราว นั่นแสดงว่าพวกเขาไม่ล่วงรู้เกี่ยวกับสภาพสังคมการเมืองของรัสเซียหลังการ ปฏิวัติมากนัก หรือไม่ก็อาจมีคำอธิบายแก้ต่างกันอีกชุดหนึ่ง (เช่น การโทษว่าเป็นเพราะ Stalinism เป็นต้น) การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนั้นมีข้อจำกัดและไม่อาจเป็นหลักประกันอันใดได้ เลย สำหรับระบอบสังคมอย่างใหม่หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็นั่นแหล่ะ !! มาร์กซิสต์เชื่อมั่นต่อความขัดแย้งค่อนข้างสูง โดยเฉพาะความขัดแย้งหลักระหว่าง ๒ ขั้วที่ตรงกันข้าม และ ๒ ขั้วที่ว่านั้น ก็อาจนำไปสู่วิถีทางของการทำลายกันมากกว่าการสร้างสรรค์ แต่นั่นอาจไม่ใช่อะไรอื่นอีกนั่นแหล่ะ !! เอกภาพของสิ่งตรงข้ามที่ยากแก่การจัดการอย่างลงตัว...
อย่างไรก็ตามหากการเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์จะกลับมาอีกครั้ง ก็คงต้องกลับมาในรูปแบบใหม่ (เช่นเดียวกับที่ในอดีตภายใต้เงื่อนไขหนึ่งเคยเป็นอีกแบบหนึ่ง) ขณะเดียวกันการวิเคราะห์ลักษณะความขัดแย้งก็ยังคงเป็นโจทก์สำคัญ และ ก็ด้วยการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดในบางจุดที่สำคัญ ๆ นั้นเอง คณะคอมมิวนิสต์สยามจึงแทบไม่เหลือที่ทางของตน แม้กระทั่งในแง่ความทรงจำและการเมืองอุดมการณ์
ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจ เท่าไรที่ในคำให้สัมภาษณ์ของ ธง แจ่มศรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ไม่ปรากฏมีการพูดถึงข้อเสนอในอดีตเช่น "โซเวียดสยาม" แม้จะพูดถึงคณะคอมมิวนิสต์สยามอยู่บ้างก็ตาม แต่ดูเหมือนคณะฯ ที่ว่านั้นไม่ได้สร้างคุณูปการอะไรไปมากกว่าที่เป็นรากกำเนิดให้กับอีก องค์กรหนึ่ง (คือ พคท.) แม้แต่ในเอกสารประวัติ พคท. โดยวิรัช อังคถาวร ที่เคยเผยแพร่ในวารสารของสายงานพรรคเมื่อหลายปีก่อน (และ ตีพิมพ์ซ้ำในฟ้าเดียวกัน ฉบับแรก เมื่อไม่นานมานี้) ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรในส่วนนี้ แต่ไม่ใช่ความผิดของคนตายไปนานอย่างวิรัช กับท่านผู้เฒ่าอย่างธงหรอก ปัญหามันละเอียดอ่อนกว่านั้น...
การเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ที่จะกลับ มาใหม่นั้น จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับสังคมการเมืองไทยได้หรือไม่ ยังคงต้องรอดูกันต่อไป พวกเขายังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมาก มีอดีต มีที่ทาง และมีบทเรียนกันพอสมควร ขณะเดียวกันก็อย่าเพิ่งมองเป็นเรื่องตลก หรือเรื่องเพ้อฝันกันมากนัก ประวัติศาสตร์ทั้งหมดไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน!!!
กำพล จำปาพันธ์
นักวิชาการอิสระ
Thursday, April 5, 2012
นิติราษฎร์: การทำลายกฎหมายและคำพิพากษาในระบอบเผด็จการฯ
ปิยบุตร แสงกนกกุล
(เขียนในส่วนฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ กรีซ สเปน และตุรกี)
และการไม่ยอมรับรัฐประหารในนานาอารยะประเทศ
เยอรมนี
เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปเป็นยุติว่าคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วนั้น เป็นสิ่งที่ชี้ขาดว่าสิทธิหน้าที่ของบุคคลในทางกฎหมายมีอยู่อย่างไร คำพิพากษานั้นจะถูกหรือผิดอย่างไรในทางกฎหมายก็ตาม โดยปกติแล้ว ก็ย่อมมีผลผูกพันบรรดาคู่ความในคดี ข้อพิพาททางกฎหมายย่อมยุติลงตามการชี้ขาดคดีของศาลซึ่งถึงที่สุด และคำพิพากษาดังกล่าวย่อมเป็นฐานแห่งการบังคับคดีตลอดจนการกล่าวอ้างของคู่ความในคดีต่อไปได้ คุณค่าของการต้องยอมรับคำพิพากษาของศาลก็คือ ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของบุคคล อันมีผลบั้นปลายในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในระบบกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม กรณีย่อมเป็นไปได้เสมอที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นอาจเกิดความผิดพลาดขึ้น ความผิดพลาดดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากความจงใจหรือความประมาทเลินเล่อขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม หรือความผิดพลาดนั้น อาจเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยก็ได้ ระบบกฎหมายที่ดีย่อมกำหนดกฎเกณฑ์ให้มีการทบทวนคำพิพากษาที่ถึงที่สุดไปแล้วได้ ในทางกฎหมาย เราเรียกกระบวนการทบทวนคำพิพากษาที่ถึงที่สุดไปแล้ว แต่มีความบกพร่อง และหากปล่อยไว้ไม่ให้มีการทบทวน ก็จะไม่ยุติธรรมแก่คู่ความในคดีว่า การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ในกรณีที่ปรากฏในกระบวนการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ว่าคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วนั้น เป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาด ศาลที่พิจารณาคดีดังกล่าวนั้น ย่อมต้องยกคำพิพากษาเดิมซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาดเสีย แล้วพิพากษาคดีดังกล่าวใหม่
การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ จึงเป็นหนทางของการลบล้างคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว แต่เป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาด ทั้งนี้ตามกระบวนการ ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าในระบบกฎหมายนั้น โดยองค์กรที่มีอำนาจลบล้างคำพิพากษาที่ผิดพลาดดังกล่าว ก็คือ องค์กรตุลาการหรือศาลนั่นเอง
