Thursday, May 30, 2013

อ่าน ‘จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์’ แล้วย้อนดู V for Vendetta ใหม่อีกรอบ



V for Vendetta เป็นนิยายภาพของ Alan Moore ตีพิมพ์ในพ.ศ. 2525 และถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนังในปี 2548 กำกับโดย James McTeigue เขียนบทโดยพี่น้อง Wachowski
คำว่า Vendetta เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่าการล้างแค้น ผมดูหนังเรื่องนี้ไปเมื่อราว 7 ปีที่แล้ว ขณะเข้าฉายในไทย ยังจำได้ว่า V for Vendetta เป็นหนังที่ดีมาก ปลุกเร้าให้ผู้ชมเกิดความหวัง และเชื่อมั่นในความถูกต้อง ความยุติธรรม
แต่หนังสือ จากการปฏิวัติถึงโลกาภิวัตน์ ของสรวิศ ชัยนาม หยิบหนังเรื่องนี้มาวิเคราะห์ในมุมมองของนักวิชาการฝ่ายซ้ายได้อย่างทรงพลัง และทำให้ผมมองเห็นหนังเรื่องนี้ในอีกหลายๆ แง่มุมอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน
จากการปฏิวัติภึงโลกาภิวัตน์ เป็นหนังสือที่สรวิศ ชัยนาม ผู้เขียนบอกว่าตั้งใจจะ
“อธิบายความคิดของชิเชค (Slavoj Žižek) เรื่องการวิพากษ์เชิงอุดมการณ์ การเมืองเรื่องการปฏิวัติ และจิตวิเคราะห์ของลากอง (Jacques Lacan) โดยนำไปผูกโยงกับภาพยนตร์ภายใต้บริบทการเมืองโลกร่วมสมัย”
เรื่องย่อๆ ของ V for Vendetta สมมติเหตุการณ์เกิดขึ้นที่อังกฤษในโลกอนาคต ขณะการก่อการร้ายดำเนินไปทั่วโลก เกาะอังกฤษ - หลังจากเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงสูญเสียประชากรไปจำนวนมาก - จำต้องอยู่ในภาวะเคอร์ฟิว และถูกปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่กลายสภาพเป็นเผด็จการ
รัฐเผด็จการปกครองเกาะอังกฤษอย่างเบ็ดเสร็จ และยังมีกระบอกเสียงเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เผยแพร่ข่าวเฉพาะในด้านดีของรัฐบาล โดยข่าวทุกข่าวต้องได้รับการตรวจสอบจากทางรัฐอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ยังมีการละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคลด้วยการดักฟังโทรศัพท์ สอดแนม และกล้องวงจรปิดจำนวนมากตามท้องถนน
รัฐเผด็จการนี้มีลักษณะอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน ใช้ศาสนาคริสต์เป็นเครื่องมือในการปกครอง เหยียดผิว ต่อต้านมุสลิม และออกกฎหมายให้การเป็นเพศที่สามถือเป็นความผิด
หนังค่อยๆ เผยมาว่า แท้จริงแล้วโรคระบาดที่อังกฤษเผชิญมาก่อนหน้านั้น ก็คืออาวุธชีวภาพที่ทางพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลคิดขึ้นนั่นเอง แต่นำมาใช้กับประชาชนของตนเอง และมีรายได้จำนวนมหาศาลจากการผลิตยารักษาโรคระบาดนี้
ตัวละครเอกคือชายสวมหน้ากากที่เรียกตัวเองว่า ‘V’ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกทดลองยา แต่เขาหนีรอดออกมาจากค่ายกักกัน และปรากฏตัวขึ้นในเรื่องพร้อมด้วยเป้าหมายในการโค่นล้มรัฐเผด็จการ
