Saturday, March 29, 2014

ระบอบสังคมการเมืองที่ขัดฝืนการเปลี่ยนแปลงคืออันตรายที่แท้จริง



เคยคิดไหมว่า อีก 50 ปีข้างหน้าประวัติศาสตร์จะบันทึกความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันอย่างไร จะบันทึกความขัดแย้งกรณีมาตรา 112 ว่าสะท้อนภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างไร ประวัติศาสตร์จะมองย้อนกลับมาแล้วประเมินและวิเคราะห์ปัจจุบันจากความรู้และ ทัศนะของอนาคตอย่างไร
การปฏิวัติ 2475 และปรีดี พนมยงค์ถูกใส่ร้ายเข้าใจผิดอยู่เป็นเวลา 30 กว่าปีจาก 2490 จนถึงประมาณ 2520 กว่าๆ ทุกวันนี้สังคมเข้าใจการปฏิวัติ 2475 และท่านปรีดีต่างจากช่วง 30 ปีนั้นอย่างลิบลับ
6 ตุลา 2519 ใช้เวลา 20 ปีจึงพอจะโงหัวขึ้นมาพูดได้เต็มปากว่าอาชญากรรมของรัฐไทย ในวันนั้นน่าอัปยศและยังรอการสะสาง ผิดลิบลับกับช่วงหลังเหตุการณ์ใหม่ๆซึ่งฆาตกรกลายเป็นวีรชน ได้รับการยกย่องจากคนสำคัญของสังคมไทยว่าช่วยกำจัดศัตรูของชาติ
แม้เราจะบอกไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นพรุ่งนี้ มะรืนนี้ ปีนี้ ปีหน้า หรือประมาณ 5-10 ปีข้างหน้า แต่แนวโน้มกระแสความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆของสังคมไทยและของโลกในแง่ระบอบการ เมือง กลับพอจะมองออกได้
จิตร ภูมิศักดิ์ไม่ใช่คนแรกและคนเดียวที่เกิดก่อนกาล แต่ทุกยุคสมัยมีคนจำนวนหนึ่งที่เกิดก่อนกาล พยายามผลักดันการเปลี่ยนแปลง แต่กลับถูกทำร้ายทำโทษแทบไม่ได้ผุดได้เกิด ทว่าอนาคตพิสูจน์ว่าของประวัติศาสตร์ยืนอยู่ข้างเขา
ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า นิติราษฎร์และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อแก้ไขมาตรา 112 คือผู้กล้าประเภทนี้ อนาคตจะพิสูจน์ว่าประวัติศาสตร์ของสังคมไทยยืนอยู่ข้างพวกเขา
ผู้เขียนขอเสนอว่า อีก 50 ปีข้างหน้า ประวัติศาสตร์จะอธิบายบริบทหรือภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน จะบันทึกถึงความขัดแย้งกรณีมาตรา 112 และจะอธิบายการฉุดรั้งขัดฝืนความเปลี่ยนแปลง ดังอธิบายในข้อเขียนชิ้นนี้
ข้อสังเกตต่อการปรับตัวและฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา
ก่อนอื่น ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตบางประการต่อการปรับตัวและฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาในสังคมไทย
  1. ถ้าหากเราไปถามใครก็ตามว่า สังคมควรรู้จักปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ทุกคนจะตอบว่าควร แต่หากถามเฉพาะเจาะจงลงไปว่าควรปรับอะไรอย่างไร จะพบความเห็นต่างขัดแย้งกันเต็มไปหมด จนเกิดการต่อสู้ระหว่างความคิดที่ต่างกันเป็นปกติตามแต่อุดมการณ์ ความรู้ ทัศนะ ประสบการณ์ ผลประโยชน์ วัยและ generation ก็มีผลต่อความคิดเกี่ยวกับการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
  2. แต่สังคมต่างๆมีความสามารถจัดการความขัดแย้งชนิดนี้ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ปัจจัยสำคัญของความสามารถมากน้อย ก็คือ
    2.1 กระบวนการที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการความขัดแย้งและการปรับตัว
    2.1.1. เสรีภาพที่จะแสดงความคิดต่อสาธารณะ เป็นเงื่อนไขจำเป็นเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่เห็นความเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกัน มาบอกอธิบายต่อสังคมแต่เนิ่นๆ จึงจะปรับตัวได้ทัน
    2.1.2. ถกเถียงกันอย่างอารยชน ไม่ใช่หมายถึงพูดจาภาษาดอกไม้ ดัดจริตจีบปากจีบคอ แต่หมายถึงไม่มีการใช้กำลัง ไม่ข่มขู่คุกคามหรือดูถูกเหยียดหยามคนอื่น ไม่เจตนาบิดเบือนทำร้ายกันอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะความคิดแตกต่างกัน
    2.1.3. ประชาธิปไตย แท้ที่จริงแล้วประชาธิปไตยไม่ได้กำหนดว่าสังคมอุดมคติเป็นอย่างไร แต่ประชาธิปไตยคือกระบวนการในอุดมคติ
    เหตุผลที่ทำให้ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการในอุดมคติ ก็เพราะสังคมเติบโตก็ยิ่งมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นทั้งความคิดและผล ประโยชน์ ปัญหาไม่ใช่เพราะมีคนเลวจึงเกิดความขัดแย้งแตกต่าง ต่อให้ทั้งสังคมไม่มีคนเลวเลยแม้แต่คนเดียว ก็ยังมีความขัดแย้งแตกต่างกันในทุกเรื่อง ต่อให้ทุกคนเห็นแก่ผลประโยชน์ของชาติด้วยกันทั้งนั้นก็ยังมีความขัดแย้งแตก ต่างกันอยู่ดี
    ประชาธิปไตยคือกระบวนการที่อนุญาตให้ความขัดแย้งแตกต่างปะทะกันอย่าง สันติ มีกติกา แล้วนำไปสู่การตัดสินใจ อีกทั้งยังสามารถตัดสินใจใหม่ได้หากพบว่าการตัดสินใจคราวก่อนผิดพลาด
    ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่ด้วยมูลเหตุดังกล่าวมาจนบัดนี้มนุษย์ค้นพบว่าการเลือกตั้งคือรูปแบบการ จัดการความแตกต่างอย่างเป็นธรรมที่สุดแก่ทุกฝ่าย ไม่ใช่ระบอบที่ฝากความหวังกับผู้อ้างว่ามีคุณธรรมหรือปัญญาเป็นเลิศกว่าใคร อื่น ไม่ใช่ 70/30 ไม่ใช่ธรรมิกสังคมนิยม ไม่ใช่เผด็จการไม่ว่าทหาร หรือชนชั้นกรรมาชีพ
    2.2. นอกจากเรื่องกระบวนการและกติกาแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญคือ สติปัญญาของสังคมนั้นๆมีมากน้อยเพียงใด มีวุฒิภาวะเพียงใดที่จะใชัปัญญาหาทางออกแก้ไขความขัดแย้ง ไม่ใช้อารมณ์ความเชื่อไม่มีเหตุผล หรือใช้กรรมวิธีอวิชชาอื่นๆ
  3. ประวัติศาสตร์ของการปรับตัวครั้งใหญ่ๆในสังคมไทย มักมีผลตามมาในลักษณะต่อไปนี้
    3.1. ปรับไม่ได้ เกิดความขัดแย้งรุนแรง สังคมไทยจะกลบเกลื่อน ปล่อยผ่านไปโดยไม่สร้างบรรทัดฐานว่าอะไรถูกผิด และไม่เรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต
    3.2. ปรับได้ปรับทัน จึงยึดติดกับความสำเร็จนั้น จนระบอบดังกล่าวกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการเปลี่ยนแปลงระลอกต่อมา ตัวอย่างเช่น
การปรับตัวเข้าสู่สมัยใหม่จนสำเร็จภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่งผลให้เกิดรัฐสมัยใหม่ ข้าราชการและชนชั้นใหม่ซึ่งเรียกร้องต้องการความเปลี่ยนแปลงในเวลาต่อมา แต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฉุดรั้งขัดฝืนความเปลี่ยนแปลง เกิดการปฏิวัติ 2475
การปรับตัวของรัฐไทยภายใต้ยุคสงครามเย็นและเศรษฐกิจโลกยุคใหม่หลังสงคราม โลกครั้งที่สองทำได้สำเร็จภายใต้เผด็จการ สร้างชนชั้นกลางที่เติบโตมากับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมซึ่งเรียกร้องต้องการ ประชาธิปไตยในเวลาต่อมา แต่รัฐเผด็จการยุคสงครามเย็นฉุดรั้งขัดฝืนความเปลี่ยนแปลง เกิดการปฏิวัติ 14 ตุลา 2516
จะเห็นได้ว่าระบอบการเมืองที่ประสบความสำเร็จได้เถลิงอำนาจนาน มักสร้างพลังทางการเมืองอย่างใหม่ที่เติบโตขึ้นมาท้าทายระบอบการเมืองนั้นใน เวล่าต่อมา แต่ระบอบการเมืองดังกล่าวกลับไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง จึงฉุดรั้งขัดฝืนไม่ยอมปรับตัว
ผู้เขียนเห็นว่าระบอบการเมืองปัจจุบันยึดติดกับความสำเร็จของตนระหว่าง 20-30 ปีก่อน แต่กำลังถูกท้าทายโดยผลพวงของความสำเร็จนั้น ระบอบการเมืองปัจจุบันกลับขัดฝืนความเปลี่ยนแปลงที่ตนมีส่วนสร้างขึ้นมา
นี่คือภาพใหญ่ภาพหนึ่งของกระแสความขัดแย้งและวิกฤติการเมืองไทยในปัจจุบัน
มูลเหตุ 3 ประการของวิกฤติการเมืองปัจจุบัน
วิกฤติของการเมืองที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 ยังคงปกคลุมสังคมไทยอยู่จนทุกวันนี้ แต่เรายังอยู่ท่ามกลางวิกฤติ ใกล้ตัวเกินไปทั้งกาละและเทศะ จึงมักมองเห็นแต่ปรากฎการณ์รูปธรรมระยะสั้นๆ ไม่ตระหนักถึงภาพใหญ่ของกระแสความเปลี่ยนแปลงระยะยาวที่ผลิตปรากฎการณ์ รูปธรรมเหล่านั้นออกมา
หากเราถอยออกมาสักนิด มองกระแสความเปลี่ยนแปลงในมุมกว้างขึ้นระยะยาวขึ้น ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นมุมมองต่อปัจจุบันในอีก 50 ปีข้างหน้า เราจะเห็นว่าวิกฤติปัจจุบันเป็น perfect storm ที่เกิดจากมูลเหตุหลักๆ 3 ประการ
  1. สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว เกิดพลังใหม่ทางการเมืองที่หนุนประชาธิปไตย
  2. ระบบอบเมืองประชาธิปไตยใต้บงการอำมาตย์พยายามฉุดรั้งไม่ยอมปรับตัว
  3. ความไม่แน่นอนของสภาวะปลายรัชกาล
  1. สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว เกิดพลังใหม่ทางการเมือง
    ไม่กี่ปีมานี้ มีการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่พยายามอธิบายความสำเร็จของทักษิณ ความเข้าใจทั่วๆไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่เห็นทักษิณเป็นปีศาจ จะอธิบายว่าความสำเร็จมาจากเงิน เงิน เงิน ที่ซื้อได้ทั้งนักการเมืองเลวๆมาเข้าค่ายและซื้อประชาชนที่โง่เขลาขาดการ ศึกษา ตามทัศนะนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญใดๆ วิกฤติเป็นเรื่องของทุนสามานย์ นักการเมืองเลวๆกับประชาชนโง่ๆ
    แต่การศึกษาทั้งโดยนักวิชาการไทยและเทศ อย่างสมชัย ภัทระธีรานนท์ (ม. มหาสารคาม) พฤกษ์ เถาถวิล (ม. อุบลฯ) อภิชาติ สถิตนิรามัย (ธรรมศาสตร์) อรรถจักร สัตยานุรักษ์ (ม. เชียงใหม่) การวิเคราะห์ของ นิธิ เอี่ยวศรีวงค์ และการวิจัยต่อเนื่องเป็นระบบใน 10 ปีที่ผ่านมาโดย Andrew Walker (ANU) ล้วนยืนยันตรงกันว่า สังคมชนบทและหัวเมืองของไทยเปลี่ยนไปอย่างมากมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เราท่านเห็นอยู่ตำตา แต่เรานึกไม่ถึงว่าจะมีผลกระทบกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อ ประชาธิปไตยไทย
    กล่าวคือการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังสงครามเย็นในประเทศยุติลง (คือหลังการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์) เกิดขึ้นพร้อมกับการปรับยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญตั้งแต่ครึ่งหลัง ของทศวรรษ 2520 คือหันมาเน้นการส่งออก ประสบความสำเร็จสูงต่อเนื่องมาถึงวิกฤติปี 2540 และแม้จะเสียหายหลายปีแต่โดยภาพรวมสามารถกลับฟื้นมาได้ ความเติบโตตลอดช่วงนี้พลิกโฉมชนบทและหัวเมืองทั่วประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไม่กระจุกตัวอยู่แค่กรุงเทพฯ ปริมณฑล หรือศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในรอบก่อนหน้านั้น
    ผลที่สำคัญคือวิถีชีวิตของผู้คนในชนบทและหัวเมืองเปลี่ยนไปมาก เข้าถึงการศึกษาระดับสูง เกิดการขยับชั้นทางสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างเมือง-ชนบทเปลี่ยนไป ผู้คนรู้จักแสวงโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างตัวเอง มิใช่รอการสงเคราะห์จากรัฐอีกต่อไป ทั้งรู้จักการต่อรองต่อสู้เพื่อทรัพยากรจากภาครัฐด้วย Walker เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า ชนบทกลายเป็นชนชั้นกลางไปหมด
    ผลกระทบสำคัญทางการเมืองคือผู้คนที่แต่ก่อนเคยอยู่นอกวงการเมือง ไม่ได้รับดอกผลของระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเท่าที่ควร (เพราะการเมืองระดับชาติเป็นเรื่องของคนกรุงและผู้มีอันจะกิน) กลับเปลี่ยนพฤติกรรมขนานใหญ่ เพราะเขาตระหนักว่าการเลือกตั้งคือช่องทางที่เขาสามารถดึงทรัพยากรจากนโยบาย และโครงการของรัฐบาลที่เขาเลือกให้กลับมาเป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นของเขาได้ การเลือกตั้งคือช่องทางที่ชนชั้นกลางรากชนบทเหล่านี้ใช้เอาชนะระบบราชการและ รัฐที่เอียงเข้าข้างคนกรุงมาตลอด
    ดังนั้น ความสำเร็จของทักษิณไม่ใช่เรื่องของทุนสามานย์หลอกลวงประชาชนโง่ๆ แต่เป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย สร้างพลังทางการเมืองอย่างใหม่ขนาดใหญ่มหึมาขึ้นมา ซึ่งต้องการระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง พลังทางการเมืองอย่างใหม่นี้เปิดช่องแก่ใครก็ได้ที่มองเห็นโอกาสนี้และมี ความสามารถสร้างนโยบายที่เหมาะสม ก็จะกลายเป็นผู้ชนะในระบอบรัฐสภา ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมเช่นนี้ปรากฏการณ์ทักษิณจึงเกิดได้
    กล่าวอีกอย่างก็คือ ทักษิณไม่ได้ซื้ออำนาจจากชาวบ้านโง่ๆ แต่พลังทางการเมืองอย่างใหม่ที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยต่างหากที่สร้าง ทักษิณขึ้นมา
    ความเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานเช่นนี้ไม่ใช่ปรากฎการณ์ชั่ววูบชั่วคราว ไม่ใช่ผลของยุทธวิธีทางการเมืองหรือเงิน แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีทางย้อนกลับได้อีกแล้ว
    แต่ผู้ครอบงำได้เปรียบในระบอบการเมืองปัจจุปันไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลง นี้ นักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนมากไม่เข้าใจ พวกเขาคิดว่ากำจัดปีศาจทักษิณแล้วทุกอย่างก็จะย้อนกลับไปเป็นอย่างเก่า พวกเขาไม่เห็นว่าประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ซึ่งครอบงำการเมืองไทยมา 40 ปี กำลังขัดฝืนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยระดับพื้นฐาน
  2. ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ไม่ยอมปรับตัว
    ผู้เขียนเคยเรียกระบอบประชาธิปไตยที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ทุก วันนี้ว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” สาระสำคัญที่สุดคือเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพวกกษัตริย์นิยม [1] อยู่ “เหนือ” หรืออยู่ข้างบนของระบอบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอีกชั้นหนึ่ง
    แต่ไม่กี่ปีมานี้มีการใช้คำว่า “อำมาตย์-ไพร่” ซึ่งมิได้หมายถึงการแบ่งชนชั้นตามกฎหมายในอดีต แต่เป็นการเทียบเคียงการแบ่งชั้นชนตามสถานะและอำนาจของยุคปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่าคำว่า “อำมาตย์-ไพร่” เชิงเทียบเคียงมีประโยชน์ต่อการเข้าใจระบอบการเมืองปัจจุบันอย่างมาก โดยมิได้หลงคิดว่าเหมือนระบบศักดินาในอดีตแต่อย่างใด แต่กลับชี้ให้เห็นมรดกของการแบ่งชั้นชนที่ยังคงมีอยู่อยู่หนาแน่นในสังคมไทย ได้ปัจจุบันเป็นอย่างดี ผู้เขียนจึงขอเปลี่ยนคำรุ่มร่าม “ประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา” เป็นคำว่า “ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์” แทน
    ระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ มีรากเหง้ามาจากความปรารถนาของฝ่ายเจ้าที่พ่ายแพ้เมื่อ 2475 จึงเรียกได้ว่าเป็นมรดกหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อุดมคติของพวกเขาหรือความฝันของ”ชาวน้ำเงินแท้” คือต้องการฟื้นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อยู่เหนือประชาธิปไตยรัฐสภาที่ ประชาชนเลือกตั้ง พวกเขาเข้าใจประวัติศาสตร์ตามลัทธิราชาชาตินิยมที่เชื่อว่าประชาธิปไตยที่ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 กำลังจะพระราชทานคือประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทย แต่ถูกคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่ามไปเสียก่อน
