จรรยา ยิ้มประเสริฐ: จดหมายถึงเพื่อนและสหาย
Tue, 2010-11-09 16:49
จรรยา ยิ้มประเสริฐ30 ตุลาคม 2553
ชื่อบทความเดิมสลายหมอกควันแห่งการคอรัปชั่น – จดหมายถึงเพื่อนและสหาย
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายและบทความหลายชิ้นเกี่ยวกับวิกฤติการเมืองในประเทศไทย แต่จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวถึงผลสะเทือนต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งด้านส่วนตัวและในงานต่างๆ
ข้าพเจ้าเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 เมษายน ตามคำเชิญของสหภาพแรงงานที่ฟินแลนด์ และจากอีกสองสามองค์กร พร้อมกับวีซ่าเดินทางเข้าออกยุโรป หลังจากข้าพเจ้าเดินทางมายุโรปได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์การปราบปรามคนเสื้อแดงอย่างเหี้ยมโหด
หลังจากการพยายามเกาะติดเหตุการณ์การปราบปราบที่สะเทือนขวัญครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้เผยแพร่งานเขียนที่เปิดเผยถึงความรู้สึกของตัวเองต่อการเมืองในประเทศไทย และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ข้าพเจ้าได้รับคำแนะนำว่าอย่าเพิ่งเดินทางกลับประเทศไทย (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ท้ายจดหมาย)
เพื่อนบางคนถามว่า “มันคุ้มกันหรือกับการลุกขึ้นมาเขียนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อต้องเผชิญกับความกดดันต่างๆ ทำไมไม่มุ่งหน้าทำงานที่สำคัญของคุณต่อไป โดยไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อการเมืองไทย?”
ขอบคุณอย่างยิ่ง แม้แต่ในประเทศไทย ยิ่งมีความพยายามจะทำให้ไพร่หุบปากมากเท่าไร เสียงของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกลับยิ่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าผู้ทรงภูมิปัญญาในบ้านเมืองส่วนใหญ่จะยังคงนิ่งเฉย แต่เราก็เห็นนักวิชาการที่ละคนสองคนได้ทยอยลุกขึ้นมาทำลายความเงียบงันเหล่านี้
อะไรทำให้ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดนี้?การสูญเสียชีวิตถึง 90 ชีวิตและกว่า 2,000 คนได้รับบาดเจ็บจากการปราบปรามเมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคมที่ผ่านมา นำมาซึ่งคำถามสำคัญ “ทำไม NGO และสหภาพแรงงานถึงได้เงียบเฉยต่อความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐบนท้องถนนที่กรุงเทพ?” ความอดกลั้นต่อการกดขี่ทางการเมืองในประเทศไทยกำลังจะสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่?
ความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐครั้งนี้ ไม่เหลือทางเลือกใดให้ข้าพเจ้า แทบจะทันทีหลังการปราบปราม ข้าพเจ้าได้เรียกร้องให้ขบวนการแรงงานในหลายประเทศร่วมสมานฉันท์กับประชาชนคนไทย เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการปราบปรามคนเสื้อแดง และได้จัดทำหนังสือถึงสหประชาชาติ โดยเปิดให้มีการลงชื่อทางอินเตอร์เนท พร้อมกับการกลั้นใจเฮือกใหญ่กับการลุกขึ้นมาเขียน “ทำไมถึงไม่รักในหลวง” และปรับปรุงบทความเรื่อง “ไพร่สู้ บนเส้นทาง 78 ปีประชาธิปไตย” ที่เขียนเมื่อเดือนเมษายน 2552
ข้าพเจ้าพบว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนในสองบทความนั้น แม้ว่าขณะนี้จะสิ้นเดือนตุลาคมแล้วก็ตาม สะท้อนอยู่ใน “รายงานเบื้องต้นการการะทำที่อาจถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในราชอาณาจักรไทย” ที่มีจำนวน 61 หน้า เพื่อยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยสำนักกฎหมายโรเบิรต์ อัมเตอร์ดัม ในนามแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) สำหรับรายละเอียดของรายงานโปรดอ่าน http://robertamsterdam.com/thailand/