แน่นอนว่า V for Vendetta จัดอยู่ในนิยายภาพและหนังประเภท superhero แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ V ไม่ได้ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดหรือผู้ก่อการร้าย แต่ V กำลังสู้กับรัฐเผด็จการที่กดขี่ข่มเหง และริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะเชื่องเชื่อ ดังบทวิเคราะห์ว่า “ต่างถูกปิดปากจนเงียบสงบโดยพวกตำรวจลับ บ้างก็เสพติดโทรทัศน์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น... 
พวกเขาตระหนักรู้ว่าระบบเสื่อมโทรมเน่าเฟะเพียงใด พวกเขาจึงมิได้ซึมซับค่านิยมและความเชื่อที่รัฐบาลยัดเยียดให้แม้แต่น้อย กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ยังเคารพเชื่อฟังผู้มีอำนาจอยู่ต่อไป ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจ แต่ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ก็ทำตัวประหนึ่งว่าพวกเขาไม่รู้ไม่เห็นกับความ อัปลักษณ์น่าเกลียดของสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่”
อาการกลัวอยู่ตลอดเวลาและคิดไปเองว่าตนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เป็นสภาวะที่ผู้เขียนเรียกว่า ‘reflexive impotence
ฉากที่น่าประทับใจฉากหนึ่งคือฉากที่ V บุกเข้าไปในสถานีโทรทัศน์ และปราศรัยออกอากาศ ประกาศแถลงการณ์แสดงจุดยืน อ้างถึง Guy Fawkes วีรบุรุษผู้พยายามระเบิดรัฐสภาของอังกฤษเมื่อสี่ร้อยปีที่แล้ว (หน้ากากที่ V ใส่คือหน้าของ Guy Fawkes โดยสมมติ)
“ความหวังของเขาคือการเตือนโลกว่า ความถูกต้อง ความยุติธรรม และเสรีภาพ เป็นมากกว่าคำพูด หากแต่มันคือปรัชญาชีวิต ถ้าคุณไม่รู้ไม่เห็นกับอาชญากรรมของรัฐบาลนี้ ผมขอแนะนำให้คุณปล่อยวันที่ 5 พฤศจิกายนผ่านเลยไป แต่ถ้าคุณเห็นในสิ่งที่ผมเห็น รู้สึกในสิ่งที่ผมรู้สึก และแสวงหาในสิ่งที่ผมแสวงหา ผมขอให้คุณยืนเคียงข้างผม...”
สรวิศวิเคราะห์คำปราศรัยนี้ว่า
“เป้าหมายของวีกลับเป็นการมุ่งสร้างสาธารณชนใหม่บนพื้นฐาน จุดร่วมกันใหม่ๆ ซึ่งจะสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการดิ้นรนต่อสู้เท่านั้น สำหรับวีแล้ว จุดร่วมพื้นฐานของผู้กระทำการปฏิวัติทุกคนสามารถสร้างขึ้นได้ผ่านการหวนกลับ ไปเชื่อร่วมกันในเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่หายไป (lose causes) อันได้แก่ ‘ความถูกต้อง ความยุติธรรม และเสรีภาพ’”
เป้าหมายของ V ไม่ใช่การแสวงหาข้อตกลงหรือประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นการโค่นล้มฝ่ายตรงข้ามลง โดยอาศัยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เป็นอุดมการณ์ที่ไม่มีวันดับสูญ
ความถูกต้อง ความยุติธรรม และเสรีภาพ มิใช่อะไรอื่นนอกจากเป็นความคิดความเชื่อที่ยิ่งยงคงกระพัน และสามารถทำให้ผู้คนจำนวนมากสละชีวิตเพื่อปกป้องมันไว้
ในตอนหนึ่ง สุรวิศสรุปความหมายแฝงในคำปราศรัยของ V ไว้อย่างน่าประทับใจว่า
“วีกำลังพยายามจะบอกกับประชาชนว่า นี่คือความขัดแย้งระหว่างหลักการจัดตั้งและการบริหารสังคม 2 แนวทางที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยมาบรรจบกันได้ มีแต่การต้องเลือกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
คุณต้องเลือกที่จะยืนเคียงข้างความยุติธรรมและเสรีภาพ มิฉะนั้นคุณก็อยู่ฝั่งตรงข้ามกับมัน”

