Monday, March 3, 2014

วิสัยทัศน์ของปรีดี พนมยงค์



: รัฐธรรมนูญนิยมและสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
การเมืองไทยในช่วงปี 2475 จนถึงปี 2490 บทบาทอันสำคัญยิ่งของนายปรีดี  พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายพลเรือนในคณะราษฎร เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แม้บุคคลผู้นี้จะมีวิถีชีวิตอันเรียบง่าย แต่ในทางการเมืองนั้นกลับตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ และเป็นไปได้ด้วยว่า ในระหว่างฝักฝ่ายที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์บุคคลผู้นี้นั้น แต่ละฝ่ายอาจมิได้มีความเข้าใจอันถ่องแท้เกี่ยวกับความคิดที่ตนได้หยิบยกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์นั้นเลย
เช่นเดียวกับเด็กอื่นโดยทั่วไปในประเทศสยามตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ที่ส่วนใหญ่ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางชีวิตในชนบทและภายใต้ร่มแห่งศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา ปรีดี  พนมยงค์ เกิด ณ จังหวัดอยุธยา หลังจากที่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนกฎหมายเป็นเวลาสองปีและกลับไปประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมในครอบครัว ปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อทางกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสระหว่างปี 2463 จนถึงปี 2469 ในขณะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางกฎหมาย ความสนใจของปรีดีที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ได้ผลักดันให้ปรีดีเข้าศึกษาจนสำเร็จและได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองด้วยอีกสาขาหนึ่ง เมื่อกลับสู่ประเทศสยามปรีดีได้เข้ารับตำแหน่งที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ผู้สอนในโรงเรียนกฎหมาย  กระทรวงยุติธรรม ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย เป็นต้น
ในปี 2471 ปรีดีได้รับแต่งตั้งให้เป็น “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ซึ่งนามดังกล่าวนี้ทำให้เรานึกถึงเรื่องราวอันเป็นตำนานทางกฎหมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “พระมนู” ซึ่งถือกันว่า เป็นผู้เปิดเผยและแสดงธรรมะให้ปรากฏต่อโลก กล่าวโดยสรุป นามนี้จึงมีความหมายถึง “ผู้สร้างสรรค์หลักธรรมของพระมนู” ดังนี้เอง ย่อมทำให้เรานึกถึง “พระมนู” ซึ่งเป็นบุรุษคนสำคัญในตำนานทางนิติศาสตร์ของประเทศอินเดีย
ด้วยเหตุที่พระมนู (หรือมโนสาราจารย์ ในตำนานกฎหมายของสยาม) เป็นผู้ประกาศหลักธรรม  โลกโบราณจึงได้รู้จักกับกฎเกณฑ์อันเป็นพื้นฐานของจักรวาล อีกทั้งกฎเกณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่มาแต่เดิมในธรรมชาติและในสังคมมนุษย์ทั้งปวง อันได้แก่สิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” หากว่าโดยทางตำนาน ทิพยภาวะอันควรแก่การเคารพนบไหว้จะได้มีอยู่แก่พระมนู ผู้เป็นต้นบัญญัติแห่งบทกฎหมายทั้งหลายแต่เพียงผู้เดียวแล้ว นั่นย่อมหมายถึงว่า นามของพระมนูได้เป็นสัญลักษณ์สำคัญซึ่งบรรดาอำนาจทั้งปวงในโลกจะต้องอ้างอิงถึง กล่าวคือ เป็นสัญลักษณ์แห่งหลักธรรมะในฐานะที่เป็นหลักแห่งความยุติธรรมนั่นเอง
การประกาศหลักธรรมะของพระมนู อันเป็นที่มาแห่งบรรดากฎเกณฑ์ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ได้รับการรวบรวมขึ้นเป็นวิทยาการอันหนึ่งซึ่งควรแก่การเคารพสักการะในนาม “ธรรมศาสตร์หรือศาสตร์แห่งธรรมะ” อันมีนัยเดียวกับคำว่า “นิติศาสตร์”  ในปัจจุบัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ธรรมศาสตร์ซึ่งได้รับการประกาศและให้อรรถาธิบายโดยพระมนูย่อมเป็นที่รู้จักกันในนาม “ธรรมะแห่งพระมนูหรือมนูธรรม” นั่นเอง