กระแสตอบรับจากงานเขียนได้แสดงให้เห็นว่า มันช่วยในการให้คนไทยบางคนหลุดออกมาจากม่านหมอกแห่งความกลัวกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ปกคลุมทั่วประเทศไทยมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ
แต่ที่น่าประหลาดใจยิ่งนักคือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่จมอยู่ท่ามกลางความผิด กลับโหมกระหน่ำใช้กฎหมายหมิ่นฯ อย่างรุนแรงและเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ใช้อย่างพร่ำเพรื่อกับใครก็ตามที่สร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลและผู้บัญชาการ กองทัพบก นอกจากการเพิ่มงบทหารอีกเกือบเท่าตัว
รัฐบาลชุดนี้ได้เทเงินกว่าพันล้านบาทให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์สถาบัน ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะระดมอาสาสมัคร 800,000 คนทั่วประเทศไทย และอีกหลายร้อยล้านไปกับการจัดตั้งลูกเสือไซเบอร์กว่า 200 คนเพื่อตรวจจับทางอินเตอร์เนท ซึ่งตัวเลขล่าสุด มีการบล๊อกเวบไซด์กว่า 250,000 แห่ง คงไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า เวบไซด์ที่เปิดใหม่ 82% ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพูดคุยกันเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
มีผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อของกรมสอบสวนพิเศษ (DSI) ที่ทะยอยถูกจับ สอบสวน และส่งเข้าคุกในข้อหาหมิ่นฯ โดยไม่มีการออกหมายเรียก ซึ่งหลายกรณีมีการข่มขู่ คุกคามญาติพี่น้องของพวกเขาด้วย
เพราะว่ามีภัยอยู่จริงในความมืด และอันตรายที่อาจจะเกิดกับคนรอบข้าง ข้าพเจ้าตัดการสื่อสารเกือบทั้งหมดกับเพื่อนร่วมงานในโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) และญาติพี่น้อง และหยุดใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้มานานกว่า 10 ปี
ไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะไม่เจ็บปวดไปกับการตัดสินใจเหล่านี้
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความยุ่งเหยิงเช่นนี้ได้อย่างไร?ประเทศไทยเริ่มเผชิญกับวิกฤติการเมืองที่รุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ต้นปี 2549 ด้วยการประท้วงบทท้องถนนที่แม้จะไม่รุนแรงในระยะแรก แต่ได้กลายเป็นการปะทะกันอย่างดุเดือดในเวลาต่อมา ความวุ่นวายทางการเมืองที่ส่งผลสะเทือนต่อทุกชีวิตในประเทศไทย
คุณเป็นสีเหลืองหรือสีแดง?นอกจากสองสีนี้แล้ว ยังมีประชาชนสีเขียวที่ออกมาเดินบนท้องถนนเพื่อประท้วงการสร้างโรงงานไฟฟ้า และขยะพิษจากนิคมอุตสาหกรรม และก็ยังมีขบวนแรงงานในเสื้อหลากสีที่เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบัน ILO 87และ98 เพื่อเปิดเสรีภาพในการรวมตัวและต่อรองร่วม TLC ร่วมขับเคลื่อนกับสหภาพแรงงานในเรื่องเหล่านี้มาหลายปี
สำหรับผู้ที่ไม่ใช่คนไทย การเมืองที่จมอยู่ในปลักโคลนเช่นที่ประเทศไทย อาจจะดูซับซ้อนและสับสน แน่นอนมันยากจะเข้าใจ และเรายังต้องเผชิญกับสภาวะแทรกซ้อนเข้าไปอีก เมื่อภาพลักษณ์ของทักษิณไม่ดีนักในสายตาของโลกตะวันตก เป็นหนึ่งในตัวช่วยให้ขบวนการฝ่ายนิยมกษัตริย์ กลุ่มคนเสื้อเหลือง – ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ บุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย นักวิชาการ สหภาพแรงงาน และ NGO แถวหน้า สามารถปล้นอำนาจจากทักษิณไปได้โดยไม่มีความละอาย และโดยปราศจากการประท้วงจากโลกตะวันตก และไร้ซึ่งเสียงคัดค้านจากกลุ่มชาติ ASEAN
นับตั้งแต่ปี 2549 ปวงชนชาวไทยได้อยู่ภายใต้แรงกดดันให้ต้องรับมือกับรัฐบาล 6 ชุด ทักษิณที่มาจากการเลือกตั้ง คณะรัฐประหาร (พลเอกสนธิ) รัฐบาลที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร (พลเอกสุรยุทธ) รัฐบาลจากค่ายทักษิณ 2 คณะ (สมัครและสมชาย) และแม้ว่าจะแพ้ในการเลือกตั้งถึงสามครั้งติดต่อกัน รัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถเลื้อยขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2551
