ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับกรณีของไทย
ธงชัย วินิจจะกูล
เกริ่นนำ คณะกรรมการ [คอป.] ชุดคณิต-สมชายใช้แนวคิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านอย่างฉ้อฉล (abused) พวกเขาใช้ถ้อยคำเหล่านี้เพื่อให้คณะกรรมการฯ ฉบับของไทยดูราวกับว่าเป็นไปตามมาตรฐานโลก โดยยืม “ฉลาก” อันเป็นที่ยอมรับกันในแวดวงสากล
แต่เอามาแต่ฉลาก ไม่มีเนื้อหาสาระอะไรเลย จะด้วยเจตนาที่จะโฆษณาชวนเชื่อหรือด้วยความเขลาไม่รู้เรื่องรู้ราวก็ตามแต่นี่เป็นนิสัยการยืมแบบไทยๆสาระสำคัญของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่คณะกรรมการฯ ของไทยขาดก็คือ
การต้องนำเอาการปราบปรามเข่นฆ่าที่เกิดขึ้นมาอยู่ในการพิจารณาด้วย เพราะเป็นประเด็นที่สำคัญและจำเป็นในการก้าวสู่ประชาธิปไตย คณะกรรมการเพื่อการสมานฉันท์และค้นหาความจริง (Truth and Reconciliation Commission (TRC)) ในรูปแบบและภายใต้ชื่อต่างๆ
เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมายนี้ อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ไม่ใช่กระบวนการที่จะดำเนินไปอย่างตรงแหน่วโดยปราศจากข้อขัดแย้งในตัวของมันเอง (dilemma)
ประเด็นหลักและข้อขัดแย้งของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
ในแทบทุกกรณีทั่วโลก ประเด็นพื้นฐานสองประเด็นที่แต่ละสังคมต้องเผชิญ และเป็นประเด็นแย้งกันคือ ความยุติธรรมกับการสมานฉันท์ (หรือการปรองดอง)
นอกจากนี้ยังมีอีกสองประเด็นที่เป็นประเด็นใหญ่เช่นกัน แต่ยังไม่ใช่หัวใจหรือเป็นประเด็นเร่งด่วนในตอนนี้ นั่นคือ การชดเชยหรือการเยียวยา (reparation) กับความทรงจำ
ความยุติธรรมกับการปรองดองอาจดูเป็นสองเรื่องแยกกัน แต่ถ้าคิดดูดีๆ จะพบว่าประเด็นพื้นฐานสองประเด็นนี้อาจเป็นสองขั้วอยู่ปลายสุดสองด้านในการพิจารณาเรื่องการปราบปรามเข่นฆ่าที่เกิดขึ้น
ความยุติธรรม <------------------------------------>การปรองดอง
ในแทบทุกกรณี การแสวงหาความยุติธรรมให้ได้อย่างเต็มที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง หรือกลับกันคือการปรองดองกีดขวางความยุติธรรม พูดอย่างอุดมคติ เราอยากจะได้ความยุติธรรมสูงสุด
และการเยียวยาที่ครบถ้วนเพื่อจะได้ก้าวไปข้างหน้า ในทางทฤษฎี ความยุติธรรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของการปรองดอง แต่ในความเป็นจริง เป็นไปได้ยากมากทุกสังคมที่เผชิญกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน พยายามหา “จุดสมดุลย์”
(แม้ว่าในความเป็นจริงจะหา “จุดสมดุลย์” ที่ลงตัวสมบูรณ์แบบไม่ได้ก็ตาม) เพื่อให้บรรลุได้ทั้งสองประการ แต่จุดดังกล่าวอยู่ตรงไหนนั้นขึ้นอยู่กับกรณีความรุนแรงโหดร้ายที่เกิดขึ้น และเงื่อนไขทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของแต่ละสังคม
จุดดังกล่าวสามารถแปรเปลี่ยนไปได้ตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมเมื่อเวลาผ่านไป (เช่น ชิลีและอาร์เจนตินา) ในหลายประเทศ ประเด็นการปรองดองมีน้ำหนักครอบงำประเด็นความยุติธรรม ทำให้กระบวนการแสวงหาความยุติธรรมอ่อนแอหรือมีการลงโทษผู้กระทำผิดเพียงเบาบางเพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้
