Saturday, February 20, 2010

คำถาม - ข้อโต้แย้งต่อความเห็นคตส.คดียึดทรัพย์76,000ล้าน:วัวกินหญ้า หรือคนกินหญ้ากันแน่?

โดย จาตุรนต์ ฉายแสง

ที่มา สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย

เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้แสดงความเห็นต่อกรณีคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาทไปว่า ผมคาดว่าคงมีการยึดทรัพย์ทั้งหมดด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ส่วน

ส่วนที่หนึ่งคือ รัฐธรรมนูญของไทยได้รับรององค์กรตรวจสอบที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร ทั้งยังรับรองให้กระทำการใดๆก็ได้แม้การกระทำนั้นจะผิดกฎหมายก็ตาม และระบบยุติธรรมของไทยก็ยอมรับการรัฐประหารและคำสั่งต่างๆของคณะรัฐประหาร

ส่วนที่สองคือ ได้มีการแสดงความเห็นในลักษณะชี้นำสังคมและการกดดันศาลโดยบุคคลสำคัญในรัฐบาล กลุ่มพันธมิตรฯและอดีตกรรมการคตส.อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ โดยใช้สื่อของรัฐบาลเพื่อการนี้อย่างเต็มที่

ที่ผมเสนอความเห็นไปนั้นก็เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐและผู้เกี่ยวข้องยุติการชี้นำสังคมเพื่อให้สังคมตัดสินไปก่อนการตัดสินของศาล และเลิกล้มการวางแผนปูทางไปสู่การปราบประชาชน

ขณะเดียวกันผมก็เรียกร้องให้ฝ่ายประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยืนยันการต่อสู้โดยสันติวิธีอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังไม่ให้เข้าทางฝ่ายรัฐบาล

ผมยังได้คาดการณ์ไว้ด้วยว่าผลการตัดสินคดีนี้ย่อมมีทั้งผู้ที่พอใจยินดีและไม่พอใจ หรือแม้แต่โกรธแค้น ซึ่งก็คงต้องช่วยกันเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีความอดทนอดกลั้น ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาอย่างสันติ

นอกจากนี้ผมก็คาดการณ์ว่าผลการตัดสินคดีนี้จะนำไปสู่การตั้งคำถามต่อระบบยุติธรรมของประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งทางที่ดีก็ควรส่งเสริมให้มีการศึกษา วิพากษ์วิจารณ์อย่างเต็มที่ เพื่อสังคมไทยจะได้หาทางปรับปรุงระบบยุติธรรมของประเทศให้เกิดความยุติธรรม

ถึงวันนี้ผมก็ยังคาดการณ์อย่างเดิม แม้ว่าจะอยากให้คาดผิดอย่างที่เคยพูดไว้แล้วนั่นเอง

การคาดการณ์และวิเคราะห์ทั้งหมดที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้ไม่ได้เกิดจากการศึกษาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายของคดีนี้เท่าไรนัก ส่วนใหญ่เป็นการวิเคราะห์จากการติดตามพฤติกรรมของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเสียมากกว่า

เมื่อปรากฏว่าการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคดีนี้สามารถกระทำได้ทั่วไป ผมจึงเห็นว่าควรจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีนี้เพิ่มเติม เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยเฉพาะผู้สนใจบ้างตามสมควร

ในการแสดงความเห็นนี้ ผมไม่ประสงค์จะอธิบายอะไรแทนใคร และไม่ประสงค์จะตอบคำถามหรือเสนอข้อสรุปว่าควรจะเป็นอย่างไร แต่จะขอตั้งคำถามและเสนอปัญหาให้ผู้สนใจช่วยกันคิดต่อไป

ทรัพย์สิน 76,000 ล้านบาทนี้ ตามกฎหมายไม่ใช่ทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นของผู้อื่น คือน้องสาวและลูกซึ่งมิใช่ข้าราชการการเมือง คตส.อาศัยเหตุผลอะไรในการยึดเป็นของรัฐ

หากจะใช้เหตุผลว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซุกหุ้นโดยถือว่าหุ้นทั้งหลายนั้นแท้จริงเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ พ.ต.ท.ทักษิณก็จะมีความผิด ๒ ประการคือ ๑).ทำผิดข้อห้ามที่ไม่ให้รัฐมนตรีถือหุ้น และ ๒).จงใจปกปิดไม่แสดงบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้อง

สมมุติว่าผิดทั้งสองข้อจริง ก็ไม่มีกฎหมายข้อไหนให้ยึดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณได้