ในทางนิติปรัชญาและในทางทฤษฎีนิติศาสตร์ ยังคงมีปัญหาให้พิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ในกรณีที่ศาลหรือผู้พิพากษาอาศัยอำนาจตุลาการพิจารณาพิพากษาคดีไปตามตัวบทกฎหมายซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม หรือในกรณีที่ศาลหรือผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่เคารพหลักการพื้นฐานของกฎหมาย นำตนเข้าไปรับใช้อำนาจทางการเมืองในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ยอมรับสิ่งซึ่งไม่อาจถือว่าเป็นกฎหมายได้ ให้เป็นกฎหมาย แล้วชี้ขาดคดีออกมาในรูปของคำพิพากษา ในเวลาต่อมาผู้คนส่วนใหญ่เห็นกันว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่ไม่อาจยอมรับนับถือให้มีผลในระบบกฎหมายได้ และเห็นได้ชัดว่าไม่อาจใช้วิธีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ลบล้างคำพิพากษานั้นได้เช่นกัน จะมีหนทางใดในการลบล้างคำพิพากษาดังกล่าวนั้น
หลักการเบื้องต้นในเรื่องนี้ มีอยู่ว่า กฎเกณฑ์ที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างรุนแรง ไม่ควรจะได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายฉันใด คำตัดสินที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและความยุติธรรมอย่างชัดแจ้งก็ไม่ควรจะได้ชื่อว่าเป็นคำพิพากษาฉันนั้น
ในประเทศเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ความปรากฏชัดว่า ศาลต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลพิเศษที่อดอลฟ์ ฮิตเลอร์จัดตั้งขึ้นเป็นศาลสูงสุดในคดีอาญาทางการเมือง (เรียกกันในภาษาเยอรมันว่า Volksgerichtshof ซึ่งอาจแปลตามรูปศัพท์ได้ว่า ศาลประชาชนสูงสุด เมื่อแรกตั้งขึ้นนั้น ศาลดังกล่าวนี้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการทรยศต่อชาติ ต่อมาได้มีการขยายอำนาจออกไปในคดีอาญาอื่นๆด้วย เช่น การวิจารณ์หรือแสดงความสงสัยในชัยชนะในสงครามของรัฐบาลนาซีเยอรมัน ศาลดังกล่าวนี้ก็อาจลงโทษประหารชีวิตผู้วิจารณ์หรือแสดงความสงสัยในชัยชนะนั้นเสียก็ได้) ได้พิพากษาลงโทษบุคคลจำนวนมากโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและความยุติธรรม มีคำพิพากษาจำนวนไม่น้อยที่ศาลได้ใช้วิธีการตีความกฎหมายขยายความออกไปอย่างกว้างขวาง เพื่อลงโทษบุคคล ในหลายกรณีเห็นได้ชัดว่าศาลได้ปักธงในการลงโทษบุคคลไว้ก่อนแล้ว และใช้เทคนิคโวหารในการใช้และการตีความกฎหมายโดยบิดเบือนต่อหลักวิชาการทางนิติศาสตร์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการลงโทษบุคคลนั้น (เช่น คดี Leo Katzenberger)
มีข้อสังเกตว่า การดำเนินคดีในนามของกฎหมายและความยุติธรรมของศาลในระบบนาซีเยอรมัน เกิดจากแรงจูงใจในทางการเมือง เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และศาสนา (อาจเรียกให้สมกับยุคสมัยว่า "ตุลาการนาซีภิวัฒน์") อีกทั้งกระบวนการในการดำเนินคดี ขัดต่อหลักการพื้นฐานหลายประการ เช่น การไม่ยอมมีให้มีการคัดค้านผู้พิพากษาที่เห็นได้ชัดว่ามีส่วนได้เสียหรือมีอคติในการพิจารณาพิพากษาคดี การจำกัดสิทธิในการนำพยานหลักฐานเข้าหักล้างข้อกล่าวหา การกำหนดให้การพิจารณาพิพากษากระทำโดยศาลชั้นเดียว ไม่ยอมให้มีการอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา การจำกัดระยะเวลาในการต่อสู้คดีของจำเลย เพื่อให้กระบวนพิจารณาจบไปโดยเร็ว มิพักต้องกล่าวถึงบรรยากาศของการโหมโฆษณาชวนเชื่อในทางสาธารณะ และแนวความคิดของผู้พิพากษาตุลาการในคดีว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหาเพียงใด ที่น่าขบขันและโศกสลดในเวลาเดียวกันก็คือ แม้ว่ากฎหมายที่ใช้บังคับในเวลานั้น จะออกโดยเผด็จการนาซี และศาลในเวลานั้นต้องใช้กฎหมายของเผด็จการนาซีในการพิจารณาพิพากษาคดีก็ตาม แต่ถ้าใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้วไม่สามารถเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาได้ เช่นนี้ ศาลก็จะตีความกฎหมายจนกระทั่งในที่สุดแล้ว สามารถพิพากษาลงโทษผู้ถูกกล่าวหาจนได้
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงแล้ว มีเสียงเรียกร้องให้ลบล้างหรือยกเลิกคำพิพากษาที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการครองอำนาจของรัฐบาลนาซีเสีย แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าควรจะต้องลบล้างบรรดาคำพิพากษาดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ถกเถียงกันว่าวิธีการในการลบล้างคำพิพากษาเหล่านั้นควรจะเป็นอย่างไร ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรจะดำเนินการลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีเป็นรายคดีไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรจะลบล้างคำพิพากษาทั้งหมดเป็นการทั่วไป ในชั้นแรก ในเขตยึดครองของอังกฤษนั้น ได้มีการออกข้อกำหนดลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๑๙๔๗ ให้อำนาจอัยการในการออกคำสั่งลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีหรือให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีก็ได้เป็นรายคดีไป การลบล้างคำพิพากษาเป็นรายคดีนี้ได้มีการนำไปใช้ในเวลาต่อมาในหลายมลรัฐ อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวมีปัญหาในทางปฏิบัติมาก ทั้งความยุ่งยากในการดำเนินกระบวนการลบล้างคำพิพากษาและการเยียวยาความเสียหาย ปัญหาดังกล่าวนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาในเยอรมนีเกือบจะตลอดศตวรรษที่ยี่สิบ
ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (Bundestag) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ประกาศว่า ศาลสูงสุดคดีอาญาทางการเมือง (Volksgerichtshof) เป็นเครื่องมือก่อการร้ายเพื่อทำให้ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จนาซีสำเร็จผลโดยบริบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ บรรดาคำพิพากษาทั้งหลายที่เกิดจากการตัดสินของศาลดังกล่าวจึงไม่มีผลใดๆในทางกฎหมาย และในปี ค.ศ.๒๐๐๒ ได้มีการออกรัฐบัญญัติลบล้างคำพิพากษานาซีที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมในคดีอาญา กฎหมายฉบับนี้มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลสูงสุดคดีอาญาทางการเมืองและศาลพิเศษคดีอาญาทุกคำพิพากษา
ภายหลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้ต่อเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ รัฐสภาได้ตรารัฐบัญญัติมอบอำนาจทุกประการให้แก่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐภายใต้อำนาจและการลงนามของจอมพล Pétain รัฐบาลได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปยังเมือง Vichy และให้ความร่วมมือกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตามนโยบาย Collaboration จอมพล Pétain ปกครองฝรั่งเศสโดยใช้อำนาจเผด็จการ ภายใต้คำขวัญ “ชาติ งาน และครอบครัว” ซึ่งใช้แทน “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” รัฐบาลวิชี่ร่วมมือกับเยอรมนีในการใช้มาตรการโหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับคนเชื้อชาติยิวไปเข้าค่ายกักกัน มีนักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงหลายคนให้ความร่วมมือกับระบอบวิชี่อย่างเต็มใจ เช่น Raphael Alibert๑ , Joseph Barthélemy๒ , George Ripert๓ , Roger Bonnard ๔
เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม ฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยอิสรภาพ คณะกรรมการกู้ชาติฝรั่งเศสแปลงสภาพกลายเป็น “รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” (Gouvernement provisoire de la République française : GPRF) นอกจากปัญหาทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจแล้ว มีปัญหาทางกฎหมายให้ GPRF ต้องขบคิด นั่นคือ จะทำอย่างไรกับการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ การกระทำเหล่านั้นสมควรมีผลทางกฎหมายต่อไปหรือไม่ และจะเยียวยาให้กับเหยื่อและผู้เสียหายจากการกระทำในสมัยระบอบวิชี่อย่างไร
รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ตรารัฐกำหนดขึ้นฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ชื่อว่า “รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดนฝรั่งเศส” รัฐกำหนดฉบับนี้ตั้งอยู่บนหลักการ ๒ ประการ ได้แก่ การล่วงละเมิดมิได้ของสาธารณรัฐ และการไม่เคยดำรงอยู่ในทางกฎหมายของรัฐบาลจอมพล Pétain ตั้งแต่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔๑
ด้วยเหตุนี้ มาตราแรกของรัฐกำหนดฉบับนี้ จึงประกาศชัดเจนว่า “รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสคือสาธารณรัฐและดำรงอยู่แบบสาธารณรัฐ ในทางกฎหมาย สาธารณรัฐไม่เคยยุติการคงอยู่”๕ การประกาศความต่อเนื่องของ “สาธารณรัฐ” ดังกล่าว จึงไม่ใช่การรื้อฟื้น “สาธารณรัฐ” ให้กลับขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายของสาธารณรัฐขึ้นมาใหม่ต่างหาก เพราะ “สาธารณรัฐ” ไม่เคยสูญหายไป ไม่เคยถูกทำลาย ไม่เคยยุติการดำรงอยู่ รัฐบาลวิชี่ไม่ได้ทำลาย (ทางกฎหมาย) สาธารณรัฐ นายพล Charles De Gaulle หัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวจึงไม่เคยประกาศฟื้นสาธารณรัฐ เพราะสาธารณรัฐไม่เคยสูญหายไปจากดินแดนฝรั่งเศส
เมื่อมาตราแรกประกาศความคงอยู่อย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐ ในมาตรา ๒ ของรัฐกำหนดฉบับนี้จึงบัญญัติตามมาว่า “ด้วยเหตุนี้ ทุกการกระทำใดไม่ว่าจะใช้ชื่ออย่างไรก็ตามที่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญ, ที่มีสถานะทางนิติบัญญัติ, ที่มีสถานะทางกฎ, รวมทั้งประกาศทั้งหลายที่ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับการกระทำดังกล่าว, ซึ่งได้ประกาศใช้บนดินแดนภายหลังวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔๐ จนกระทั่งถึงการก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ให้เป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” บทบัญญัตินี้หมายความว่า การกระทำใด ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด ทั้งที่มีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ เทียบเท่ารัฐบัญญัติ เทียบเท่ากฎ หรือประกาศใดๆที่เป็นการใช้บังคับการกระทำเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่ ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย พูดง่ายๆก็คือ ผลผลิตทางกฎหมายในสมัยวิชี่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีผลทางกฎหมาย
นอกจาก “ทำลาย” การกระทำต่างๆของระบอบวิชี่แล้ว รัฐกำหนดยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่บทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มเสรีฝรั่งเศส รัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มฝรั่งเศสต่อสู้ และรัฐกิจจานุเบกษาของผู้บังคับบัญชาพลเรือนและทหารฝรั่งเศส ตั้งแต่ ๑๘ มีนาคม ๑๙๔๓ และบทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของสาธารณรัฐฝรั่งเศสระหว่าง ๑๙ มิถุนายน ๑๙๔๓ จนถึงวันที่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ (ซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับระบอบวิชี่)