ไต้หวัน: มีการพิจารณาการปราบปรามเข่นฆ่าที่ก๊กมินตั๋งกระทำต่อชาวพื้นเมืองไต้หวันในปี 2491 และไม่นานหลังจากที่ก๊กมินตั๋งยึดครองเกาะไต้หวัน
เกาหลี: มีการพิจารณาการปราบปรามเข่นฆ่าภายใต้เผด็จการหลายทศวรรษ ตั้งแต่ซิงมันรี ปักจุงฮี ถึงชุนดูวาน ในกรณีเช่น การปราบปรามนักศึกษาและฝ่ายซ้ายอย่างที่กวางจู ตลอดจนการสังหารหมู่ประชาชนที่เกาะเจจู (Jeju)
ฟิลิปปินส์: มีการพิจารณาการปราบปรามเข่นฆ่าที่กระทำต่อชาวมินดาเนาและในช่วงสงครามเย็น อดีตเยอรมันตะวันออก: สายสืบของ Stasi แทรกซึมอยู่ทั่วไปในสังคมจนหากต้องการความยุติธรรมและมีการลงโทษอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะมีคนต้องได้รับโทษเป็นจำนวนมาก หลายคนก่ออาชญากรรมต่อคนในครอบครัวของตัวเอง ในท้ายที่สุด ขอบเขตและเป้าหมายของการลงโทษถูกจำกัดให้แคบ เหลือแต่เฉพาะผู้นำระดับสูง
เราอาจพูดได้ว่า อินโดนีเซียและกัมพูชามีความลังเลที่จะเผชิญกับอดีตหรือการแสวงหาความยุติธรรมด้วยเหตุผลเดียวกัน
กรณีประเทศไทยก็อาจจัดอยู่ในข่ายนี้
ในหลายๆ ประเทศ ความยุติธรรมมีน้ำหนักเหนือการปรองดองที่ง่ายฉาบฉวย (simplistic) ทำให้การแสวงหาความยุติธรรมและการลงโทษดำเนินไปโดยเสี่ยงต่อการทำให้ความตึงเครียดในสังคมยืดเยื้อออกไปหรือปะทุขึ้นมาอีก
ชิลีกับอาร์เจนตินาคือตัวอย่างในกรณีนี้ แต่กรุณาสังเกตว่า ในทั้งสองกรณี การแสวงหาความยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างล่าช้าและกินเวลา อาร์เจนตินาหมดเวลาราวหนึ่งทศวรรษไปกับการปรองดองที่ฉาบฉวยโดยที่ไม่ค่อยมีความยุติธรรม ต้องรอจนกระทั่งประชาธิปไตยมีความมั่นคงมากขึ้นและมีผู้นำที่กล้าตัดสินใจรื้อฟื้นประเด็นนี้ขึ้นมา
ชิลีไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบอบหรือกลุ่มผู้ปกครอง (regime change) จริงๆ (ปิโนเชต์กับกองทัพ) และต้องอาศัยการแทรกแซงจากผู้พิพากษาชาวสเปนรายหนึ่งในการพลิกกระแส ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการรื้อฟื้นการแสวงหาความยุติธรรมขึ้นมาแอฟริกาใต้ได้รับการยกย่องสำหรับการริเริ่มในการยึด “ความจริง” เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ความจริงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงความยุติธรรมเข้ากับการปรองดอง และแอฟริกาใต้ยังเป็นกรณีที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
กรุณาสังเกตว่า บางคนบอกว่าคนดำไม่ได้ยินดีนักกับกระยวนการนี้ ขณะที่บางคนในคณะกรรมการฯ ชุด อ.คณิตบอกว่าคนขาวไม่ยินดีนักกับกรณีนี้ แต่ข้อเท็จจริงเป็นทั้งสองด้านและอยู่ระหว่างสองด้าน เพราะความจริง (อันเป็นปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงความยุติธรรมกับการปรองดอง)
คือหัวใจสำคัญคณะกรรมการสมานฉันท์ (TRC) ในแอฟริกาใต้มีลักษณะเฉพาะและอาจจะไม่สามารถเลียนแบบได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันสอดคล้องกับเงื่อนไขของประเทศนั้น แต่ก็เป็นเพราะการเน้นความสำคัญของความจริงในฐานะสิ่งเชื่อมโยงระหว่างความยุติธรรมกับการปรองดองด้วย
กล่าวในเชิงแนวคิดแล้ว เรื่องนี้ไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจ หากมองในเชิงการเมืองมันก็ไม่เป็นที่ปรารถนาทั้งสำหรับฝ่ายผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำ มันใช้ได้กับกรณีแอฟริกาใต้ (แม้ว่าความเลวร้ายของปัญหาการเหยียดผิวปรากฏชัดแจ้งอยู่แล้วก็ตาม)
