<
มาถึงตอนที่สามแล้ว สำหรับชีวะประวัติของ มาร์กซ ก็ต้องขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ กลุ่มเชียงใหม่เลี้ยวซ้ายที่ยังเป็นกำลังใจให้ โดยเฉพาะ
คุณ X-112 ที่ยังยืนอยู่บนอุดมการณ์เดียวกันอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าจะมีอุปสรรค อยู่บ้าง แต่..มีวลีอมตะอันหนึ่งของ
อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐ ที่กล่าวไว้ว่า "ข้าพเจ้าเป็นคนเดินช้า แต่ไม่เคยเดินถอยหลัง” น่าจะเป็นวลีอมตะ อันหนึ่งที่จะฝากไปยังพี่น้องที่กำลังต่อสู้และโหยหา เสรีภาพอย่างแท้จริง
DJ.1>
จากไรน์แลนด์สู่ปารีสสำหรับมาร์กซ
อาชีพนักหนังสือพิมพ์ได้กลายเป็นช่องทางในการดำรงชีพ เพราะทางบ้าน มารดาไม่เห็นด้วยอย่างมากกับแนวทางการดำเนินชีวิตของเขา และยุติการส่งเงินให้เขาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๒ มาร์กซจึงทุ่มเทมากขึ้นให้กับการทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไรน์ (Rheinische Zaitung) แต่ในอีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์ไรน์ได้กลายเป็นหนังสือพิมพ์เล่มสำคัญที่มาร์กซใช้เผยแพร่แนวคิดที่ก้าวหน้า โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการปฏิวัติประชาธิปไตย เพื่อลดการเพ่งเล็งจากทางการรัฐบาลท้องถิ่นไรน์แลนด์ มาร์กซยอมตกลงที่จะลดการวิพากษ์ศาสนาลง แล้วใช้หน้าหนังสือพิมพ์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นหลัก ในเงื่อนไขที่ปรัสเซียและรัฐเยอรมันส่วนใหญ่ ยังอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีระบอบรัฐสภาแบบประชาธิปไตย และไม่มีการประกันสิทธิทางการเมืองของประชาชน
นอกจากนี้ เมื่อมาร์กซเข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ไรน์ถูกโจมตีจากหนังสือพิมพ์ออกสเบิร์กที่เป็นคู่แข่งว่า เป็นเอกสารคอมมิวนิสต์ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเร่งเร้าให้รัฐบาลปิดหนังสือพิมพ์นี้ สืบเนื่องจากการที่หนังสือพิมพ์ไรน์ลงข่าวการเคลื่อนไหวของกลุ่มสังคมนิยมของฟูริเอร์ ซึ่งเปิดประชุมที่เมืองสตาร์บูร์ก ในฝรั่งเศส ทั้งนี้เพราะแนวคิดสังคมนิยมของชาร์ล ฟูริเออร์ (Charles Fourier) กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในสมัยนั้น โดยเฉพาะแนวคิดในการสร้างชุมชนอุดมคติที่เรียกว่า ฟาลังสแตร์ (phalanstere) ซึ่งจะมีกรรมสิทธิทั้งหมดเป็นของส่วนรวม ที่สมาชิกเป็นเจ้าของโดยเท่าเทียมกัน ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า มาร์กซนิยมความคิดของฟูริเอร์หรือไม่ แต่เขาก็ได้ตอบโต้กับการกล่าวหาเรื่องคอมมิวนิสต์ โดยชี้แจงว่า บทความในหนังสือพิมพ์ไรน์ ยังไม่มีเรื่องใดเลยที่นำเสนอความคิดหรืออุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ การ กล่าวหาโดยอ้างเพียงไม่กี่ประโยคนั้นไม่อาจจะยอมรับได้