ในแง่นี้ นามของปรีดีอันเป็นสัญลักษณ์แห่งบุรุษผู้ซึ่ง “ประดิษฐ์มนูธรรม” จึงมีนัยสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุว่า ปรีดีได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรนำประเทศสยามเข้าสู่ยุคใหม่โดยการอภิวัฒน์ในเดือนมิถุนายน 2475 จึงนับได้ว่า เป็นการรังสรรค์ขึ้นใหม่ซึ่ง “หลักธรรมแห่งพระมนู” ในที่นี้ หมายถึงหลักการอันว่าด้วยรัฐธรรมนูญนิยมและสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อกล่าวโดยทางสัญลักษณ์ หากพระมนู (หรือมโนสาราจารย์ตามพระธรรมสาตรของสยาม) เป็นผู้ประกาศซึ่งหลักธรรมอันเป็นอุดมคติแห่งระบอบรัฐราชาธิราชในสมัยโบราณ ปรีดีย่อมนับเป็นผู้วางรากฐานของหลักการอันว่าด้วยรัฐธรรมนูญนิยมและสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นหลักธรรมใหม่ของพระมนู กล่าวคือ เป็นหลักการพื้นฐานทางการเมืองในระบอบใหม่ของประเทศสยามนับแต่ปี 2475 เป็นต้นมา
หลังจากเหตุการณ์การอภิวัฒน์ในเดือนมิถุนายน 2475 ปรีดีได้มีบทบาทและเข้าดำรงตำแหน่งที่สำคัญหลายตำแหน่งจนถึงในปี 2490 ได้แก่ เป็นผู้ร่างธรรมนูญการปกครองฉบับแรก ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่บทบาททางการเมืองของปรีดีจะได้สิ้นสุดลง กล่าวโดยสรุปก็คือ หากยกกรณีการอภิวัฒน์ในปี 2475 และเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อเราจะได้กล่าวเป็นการเฉพาะในภายหลังแล้ว งานในหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมเป็นการวางรากฐานด้านการปกครองในยุคใหม่ของประเทศนั่นเอง
วิถีทางในการดำเนินงานทางการเมืองในปี 2475 แสดงให้เห็นขั้นตอนที่สำคัญเป็นลำดับ 2 ประการอันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองให้เป็นไปตามหลักการว่าด้วยรัฐธรรมนูญนิยมเป็นประการแรก ประการต่อมาได้แก่ การทำให้ระบอบการเมืองการปกครองที่สถาปนาขึ้นใหม่นั้นให้มีเสถียรภาพ โดยพยายามที่จะแก้ไขระบบเศรษฐกิจภายใต้หลักการอันว่าด้วยสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย จริงอยู่ว่า ตามความเห็นของปรีดีแล้ว หลักการที่ว่ามาข้างต้นทั้งสองประการนั้น ย่อมเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ก็หาได้มีความสำคัญเท่าเทียมกันไม่ ทั้งนี้ ปรีดีเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วนั้นจะต้องเป็นเครื่องมือนำไปสู่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรเป็นประการสำคัญ ดังนั้น ปรีดีจึงมิได้ถือเอารัฐธรรมนูญนิยมเป็นเป้าหมายสุดท้ายในตัวเอง แต่รัฐธรรมนูญนิยมนั้นจะต้องนำไปสู่การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรอย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของอิสรภาพและความไพบูลย์แห่งชาติ
ก. รัฐธรรมนูญนิยม : หลักพื้นฐานประการแรก
คำนิยาม
เมื่อเราพิจารณาจากหลักเกณฑ์สากลซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป หลักการว่าด้วยรัฐธรรมนูญนิยมของปรีดีย่อมเป็นไปตามตรรกะทางทฤษฎีการเมืองของตะวันตก รัฐธรรมนูญนิยมจึงหมายถึงหลักการทางการเมืองซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายพื้นฐานอันมิอาจล่วงละเมิดได้ เป็นกฎเกณฑ์ที่ได้วางระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับความชอบธรรมของการใช้อำนาจรัฐต่อพลเมือง คงไม่เป็นการจำเป็นในที่นี้ที่จะต้องให้อรรถาธิบายในรายละเอียดถึงหลักการดังกล่าว ตามความคิดของปรีดี สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งเราน่าจะให้ความสนใจได้แก่ การตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญของปรีดี เพื่อที่จะให้การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นนั้นเกิดผลสมบูรณ์ครบถ้วน