    ความคิดของพวกเขาเผยตัวเป็นรูปธรรมครั้งแรกในช่วงสั้นๆที่ฝ่ายเจ้ามี โอกาสทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2490 ความคิดนี้เติบโตขึ้นมากช่วงต้นทศวรรษ 2510 โดยนักวิชาการเสรีนิยมของยุคนั้นที่ไม่พอใจเผด็จการทหารจึงพยายามแสวงหาทาง เลือกอื่น ประสานกับปัญญาชนอนุรักษ์นิยมซึ่งเผยแพร่ประชาธิปไตยในอุดมคติของฝ่ายเจ้า ในเวลานั้นฝ่ายกษัตริย์นิยมเติบโตขึ้นอีกครั้งด้วยความร่วมมือและอุปถัมภ์ ของระบอบสฤษดิ์ โดยรวมศูนย์อยู่ที่การสร้างสถาบันกษัตริย์อย่างใหม่ที่สาธารณชนนิยมและเป็น ประชาธิปไตย (แบบอำมาตย์) [2]
    ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์จึงแยกไม่อออกจากสถาบันกษัตริย์ที่มีคุณสมบัติจำ เป็นในแบบหนึ่งซึ่งพวกกษัตริย์นิยมเพียรสร้างขึ้นมาในรัชกาลปัจจุบัน และแยกไม่ออกจากการฟื้นฟูและส่งเสริมลัทธิกษัตริย์นิยมอย่างขนานใหญ่ในสังคม ไทย
    จุดพลิกผันที่เปิดโอกาสให้พวกกษัตริย์นิยมสามารถปักหลักในระบบการเมือง ไทยได้คือ การลุกขึ้นสู้ของประชาชนต่อต้านระบอบเผด็จการทหารเมื่อ 14 ตุลา 2516
    ระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์เริ่มมาตั้งแต่เหตุการณ์คราวนั้น แม้ว่าจะต้องฝ่าด่านอุปสรรคหลายอย่างกว่าจะสถาปนาอำนาจนำได้อย่างแท้จริง ด่านแรกคือการท้าทายของกระแสสังคมนิยม รวมทั้งความกลัวว่าการปฎิวัติอินโดจีนจะแผ่ลามเข้ามาในประเทศไทย ฆาตกรรมเมื่อ 6 ตุลา 2519 เป็นการร่วมมือของทุกฝ่ายที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ คือทั้งเผด็จการทหารและพวกกษัตริย์นิยมที่พยายามสถาปนาประชาธิปไตยอำมาตย์ (เห็นได้จากแผนบันได 16 ปีสู่ประชาธิปไตยของธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีพระราชทานหลังฆาตกรรมที่ธรรมศาสตร์)
    ด่านที่สองซึ่งโหดเหี้ยมทารุณน้อยกว่าฆาตกรรมประชาชนในที่แจ้ง แต่กินเวลายาวกว่าและหลายยก คือการต่อสู้กับอำนาจทหาร กล่าวอย่างรวบรัดได้ว่าเริ่มจากการสยบทหารให้เป็นรองนับจาก 14 ตุลา แม้จะไม่ราบรื่นเป็นบางช่วงก็ตาม ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบคือความร่วมมือระหว่างพวกกษัตริย์นิยมและภาคประชาชน เพื่อลดทอนบทบาทอำนาจทหารลงเรื่อยๆ แม้จะไม่ราบรื่นแต่ลงท้ายการต่อสู้รอบนี้จบลงในเหตุการณ์พฤษภา 2535 กองทัพถอยออกจากการเมือง หมายถึง กองทัพสยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจของระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ คือเป็นประชาธิปไตยรัฐสภา มีการเลือกตั้ง โดยมีพวกกษัตริย์นิยมอยู่ชั้นบนเหนือระบบรัฐสภาอีกที
    นับจาก 2516 เป็นต้นมา ระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นแบบไทยๆมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นหลัง 2549 ผู้แทนประชาชนถูกจำกัดบทบาท ต้องยอมรับอำนาจกองทัพและอำมาตย์ทั้งโดยเปิดเผยและโดยนัย ระบอบรัฐสภาอ่อนแอตั้งแต่พรรคการเมืองจนถึงสถาบันรัฐสภา
    หากมองในแง่ฐานพลังทางการเมืองในสังคมไทย อาจกล่าวได้ว่ายังไม่พลังใดที่เข้มแข็งใหญ่โตพอที่จะหนุนให้เกิดระบอบ ประชาธิปไตยนอกอุ้งเท้าอำมาตย์ จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมที่กล่าวถึงเป็นมูลเหตุข้อแรก
    หลังรัฐประหาร 2549 พวกกษัตริย์นิยมโฆษณาประชาธิปไตยแบบไทยๆ มิใช่เพราะพวกเขาพยายามสร้างสิ่งใหม่ แต่เป็นการเรียกร้องให้ยึดมั่นอยู่กับประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ อย่าเฉไฉ ออกนอกลู่นอกทางอย่างยุคทักษิณ แต่พวกเขาไม่เข้าใจว่า ทักษิณมิได้เป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง เขาเป็นแค่ผู้คว้าโอกาสจากความเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานของสังคมได้ก่อนใคร อื่น ผู้เขียนเชื่อว่าทักษิณมิได้ตระหนักด้วยซ้ำไปว่า ตนเป็นผลผลิตของความเปลี่ยนแปลงที่ตนก็ควบคุมไม่ได้และไม่ได้สร้างขึ้นมา ไม่ได้คิดว่าปรากฎการณ์รูปธรรมของความขัดแย้งกับอำมาตย์ที่เขาประสบอยู่เป็น แค่ยอดภูเขาน้ำแข็งของความเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานที่ใหญ่กว่านั้น ผู้คนโดยทั่วไปจนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นไม่เข้าใจ
    พวกกษัตริย์นิยมที่ครองอำนาจผ่านระบอบประชาธิปไตยอำมาตย์มองไม่เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานของสังคมเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยแบบ อำมาตย์สถาปนาอำนาจนั่นแหละ ระบอบการเมืองของพวกเขาสร้างพลังการเมืองอย่างใหม่ขึ้นมา และพลังใหม่นี้เองที่กำลังท้าทายระบอบการเมืองของพวกเขา ต้องการออกจากใต้อุ้งเท้าของพวกเขา แต่กลับเห็นว่าปัญหาทุกอย่างเป็นแค่เรื่องของความฉ้อฉลของนักการเมืองทุน สามานย์ที่มักใหญ่ใฝ่สูงกับประชาชนโง่ๆที่ตกเป็นเครื่องมือ
    พวกเขาไม่รู้ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์กำลังฉุดรั้งขัดฝืนการเปลี่ยน แปลงที่ไม่มีทางย้อนกลับได้อีกแล้ว และการฝืนความเปลี่ยนแปลงของพวกเขาคืออันตรายต่อสังคมไทย
    อันตรายเกิดขึ้นแล้วในการรัฐประหาร 2549 การปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนเมษา-พฤษภา 2553 และอีกหลายเหตุการณ์รวมทั้งการคุกคามต่อต้านผู้ที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112
  3. สภาวะปลายรัชกาล
    ระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์นับจาก 2516 เติบโตขึ้นมาได้ด้วยปัจจัยจำเป็น 2 อย่าง คือ หนึ่ง สถาบันกษัตริย์แบบที่แยกไม่ออกจากพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน และ สอง ลัทธิ Hyper-royalism ที่เติบโตขึ้นมาอย่างมากใน 40 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 ปัจจัยอิงแอบซึ่งกันและกัน
    ผู้เขียนจะกล่าวถึง Hyper-royalism 40 ปีที่ผ่านมาในหัวข้อต่อไป ในที่นี้เรามาพิจารณากันก่อนว่าปัจจัยแรกเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุของ Perfect Storm อย่างไร
    10 ปีที่ผ่านมา คนจำนวนมากในสังคมไทยตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อทั้งสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ การสืบราชสมบัติ
    สมมติว่าไม่มีประชาธิปไตยแบบอำมาตย์นับจาก 2516 ไม่มีการอ้างสถาบันกษัตริย์เป็นแหล่งความชอบธรรมของอำนาจ ไม่มีอำนาจของพวกกษัตริย์นิยมเหนือระบบประชาธิปไตยรัฐสภา การสืบราชสมบัติและคุณสมบัติของพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันหรือพระองค์ ต่อไปย่อมไม่มีผลใดๆต่ออำนาจทางการเมืองและย่อมไม่เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤติ ทางการเมือง ไม่เป็นประเด็นที่ผู้คนต้องวิตกซุบซิบนินทากันทั้งบ้านทั้งเมือง
    แต่ความจริงคือระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์อิงแอบอวดอ้างสถาบันกษัตริย์ อย่างมาก จึงทำให้การสืบราชสมบัติกลายเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะย่อมมีผลต่อการเมืองและสังคมทั้งระบบและโดยเฉพาะต่อพวกกษัตริย์นิยมเอง การซุบซิบนินทาจึงหนาหูอย่างยิ่งในหมู่อำมาตย์นั่นเอง
    ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ของพวกกษัตริย์นิยมคือตัวการใหญ่ที่สุดที่ดึงเอา สถาบันกษัตริย์มาผูกกับการเมือง และคือสาเหตุที่ทำให้การสืบราชสมบัติเป็นประเด็นขึ้นมาอย่างไม่ควรจะเป็น
ถ้ามูลเหตุ I คือเงื่อนไขพื้นฐานของสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว หยุดไม่ได้ ห้ามไม่ได้
ถ้ามูลเหตุ II คือ ระบอบการเมืองที่ฉุดรั้งขัดฝืนข้อ I
มูลเหตุ III คือ ชนวนที่จุดประทุความขัดแย้งจนระเบิดขึ้นมาในเวลาปัจจุบัน
หมายความว่าถ้าไม่มี III ความขัดแย้งระหว่าง I กับ II อาจมีเวลายื้อยุดกันอีกนานพอควร
ถ้าไม่มี III พวกกษัตริย์นิยมคงไม่เห็นทักษิณเป็นปีศาจ หรือคงไม่กล่าวหาเหลวไหลว่า ทักษิณเหิมเกริมอยากเป็นใหญ่ แต่เพราะ III พวกกษัตริย์นิยมจึงวิตกว่าจะสูญเสียอำนาจในวันพรุ่ง วิตกว่าทักษิณจะเป็นตัวแปรที่มีอำนาจมากไปในการสืบราชสมบัติที่กำลังจะเกิด ขึ้น พวกเขามองทุกอย่างด้วยแว่นของ III ทั้งๆที่ความขัดแย้งรากฐานคือ I กับ II
การมองเห็นและเข้าใจว่าสังคมเปลี่ยนไปแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พวกกษัตริย์นิยมไม่ตระหนักแม้กระทั่งว่า ระบอบที่เขาปรารถนาให้คงอยู่ถาวรนั้นอิงอยู่กับพระองค์ปัจจุบันเท่านั้น ไม่ก่อนและไม่หลังไปจากรัชกาลนี้ ไม่ว่าพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปจะเป็นใครก็ตาม
ทั้งมูลเหตุ I และ III จึงไม่อยู่ข้างระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์เลย
ถ้าไม่ปรับตัว สถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยจะไปด้วยกันไม่ได้
ปรับตัวหมายความว่าอะไร
การปรับตัวหมายถึงอย่างน้อยต้องทำให้สถาบันกษัตริย์ไม่ขัดฝืนกับระบอบ ประชาธิปไตย ต้องทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ต้องไม่มีการอ้างอิงสถาบันกษัตริย์เป็นแหล่งอำนาจอีกต่อไป ต้องไม่มีพวกกษัตริย์นิยมอยู่ชั้นบนเหนือระบอบรัฐสภาที่มาจากประชาชน
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักลัทธิกษัตริย์นิยมเสนออย่างโจ่งแจ้งว่า ระบอบการเมืองที่พวกเขาต้องการคือลดประชาธิปไตย เพิ่มพระราชอำนาจ ข้อเสนอเช่นนั้นจะยิ่งผลักให้สถาบันกษัตริย์ขัดแย้งกับกระแสความเปลี่ยนแปลง หนักยิ่งขึ้นไปอีก และจะเป็นอันตรายของสถาบันกษัตริย์เอง
ยังมีความเข้าใจผิดอยู่มากว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องของฝรั่ง ส่วนของไทยคือพระราชอำนาจ การเลือกตั้งเป็นวิธีฝรั่ง การสรรหาแล้วแต่งตั้งคนดีมีคุณธรรมเป็นวิธีของไทย
แท้ที่จริงแล้วกระแสประชาธิปไตยมีรากฐานอยู่ที่วิวัฒนาการทางสังคมไม่ว่า ขาติไหน ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ตามที สาระที่แท้จริงของประชาธิปไตยคือ เป็นกระบวนการ (วิธีการ) ที่เปิดโอกาสให้พลังทางการเมืองต่างๆมาปะทะต่อรองอำนาจกันในกรอบกติกาอย่าง สันติ ไม่ว่าจะเป็นพลังทางการเมืองเก่าหรือใหม่ ชนชั้นสูงหรือต่ำ รวยหรือจน ไม่ว่าอำมาตย์หรือไพร่ เสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยม รักเจ้ามาก น้อย หรือไม่รักเลย กระบวนการนี้จึงไม่มีจุดหมายตายตัว แต่เปิดรับพลังต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมไปได้เรื่อยๆ
ประชาธิปไตยตามอุดมคติจึงเป็นวิธีการ (means) ที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงปรับตัวของสังคม ลดความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มอำนาจเก่ายึดมั่นเคยตัวคิดว่าตนควรมี อำนาจอย่างถาวร ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหทาร กรรมาชีพ หรือพวกกษัตริย์นิยม
รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งล้วนเป็นรูปธรรมของวิธีการในอุดมคตินี้ มนุษยชาติยังไม่ค้นพบวิธีการที่ดีกว่านี้ หรือสังคมยังเปลี่ยนไปไม่ถึงจุดที่สามารถมีวิธีการอื่นที่ดีกว่่านี้มาทดแทน
ดังนั้นประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เรื่องของฝรั่งหรือไทย แต่เป็นกระบวนการวิธีการที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาจัดการกับอำนาจในสังคมที่ แตกต่างและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สังคมไทยก็แตกต่างและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นกัน มิใช่สังคมหรือชุมชนเล็กๆที่ผู้คนมีผลประโยขน์เหมือนๆกันและคิดคล้ายๆกันอีก ต่อไป สังคมไทยเต็มไปด้วยความแตกต่างขัดแย้งซับซ้อน ต่อให้ทุกคนในสังคมไทยเป็นคนดีมีคุณธรรม ไม่มีคนเลวเลยแม้แต่คนเดียว ก็ยังมีความแตกต่างขัดแย้งอยู่ดี จึงต้องอาศัยวิธีการประชาธิปไตยมาจัดการความขัดแย้งที่เป็นเรื่องปกติของ สังคม
ประชาธิปไตยแบบไทยๆหรือความเชื่อในพระราชอำนาจว่าจะจัดการความขัดแย้งแตก ต่างได้ จึงเป็นความเพ้อเจ้อที่จะยิ่งดึงสถาบันกษัตริย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความแตก ต่างขัดแย้ง ยิ่งสังคมเติบโตแตกต่างมาก การหวังพึ่งพระราชอำนาจจะยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์ตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น
ผู้เขียนเคยตั้งคำถามตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 ใหม่ๆ (ในบทความ “สัมฤทธิผลนิยม” พ.ย.2549) ว่า “ฤๅนี้จะเป็นอภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย” ก็เพราะประชาธิปไตยแบบไทยๆที่หลายท่านอวดอ้างจะผลักสถาบันกษัตริย์เข้าชนกับ ประชาธิปไตย
ในเมื่อเราห้ามหรือหยุดการเปลี่ยนแปลงไม่ได้(พระพุทธองค์สอนไว้ 2600 ปีพอดีในปีนี้) ทางออกจึงมีทางเดียวคือปรับตัว ขอยืมคำของเกษียร เตชะพีระ เมื่อไม่กี่วันก่อนมากล่าวอีกทีว่า นี่ไม่ใช่เสนอให้ล้มเจ้า แต่ต้องการล้มการอ้างอิงสถาบันกษัตริย์เพื่อเถลิงอำนาจ ฉุดรั้งทำร้ายประชาธิปไตยและทำร้ายประชาชน
นี่คือทางออกเดียวที่จะช่วยให้การสืบราชสมบัติไม่เป็นปัญหา ไม่เป็นประเด็นที่ต้องวิตกกังวล ไม่เป็นเหตุให้องคมนตรี ขุนทหาร อดีตนายกฯหรือผู้มีอำนาจคนใดต้องซุบซิบเรื่องนี้ให้ทูตอเมริกันรายงานจนรู้ กันทั่วโลกอีก
นี่เป็นทางออกเดียวที่สังคมไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้ ระหว่างคนที่รักเจ้ามากด้วยศรัทธาโดยไม่ต้องมีเหตุผลเลยแม้แต่นิดเดียว กับคนที่รักด้วยเหตุผล กับคนที่ไม่ค่อยรักเท่าไหร่แต่เคารพคนที่ยังรักอยู่ และกับคนที่ไม่รักเลย ถ้าความรักเจ้ามากน้อยกว่ากันไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ก็ไม่ต้องเสียงบประมาณไปซื้อเครื่องล่าแม่มดตามปิดเวบไซต์ คนไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องไล่ใครออกไปไหน ไม่ต้องหยาบคายล่วงเกินพ่อแม่คนอื่น ไม่ต้องมีนักสื่อสารกษัตริย์นิยมเที่ยวล่าแม่มด ไม่ต้องแขวนคอใคร ไม่ต้องเผาคนทั้งเป็น
แถมนี่ยังเป็นหนทางที่จะรักษาสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยด้วย
Hyper-royalism [3]
เพียงแค่นี้ก็น่าจะพอเห็นแล้วว่า การใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือค้ำจุนระบอบที่ขัดฝืนต่อการเปลี่ยนแปลง ยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง ดังนั้นการเสนอแก้ไขมาตรา112 คือความพยายามหนึ่งที่จะปลดล็อกการขัดฝืนระหว่างสถาบันกษัตริย์กับ ประชาธิปไตย