สงครามสีที่เริ่มโดยพันธมิตร เย้ยหยันและส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ตั้งแต่ในครอบครัว จนถึงในองค์กร NGO และสหภาพแรงงาน
ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การแตกแยกเหล่านี้เริ่มปรากฎชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 เมื่อ NGO และสหภาพแรงงานที่ต่อต้านการทำข้อตกลงการค้าเสรีและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพื่อร่วมโค่นทักษิณ “ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม”
ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดตอนทางการเมืองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ และถึงแม้ว่าพวกเราจะเคยร่วมต่อสู้ในหลายเรื่องร่วมกันมาหลายปี แต่การตัดสินใจของ NGO และสหภาพแรงงานในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ TLC มีสิทธิ์ส่วนบุคคลที่จะเลือกว่าจะอยู่การเมืองสีไหน แต่ในฐานะองค์กร TLC ยืนหยัดในหลักการ “ประชาธิปไตยที่ต้องมีส่วนร่วมของประชาชน” และไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองใด ไม่ว่าสีเหลืองหรือสีแดง ข้าพเจ้าไม่เคยเข้าร่วมในกิจกรรมเสื้อเหลืองเลยแม้แต่ครั้งเดียว และขาดการติดต่อกับเพื่อนไปจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากยิ่ง ผู้คนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยต้องเสียมิตรภาพเพราะสงครามสี
กระนั้นก็ตาม การสังหารหมู่ประชาชนใจกลางกรุงเทพมหานคนเป็นเรื่องจริง และขณะนี้พวกเราได้ประจักษ์ถึงคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ทำไม NGO สหภาพแรงงาน และนักวิชาการที่ออกมาเรียกร้องไม่ให้ค่ายทักษิณใช้ความรุนแรงในการปราบปรามคนเสื้อเหลือง กลับเงียบเฉยเมื่อค่ายอภิสิทธิ์ ส่งกองกำลังทหารกิตติมศักดิ์เข้าปราบปรามเสื้อแดงในปี 2552 และ 2553”
ขอยกตัวอย่าง FTA Watch ที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการคนเสื้อเหลืองเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ในที่ประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนเมื่อเดือนกันยายน 2553 และเวทีประชุมภาคประชาสังคมเอเชีย-ยุโรปเมื่อเดือนตุลาคมนี้ ตัวแทนจาก FTA Watch ยังคงกล่าวถึงความสำเร็จของพวกเขาที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่จัดทำโดยรัฐบาลของคณะรัฐประหาร
ความสับสนจนผิดพลาดอย่างมหันต์นี้ เป็นคุณลักษณะพิเศษของ “คนไทย” จริงๆ -การผสมผสานระหว่างขบวนการภาคประชาสังคมต่อต้านเสรีนิยมโลกาภิวัตน์กับกองทหารแห่งชนชั้นสูง ในนิยามแห่งคำว่า “ความมั่นคงของชาติ”
มันเป็นตลกร้าย ที่ต้องเฝ้ามองผู้คนที่มีชื่อเสียงทางสังคมพากันไหลบ่าเข้าสู่ขบวนการเสื้อเหลืองที่บ้าคลั่ง การกระทำของพันธมิตรสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ในความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิวัติ 2549 ทำให้การปฎิวัติที่ไม่สูญเสียเลือดเนื้อ กลายเป็นเหตุการณ์เลือดนองท้องถนน
โศกนาฎกรรมที่ได้รับการตบรางวัลกันถ้วนหน้า เมื่อแกนนำพันธมิตรได้รับรางวัลจากจากฝ่ายกษัตริย์นิยมด้วยตำแหน่งรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และอีกมากมาย
ในความพยายายามที่จะยิ่งใหญ่ พันธมิตรที่น่าพิศวงได้จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ และแล้ว แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร ที่ควรจะเป็นพื้นที่หัวใจของพันธมิตร พรรคการเมืองใหม่กลับไม่ได้เลือกเข้าไปนั่งอยู่ใน สก. และ สข. ที่ผ่านมาแม้แต่คนเดียว