ที่ผ่านมามีรัฐมนตรีในหลายรัฐบาลถือหุ้นอันเป็นการขัดต่อข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็เห็นเพียงแค่ทำให้รัฐมนตรีเหล่านั้นขาดคุณสมบัติไป ไม่มีการลงโทษอย่างอื่น หากรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องการที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งอีก ก็สามารถกระทำได้โดยไม่ขาดคุณสมบัติแต่อย่างใดด้วย

ส่วนรัฐมนตรีที่จงใจปกปิดทรัพย์สินก็มีมาแล้วหลายคน ผลก็คือต้องพ้นจากตำแหน่งไป และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา ๕ ปี

แต่ในทั้งสองกรณีไม่มีใครถูกยึดทรัพย์

คตส.กล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณใช้นโยบายเอื้อประโยชน์

ข้อกล่าวหานี้มีคำถามหลายอย่าง การดำเนินนโยบายเหล่านั้นเป็นไปโดยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ที่ว่าเอื้อประโยชน์นั้นเอื้อแก่ใครบ้าง เอื้อเป็นการทั่วไปหรือเอื้อเฉพาะราย ทำให้รัฐเสียประโยชน์จริงหรือไม่ ใครควรเป็นผู้วินิจฉัยว่าการใช้นโยบายเหล่านั้นดีหรือไม่ดี และการดำเนินนโยบายเหล่านั้นใครควรเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย นายกฯคนเดียวหรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ และสมมุติว่าผิดกฎหมายจริง มีบทลงโทษให้ยึดทรัพย์ทั้งหมดเป็นของรัฐหรือไม่

ดูจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายต่างๆนั้นไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การออกพรก.ซึ่งมีการร้องค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วและศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยมาแล้วว่าสามารถออกได้โดยไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

การตกลงให้เงินกู้แก่ต่างประเทศก็เป็นไปตามมติครม. ซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้ให้ทำได้

ปัญหาที่เหลือในส่วนนี้คือ เป็นการเอื้อประโยชน์หรือทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ เสียประโยชน์เท่าไร และถ้าเอื้อประโยชน์หรือทำให้รัฐเสียประโยชน์ เอื้อประโยชน์ไปเท่าไร ทำให้รัฐเสียประโยชน์ไปเท่าไร และจะเรียกค่าเสียหายกันอย่างไร

กรณีเอื้อประโยชน์ในการให้ต่างประเทศกู้เงินนั้น เมื่อเป็นการกู้ก็ย่อมมีสัญญากู้เงิน มีการชำระดอกเบี้ยและเงินต้น ต้องถามว่ามีการชำระหรือไม่ ทวงหนี้ได้หรือไม่ หนี้เสียไปเท่าไร

ถึงแม้หนี้สูญไปทั้งหมด ๔,๐๐๐ ล้านบาท ก็ควรจะเรียกเงินชดเชยเอากับผู้ทำให้เกิดความเสียหาย แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบความเสียหาย จะเอามาเป็นเหตุในการยึดทรัพย์ทั้งหมดไปได้อย่างไร

ส่วนเรื่องการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นภาษีสรรพสามิตนั้น ดูเหมือนจะมีข้อโต้แย้งทั้งในเชิงหลักการและข้อเท็จจริงว่าทำให้รัฐเสียประโยชน์จริงหรือไม่ และทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจจริงหรือไม่ ประเด็นนี้ผมไม่ขอวิจารณ์ในที่นี้ เพียงแต่อยากให้มีการรับฟังความเห็นของฝ่ายที่เขาชี้แจงกันมากกว่าที่เป็นอยู่เท่านั้น

ประเด็นที่ผมจะเสนอเกี่ยวกับการเปลี่ยนระบบสัมปทานมาเป็นการเก็บภาษีสรรพสามิตก็คือ การตัดสินใจว่าจะใช้ระบบใด จะเก็บภาษีหรือไม่ จะเก็บมากหรือน้อย รัฐจะเก็บภาษีมากหรือน้อย เป็นปัญหานโยบายไม่ใช่หรือ ทั่วโลกเขาถือเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่ใช่หรือ ความรับผิดชอบต่อเรื่องเช่นนี้ เมื่อไม่เป็นการผิดกฎหมาย แท้จริงแล้วย่อมเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองที่รัฐบาลพึงมีต่อสภาและต่อประชาชน กระบวนการที่พึงตรวจสอบเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้นนี้ จึงควรเป็นรัฐสภาและประชาชน