หลักการที่สำคัญ
หากกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร การเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณญาสิทธิราชไปเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นับเป็นวัตถุประสงค์สำคัญมาตั้งแต่การประชุมผู้ร่วมก่อการในครั้งแรกเมื่อปี 2470 แม้ว่าประกาศของคณะราษฎรซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 24 มิถุนายนนั้นจะระบุถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้งระบอบสาธารณรัฐ หากได้รับการปฏิเสธจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ แต่นั่นก็เป็นเพียงยุทธศาสตร์ที่ปรีดีเองให้เหตุผลว่า “มีวัตถุประสงค์มุ่งต่อผลสำเร็จโดยพลัน” 
ในความเป็นจริงภายใต้บริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย ปรีดีหรือแม้แต่คณะราษฎรเองก็ตาม หาได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันสำคัญที่มีมาแต่เดิมไม่ ในทางตรงกันข้าม เจตจำนงของคณะผู้ก่อการที่จะธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันอันสำคัญนี้ภายใต้ระบอบการปกครองที่ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่นั้น แสดงให้ปรากฏหลายครั้งหลายครา อาทิเช่น คำกราบบังคมทูลของคณะราษฎรต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เพื่ออัญเชิญให้ทรงคืนสู่ราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกในระบอบใหม่ หรือการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในปี 2478 หรือการอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในปี 2489
เมื่อกล่าวถึงหลักการที่สำคัญของระบอบที่ได้สถาปนาขึ้นใหม่ ย่อมเห็นได้ชัดจากหลักการที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร” ดังที่ปรีดีได้นำมาบัญญัติไว้ในบทกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั่นเอง
การแปรไปสู่การปฏิบัติ
ความพยายามของปรีดีในอันที่จะนำประเทศสยามไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อาจสรุปขั้นตอนที่สำคัญได้ดังต่อไปนี้
-   เตรียมพื้นฐาน : คำอธิบายกฎหมายปกครอง
ในปี 2474 การที่ปรีดีได้รับเป็นผู้บรรยายในวิชากฎหมายปกครอง ณ โรงเรียนกฎหมายนั้นนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่ง กล่าวคือ วิชากฎหมายปกครองเป็นวิชาใหม่ซึ่งนักกฎหมายในสมัยนั้นจะต้องเล่าเรียน ปรีดีได้บรรยายวิชาดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำนักกฎหมายรุ่นใหม่หรือแม้แต่สาธารณชนโดยทั่วไปเข้าทำความรู้จักกับทฤษฎีการเมืองแบบใหม่ ในวิชาดังกล่าว ปรีดีได้บรรยายถึงหลักการที่สำคัญทางการเมืองประการต่าง ๆ ได้แก่ ลักษณะทางทฤษฎีของรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกฎหมายพื้นฐาน หลักการอันว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่เป็นหลักทั่วไปของกฎหมาย จำแนกได้เป็น 3 ประการ กล่าวคือ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ รูปแบบต่าง ๆ ของรัฐ ภารกิจแห่งรัฐ เป็นต้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปรีดีประสงค์ให้ประเทศสยามได้ทำความรู้จักกับหลักและทฤษฎีประชาธิปไตย เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้
-   วางรากฐานสังคมใหม่ : การอภิวัฒน์ในปี 2475