เพราะเส้นแบ่งจำแนกผู้กระทำผิดกับผู้ถูกกระทำในช่วงการต่อสู้ที่รุนแรงนั้นได้พร่าเลือนไป คนดำและคนขาวจำนวนมาก ทั้งรัฐสภาแห่งชาติแอฟริกันและผู้ปกครองผิวขาว ต่างก็เป็นทั้งผู้ก่อความรุนแรงและเหยื่อในทุกกรณี มีเรื่องควรระวังที่รองลงไปอยู่หลายเรื่องด้วยกัน
อันแรก ระดับชั้นผู้ที่ควรได้รับการลงโทษควรจะลงลึกไปจากระดับหัวหรือผู้สั่งการมากน้อยแค่ไหน? รวมลงไปถึงผู้คุมในเรือนจำที่ทรมาณผู้ต้องข้ง หรือทหารระดับล่างที่เหนี่ยวไกยิงด้วยไหม? ในกรณีส่วนใหญ่ ต้องรวมพวกเขาด้วย แต่ต้องคำนึงถึงอีกเรื่องหนึ่งด้วยคือ
เรื่องที่สอง ระดับและประเภทของอาชญากรรม ในกรณีส่วนใหญ่ ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ของ “การสั่งการ” ของระดับบังคับบัญชา แต่ความทารุณโหดร้ายถูกดำเนินการโดยทหารระดับล่าง ความยุติธรรมต้องมีความเป็นธรรมด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์ในประเทศใดก็ตามล้วนเผชิญกับประเด็นเหล่านี้
เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าคณะกรรมการ คอป. ให้ความใส่ใจประเด็นเหล่านี้มากมายหรือไม่ หน้าที่ของพวกเขาคือการเบี่ยงเบนประเด็นไม่ให้รัฐบาลผิดอยู่ฝ่ายเดียว ถึงที่สุดแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มีเพื่อแสวงหาความยุติธรรม และสายตาสั้นเรื่องการปรองดองเมื่อพูดถึงหลักการเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมายาวพอสมควรแล้ว
ต่อไปนี้ขอพูดต่อเกี่ยวกับกรณีของไทย
ทำไมในหลายกรณีของไทย ความยุติธรรมจึงมักถูกโยนทิ้งไปเสมอ? ทุกกรณีของไทย (6 ตุลา, พฤษภา 35, เมษา-พฤษภา 53) จริงๆ แล้ว ไม่ซับซ้อนอะไรเลยเมื่อเทียบกับหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ในแง่ที่ว่าอาชญากรรมนั้นคืออะไร อะไรถูก อะไรผิด ใครเป็นผู้กระทำและใครเป็นเหยื่อ
กรณีของไทยไม่ซับซ้อนในแง่นี้ แต่กระนั้นก็ไม่ง่ายกว่ากรณีอื่นในการแสวงหาความยุติธรรมและการปรองดอง เนื่องจากเงื่อนไขทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมอย่างแรก
ไม่มี “การเปลี่ยนแปลงระบอบ (regime change)” อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สุดในการแสวงหาความยุติธรรมหรือการปรองดองใดๆ ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองเพียงประการเดียวนี้ทำให้คณะกรรมการชุดคณิต-สมชายเป็นเรื่องตลก เหมือนคณะกรรมการต่างๆ ก่อนหน้าที่สอบสวนกรณีพฤษภา 35 และกรณีอื่นๆ
เงื่อนไขเดียวกันนี้ทำให้การสืบสวนกรณี 6 ตุลา หรือปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นไปไม่ได้เลยอะไรคือ “การเปลี่ยนแปลงระบอบ” ที่ว่า? พูดสั้นๆ ก็คือ ผู้ที่อาจมีบทบาทโดยตรงหรือโดยอ้อมในการปราบปรามเข่นฆ่า หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียกับผลของการสืบสวน จะต้องออกจากอำนาจและพ้นไปจากกลไกการแสวงหาความยุติธรรมและการปรองดอง คณะกรรมการชุดคณิต-สมชายนั้นถูกสร้างโดยอภิสิทธิ์เพื่อรับใช้อภิสิทธิ์ ช่างน่าขันเสียจริง! เราจะพูดถึง 6 ตุลาได้อย่างไรในเมื่อเครือข่ายราชสำนักกุมอำนาจและทรงอิทธิพลเหนือสังคมไทยอยู่?