                                           อติภพ ภัทรเดชไพศาล

Tuesday, May 14, 2013

ฆาตกร




ในระบบทุนนิยม การฆ่าคนในสงครามกลายเป็นเรื่อง “เกียรติ” เป็นเรื่องของ “วีรชน” ทั้งๆ ที่ในรูปธรรมสงครามมันมีแต่ความป่าเถื่อนจนทหารผ่านศึกส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองต้องฝันร้ายตลอดชีวิต หรือมีผลกระทบทางจิตใจ และในสงครามทหารถูกหล่อหลอมให้เป็นปีศาจร้ายที่ข่มขืนผู้หญิงและฆ่าเด็กไปด้วย


โดย ลั่นทมขาว

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนักปฏิวัติสังคมนิยมจากสก็อตแลนด์ถูกจับโดยรัฐบาลอังกฤษภายใต้ข้อหา “ชวนทหารอังกฤษให้กบฏต่อชาติ” เนื่องจากเขาไปแจกใบปลิวเรียกร้องให้กรรมาชีพปฏิเสธที่จะร่วมสงคราม เพราะจะเป็นฆ่ากันเองระหว่างกรรมาชีพอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และเยอรมัน
    
ในห้องศาล จอห์น มะคลีน เลือกที่จะไม่ใช้ทนาย และใช้สิทธิในการอภิปราย เขาขึ้นต้นการอภิปรายด้วยคำพูดว่า “ผมไม่ได้มายืนในศาลครั้งนี้ในฐานะจำเลย ผมมายืนในฐานะผู้กล่าวหาระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นระบบที่เปรอะเปื้อนเลือดจากหัวจรดเท้า”
    
คำปราศัยของ จอห์น มะคลีน คือจุดเริ่มต้นที่ดีของการวิเคราะห์ฆาตกรตามแนวคิดของลัทธิมาร์คซ์ เพราะระบบทุนนิยมเปรอะเปื้อนเลือดจากหัวจรดเท้าจริง ในสงครามต่างๆ ชนชั้นกรรมาชีพถูกเกณฑ์และปลุกระดมภายใต้การคลั่งชาติให้ไปฆ่ากันเอง และทั้งๆ ที่มีการพูดโกหกว่าเป็นสงครามเพื่อเสรีภาพ แท้จริงแล้วทุกสงครามของทุนนิยม เป็นสงครามเพื่อกอบโกยกำไร และเพื่อเอาชนะนายทุนชาติอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง มันเป็นสงครามที่ทหารกรรมาชีพเป็นเหยื่อ เพื่อให้นายทุนชาติหนึ่งสามารถกดขี่ขูดรีดกรรมาชีพทั่วโลก
    
แต่ถ้าเราลองสังเกตดู เราจะเห็นว่าชนชั้นปกครองในทุกประเทศ ชอบด่าฝ่ายประชาชนเวลาลุกฮือเพื่อประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม ว่าเราเป็นพวก “รุนแรง” หรือ “หัวรุนแรง” เสมอ
    
ในระบบทุนนิยม การฆ่าคนในสงครามกลายเป็นเรื่อง “เกียรติ” เป็นเรื่องของ “วีรชน” ทั้งๆ ที่ในรูปธรรมสงครามมันมีแต่ความป่าเถื่อนจนทหารผ่านศึกส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนเองต้องฝันร้ายตลอดชีวิต หรือมีผลกระทบทางจิตใจ และในสงครามทหารถูกหล่อหลอมให้เป็นปีศาจร้ายที่ข่มขืนผู้หญิงและฆ่าเด็กไปด้วย แต่ในความเป็นจริงปีศาจร้ายตัวจริง หรือฆาตกร คือนักการเมืองหรือผู้นำที่นั่งอยู่ในห้องสบายๆ และส่งทหารหนุ่มไปตาย
    