แต่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอประเด็นใหญ่อีกเรื่องเพื่อที่จะเข้าใจปัญหาของ มาตรา 112 โดยเฉพาะยิ่งขึ้น ผู้เขียนเห็นว่าสภาวะที่ทำให้มาตรานี้กลายเป็นจุดของการปะทะขัดฝืนกัน ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตย คือ สภาวะ Hyper-royalism
Hyper-royalism มีลักษณะกว้างๆ 5 ประการ ดังต่อไปนี้
  1. สภาวะที่ลัทธิกษัตริย์นิยมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ชีวิตปกติทางสังคมและชีวิตประจำวันของปัจเจกชนอย่างมากยิ่งกว่ายุคใดๆใน ประวัติศาสตร์ คือ เข้มข้นกว่ายุคราชาธิปไตยหรือยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับตลอด 40 ปีที่ผ่านมา
    ดัชนีประการหนึ่งที่บ่งชี้สภาวะดังกล่าวคือ ปริมาณพื้นที่และเวลาของชีวิตประจำวันและประจำปีที่ลัทธิกษัตริย์นิยมเข้าครอบครอง
    หลักฐานชัดๆคือปริมาณของกิจกรรมของทุกหน่วยงานทั้งเอกชนและราชการ รายการโทรทัศน์ วิทยุ สื่อมวลชนทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ พิธีเฉลิมฉลองครบรอบวาระสำคัญทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ทั้ง ชนิดประจำปีและชนิดพิเศษเฉพาะปี ถูกผลิตขึ้นมากมายถี่ยิบในเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ส่วนมากเป็นประเพณีประดิษฐ์ (invented traditions) คือ อ้างว่าเป็นของเก่าแต่ที่จริงผลิตขึ้นใหม่
    นี่คือการเข้าครอบครองกาละและเทศะของชีวิตปกติอย่างเข้มข้นขึ้นทุกที จนพื้นที่และเวลาของปัจเจกชนและของสังคมไทยที่ปลอดจากลัทธิกษัตริย์นิยม เหลือน้อยลงทุกที
  2. การยกย่องพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์อย่างเหลือเชื่อ เหนือมนุษย์ เกินพอเหมาะพอควร เกินงามและเกินจำเป็น อาจมีผู้แย้งว่าเป็นการยกย่องตามธรรมเนียม แต่การเชิดชูบูชาพระมหากษัตริย์ในสมัยก่อนเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมตาม ธรรมเนียมโบราณ ส่วนการยกยอปอปั้นในปัจจุบันเป็นการสร้างอภิมนุษย์ตามค่านิยมของกระฎุมพี สมัยใหม่ Hyper-royalism คือการประจบสอพลอของยุค 40 ปีมานี้เอง
    คงไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างความสอพลอที่มีมากมายจนเป็นปกติและการแข่งกัน ว่าใครจะสอพลอได้น่ามหัศจรรย์กว่ากัน นักลักธิกษัตริย์นิยมไม่ตระหนักว่าความสอพลอพรรค์นี้เป็นลบมากกว่าบวก อีก 50 ปีข้างหน้าการสอพลอเหล่านี้จะเป็นเรื่องตลกที่น่าสมเพชในประวัติศาสตร์
  3. สถาบันกษัตริย์กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นทุกที ความสัมพันธ์กับประชาชนอาศัยศรัทธาและความเหลือเชื่อมากขึ้นทุกที การใช้เหตุผลความเข้าใจลดน้อยถอยลงทุกที ความจงรักภักดีเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมน้อยลง แต่กลับเป็นความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นทุกที ลัทธิกษัตริย์นิยมเปลี่ยนจากอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมกลายเป็นลัทธิความ เชื่อ เป็นกึ่งศาสนา หรือเป็น religiosity ประเภทหนึ่งไปแล้ว [4] religiosity ชนิดนี้ไม่ใช่ศาสนา เพราะเป็นมากกว่าและน้อยกว่าศาสนา อาทิ เช่น กลายเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติด้วย ลัทธินี้ไม่ยอมให้เสรีภาพในการนับถือหรือไม่นับถืออย่างศาสนา ไม่ยอมให้มีการแสดงความศรัทธาต่างๆระดับกันได้อย่างศรัทธาต่อศาสนา [5]
    หากนำข้อ 1 และ 2 มาพิจารณาประกอบกับข้อ 3 นี้ จะพบว่าการยกย่องเกินสมควรได้กลายเป็นธรรมเนียมการแสดงความจงรักภักดีที่ เข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆในชีวิตปกติ มีธรรมเนียมใหม่ๆและข้อห้ามใหม่ๆที่ผลิตขึ้นมาเร็วๆนี้มากขึ้นเรื่อยๆ มีเกณฑ์ที่บังคับให้ผู้คนต้องปฎิบัติตามเพิ่มขึ้นและพิสดารขึ้นทุกที ยิ่งส่งผลให้ลัทธิกษัตริย์นิยมเข้าควบคุมกระทั่งพฤติกรรมและร่างกายของเรา (เช่น จะใส่เสื้อสีอะไรไปทำงาน) ทั้งในที่สาธารณะและในปริมณฑลส่วนตัว ทั้งบนแผ่นดินไทยและไม่ว่าที่ไหนในโลก มาตรการบังคับสามารถตามไปหลอกหลอนให้เราต้องระวังตัวทุกขณะ
  4. มีกฎหมายและมาตรการทางสังคมบังคับให้ต้องแสดงความ นับถืออย่างไม่มีข้อยกเว้น และยิ่งนานวันก็ยิ่งบังคับให้ต้องแสดงความนับถือแบบเดียวกันเหมือนๆกัน ในขณะที่สังคมยอมรับการนับถือศาสนาต่างกันและความเคร่งไม่เท่ากันได้ แต่สังคมไทยทำร้ายผู้ที่ถูกหาว่านับถือเจ้าไม่มากเท่ามาตรฐาน ฆ่าได้ ไล่ออกนอกประเทศได้ ไม่รับเข้ามหาวิทยาลัยได้ หรือทำร้ายในรูปอื่นๆ ซึ่งคนไทยไม่ทำต่อผู้นับถือศาสนาต่างๆกันมากน้อยไม่เท่ากัน
    มาตรา 112 คือ”เสา” หรือหลักค้ำยันการบังคับทางสังคมในข้อนี้ ซึ่งจะกล่าวในหัวข้อถัดไป
  5. Hyper-royalism 40 ปีที่ผ่านมามิใช่แค่ผลงานของรัฐเท่านั้น แต่เป็น religiosity ที่ภาคเอกชนและสาธารณชนร่วมผลิต ร่วมผลิตซ้ำ และร่วมควบคุมบงการกันเอง รัฐไม่ต้องทำเองทั้งหมด กิจกรรมที่เข้าครอบครองเวลาและพื้นที่ของชีวิตเราจำนวนมากเป็นเรื่องของ ประชาสังคมทำกันเอง เอกชนร่วมผลิตและหมุนเวียนลัทธิกษัตริย์นิยมจนกลายเป็นสินค้าได้ (commodification of royalism) แต่สินค้าดังกล่าวอยู่ในสภาวะศักดิ์สิทธิ์(ทำนองเดียวกับพระเครื่อง) ที่เราต่างเข้าถึงได้ด้วยตัวเอง (open access and consumption) ไม่ต้องอาศัยพิธีกรรม และไม่ได้จำกัดอยู่ในมือของพระราชวังอีกต่อไป magic ยิ่งหมุนเวียนหลายรอบและถี่ขึ้นก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าของ magic ให้กระจายทั่วไปในวงกว้างกว่ายุคใดในอดีต ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ชุมชนนิยมเจ้าทำการควบคุมบงการประชาชนเองเพื่อสนองความ เชื่อและตัวตนของตนเอง
    สภาวะ Hyper-royalism ทั้ง 5 ประการไม่ได้จู่ๆเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่มีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เราคงต้องศึกษามากกว่านี้จึงจะอธิบายได้ชัดเจน แต่ในที่นี้ขอลองเสนอประวัติศาสตร์ของ Hyper-royalism อย่างคร่าวๆดังนี้
    Royalism ได้รับการฟื้นฟูจริงจังในยุคสฤษดิ์ทั้งโดยปัจจัยการเมืองในประเทศที่ระบอบ เผด็จการสฤษดิ์ร่วมมือกับฝ่ายเจ้าในการโค่นรัฐบาลก่อนหน้านั้นลงไป ทั้งสองฝ่ายต่างอาศัยซึ่งกันและกัน อีกปัจจัยสำคัญคือการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาซึ่งอาศัยลัทธิกษัตริย์นิยมใน การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
    แต่ Hyper-royalism หรือ กษัตริย์นิยมอย่างเข้มข้นล้นเกินดังที่อธิบายมาดูเหมือนจะเริ่มจากความหวาด กลัวคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฎิวัติอินโดจีน 2518 ซึ่งรวมถึงความเชื่อว่าฝ่ายซ้ายในประเทศเป็นตัวแทน (proxy) ของคอมมิวนิสต์ต่างประเทศเพื่อเข้ายึดครองประเทศไทยและจะทำลายสถาบันพระมหา กษัตริย์
    Hyper-royalism ระลอกแรกจึงได้แก่ประมาณ 2518-2520 และจนถึงสิ้นสุดภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ในประเทศ ลัทธิกษัตริย์นิยมถูกโหมประโคมอย่างหนัก ขบวนการลูกเสือชาวบ้านและฝ่ายขวาอีกหลายกลุ่มอ้างความจงรักภักดีเป็นแหล่ง อำนาจและได้รับการสนับสนุนจากพวกกษัตริย์นิยมทั้งโดยเปิดเผยและในทางลับ ลงท้ายด้วยการฆ่าคอมมิวนิสต์ที่ธรรมศาสตร์อย่างโหดร้ายทารุณ แม้ว่า Hyper-royalism ระยะนี้มีอาการบ้าคลั่ง (hysterical) แต่กลับเป็นระยะแรกที่ยังไม่ได้ผลิตประเพณีใหม่ๆที่เข้าขึดครองชีวิตประจำ วันอย่างแนบเนียนนุ่มนวลเท่ากับระยะต่อมา
    Hyper-royalism ระลอกถัดมาเกิดขึ้นควบคู่กับการเพิ่มอำนาจมากขึ้นทุกทีของระบอบประชาธิปไตย แบบอำมาตย์ คือประมาณ 2520 เรื่อยมา แม้จะลดลักษณะบ้าคลั่งแต่นี่คือยุคทองของ Hyper-royalism เพราะเติบโตขึ้นเรื่อยอย่างไม่มีการทัดทาน มีพิธีกรรมใหม่ๆ เรื่องราวมากมายผลิตออกมาล้นหลาม รุกคืบกาละและเทศะของสังคมมากขึ้นทุกที การยกย่องเหนือเหตุผล และการหมุนเวียนของลัทธิกษัตริย์นิยมที่กลายเป็นสินค้าเกิดขึ้นหลายต่อหลาย รอบจนความเป็น religiosity เกิดขึ้น ตลอดระยะนี้จนถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้กลับไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มี น้ำหนัก ไม่มีใครทัดทาน ไม่มีปฎิกิริยาย้อนกลับ ปฎิกิริยารุนแรงที่สุดแพร่หลายอยู่ใต้ปริมณฑลสาธารณะ คือในรูปของข่าวลือและการซุบซิบนินทา ในภาวะเช่นนี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรา 112 ในการไล่ล่าปราบปรามผู้ที่คิดเห็นต่าง [6]
    จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้เองที่ Hyper-royalism ถูกท้าทายทั้งอย่างเข้มข้นมากขึ้นใต้ปริมณฑลสาธารณะ และเปิดเผยขึ้นใน cyberspace ข้อสังเกตเบื้องต้นที่น่าคิดก็คือ ในภาวะเช่นนี้เองที่ มาตรา 112 ถูกใช้อย่างหนักหน่วงยิ่งกว่าครั้งใดๆในประวัติศาสตร์ และก่อให้เกิดปฎิกิริยาย้อนกลับต่อลัทธิกษัตริย์นิยมอย่างหนักหน่วงอย่างไม่ เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
Hyper-royalism ส่งผลอะไรต่อสังคมไทย
  1. สถาบันกษัตริย์มีความสำคัญต่อการเมืองและขีวิตของ สังคมยิ่งกว่ายุคใดๆ แต่สังคมกลับไม่สามารถอภิปรายว่าควรและไม่ควรมีบทบาทอย่างไร มีการอิงสถาบันกษัตริย์เพื่อใช้อำนาจ แต่ไม่สามารถวิจารณ์ ตรวจสอบอำนาจดังกล่าวได้ ประชาธิปไตยที่มีชั้นบนไม่โปร่งใสจึงเป็นระบอบอำนาจนิยมชนิดหนึ่ง
  2. Hyper-royalism เป็นลัทธิความเชื่อชนิดหนึ่งซึ่งไม่ได้อยู่บนความมีเหตุผล แต่กลับขึ้นอยู่กับศรัทธา ความเชื่อ และความกลัว ทั้งกลัวจะละเมิดโดยไม่ตั้งใจและกลัวว่าคิดต่างจากคนอื่นแล้วจะถูกรังเกียจ ถูกสังคมปฎิเสธ
    สังคมใต้อิทธิพลของลัทธิชนิดนี้ไม่สามารถสร้างประชากรที่มีวิจารณญาณ เพราะวัฒนธรรมทางปัญญาและวิชาการอยู่ภายใต้ความกลัว วัฒนธรรมเซ็นเซอร์ตัวเองแผ่ซ่านจนเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอิสระในการถกเถียงก็ไำม่เกิดปัญญา ในขณะที่ลัทธิ Hyper-royalism เผยแพร่ได้โดยไม่ถูกทัดทาน การศึกษาจึงกลายเป็นการกล่อมประสาท ตีกรอบความคิด ทำให้คนไม่เป็นตัวของตัวเอง ความพยายามปฎิรูปการศึกษาให้ีนักศึกษาคิดเป็นย่อมเป็นเรื่องตลกในเมื่อทั้ง รัฐและสังคมเน้นความเชื่อ เหนือเหตุผลและเน้นการเชื่อฟังตามๆกัน การลงโทษความคิดต่างด้วยกฏหมายและรุมประณามต่อสาธารณะก็เป็นการควบคุมปัญญา สังคมที่มีความกลัวแผ่ซ่านย่อมฝึกฝนให้ประชาชนเอาตัวรอด หลบเลี่ยงหลอกลวงเก่ง แต่ปัญญาถูกจำกัด
  3. Hyper-royalism ทำให้การสื่อสารอย่างโปร่งใสในทางสาธารณะมีขีดจำกัดจนบางเรื่องเชื่อถือไม่ ได้ เนื่องจากความกลัวจนกลายเป็นการควบคุมตัวเองแล้วกลายเป็นการร่วมแพร่ข่าว เท็จประจบสอพลอเองด้วย ข่าวสารในที่สาธารณะเกี่ยวกับสถาบัยกษัตริย์จึงเหลือแค่ด้านเดียวหรือเป็น ข่าวบิดเบือน ข่าวลือจึงหมุนเวียนเต็มไปหมดและบ่อยครั้งมีความจริงมากว่าข่าวสารสาธารณะ เสียอีก ข้อวิจารณ์ ความเห็นใดๆ แม้แต่เรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายจึงหลบเลี่ยงลงใต้ดิน เกิดวัฒนธรรมนินทาเจ้าแผ่ไปทั่วทั้งสังคม นี่คือวัฒนธรรมการวิจารณ์แบบไทยๆภายใต้ Hyper-royalism บ่อยครั้งไม่สร้างสรรค์แต่กลับไม่มีทางเลือกอื่น เพราะการสื่อสารแสดงความเห็นในที่สาธารณะมีแต่การประจบสอพลอ แข่งกันแสดงความจงรักภักดี วัฒนธรรมอาเศียรวาทสดุดีในที่แจ้งแต่นินทาว่าร้ายในที่ส่วนตัวกลายเป็น เรื่องปกติของผู้นิยมเจ้าและประชาชนทั่วไป
  4. สื่อมวลชนส่วนข้างมากคุณภาพตกต่ำไร้ความรับผิดชอบ อย่างน่ารังเกียจ น่าขยะแขยง ในชั้นต้นอาจเริ่มจากความกลัว แต่ต่อมากลายเป็นความเคยชิน การละทิ้งจรรยาบรรณทางวิชาชีพเป็นภาวะปกติ แรกๆก็แก้ตัวว่าต้องทำเพื่อความอยู่รอด นานวันเข้าพวกเขาต้องปกป้องตัวเองว่าทำถูกต้องแล้ว ลงท้ายพวกเขาถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโกหกตอแหล ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดอีกต่อไป แต่เพื่อให้ความชอบธรรมแก่สิ่งที่ตนเป็นและกระทำ ในที่สุดพวกเขาจึงร่วม “ไล่ล่าแม่มด” อย่างสนิทใจ กลายเป็นกลไกโฆษณาชวนเชื่อของลัทธิกษัตริย์นิยมทำร้ายประชาชนอย่างสนิทใจ
  5. ศรัทธาความเชื่อ ความกลัวและการนินทาว่าร้าย แผ่ซ่านทั้งสังคมไปพร้อมๆกัน สองอย่างที่ขัดแย้งกลับอยู่ด้วยกัน และกระทำโดยคนๆเดียวกันเป็นชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องปกติของสังคม นี่คือพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอก ปากว่าตาขยิบ ฯลฯ หรือที่เรียกกันในระยะหลังว่า “ตอแหล” นี่มิใช่แค่พฤติกรรมของบางคนบางเวลา แต่แพร่หลายทั้งสังคมโดยคนจำนวนมากต่างร่วมมือกันทำหรือต้องทำอย่างไม่มีทาง เลือก นานวันจนกลายเป็นพฤติกรรมปกติก็ตอแหลได้อย่างสนิทใจไม่ต้องตะขิดตะขวงใจอีก ต่อไป หมายความว่าทั้งการสอพลอสดุดีเกินจริงและการนินทาแพร่กระจายข่าวลือกลายเป็น “วัฒนธรรมตอแหล” ไปเรียบร้อยแล้ว วัฒนธรรมเช่นนี้แพร่หลายมากในหมู่ผู้จงรักภักดีอย่างถวายหัว พวกเขาล้วนแต่นินทาว่าร้ายเจ้าด้วยความจงรักภักดีอย่างเหลือล้น การตอแหลเพราะจงรักภักดีจึงเป็นลักษณะพิเศษของไทยภายใต้ Hyper-royalism
  6. ในเมื่อความจริง ความวิตกกังวล การวิพากษ์วิจารณ์กระทำไม่ได้ในที่สาธารณะ ทั้งๆที่ความไม่ถูกต้องของพวกกษัตริย์นิยมมีมากมายตำตา ตั้งแต่เรื่องไม่คอขาดบาดตายอย่างผลกระทบต่อการจราจรหรือการใช้จ่ายภาษี ประชาชนเกินสมควร จนถึงเรื่องที่มีผลกระทบสำคัญต่อสาธารณะ เช่น การอิงเจ้าเพื่อแทรกแซงนโยบายและโครงการสำคัญ การโยกย้ายแต่งตั้งผู้มีอำนาจ และการเลือกข้างในความขัดแย้ง แต่สังคมไทยกลับรับรู้แต่ิอาเศียรวาทสดุดีและการถวายความจงรักภักดีอย่าง ตอแหล ภาวะเช่นนี้คือสังคมไทยหลอกตัวเอง ช่วยกันทำเป็นมองไม่เห็น หลอกซึ่งกันและกัน
    ยิ่งไปกว่านั้น นักลัทธิกษัตริย์นิยมกลับชักนำสังคมไทยให้หลอกตัวเองหนักเข้าไปอีกคือความ เชื่อว่าสถาบันกษัตริย์ไทยวิเศษสุดไม่เหมือนที่ใดในโลก เป็นสิ่งวิเศษที่คนไทยควรภูมิใจราวกับได้ขึ้นสวรรค์บนดิน ได้สัมผัสทิพยวิมานพิสดารกว่าใครในโลก สื่อมวลชนช่วยกล่อมสังคมไทยให้เคลิบเคลิ้มหลงใหลดุจตกอยู่ในภวังค์ของยา กล่อมประสาท ความเชื่อว่าสังคมไทยวิเศษสุดกว่าใครคือที่สุดของการหลอกลวงตัวเอง ไม่ต่างเลยกับนิทานฝรั่งเรื่อง The Emperor Has No Clothes
  7. แม้ว่าลัทธิกษัตริย์นิยมจะแผ่ซ่านมากมายขนาดไหนก็ตาม แม้ว่าการบงการควบคุมจะมากขนาดไหนก็ตาม ย่อมมีคนที่คิดต่างอยู่ดี สังคมไทยไม่ใช่สังคมปิดตาย ความคิดต่างมีทั้งผู้ที่รักเจ้าแต่พองาม รักด้วยเหตุผล มีทั้งผู้ที่ไม่ยินดียินร้ายกับสถาบันกษัตริย์ และมีคนไม่รักเจ้าแต่ไม่เคยคิดล้มเจ้าเพราะเคารพผู้อื่น การที่คนเหล่านี้คิดแตกต่างจากความเชื่อที่ครอบงำอยู่ได้ มักต้องอาศัยความใคร่ครวญ เหตุผล ข้อมูล และวิจารณญาณที่มากกว่าการเชื่อตามๆกันทำตามๆกัน