การตอบโต้ของมาร์กซในขณะนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่า มาร์กซยังไม่ได้มีอุดมการณ์แบบสังคมนิยมเต็มที่นัก แม้ว่าวารสารไรน์จะมีความสนใจและเห็นใจในความทุกข์ยากของคนยากคนจน แต่ก็นำเสนอให้เห็นว่า คนเหล่านี้ตกเป็นผู้ถูกกระทำของสังคม ยังไม่ได้เห็นว่าชนชั้นกรรมกรเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ความสนใจปัญหาสังคม และศึกษาชีวิตของคนยากจน ชนชั้นล่าง เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในชีวิตของมาร์กซในระยะที่ทำงานกับวารสารนี้ เพราะเป็นการดึงมาร์กซออกจากโลกที่ศึกษาแต่เพียงประเด็นทางปรัชญา มาสู่การที่จะต้องเข้าใจเศรษฐกิจและสังคมทึ่เป็นจริงมากขึ้น มาร์กซได้เริ่มทำความเข้าใจกับความเป็นไปของสังคม และเริ่มสนใจที่จะศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ในระหว่างนี้เอง
ทั้งนี้ การตื่นตัวด้านแนวคิดสังคมนิยมในปรัสเซียและรัฐเยอรมันอื่นๆ ในขณะนั้นยังมีน้อยมาก จากการที่รัฐต่างๆในดินแดนเยอรมนียังเป็นรัฐแบบศักดินา อุตสาหกรรมเพิ่งจะเริ่มต้นและพัฒนาน้อยมาก ชนชั้นกรรมกรมีน้อย และมีพื้นฐานมาจากช่างฝีมือในสมาคมอาชีพ ที่ยังจมกับความรุ่งเรืองในอดีตยิ่งกว่าจะสนใจการปฏิวัติเพื่อสร้างอนาคต แนวคิดสังคมนิยมในเยอรมันเผยแพร่เพียงในหมู่ปัญญาชนจำนวนน้อย แนวคิดสังคมนิยมจากฝรั่งเศส แผ่เข้ามาในทศวรรษที่ ๑๘๓๐ เช่น ลุดวิก กอล (Ludwig Gall) แห่งเมืองเทรียส์ เริ่มเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมแบบแซงต์ซีมองต์และฟูริเอร์ หนังสือเริ่มแรกในเยอรมนีที่เสนอแนวคิดสังคมนิยมอย่างชัดเจนคือ ประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งมนุษยชาติ เขียนโดย โมเสส เฮส (Moses Hess) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มโคโลญจน์ ซึ่งได้มีโอกาสเดินทางไปปารีส นอกจากนี้ ก็คือ วิลเฮล์ม เวทลิง (Wilhelm Weitling) ซึ่งเป็นชาวปรัสเซียที่อยู่นอกประเทศ ตั้งสมาคมคนงานเยอรมันขึ้นในกรุงปารีส และได้เขียนบทความเรื่อง มนุษยชาติที่เป็นอยู่และที่ควรจะเป็น
ซึ่งเสนอแนวคิดโจมตีคนร่ำรวยว่า เป็นตัวการก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคและความอยุติธรรม หนังสือเล่มที่ช่วยเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมน่าจะได้แก่เรื่อง สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ในฝรั่งเศสปัจจุบัน เขียนโดย ลอเรนซ ฟอนสเตน (Lorenz von Stein) พิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ.๑๘๔๒ ก่อให้เกิดความสนใจในแนวคิดสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์อย่างมาก ทั้งที่สเตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลปรัสเซีย มีแนวคิดต่อต้านสังคมนิยม เห็นว่าสังคมนิยมฝรั่งเศสเป็นภัยต่อรัฐปรัสเซีย หนังสือของเขาต้องการเพียงแค่สำรวจแนวคิดสังคมนิยมฝรั่งเศส ที่ส่งผลสะเทือนในหมู่ชาวเยอรมันที่อยู่นอกประเทศ