ในระบบทุนนิยม การฆ่ากรรมาชีพเพื่อกำไร ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ในโรงงานนรก เรือประมงล่ม โรงไฟฟ้าระเบิด หรือโรคเรื้อรังในปอดหรือมะเร็งที่มาจากสภาพการทำงาน ถือว่าเป็นแค่ “อุบัติเหตุ” ทั้งๆ ที่ใครๆ รู้ว่ามันเกิดจากการเร่งหากำไรและการตัดค่าใช้จ่ายของนายทุน พูดง่ายๆ นายทุนคือฆาตกรตัวจริง แต่เขาจะไม่ถูกลงโทษตามความร้ายแรงของอาชญากรรม
    
ในระบบทุนนิยม เวลาทหารยิงประชาชนที่ออกมาประท้วงเรียกร้องเสรีภาพ สื่อกระแสหลักของนายทุนจะพยายามปั้นข่าวว่าผู้ประท้วงใช้ความรุนแรง ทั้งๆ ที่ไม่มีอาวุธ และทหารฆาตกรจะกลายเป็นผู้รักษาความสงบ
    
ในระบบทุนนิยมเวลานักการเมืองประกาศทำ “สงครามยาเสพติด” ไม่ว่าจะในไทยหรือเมคซิโก และประชาชนถูกฆ่าโดยไม่นำมาพิสูจน์ความผิดในศาล สื่อกระแสหลักจะชมนักการเมืองฆาตกรเหล่านั้น
    
เรื่องของการฆ่าคนแยกออกจากเรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นไม่ได้เลย
    
แม้แต่เรื่องการฆ่ากันเองของคนธรรมดาในชีวิตประจำวันก็ถูกบิดเบือนจากทุนนิยมและสังคมชนชั้น บ่อยครั้งการฆ่ากันระหว่างคนในครอบครัวเดียวกัน หรือคนที่รู้จักกัน มาจากความเครียดในปัญหาชีวิต ความเครียดอาจนำไปสู่การดื่ม ซึ่งยิ่งทำให้คนขาดสติ มันมาจากความกดดันในสถาบันครอบครัวด้วย ที่บ่อยครั้งทำให้คนอยู่ด้วยกันเวลาหมดรัก หรืออยู่ด้วยกันเพราะสาเหตุทางเศรษฐกิจแทนความรัก การฆ่ากันมาจากการปล้นทรัพย์ด้วย ซึ่งการปล้นขโมยมีปัจจัยจากความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความยากจน แต่คนที่ถูกปล้นมักเป็นคนจน เพราะปล้นง่ายกว่าคนรวยที่มีรั้วสูงและระบบป้องกัน
    
ส่วนใหญ่เวลาคนจนฆ่าคนในชีวิตประจำวัน จะถูกจับ และอาจถูกประหารชีวิต แต่เวลาลูกนักการเมืองที่มีอิทธิพลยิงคนอื่นตาย เขาจะลอยนวล
    
นักมาร์คซิสต์คัดค้านโทษประหาร เพราะมันเป็นแค่การฆ่าประชาชนอีกคนหนึ่งเพื่อการสำเร็จความใคร่และการแก้แค้นของสังคม แต่การแก้แค้นแบบนั้นเป็นความคิดล้าหลังต่ำช้าที่สุดที่ชนชั้นปกครองป้อนให้เราเชื่อ การแก้แค้นไม่นำไปสู่การคืนชีพของผู้ถูกฆ่า โทษประหารไม่นำไปสู่การลดอาชญากรรมแต่อย่างใด และบ่อยครั้งผู้ถูกประหารเป็นคนบริสุทธิ์ที่ศาลพิพากษาผิด
    
ในสังคมนิยมเราคงไม่สามารถกำจัดการฆ่ากันเองของคนตามอารมณ์ร้อนแรงได้หมด แต่เราลดการฆ่าในสงคราม การฆ่าที่มาจากเผด็จการ และการฆ่ากรรมาชีพในสถานที่ทำงานได้ และเราจะพยายามลดความเครียดต่างๆ นาๆ ในชีวิตประจำวันด้วย


การขายบริการทางเพศ คือ งานบริการชนิดหนึ่ง?