ถึงแม้ว่าเป็นไปโดยผิดกฎหมายและให้รัฐเสียประโยชน์จริง ก็ต้องลงโทษทางอาญาและให้ชดเชยความเสียหาย ไม่สามารถใช้เป็นเหตุผลในการยึดทรัพย์ได้อยู่ดี

คำถามที่คนจำนวนมากยังสงสัยอยู่ก็คือ แล้วคตส.อาศัยข้อกล่าวหาและเหตุผลอะไรมาใช้ในการเสนอให้ยึดทรัพย์ทั้งหมด 76,000 ล้านบาท

คตส.บอกว่าเขาเห็นว่าทรัพย์สินนี้แท้จริงแล้วเป็นของ พตท.ทักษิณ ที่โอนให้ลูกและน้องนั้นไม่ได้โอนขาด แต่เป็นการอำพรางว่าโอน

คตส.ไม่ได้เล่นงานเรื่องถือหุ้นหรือซุกหุ้น ไม่เปิดเผยทรัพย์สิน แต่กล่าวหาว่าพ.ต.ท.ทักษิณในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ทำให้ทรัพย์สินของตนนั้นมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งเป็นการทำให้ “ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร”

ถือว่าเป็น “การร่ำรวยผิดปกติ”

เมื่อร่ำรวยผิดปรกติ ก็สามารถใช้กฎหมายว่าด้วยการร่ำรวยผิดปรกติมายึดทรัพย์ได้ ธรรมดาข้อหาร่ำรวยผิดปรกติเป็นเรื่องที่ต้องดูว่าทรัพย์สินส่วนไหนที่ไม่สามารถแสดงที่มาได้ ก็ต้องยึดส่วนนั้น

แต่กรณีนี้ถือว่าเมื่อทรัพย์นี้ “ได้มาโดยไม่สมควร” ก็ต้องยึดเสียทั้งหมด โดยไม่ต้องคำนวณว่าเดิมมีอยู่เท่าไร และที่เพิ่มมาโดยชอบและไม่ชอบเป็นเท่าไร

ทฤษฎี “วัวกินหญ้า” ก็เข้ามาเกี่ยวข้องตรงนี้

เขาบอกว่าเมื่อมีคนเอาวัวไปกินหญ้าของทางการจนอ้วน ก็ต้องยึดวัวทั้งตัวนั้นเป็นของทางการ

การใช้เหตุผลในประเด็นนี้มีปัญหามากกว่าประเด็นที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เพราะเป็นประเด็นเดียวที่ใช้เป็นเหตุผลในการยึดทรัพย์ทั้งหมดในครั้งนี้

รัฐธรรมนูญห้ามรัฐมนตรีถือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานของรัฐ เพราะฉะนั้นใครที่มีหุ้นแบบนี้อยู่ก่อนมาเป็นรัฐมนตรี ก็ต้องขายหรือโอนให้คนอื่นไปเสีย รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามโอนให้ลูกที่บรรลุนิติภาวะแล้วหรือญาติพี่น้อง

เมื่อโอนให้ลูกและน้องไม่ผิดกฎหมาย การตามไปดูว่าโอนให้กันอย่างไร ซื้อขายกันในเวลาต่อมาในราคาอย่างไร อย่างที่คตส.นำมากล่าวหานั้น ต้องถือว่าเป็นปัญหาโลกแตก จะจับผิดใครในกรณีทำนองเดียวกันก็ได้ทั้งนั้น ที่ถูกก็จะกลายเป็นผิดได้หมด

เช่นที่บอกว่ามีการขายให้กันในราคาถูกผิดปกติ หรือพ่อยังใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่อยู่ในชื่อของลูกได้ แสดงว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของลูกจริง แต่ยังเป็นของพ่ออยู่

ใช้บรรทัดฐานอย่างนี้เท่ากับไม่คำนึงถึงความเป็นพ่อลูกเลยแม้แต่น้อย

ถ้าใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ สมมุติว่าทรัพย์สินนั้นเป็นรถยนต์สักคันหนึ่ง พ่อซื้อให้ลูก จดทะเบียนในชื่อลูก ต่อมาพ่อไม่มีรถใช้หรือไม่ชอบรถของตัวเอง ก็ขอยืมรถลูกมาใช้เรื่อย แถมขอให้ลูกมาช่วยขับรถให้ทุกวันด้วย ลูกก็ไปขับรถของตนเองให้พ่อนั่งทุกวัน ไม่ได้ใช้สำหรับตัวเองเลย มีปัญหาขึ้นมาว่ารถนี้เป้นของใคร ถ้าใช้หลักเกณฑ์ของคตส.ที่ใช้ในเรื่องหุ้น ก็คงต้องสรุปว่ารถคันนี้เป็นของพ่ออยู่ ใครจะมายึดทรัพย์พ่อ ก็คงสามารถยึดรถคันนี้ได้ด้วย หลักกฎหมายที่จะใช้พิจารณาว่าทรัพย์สินใดเป็นของใคร และจะกลายเป็นของใครเมื่อใดก็คงสับสนไปหมด