ผู้นำ NGO หลายคนที่เข้าร่วมกับพันธมิตร ขณะนี้นั่งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย และคณะอนุกรรมการ ด้วยงบประมาณปีละ 200 ล้านบาท ซึ่งบริหารโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีอภิสิทธิ์เป็นประธาน
กลุ่มคนกลุ่มแรกๆ ที่เข้าทำเนียบหลังจากการปราบปราบเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา – โดยการทำหนังสือเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการ – คือกลุ่มผู้นำสหภาพแรงงาน ที่ไม่ได้ใส่ใจแม้แต่น้อยที่จะพูดถึงชนชั้นกรรมาชีพ 90 คนที่ถูกสังหาร และคนร่วม 2,000 คนที่ถูกยิงจากทหาร พวกเขาเข้าพบรัฐบาลเพื่อเจรจาค่าเสียหายให้กับคนงานที่ไม่สามารถทำงานในระหว่างการประท้วงของคนเสื้อแดง (ดูรายละเอียด http://www.prachatai.com/journal/2010/05/29813)
เงินจำนวนไม่น้อยที่สหภาพแรงงานจากโลกเหนือส่งมาสนับสนุนกิจกรรมของสหภาพแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะนับต้ังแต่ปี 2513 เป็นต้นมา มีจำนวนไม่มากนักที่ตกถึงมือคนงานรากหญ้าอย่างแท้จริง ในทุกวันนี้สหภาพแรงงานในประเทศไทยทยอยของบสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในทางปฏิบัติยิ่งลดทอนความสำคัญของความจำเป็นที่ขบวนการแรงงานจะทำงาน “ด้านสิทธิการรวมตัว” และการลงทำงานจัดตั้งในวิถีการเมือง “ล่างขึ้นบน”
สำหรับท่านที่ใส่ใจในประเด็นที่กล่าวมาข้างบน จะเข้าใจยิ่งขึ้นถ้าย้อนกลับไปดูว่า เพราะเหตุใดสมศักดิ์ โกศัยสุข (แกนนำพันธมิตรและหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่) ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนประจำปี 2549 จากมูลนิธิฟรีดริก เอแบรท (FES)
เพราะเหตุใด ผู้นำสหภาพแรงงานและ NGOs จำนวนมากถึงกระทำการที่ขัดต่อหลักการของตัวเองที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคม?
บางคนกล่าวกับข้าพเจ้าว่า “คุณอาจจะวิเคราะห์การเมืองไทยได้อย่างถูกต้อง แต่คุณจะสนับสนุนเสื้อแดงไปทำไมกัน เพราะถ้าเสื้อแดงชนะ ทักษิณกลับมาแน่ คุณต้องการเช่นนั้นหรือ?”
คนเสื้อแดงเริ่มปรากฎกายจำนวนเรือนแสนเมื่อต้นปี 2552 พวกเขาไม่มีทีท่าว่าจะพ่ายแพ้ แม้ว่าอภิสิทธิ์จะปราบปราบอย่างเหี้ยมโหดเมื่อเดือนเมษายน 2552 และ 2553 แน่นอนว่าพวกเขาจะยังคงไม่หยุดต่อสู้จนกว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และจะไม่หยุดจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม
บุคคลที่มีชื่อเสียงและชี้นำในภาคสังคมทั้งหลายในประเทศไทย ได้ใช้ชีวิตอย่างหมิ่นเหม่บนหลังเสือ ที่พวกเขาขึ้นไปขี่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือเพราะความกลัวในกฎหมายหมิ่นฯ ก็ตาม เมื่อพวกเขาน่ังอยู่บนหลังเสือ ถ้าไม่อยากตกเป็นเป้านิ่งของสไนเปอร์ก็ต้องพูดภาษาเดียวกับค่ายกษัตริย์นิยม และถ้าพวกเขาตกจากหลังเสือ พวกเขาก็ต้องจ้องตากับเสือ
การที่ทักษิณได้รับความนิยมสูงมากทำให้สถานภาพของพวกเขาอยู่ในสภาวะที่ไร้ความหมาย ดังนั้นพวกเขาจึงเข้าร่วมกับฝ่ายกษัตริย์นิยมและเสื้อเหลืองในทุกช่องทางเพื่อช่วยพรรคประชาธิปัตย์โค่นทักษิณ และผลที่เกิดขึ้นคือ? ประชาธิปไตยที่เปราะบางอยู่แล้วของประเทศไทยถูกพัดปลิวว่อน
การโค่นผู้นำคนหนึ่งในสังคมที่ปกครองด้วยการคอรัปชั่นไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อย่างแท้จริง
อนาคตแห่งประชาธิปไตยในประเทศไทยขึ้นอยู่กับว่าพวกเราจะซื่อสัตย์กับตัวเองมากพอที่จะดึงสรรพกำลังของเราออกมา เพื่อสลัดไล่อำนาจแห่งกลุ่มทหาร-กษัตริย์นิยมที่ฉ้อฉลและครอบงำสังคมไทยมาตั้งแต่ปี 2490 ให้หลุดออกไปให้จงได้ได้อย่างไร? พวกเราจะสร้างระบบที่โปร่งใสมากพอที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักการประชาธิปไตยได้มากพอที่จะล้างระบบรัฐสภากันอีกครั้งหน่ึงและเป็นครั้งสุดท้ายไดหรือไม่?