กลุ่มทุนเหล่านี้ทำกำไรมหาศาลจากการทำให้เรื่องเพศกลายเป็นสินค้า และตัวผลิตภันฑ์ดังกล่าวสร้างขึ้นมาจากการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัถตุทางเพศ ดังนั้นเราในฐานะนักสังคมนิยมเราจะต้องต่อต้านคลับเปลือยเหล่านี้


โดย สมุดบันทึกสีแดง

ในระดับสากล การต่อสู้ของหญิงบริการนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 คลื่น ยุคแรกเกิดขึ้นใน 1970 คลื่นลูกที่สองเกิดขึ้นปี 1990 (2533) คลื่นลูกที่สามโผล่ขึ้นมาอย่างมีนัยยะสำคัญที่ประเทศอินเดียและอาเจนตินาซึ่งครั้งนั้นมีการพัฒนาไปอีกขั้นตอนหนึ่งคือการจัดตั้งของหญิงบริการทางเพศ อันเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคเอสด์ ทั้งสองประเทศมีสหภาพแรงงานเป็นของตัวเอง ที่ประเทศอาเจนตินาก่อตั้งของในปี 2001 (AMMAR ) และในประเทศอินเดีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 (2549) (The Karnataka Sex Workers Union) ซึ่งเน้นการจัดตั้ง แก้ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศและรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงในเวลาเดียวกัน

ในบทความนี้ผู้เขียนจะลงรายละเอียดคร่าวๆ เกี่ยวกับข้อถกเถียงของปัญหาหญิงบริการทางเพศ ซึ่งจะเน้นเฉพาะในประเทศอังกฤษ

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการขายบริการทางเพศในประเทศอังกฤษ 

ขบวนการสิทธิสตรีแสดงความกังวลเกี่ยวกับกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเพศ เพราะอุตสหกรรมนี้ได้ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา และหลังจากนั้นจะพัฒนากลายมาเป็นเรื่องที่สังคม “รับได้” อุตสาหกรรมทางเพศได้ขยายตัวออกไปสู่ปริมณฑลของการซื้อขายในพื้นที่สีเทา อุตสาหกรรมเพศที่เติบโตเร็วมากที่สุดในอังกฤษ คือ คลับเปลือย บ่อยครั้งจะมีการเรียกผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ว่า “นักเต้น” เพื่อที่จะจัดประเภทแรงงานให้เข้าไปอยู่ในแรงงานสาย “อีโรติก” สภาพแรงงาน GMB  ได้พยายามที่ขยายจำนวนสมาชิกแรงงานที่นี่ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างหนัก

มีข้อเสนอว่าการทำงานเปลือย หรือเป็นนักเต้นนั้น ผู้หญิงสามารถทำเงินได้เร็ว มีอำนาจการต่อรอง และมีความเป็นอิสระ ซึ่งถ้าสำรวจกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ทำอาชีพนี้จะพบว่าเป็นคนทำ “อาชีพอิสระ” (Self-employed)  ซึ่งจะมีรายได้หลักจาก “ค่าทิป” และจากค่าเต้น ซึ่งนักเต้นเหล่านี้จะต้องจ่ายค่าเช่าอุปกรณ์ให้กับผู้จัดการร้านต่างหาก ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นว่าผู้หญิงเหล่านี้อยู่ห่างใกลจากคำว่าเป็นอิสระ ในทางกลับกันพวกเธอถูกสอดแนมและควบคุมมากกว่า

GMB หลังจากได้เข้าไปจัดตั้งผู้หญิงในคลับเปลือย สามารถต่อรองเรื่องคุณภาพการจ้างงานในคลับได้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีเราต้องสนับสนุน แต่อย่างไรก็ตามเราต้องตั้งคำถามต่อไปว่า กลุ่มทุนเหล่านี้ทำกำไรมหาศาลจากการทำให้เรื่องเพศกลายเป็นสินค้า และตัวผลิตภันฑ์ดังกล่าวสร้างขึ้นมาจากการทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัถตุทางเพศ ดังนั้นเราในฐานะนักสังคมนิยมเราจะต้องต่อต้านคลับเปลือยเหล่านี้