การประกาศไม่ยอมรับการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ แม้จะเป็นความชอบธรรมทางการเมืองและเป็นความจำเป็นทางสัญลักษณ์อย่างยิ่ง แต่ก็อาจถูกโต้แย้งในทางกฎหมายได้ ๒ ประเด็น
ประเด็นแรก การกำเนิดรัฐบาลวิชี่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ ไม่ได้มีการรัฐประหาร หรือใช้กองกำลังบุกยึดอำนาจแล้วปกครองแบบเผด็จการ ตรงกันข้าม เป็นรัฐสภาที่ยินยอมพร้อมใจกันตรากฎหมายมอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่จอมพล Pétain ในประเด็นนี้ พออธิบายโต้แย้งได้ว่า ระบอบวิชี่และรัฐบาลวิชี่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจหรือรัฐบาลตามความเป็นจริง
ประเด็นที่สอง การประกาศให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่สิ้นผลไป เสมือนไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เสมือนไม่เคยดำรงอยู่และบังคับใช้มาก่อนเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่สุจริตและเชื่อถือในการกระทำต่างๆที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่
รัฐกำหนดฉบับนี้ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย กำหนดให้การกระทำต่างๆที่กำหนดไว้ในตารางที่ II ของภาคผนวกแนบท้ายรัฐกำหนดนี้ ถูกยกเลิกไปโดยให้มีผลไปข้างหน้า หมายความว่า สิ้นผลไปนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ ไม่ได้มีผลย้อนหลังไปเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นเกิดขึ้นเลย นอกจากนี้ ในมาตรา ๘ ยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่คำพิพากษาของศาลพิเศษที่ไม่ได้ตัดสินลงโทษการกระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อการกู้ชาติ ส่วนการกระทำที่ถือว่าสิ้นผลไปโดยมีผลย้อนหลังเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นมาก่อนเลย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ และการกระทำที่มีสถานะรัฐธรรมนูญต่อเนื่องจากนั้น ตลอดจนบทบัญญัติกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่กระทบสิทธิของประชาชน เช่น การตั้งศาลพิเศษ การบังคับทำงาน การก่อตั้งสมาคมลับ การแบ่งแยกบุคคลทั่วไปออกจากคนยิว เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดนฝรั่งเศส ประกาศเป็นหลักการในเบื้องต้นก่อนว่า สาธารณรัฐไม่เคยยุติการดำรงอยู่ และบรรดาการกระทำทั้งหลายในสมัยวิชี่เป็นโมฆะ จากนั้นจึงเลือกรับรองความสมบูรณ์ให้กับบางการกระทำ และกำหนดการสิ้นผลของบางการกระทำ บ้างให้การสิ้นผลมีผลไปข้างหน้า บ้างให้การสิ้นผลมีผลย้อนหลังเสมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
มีข้อสงสัยตามมาว่า รัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ทำให้บุคคลที่กระทำการและร่วมมือกับระบอบวิชี่ได้รอดพ้นจากความรับผิดไปด้วย เมื่อการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีความเสียหาย ไม่มีความผิด และไม่มีความรับผิดหรือไม่?
เดิม แนวคำพิพากษาวางหลักไว้ว่า เมื่อรัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ กำหนดให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมายใดแล้ว รัฐจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว แม้การกระทำนั้นจะนำมาซึ่งความเสียหายให้แก่เอกชนก็ตาม๖ อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ศาลได้กลับแนวคำพิพากษาเหล่านี้เสียใหม่ ศาลยืนยันว่า แม้ระบอบวิชี่และรัฐบาลในสมัยนั้นจะไม่ถือว่าเคยดำรงอยู่ และการกระทำต่างๆในสมัยนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมาย แต่หลักความต่อเนื่องของรัฐก็ยังคงมีอยู่ แม้รัฐบาลในสมัยระบอบวิชี่ไม่ได้เป็นรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นองค์กรผู้มีอำนาจในความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้รัฐหลุดพ้นจากความรับผิด๗ ดังนั้น เอกชนผู้เสียหายย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการกระทำที่เกิดขึ้นในสมัยระบอบวิชี่ได้
จะเห็นได้ว่า ระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้มุ่ง “ทำลาย” เฉพาะการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ไม่ได้มุ่งทำลายหรือลิดรอนสิทธิของผู้เสียหายในการได้รับค่าเสียหาย ส่วนบรรดาความรับผิดชอบของผู้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายในสมัยนั้นก็ยังคงมีอยู่ต่อไป (เช่น ขับไล่คนเชื้อชาติยิว, จับคนเชื้อชาติยิวขึ้นรถไฟเพื่อพาไปเข้าค่ายกักกัน, พิพากษาจำคุก, ประหารชีวิต, ฆ่าคนตาย เป็นต้น) ส่วนจะเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้กระทำการนั้น หรือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ย่อมพิจารณาเป็นรายกรณีไป
นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ใช้มาตรการ “แรง” เพื่อจัดการบุคคลผู้มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่ มาตรการนั้นเรียกกันว่า “มาตรการชำระล้างคราบไคลให้บริสุทธิ์” (épuration) มาตรการทำนองนี้ใช้กันในหลายประเทศโดยมีเป้าประสงค์ คือ จับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำทารุณ โหดร้ายในสมัยนาซีเรืองอำนาจมาลงโทษ และไม่ให้บุคคลที่มีอุดมการณ์แบบนาซีได้มีตำแหน่งหรือมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ออกรัฐกำหนดหลายฉบับเพื่อใช้มาตรการชำระล้างคราบไคลอุดมการณ์นาซี เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีบุคคลที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ตลอดจนกีดกันไม่ให้เข้าทำงานหรือเลื่อนชั้น, การห้ามบุคคลผู้มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ทำงานในกระบวนการยุติธรรม การศึกษา สื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร การประกันภัย หรือร่วมในสหภาพแรงงาน, การจำกัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
ปี ๒๐๐๓ รัฐสภาสวิตเซอร์แลนด์ได้ตรารัฐบัญญัติฉบับหนึ่งลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๐๐๓ ใจความสำคัญของรัฐบัญญัติฉบับนี้ คือ การเพิกถอนคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หลบหนีลี้ภัยจากการกระทำของนาซี
ในมาตราแรก เป็นการประกาศวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่า “รัฐบัญญัตินี้วางหลักเรื่องการเพิกถอนคำพิพากษาคดีอาญาที่ลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หลบหนีลี้ภัยจากการกระทำของนาซี และเยียวยาให้แก่บุคคลเหล่านั้น รัฐบัญญัตินี้มุ่งหมายเพิกถอนคำพิพากษาเหล่านี้ในฐานะเป็นการละเมิดความยุติธรรมอย่างร้ายแรงในยุคปัจจุบัน” จากนั้นจึงยืนยันในมาตรา ๓ ว่า “คำพิพากษาของศาลทหาร ศาลอาญาแห่งสหพันธ์ ศาลอาญาแห่งมลรัฐ ที่ลงโทษบุคคลที่ช่วยเหลือแก่ผู้หลบหนีลี้ภัยจากนาซี ถูกเพิกถอน”
เมื่อกฎหมายประกาศให้คำพิพากษาของศาลสิ้นผลไปแล้ว ก็จำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาให้แก่บุคคลที่ต้องโทษตามคำพิพากษาเหล่านั้น ในมาตรา ๔ กำหนดให้บุคคลเหล่านั้นมีสิทธิในการได้รับการเยียวยาชดเชย โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง ชื่อว่า “คณะกรรมการเยียวยาชดเชย” ทำหน้าที่พิจารณาคำร้องขอการเยียวยาชดเชยของบุคคลที่เคยต้องโทษตามคำพิพากษา และอาจเยียวยาชดเชยให้บุคคล เหล่านั้นโดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องขอก่อนก็ได้ ในกรณีที่บุคคลนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว ก็ให้ญาติเป็นผู้ร้องขอแทน
รัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ เป็นรัฐธรรมนูญในสมัยที่กรีซมีกษัตริย์เป็นประมุข โดยในห้วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายกษัตริย์นิยม ด้วยบรรยากาศของสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาจึงสนับสนุนฝ่ายกษัตริย์นิยม ในท้ายที่สุดฝ่ายกษัตริย์นิยมชนะ และประกาศนำรัฐธรรมนูญ ๑๙๑๑ (ซึ่งกำหนดให้มีกษัตริย์) กลับมาปัดฝุ่นใช้บังคับใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ โดยเรียกกันว่า “ประชาธิปไตยแบบกษัตริย์ – Royal Democracy” หรืออาจเรียกให้เข้าไทยเสียหน่อย คือ “ประชาธิปไตยแบบกรีซๆ” นั่นเอง
ทหารกลุ่มหนึ่งได้ก่อการรัฐประหารในวันที่ ๒๑ เมษายน ๑๙๖๗ ยกเลิกระบอบกษัตริย์ และล้มล้างรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ คณะรัฐประหารได้ปกครองแบบเผด็จการทหาร มีการประกาศใช้คำสั่งที่มีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญหลายฉบับ ต่อมาด้วยสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองอันรุมเร้า รัฐบาลเผด็จการไม่อาจตอบสนองต่อการแก้ปัญหาเหล่านั้น โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งกับไซปรัส รัฐบาลเผด็จการทหารจึงล้มไปในปี ๑๙๗๔ นาย Karamanlis อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายขวาซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ปารีสตั้งแต่ปี ๑๙๖๓ ได้รับเชิญกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยรวมขั้วการเมืองทุกฝ่าย รัฐบาลแห่งชาติของนาย Karamanlis ได้รับการคาดหวังจากประชาชนกรีซว่าจะนำพาสังคมกรีซให้ตื่นจากการหลับใหลและนำพาประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตย
รัฐบาลเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยขั้นที่หนึ่ง โดยประกาศใช้คำสั่งทางรัฐธรรมนูญ ๑ สิงหาคม ๑๙๗๔ (เป็นคำสั่งที่มีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ได้อยู่ในรูปของรัฐธรรมนูญตามความหมายเชิงรูปแบบ) ว่าด้วย “ฟื้นฟูความชอบด้วยกฎหมายแบบประชาธิปไตย” โดยรับแนวความคิดมาจากประเทศฝรั่งเศสในกรณีรัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดนฝรั่งเศส ลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การฟื้นฟูความชอบด้วยกฎหมายแบบประชาธิปไตย รัฐบาล ต้องจัดการ “ทำลาย” ผลิตผลทางกฎหมายสมัยเผด็จการทหาร ด้วยเหตุนี้ คำสั่งทางรัฐธรรมนูญ ๑๙๗๔ จึงประกาศให้บรรดารัฐธรรมนูญสมัยเผด็จการทหาร (ตั้งแต่ปี ๑๙๖๘ ถึง ๑๙๗๓) และการกระทำที่มีเนื้อหาทางรัฐธรรมนูญทั้งหลายที่ประกาศใช้ตั้งแต่ ๒๑ เมษายน ๑๙๖๗ (วันที่คณะทหารรัฐประหาร) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลได้ประกาศความเสียเปล่าของบรรดาการกระทำทางกฎหมายทั้งหลายของรัฐบาลเผด็จการทหารไปแล้ว ก็เท่ากับว่าต้องกลับไปหารัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้น คือ รัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ กลับมาอีก รัฐบาลจึงประกาศให้นำรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ มาใช้ทั้งฉบับ เว้นแต่เรื่องรูปแบบรัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้ ก็เพราะว่ารัฐบาลแห่งชาติต้องการให้ประชาชนเป็นผู้ชี้ขาดว่ากรีซสมควรเป็นสาธารณรัฐหรือมีกษัตริย์ รัฐบาลได้กำหนดให้มีการออกเสียงลงประชามติในเบื้องต้นในวันที่ ๘ ธันวาคม ๑๙๗๔ ว่า ประชาชนเห็นสมควรให้กรีซมีกษัตริย์เป็นประมุข หรือสมควรให้กรีซเป็นสาธารณรัฐ ผลปรากฏว่าประชาชนจำนวนร้อยละ ๖๙.๒ เห็นด้วยกับรูปแบบสาธารณรัฐ เป็นอันว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป กรีซไม่มีกษัตริย์ และเป็นสาธารณรัฐ