ปรากฏว่ากลุ่มสโมสรโคโลญจน์เป็นกลุ่มหนึ่งที่รับเอาแนวคิดสังคมนิยมฝรั่งเศส และได้เริ่มศึกษาแนวคิดนี้อย่างจริงจัง มีการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนกันในแนวคิดสังคมนิยม มาร์กซเองก็เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนแนวคิดสังคมนิยมนี้ด้วยเช่นกัน จากการศึกษาและแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มจึงทำให้มาร์กซได้กลายเป็นผู้นำสังคมนิยมฝรั่งเศสไปด้วย
นอกจากนี้ ใน ค.ศ.๑๘๔๒ ระหว่างที่มาร์กซเป็นบรรณาธิการ เขาได้พบกับเฟรเดอริก เองเกลส์ เป็นครั้งแรก ในระหว่างที่เองเกลส์กำลังจะเดินทางจากเบอร์ลินไปอังกฤษ ได้แวะมายังกองบรรณาธิการวารสารไรน์ และพบกับมาร์กซด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่ง นี่จะเป็นจุดเริ่มแห่งการทำงานร่วมกันของคนทั้งสองในระยะต่อมา
ปรากฏว่า หนังสือพิมพ์ไรน์เริ่มถูกคุกคามมากขึ้นจากเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ เนื่องจากบทความของมาร์กซที่วิจารณ์การดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลของรัฐบาลปรัสเซีย นอกจากนี้ยังสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลกษัตริย์แห่งปรัสเซีย ใช้นโยบายริดรอนสิทธิของหนังสือพิมพ์มากขึ้น หลังจากที่พระเจ้าเฟรเดอริกวิลเฮล์มที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. ๑๘๔๐ นอกจากนี้ พระเจ้าซาร์รุสเซียยังได้ประท้วงมายังรัฐบาลปรัสเซียว่า วารสารไรน์ลงบทความที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบซาร์ ดังนั้น มาร์กซจึงขอลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการในวันที่ ๑๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๓ ด้วยความคาดหวังว่า วารสารจะยังคงดำเนินการต่อไปภายใต้บรรณาธิการคนใหม่ แต่รัฐบาลไรน์แลนด์ได้ตัดสินชะตากรรมของวารสารไว้แล้ว ในวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ.๑๘๔๓ วารสารก็ถูกคำสั่งปิดดำเนินการ
ผลของการใช้มาตรการปราบปราบและควบคุมทางความคิดของรัฐบาลปรัสเซีย นำมาสู่ความแตกแยกในกลุ่มเฮเกลฝ่ายซ้ายด้วย บรูโน บาวเออร์ และกลุ่มที่อยู่ในเบอร์ลิน ถูกบีบให้ลดบทบาททางการเมืองลง บาวเออร์หวังว่ามาตรการในการปราบปรามของรัฐบาล จะนำมาสู่การต่อต้านมากยิ่งขึ้นในหมู่ชนชั้นกลาง แต่เมื่อสถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น บาวเออร์และกลุ่มเบอร์ลิน ก็หันไปศึกษาและโต้แย้งในเชิงทฤษฎีมากขึ้น และสนใจปัญหาสังคมลดลง สำหรับกลุ่มของอาร์โนลด์ รูเก ต้องการที่จะต่อสู้ทางการเมืองต่อไปด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เขาเห็นว่าจะต้องเดินทางออกไปเคลื่อนไหวนอกประเทศ จึงเดินทางไปซูริก ซึ่งเป็นแห่งอาศัยของชาวเยอรมันนอกประเทศจำนวนมาก มาร์กซก็เช่นเดียวกัน เขามีแนวคิดในเชิงปฏิวัติสังคมมากขึ้น เพราะเห็นว่าอนาคตของสังคมปรัสเซียจะเป็นไปได้ ก็จะต้องผ่านการปฏิวัติ ในจดหมายของมาร์กซที่เขียนถึงรูเก เขาอธิบายว่า สถานการณ์ในเยอรมนีนั้นสิ้นหวัง จะต้องมีการสร้างโลกขึ้นใหม่ สร้างชีวิตใหม่โดยการปฏิวัติ ด้วยการสร้างพันธมิตรระหว่าง “นักคิด” กับ “ประชาชนผู้ทนทุกข์”