ส่วนการตีขลุมเอาดื้อๆว่า เมื่อมีการใช้นโยบายเอื้อประโยชน์แล้วไม่ต้องพิจารณาเลยว่าเอื้อประโยชน์ไปเท่าไร ทำให้รัฐเสียประโยชน์ไปเท่าไร และทำให้ทรัพย์สินที่มีอยู่เดิมเพิ่มขึ้นเท่าไร โดยการถือว่าทั้งหมดเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร แล้วสนับสนุนโดยใช้ทฤษฎีวัวกินหญ้านั้น ใครๆก็รู้ว่าเป็นการยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่เลอะเทอะที่สุด

สมมุติว่ามีวัวอยู่ฝูงหนึ่งมีราคารวมกันสัก ๑ ล้านบาท ไปกินหญ้าในหมู่บ้านเสียเรียบ สมมุติว่ากินหญ้าของทางราชการไปด้วยก็ได้ แต่ถ้าปรากฏว่าหญ้าที่วัวกินไปนั้นมีมูลค่ารวมกันคำนวณได้ประมาณ ๑ หมื่นบาท ถามว่าควรจะทำยังไงกับเจ้าของวัว จะยึดวัวทั้งฝูงได้หรือ จะถือว่าวัวเป็นเครื่องมือในการกระทำผิดจึงต้องยึดเสียทั้งหมดได้หรือ

ทฤษฎีวัวกินหญ้าจึงเหมาะที่จะเป็นคำอธิบายของผู้ที่กินหญ้าเป็นอาหารเสียมากกว่า

ดูข้อกล่าวหาและเหตุผลของคตส.แล้ว จะเห็นว่าเป็นการจับแพะชนแกะเสียมากกว่าการอาศัยข้อกฎหมายที่มีเหตุผล หรือยึดหลักความยุติธรรมใดๆ

ถือว่าเป็นการกล่าวหาที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง

ข้อกล่าวหาและเหตุผลของคตส.นี้นอกจากขัดต่อหลักนิติธรรมและไม่ยุติธรรมแล้ว ยังจะทำให้เป็นปัญหาต่อหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องสำคัญดังนี้ ข้อกล่าวหาและเหตุผลของคตส.มีความหมายเท่ากับการห้ามรัฐมนตรีโอนหุ้นให้ลูกหรือญาติพี่น้อง ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามไว้นั่นเอง

มีความหมายว่า ความที่ว่าคณะรัฐมนตรีย่อมรับผิดชอบร่วมกันในการบริหารราชการ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

มีความหมายว่าผู้ใดจะร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่ามีทรัพย์สินเดิมอยู่เท่าใด ไม่จำเป็นต้องดูว่าสามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ แต่หากทางการเห็นว่าได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยไม่สมควรแม้เพียงบางส่วน ก็สามารถยึดทรัพย์นั้นทั้งหมดได้ รวมทั้งทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย และที่เคยถูกตรวจสอบว่าถูกกฎหมายมาแล้วด้วย

มีความหมายว่าบุคคลหรือบริษัทเอกชนอาจถูกลงโทษถึงขั้นยึดทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์โดยชอบของตนตามกฎหมายเนื่องจากการกระทำผิดของผู้อื่น มาถึงตรงนี้ก็นึกถึงความเห็นที่ได้ยินอยู่บ่อยๆในช่วงนี้คือ หากยึดทรัพย์นี้มาได้หมด แล้วเอามาแบ่งให้ประชาชนทั้งประเทศก็ดีเหมือนกัน เพราะคงได้คนละเป็นพันบาท บางคนก็ว่าการเอาทรัพย์คนรวยมาช่วยคนจนเป็นเรื่องไม่บาป เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ

ความเห็นนี้ฟังดูเผินๆก็เข้าทีดีอยู่หรอก คนเดือดร้อนก็มีแค่ครอบครัวเดียว แต่สังคมไทยไม่ควรลืมว่านี้เป็นความคิดแบบคอมมิวนิสต์ ที่แม้แต่ประเทศที่นิยมในลัทธินี้ก็ไม่ทำกันมานานแล้ว