    คนที่คิดต่างจากลัทธิกษัตริย์นิยมมีมาทุกยุคสมัยตั้งแต่สมัยสมบูรณาญา สิทธิราชย์ หลัง 2475 และภายใต้ Hyper-royalism แต่ข้อสังเกตสำคัญมากก็คือ ก่อนการรัฐประหาร 2549 คนที่คิดต่างมักเป็นผลของอุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่าง เช่น นิยมเก็กเหม็ง สังคมนิยม มาร์กซิสม์ หรือเป็นเสรีนิยมที่ยึดมั่นว่าคนเราควรเท่าเทียมกัน แต่คนที่คิดต่างหลัง 2549 คือผลผลิตของ Hyper-royalism นั่นเอง กล่าวคือพวกเขาถูกทำร้าย ถูกละเมิดสิทธิเสียง และลงท้ายถึงขนาดถูกฆาตกรรมกลางเมืองหลวงโดยพวกกษัตริย์นิยม จึงเกิดปฎิกิริยาตอบโต้ลัทธิกษัตริย์นิยม ครั้นคนเหล่านี้ตื่นพ้นจากภวังค์กล่อมประสาทของ Hyper-royalism ไม่ยากเลยที่เขาจะ “ตาสว่าง” ตระหนักถึงการกระทำและผลของ Hyper-royalism ที่กล่าวมาข้างต้น
    Hyper-royalism เองนั่นแหละเป็นสาเหตุและผู้สร้างปรากฏการณ์ “ตาสว่าง”
    ผู้ที่สมาทานลัทธิการเมืองใดๆที่เคยท้าทายลัทธิกษัตริย์นิยมไม่เคยสามารถ ทำได้ถึงขนาดนี้มาก่อนเลย ทักษิณก็ทำไม่ได้และหากเขาบงการทุกอย่างจริงอย่างที่ศัตรูของเขากล่าวหา คงไม่มีทางเกิดปรากฏการณ์ตาสว่างอย่างที่เป็นอยู่ เพราะคงจะมีแต่คนที่กราบกรานขอให้พวกกษัตริย์นิยมยอมให้อภัย
  8. เราอาจกล่าวได้ว่า มีวิกฤติอย่างหนึ่งในสังคมไทยที่ชัดแจ้งตำตาแต่คนไทยยังพยายามหลอกตัวเอง แถมพยายามปฎิเสธวิกฤตินี้ด้วยการไล่ล่าปราบปรามคนที่คิดต่างหรือจงรักภักดี ไม่เท่ามาตรฐานของ Hyper-royalism นั่นคือ วิกฤติของความจงรักภักดี
    Hyper-royalism ที่ครอบงำสังคมไทยมานานกว่า 40 ปีกำลังเผชิญวิกฤติอย่างหนัก ภายใต้สภาวะนี้เอง มาตรา 112 จึงถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ ปัญหามีอยู่ว่า การไล่ล่าทำร้ายคนที่คิดต่างจะสำเร็จเมื่อไร หรือจะยิ่งผลิตปฎิกิริยาสวนกลับต่อ Hyper-royalism มากขึ้นไปอีก
    วิกฤติของความจงรักภักดี เป็นปรากฎการณ์อีกอย่างที่มีสาเหตุมาจากระบอบสังคมการเมืองที่ฉุดรั้งขัดฝืนความเปลี่ยนแปลง
มาตรา 112 ภายใต้ Hyper-royalism
“กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มีมานานแล้ว รวมทั้งในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่กฎหมายประเภทนี้กลับมีบทบาทมากน้อยเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคมการเมือง
ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลับไม่มีการใช้กฎหมายนี้พร่ำเพรื่อนัก และไม่ใช่เครื่องมือบังคับควบคุมความคิดของคน ทั้งนี้มิใช่เพราะพระมหากรุณาธิคุณมากน้อยของพระมหากษัตริย์พระองค์ใด แต่เป็นเพราะระบอบการเมืองนั้นมีกลไกรัฐและกฎหมายอื่นในการควบคุมทางสังคม ตัวอย่างเช่น การละเมิดพระราชอำนาจย่อมถือว่าเป็นกบฎก็ได้ ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงมีความหมายเฉพาะจำกัดอยู่ที่การหมิ่น ประมาทองค์พระมหากษัตริย์ ไม่มากและไม่น้อยไปกว่านั้น และไม่มีนัยหรือผลกระทบทางการเมืองเท่าไรนัก
กฎหมายหมิ่นฯ เริ่มเป็นอาวุธทรงพลังก็ต่อเมื่อนักลัทธิกษัตริย์นิยมเอามาใช้เป็นเครื่อง มือเพื่อช่วยสถาปนาประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ โดยถือว่าความผิดนี้เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ
นัยสำคัญของประเด็นนี้มิได้อยู่ที่ว่าสถาบันกษัตริย์สำคัญของชาติหรือไม่ อย่างที่บางคนโต้เถียง เพราะมีเรื่องสำคัญต่อความมั่นคงของชาติอีกมากมายที่มิได้ถูกจัดอยู่ในหมวด ความมั่นคงของชาติ แต่เป็นเรื่องของกลไกทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวคือ จากการศึกษาของ David Streckfuss พบว่าภายใต้ระบอบเผด็จการอันยาวนานของไทย บรรดาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงถูกดำเนินการโดยกระบวนการยุติธรรมที่วิปลา ศผิดหลักการต่างจากการะบวนการยุติธรรมต่อความผิดอาญาอื่นๆ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทประเภทหนึ่งกลับ อยู่ใต้กระบวนการยุติธรรมที่ผิดปกติต่างจากความผิดหมิ่นประมาทอื่นๆ ความผิดปกติเกิดจากกระบวนการยุติธรรมที่สยบต่ออำนาจและรับใช้อำนาจเป็นอา จินต์ แถมยึดเอาความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ และเหตุผลของรัฐซึ่งเต็มไปด้วยอคติคับแคบ มาเป็นมาตรฐานในการพิจารณาความถูกผิดคดีความมั่นคงเหล่านี้
กระบวนวิธีพิจารณาคดีความมั่นคงบิดเบี้ยวไปจากมาตรฐานของกระบวนการ ยุติธรรมปกติ ที่สำคัญได้แก่ มักถือว่าจำเลยกระทำความผิดร้ายแรงจนกว่าจำเลยจะพิสูจน์ได้ว่าตนบริสุทธิ์ ดังนั้นจึงมักไม่ให้ประกันตัว และภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับจำเลยแทนที่จะตกอยู่กับฝ่ายโจทก์ นอกจากนี้ ปกติการพิสูจน์ความผิดอาญาต้องเคร่งครัดชัดเจน หากไม่ชัดเจนต้องยกประโยชน์ให้จำเลย แต่ในคดีความมั่นคงกลับมักตีความกฎหมายอย่างกว้างให้ครอบคลุมการกระทำที่ ต้องสงสัยแม้จะไม่ชัดเจนก็ตาม
กระบวนการยุติธรรมสำหรับความผิดตามมาตรา112 ก็ผิดปกติในทำนองเดียวกัน ตัวอย่างกรณี “อากง” คงช่วยอธิบายความผิดปกติได้ดี
  • เริ่มจากไม่ให้ประกันทั้งๆที่ยังไม่มีการพิสูจน์
  • ศาลยอมรับว่าฝ่ายโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าอากงกระทำความผิดแต่ศาลเชื่อว่าผู้กระทำผิดย่อมพยายามปกปิดความผิดไว้จึงทำให้พิสูจน์ยาก
  • โจทก์ไม่ต้องพิสูจน์ว่าอากงครอบครองเครื่องโทรศัพท์ในขณะเกิดการกระทำ ความผิด อากงเป็นฝ่ายต้องพิสูจน์ว่าเอาเครื่องไปซ่อม เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ศาลจึงถือว่าไม่ได้เอาไปซ่อม
  • ไม่มีการพิสูจน์ว่าจำเลยกระทำการส่งข้อความหรือไม่ เพียงแค่พิสูจน์ว่าเป็นเจ้าของเครื่องและครอบครองเครื่องในขณะเกิดการกระทำ ความผิดก็พอ ผู้พิพากษายอมรับเองว่าเป็นหลักฐานแวดล้อมทั้งสิ้น (เราอาจเปรียบกับการเป็นเจ้าของรถที่ถูกนำไปโจรกรรมหรือเป็นเจ้าของอาวุธที่ ถูกเอาไปใช้ฆ่าคนตาย) ซึ่งในคดีอาญาปกติต้องมีการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดด้วย แต่ในกรณีนี้กลับไม่จำเป็น
ความผิดปกติวิปลาศที่สำคัญที่สุดคือ เนื่องจากเป็นความผิดต่อความมั่นคงจึงเปิดให้ใครก็ตามที่พบเห็นการกระทำที่ สงสัยว่าเข้าข่ายความผิด สามารถแจ้งต่อเจ้าพนักงานได้ ต่างลิบลับจากคดีหมิ่นประมาททั่วไปซึ่งผู้เสียหายเท่านั้นจึงจะมีสิทธิฟ้อง ด้วยเหตุนี้เอง คอป.ของ ดร.คณิต ณ นคร ยังต้องพยายามหาทางออกเพื่อแก้ปมปัญหานี้ (แต่ คอป. มิได้เสนอให้แยกความผิดตามมาตรา 112 ออกมาตั้งเป็นหมวดต่างหากจากคดีความมั่นคง แต่ให้ถือว่าความผิดต่อความมั่นคงชนิดนี้ต้องให้อำนาจแก่ผู้เสียหายหรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบแทนเท่านั้นเป็นผู้ฟ้อง)
มาตรา 112 ได้สร้างสมปมปัญหาแก่กระบวนการยุติธรรมอีกมากมายหลายประการ เช่นปัญหาขอบเขตอำนาจบังคับ ดังจะเห็นได้จากการลงโทษการกระทำที่เกิดนอกประเทศหรือไปสอบสวนในต่างประเทศ ปัญหาบทลงโทษที่สูงเกินเหมาะสมและหนักหนาสาหัสกว่าที่ใดในโลก
แต่ผู้สมาทาน Hyper-royalism ถือว่ามาตรา 112 เป็นบทบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ ห้ามแก้ไขหรือแตะต้อง แม้จะกระทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ตาม (แต่ถ้าแก้โดยคณะรัฐประหารที่เถลิงอำนาจหลังอาชญากรรมที่โหดร้ายกลับยอมรับ ได้) การถกถึยงไม่ต้องใช้เหตุผลหรือหลักวิชาใดๆ แต่ใช้ความเชื่อ ศรัทธา และโฆษณาชวนเชื่อ แม้แต่นักกฎหมายของพวกกษัตริย์นิยมก็ไม่จำเป็นต้องใช้หลักกฎหมาย และไม่ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของกฎหมายนี้ในสังคมไทย ทำไมเป็นเช่นนั้น?
เพราะมาตรา 112 เป็นมากกว่ากฎหมายอาญามาตราหนึ่ง คือเป็นเครื่องมือบังคับควบคุมความคิดของลัทธิ Hyper-royalism สามารถใช้ได้หลายทาง ได้แก่ การลงโทษเพื่อขีดเส้นเป็นบรรทัดฐานว่าแค่ไหนเป็นความผิด การสร้างความกลัวทั้งในแง่กฏหมาย (เพราะโทษรุนแรงและกระบวนการผิดปกติ) และกลัวถูกสังคมลงโทษ ก่อให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไปจนถึงใช้ปลุกความบ้าคลั่งไล่ล่าทำร้ายคนอื่นทั้งอย่างตักเตือนและอย่างโหด ร้ายทารุณ การใช้มาตรา 112 ยังเปลี่ยนไปตามเวลาด้วย เช่น แต่ก่อนชาวต่างชาติที่ทำผิดจะโดนเนรเทศทันทีโดยไม่จำคุก เพิ่งโดนจำคุกในระยะหลัง การใช้มาตรา 112 ในแบบล่าสุดระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือใช้ทำลายจิตวิญญาณ หมายถึงการใช้อย่างไร้ความปรานีจนกว่าจะยอมรับสารภาพ คือมักจับไว้ก่อน ไม่ให้ประกันตัว พิจารณาลับ ลงโทษรุนแรง แต่ให้ความหวังว่าจะพ้นคุกได้เร็วถ้ายอมรับสารภาพ จนหลายคนยอมแพ้ในที่สุด นี่คือการทำร้ายถึงจิตวิญญาณ หากต้องการอิสรภาพทางกายต้องยอมแพ้ราบคาบทางมโนสำนึก ชีวิตที่มีอิสระทางกายต้องขังจิตวิญญาณเสรีไว้ข้างในตลอดไป [7]
มาตรา 112 ถูกใช้ใน Hyper-royalism ช่วงแรก (2518-2520) ด้วยความกลัวคอมมิวนิสต์จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แม้ปริมาณคดีไม่เท่าระยะไม่กี่ปีมานี้แต่ก็มากกว่าก่อนหน้านั้น ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปราบปรามนักศึกษาปัญญาชนฝ่ายซ้ายในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้คณะปฎิรูปขวาจัดหลัง 6 ตุลาจึงถือเป็นภารกิจต้องเพิ่มโทษความผิดตามมาตรา 112 อันเป็นปัญหาจนทุกวันนี้
เอาเข้าจริงมาตรา 112 ไม่ถูกนำมาใช้เท่าไรนักระหว่าง 2520 เศษถึง 2540 เศษซึ่งเป็นช่วงที่ Hyper-royalism เติบโตอย่างมาก คดีที่เกิดขึ้นจำนวนไม่มากนักมักไม่ผูกโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ สำคัญในขณะนั้นๆ ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะการสถาปนาอำนาจนำของประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ใน ระยะนั้นเป็นการแข่งขันกับกองทัพซึ่งอ้างอิงสถาบันกษัตริย์้เป็นแหล่งอำนาจ เช่นกัน ทั้งยังเป็นความขัดแย้งกันในหมู่ “ชั้นบน” เหนือระบอบประชาธิปไตยด้วยกัน ดังนั้น ประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยจึงไม่เกิด ขึ้น แม้แต่ในไม่กี่กรณีที่การแข่งขันกับกองทัพถึงจุดที่น่าวิตก ก็ไม่เคยต้องยกประเด็นความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยขึ้น มา ตลอดช่วงดังกล่าว Hyper-royalism ขยายตัวเติบโตได้โดยแทบไม่ปรากฎผู้ทัดทานวิพากษ์วิจารณ์ มีแต่แข่งกันอวดความจงรักภักดี จึงไม่ต้องใช้มาตรา 112
การใช้มาตรา 112 เป็นอาวุธบ่อยครั้งจนเป็นประเด็นในขณะนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติความจงรักภักดีดังได้กล่าวมาแล้ว เมื่อมีผู้คิดต่าง วิพากษ์วิจารณ์ หรือปฏิเสธ Hyper-royalism มากขึ้นฝ่ายกษัตริย์นิยมทั้งกลไกรัฐและในประชาสังคมจึงเอามาตรา 112 เป็นอาวุธปกป้องลัทธิความเชื่อของตนเองและปกป้องระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์
จะแก้ ไม่แก้ แก้แค่ไหนอย่างไร หรือควรยกเลิกไปเสียเลย จึงมิใช่แค่ปัญหาเทคนิคทางกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่ใหญ่โตกว่านั้นมาก และเป็นความขัดแย้งที่มีลักษณะเฉพาะของปัจจุบันแต่จะส่งผลมหาศาลต่ออนาคตของ สถาบันกษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยของไทย
ถ้าหากผู้สมาทาน Hyper-royalism ต้องการยืนยันรักษามาตราศักดิ์สิทธิ์ หวังรักษาระบอบประชาธิปไตยอำมาตย์ไว้ชั่วนิรันดร์ ก็จะยิ่งผลักให้สถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้น เพราะมาตรา 112 ได้กลายเป็นอาวุธในการฉุดรั้งขัดฝืนความเปลี่ยนแปลง
แต่หากไม่อยากให้อันตรายต่อสถาบันกษัตริย์และสังคมไทยสะสมมากไปกว่านี้ ต้องหาทางแก้ความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย นิติราษฎร์ได้เสนอทางออกหนึ่งไว้ให้แล้วด้วยเจตนาดี ไม่อยากเห็นความขัดแย้งไปถึงจุดที่ทุกคนต้องสลดใจ
นิติราษฎร์และคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 สามารถเอาตัวเองออกจากความเจ็บปวดในปัจจุบันได้อย่างสบายๆ แต่พวกเขายอมเจ็บตัวเพื่อช่วยหาทางออกแก่สังคมไทย แต่พวกลัทธิกษัตริย์นิยมกลับไม่เห็นความน่าสมเพชและความอับจนของตนเอง
ในอนาคตประวัติศาสตร์จะบันทึกว่า เป็นความผิดพลาดมหันต์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่ฟังนิติราษฎร์และครก. 112 แถมยังผลักไสทำร้ายความปรารถนาดีของพวกเขา
ความวิปลาศของอนารยธรรม
ในระยะที่ผ่านมามีคำกล่าวและปราการณ์มากมายที่สะท้อนความวิปลาศในสังคม ไทย ทุกปรากฎการณ์ที่จะยกเป็นตัวอย่างต่อไปนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นในสังคมอารยะ แต่สังคมไทยกลับไม่รู้สึก ไม่ได้เห็นเป็นความผิดปกติแต่อย่างใด
เหตุที่ต้องคิดเทียบกับสังคมอารยะเพราะสังคมไทยเติบโตถึงทุกวันนี้ได้ ด้วยการปรับตัวให้เข้ากับอารยธรรมของโลก เราเข้าใจประวัติศาสตร์ครึ่งเดียวมาตลอดว่าสยามได้รับการยอมรับจากประชาคม โลกเพราะเราเป็นไม่ตกเป็นเมืองขึ้น แท้ที่จริงสยามที่เป็นเอกราชยังไม่ได้รับการยอมรับจนกระทั่งสยามได้พิสูจน์ ว่าตนมีอารยธรรม ผู้ดีกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งหลายเข้าใจข้อนี้ดี
ขอบอกว่าโลกกำลังจับตามองอารยธรรมของสังคมไทยด้วยความเหนื่อยหย่าย ข้อท้วงติงจากนานาชาติเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ผ่านมานับว่าเบากว่าความรู้สึกที่แท้จริงที่สังคมอารยะมีต่อกรณีนี้อยู่ มาก
ตัวอย่างที่ 1 มหาวิทยาลัยที่รับก้านธูปถูกตั้งคำถาม ถูกตำหนิ แถมมีคนตามล้างตามเรียกร้องให้ธรรมศาสตร์ไล่เด็กออกไป แต่มหาวิทยาลัยที่ปฎิเสธก้านธูปเพียงเพราะความคิดของเธอกลับไม่ถูกสอบสวน ไม่ถูกลงโทษ ไม่โดนสังคมประณามด้วยซ้ำไป ในสังคมอารยะอื่นๆ การกระทำผิดๆเช่นนี้เคยเกิดมาแล้ว เช่นในยุคแมคคาร์ธีหรือยุคล่าแม่มดสมัยใหม่ กลายเป็นรอยด่างทางประวัติศาสตร์ที่น่ารังเกียจ จึงไม่มีทางเกิดในยุคนี้อีก ในสังคมอารยะอื่นๆอาจารย์ที่ฟ้องนักศึกษาเพียงเพราะความคิดต่างควรถูกไล่ออก เพราะเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ ละเมิดจรรยาบรรณของนักวิชาการอย่างไม่ควรให้อภัย แต่สังคมไทยเฉย แถมกลับลงโทษเหยื่อ
ตัวอย่างที่ 2 การออกมาขับไล่คนที่ไม่สมาทานลัทธิ Hyper-royalism ให้ออกนอกประเทศ
พฤติกรรมแบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นในอารยสังคม เพราะเป็นการกระทำที่โง่เขลาน่าสมเพชสิ้นดี เอาอะไรมาเป็นเหตุผลขับไล่คนที่คิดต่างจากลัทธิของตัวออกนอกประเทศที่เขา เป็นเจ้าของ
ในอารยประเทศ คนที่ขับไล่ผู้คิดต่างออกนอกประเทศจะถูกด่าประณามและถูกเรียกร้องให้ขอโทษ ยิ่งถ้าคนพูดเป็นผุ้บัญชาการทหารยิ่งเป็นความผิด 2 ชั้นเพราะเขาไม่มีสิทธิให้ความเห็นทางการเมืองตราบที่ยังอยู่ในอำนาจ เขาไม่มีเสรีภาพให้ความเห็นทางการเมือง ถ้าอยากทำก็ออกจากอำนาจเสียก่อน ถ้าเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตย เขาถูกปลดไปแล้วอย่างแน่นอน