คนที่กล้าลุกขึ้นสู้ จำเป็นจะต้องได้รับการพูดถึงอย่างชื่นชมในความมุ่งมั่นของพวกเขาที่ขอมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการกระทำที่สมควรได้รับการยกย่อง เป็นความจำเป็นที่ต้องทำและสำคัญอย่างยิ่งในสภาวะการเมืองในปัจจุบัน ประชาชนจำต้องตระหนักว่า พวกเขาจำต้องกำกับ ตรวจสอบ และแสดงความเป็นเจ้านายที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ
ทำไมทั้งผู้นำ NGO และนักวิชาการจำนวนมากจึงยังไม่ยอมตื่นมาสู่โลกของความจริง? พวกเขายังคงเชื่ออยู่อีกหรือว่าคนเสื้อแดงเป็นแค่ชาวนาผู้โง่เขลา? คำว่า “เที่ยงธรรม” สูญสิ้นความหมายไปหมดแล้วหรือในประเทศไทย?
หลังจากที่ข้าพเจ้าส่งจดหมายประนาณรัฐประหารทันทีหลังจากที่ทหารทำรัฐประหารในปี 2549 เจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวไทยของแหล่งทุนแห่งหนึ่งได้เขียนอีเมลมาบอกข้าพเจ้าว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียน “ไม่ใช่จุดยื่นร่วมของขบวนการ NGO ในประเทศไทย” หนึ่งเดือนหลังการทำรัฐประหาร 19 กันยา ที่เวทีภาคประชาสังคมไทย มีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นระหว่าง NGO ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ในประเด็นว่า เราจะสามารถเดินขบวนภายใต้รัฐบาลทหารหรือไม่ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ได้รับการสนับสนุนโดย สสส. (ที่มาร่วมประชุมด้วยเสื้อสีเหลือง) ตัดสินใจไม่เดินขบวนกับพวกเรา และอีกครั้งหนึ่งหลังจากเหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 2553 เจ้าหน้าที่ไทยในองค์กรที่ทำงานระดับภูมิภาคเขียนถึงข้าพเจ้าว่า “พวกคุณไม่รักประเทศไทย และไม่สมควรจะเกิดเป็นคนไทย”
นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2543 แหล่งทุนเพื่อการพัฒนาได้ถอนประเทศไทยออกจากประเทศที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ ทำให้ NGO ต่างๆ ต้องแสวงหาผู้สนับสนุนกลุ่มใหม่ พวกเขาจำนวนไม่น้อยหันมาขอทุนจากงบประมาณของกรม กระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ก่อตั้ง 2544) มีบทบาทสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การกำกับและตรวจสอบของ สสส. NGO จำนวนมากต้องปรับกลยุทธการทำงานจากการทำงาน “ต่อสู้เรื่องสิทธิ” มาสู่การทำงาน “แบบสังคมสงเคราะห์”
เมื่อองค์กรที่รับเงินทุน สสส. ต้องลดบทบาททางการเมือง และห้ามขับเคลื่อนบนท้องถนน NGO จำนวนมากยุติบทบาท อันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คือบทบาทการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย
องค์กรแหล่งทุนที่ยังคงสำนักงานอยู่ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย ใช้ประเทศไทยเพราะความสะดวกต่อการบริหารจัดการโครงการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็พากันปิดหูปิดตาที่จะรับรู้เรื่องราววิกฤติการเมืองที่ปกคลุมทั้งสังคมไทย และก็ทำงานของพวกเขาไปตามหน้าที่ ตราบใดที่ยังมีผัดไทย อาหารจานโปรดเป็นอาหารกลางวัน มันก็เพียงพอแล้วกับการอยู่ในประเทศไทย
แม้แต่ภายใต้รัฐบาลทักษิณ องค์กรพัฒนาเอกชนก็ทำงานกันได้ลำบากเพราะถูกตรวจสอบหรือต้องเซนเซอร์ตัวเอง และยังต้องส่งรายงานกิจกรรมหรือขออนุญาตทำกิจกรรมไปยังกระทรวงมหาดไทยหรือตำรวจ ฯลฯ
องค์กรที่ให้ทุนสนับสนุนงานที่ส่งเสริมเรื่องสิทธิ มักจะเผชิญกับการกดดันและข่มขู่อยู่บ่อยครั้ง – บางครั้งมีตำรวจมาขอตรวจสำนักงาน หรือสั่งปิดสำนักงาน เป็นต้น ทำให้มันจำเป็นที่ถ้าไม่อยากมีเรื่อง พวกเขาจำต้องยอมจำนนใต้อำนาจแห่งทรราชย์ไดโนเสาร์ – และประนีประนอมต่อหลักการสิทธิมนุษยชน