แค่การดำรงอยู่ของสถานประกอบการแบบนี้หนุนเสริมให้การกดขี่ผู้หญิงดำรงอยู่ต่อไป คลับเปลือยไม่ใช่สถานที่ทำงานปกติ เราไม่ควรจะประณีประนอมกับแนวความคิดที่พยายามจะทำให้สถานที่แบบนี้เป็นสถานประกอบการปกติ  การมีอยู่ของคลับเปลือยหรือสถานบริการเพศต่างๆ มันทำให้การต่อสู้เพื่อให้คุณค่ากับผู้หญิงในแบบที่เป็นเธอเป็น ไม่ว่าจะเป็นขนาดของรูปร่าง อายุ ชาติพันธ์ กลายเป็นภาระกิจที่เต็มไปด้วยความยากลำบากเกินความจำเป็น

ควรจะแบนสถานการประกอบการแบบนี้ไหม? 

ข้อเสนอโดยการใช้กฎหมายบังคับ ถูกตอบในทางบวกจากหลายส่วน นักสิทธิสตรีเช่น จูลี่ บิลเดล (Julie Bindel)ถึงกับเตรียมตัวพร้อมที่จะร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมเรียกร้องให้มีการแบนสถานที่ประกอบการ ซึ่งพวกเราควรจะหลีกเลี่ยง เราไม่เห็นด้วยกับกรอบข้อถกเถียงในเชิงศีลธรรมที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมชื่นชอบ การเพิ่มอำนาจให้กับรัฐเพื่อเข้ามาจัดการกับเรื่องนี้ก็มีปัญหา เพราะตัวของรัฐเองคือเครื่องของการกดขี่ไม่ใช่เครื่องของการ  (จะกล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดในย่อหน้าข้างหน้า)

เราควรจะแบนผู้ชายไหม?

ข้อเสนอนี้ได้หันไปเน้นที่ผู้บริโภค เพราะเชื่อว่าถ้าแบนตรงนี้ได้ก็จะสามารถลดปริมาณหญิงบริการทางเพศได้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้รับการต่อต้านจากหลายองค์กรรวมถึงองค์กรของหญิงบริการทางเพศเอง เพราะในรูปธรรม เป็นทำให้เรื่องการซื้อขายบริการเพศเป็นเรื่องใต้ดิน หญิงขายบริการจะถูกดันให้ไปอยู่ชายขอบมากยิ่งขึ้น ไร้อำนาจในการดูแลตนเอง

ในกรณีของสวีเดน ได้ออกกฎหมายเอาผิดผู้ชายที่มาซื้อบริการเพศ ในปี 1998 ซึ่นเป็นข้อเสนอของกลุ่มนักสิทธิสตรี จำนวนหญิงบริการทางเพศบนท้องถนนในสวีเดนได้ลดลง แต่การซื้อขายเพศในอินเตอร์เนตได้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งองค์กรของหญิงบริการทางเพศ ได้ตั้งข้อสังเกตุว่าการแบนลูกค้าของพวกเธอได้ผลักให้กลุ่มลูกค้าเดินเข้าไปสู่พื้นที่ๆดำมืดมากกว่าเดิมเป็นผลเสียทั้งต่อหญิงขายบริการและลูกค้า

โอคอลแนล เดวิสัน   (O’Connell Davidson) อธิบายเพิ่มเติมว่า การลงโทษผู้ซื้อ ส่งเสริมให้กลุ่มสิทธิสตรีทำแนวร่วมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งในรูปธรรมหมายถึง ตำรวจจะเรียกร้องให้ออกนโยบายเอาผิดที่รุนแรง นักการเมืองจะฉวยโอกาสต่อต้านแรงงานข้ามชาติ  เรียกร้องให้เพิ่มมาตรการควบคุมคนเข้าเมือง และฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็จะเรียกร้องให้หันกลับไปส่งเสริม “คุณค่าของครอบครัว”