ประการที่สอง การเมืองไทยและวาระทางสังคมสำคัญๆ ถูกครอบงำโดยคนในเมืองใหญ่ พวกเขาเลือกอยู่ข้างไหนในคราวนี้? คำตอบเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว นี่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ประการที่สาม สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมมากนัก ตรงกันข้าม เชิดชูแต่ความสามัคคี สังคมไทยไม่สนใจเท่าไรกับสิทธิและความเป็นปัจเจก สนใจแต่เสถียรภาพ ความมั่นคงและสถานะเดิม (status quo) ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมสังคมไทยจึงมีขันติต่ำต่อความขัดแย้งและการเห็นต่าง
การปรองดองที่ต้องแลกด้วยการสูญเสียความยุติธรรมจึง “สมเหตุสมผล” และรับกันได้ง่าย หรือเป็นที่พอใจสำหรับคนไทยมากกว่าคนในวัฒนธรรมอื่น
นี่คือรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทย แม้ไม่ชอบแต่ต้องอยู่กับมัน[เราอาจไม่ตระหนักว่า คำว่ายุติธรรมที่เราคุ้นเคยในภาษาไทยนั้นมาจากคำสันสกฤตที่ไม่ได้หมายความว่า Justice “ธรรม” หมายถึงระเบียบทางสังคมที่เหมาะสมตามธรรมชาติ
ในภาษาจีน บาฮาซา มาเลย์ เขมร พม่า ไม่มีคำที่แปลตรงตัวสำหรับคำว่า Justice เช่นกัน คำที่ใช้หมายถึง Justice ในภาษาเหล่านี้ล้วนมีรากมาจากอย่างอื่น ไม่ใช่ “straight” หรือ “upright”
อย่างในภาษาละตินสำหรับ justice]แนวคิดว่าด้วยความยุติธรรมและการปรองดองของพุทธอย่างที่พระไพศาลว่าไว้นั้น สะท้อนถึงคุณค่าบรรทัดฐานที่คนไทยยึดถือ
สิ่งที่พระไพศาลนำเสนอจึงเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและรับได้ง่าย แน่นอน วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดคุณค่าและบรรทัดฐานที่คลุมเครือ มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เราถึงสามารถที่จะต่อสู้และอาจจะเปลี่ยนแปลงมันได้
ประการที่สี่ ความยุติธรรมมีเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม ในสังคมส่วนใหญ่ ความยุติธรรมเป็นตัวแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ระหว่างประชาชนกับรัฐ บนหลักการว่าด้วยสิทธิของปัจเจกบุคคล ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมภายใต้กฎหมายเดียวกัน
แต่ระเบียบทางสังคมที่เหมาะสมในสังคมไทยไม่ใช่สิทธิปัจเจก หรือความเป็นธรรม และความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย ในความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ เป้าหมายของความยุติธรรมคือการดำรงสถานะเดิม คือ การรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีลำดับชั้นภายใต้รัฐความยุติธรรมในสังคมหลายแห่งไม่ใช่เป็นเรื่องขึ้นกับบุคคล (impersonal)
แต่ความยุติธรรมในสังคมไทยเป็นการใช้อำนาจของรัฐของชนชั้นนำเพื่อรักษาระเบียบทางสังคม ความยุติธรรมสนองรับใช้รัฐเพื่อระเบียบสังคมของชนชั้นนำ ดังนั้น