นอกจากนี้รัฐบาลแห่งชาติยังได้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และให้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ และได้ลงนามในอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป
ขั้นตอนต่อไป คือ การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญ ๑๙๕๒ กรีซจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วย ผลปรากฏว่าพรรคประชาธิปไตยใหม่ของ Karamanlis ได้รับชัยชนะ จึงไม่น่าแปลกใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีรากฐานความคิดของ Karamanlis เป็นสำคัญ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญและเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรในฐานะสภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา และได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๑๙๗๕ และประกาศใช้บังคับในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๑๙๗๕
สงครามกลางเมืองในสเปนสิ้นสุดลงเมื่อปี ๑๙๓๖ โดยนายพลฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ปราบปรามกลุ่มต่างๆ และเข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร นายพลฟรังโก้ปกครองสเปนด้วยระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ ตรากฎหมายและออกคำสั่งละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ใช้กำลังเข้าปราบปรามเข่นฆ่าบุคคลที่คิดแตกต่าง ออกมาตรการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ภายหลังระบอบฟรังโก้ล่มสลาย สเปนได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่นิติรัฐ-ประชาธิปไตย ภายใต้การนำของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอสและกลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม ในท้ายที่สุด ประชาชนก็ได้ออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ๑๙๗๘
อย่างไรก็ตาม แม้นิติรัฐ-ประชาธิปไตยจะมั่นคงและมีเสถียรภาพในดินแดนสเปน แต่ผลกระทบจากการกระทำต่างๆในระบอบฟรังโก้ก็ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาเท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านั้น ในนามของความ “ปรองดอง” สเปนจึงออกมาตรการจำนวนมากเพื่อ “ลืม” บาดแผลจากระบอบฟรังโก้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และการอภัยโทษให้กับการกระทำในสมัยระบอบฟรังโก้ การนิรโทษกรรมแบบสเปนนี่เอง กลายเป็นต้นแบบให้กับหลายประเทศในอเมริกาใต้ เช่น ชิลี อาร์เจนตินา
ปี ๒๐๐๔ ปัญญาชน นักสิทธิมนุษยชน องค์กรเอกชน และกลุ่มเครือญาติของผู้เสียหายจากระบอบฟรังโก้ ได้รวมตัวกันจัดทำแถลงการณ์ข้อเสนอถึงรัฐบาลและรัฐสภาเพื่อลบล้างผลพวงของระบอบฟรังโก้ และแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากระบอบฟรังโก้
ในแถลงการณ์ดังกล่าว มีข้อเสนอในหลายประเด็น ตั้งแต่ การลบล้างการกระทำใดๆในระบอบฟรังโก้ การจ่ายค่าเยียวยาชดเชยให้แก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบ การจัดตั้งหอจดหมายเหตุรวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในระบอบฟรังโก้ การรับรองสิทธิในการรับรู้ของผู้เสียหายหรือญาติต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระบอบฟรังโก้
กล่าวสำหรับ การลบล้างการกระทำใดๆในระบอบฟรังโก้นั้น แถลงการณ์ได้นำรูปแบบการลบล้างกฎหมายและคำพิพากษาสมัยนาซีของเยอรมนีมาพิจารณาประกอบ แถลงการณ์เสนอว่า ให้รัฐสภาตรากฎหมายเพื่อประกาศความเสียเปล่าของทุกการกระทำที่มีผลทางกฎหมายในระบอบฟรังโก้ ด้วยเหตุที่ว่า สหประชาชาติได้มีมติที่ ๓๒ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๖ และมติที่ ๓๙ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๑๙๔๖ ว่า พิจารณาจากต้นกำเนิด ลักษณะ โครงสร้าง และการกระทำทั้งหลายแล้ว เห็นว่าระบอบฟรังโก้เป็นระบอบการปกครองแบบฟาสซิสต์ นอกจากนี้ การกระทำใดๆในระบอบฟรังโก้มีความผิดตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศอีกด้วย ดังนั้น จึงเป็นความชอบธรรมอย่างยิ่งที่รัฐสภาจะตรากฎหมายประกาศความเสียเปล่าของทุกการกระทำที่มีผลทางกฎหมายในระบอบฟรังโก้ เพื่อให้การกระทำเหล่านั้นเสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
แถลงการณ์ยังได้เสนอต่อไปว่า ให้รัฐสภาตรากฎหมายประกาศให้ทุกคำพิพากษาของศาลอาญาและศาลทหาร ตลอดจนการดำเนินคดีอาญาในศาลอาญาและศาลทหาร ในสมัยระบอบฟรังโก้เสียเปล่า ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย ด้วยเหตุที่ว่าคำพิพากษาและการดำเนินคดีเหล่านั้นเป็นไปตามอำเภอใจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐบาลต้องออกมาตรการที่เหมาะสมในการเยียวยาชดเชยให้กับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากคำพิพากษาและการดำเนินคดีเหล่านั้น