พิจารณาจากข้อกล่าวหาและเหตุผลของคตส.แล้ว เรื่องคดียึดทรัพย์นี้อาจมีผลทำให้มีคนเดือดร้อนเพียงครอบครัวเดียวก็จริง แต่ความเสียหายอื่นที่อาจจะตามมาก็คือ ผลกระทบอย่างใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นกับความเชื่อถือต่อระบบยุติธรรมของประเทศไทย และความขัดแย้งแตกต่างทางความคิดในสังคมไทยอาจจะมากยิ่งกว่าครั้งใดๆที่ผ่านมา

สังคมไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมรับกับสภาพการณ์เช่นนี้ วิธีป้องกันมิให้ปัญหาบานปลายและทางออกที่ดีก็คือ เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ใช้เหตุผลแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะหาทางทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย

และทำให้ระบบยุติธรรมของประเทศนี้มีความยุติธรรมจริงๆได้โดยสันติวิธี

Wednesday, February 10, 2010

ใจ อึ๊งภากรณ์ ครบ1ปีลี้ภัยอังกฤษ:ผู้หนีคดีตัวจริงไม่ใช่ผม

โดย : ใจ อึ๊งภากรณ์

วันนี้คือวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่ผมต้องเดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อลี้ภัยทางการเมืองในอังกฤษ

ผมต้องลี้ภัยเพราะในประเทศไทยไม่มีมาตรฐานความยุติธรรม มีการใช้กฎหมายเผด็จการเช่นกฎหมายหมิ่นเดชานุภาพฯ ซึ่งนำไปสู่การพิจารณาคดีในศาลเตี้ยที่ปิดลับไม่มีความโปร่งใส และมีการใช้อำนาจทหารและอำนาจนอกรัฐธรรมนูญในการทำลายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

ผมโดนคดีหมิ่นเดชานุภาพฯ เพราะผมเขียนหนังสือวิชาการชื่อ A Coup for the Rich (“รัฐประหารเพื่อคนรวย”) ที่ประณามการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา และตั้งคำถามว่าทำไมกษัตริย์ภูมิพลไม่ปกป้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ผมอธิบายว่าพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร ๑๙ กันยาทั้งหมด ดูหมิ่นดูถูกคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมว่า “โง่”บ้าง “ไม่เข้าใจประชาธิปไตย”บ้าง หรือ “ถูกซื้อไปจนอยู่ในระบบอุปถัมภ์”บ้าง

ลักษณะหนึ่งของกฎหมายหมิ่นเดชานุภาพฯ ที่ขัดกับมาตรฐานยุติธรรมสากลคือ การพูดหรือเขียนความจริงยังถือว่า “ผิด” ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมอำมาตย์ไม่เคยพิสูจน์ได้เลยว่าผมโกหกหรือหมิ่นประมาทใครได้

อย่างไรก็ตามอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นักวิชาการเสื้อเหลือง และสุนัขรับใช้อำมาตย์ในสื่อ ก็พยายามเสนอว่า “ใจหนีคดี” เขาเสนอด้วยว่า คุณจักรภพ เพ็ญแข “หนีคดี” กฎหมายหมิ่นฯ เหมือนกัน ....

แต่ใครในสังคมไทยหนีคดีกันแน่?

พวกหนีคดีตัวจริง ไม่ต้องลี้ภัยการเมืองอยู่นอกประเทศ เพราะเขาใช้อำนาจเถื่อนในการทำลายประชาธิปไตย ระบบยุติธรรม และตั้งตัวเป็นใหญ่ เพื่อไม่ให้มีคดี แต่คนเหล่านี้ต้องถือว่าเป็นพวกหนีคดีตัวร้ายสุด

สนธิ บุญยรัตกลิน และแก๊งทหาร คมช. ทั้งหมด หนีคดี “กบฏต่อประชาชน ผู้ที่ควรจะครองอำนาจอธิปไตย” เพราะทำรัฐประหารผิดกฎหมายและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง นอกจากนี้เขาหนีคดี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” และ”การใช้อำนาจเกินหน้าที่” เพราะทำรัฐประหารด้วยงบประมาณสาธารณะ แล้วแต่งตั้งตัวเองและพรรคพวกไปหากินในรัฐวิสาหกิจ และมีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับ คมช. ที่ระบุว่าต้องเพิ่มงบประมาณทหารอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ซึ่งเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรม

สุรยุทธ์ จุลานนท์ หนีคดี “การใช้ความรุนแรงต่อประชาชนเพื่อปกป้องเผด็จการในเหตุการณ์พฤษภา๒๕๓๕” และเขาหนีคดี “บุกรุกอุทยานแห่งชาติ”