มีความพยายามที่จะทำความเข้าใจว่าทำไมผู้ชายจึงหันไปซื้อบริการทางเพศเพิ่มขึ้น คำอธิบายหนึ่งคือ การทำงานที่ยาวนานและการขาดโอกาศที่จะสร้างความสัมพันธ์ และภายใต้เงื่อนไขสังคมปัจจุบันผู้ชายถูกส่งเสริมให้คิดว่าเขาควรจะมีเพศสัมพันธ์และร่างของผู้หญิงนั้นก็เพียงแค่สินค้าชนิดหนึ่งที่เขาสามารถซื้อได้ ผู้หญิงก็เหมือนกับรถหรือทีวีซื้อมาแล้วก็ขี่และดู ซึ่งในประเด็นนี้ เดวิสัน ได้แย้งว่า มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะซื้อเซ็กส์ แต่มนุษย์ถูกสอนให้คิดว่าการบริโภคสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสนุก สถานภาพความเป็นผู้ชายของเขาจะได้รับการยอมรับในสังคม

รัฐ สถานที่พักพิง หรือ เครื่องมือในการกดขี่?

รัฐตอบสนองต่อประเด็นปัญหานี้ด้วยภายใต้สองกรอบความคิดหลักคือ มองว่าหญิงบริการทางเพศ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เป็นตัวอันตรายต่อศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งจะต้องถูกกำจัดให้หมดไป และ มองว่าหญิงบริการทางเพศ เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ที่จะต้องหาทางควบคุม อย่างไรก็ตามภายใต้สองกรอบคิด ไม่ได้ช่วยให้ให้การกดขี่ทางเพศในอุตสาหกรรมเพศลดลงแต่อย่างใด ในประเทศอังกฤษ รัฐบาลภายใต้พรรคแรงงานใหม่ได้ปฏิบัติต่อหญิงขายบริการ โดยเสนอว่าหญิงขายบริกาทางเพศ เป็นพฤติกรรมต่อต้านสังคม และ ประกาศว่าเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับไม่ได้

ความพยายามทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือการฟื้นฟูพฤติกรรมถูกกำหนดขึ้นมาจากกรอบที่ต้องการลงโทษหญิงขายบริการ ตำรวจถูกส่งเสริมให้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์สงคมสงเคราะห์ ในประเด็นบ้านพักผู้ประสบภัย การลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพทางเพศ โปรแกรมที่ให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ติดยาและเหล้าเพื่อดึงให้ผู้หญิงออกจากวงจรการค้าเพศ ซึ่งในกระบวนการดังกล่าว ผู้หญิงเหล่านี้อาจจะถูกสั่งขังจำคุกได้ถึง 5 ปี ถ้าทำผิดกฎ ซึ่งการมีบันทึกว่าเคยเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมแบบนี้ เป็นอุปสรรคมากในการสมัครงาน มันทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าเข้าสู่โปรแกรมการจัดการกับการค้ามนุษย์นั้น บ่อยครั้งวกกลับไปอยู่ในกรอบของการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อของเจ้าหน้าที่

ข้อเสนอเชิงปฏิรูปที่หญิงบริการทางเพศได้รับประโยชน์เราควรสนับสนุน แต่เราตระหนักว่าข้อเสนอเชิงปฏิรูปเหล่านี้จะไม่นำไปสู่การปลดปล่อยผู้หญิงแต่อย่างใด ข้อเสนอระยาวนั้นควรจะเน้นทำลายเงื่อนไขต่างๆที่ผู้ต้องตัดสินใจเดินเข้าสู่เส้นทางนี้ ความอิสระและความมั่นคงในชีวิตคือประตูบานแรกที่จะทำลายวงจรอุบาทว์