ในเดือนมิถุนายน 2475 เวลาอันสำคัญได้มาถึงเพื่อเปลี่ยนจากสิ่งซึ่งเป็นเพียง “วิชาที่บรรยายในชั้นเรียน” ไปสู่การอภิวัฒน์ระบอบการเมืองการปกครอง ในที่นี้ เราจะลองพิจารณาในเบื้องต้นถึงคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
คณะผู้ก่อการประกอบด้วยบุคคลฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร โดยส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาจากประเทศยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศฝรั่งเศส ในการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เมื่อปี 2470 ณ อาคารหอพักแห่งหนึ่งในกรุงปารีส คณะผู้ก่อการได้กำหนดให้มีผู้ดำเนินการทางการเมืองขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลา 5 วันของการประชุมในครั้งนี้ ด้วยเหตุที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ร่วมก่อการ ปรีดีจึงได้แสดงบทบาทการเป็นผู้นำกลุ่มนับแต่เวลานั้นเป็นต้นมา
จากการดำเนินงานทางการเมืองของคณะผู้ก่อการกลุ่มนี้ ในเวลาเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475  ราษฎรชาวสยามทั้งหลายได้ตื่นขึ้นพร้อมกันกับความคาดหวังที่ว่า นับแต่วันนี้ทุกสิ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อีกนัยหนึ่ง ยุคใหม่ทางการเมืองได้เริ่มขึ้นแล้วพร้อมกับการอภิวัฒน์
ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการของคณะราษฎรมีดังนี้ กล่าวคือ กระจายกำลังทหารเข้าควบคุมสถานที่ที่สำคัญ การเข้าจับกุมเจ้านายและพระราชวงศ์ระดับสูงซึ่งดำรงตำแหน่งการบริหารในรัฐบาลของระบอบเก่าเป็นตัวประกัน การประกาศวัตถุประสงค์การอภิวัฒน์ของคณะราษฎร กราบบังคมทูลเชิญพระสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ให้ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งให้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เราควรหันมาพิจารณาปฏิกิริยาที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ซึ่งได้แก่ การให้การรับรองความชอบธรรมของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง การเสด็จคืนสู่ราชบัลลังก์ในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของระบอบประชาธิปไตย ทรงให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งกับคณะผู้ก่อการเพื่อให้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475
คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเลยว่า ด้วยคุณูปการที่สำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงส่งผลให้การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในประเทศสยามประสบผลสำเร็จโดยกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ
-     หว่านเมล็ดพันธุ์ทางปัญญาแห่งระบอบใหม่
: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ในบรรดาการริเริ่มอย่างใหม่ ๆ ที่ปรีดีดำริให้มีขึ้นระหว่างระยะการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนั้น การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2477 และการดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยตนเองระหว่างปี 2477 จนถึง 2495 นับเป็นผลงานที่ทรงคุณค่ายิ่งและเห็นผลเป็นประจักษ์แม้ในปัจจุบัน กล่าวคือ สถาบันที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นนี้นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่เป็นผลโดยตรงจากการอภิวัฒน์ในเดือนมิถุนายน 2475 ภารกิจแห่งสถาบันทางวิชาการแห่งใหม่นี้ย่อมคาดหมายได้จากนามของสถาบันนั้นเอง กล่าวคือ เป็นศูนย์กลางทางปัญญาว่าด้วยธรรมศาสตร์และว่าด้วยการเมือง