แถลงการณ์ ๒๐๐๔ ไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร รัฐสภาได้ตราพระราชบัญญัติ ๕๒/๒๐๐๗ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๐๐๗ ว่าด้วยการยอมรับสิทธิของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีและความรุนแรงในช่วงสงครามกลางเมืองและเผด็จการฟรังโก้ แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ปัญญาชน นักสิทธิมนุษยชน องค์กรเอกชน และกลุ่มเครือญาติของผู้เสียหายจากระบอบฟรังโก้ จึงทำหนังสือเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๐ โดยยืนยันว่ารัฐสภาต้องลบล้างการกระทำใดๆของระบอบฟรังโก้ และการลบล้างดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และไม่กระทบต่อความมั่นคงแห่งนิติฐานะของผู้สุจริตด้วย โดยยกตัวอย่างกรณีเยอรมนีที่ได้ตรากฎหมายลบล้างกฎหมาย คำพิพากษา และการกระทำใดๆในสมัยนาซี สำเร็จมาแล้ว
ภายหลังจากมุสตาฟา เคมาล อัลตาเติร์กได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของตุรกี ระบอบการเมืองการปกครองในตุรกีก็ยังไม่มีเสถียรภาพและยังไม่เป็นประชาธิปไตยมากนัก จริงอยู่ระบอบเคมาลิสต์อาจนำความเป็นสมัยใหม่มาสู่ตุรกี แต่ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ และความเป็นสูงสุดของพลเรือนเหนือทหาร ยังไม่อาจฝังรากลงไปในดินแดนแห่งนี้ มีการรัฐประหารโดยคณะทหารหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ๑๙๖๐, ๑๙๗๑, ๑๙๘๐
รัฐประหารครั้งที่สามของตุรกีในยุคสมัยใหม่ และเป็นรัฐประหารครั้งล่าสุด คือ รัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ นำโดยนายพล Kenan Evren ตุรกีถูกปกครองโดยคณะรัฐประหารในชื่อ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” และรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งแต่ ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ จนถึง ๑๙๘๓ ส่วนนายพล Evren หัวหน้าคณะรัฐประหารก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนำไปซึ่งให้ประชาชนออกเสียงประชามติ (ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหาร) มีผลใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน จากนั้นก็ทยอยผ่องถ่ายอำนาจ โดยการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ และมีรัฐบาลใหม่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่มาจากการเลือกตั้งในปี ๑๙๘๓ อย่างไรก็ตามนายพล Evren ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีต่อไปจนถึงปี ๑๙๘๙
ตุรกีอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารรวมระยะเวลา ๓ ปี ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารนี้นำมาซึ่งการนองเลือด มีประชาชนเสียชีวิต ๕,๐๐๐ คน ถูกจำคุก ๖,๐๐๐ คน ถูกดำเนินคดี ๒๐๐,๐๐๐ คน เสียสัญชาติตุรกีไปอีกร่วม ๑๐,๐๐๐ คน และประชาชนอีกนับหมื่นที่ได้รับการทรมาน
บรรดานักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างเห็นตรงกันมานานแล้วว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ ไม่ได้มาตรฐานประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี Recep Tayyip Erdogan มีดำริว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยมุ่งลดทอนอำนาจศาลให้ได้ดุลยภาพมากขึ้น ลดทอนอำนาจกองทัพ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ปรับปรุงโครงสร้างและที่มาของศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
๑.) ให้ศาลพลเรือนมีเขตอำนาจเหนือทหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีกล่าวหาว่าทหารและบุคคลเหล่านั้นก่อกบฏล้มล้างรัฐบาลหรือก่ออาชญากรรมต่อรัฐ
๒.) เพิ่มจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากเดิม ๑๑ คน เป็น ๑๗ คน จากเดิมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดมาจากการเสนอชื่อโดยศาลและให้ประธานาธิบดีลงนามแต่งตั้ง โดยดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ ๖๕ ปี เปลี่ยนมาเป็นสภาแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๓ คน และอีก ๑๔ คนประธานาธิบดีแต่งตั้งโดยเลือกจากบัญชีที่เสนอจากสภาทนายความ จากสภาสูงการศึกษา และศาล โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง ๑๒ ปี
๓.) เพิ่มจำนวนคณะกรรมการตุลาการ (กต.) จาก ๗ คน เป็น ๒๒ คน โดย ๔ คนแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี
๔.) ทหารที่ถูกสภาทหารสูงสุดปลดออกจากตำแหน่งมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้
๕.) รับรองสิทธิและเสรีภาพใหม่ๆ เช่น สิทธิสตรี สิทธิของผู้ด้อยโอกาส สิทธิของชนกลุ่มน้อย และคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลมากขึ้น
๖.) กำหนดให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
นอกจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมยังมีบทบัญญัติยกเลิกมาตรา ๑๕ ซึ่งเป็นบทบัญญัติชั่วคราวในรัฐธรรมนูญ ๑๙๘๒ โดยมาตรา ๑๕ บัญญัติว่า “การฟ้องร้องหรือดำเนินคดีให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางกฎหมายใดเนื่องจากการกระทำใดๆของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ จนถึงวันที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ ไม่อาจทำได้” พูดง่ายๆก็คือ มาตรา ๑๕ สร้างเอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาล ในการไม่ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้องนั่นเอง