อย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เจ้าหน้าที่ขององค์กรภูมิภาคและองค์กรสากลเหล่านี้ ตามวีถีแห่งการขยับฐานะ ได้กลายเป็นคนเส้ือเหลือง
สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนเล็กๆ ที่ยังยืนหยัดทำงานเรื่องสิทธิ การหาทุนทำงานเป็นเรื่องยากลำบากมาก และหลายองค์กรก็ไม่สามารถหาทุนทำงานต่อได้
ใครบอกว่าเราจำเป็นจะต้องปรองดองกับรัฐบาล?นับตั้งแต่ปี 2549 NGO ที่ไม่ใช่เฉพาะ TLC พบว่า มันเป็นเรื่องยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะขับเคลื่อนงานไปข้างหน้าให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สงครามสีที่บ้าคลั่งในประเทศไทย ไม่ได้สร้างให้เกิดการแบ่งแยกเฉพาะองค์กรของเราเท่านั้น แต่ได้ทำร้ายศักยภาพในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกเราลงไปด้วย
หลายองค์กรได้ใช้ทรัพยากรของตัวเองไปกับการระดมคนเข้าร่วมการประท้วงกับคนเสื้อเหลือง มันได้สร้างแรงกดดันอันมหึมาต่อการที่องค์กรเหล่านั้นจะดำรงไว้ซึ่งศักยภาพที่จะทำงานสอดประสานรับกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนได้ต่อไปหรือไม่
พวกเรามาถึงจุดที่จะต้องทำความเข้าใจว่า สงครามสีอันบ้าคลั่งนี้กำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการพยายามดำรงไว้ซึ่งฟางเส้นสุดท้ายแห่งการครองสติสัมปชัญญะทางการเมืองไทยของคนไทยเอาไว้ ยามนี้เราจำเป็นจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นำพาประเทศให้สามารถปีนป่ายขึ้นไปจากหลุมดำอันมืดมิดนี้แห่งนี้ให้จงได้ แต่จะทำอย่างไร?
ทั้ง NGO ไทยและสากลจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เลยถ้ายังหลอกตัวเอง และจินตนาการอยู่ว่าจะสามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้ถ้ายอมเล่นไปกับเกมส์การเมืองที่ฉ้อฉล
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ได้แต่งตั้งอดีตนายกอานันท์ ปัญญารชุน เป็นหัวหน้าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย พร้อมทั้งงบประมาณ 600 ล้านบาทสำหรับการดำเนินงาน 3 ปี (ปีละ 200 ล้านบาท) ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว อานันท์ได้เลือกผู้นำ NGO และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคนมานั่งอยู่ในคณะกรรมการของเขา
ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเลย ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2553 คณะกรรมการปฎิรูปฯ ต้องเผชิญหน้ากับการประท้วงด้วยข้อความ “น่าเสียดายที่คนตายไม่ได้ปฏิรูป”
การประท้วงแบบนี้เป็นสัญญาณที่ดีว่า การฝ่าด่านวัฒนธรรมแห่งระบบ “อุปถัมภ์” ที่เป็นดังยาพิษที่กัดกร่อนสังคมไทย และลดทอนความสำคัญของคำว่าความ “เที่ยงธรรม” และ “ประสิทธิภาพ” ของเครือข่าย NGO มาหลายทศวรรษ ขณะนี้ -นับว่าในระดับหนึ่ง- ได้ถูกท้าท้ายและทำให้อยู่ภายใต้เลเซอร์ตรวจจับ โดยเฉพาะจากกลุ่มนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่
กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch)นักวิชาการและนักกิจกรรมรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความชอบธรรมของผู้นำ NGO และนักวิชาการที่มีชื่อเสียง กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย จึงได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อช่วยนำเสียงของกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงาน และชาวบ้านที่เห็นและตระหนักอย่างถ่องแท้ถึงความหมายของคำว่า “ความอยุติธรรม” เช่นที่มันเป็น คือ “ความอยุติธรรม”