กล่าวในทางภาษา หากเราเว้นที่จะอธิบายคำว่า “การเมือง” และอาศัยความหมายโดยทั่วไปซึ่งเป็นที่เข้าใจกันแล้ว ในส่วนถ้อยคำที่เอ่ยถึง “ Sciences morales ”  นั้นเป็นคำที่ใช้แทนคำเดิมในภาษาไทยว่า “ธรรมศาสตร์” ซึ่งปัจจุบันได้มีการแปลคำนี้อย่างเป็นทางการว่า “Thammasat” ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า มิได้สื่อสาระแต่อย่างใดเลย จะเป็นก็แต่เพียงคำแปลตามการออกและสะกดเสียงเท่านั้น คำว่า “ธรรมศาสตร์” นั้นเป็นที่รับรู้กันในสมัยของปรีดี ในความหมายที่เป็น “ความรู้โดยทั่วไปในทางนิติศาสตร์” ซึ่งแต่เดิมเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “Dharmasastra” จากแง่มุมที่ว่านี้ คำสำคัญ 2 คำซึ่งได้นำมารวมกันเพื่อตั้งเป็นนามแห่งสถาบันการศึกษา ย่อมสื่อนัยและสนองต่อเจตนารมณ์แห่งการอภิวัฒน์ที่ได้มีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2475 ได้เป็นอย่างดียิ่ง กล่าวคือ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป วิชาธรรมศาสตร์และวิชาการเมืองย่อมนับเป็นฐานทางปัญญาอันสำคัญยิ่งต่อระบอบการเมืองที่ได้สถาปนาขึ้นใหม่
ข.    สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
: วัตถุที่ประสงค์อันแท้จริงแห่งการอภิวัฒน์
ลักษณะโดยทั่วไป
การนำประเทศสยามเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยหาใช่เป็นวัตถุประสงค์สุดท้ายในตัวเองไม่ ปรีดีคงถือแต่เพียงว่า หลักรัฐธรรมนูญนิยมเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองในอันที่จะแปรเจตจำนงแห่งราษฎรทั้งปวงให้มีผลในทางปฏิบัติเท่านั้น ด้วยความเชื่อเช่นว่านี้ การอภิวัฒน์ดังกล่าวทำให้ปรีดีประสงค์ที่จะดำเนินการให้ยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นตอนแรกที่ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว
ด้วยเหตุที่ได้มีส่วนเข้าร่วมในบรรยากาศใหม่ทางการเมืองของประเทศในปี 2475 ปรีดีจึงได้นำเสนอโครงการดำเนินงานต่อเนื่องทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจที่ได้ถูกขนานนามในภายหลังว่า “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ในการให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสาร Asiaweek (ฉบับวันที่ 24 ธันวาคม 2522 - 4 มกราคม 2523) ปรีดีให้สัมภาษณ์ดังนี้
“ ถาม  :    ท่านจะบรรยายลักษณะปรัชญาทางการเมืองของท่านสักหน่อยจะได้ไหม ?
ตอบ :   ปรัชญาทางการเมืองของข้าพเจ้าคือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย        เพราะว่า ประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์ ... ”
ปรีดีได้นิยามหลักการของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยด้วยว่า
“ ... ข้าพเจ้าจะตอบคำถามของท่านจากจุดยืนของผู้รักชาติตามหลัก 5 ประการของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย กล่าวคือ เอกราชของชาติ อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชน พร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน ... ”
และเมื่อปรีดีระบุว่า
“ ความคิดในทางอภิวัฒน์ของข้าพเจ้ามีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐกิจ”
หลักประการที่ 5 กล่าวคือ ความไพบูลย์ของประชาชน พร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชนจึงเป็นประเด็นความสนใจของเราในที่นี้
จุดกำเนิดแห่งแรงบันดาลใจทางเศรษฐกิจ
หากพลังทางปัญญาอันลึกซึ้งใด ๆ มักพบจุดกำเนิดแห่งตนในสิ่งที่ “ประทับรอยลึกไว้ในใจ” ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยคงต้องมีที่มาจากสิ่งที่ประทับรอยลึกในใจของปรีดี ซึ่งเราควรใส่ใจในที่นี้