แต่สังคมไทยไม่ว่าอะไร แถมนักข่าวยังป้อนคำถามการเมืองให้ขุนทหารตลอดเวลา
ตัวอย่างที่ 3 คำกล่าวประเภท “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” สะท้อนจิตใจและรสนิยมต่ำของผู้พูด ยิ่งเป็นสื่อมวลชนที่มีผู้ฟังมากมาย ในอารยสังคมเขาจะถูกประณาม ถูกเรียกร้องให้ขอโทษหรือถูกถอดรายการเพราะถือเป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม คำกล่าวที่รุนแรงน้อยกว่านี้ยังโดนปลดออกจากผังรายการมาแล้วหลายราย แต่สังคมไทยเฉย
ตัวอย่างที่ 4 เมื่อนิติราษฎร์ถูกขู่ ถูกทำร้ายหยาบคายด้วยวาจา ถูกคุกคามโจ่งแจ้งเปิดเผย นิติราษฎร์จึงถูกลงโทษจากสังคมและถูกจำกัดพื้นที่ ถูกเรียกร้องให้สอบสวน ให้ลงโทษทางวินัย
ในอารยสังคม เขาเรียกร้องอาการทำนองนี้ว่าการลงโทษเหยื่อที่ถูกข่มขืนเพื่อป้องกันไม่ให้ เกิดการข่มชืน ในอารยสังคม ไม่ว่าหญิงคนนั้นจะแต่งกายอย่างไรย่อมไม่ใช่เหตุของการข่มชืน ต้องลงโทษและกำราบผู้คุกคามทำร้ายคนอื่นเท่านั้น
แต่มหาวิทยาลัยของไทยและสื่อมวลชนรุมกระหน่ำโจมตีเหยื่อผู้ถูกทำร้าย ยังดีที่อธิการบดีออกมายืนยันว่าไม่มีความผิด ไม่มีการสอบสวน ไม่มีการลงโทษทางวินัย แต่ผู้เขียนสลดใจอยู่ดีที่ไม่มีใครออกมาเตือนสติสังคมไทยว่า การเรียกร้องให้สอบสวนลงโทษทางวินัยเป็นเรื่องวิปลาศวิปริตสิ้นดี
ถ้าวัฒนธรรมพิเศษอย่างไทยเป็นใหญ่ในโลก ป่านนี้ Salman Rushdie คงถูกลากคอออกมาตัดหัวไปแล้ว
โปรดตระหนักว่า ความวิปริตเช่นนี้มีอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว เพราะนี่คือเชื้อมูลของการที่คนจำนวนมากยืนดูการแขวนคอ เผาทั้งเป็น ตอกอกในที่สาธารณะได้โดยไม่เข้าช่วยเหลือยับยั้ง ความวิปริตข้อนี้มีมูลเหตุเดียวกันกับความพึงพอใจขณะดูเก้าอี้ฟาดร่างไร้ ชีวิตบนปลายบ่วงเชือก
ตัวอย่างที่ 5 จนป่านนี้ยังมีปัญญาชนวิปริตเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารอยู่อีก
ยังมีการให้พฤติกรรมคำกล่าววิปลาศอีกมากมายในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บางข้อยากขึ้นนิดที่จะอธิบายว่าทำไมจึงวิปลาศ แต่หากคิดให้ดีจะพบว่าตลกและไร้เดียงสา อาทิเช่น คำกล่าวที่ว่า “อย่าละเมิดเสรีภาพของในหลวง” หรือข้อเขียน 2 ครั้ง ของนักเขียนใหญ่รายหนึ่งที่ว่า “ขอพื้นที่ให้คนที่ศรัทธาอย่างแท้จริงบ้าง” ทั้งๆที่ท่านมีพื้นที่ทั่วประเทศไทย ทั้งในธรรมศาสตร์ ราบ 11 และราชประสงค์ ในเขตราชการและเขตพระราชวัง แต่คนที่ขอใช้เหตุผลอย่างบริสุทธิ์ใจกลับถูกคุกคามทำร้าย ถูกปิดกั้นพื้นที่ และถูกขอคืนพื้นที่ด้วยกระสุนจริง
เวลาได้ยินได้พบเห็นความวิปลาศพรรค์นี้ ผู้เขียนมักนึกถึงตำนานเกี่ยวกับการปฎิวัติฝรั่งเศสที่เล่าว่า พระนางมารี อังตัวเนต บอกแก่คนยากจนว่า “หากไม่มีขนมปัง แล้วทำไม่กินเค็ก” เรื่องนี้ไม่ใช่ความจริงแต่ตำนานยืนยงตลอดมาเพื่อสะท้อนความวิปริตของสังคม ฝรั่งเศสก่อนการปฎิวัติซึ่ง ราชสำนักและพวกกษัตริย์นิยมขังตัวเองอยู่ในโลกของตนโดยไม่เข้าใจความเปลี่ยน แปลงที่กำลังเกิดขึ้น ตำนานคำพูดของพระนางเป็นเรื่องตลกทำนองเดียวกับตลกวิปลาศที่กำลังเกิดขึ้นใน สังคมไทยช่วงนี้
อีก 50 ปีข้างหน้าประวัติศาสตร์อาจจะบันทึกความผิดปกติของสังคมไทยปัจจุบันโดยจดจำ ความวิปลาศที่ยกตัวอย่างมาจนเป็นตำนาน เช่น คำกล่าวที่ว่า “อย่าละเมิดเสรีภาพของในหลวง”
ความวิปลาศผิดจากอารยสังคมเหล่านี้สะท้อนอะไร?
คำตอบที่ 1 สะท้อนว่าสังคมไทยมีลักษณะพิเศษ อย่างที่ปัญญาชนลัทธิกษัตริย์นิยมมักอ้างเสมอๆ พิเศษเสียจนการใช้เหตุผล จรรยาบรรณ มาตรฐานตามปกติของอารยสังคม เอามาใช้กับสังคมไทยไม่ได้ พวกเขากล่าวเสมอว่าความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับพสกนิกรไทยพิเศษไม่ มีที่ใดเหมือนและอาจเข้าใจยากสำหรับชาวต่างชาติ หมายความว่าพิเศษจนต้องยุติการใช้เหตุผล ยุติอารยธรรมตามปกติ ยุติมนุษยธรรมปกติ และต้องใช้ความเชื่อ ศรัทธาเหนือเหตุผล หรือเหตุผลวิปลาศ กลับหัวกลับหาง ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมผิดปกติดำเนินต่อไป เช่นนั้นหรือ
คำตอบที่ 2 สะท้อนว่าสังคมไทยป่วยหนัก ป่วยหนักมากจนหลง จนหลอกตัวเองไม่รู้ว่ากำลังป่วย ป่วยจนยอมถลำลึกลงไปในวิถีทางฝืนความเปลี่ยนแปลง แต่กลับละเมอว่าทุกอย่างยังคงดีเหมือนเดิม ป่วยจนอธิบายหาเหตุผลไม่ได้ก็อ้างว่าเป็นลักษณะพิเศษ สำนวนปัจจุบันเรียกว่า “ไปไม่เป็น” แต่สังคมไทยกลับเชื่ออย่างภาคภูมิใจ
อาการวิปลาศอย่างที่กล่าวมายังสะท้อนด้วยว่าสังคมไทยไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งพอ นั่นคือ วัฒนธรรมทางปัญญาตกต่ำ
เราเถียงกันด้วยเหตุผลไม่ค่อยได้ไกลเพราะเราอยู่กันด้วยความเชื่อกับด้วย ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล เรากลัวคนคิดเป็น เราไม่ชอบปัจเจกชนที่กล้าคิด เป็นอิสระ เรากลัวคนที่คิดนอกกรอบ
ความอ่อนแอทางปัญญา สะท้อนออกมาในสองวงการที่คุณภาพต่ำอย่างน่าวิตก คือ ระบบการศึกษาและสื่อมวลชน แต่ขออนุญาตไม่อภิปรายปัญหาในวงการทั้งสองในที่นี้เพราะเป็นปัญหาใหญ่เกินไป
แต่ที่เน้น 2 วิชาชีพนี้เพราะมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างปัญญาที่จะช่วยให้สังคมรู้จักคิด ฝ่าการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติและความรู้ หรือสรัางปัญหา กล่อมประสาทตอแหลหลอกลวงตัวเองจาสายเกินการณ์ (อีกเหตุผลเพราะเป็นวิชาชีพที่ผู้เขียนพอรู้จักมากหน่อย อย่างน้อยผู้เขียนก็พอรู้ว่ามหาวิทยาลัยและวงวิชาการที่ดีมีมาตรฐานสูงเป็น อย่างไร) ความตกต่ำของวิชาชีพทางปัญญาเป็นเหตุหนึ่งของความวิปลาศยามสังคมเผชิญความ เปลี่ยนแปลงแล้วเอาแต่ขัดฝืนฉุดรั้ง ในทางกลับกัน ครั้นความวิปริตวิปลาศเหล่านี้เกิดจนเป็นปกติ ผู้คนไม่รู้สึกอะไร ไม่ถูกทัดทาน ไม่ต้องขอโทษ ไม่ถูกปลด ไม่ถูกสอบสวน มาตรฐานทางการเมืองก็ไม่ต้องรับผิด ความไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีพรรค์นี้เองที่มีส่วนทำให้มาตรฐานและจรรยาบรรณ ของวงวิชาการและสื่อมวลชนตกต่ำอย่างน่าวิตก
บ่อยครั้งผู้เขียนรู้สึกเหมือนสังคมไทยอยู่ในยุคของกาลิเลโอ ในยุคนั้นอำนาจอยู่กับศาสนจักรที่ยึดมั่นในความรู้ความคิดผิดๆ ห้ามกาลิเลโอเผยแพร่ความรู้ใหม่ที่ถูกต้องซึ่งต่อมามีผลต่อการปฎิวัติวิทยา ศาสตร์ขนานใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก เพราะสิ่งที่กาลิเลโอเสนอขัดแย้งกับความเชื่อและศรัทธาของผู้มีอำนาจและ สังคมในขณะนั้น
กาลิเลโอไม่มีโอกาสอยู่ดูชัยชนะของเขา มนุษยชาติที่โหดร้ายเป็นหนี้บุญคุณเขาแต่ไม่เคยสามารถกล่าวขอโทษเขาได้ต่อหน้า
มนุษย์เราโหดร้ายและขลาดเขลาพอที่จะทำอย่างนี้เป็นประจำ เพราะมนุษย์ปกติมักสายตาสั้น มองโลกแคบ ยิ่งสังคมที่ขาดวุฒิภาวะทางปัญญายิ่งขลาดเขลาเกินกว่าจะมองเห็นความเป็น อนิจจังของสังคม กลัวการเปลี่ยนแปลง หลงยึดมั่นถือมั่นกับเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเชื่อว่าไม่มีทางเปลี่ยนแปลง จนไม่สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเขา อคติอวิชชาทำให้เขาคับแคบ ลุ่มหลงตัวเองว่าพิเศษกว่าใครอื่นจนสามารถหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงไว้ได้
คนพวกนี้จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์อย่างน่าสงสารว่าเป็นผู้ฉุดรั้งขัด ฝืนความเปลี่ยนแปลงจนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างที่ไม่น่าต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 6 ตุลา 2519 พฤษภา 2535 เมษา–พฤษภา 2553 และอีกหลายเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิด
ในท้ายที่สุด
ณ ปลายรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงค์จักรี สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาหนักหน่วงอย่างน้อย 4 ประการที่สำคัญไม่แพ้กันทั้งนั้น คือ
  1. รัฐธรรมนูญ คือ เรื่องของกรอบกติกาทางการเมืองที่จะเอื้ออำนวยหรือยิ่งขัดฝืนความเปลี่ยนแปลง
  2. ความขัดแย้งชายแดนภาคใต้และปัญหาการกระจายอำนาจทั่วทั้งประเทศ คือเรื่องรูปการของรัฐที่ปรับตัวน้อยเกินไปหรือแทบไม่ปรับโดยพื้นฐานมา ตั้งแต่ 100 กว่าปีก่อน
  3. โศกนาฎกรรมเมื่อเดือน เมษา-พฤษภา 2553 และอาชญากรรมของรัฐอีกหลายครั้งในอดีตรวมถึงการปราบปรามในชายแดนภายใต้ด้วย นี่เป็นปัญหาความยุติธรรม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่สุดของความสัมพันธ์ราบรื่นในสังคม
  4. มาตรา 112 เป็นกุญแจไขประตูไปสู่การเผชิญปัญหาที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์ นั่นคือ ปัญหาบาทบาทสถานะของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร
ปัญหาทั้งหมดนี้ต้องแก้ด้วยความหนักแน่น สติ และปัญญา ไม่ใช่ด้วยโฆษณาชวนเชื่อหรือใส่ร้ายป้ายสีอย่างขาดความรับผิดชอบ ขอสื่อมวลชนแค่ทำตามจรรยาบรรณ อย่าสุมไฟ
เราต้องการวุฒิภาวะทางปัญญาและการเมืองที่จะคุยกันอย่างอารยชน มิใช่แข่งกันแสดงความจงรักภักดีอย่างขาดสติ
กรุณาคิดถึงอนาคต มิใช่แค่การเมืองระยะสั้นๆ
สังคมไทยที่พึงปรารถนาควรใจกว้าง อยู่ร่วมกันได้ไม่ว่าคิดแตกต่างกันขนาดไหน ในที่นี้หมายถึงคนที่รักเจ้าไม่เท่ากัน ในแบบต่างๆกัน และคนที่ไม่ยินดียินร้าย หรือคนที่ไม่รักเจ้าเลยก็ตาม ตราบเท่าที่เขาไม่ใช้ความรุนแรงบังคับข่มเหงใครหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงระบอบการเมืองด้วยความรุนแรง
ไม่ใช่สังคมภายใต้ Hyper-royalism ที่เที่ยวไล่ล่าปราบปรามคนที่คิดต่าง
หลังรัฐประหาร 2549 ผู้เขียนเคยสงสัยว่า “ฤานี่จะเป็นอภิชนาธิปไตยชบวนสุดท้าย”
ในขณะนั้นผู้เขียนมิได้เข้าใจภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เสนอใน วันนี้ ผู้เขียนเพียงแต่เห็นปรากฎการณ์ที่พวกกษัตริย์นิยมทิ้งไพ่สำคัญๆออกมาบนโต๊ะ จนหมดหน้า
ถึงวันนี้ผู้เขียนยังขอชวนคิดเช่นเดิมว่า “ฤานี่จะเป็นอภิชนาธิปไตยขบวนสุดท้าย”
ผู้เขียนไม่ทราบว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้ ผู้เขียนไม่ทราบจริงๆว่าจะเป็นขบวนสุดท้ายหรือไม่เป็น แต่ค่อนข้างมั่นใจว่า อีก 50 ปีข้างหน้า ประวัติศาสตร์จะย้อนมองมายังปัจจุบัน จะเห็นมูลเหตุของวิกฤติ 3 ประการใหญ่ดังที่กล่าวมา จะเห็นว่าวิกฤติของระบอบประชาธิปไตยแบบอำมาตย์เกิดจากความสำเร็จย้อนกลับมา ท้าทายระบอบดังกล่าวเสียเอง จะเห็นความไม่สามารถปรับตัวอันเกิดจาก Hyper-royalism และจะบันทึกความพยายามของคนจำนวนหนึ่งรวมทั้งนิติราษฎร์และครก.112 ที่จะหาทางออกแก่สังคมไทยด้วยความปรารถนาดี
แต่ผู้เขียนไม่ทราบว่า ลงท้ายระบอบการเมืองปัจจุบันปรับตัวสำเร็จหรือไม่ อันตรายที่แท้จริงอันเกิดจากการฉุดรั้งขัดฝืนความเปลี่ยนแปลงจะถูกถอดชนวน ทันกาลหรือจะดึงดันไปถึงจุดสุดท้ายของอภิชนาธิปไตยขบวนนี้
สังคมไทยจะยอมปลดล็อค เปิดประตู แล้วเดินเข้าสู่ประตูของการปรับตัวหรือไม่ นิติราษฎร์ และ ครก. 112 ช่วยเสนอทางปลดล็อคให้ทางหนึ่งแล้ว
เราท่านทุกคนมีส่วนในการตัดสินใจเพื่ออนาคตของสังคมไทย และลูกหลานของเรา
อ้างอิง:
[1] พวก กษัตริย์นิยม หมายถึงใครก็ตามที่อิงสถาบันกษัตริย์เป็นความชอบธรรมหรือเป็นแหล่งที่มาของ อำนาจตน พวกนี้มีมากมายเป็นเครือข่าย (network) มีทั้งสามัญชนและผู้ที่มีเชื้อสายเจ้า
[2] คำ ว่า สถาบันกษัตริย์ พระมหากษัตริย์ ที่จะใช้ในบทความนี้ ถ้ากล่าวถึงของไทยใน 40-50 ปีที่ผ่านมาจะแยกไม่ออกระหว่างสถายันกับบุคคล เพราะองค์พระมหากษัตริยืกลายเป็นปัจจัยหลักของความเป็นสถายันจนความหมายทั้ง 2 ด้าน ปนเปกันอยู่ตลอดเวลา
[3] ผู้ เขียนยังหาคำแปลที่เหมาะสมไม่ได้ คำว่าคลั่งเจ้าน่าจะใช้กับ Ultra-rayalism ซึ่งน่าจะหมายถึงคนจำนวนหนึ่งที่ขยันขันแข็งกับการโจมตีล่าทำร้ายผู้ที่คิด ต่าง แต่ Hyper-royalism เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วทั้งสังคมและผู้คนจำนวนมหาศาลยอมรับเข้าร่วม ผู้เขียนเคยใช้คำแปลว่า “กษัตริย์นิยมล้นเกิน” ซึ่งยังน่าจะใช้ได้อยู่ แต่ประดักประเดิดทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน
[4] สถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ฟื้นความศักดิ์สิทธิ์สูงมากขึ้นมาได้อย่างไรยังต้องการการศึกษาและคำอธิบายมากกว่านี้
[5]
ปริศนา สำคัญอีกข้อของ Hyper-royalism กล่าวคือ สังคมไทยเป็นสังคมเปิด ต่างจากประเทศปิดอย่างเกาหลีเหนือหรือพม่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีเสรีภาพในการเข้าถึงข่าวสารภายนอกและในประเทศพอสมควร มิได้ถูกตรวจสอบปิดกั้นเข้มข้นอย่างประเทศเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีเสรีภาพในการบริโภคเต็มที่ มีเสรีภาพทางธุรกิจ และสร้างโอกาสใหม่ๆของปัจเจกชนมากพอสมควร
แต่ทำไมสภาวะ Hyper-royalism จึงเกิดขึ้นควบคู่กันได้ ?
ทำไมสังคมค่อนข้างเปิดจึงเกิดสภาวะทำนอง 1984 ได้ในมิติที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์? (หมายถึงหนังสือ Nineteen Eighteen Four ของ George Orwell)
คำตอบเบื้องต้นก็คือ Hyper-royalism กลายเป็นลัทธิความเชื่อ หรือ religiosity ที่เป็นระบบแข็งแกร่งในตัวเอง ในบางแง่กลับแข็งแกร่งกว่าศาสนาเสียอีก กลายเป็น cult/occult ประเภทหนึ่ง การทำความเข้าใจให้ได้ดีต้องไม่ใช้เพียงวิธีวิเคราะห์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ต้องดูระบบศรัทธาความเชื่อที่เหนือการพิสูจน์หรือเหตุผล ดูพิธีกรรมและระบบคิดของลัทธินี้ในตัวมันเองไม่ว่าจะไร้เหตุผลสักเพียงไหนก็ ตาม รวมถึงบทลงโทษทั้งทางสังคมด้วย
ภายใต้สังคมเปิด ลัทธิความเชื่อเช่นนี้กลายเป็นกำแพงที่สมาชิกในสังคมนั้นก่อขึ้น ล้อมรอบตัวเอง ทำนองเดียวกับที่คนเราไม่เปลี่ยนศาสนาความเชื่อกันง่ายนัก แถมยังส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานได้ด้วย จนกว่าจะมีเหตุที่กระทบกับตัวตนเดิมอย่างแรง
[6] Hyper-royalism ระลอกนี้ผูกพันใกล้ชิดกับ “ทัศนาวัฒนธรรม” (visual culture) กล่าวคือลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวพันกับเทคโนโลยี่และวัฒนธรรมของการดู รับรู้ด้วยสายตาประมวลขึ้นเป็นความรู้ด้วยภาพและการมอง เช่น การแสดงและพิธีกรรมในที่สาธารณะ พระราชพิธีอลังการ์ และบทบาทของโทรทัศน์ ข้อสังเกตนี้มีผู้เริ่มเสนอไว้บ้างแล้ว แต่คงต้องศึกษาให้มากกว่านี้ ในที่นี้ขอทดลองเสนอเพียงว่าความสำเร็จของ Hyper-royalism เกี่ยวพันกับเทคโนโลยี่และทัศนาวัฒนธรรม ซึ่งไม่มีหรือยังไม่พัฒนาก่อนหน้านั้น
[7] นี่คือวิธิการเดียวกันกับที่ Big Brother ใช้กำจัดขบถทางความคิดใน 1984