นาย(เซ็นเซอร์)หนีคดีจากการตายของพี่ชาย เพราะอยู่ในเหตุการณ์ มีส่วนรู้เห็น แต่ไม่พูดความจริง และจงใจปล่อยให้ผู้บริสุทธิ์ถูกประหารชีวิต เขาหนีคดี “รวยผิดปกติ” เพราะทั้งๆ ที่ไม่เคยทำงานเลี้ยงชีพ ได้สะสมความร่ำรวยมหาศาล จนรวยกว่า...อื่นใดในโลก และเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศไทย

ทั้งหมดอันเนื่องมาจากการถือตำแหน่งสาธารณะในการเป็น(เซ็นเซอร์) นอกจากนี้เขาหนีคดี “ละเลยหน้าที่” เพราะไม่ยอมปกป้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยทั้งๆ ที่เป็น(เซ็นเซอร์)

เปรม ติณสุลานนท์ หนีคดี “การใช้ตำแหน่งในทางที่ผิด” ยังอาศัยในบ้านพักราชการทั้งๆ ที่เกษียณไปแล้ว หนีคดี “การตั้งตัวเป็นนายกโดยไม่มาจากการเลือกตั้ง” ซึ่งถือว่าผิดหลักรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และมี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” เพราะใช้ตำแหน่งสาธารณะเพื่อรับตำแหน่งธุรกิจต่างๆ และสะสมความร่ำรวย นอกจากนี้ “ละเลยหน้าที่” เพราะไม่ให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับกษัตริย์เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญปี ๔๐ และประชาธิปไตย

สนธิ ลิ้มทองกุล จำลอง ศรีเมือง สมศักดิ์ โกศัยสุข พิภพ ธงไชย สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ วีระ สมความคิด สุริยะใส กตะศิลา กษิต ภิรมย์ และแก๊งอันธพาลของพันธมิตรฯทั้งหมด หนีคดีการใช้ความรุนแรงบุกรุกทำเนียบรัฐบาล การชักชวนให้คนใช้อาวุธท่ามกลางกรุงเทพฯ การก่อการร้ายที่สนามบิน การสนับสนุนรัฐประหารผิดกฎหมาย และการประพฤติตัวเลวร้ายอันก่อให้เกิดความไม่สงบที่ชายแดนเขมร

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณ์ จาติกวณิช สุเทพ เทือกสุบรรณ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย หนีคดี “การสนับสนุนรัฐประหารผิดกฎหมาย” “การโกหกพูดจาเท็จ”ในขณะดำรงตำแหน่งทางการเมือง “การขึ้นมามีอำนาจโดยวิธีที่ขัดกับประชาธิปไตย” “การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการพูด เขียนและแสดงออก” ซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล และ “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” เพราะคนรวยเหล่านี้ได้ประโยชน์ส่วนตัวจากการทำลายรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยที่เคยช่วยคนจน

นอกจากนี้นักการเมืองดังกล่าวมีส่วนในการ “ฆ่าประชาชนในเหตุการณ์เมษาเลือด”

ส่วนเนวิน ชิดชอบ หนีคดี “การก่อตั้งแก๊งอันธพาล”เสื้อน้ำเงิน ฯลฯ

นักวิชาการเสื้อเหลืองและนักเอ็นจีโอที่สนับสนุนรัฐประหารผิดกฎหมายด้วยการแก้ตัวแทนทหาร หนีคดี “การช่วยทำลายประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญโดยกบฏต่อประชาชน” นอกจากนี้เขาหนีคดี “หมิ่นประมาทประชาชน”ว่า “โง่” “เข้าไม่ถึงข้อมูล” ฯลฯ และหลายคนหนีคดี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” เพราะการเลียก้นทหาร คมช. ของพวกเขาเปิดโอกาสให้เขาได้ตำแหน่งและรับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ในกลุ่มนี้ต้องรวมทุกคนที่รับตำแหน่งและเงินเดือนในรัฐบาลเถื่อนของ คมช. และรัฐสภา วุฒิสภา และสภาร่างรัฐธรรมนูญเถื่อนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย

สื่อกระแสหลักที่ประโคมข่าวเท็จอย่างต่อเนื่อง ก็หนีคดี “หมิ่นประมาท” คนเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเงินไปฟ้องพวกหน้าโกหกเหล่านี้