ในเงื่อนไขที่มาร์กซก้าวไปสู่ความเป็นนักปฏิวัติมากขึ้น เขาเห็นว่าหนทางที่จะทำหนังสือพิมพ์อย่างเสรีในปรัสเซียและรัฐเยอรมนีอื่นๆ คงเป็นไปได้ยาก มาร์กซตัดสินใจที่จะดินทางไปต่างประเทศ เพื่อที่จะทำวารสารที่มีเนื้อหาปฏิวัติ และจะส่งข้ามแดนมายังปรัสเซีย ปรากฏว่าอาร์โนล รูเก ได้ร่วมคิดกับนักคิดคนสำคัญอีกคนหนึ่ง ชื่อ จูเลียส โฟรเบล (Julius Froebel) ที่จะออกวารสารในต่างประเทศ และได้ชักชวนมาร์กซให้ไปร่วมกองบรรณาธิการ มาร์กซจึงตกลงทันที ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้วารสารนี้ เป็นวารสารที่นำความคิดปฏิวัติมาสู่รัฐเยอรมันทั้งหลาย ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๔๓ มาร์กซ, รูเก และ โฟรเบล ได้พบกันที่เมืองเดรสเดน ในรัฐแซกโซนี เพื่อตกลงในเรื่องการออกวารสาร โดยเลือกเมืองสตราบูร์ก ในรัฐอัลซาค ของฝรั่งเศสเป็นสถานที่ออกหนังสือ เพราะเมืองนี้อยู่ใกล้เขตไรน์แลนด์ของปรัสเซีย จึงเป็นการง่ายที่จะนำเอาวารสารมาเผยแพร่ในเขตรัฐเยอรมนี
หลังจากนั้น มาร์กซเดินทางกลับไปยังเมืองครูสแนส ซึ่งเป็นเมืองใกล้เมืองเทรียส์ และเป็นเมืองที่ครอบครัวของ เจนนี เวสฟาเลน ย้ายไปอยู่ที่นั่น เขาแต่งงานกับเจนนี ในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๔๓ ที่โบสถ์โปรเตสแตนต์แห่งหนึ่งที่ครูซแนช จากนั้นก็ไปฮันนีมูนกันที่สวิสเซอร์แลนด์ และเดินทางผ่านแคว้นบาเดน ก่อนที่จะกลับมาที่ครูซแนช จากนั้น มาร์กซกับเจนนีก็อาศัยอยู่ที่นี่เป็นเวลา ๓ เดือน ในระหว่างนี้ มาร์กซได้ใช้เวลาทบทวนปรัชญาของเฮเกล และศึกษาปรัชญาวัตถุนิยมของลุดวิก ฟอยเออร์บาค (Ludwig Feuerbach) อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
ฟอยเออร์บาค เป็นนักปรัชญาก่อนหน้ามาร์กซ เขาเป็นชาวบาวาเรียเกิดเมื่อ ค.ศ.๑๘๐๗ และตั้งใจจะศึกษาวิชาเทววิทยาในมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน แต่ปรากฏว่า ในระหว่างนั้นเขากลับได้รับอิทธิพลของเฮเกล จึงหันมาศึกษาวิชาปรัชญาแทน ผลงานที่สำคัญของฟอยเออร์บาคคือเรื่อง สาระสำคัญของคริสต์ศาสนา ซึ่งเป็นการใช้แนวคิดแบบวัตถุนิยมมาวิเคราะห์ศาสนาคริสต์ นอกจากนี้ก็คือเรื่อง ข้อเสนอเบื้องต้นว่าด้วยการปฏิรูปปรัชญา ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ในสวิสเซอร์แลนด์ ค.ศ. ๑๘๔๓ และรูเกส่งมาให้มาร์กซ ซึ่งสร้างความสนใจแก่มาร์กซอย่างมาก เพราะฟอยเออร์บาคนำแนวคิดวัตถุนิยมมาวิพากษ์ปรัชญาของเฮเกล