Sunday, March 9, 2014

หนังสือ 1984 ของ จอร์ช ออร์เวล กับสังคมไทย


ในเผด็จการ Ingsoc ท่านผู้นำหรือ “พี่ใหญ่” เป็นผู้ที่คิดค้นทุกอย่าง เก่งทุกอย่าง จะมีอายุยืนตลอดกาล เขารักและดูแลประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็คอยจ้องมองทุกคนเพื่อไม่ให้ก่อ “อาชญากรรมทางความคิด” ประชาชนต้องทั้งรักและกลัวเขา

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

จอร์ช ออร์เวล เป็นนักเขียนสังคมนิยมอังกฤษ ในปี 1937 เขาอาสาไปรบในประเทศสเปน เพื่อยับยั้งการยึดอำนาจของทหารฟาสซิสต์ภายใต้นายพลฟรังโก ออร์เวลเข้าร่วมในกองทัพอาสาสมัครของพรรค POUM (พรรคแนวร่วมกรรมาชีพมาร์คซิสต์) พรรคนี้ร่วมกับองค์กรอนาธิปไตย CNT และ FAI ในการปฏิวัติลุกฮือของกรรมาชีพและเกษตรกรสเปน

แต่ปรากฏว่าพรรค คอมมิวนิสต์สเปน ภายใต้อิทธิพลของ สตาลิน ในรัสเซีย พยายามสลายกระแสปฏิวัติเพื่อเอาใจอังกฤษกับฝรั่งเศส เพราะตะวันตกไม่ต้องการเห็นการปฏิวัติสังคมนิยมเกิดขึ้นในสเปน สตาลินมองว่าถ้าสามารถเอาใจมหาอำนาจตะวันตกได้ รัสเซียจะไม่ถูกโจมตี อย่างไรก็ตามการเอาใจตะวันตกแบบนี้นำไปสู่การเปลี่ยนสงครามปฏิวัติในสเปนไป สู่สงครามกระแสหลัก และนำไปสู่การทำลายความหวังของกรรมาชีพและเกษตรกรในการปลดแอกตนเอง ผลในที่สุดคือความพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้ายและฝ่ายประชาธิปไตยสเปน

ประสบการณ์ของออร์เวลในสเปนถูกเขียนขึ้นหลังจากที่เขาหนีออกมาจากประเทศนั้นได้ ในหนังสือสำคัญของเขาชื่อ Homage To Catalonia (แด่คาทาโลเนีย) และเมื่อไม่นานมานี้ Ken Loach อาศัยหนังสือเล่มนี้ในการสร้างหนังชื่อ Land and Freedom

ออร์เวล เข้าใจดีเรื่องการหักหลังขบวนการปฏิวัติสากลโดยสตาลินและพรรคคอมมิวนิสต์ ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสตาลิน อีกกรณีสำคัญในยุคนั้นนอกจากสเปน คือการหักหลังคอมมิวนิสต์และกรรมาชีพจีน โดยการสั่งให้เข้าไปร่วมพรรคกับพวกชาตินิยมก๊กหมินตั๋ง ซึ่งทำให้เชียงไกเช็คกวาดล้างฆ่าคอมมิวนิสต์จำนวนมาก สองเหตุการณ์นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจาก ลีออน ตรอทสกี ผู้ที่พยายามปกป้องแนวมาร์คซิสต์ และแนวบอลเชวิคจากการบิดเบือนของสตาลิน
    
ในหนังสือ Animal Farm (รัฐสัตว์) ออร์เวลประชดระบบเผด็จการของสตาลิน ที่อ้างว่าเป็นสังคมนิยมแต่สร้างความเหลื่อมล้ำและการกดขี่อย่างหนักในรัส เซีย ตัวละครที่เป็นสตาลินคือหมูชื่อ นโปเลียน และหมูอีกตัวที่ชื่อ สโนบอล์คือตรอทสกี
    
หนังสือ 1984 ซึ่งเขียนในปี 1949 เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบเผด็จการสตาลินอย่างหนัก แต่ผสมระบบนาซี-ฟาสซิสต์เข้าไปในรัฐเผด็จการเดียวกัน 1984 เน้นเรื่องกระบวนการกล่อมเกลาล้างสมอง การตอแหลโกหก และการสร้างนิยายขึ้นมาครอบงำสังคมโดยเผด็จการ มันเป็นหนังสือที่วิจารณ์ทั้งฝ่ายรัสเซียและฝ่ายอเมริกาในยุคสงครามเย็น
    
ในหนังสือ 1984 “พี่ใหญ่” ที่คอยจ้องมองประชาชนตลอด มีใบหน้าเหมือน สตาลิน และศัตรูหลักของระบบเผด็จการชื่อ โกล์ดสตีน ซึ่งมีหน้าตาเหมือน ตรอทสกี บ่อยครั้งจะมีการบรรยายวิธีการที่เผด็จการทำให้อดีตนักปฏิวัติสารภาพว่าตน เป็น “สายลับของศัตรู” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอดีตแกนนำพรรคบอลเชวิคในคดีการเมืองภายใต้ “ศาลเตี้ย” ของสตาลิน ในยุค 1930
    
ในการกล่าวถึงสภาพโลกในหนังสือ 1984 ออร์เวลประชดสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็นและภายหลัง โลกในหนังสือของออร์เวลแบ่งเป็นสามมหาอำนาจที่อยู่ในสภาวะสงครามอย่างต่อ เนื่อง คือ Oceania (ศูนย์กลางที่สหรัฐ), Eastasia (ศูนย์กลางที่จีน) และ Eurasia (ศูนย์กลางที่รัสเซีย) ตัวละครเอกในเรื่องจะอาศัยอยู่ที่อังกฤษซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อไปเป็น “สนามบิน 1” และเป็นส่วนของอาณาจักร Oceania ของสหรัฐ ในสมัยประธานาธิบดีเรแกน หลังออร์เวลตายไปสามสิบกว่าปี คนอังกฤษที่คัดค้านจักรวรรดินิยมสหรัฐและการที่อังกฤษมีฐานทัพนิวเคลียร์ของ สหรัฐบนเกาะ มักจะพูดว่าอังกฤษกลายเป็นแค่ “สนามบินของสหรัฐ” ไปแล้ว
    
ทั้ง สามมหาอำนาจมีลัทธิการเมืองของตนเอง Oceania ใช้ลัทธิ Ingsoc (สังคมนิยมอังกฤษ) Eastasiaใช้ลัทธิ Death-Worship (บูชาความตาย) และ Eurasia ใช้ลัทธิ Neo-Bolshevism (บอลเชวิคใหม่) แต่ทั้งๆ ที่แต่ละฝ่ายอ้างว่าแนวคิดของตนเองแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับของฝ่ายตรงข้าม ในความเป็นจริงไม่ต่างกันเลยเพราะล้วนแต่เป็นเผด็จการของขุนศึกที่กดขี่ ประชาชน ในโลกแห่งความเป็นจริงของสงครามเย็น ฝ่ายสหรัฐอ้างว่าเป็น “โลกเสรี” แต่ในโลกเสรีมีเผด็จการทหารไทย เผด็จการทหารเกาหลีใต้ และเผด็จการทหารในลาตินอเมริกา ส่วนเผด็จการคอมมิวนิสต์สายสตาลินในรัซเสียและที่อื่นๆ โกหกว่าตนเป็น “ประชาธิปไตยประชาชน”
    
ในหนังสือ 1984 Oceania Eastasia และ Eurasia ฉวยโอกาสสับเปลี่ยนกันเป็น “แนวร่วม” เพื่อต่อต้านอีกฝ่าย โดยไม่มีเรื่องอดุมการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
    
ทั้งๆ ที่หนังสือทั้งสามเล่มนี้ของออร์เวล เป็นการวิจารณ์ระบบสตาลินอย่างหนัก จากจุดยืนนักสังคมนิยมปฏิวัติ แต่ฝ่ายขวาทั่วโลก โดยเฉพาะในสงครามเย็น และแม้แต่ฝ่ายขวาในไทย ก็บิดเบือนความหมายให้ตรงข้ามกับความจริงอย่างน่าไม่อาย เพื่อเสนอว่าเป็นหนังสือ “ต้านสังคมนิยม”
    
ในหนังสือ Homage To Catalonia (แด่คาทาโลเนีย) ออร์เวล กล่าวถึงเมืองบาซาโลนาที่ถูกกรรมาชีพยึด เขาสนับสนุนการที่คนงานเป็นใหญ่ในสังคมโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งๆ ที่เขาไม่สบายใจในฐานะที่ตัวเองเป็นคนชั้นกลาง ในหนังสือ 1984 ตัวเอกเชื่อมั่นว่าชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเป็นผู้ปลดแอกตนเองและสังคมจากเผด็จ การ Ingsoc แต่เล่มนี้เขียนภายหลัง Homage To Catalonia และสะท้อนว่าออร์เวลเริ่มหดหู่กับความเป็นไปได้ว่ากรรมาชีพจะลุกฮือจริง

1984 กับสังคมไทย

เผด็จการ Ingsoc ติดตั้ง “โทรทัศน์” ที่คอยป้อนข่าวโฆษณาชวนเชื่อและคอยจ้องมองดูว่าคนในบ้านว่าทำอะไรและคิดอะไร มีหน่วย “ตำรวจความคิด” ที่คอยจับผิดคนที่คิดต่าง มีการส่งเสริมให้ประชาชนไปฟ้องตำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนอื่น ซึ่งคงจะทำให้เราคิดถึงหน่วยงานของรัฐไทย เช่นกระทรวงไอซีที หรือศูนย์ประสานการปราบปรามภายใต้ทหาร ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ที่คอยสอดส่องประชาชนและลงโทษด้วยกฏหมาย 112
    
ในเผด็จการ Ingsoc ท่านผู้นำหรือ “พี่ใหญ่” เป็นผู้ที่คิดค้นทุกอย่าง เก่งทุกอย่าง จะมีอายุยืนตลอดกาล เขารักและดูแลประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็คอยจ้องมองทุกคนเพื่อไม่ให้ก่อ “อาชญากรรมทางความคิด” ประชาชนต้องทั้งรักและกลัวเขา
    
ประชาชน ในสังคม Oceania แบ่งออกเป็นสองชนชั้นคือ กรรมาชีพ กับ สมาชิกพรรคซึ่งมีบทบาทคล้ายๆ ชนชั้นกลาง สำหรับเผด็จการ Ingsoc แกนนำพรรคไม่สนใจกรรมาชีพ เพราะคิดว่าโง่และไม่มีความสามารถในการลุกขึ้นสู้ แต่ในขณะเดียวกันมักอ้างว่าเขาปกครองเพื่อกรรมาชีพ แกนนำพรรคจะให้ความสนใจกับชนชั้นกลางผู้เป็นสมาชิกพรรคมากกว่า และจะกล่อมเกลาให้ทุกคนใช้ “ระบบคิดซ้อน” (Doublethink)

“ระบบคิดซ้อน” คือการที่คนเราจะเชื่ออะไรสักอย่างอย่างจริงใจเต็มใจ แต่รู้พร้อมๆ กันว่าความเชื่อนั้นเป็นเท็จด้วย เช่นการที่คนชั้นกลางอาจเชื่อว่ามีเทวดา อาจเชื่อด้วยความศรัทธาเต็มเบี่ยม แต่ในขณะเดียวกันรู้ในใจว่าเทวดาไม่มีจริงคือมันเป็นการล้วงเข้าไปในสมองของ คนเพื่อไม่ให้มีความคิดเป็นอิสระเอง

“ระบบคิดซ้อน” กับการ “พูดซ้อน” (Doublespeak) ไปด้วยกัน และเผด็จการ Ingsoc มีคำขวัญสำคัญคือ “สงครามคือสันติภาพ” “เสรีภาพคือการเป็นทาส” และ “ความโง่เขลาคือพลัง” การพูดซ้อนคงไม่ต่างจากคนที่เคยเรียกร้องให้เสื้อแดง “งด” ใช้ความรุนแรงในขณะที่ตนเองส่งทหารไปไล่ฆ่าประชาชน หรือไม่ต่างจากนายพลที่อ้างว่าเขา “ทำรัฐประหารเพื่อปกป้องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ไม่ต่างจากคนที่ทำรัฐประหารดังกล่าวเสร็จแล้ว และก็หันมากล่าวหาคนที่คัดค้านรัฐประหารว่า “ดึงสถาบันกษัตริย์ลงมาเกี่ยวกับการเมือง”
    
ในระบบพูดซ้อน กระทรวงกลาโหมเรียกว่า “กระทรวงสันติภาพ” กระทรวงที่บิดเบือนประวัติศาสตร์คือ “กระทรวงแห่งความจริง” กระทรวงที่คุมการผลิต ซึงไม่เคยผลิตอะไรเพียงพอสำหรับประชาชนเลย มีชื่อว่า “กระทวงแห่งความอุดมสมบูรณ์” และกระทรวงที่จับประชาชนที่คิดต่างมาทรมาณ คือ “กระทรวงแห่งความรัก” คนที่สารภาพ “อาชญากรรมทางความคิด” ในคุกของกระทรวงแห่งความรัก ในที่สุดจะได้รับการอภัยโทษปล่อยตัว นับว่า Oceania คือตอแหลแลนด์ที่แท้จริง!
    
เผด็จ การ Ingsoc เข้าใจความสำคัญของประวัติศาสตร์มาก มีหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ในหนังสือเก่า และสิ่งตีพิมพ์ทุกชนิด อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับ “แนว” ของรัฐบาลในขณะนั้น และเมื่อมีการเปลี่ยน “แนว” ก็ ต้องปรับประวัติศาสตร์ตามเสมอ ในประเทศไทยอาจไม่ถึงระดับนี้ แต่กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นๆ มีบทบาทอันยาวนานในการเขียนประวัติศาสตร์ไทยให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชน ชั้นปกครอง
    
จริงๆ แล้วระบบเผด็จการ Ingsoc กำลังเปลี่ยนภาษาจากภาษาเดิม ไปเป็น “ภาษาใหม่” โดย ที่ศัพท์ต่างๆ ที่อนุญาตให้ใช้กลายเป็นแค่ศัพท์ที่เชิดชูระบบเผด็จการ หรือเป็นศัพท์ที่ใช้วิจารณ์ระบบหรือคิดต่างไม่ได้เลย เป้าหมายหลักคือการทำลายความสามารถของประชาชนที่จะคิด ยิ่งกว่านั้นในภาษาใหม่ ไม่มีคำว่าวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์ถูกยกเลิกไปแล้ว สังคมไม่มีการพัฒนา

เพราะชนชั้น ปกครอง Oceania กลัวว่าการพัฒนาจะทำให้กรรมาชีพเริ่มมีความมั่นใจในการตื่นตัวลุกขึ้นสู้ ประเด็นนี้ทำให้นึกถึงประโยคหนึ่งในแถลงการณ์ฉบับที่หนึ่งของคณะราษฏร์ในปี ๒๔๗๕ คือ “ถ้าราษฎรโง่  เจ้าก็โง่  เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน  ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นไม่ใช่เพราะโง่  เป็นเพราะขาดการศึกษา  ที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่  เพราะเกรงว่าถ้าราษฎรได้มีการศึกษา  ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่ทำไว้  และคงจะไม่ยอมให้ทำนาบนหลังตน”
    
เผด็จ การ Ingsoc คอยห้ามปรามเพศสัมพันธ์ กรณียกเว้นคือกรณีที่สมรสแล้วและมีเพศสัมพันธ์เพื่อผลิตลูก การชอบเซกซ์เป็นสิ่งต้องห้ามโดยเฉพาะในสตรี และการสร้างความเก็บกดทางเพศ ตามแนวจารีตนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปสู่การระเบิดออกมาของความเกลียดชังต่อศัตรู และความจงรักภักดีรัก “พี่ใหญ่” รัฐบาลมีการติดป้ายใบหน้า “พี่ใหญ่” ทั่วเมือง และจัด “สิบนาทีแห่งการเกลียดชังศัตรู” ทุกอาทิตย์ ซึ่งเป็นภาคบังคับสำหรับประชาชนทุกคนตามสถานที่ทำงานต่างๆ
    
ออร์เวล ตายประมาณหนึ่งปีหลังจากที่เขาเขียนหนังสือ 1984 เขาเลยไม่มีโอกาสเห็นการลุกขึ้นสู้ของกรรมาชีพและผู้ถูกกดขี่ทั่วโลก ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ การปฏิวัติอียิปต์ และการนัดหยุดงานต่อต้านแนวเสรีนิยมท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป ทำให้ความเชื่อมั่นได้ว่า “ถ้ามีความหวัง... มันอยู่ที่ชนชั้นกรรมาชีพ” If there is hope, it lies with the Proles.