NGO จำเป็นต่อสังคม เพราะมีการดำเนินงานที่คล้ายกับบริษัท – ทำให้บ่อยครั้งพวกเขาสามารถระบุและนำเสนอปัญหาในวิธีการที่กลไกรัฐไม่อาจกระทำได้หรือไม่ต้องการจะทำ ปัญหาของ NGO คือ เมื่อพวกเขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ พวกเขามักจะมีแนวโน้มที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนเสียเอง แทนที่จะจัดการศึกษาและดำเนินการให้ประชาชนได้ช่วยเหลือตัวเอง
ระบบ “อุปถัมภ์” ของไทย เข้ากันได้ดีกับรูปแบบการทำงานของ NGO ที่ไม่ใส่ใจมากนักในเรื่องการปรับตัวให้ทันสมัย และยังส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรม ”พี่เบิ้ม” ซึ่งได้สะท้อนผ่านการทำงานที่ไม่ต้องใช้กลไกประชาธิปไตย และหยั่งรากลงลึกมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะถอนตัวออกจากเกมการเมืองกระแสหลักที่แสนสกปรกในประเทศไทยที่สอดรับกับแนวคิด “คนดี”
ถ้าประเทศไทยจะปีนป่ายขึ้นมาจากปลักโคลน เราจำเป็นจะต้องต้อนรับ กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการเปิดพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์ที่มุ่งเพื่อการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของ NGO
ด้วยการยอมรับเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปผู้นำ NGO และนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ได้มอบความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่ไม่สมควรได้รับความชอบธรรมแม้แต่น้อย พวกเขากลายเป็นผู้ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการประกาศใช้พระราชบัญญัติในสถานการณ์ฉุกเฉินของอภิสิทธิ์ และความพยายามอย่างสุดลิ่มทิมประตูของเขาที่จะทำให้การกำหนดวันเลือกตั้งสามารถเลื่อนออกไปได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เวลาที่นานพอจะช่วยให้เขาทำลายหลักฐานแห่งความผิดพลาดจากการกระทำอันโหดร้ายของรัฐบาลของเขา และช่วยให้ประชาธิปัตย์์สามารถเตรียมมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้สามารถเอาชนะการเลือกตั้งให้จงได้
เพื่ออนาคตของประชาธิปไตยทั่วทั้งคาบสมุทรอินโดจีน
เพื่ออนาคตของประชาชนพม่าและประชาชนอาเซียน องค์กรนานาชาติ สหภาพแรงงานสากล และองค์กรให้ทุนเพื่อการพัฒนาทั้งหลายจำต้องมองให้ลึกซึ้ง รอบด้าน และตรงไปตรงมา ถึงต้นตอที่มาว่า ทำไมบัน คี มูน ถึงกล่าวว่า “ปัญหาของไทยเป็นเรื่องภายในประเทศ” ปัญหาอันสกปรก “ปัญหาภายในประเทศ” ที่มีความชอบธรรมที่ได้ถูกนำฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
เมื่อไรกันที่จดหมายลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องมีการเขียนกันอีกต่อไป?การได้สังเกตการณ์ถึงความสับสนและความขัดแย้งที่บ่งบอกถึงความรุนแรงของสงครามสีที่มีต่อการเมืองไทย TLC ตัดสินใจที่จะมุ่งเป้าไปที่การเดินทางศึกษาปัญหาในพื้นที่
นับตั้งแต่ปี 2549 พวกเราได้เดินสายลงพื้นที่กันหลายครั้ง ทั้งชายแดนไทย-พม่า เรียบแม่น้ำโขง และทั่วทั้งภาคอีสาน ทำงานเกี่ยวกับเรื่องคนงานต่างชาติในประเทศไทยและคนไทยที่ไปทำงานที่ต่างประเทศ ผลที่ได้จากการลงพื้นที่คือการประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเครื่องข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศเมื่อต้นปี 2550 และเมื่อปลายปี 2552 พวกเราประสบความสำเร็จในการจัดตั้งสหภาพคนทำงานต่างประเทศ