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรวม ๒๖ มาตรา ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ยังไม่อาจมีผลใช้บังคับได้ เพราะ ได้เสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาไม่ถึงร้อยละ ๗๐ จึงต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงลงประชามติ รัฐบาลกำหนดวันออกเสียงลงประชามติในวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๐๑๐ โดยเจตนาให้ตรงกับวันครบรอบ ๓๐ ปีรัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ นายกรัฐมนตรี Recep Tayyip Erdogan ประกาศว่า “วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๐๑๐ เป็นวันอันเหมาะสมที่สุดสำหรับการเผชิญหน้ากับการทรมาน ความโหดเหี้ยม และการปฏิบัติอันไร้มนุษยธรรมของรัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐”
ในรัฐธรรมนูญตุรกี การออกเสียงประชามติเป็นหน้าที่ ผู้มีสิทธิออกเสียงมีหน้าที่ต้องไปออกเสียงประชามติ หากผู้ใดไม่ไปออกเสียง ต้องถูกปรับ (ประมาณ ๖๐๐ บาท) ผลปรากฏว่าประชาชนชาวตุรกีได้ออกเสียงลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนร้อยละ ๕๗.๙๐ ไม่เห็นชอบร้อยละ ๔๒.๑ มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงร้อยละ ๗๗ (จำนวนร้อยละ ๒๐ ที่ไม่มาออกเสียงนั้น ส่วนใหญ่เป็นฐานคะแนนของพรรคสังคมประชาธิปไตยที่ประกาศบอยคอตไม่ร่วมการออกเสียงประชามติครั้งนี้)
เมื่อรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับ นั่นเท่ากับว่า บทบัญญัติว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของคณะรัฐประหารและพวก (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาล) ในการไม่ถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้อง ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้น ภายหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้วันเดียว การทดสอบท้าทายตอบโต้รัฐประหาร๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ ก็เริ่มขึ้น สมาคมนักกฎหมายและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเดินหน้ากล่าวโทษนายพล Kenan Evren (ปัจจุบันอายุ ๙๔ ปี) และพวกในความผิดฐานกบฏ ความผิดอาญาฐานอื่นๆ ตลอดจนความรับผิดทางแพ่ง
นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในเยอรมนี, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, กรีซ, สเปน และตุรกีที่สมควรหยิบยกมาแสดงเป็นตัวอย่างว่า การลบล้างการกระทำใดๆในสมัยเผด็จการสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องกังวลใจว่าใครจะได้ประโยชน์ เพราะ ในท้ายที่สุด ระบบกฎหมายแบบนิติรัฐ-ประชาธิปไตยนั่นแหละที่เราจะได้กลับมา พร้อมกับ “สั่งสอน” บุคคลที่กระทำการ ร่วมมือ ตลอดจนสนับสนุนเผด็จการได้อีกด้วย อีกทั้งเป็นการประกาศให้เห็นทั้งในทางสัญลักษณ์ ในทางประวัติศาสตร์ และในทางกฎหมายว่า ต่อไปนี้ หากมีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ก็เป็นไปได้ว่าเมื่อคณะรัฐประหารหมดอำนาจลง ระบบการเมือง-กฎหมายเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ตัวจริงในระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการ “ลบล้าง” ผลพวงของรัฐประหาร และนำตัวคณะรัฐประหารมาลงโทษ
__________________________________________
เชิงอรรถ
๑ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกในสมัยระบอบวิชี่ มีบทบาทสำคัญในการบริหารและกำหนดทิศทางการทำงานของศาลปกครอง๒ ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ผู้เขียนตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญหลายเล่ม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนที่สองในสมัยระบอบวิชี่
๓ ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการศึกษาและเยาวชน มีบทบาทสำคัญในการปลดศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยที่มีเชื้อชาติยิว
๔ ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ เขียนตำรากฎหมายปกครองหลายเล่ม แม้เขาจะไม่เข้าดำรงตำแหน่งใดๆในรัฐบาล แต่ได้ประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าพร้อมปวารณาตัวรับใช้และสนับสนุนระบอบวิชี่อย่างไม่มีเงื่อนไขและอย่างเต็มความสามารถ โดยมุ่งเน้นไปในงานทางวิชาการเพื่อรับรองความชอบธรรมของระบอบวิชี่และสนับสนุนนักกฎหมายที่รับใช้ระบอบวิชี่ ผ่านบทความต่างๆที่เสนอในวารสาร Revue du Droit public (วารสารกฎหมายมหาชน) ที่เขาเป็นบรรณาธิการ
๕ คำว่า “สาธารณรัฐ” ในบริบทของฝรั่งเศส ไม่ใช่หมายถึงเพียงรัฐที่มีประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่ตำแหน่งที่สืบทอดทางสายโลหิตแบบกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังหมายความถึงความเป็นนิติรัฐ ความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและพหุนิยมด้วย จะสังเกตได้ว่า คำว่า République ที่ใช้ในบริบทของฝรั่งเศส จะเขียนด้วยตัวอักษร R ตัวใหญ่เสมอ นั่นหมายความว่า มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจาก république
๖ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๔ มิถุนายน ๑๙๔๖, Ganascia คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๔ มกราคม ๑๙๕๒, Epoux Giraud คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๒๕ กรกฎาคม ๑๙๕๒, Delle Remise
๗ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๒ เมษายาน ๒๐๐๒, Papon คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๙, Hoffman Glemane
ที่มา: เว็บไซต์นิติราษฎร์