Monday, March 3, 2014

วิสัยทัศน์ของปรีดี พนมยงค์



: รัฐธรรมนูญนิยมและสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
การเมืองไทยในช่วงปี 2475 จนถึงปี 2490 บทบาทอันสำคัญยิ่งของนายปรีดี  พนมยงค์ ผู้นำฝ่ายพลเรือนในคณะราษฎร เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แม้บุคคลผู้นี้จะมีวิถีชีวิตอันเรียบง่าย แต่ในทางการเมืองนั้นกลับตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์ และเป็นไปได้ด้วยว่า ในระหว่างฝักฝ่ายที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์บุคคลผู้นี้นั้น แต่ละฝ่ายอาจมิได้มีความเข้าใจอันถ่องแท้เกี่ยวกับความคิดที่ตนได้หยิบยกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์นั้นเลย
เช่นเดียวกับเด็กอื่นโดยทั่วไปในประเทศสยามตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ที่ส่วนใหญ่ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางชีวิตในชนบทและภายใต้ร่มแห่งศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา ปรีดี  พนมยงค์ เกิด ณ จังหวัดอยุธยา หลังจากที่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนกฎหมายเป็นเวลาสองปีและกลับไปประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมในครอบครัว ปรีดี พนมยงค์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อทางกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสระหว่างปี 2463 จนถึงปี 2469 ในขณะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางกฎหมาย ความสนใจของปรีดีที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ได้ผลักดันให้ปรีดีเข้าศึกษาจนสำเร็จและได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองด้วยอีกสาขาหนึ่ง เมื่อกลับสู่ประเทศสยามปรีดีได้เข้ารับตำแหน่งที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ผู้สอนในโรงเรียนกฎหมาย  กระทรวงยุติธรรม ผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย เป็นต้น
ในปี 2471 ปรีดีได้รับแต่งตั้งให้เป็น “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ซึ่งนามดังกล่าวนี้ทำให้เรานึกถึงเรื่องราวอันเป็นตำนานทางกฎหมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “พระมนู” ซึ่งถือกันว่า เป็นผู้เปิดเผยและแสดงธรรมะให้ปรากฏต่อโลก กล่าวโดยสรุป นามนี้จึงมีความหมายถึง “ผู้สร้างสรรค์หลักธรรมของพระมนู” ดังนี้เอง ย่อมทำให้เรานึกถึง “พระมนู” ซึ่งเป็นบุรุษคนสำคัญในตำนานทางนิติศาสตร์ของประเทศอินเดีย
ด้วยเหตุที่พระมนู (หรือมโนสาราจารย์ ในตำนานกฎหมายของสยาม) เป็นผู้ประกาศหลักธรรม  โลกโบราณจึงได้รู้จักกับกฎเกณฑ์อันเป็นพื้นฐานของจักรวาล อีกทั้งกฎเกณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่มาแต่เดิมในธรรมชาติและในสังคมมนุษย์ทั้งปวง อันได้แก่สิ่งที่เรียกว่า “ธรรมะ” หากว่าโดยทางตำนาน ทิพยภาวะอันควรแก่การเคารพนบไหว้จะได้มีอยู่แก่พระมนู ผู้เป็นต้นบัญญัติแห่งบทกฎหมายทั้งหลายแต่เพียงผู้เดียวแล้ว นั่นย่อมหมายถึงว่า นามของพระมนูได้เป็นสัญลักษณ์สำคัญซึ่งบรรดาอำนาจทั้งปวงในโลกจะต้องอ้างอิงถึง กล่าวคือ เป็นสัญลักษณ์แห่งหลักธรรมะในฐานะที่เป็นหลักแห่งความยุติธรรมนั่นเอง
การประกาศหลักธรรมะของพระมนู อันเป็นที่มาแห่งบรรดากฎเกณฑ์ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ได้รับการรวบรวมขึ้นเป็นวิทยาการอันหนึ่งซึ่งควรแก่การเคารพสักการะในนาม “ธรรมศาสตร์หรือศาสตร์แห่งธรรมะ” อันมีนัยเดียวกับคำว่า “นิติศาสตร์”  ในปัจจุบัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ธรรมศาสตร์ซึ่งได้รับการประกาศและให้อรรถาธิบายโดยพระมนูย่อมเป็นที่รู้จักกันในนาม “ธรรมะแห่งพระมนูหรือมนูธรรม” นั่นเอง
ในแง่นี้ นามของปรีดีอันเป็นสัญลักษณ์แห่งบุรุษผู้ซึ่ง “ประดิษฐ์มนูธรรม” จึงมีนัยสำคัญยิ่ง ด้วยเหตุว่า ปรีดีได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรนำประเทศสยามเข้าสู่ยุคใหม่โดยการอภิวัฒน์ในเดือนมิถุนายน 2475 จึงนับได้ว่า เป็นการรังสรรค์ขึ้นใหม่ซึ่ง “หลักธรรมแห่งพระมนู” ในที่นี้ หมายถึงหลักการอันว่าด้วยรัฐธรรมนูญนิยมและสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อกล่าวโดยทางสัญลักษณ์ หากพระมนู (หรือมโนสาราจารย์ตามพระธรรมสาตรของสยาม) เป็นผู้ประกาศซึ่งหลักธรรมอันเป็นอุดมคติแห่งระบอบรัฐราชาธิราชในสมัยโบราณ ปรีดีย่อมนับเป็นผู้วางรากฐานของหลักการอันว่าด้วยรัฐธรรมนูญนิยมและสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นหลักธรรมใหม่ของพระมนู กล่าวคือ เป็นหลักการพื้นฐานทางการเมืองในระบอบใหม่ของประเทศสยามนับแต่ปี 2475 เป็นต้นมา
หลังจากเหตุการณ์การอภิวัฒน์ในเดือนมิถุนายน 2475 ปรีดีได้มีบทบาทและเข้าดำรงตำแหน่งที่สำคัญหลายตำแหน่งจนถึงในปี 2490 ได้แก่ เป็นผู้ร่างธรรมนูญการปกครองฉบับแรก ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่บทบาททางการเมืองของปรีดีจะได้สิ้นสุดลง กล่าวโดยสรุปก็คือ หากยกกรณีการอภิวัฒน์ในปี 2475 และเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อเราจะได้กล่าวเป็นการเฉพาะในภายหลังแล้ว งานในหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมเป็นการวางรากฐานด้านการปกครองในยุคใหม่ของประเทศนั่นเอง
วิถีทางในการดำเนินงานทางการเมืองในปี 2475 แสดงให้เห็นขั้นตอนที่สำคัญเป็นลำดับ 2 ประการอันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองการปกครองให้เป็นไปตามหลักการว่าด้วยรัฐธรรมนูญนิยมเป็นประการแรก ประการต่อมาได้แก่ การทำให้ระบอบการเมืองการปกครองที่สถาปนาขึ้นใหม่นั้นให้มีเสถียรภาพ โดยพยายามที่จะแก้ไขระบบเศรษฐกิจภายใต้หลักการอันว่าด้วยสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย จริงอยู่ว่า ตามความเห็นของปรีดีแล้ว หลักการที่ว่ามาข้างต้นทั้งสองประการนั้น ย่อมเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่ก็หาได้มีความสำคัญเท่าเทียมกันไม่ ทั้งนี้ ปรีดีเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วนั้นจะต้องเป็นเครื่องมือนำไปสู่ความสุขสมบูรณ์ของราษฎรเป็นประการสำคัญ ดังนั้น ปรีดีจึงมิได้ถือเอารัฐธรรมนูญนิยมเป็นเป้าหมายสุดท้ายในตัวเอง แต่รัฐธรรมนูญนิยมนั้นจะต้องนำไปสู่การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรอย่างเป็นรูปธรรม อันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของอิสรภาพและความไพบูลย์แห่งชาติ
ก. รัฐธรรมนูญนิยม : หลักพื้นฐานประการแรก
คำนิยาม
เมื่อเราพิจารณาจากหลักเกณฑ์สากลซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป หลักการว่าด้วยรัฐธรรมนูญนิยมของปรีดีย่อมเป็นไปตามตรรกะทางทฤษฎีการเมืองของตะวันตก รัฐธรรมนูญนิยมจึงหมายถึงหลักการทางการเมืองซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายพื้นฐานอันมิอาจล่วงละเมิดได้ เป็นกฎเกณฑ์ที่ได้วางระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับความชอบธรรมของการใช้อำนาจรัฐต่อพลเมือง คงไม่เป็นการจำเป็นในที่นี้ที่จะต้องให้อรรถาธิบายในรายละเอียดถึงหลักการดังกล่าว ตามความคิดของปรีดี สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งเราน่าจะให้ความสนใจได้แก่ การตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญของปรีดี เพื่อที่จะให้การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นนั้นเกิดผลสมบูรณ์ครบถ้วน
หลักการที่สำคัญ
หากกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร การเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณญาสิทธิราชไปเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นับเป็นวัตถุประสงค์สำคัญมาตั้งแต่การประชุมผู้ร่วมก่อการในครั้งแรกเมื่อปี 2470 แม้ว่าประกาศของคณะราษฎรซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 24 มิถุนายนนั้นจะระบุถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้งระบอบสาธารณรัฐ หากได้รับการปฏิเสธจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ แต่นั่นก็เป็นเพียงยุทธศาสตร์ที่ปรีดีเองให้เหตุผลว่า “มีวัตถุประสงค์มุ่งต่อผลสำเร็จโดยพลัน” 
ในความเป็นจริงภายใต้บริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย ปรีดีหรือแม้แต่คณะราษฎรเองก็ตาม หาได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันสำคัญที่มีมาแต่เดิมไม่ ในทางตรงกันข้าม เจตจำนงของคณะผู้ก่อการที่จะธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันอันสำคัญนี้ภายใต้ระบอบการปกครองที่ได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่นั้น แสดงให้ปรากฏหลายครั้งหลายครา อาทิเช่น คำกราบบังคมทูลของคณะราษฎรต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เพื่ออัญเชิญให้ทรงคืนสู่ราชบัลลังก์เป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกในระบอบใหม่ หรือการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในปี 2478 หรือการอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในปี 2489
เมื่อกล่าวถึงหลักการที่สำคัญของระบอบที่ได้สถาปนาขึ้นใหม่ ย่อมเห็นได้ชัดจากหลักการที่ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร” ดังที่ปรีดีได้นำมาบัญญัติไว้ในบทกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแรกนั่นเอง
การแปรไปสู่การปฏิบัติ
ความพยายามของปรีดีในอันที่จะนำประเทศสยามไปสู่ระบอบประชาธิปไตย อาจสรุปขั้นตอนที่สำคัญได้ดังต่อไปนี้
-   เตรียมพื้นฐาน : คำอธิบายกฎหมายปกครอง
ในปี 2474 การที่ปรีดีได้รับเป็นผู้บรรยายในวิชากฎหมายปกครอง ณ โรงเรียนกฎหมายนั้นนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่ง กล่าวคือ วิชากฎหมายปกครองเป็นวิชาใหม่ซึ่งนักกฎหมายในสมัยนั้นจะต้องเล่าเรียน ปรีดีได้บรรยายวิชาดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำนักกฎหมายรุ่นใหม่หรือแม้แต่สาธารณชนโดยทั่วไปเข้าทำความรู้จักกับทฤษฎีการเมืองแบบใหม่ ในวิชาดังกล่าว ปรีดีได้บรรยายถึงหลักการที่สำคัญทางการเมืองประการต่าง ๆ ได้แก่ ลักษณะทางทฤษฎีของรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นกฎหมายพื้นฐาน หลักการอันว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในฐานะที่เป็นหลักทั่วไปของกฎหมาย จำแนกได้เป็น 3 ประการ กล่าวคือ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ รูปแบบต่าง ๆ ของรัฐ ภารกิจแห่งรัฐ เป็นต้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปรีดีประสงค์ให้ประเทศสยามได้ทำความรู้จักกับหลักและทฤษฎีประชาธิปไตย เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้
-   วางรากฐานสังคมใหม่ : การอภิวัฒน์ในปี 2475
ในเดือนมิถุนายน 2475 เวลาอันสำคัญได้มาถึงเพื่อเปลี่ยนจากสิ่งซึ่งเป็นเพียง “วิชาที่บรรยายในชั้นเรียน” ไปสู่การอภิวัฒน์ระบอบการเมืองการปกครอง ในที่นี้ เราจะลองพิจารณาในเบื้องต้นถึงคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
คณะผู้ก่อการประกอบด้วยบุคคลฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร โดยส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาจากประเทศยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศฝรั่งเศส ในการประชุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เมื่อปี 2470 ณ อาคารหอพักแห่งหนึ่งในกรุงปารีส คณะผู้ก่อการได้กำหนดให้มีผู้ดำเนินการทางการเมืองขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งในช่วงเวลา 5 วันของการประชุมในครั้งนี้ ด้วยเหตุที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ร่วมก่อการ ปรีดีจึงได้แสดงบทบาทการเป็นผู้นำกลุ่มนับแต่เวลานั้นเป็นต้นมา
จากการดำเนินงานทางการเมืองของคณะผู้ก่อการกลุ่มนี้ ในเวลาเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475  ราษฎรชาวสยามทั้งหลายได้ตื่นขึ้นพร้อมกันกับความคาดหวังที่ว่า นับแต่วันนี้ทุกสิ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อีกนัยหนึ่ง ยุคใหม่ทางการเมืองได้เริ่มขึ้นแล้วพร้อมกับการอภิวัฒน์
ยุทธศาสตร์ในการดำเนินการของคณะราษฎรมีดังนี้ กล่าวคือ กระจายกำลังทหารเข้าควบคุมสถานที่ที่สำคัญ การเข้าจับกุมเจ้านายและพระราชวงศ์ระดับสูงซึ่งดำรงตำแหน่งการบริหารในรัฐบาลของระบอบเก่าเป็นตัวประกัน การประกาศวัตถุประสงค์การอภิวัฒน์ของคณะราษฎร กราบบังคมทูลเชิญพระสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ให้ทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งให้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เราควรหันมาพิจารณาปฏิกิริยาที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ซึ่งได้แก่ การให้การรับรองความชอบธรรมของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง การเสด็จคืนสู่ราชบัลลังก์ในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของระบอบประชาธิปไตย ทรงให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งกับคณะผู้ก่อการเพื่อให้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475
คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเลยว่า ด้วยคุณูปการที่สำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงส่งผลให้การอภิวัฒน์ประชาธิปไตยในประเทศสยามประสบผลสำเร็จโดยกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ
-     หว่านเมล็ดพันธุ์ทางปัญญาแห่งระบอบใหม่
: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ในบรรดาการริเริ่มอย่างใหม่ ๆ ที่ปรีดีดำริให้มีขึ้นระหว่างระยะการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนั้น การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2477 และการดำรงตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วยตนเองระหว่างปี 2477 จนถึง 2495 นับเป็นผลงานที่ทรงคุณค่ายิ่งและเห็นผลเป็นประจักษ์แม้ในปัจจุบัน กล่าวคือ สถาบันที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นนี้นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่เป็นผลโดยตรงจากการอภิวัฒน์ในเดือนมิถุนายน 2475 ภารกิจแห่งสถาบันทางวิชาการแห่งใหม่นี้ย่อมคาดหมายได้จากนามของสถาบันนั้นเอง กล่าวคือ เป็นศูนย์กลางทางปัญญาว่าด้วยธรรมศาสตร์และว่าด้วยการเมือง
กล่าวในทางภาษา หากเราเว้นที่จะอธิบายคำว่า “การเมือง” และอาศัยความหมายโดยทั่วไปซึ่งเป็นที่เข้าใจกันแล้ว ในส่วนถ้อยคำที่เอ่ยถึง “ Sciences morales ”  นั้นเป็นคำที่ใช้แทนคำเดิมในภาษาไทยว่า “ธรรมศาสตร์” ซึ่งปัจจุบันได้มีการแปลคำนี้อย่างเป็นทางการว่า “Thammasat” ซึ่งน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า มิได้สื่อสาระแต่อย่างใดเลย จะเป็นก็แต่เพียงคำแปลตามการออกและสะกดเสียงเท่านั้น คำว่า “ธรรมศาสตร์” นั้นเป็นที่รับรู้กันในสมัยของปรีดี ในความหมายที่เป็น “ความรู้โดยทั่วไปในทางนิติศาสตร์” ซึ่งแต่เดิมเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “Dharmasastra” จากแง่มุมที่ว่านี้ คำสำคัญ 2 คำซึ่งได้นำมารวมกันเพื่อตั้งเป็นนามแห่งสถาบันการศึกษา ย่อมสื่อนัยและสนองต่อเจตนารมณ์แห่งการอภิวัฒน์ที่ได้มีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2475 ได้เป็นอย่างดียิ่ง กล่าวคือ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป วิชาธรรมศาสตร์และวิชาการเมืองย่อมนับเป็นฐานทางปัญญาอันสำคัญยิ่งต่อระบอบการเมืองที่ได้สถาปนาขึ้นใหม่
ข.    สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย
: วัตถุที่ประสงค์อันแท้จริงแห่งการอภิวัฒน์
ลักษณะโดยทั่วไป
การนำประเทศสยามเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยหาใช่เป็นวัตถุประสงค์สุดท้ายในตัวเองไม่ ปรีดีคงถือแต่เพียงว่า หลักรัฐธรรมนูญนิยมเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองในอันที่จะแปรเจตจำนงแห่งราษฎรทั้งปวงให้มีผลในทางปฏิบัติเท่านั้น ด้วยความเชื่อเช่นว่านี้ การอภิวัฒน์ดังกล่าวทำให้ปรีดีประสงค์ที่จะดำเนินการให้ยิ่งขึ้นไปกว่าขั้นตอนแรกที่ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว
ด้วยเหตุที่ได้มีส่วนเข้าร่วมในบรรยากาศใหม่ทางการเมืองของประเทศในปี 2475 ปรีดีจึงได้นำเสนอโครงการดำเนินงานต่อเนื่องทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจที่ได้ถูกขนานนามในภายหลังว่า “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ในการให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสาร Asiaweek (ฉบับวันที่ 24 ธันวาคม 2522 - 4 มกราคม 2523) ปรีดีให้สัมภาษณ์ดังนี้
“ ถาม  :    ท่านจะบรรยายลักษณะปรัชญาทางการเมืองของท่านสักหน่อยจะได้ไหม ?
ตอบ :   ปรัชญาทางการเมืองของข้าพเจ้าคือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย        เพราะว่า ประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์ ... ”
ปรีดีได้นิยามหลักการของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยด้วยว่า
“ ... ข้าพเจ้าจะตอบคำถามของท่านจากจุดยืนของผู้รักชาติตามหลัก 5 ประการของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย กล่าวคือ เอกราชของชาติ อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชน พร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน ... ”
และเมื่อปรีดีระบุว่า
“ ความคิดในทางอภิวัฒน์ของข้าพเจ้ามีพื้นฐานอยู่บนเศรษฐกิจ”
หลักประการที่ 5 กล่าวคือ ความไพบูลย์ของประชาชน พร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชนจึงเป็นประเด็นความสนใจของเราในที่นี้
จุดกำเนิดแห่งแรงบันดาลใจทางเศรษฐกิจ
หากพลังทางปัญญาอันลึกซึ้งใด ๆ มักพบจุดกำเนิดแห่งตนในสิ่งที่ “ประทับรอยลึกไว้ในใจ” ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยคงต้องมีที่มาจากสิ่งที่ประทับรอยลึกในใจของปรีดี ซึ่งเราควรใส่ใจในที่นี้
หากเราติดตามชีวิตของบุรุษผู้นี้จนถึงเวลาที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ในปี 2471 เราอาจคิดไปได้ว่า เส้นทางชีวิตแห่งบุรุษผู้นี้คงไม่พ้นไปจากความเป็นชนชั้นนำในสังคม จากสามัญชนที่ค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่โครงสร้างดั้งเดิมของระบบราชการ นับเป็นการเตรียมเส้นทางแห่งการทำงานและการไต่เต้าเข้าสู่ฐานะและความสำเร็จที่บุรุษสามัญชน ผู้ดำรงชีวิตอยู่ชายขอบสังคมทั้งหลายคาดหวังมิใช่หรือ เราจะถือเอาเหตุผลในเรื่องนี้มาอธิบายได้หรือว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปรีดีมีเจตจำนง ที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองอันศักดิ์สิทธ์ของสยามก็เพื่อที่จะสถาปนาระบบเศรษฐกิจการเมืองที่อาจก่อภยันตรายในประเทศ ซึ่งยังมีลักษณะความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงอยู่
แน่นอนว่า ปรีดีในวัยหนุ่มย่อมได้รับรู้และสังเกตสภาวการณ์ที่เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในเขตชนบท ซึ่งได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อยจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก กล่าวคือ เป็นปัญหาที่มิได้มีสาเหตุมาจากสภาวะทางธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลมาจากความฉ้อฉลอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเองและเงื่อนไขทางการเมืองการปกครองอีกด้วย เมื่อต้องประสบกับปัญหาดังกล่าวด้วยตนเอง และกลายมาเป็นสิ่งที่ประทับลงในความทรงจำและปัญญาความคิด ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นแรงบันดาลใจอันสูงยิ่งให้แก่ปรีดีในวัยหนุ่ม ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงและเข้าแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งต้องนับว่า แรงบันดาลใจที่ว่านี้ได้มีขึ้นก่อนเวลาที่จะได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศในปี 2463 ด้วยซ้ำ
ควรกล่าวด้วยว่า วิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีการศึกษากันอยู่ในมหาวิทยาลัยปารีสนั้นได้สร้างความสนใจเป็นอย่างยิ่งแก่ปรีดี ด้วยเหตุที่เป็นความรู้ที่อาจตอบสนองแก่แรงบันดาลใจอันเกิดมาจากปัญหาเศรษฐกิจในแผ่นดินเกิดของตน ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดินทางกลับมายังประเทศพร้อมด้วยจิตสำนึกที่ก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ปรีดีจึงเป็นผู้ที่พร้อมแล้วต่อการลงมืออภิวัฒน์ เป็นการอภิวัฒน์ที่จะนำเพื่อนร่วมชาติทั้งหลายทั้งปวงออกจากความทุกข์ยาก อันเกิดแต่สภาพเศรษฐกิจ ไม่น้อยไปกว่าการกู้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากวิกฤตในช่วงเวลานั้น
คำนิยามและหลักการพื้นฐาน
ผู้นำการอภิวัฒน์ในปี 2475 ได้นิยามหลักสังคมนิยมว่าเป็น
“ลัทธิซึ่งสังคมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (Means of Production) และอำนวยให้สมาชิกของสังคมร่วมมือกันในการผลิต โดยได้รับปันผลและสวัสดิการอย่างเป็นธรรม”
คำอธิบายดังกล่าวดูเป็นลักษณะโดยทั่วไปและมิได้ให้ความกระจ่างต่อหลักสังคมนิยมของปรีดีที่อาจสืบย้อนไปได้จนถึงในปี 2475 เท่าใดนัก พอ ๆ กับความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในระหว่างแนวคิดสังคมนิยม - แม้ในประเทศตะวันตก - ด้วยกันเอง ก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหามิใช่น้อยทีเดียว ความคิดของปรีดีดังที่กล่าวนี้ ตกเป็นเป้าแห่งการโจมตีและการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะที่ให้สัมภาษณ์ถึงแนวโน้มที่อาจนำไปสู่หลักทฤษฎีมาร์กซิสต์ ปรีดีตอบด้วยถ้อยคำที่ชัดเจนและหนักแน่นว่า
“ ไม่  ไม่  ไม่ ข้าพเจ้าได้บอกแล้วว่า ปรัชญาของข้าพเจ้าคือ 'สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย'  ถึงแม้ว่าถามมาร์กซ์ พูดอย่างนี้หรืออย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ต้องพิจารณาว่าเป็นจริง หรือเป็นไปตามสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยหรือไม่ สังคมนิยมมีอยู่หลายชนิด แม้ลัทธิมาร์กซ์ก็มีชนิดต่าง ๆ ... ข้าพเจ้ามีอิสระที่จะเลือกทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งที่สอดคล้องกับหลัก 5 ประการของเรา อย่างที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงมาแล้ว”
เมื่อทฤษฎีมาร์กซิสต์ถูกปฏิเสธโดยสิ้นเชิงแล้ว ความคิดทางเศรษฐกิจของปรีดีจึงอาจค้นพบร่องรอยที่สำคัญได้ก็แต่ในเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติและคำอธิบายต่าง ๆ ที่ปรีดีได้ให้ไว้ ในขณะที่นำเสนอโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณา ปรีดีให้คำอธิบายโครงการดังกล่าวอย่างชัดเจนดังนี้ 
“ตามหลักของข้าพเจ้านั้น เป็นลัทธิหลายอย่างที่ได้คัดเลือกเอาที่ดีมาปรับปรุงให้สมกับฐานะของประเทศสยาม แต่เหตุสำคัญอาศัยหลักโซเซียลิสม์ ไม่ใช่คอมมูนิสต์ คือถือว่า มนุษย์ที่เกิดมาย่อมต้องเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกัน  เช่นคนจนนั้น เพราะฝูงชนทำให้จนก็ได้  ... หรือคนที่รวยเวลานี้ ไม่ใช่รวยเพราะแรงงานของตนเลย ... ฉะนั้น จึงถือว่ามนุษย์ต่างมีหนี้ตามธรรมจริยาต่อกัน จึงต้องร่วมประกันภัยต่อกัน และร่วมกันในการประกอบเศรษฐกิจ”
หลักฐานหลายประการแสดงให้เห็นว่า ความคิดทางเศรษฐกิจของปรีดีนั้นอาจสืบค้นร่องรอยได้ในหลักทฤษฎีสังคมนิยมในแนวความคิดแบบ “โซลิดาริสม์” ซึ่งปรากฏอยู่ในเนื้อหาวิชาเศรษฐศาสตร์การเมืองซึ่งบรรยายระหว่างปี 2465 - 2469 โดยศาสตราจารย์ โอกุส เดส์ช็องร์ ณ มหาวิทยาลัยปารีส เราคงจะต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักเศรษฐศาสตร์การเมืองในอันที่จะประเมินอิทธิพลของหลักการ “โซลิดาริสม์” แบบตะวันตกที่มีอยู่ในความคิดของผู้นำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ อย่างไรก็ดี ด้วยการตระหนักถึงเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติที่ว่านี้นั่นเองที่เราอาจติดตามร่องรอยทางความคิดว่าด้วยสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย และพิจารณาในขณะเดียวกันว่า การเมืองในประเทศสยามในสมัยของปรีดีนั้น ได้ตอบรับการนำเสนอเค้าโครง ฯ ที่ว่านี้เช่นไร
การผลักดันให้เค้าโครง ฯ เกิดผลในทางปฏิบัติ
ในปี 2476 กล่าวคือ ปีต่อมาภายหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย ปรีดีได้นำเสนอโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในรูปแบบใหม่ไว้ในเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล เค้าโครง ฯ ฉบับนี้เป็นการผสานรูปแบบต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจที่สำคัญเข้าไว้ด้วยกัน อันจะส่งผลที่พึงประสงค์ทั้งในด้านการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมของประเทศ เจตนารมณ์ของปรีดีจึงแสวงหาการก้าวข้ามระบบที่เคยเป็นมาแต่เดิม และไปพ้นจากข้อจำกัดที่อาจมีอยู่ในโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจแบบเดิม
“ ... ถ้าเราคงทำตามแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะเราไม่ทำสาระสำคัญ คือแก้ความฝืดเคืองของราษฎร แบบที่เราต้องเดินนั้น ต้องเดินอย่างอาศัยหลักวิชา อาศัยแผน อาศัยโครงการวิธีโซเชียลลิสม์ เป็นวิธีวิทยาศาสตร์โดยแท้  รับรองความเห็นหม่อมเจ้าสกลว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองคราวนี้ ไม่ใช่ Coup d’État เป็น Revolution ในทางเศรษฐกิจ ...”
แนวคิดที่ว่านี้ประสงค์จะให้รัฐเข้าจัดการกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ หากพิจารณาเค้าโครง ฯ ในเบื้องต้น  แม้จะดูเสมือนเป็นการให้รัฐมีบทบาทในการวางแผนทางเศรษฐกิจในทำนองเดียวกับประเทศโซเวียต แต่ความเข้าใจเช่นว่านี้หาใช่ความมุ่งหมายของปรีดีแต่อย่างใดไม่ ปรีดีได้ย้ำหลายครั้งหลายคราในเรื่องการสร้างสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจในแบบทุนนิยมและในแบบสังคมนิยม อีกทั้งประสงค์ที่จะให้รัฐมีบทบาทประการสำคัญในอันที่จะส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของราษฎรในรูปของการจัดตั้ง
“สหกรณ์”  ซึ่งปรีดีเรียกในเวลาต่อมาว่า “สหกรณ์สังคมนิยม”
ความก้าวหน้าอย่างมากของความคิดทางเศรษฐกิจในเค้าโครง ฯ ในสายตาของชนชั้นปกครอง - ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ในรัฐบาล - ในขณะนั้น อีกทั้งข้อกล่าวหาในเรื่องการพยายามนำระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์มาใช้ เค้าโครง ฯ ซึ่งบัดนี้กลายมาเป็นประเด็นเร่งเร้าของฝ่ายปฏิกิริยาได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างสูงในทางการเมืองอันเป็นเหตุให้ผู้เสนอเค้าโครงจำต้องเดินทางออกนอกประเทศ ภายใต้เงื่อนไขและสภาวการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาตอบโต้การอภิวัฒน์ที่ได้ปรากฎขึ้นเป็นครั้งแรก
เมื่อฝ่ายทหารของคณะราษฎรประสบผลสำเร็จในการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเดิม แม้จะได้มีโอกาสกลับเข้าประเทศ ปรีดีก็ยังคงตกเป็นเป้าหมายที่สำคัญของฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งวางแผนเพื่อชิงอำนาจกลับคืนมา ในการนี้ มีความพยายามที่จะกระทำรัฐประหารแต่ถูกปราบปรามลงภายในเวลาอันรวดเร็ว นับได้ว่า เป็นความปราชัยครั้งที่สองของฝ่ายตอบโต้การอภิวัฒน์ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ปรีดีและเค้าโครง ฯ ที่ได้นำเสนอต่างต้องพบชะตากรรมที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ ปรีดียังคงอยู่ ในขณะที่เค้าโครง ฯ ต้องปลาสนาการออกไปจากสังคมไทย
หลังจากความปราชัยทั้งสองครั้ง ปฏิกิริยาและความเคลื่อนไหวของฝ่ายตอบโต้การอภิวัฒน์ดูเหมือนจะมิได้อยู่ในความทรงจำของชาวไทยแต่อย่างใด แต่สำหรับปรีดี กรณีย่อมต่างออกไป กล่าวคือเป็นความจริงที่ว่า หลังจากที่ได้เผชิญกับบททดสอบทางการเมืองที่มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งทางความคิด แม้ปรีดีจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม แต่ถึงกระนั้น ความทรงจำที่ได้รับจากบททดสอบดังกล่าวนี้หาได้ลบเลือนไปจากจิตสำนึก พอ ๆ กันกับที่ได้เพิ่มพูนประสบการณ์ในแง่ปัญญาและความคิดทางการเมืองให้แก่ปรีดีไม่น้อยเลย กล่าวคือ ปรีดีได้ตระหนักเป็นอย่างดีว่า สภาวการณ์ในขณะนั้น เพื่อนร่วมชาติทั้งหลายยังไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่พวกเขาคุ้นเคยมาเป็นเวลาอันยาวนาน หากกล่าวถึงเค้าโครง ฯ คงมิได้มีผู้ใดแม้แต่ปรีดีเองก็ตาม ที่จะคาดเดาอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้แม้ว่าภายหลังปี 2476 เป็นต้นมานั้น สิ่งที่เคยนำเสนอไว้ในเค้าโครงจะได้รับการนำมาปฏิบัติในบางส่วนก็ตาม คงจะไม่เป็นการกล่าวเกินความจริงว่า เค้าโครง ฯ และหลักทางทฤษฎีของเค้าโครง ฯ ดังกล่าว ย่อมเป็นเสมือนมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญอันควรแก่ความใส่ใจและการศึกษาอย่างรอบคอบ