หากเราติดตามชีวิตของบุรุษผู้นี้จนถึงเวลาที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ในปี 2471 เราอาจคิดไปได้ว่า เส้นทางชีวิตแห่งบุรุษผู้นี้คงไม่พ้นไปจากความเป็นชนชั้นนำในสังคม จากสามัญชนที่ค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่โครงสร้างดั้งเดิมของระบบราชการ นับเป็นการเตรียมเส้นทางแห่งการทำงานและการไต่เต้าเข้าสู่ฐานะและความสำเร็จที่บุรุษสามัญชน ผู้ดำรงชีวิตอยู่ชายขอบสังคมทั้งหลายคาดหวังมิใช่หรือ เราจะถือเอาเหตุผลในเรื่องนี้มาอธิบายได้หรือว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปรีดีมีเจตจำนง ที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองอันศักดิ์สิทธ์ของสยามก็เพื่อที่จะสถาปนาระบบเศรษฐกิจการเมืองที่อาจก่อภยันตรายในประเทศ ซึ่งยังมีลักษณะความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงอยู่
แน่นอนว่า ปรีดีในวัยหนุ่มย่อมได้รับรู้และสังเกตสภาวการณ์ที่เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในเขตชนบท ซึ่งได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก กล่าวคือ เป็นปัญหาที่มิได้มีสาเหตุมาจากสภาวะทางธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลมาจากความฉ้อฉลอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเองและเงื่อนไขทางการเมืองการปกครองอีกด้วย เมื่อต้องประสบกับปัญหาดังกล่าวด้วยตนเอง และกลายมาเป็นสิ่งที่ประทับลงในความทรงจำและปัญญาความคิด ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นแรงบันดาลใจอันสูงยิ่งให้แก่ปรีดีในวัยหนุ่ม ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงและเข้าแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งต้องนับว่า แรงบันดาลใจที่ว่านี้ได้มีขึ้นก่อนเวลาที่จะได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศในปี 2463 ด้วยซ้ำ
ควรกล่าวด้วยว่า วิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีการศึกษากันอยู่ในมหาวิทยาลัยปารีสนั้นได้สร้างความสนใจเป็นอย่างยิ่งแก่ปรีดี ด้วยเหตุที่เป็นความรู้ที่อาจตอบสนองแก่แรงบันดาลใจอันเกิดมาจากปัญหาเศรษฐกิจในแผ่นดินเกิดของตน ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดินทางกลับมายังประเทศพร้อมด้วยจิตสำนึกที่ก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ปรีดีจึงเป็นผู้ที่พร้อมแล้วต่อการลงมืออภิวัฒน์ เป็นการอภิวัฒน์ที่จะนำเพื่อนร่วมชาติทั้งหลายทั้งปวงออกจากความทุกข์ยาก อันเกิดแต่สภาพเศรษฐกิจ ไม่น้อยไปกว่าการกู้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากวิกฤตในช่วงเวลานั้น
คำนิยามและหลักการพื้นฐาน
ผู้นำการอภิวัฒน์ในปี 2475 ได้นิยามหลักสังคมนิยมว่าเป็น
“ลัทธิซึ่งสังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (Means of Production) และอำนวยให้สมาชิกของสังคมร่วมมือกันในการผลิต โดยได้รับปันผลและสวัสดิการอย่างเป็นธรรม”
คำอธิบายดังกล่าวดูเป็นลักษณะโดยทั่วไปและมิได้ให้ความกระจ่างต่อหลักสังคมนิยมของปรีดีที่อาจสืบย้อนไปได้จนถึงในปี 2475 เท่าใดนัก พอ ๆ กับความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในระหว่างแนวคิดสังคมนิยม - แม้ในประเทศตะวันตก - ด้วยกันเอง ก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหามิใช่น้อยทีเดียว ความคิดของปรีดีดังที่กล่าวนี้ ตกเป็นเป้าแห่งการโจมตีและการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะที่ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มที่อาจนำไปสู่หลักทฤษฎีมาร์กซิสต์ ปรีดีตอบด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนและหนักแน่นว่า