ความยุติธรรมจึงสามารถถูกเขี่ยทิ้งไปได้ หากทำอย่างนั้นแล้วชนชั้นนำได้ประโยชน์ยิ่งกว่านั้น สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่เชื่อว่าคนธรรมดาจะสามารถปกครองและอำนวยความยุติธรรมโดยไม่ต้องพึ่งพาใบบุญจากชนชั้นนำที่ปรีชาสามารถและเปี่ยมด้วยคุณธรรม ความยุติธรรมจักต้องบังเกิดจากชนชั้นนำที่ทรงคุณธรรมเท่านั้น โดยมีแหล่งกำเนิดมาจาก “ผู้ทรงความยุติธรรมหนึ่งเดียว” (the Justice One) ที่ส่งผ่านอำนาจบันดาลความยุติธรรมให้ศาลทั้งหลายอีกที
ศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่ได้เป็นของประชาชน เมื่อไรที่ชนชั้นนำต้องการพักระงับความยุติธรรม ซึ่งเป็นของพวกเขาไม่ใช่ของเรา พวกเขาก็จะทำด้วยความมีเมตตากรุณาธิคุณต่อประชาชนเพื่อธำรงระเบียบทางสังคมที่เหมาะสม (แน่นอน ตามทัศนะของพวกเขา)
ประการที่ห้า ในสังคมไทย การปรองดองมักจะเป็นเป้าหมายที่สูงกว่าความยุติธรรมเสมอ ตราบใดที่มันหมายถึงการดำเนินระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมของชนชั้นนำสืบต่อไป
ยกตัวอย่างหลัง 2475 เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงไม่ได้พูดจาภาษาปรองดอง ในช่วงปั่นป่วนหลัง 2516 ชนชั้นนำก็ไม่พูดปรองดองเช่นกัน พวกเขาพูดแต่เรื่องกำจัดพวกคอมมิวนิสต์
ประเทศไทยต้องการการปรองดองที่มีความยุติธรรม การปราบปรามเข่นฆ่าที่ผ่านมาในประเทศไทยไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อนมากนักในการที่จะชี้ถูกชี้ผิด หาผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำ หากมีการยึดมั่นในหลักการความเป็นธรรมและความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย แต่ความยุติธรรมในสังคมไทยจะต้องไม่ไประคายเคืองอำนาจครอบงำและระเบียบสังคมของชนชั้นนำ
อุปสรรคต่อความยุติธรรมอยู่ตรงนี้สังคมไทยมีวุฒิภาวะเพียงพอหรือมีศักยภาพที่จะพัฒนาและเติบโตบรรลุวุฒิภาวะที่จะรับมือความขัดแย้งที่ซับซ้อนในหมู่ประชาชนและระหว่างประชาชนกับรัฐได้ สังคมไทยไม่ได้เปราะบางหรือเป็นเด็กเหยาะแหยะเสียจนกระทั่งความยุติธรรมและการปรองดองก็ยังต้องถูกควบคุมและกำกับดูแลโดยชนชั้นนำผู้ทรงคุณธรรม
การลดทอนและการพักระงับความยุติธรรมโดยอ้างการปรองดองจึงมีที่มาจากโลกทัศน์ของชนชั้นนำว่าประชาชนเป็นเหมือนเด็กและจำเป็นต้องให้ชนชั้นนำอำนวยความยุติธรรมให้ทว่ามันเป็นไปเพื่อชนชั้นนำล้วนๆ เพื่อรักษาระเบียบสังคมที่มีลำดับชั้นอันมีพวกเขาอยู่บนสุด ที่มีการดำเนินการปรองดองโดยปราศจากความยุติธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า
ความยุติธรรมไม่ใช่ยาพิษ ความปรองดองที่ปราศจากความยุติธรรมต่างหากที่เป็นยาพิษ มันเป็นทั้งพิษทั้งมอมเมาประเทศไทยจะต้องเลิกการปรองดองที่ปราศจากความยุติธรรม และเริ่มแสวงหาความยุติธรรมเพื่อก้าวไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมที่ประชาชนสามารถอยู่ด้วยกันได้ภายใต้กฎหมายเดียวกัน นี่เป็นวิถีทางที่สังคมที่ซับซ้อนจัดการกับความขัดแย้ง ไม่ใช่การอวดอ้างการปรองดองที่ฉาบฉวยว่างเปล่าโดยปราศจากความยุติธรรม
No comments:
Post a Comment