อย่างไรก็ตาม มาร์กซก็ไม่เห็นด้วยกับฟอยเออร์บาคที่ว่า แนวเสนอของฟอยเออร์บาคขาดการพิจารณามิติทางประวัติศาสตร์และการเมือง จึงเป็นการวิพากษ์เฮเกลแต่เฉพาะรากฐานทางปรัชญาเท่านั้น ดังนั้นมาร์กซจึงเขียนเรื่อง วิพากษ์ปรัชญาว่าด้วยสิทธิของเฮเกล โดยประเด็นหลักที่นำเสนอก็คือ รัฐปรัสเซียไม่มีทางที่จะเป็นรัฐที่สมเหตุสมผล หรือรัฐที่มีเสรีภาพสมบูรณ์ตามอุดมคติของเฮเกลได้เลย และการปกครองของปรัสเซียภายใต้ระบบกษัตริย์ ก็คือระบบการเมืองที่กดขี่และปราบปรามประชาชน
ในระหว่างที่มาร์กซอยู่ที่เมืองครูซแนช อาร์โนลด์ รูเก กำลังเตรียมการที่จะเปิดวารสารเผยแพร่อุดมการณ์ปฏิวัติ โดยการหาแหล่งเงินทุนสำหรับวารสาร และเตรียมสถานที่ ปรากฏว่าทางการ เมืองสตราบูร์ก ไม่อนุญาตให้เขาใช้เป็นที่ตั้งเปิดหนังสือ ในที่สุด รูเก ก็เลือกกรุงปารีสเป็นสถานที่ตั้งแทน ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๓ รูเก และโมเสส เฮส เดินทางยังปารีสเพื่อเตรียมการออกหนังสือซึ่งใช้ชื่อว่า Deutsch- Franzosische Jahrbucher โดยบุคคลที่รับช่วยเขียนในกองบรรณาธิการวารสาร จาบูเชอร์ นี้ นอกจาก รูเก, โฟรเบล, เฮส, และ มาร์กซแล้ว ก็คือ จอร์จ เฮอร์เวจ (Georg Herwegh) ซึ่งเป็นกวี และยังมี เฟรเดอริก เองเกลส์ (Friedrich Engels) มิคาอิล บากูนิน (Mikhail Bakunin) เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ รูเกและมาร์กซยังได้เชิญให้ฟอยเออร์บาคเข้าร่วมในกองบรรณาธิการด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า เขายังต้องการเวลาที่จะศึกษาทฤษฎีต่อไป มากกว่าที่จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหว
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๔๓ มาร์กซและเจนนี ก็เดินทางไปปารีส เพื่อร่วมกองบรรณาธิการ และได้เข้าพักในบ้านเช่ารวม ที่ย่านแซงแยร์แมง ซึ่งมีครอบครัวของนักสังคมนิยมเยอรมันชื่อ เจอร์เมน มอเรอร์ (Germain Maurer) อาศัยอยู่แล้ว รูเกได้ชวนให้ครอบครัวของมาร์กซ และ จอร์จ เฮอร์เวจ อยู่ร่วมในอาคารเดียวกันในลักษณะชุมชนฟาลังสแตร์ตามแนวคิดของชาร์ล ฟูริเออร์ โดยมีกรรมสิทธิ์ทั้งหมดเป็นของส่วนรวม โครงการนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะภรรยาของเฮอร์เวจ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม สำหรับมาร์กซและเจนนี ก็อยู่ที่บ้านรวมแห่งนี้ เพียง ๒ สัปดาห์แล้วย้ายออกไปยังย่านถนนวาโน และอยู่ที่นั่นตลอดเวลาที่อยู่ในปารีส
มาร์กซได้นำบทความใหม่ที่เขาเขียนมาด้วยคือบทความเรื่อง ว่าด้วยปัญหายิว ทั้งนี้เพราะเรื่องของชาวยิวกำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญในปรัสเซีย เพราะหลังจากสงครามนโปเลียน ชาวเยอรมันเกิดความรู้สึกชาตินิยมและเริ่มต่อต้านชาวยิว ด้วยความรู้สึกว่าชาวยิวเป็นกลุ่มชนอื่นที่มาอาศัยดินแดน ได้มีปัญญาชนชาตินิยมเยอรมันหลายคนที่เขียนบทความต่อต้านยิว และรัฐบาลปรัสเซียก็ได้มีมาตรการต่างๆ ริดรอนสิทธิของชาวยิวอย่างมาก บรูโน บาวเออร์ ก็เคยเขียนบทความแสดงการคัดค้านกระแสเหยียดชนชาติยิว และเรียกร้องให้ปลดปล่อยชาวยิวจากความอยุติธรรม แต่มาร์กซก็เห็นว่า ข้อวิเคราะห์ของบาวเออร์ยังเป็นนามธรรมมากเกินไป