“ ไม่  ไม่  ไม่ ข้าพเจ้าได้บอกแล้วว่า ปรัชญาของข้าพเจ้าคือ 'สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย'  ถึงแม้ว่าถามมาร์กซ์ พูดอย่างนี้หรืออย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ต้องพิจารณาว่าเป็นจริง หรือเป็นไปตามสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยหรือไม่ สังคมนิยมมีอยู่หลายชนิด แม้ลัทธิมาร์กซ์ก็มีชนิดต่าง ๆ ... ข้าพเจ้ามีอิสระที่จะเลือกทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่สอดคล้องกับหลัก 5 ประการของเรา อย่างที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงมาแล้ว”
เมื่อทฤษฎีมาร์กซิสต์ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงแล้ว ความคิดทางเศรษฐกิจของปรีดีจึงอาจค้นพบร่องรอยที่สำคัญได้ก็แต่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติและคำอธิบายต่าง ๆ ที่ปรีดีได้ให้ไว้ ในขณะที่นำเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณา ปรีดีให้คำอธิบายโครงการดังกล่าวอย่างชัดเจนดังนี้ 
“ตามหลักของข้าพเจ้านั้น เป็นลัทธิหลายอย่างที่ได้คัดเลือกเอาที่ดีมาปรับปรุงให้สมกับฐานะของประเทศสยาม แต่เหตุสำคัญอาศัยหลักโซเซียลิสม์ ไม่ใช่คอมมูนิสต์ คือถือว่า มนุษย์ที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน  เช่นคนจนนั้น เพราะฝูงชนทำให้จนก็ได้  ... หรือคนที่รวยเวลานี้ ไม่ใช่รวยเพราะแรงงานของตนเลย ... ฉะนั้น จึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกัน และร่วมกันในการประกอบเศรษฐกิจ”
หลักฐานหลายประการแสดงให้เห็นว่า ความคิดทางเศรษฐกิจของปรีดีนั้นอาจสืบค้นร่องรอยได้ในหลักทฤษฎีสังคมนิยมในแนวความคิดแบบ “โซลิดาริสม์” ซึ่งปรากฏอยู่ในเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองซึ่งบรรยายระหว่างปี 2465 - 2469 โดยศาสตราจารย์ โอกุส เดส์ช็องร์ ณ มหาวิทยาลัยปารีส เราคงจะต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองในอันที่จะประเมินอิทธิพลของหลักการ “โซลิดาริสม์” แบบตะวันตกที่มีอยู่ในความคิดของผู้นำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ อย่างไรก็ดี ด้วยการตระหนักถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติที่ว่านี้นั่นเองที่เราอาจติดตามร่องรอยทางความคิดว่าด้วยสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย และพิจารณาในขณะเดียวกันว่า การเมืองในประเทศสยามในสมัยของปรีดีนั้น ได้ตอบรับการนำเสนอเค้าโครง ฯ ที่ว่านี้เช่นไร
การผลักดันให้เค้าโครง ฯ เกิดผลในทางปฏิบัติ
ในปี 2476 กล่าวคือ ปีต่อมาภายหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ปรีดีได้นำเสนอโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบใหม่ไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล เค้าโครง ฯ ฉบับนี้เป็นการผสานรูปแบบต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจที่สำคัญเข้าไว้ด้วยกัน อันจะส่งผลที่พึงประสงค์ทั้งในด้านการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมของประเทศ เจตนารมณ์ของปรีดีจึงแสวงหาการก้าวข้ามระบบที่เคยเป็นมาแต่เดิม และไปพ้นจากข้อจำกัดที่อาจมีอยู่ในโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจแบบเดิม
“ ... ถ้าเราคงทำตามแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะเราไม่ทำสาระสำคัญ คือแก้ความฝืดเคืองของราษฎร แบบที่เราต้องเดินนั้น ต้องเดินอย่างอาศัยหลักวิชา อาศัยแผน อาศัยโครงการวิธีโซเชียลลิสม์ เป็นวิธีวิทยาศาสตร์โดยแท้  รับรองความเห็นหม่อมเจ้าสกลว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ ไม่ใช่ Coup d’État เป็น Revolution ในทางเศรษฐกิจ ...”