Saturday, March 1, 2014

ชาย vs หญิง


ทฤษฏีการเมือง แนวความคิดมาร์คซิสม์ (Marxism)

                สำหรับการการวิเคราะห์เรื่องของการกดขี่ทางเพศนั้น แนวมาร์คซิสต์มองว่าเราไม่สามารถแยกเรื่องการกดขี่ทางเพศออกจากปัญหาที่มาจากสังคมชนชั้นได้ เพราะพัฒนาการของสังคมมนุษย์ที่ผ่านมา ในแต่ละระบบหลังยุคบุพการ ล้วนแต่เป็นสังคมแห่งความขัดแย้งทางชนชั้นที่มีพลังผลักดันทางด้านเศรษฐกิจและสังคม มวลชนคนส่วนใหญ่ของโลกถูกคนจำนวนน้อยที่ครอบครองส่วนเกินจากการผลิต กดขี่ขูดรีด ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย และในขณะเดียวกันมีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง ที่นำไปสู่การกดขี่ทางเพศ
แนว มาร์คซิสต์ มองว่าการกดขี่ทางเพศที่ทำให้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ และไม่ใช่นิสัยใจคอแท้ของชายอีกด้วย การกดขี่ทางเพศเกี่ยวข้องกับการครอบครองทรัพย์สิน และการถ่ายทอดมรดกของชนชั้นปกครอง และเกี่ยวกับการทำให้ภาระงานบ้านเป็นภาระปัจเจกภายในครอบครัว เครื่องมือสำคัญของชนชั้นปกครองคือความคิดจารีตเกี่ยวกับเพศและครอบครัว แนวคิดเกี่ยวกับครอบครัว "ชาย - หญิง" นี้เอง เน้นว่าบทบาทหลักของหญิงอยู่ในบ้าน และยังเป็นผลให้คนรักเพศเดียวกันกลายเป็นพลเมืองชั้นสามอีกด้วย ดังนั้นการแก้ปัญหา ต้องอาศัยทั้งการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนค่านิยมคับแคบ และการต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจในสังคม ซึ่งรวมทั้งรัฐ ระบบชนชั้น และสถาบันครอบครัว
              ในหนังสือ "กำเนิดครอบครอบครัว ทรัพย์สินส่วนตัว และรัฐ" ของ เองเกิลส์ (กุหลาบ สายประดิษฐ์ (๒๕๒๔) "กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ ระเบียบสังคมของมนุษย์" สำนักพิมพ์ก่อไผ่ กรุงเทพฯ Frederick Engels (1978) The Origin of the Family Private Property and the State. Foreign Language Press, Peking) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1884 มีการอาศัยการค้นคว้าข้อมูลจากการศึกษาของนักมานุษวิทยาเช่น มอร์แกน มีการเสนอว่าฐานะของสตรีนั้นมีจุดตั้งต้นและคลี่คลายออกมาจากระบบการผลิตและฐานะทางครอบครัว ในยุคแรกๆ มนุษย์อยู่กันเป็นเผ่าพันธุ์ ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวและไม่มีคู่สมรสถาวรแบบผัวเดียวเมียเดียว บุตรในเผ่าเป็นบุตรของทั้งเผ่าที่ไม่มีวันทราบว่าใครเป็นพ่อ จึงต้องสืบทอดสายเลือดทางแม่ แต่ที่สำคัญคือการสืบทอดสายเลือดทางแม่กระทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจากแม่เดียวกันมีเพศสัมพันธ์กันเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อกำหนดฐานะทางเศรษฐกิจหรืออำนาจในสังคมแต่อย่างใด
              เมื่อมนุษย์พัฒนาการเลี้ยงชีพ ค้นพบวิธีการเกษตร แทนการเก็บของป่า จึงเกิด "ส่วนเกิน" จากความต้องการวันต่อวัน ทรัพย์สินส่วนตัวก็เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะการที่ชายถืออาวุธในการล่าสัตว์อยู่ในมือ มีกำลังทางกายเหนือหญิง และมีบทบาทในการรวบรวมส่วนเกิน โดยเฉพาะจากการเลี้ยงสัตว์ในยุคแรกๆ ทำให้ชายบางคนตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นในสังคมได้ ซึ่งนำไปสู่กำเนิดสังคมชนชั้น การปกป้องมรดก และการใช้สถาบันครอบรัวและรัฐในการรองรับอำนาจใหม่ดังกล่าว
ข้อเสนอของเองเกิลส์เป็นสาเหตุที่ชาว มาร์คซิสต์ มองว่าการกดขี่ทางเพศ สังคมชนชั้น ระบบครอบครัว และรัฐ แยกออกจากกันไม่ได้ และเราพอจะสรุปหลักการใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1) การกดขี่ทางเพศไม่ใช่เรื่องธรรมชาติที่มาจากสรีระ
2) การกดขี่ทางเพศเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการแบ่งมนุษย์ทั้งชายและหญิงออกเป็นชนชั้น ภายใต้การปกครองของคนส่วนน้อย
3) ครอบครัวคือสถาบันสำคัญในการกำหนดและกล่อมเกลาความคิดแบบกดขี่ทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม แต่รูปแบบครอบครัวปัจจุบันไม่ใช่รูปแบบที่มาจากธรรมชาติ รูปแบบครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงเสมอตามยุคของระบบการผลิต
4) วิธีแก้ปัญหาการกดขี่ทางเพศในระยะยาวต้องประกอบไปด้วยการจัดการเปลี่ยนสังคมไม่ให้มีชนชั้น และการเปลี่ยนรูปแบบของครอบครัวจากที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพื่อให้สตรีมั่นใจในสิทธิ์ของตนเองมากขึ้น พร้อมๆ กับการรณรงค์แก้ไขความคิดอีกด้วย
การปลดแอกผู้หญิง จะเริ่มเป็นไปได้ ในขั้นตอนแรกก็ต่อเมื่อผู้หญิงได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนในการผลิต และมีรายได้ของตนเอง ดั้งนั้นต้องหาทางที่จะแปรเปลี่ยนงานบ้านต่างๆ ให้เป็นงานสาธารณะ ซึ่งหมายถึงการสร้างรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ

                 ภาวะเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมปัจจุบัน มีการดึงสตรีเข้ามามีส่วนในการทำงานมากขึ้น ซึ่งสร้างความอิสระให้สตรีระดับหนึ่ง และส่งเสริมให้เกิดขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีมากขึ้น แต่ในมุมกลับ ชนชั้นนายทุนไม่พร้อมและไม่สามารถจะสละกำไรเพื่อสร้างระบบสังคมที่ "ภาระบ้าน" ทั้งหมดกลายเป็นภาระของสังคมโดยรวม ดังนั้นจึงมีการรณรงค์จากรัฐในกระแสความคิดที่เชิดชูสถาบันครอบครัวและค่านิยมอนุรักษ์เกี่ยวกับบทบาทสตรี สิ่งนี้ทำให้มีความขัดแย้งดำรงอยู่ในสังคมสมัยใหม่ตลอดเวลา ( Lindsey German (1989) Sex class and socialism. Bookmarks, London. Celia Petty, Deborah Roberts & Sharon Smith (1987) Women's liberation and socialism. Bookmarks, London & Chicago. Lindsey German (2007) Material Girls. Women, men and work. Bookmarks, London.)
                   Tony Cliff (Tony Cliff(1984) Class Struggle and Women's Liberation. Bookmarks, London) นักมาร์คซิสต์อังกฤษ เคยอธิบายว่าขบวนการสิทธิสตรีในรอบร้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีสองแนวคือ เฟมินิสต์ กับมาร์คซิสต์ และสองแนวนี้ถึงแม้ว่ามีเป้าหมายร่วมเพื่อปลดแอกสตรี แต่จะมีความขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง แนวเฟมินิสต์ เป็นแนวคิดของชนชั้นกลาง ที่มองว่าปัญหาการกดขี่ทางเพศมาจากสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับปัญหาชนชั้น ดังนั้นผู้หญิงทุกชนชั้นต้องรวมตัวกันต่อสู้กับอิทธิพลชาย แต่แนว มาร์คซิสต์ ซึ่งเป็นแนวของชนชั้นกรรมาชีพ (ดู ใจ อึ๊งภากรณ์และคณะ (๒๕๔๙) "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย" สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน บทที่ 3, 4 และ 5) มองว่าการกดขี่ทางเพศแยกออกจากเรื่องชนชั้นและการขูดรีดแรงงานไม่ได้ และไม่มีเรื่องใดที่สำคัญมากน้อยกว่ากัน นักมาร์คซิสต์อย่าง Alexandra Kollontai ซึ่งเป็นผู้นำ บอลเชวิค ในการปฏิวัติรัสเซีย 1917 มองว่าหญิงกรรมาชีพได้ประโยชน์จากการเข้าใจว่าสังคมชนชั้นเป็นแหล่งกำเนิดของการกดขี่ทางเพศ และหญิงกรรมาชีพจะได้ประโยชน์จากการร่วมต่อสู้กับชายในการล้มล้างสังคมดังกล่าว และในการยกเลิกสถาบันครอบครัวแบบจารีต (Alexandra Kollontai เขียนบทความสำคัญเช่น The social basis of the woman question (1909), Sexual relations and the class struggle (1911) และ Communism and the family (1918) อ่านได้ใน Alexandra Kollontai (1998) On Women's Liberation. Chanie Rosenberg (Ed.) Bookmarks, London. หรือใน ใจ อึ๊งภากรณ์และคณะ (๒๕๔๕) อ้างแล้ว)
ในประเทศไทย การรณรงค์เพื่อให้เกิดสิทธิลาคลอด เป็นผลงานที่สำคัญของสตรีในขบวนการแรงงานไทย ที่จัดตั้งในองค์กร "กลุ่มบูรณการสตรี" และการรณรงค์รอบต่อไปของขบวนการแรงงานในปัจจุบัน คือการต่อสู้เพื่อสิทธิทำแท้ง ซึ่งมีสหพันธ์แรงงานสิ่งทอเป็นหัวหอก