เขาเสนอว่าปัญหาเรื่องชาวยิวก็เป็นปัญหาการกดขี่ระหว่างมนุษย์เหมือนปัญหาอื่นๆ ไม่เพียงแต่ชาวยิวเท่านั้นที่ต้องการการปลดปล่อย แต่ประชาชนคนยากจนทั้งมวลที่ตกอยู่ภายใต้การกดขี่ ไม่ว่าจะเป็นยิวหรือคริสเตียนก็ต้องการการปลดปล่อยเช่นกัน เพราะสิทธิของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ภายใต้ระบอบกษัตริย์ปรัสเซีย นอกจากนี้ ก็คือเสรีภาพทางศาสนา จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คริสเตียนและยิวมีสิทธิเท่าเทียมกัน และอยู่ในสังคมร่วมกันได้ ดังนั้นการปลดปล่อยทางการเมืองและทางศาสนาจึงเป็นสิ่งที่ควบคู่กัน
ปารีสใน ค.ศ.๑๘๔๓ นั้น ยังอยู่ภายใต้ระบอบกษัตริย์ประชาธิปไตยของพระเจ้าหลุยฟิลิป แต่การบริหารอยู่ในมือของกิโซต์ ซึ่งเป็นพวกอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในปารีสยังเป็นไปอย่างคึกคัก กลุ่มการเมืองทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายสังคมนิยมในฝรั่งเศส ต่างก็เผยแพร่อุดมการณ์ของตนในลักษณะเปิดเผยและกึ่งเปิดเผย นอกจากนี้ปารีสยังเป็นดินแดนของนักปฏิวัติลี้ภัยจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรุสเซีย ปรัสเซีย และจักรวรรดิออสเตรีย ดังนั้น ชีวิตของมาร์กซในปารีส จึงน่าตื่นตาตื่นใจ ปารีสทำให้เขาได้เพิ่มพูนความรู้ใหม่ และความจัดเจนทางการเมือง เขาได้ถือโอกาสออกไปเยือนเขตกรรมกรของกรุงปารีส และเข้าประชุมกับองค์กรกรรมกรฝรั่งเศส ทำให้ได้เห็นสภาพของชนชั้นกรรมกรชัดเจนขึ้น จากการที่ปารีสนั้นมีการพัฒนาอุตสาหกรรมและมีชนชั้นกรรมกรที่มากกว่าเขตไรน์แลนด์ นอกจากนี้ มาร์กซยังได้ทำความรู้จักกับนักคิดสังคมนิยมหลายคน เช่น เอเตียง การ์เบ้ (Etienne Cabet) หลุย บลอง (Louis Blanc) ปิแอร์ ปรูดอง (Pierre Proudhon) ได้เป็นเพื่อนกับไฮน์ริช ไฮน์ (Heinrich Heine) และได้รู้จักกับปัญญาชนรุสเซียที่หนีมาลี้ภัยในปารีส ที่สำคัญก็คือ มิคาอิล บากูนิน นอกจากนี้ มาร์กซก็ได้ทุ่มเทศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส ศึกษาสังคมนิยมฝรั่งเศส และศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างจริงจัง
ประการต่อมา มาร์กซได้เข้าใกล้กับขบวนการปฏิวัติอย่างจริงจังมากขึ้น โดยการเข้าร่วมการประชุมของสันนิบาตเพื่อความเป็นธรรม (League of the Just) ซึ่งเป็นองค์กรปฏิวัติใต้ดินของกลุ่มเยอรมันลี้ภัย เป้าหมายของสันนิบาตก็เพื่อโค่นล้มระบอบกษัตริย์ และสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยมในดินแดนเยอรมนี ผู้นำที่สำคัญของสันนิบาตคนหนึ่งก็คือ เจอร์แมน มอเรอร์ นั่นเอง
จบตอนสาม
No comments:
Post a Comment