แนวคิดที่ว่านี้ประสงค์จะให้รัฐเข้าจัดการกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ หากพิจารณาเค้าโครง ฯ ในเบื้องต้น  แม้จะดูเสมือนเป็นการให้รัฐมีบทบาทในการวางแผนทางเศรษฐกิจในทำนองเดียวกับประเทศโซเวียต แต่ความเข้าใจเช่นว่านี้หาใช่ความมุ่งหมายของปรีดีแต่อย่างใดไม่ ปรีดีได้ย้ำหลายครั้งหลายคราในเรื่องการสร้างสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจในแบบทุนนิยมและในแบบสังคมนิยม อีกทั้งประสงค์ที่จะให้รัฐมีบทบาทประการสำคัญในอันที่จะส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของราษฎรในรูปของการจัดตั้ง
“สหกรณ์”  ซึ่งปรีดีเรียกในเวลาต่อมาว่า “สหกรณ์สังคมนิยม”
ความก้าวหน้าอย่างมากของความคิดทางเศรษฐกิจในเค้าโครง ฯ ในสายตาของชนชั้นปกครอง - ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในรัฐบาล - ในขณะนั้น อีกทั้งข้อกล่าวหาในเรื่องการพยายามนำระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์มาใช้ เค้าโครง ฯ ซึ่งบัดนี้กลายมาเป็นประเด็นเร่งเร้าของฝ่ายปฏิกิริยาได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างสูงในทางการเมืองอันเป็นเหตุให้ผู้เสนอเค้าโครงจำต้องเดินทางออกนอกประเทศ ภายใต้เงื่อนไขและสภาวการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาตอบโต้การอภิวัฒน์ที่ได้ปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรก
เมื่อฝ่ายทหารของคณะราษฎรประสบผลสำเร็จในการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเดิม แม้จะได้มีโอกาสกลับเข้าประเทศ ปรีดีก็ยังคงตกเป็นเป้าหมายที่สำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งวางแผนเพื่อชิงอำนาจกลับคืนมา ในการนี้ มีความพยายามที่จะกระทำรัฐประหารแต่ถูกปราบปรามลงภายในเวลาอันรวดเร็ว นับได้ว่า เป็นความปราชัยครั้งที่สองของฝ่ายตอบโต้การอภิวัฒน์ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ปรีดีและเค้าโครง ฯ ที่ได้นำเสนอต่างต้องพบชะตากรรมที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ ปรีดียังคงอยู่ ในขณะที่เค้าโครง ฯ ต้องปลาสนาการออกไปจากสังคมไทย
หลังจากความปราชัยทั้งสองครั้ง ปฏิกิริยาและความเคลื่อนไหวของฝ่ายตอบโต้การอภิวัฒน์ดูเหมือนจะมิได้อยู่ในความทรงจำของชาวไทยแต่อย่างใด แต่สำหรับปรีดี กรณีย่อมต่างออกไป กล่าวคือเป็นความจริงที่ว่า หลังจากที่ได้เผชิญกับบททดสอบทางการเมืองที่มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งทางความคิด แม้ปรีดีจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม แต่ถึงกระนั้น ความทรงจำที่ได้รับจากบททดสอบดังกล่าวนี้หาได้ลบเลือนไปจากจิตสำนึก พอ ๆ กันกับที่ได้เพิ่มพูนประสบการณ์ในแง่ปัญญาและความคิดทางการเมืองให้แก่ปรีดีไม่น้อยเลย กล่าวคือ ปรีดีได้ตระหนักเป็นอย่างดีว่า สภาวการณ์ในขณะนั้น เพื่อนร่วมชาติทั้งหลายยังไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยมาเป็นเวลาอันยาวนาน หากกล่าวถึงเค้าโครง ฯ คงมิได้มีผู้ใดแม้แต่ปรีดีเองก็ตาม ที่จะคาดเดาอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้แม้ว่าภายหลังปี 2476 เป็นต้นมานั้น สิ่งที่เคยนำเสนอไว้ในเค้าโครงจะได้รับการนำมาปฏิบัติในบางส่วนก็ตาม คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินความจริงว่า เค้าโครง ฯ และหลักทางทฤษฎีของเค้าโครง ฯ ดังกล่าว ย่อมเป็นเสมือนมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญอันควรแก่ความใส่ใจและการศึกษาอย่างรอบคอบ

No comments:

Post a Comment