นอกจากนี้พวกหนีคดีมีอีกมากมาย รวมถึงนักการเมือง นายทหารชั้นสูง และตำรวจชั้นสูง ที่ควรจะถูกนำมาขึ้นศาลกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดภาคใต้ การฆ่าทนายสมชาย การจ้างมือปืนฆ่านักเคลื่อนไหวชาวบ้าน การฆ่าประชาชนในสงครามยาเสพติด หรือในกรณีพฤษภา ๒๕๓๕ ในกรณี ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ อีกด้วย และคงต้องรวมถึงนายทุนใหญ่ที่ปล่อยให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงในโรงงาน เช่นไฟไหม้ที่เคเดอร์เป็นต้น

ลองเปรียบเทียบความผิดของพวกหนีคดีตัวจริง กับสิ่งที่ผม คุณจักรภพ หรือคุณดา ทำ แล้วจะเห็นว่าในไทยไม่มีมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด

วันหนึ่ง เมื่อเรามีประชาธิปไตยแท้ เราจะต้องนำพวกหนีคดีแท้จริง มาขึ้นศาลให้หมด

และให้ประชาชนธรรมดาเป็นลูกขุนในการพิจารณาคดี แทนผู้พิพากษาที่ไม่มีคุณธรรม(ซึ่งล้วนแต่หนีคดีการละเลยหน้าที่ในกระบวนยุติธรรม)

ใครจะล้ม?

โดย: จักรภพ เพ็ญแข
2 กุมภาพันธ์ 2553

สมัยก่อนเขาใช้ข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์มาใส่ร้ายป้ายสีทางการเมือง เพื่อทำลายศัตรูคู่แข่งหรือคนที่ตัวคิดว่าเป็นภัยคุกคาม เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนไปใช้ข้อกล่าวหาว่าจะ “ล้มเจ้า” มาทำลายแทน

เพื่อสื่อสารว่ามีคนคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นในเมืองไทย

แล้วก็แจ้งความ กล่าวหา ส่งสำนวน และสั่งฟ้องกันให้ชุลมุนไป ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เมื่อมวลชนใส่เสื้อเหลืองปรากฏตัวขึ้นอย่างดุดันก้าวร้าว มุ่งโค่นล้มรัฐบาลของฝ่ายประชาชนอย่างเป็นระบบและมีแรงสนับสนุนที่ดียิ่ง

จนต่อมามีการจับกุมคุมขังเกิดขึ้นหลายสิบรายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศตามการจุดชนวนนั้น

โชคดีที่การรณรงค์ของระบอบคอมมิวนิสต์ในระดับโลกสิ้นสุดลงไปพร้อมกับสงครามเย็น แต่น่าสนใจว่าข้อหาคอมมิวนิสต์ใหม่คือ “ล้มเจ้า” จะไปจบลงตรงไหน เนื่องจากเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน กรณีคอมมิวนิสต์มีที่มาของเรื่องที่ชัดเจนและเป็นปรากฏการณ์ในหลายประเทศทั่วโลก แต่กรณีหลังขาดทั้งความชัดเจนทางกฎหมายและมีลักษณะครอบงำทางสังคมจนไม่ต้องถามเหตุผล

ที่สำคัญคือเป็นปรากฏการณ์เฉพาะตัวของเมืองไทยที่สังคมโลกกำลังจับตามองอย่างสงสัย

สถาบันพระมหากษัตริย์มีอยู่ในหลายประเทศ แต่ไม่ปรากฏว่าประเทศใดยกเรื่องนี้ขึ้นมาไล่ล่าขับเคี่ยวกันอย่างนี้

หลายประเทศไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแปลว่ากระไร ยกเว้นฝรั่งเศส ซึ่งก่อการปฏิวัติประชาชนโค่นล้มกฎหมายประเภทนี้โดยตรง เราจึงรับมรดกเก่าๆ ของเขามาเรียกกันว่า les majesty

แต่เอาเถิด เมื่ออุตส่าห์ขุดค้นมาใช้งานกันถึงขนาดนี้แล้ว ตั้งวงคุยกันสักหน่อยไม่เสียหายอะไรไปมากกว่านี้หรอกครับ

สิ่งสำคัญอย่างยิ่งในสถาบันพระมหากษัตริย์ของทุกประเทศทั่วโลกคือ "พระราชอำนาจ"

พระราชอำนาจนั้นมีหลายทาง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอำนาจทางการเมือง ซึ่งรวมทั้งพิธีการและงานเฉพาะกิจอย่างสงคราม อำนาจทางสังคม และอำนาจทางวัฒนธรรม ส่วนอำนาจทางเศรษฐกิจนั้นไม่มีมากนักในสถาบันกษัตริย์ของโลก

ข้อกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงแปลว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำการที่ถือว่าหมิ่นอานุภาพอันล้นพ้นและยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน

การหมิ่นพระราชอำนาจจึงเป็นหัวใจของเรื่อง

แต่คนที่มุ่งทำลายศัตรูเพื่อหวังผลทางการเมือง เขานำข้อกล่าวหาเรื่องการหมิ่นพระราชอำนาจมาขยายจนเป็นการล้มเจ้าหรือทำให้คนทั่วไปคิดไปถึงขนาดนั้น

คนละเรื่องกันแท้ๆ ก็เอามาคลุกเคล้ากันจนเกิดความเสี่ยงต่อสถาบันเอง ตามคำโบราณว่าเสี่ยงพระมหากษัตริย์

ข้อกล่าวหาว่า “ล้มเจ้า” หมายความว่ามีขบวนการอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำงานยึดโยงกันเป็นหมู่คณะ มีแผน มีหน่วยปฏิบัติการอะไรต่างๆ มากมาย แม้กระทั่งอาวุธยุทโธปกรณ์ ฟังดูน่ากลัวยิ่งนัก

แต่ผู้ที่ถูกกล่าวหา ถูกไล่ล่า และถูกจับกุมแต่ละราย กลับเป็นบุคคลเดี่ยวๆ ที่กระทำการต่างกรรมต่างวาระกันอย่างชัดเจนไม่มีความเชื่อมโยงกัน

หากขบวนการอย่างนี้มีจริง และผู้ที่มีหน้าที่ที่อ้างความจงรักภักดีทั้งหลายไม่นำออกมาให้สังคมได้เห็นเป็นประจักษ์ ก็เท่ากับว่าผู้ที่ขยันกล่าวหาคนอื่นนั่นเองที่เป็นตัวการสำคัญในเรื่องนี้ เพราะละเว้นไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญ

ส่วนข้อเสวนาเรื่องพระราชอำนาจนั้น มีความสำคัญต่ออนาคตของบ้านเมืองอย่างที่สุด เพราะจะนำไปสู่ทางออกทางการเมืองหรือจะสร้างปัญหายิ่งไปกว่านี้ก็ได้

พระราชอำนาจมิใช่สิ่งที่ทรงใช้โดยพระมหากษัตริย์เท่านั้น ยังมีผู้ที่ใช้พระราชอำนาจอย่างที่เรียกว่าทำหน้าที่ในพระปรมาภิไธยอีกเป็นจำนวนมากในเมืองไทย เช่น ตุลาการผู้ขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่ “ศาล” ผู้มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการระดับสูง องคมนตรี เป็นต้น

แม้กระทั่งพระบรมวงศานุวงศ์และคนทั่วไปที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนพระองค์ในบางกรณี ก็ใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่ในห้วงเวลานั้นๆ

รวมความแล้วพระราชอำนาจของกษัตริย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ

อำนาจรัฐคือเงื่อนไขสำคัญที่บอกเราว่า จะเขียนรัฐธรรมนูญและบังคับใช้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในรัฐ

รัฐธรรมนูญคือสิ่งที่ระบุว่าคนทุกๆ คนในรัฐนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่น กษัตริย์กับราษฎร เจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน ข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน สิทธิและหน้าที่ของปัจเจกบุคคล เป็นต้น

ข้อเสวนาในเวลาอันควรเพื่อให้ประเทศชาติอยู่รอดได้ จึงต้องเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะสามปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดการกล่าวอ้างพระราชอำนาจหรือแม้แต่สงสัยกันว่าแอบอ้างพระราชอำนาจบ่อยครั้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

จริงหรือปลอมก็ถือว่ามีผลกระทบในทางลบทั้งนั้น เพราะการเมืองที่แล้วมาสามปีเป็นแบบ “ขวาพิฆาตประชาธิปไตย” ใครรับอุปถัมภ์ไว้เป็นซวยทุกคน ไม่ว่าหน้าไหนทั้งนั้น

จึงขอเตือนมายังคนที่ชอบกล่าวหาคนอื่นเรื่อง “ล้มเจ้า” ว่า หากเจตนาคือการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ จงหยุดการกระทำเช่นนี้ในทันที แต่ถ้าเจตนาเร้นลับคือการทำให้สถาบันฯ เสียหาย ก็ขอให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ พิจารณาโดยใช้สติปัญญาอย่างแยบคาย หรือ โยนิโสมนสิการ

ขนาดยอมให้โจรมาจัดงานที่เรียกว่ามหามงคล จะช่วยเสริมหรือทำให้ทรุด ใช้พุทธปัญญากันเอาเอง.