สามปีที่ผ่านมา งานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิคนงานต่างชาติที่พวกเราทำมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก (รวมทั้งการสมานฉันท์คนงานต่างชาติในประเทศไทยกับคนงานไทยที่ไปต่างประเทศ) ทั้งความรวมมือกับหลายองค์กรเพื่อยับยั้งขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ เรามุ่งเป้าสู่การพัฒนาแนวคิดการฟื้นคืนถิ่นผ่านกระบวนการสร้างทางเลือกเพื่อการดำรงชีวิตในพื้นที่ ผ่านทางการส่งเสริมวิถีเกษตรอินทรีย์ ซึ่ง (ในที่สุด) เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ จากทั่วทุกมุมโลกว่า เป็นเส้นทางหนึ่งที่จะทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจน ที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถที่จะพึ่งพิงตนเอง การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขา
เพราะการทำงานให้กับสหภาพคนทำงานต่างประเทศนี่เอง ที่ข้าพเจ้าเดินทางมายุโรปเมื่อปลายเดือนเมษายน เพื่อมาศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยชาวอีสานหลายพันคนต้องมาตกทุกข์ได้ยาก เพราะหลงเชื่อในคำโฆษณาที่เกินจริงจากธุรกิจเก็บลูกเบอรรี่ที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียร์ และติดตามกรณีที่คนงานไทยถูกหลอกมาทำงานที่โปร์แลนด์และสเปน
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ปราบปรามประชาชน การตัดสินใจพูดเกี่ยวกับปัญหาการคอรัปชั่นทางการเมืองไทยอย่างรุนแรงกว่าที่เคยทำมา ได้ส่งผลสะเทือนต่อชีวิตของข้าพเจ้า – รวมทั้งกระทบต่องานและแผนงานเกือบทั้งหมด
ข้าพเจ้าพยายามอย่างเต็มกำลังความสามารถที่จะสานงานต่อจากยุโรป นับตั้งแต่เดือนเมษายน ข้าพเจ้าและทีมงานที่นี่ได้เดินทาง 4,000 กิโลเมตร รอบกลุ่มประเทศบอลติกถึง 2 รอบ – รวมทั้งเข้าร่วมประชุมที่กรุงบูคาเรสต์ ตูริน เจนีวา และบรัสเซล
ในประเทศไทยเจ้าหน้าที่ TLC ยังคงมุ่งม่ันทำงานอย่างหนัก แต่การที่ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่เมืองไทย และไม่สามารถร่วมลงมือทำงานกับทุกคนได้ เป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจมาก ภายในสภาพการณ์เช่นนี้ พวกเราไม่สามารถคาดหวังได้มากเกินไป แต่ TLC เช่นเดียวกับองค์กรรากหญ้าอื่นๆ ในยามนี้ ต้องการความสมานฉันท์ต่อเนื่องจากเพื่อนและสหายทั้งหลาย เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถขับเคลื่อนงานผ่านความยากลำบาก และความสับสนทางการเมืองในประเทศไทยไปให้ได้
* * *
นี่เป็นจดหมายขนาดยาวถึ่งเพื่อนซึ่งอาจจะประหลาดใจว่า จรรยาอยู่ที่ไหน? และหรือว่า ทำไมเธอถึงเขียนอะไรที่ใช้ภาษาที่ดูแรงขึ้นมาก
ข้าพเจ้าไม่รู้สึกก้าวร้าว แต่แน่นอนข้าพเจ้ารู้สึกโกรธ มันมีความแตกต่างในคำสองคำนี้ ความลึกและขอบเขตที่กว้างใหญ่ของผลกระทบที่เกิดจากการเมืองและการคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทยทำให้ประชาชนรู้สึกโกรธแค้น ไม่ใช่เฉพาะข้าพเจ้าเท่านั้น ความฟอนเฟะเหล่านี้จะต้องถูกเปิดโปงและจัดการด้วยพลังที่เข้มแข็ง
หลังจากหลายทศวรรษที่พวกเราปล่อยให้หลักการแห่งประชาธิปไตย ตกอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของคำว่า “ความมั่นคงของชาติ” ที่ถูกปลุกปั่นโดยทหารกษัตริย์นิยม (หนุนหลังโดยสหรัฐอเมริกา) ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า พวกเราคนไทยกำลังอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่แท้จริง เพื่อกู้และฟื้นคืนประชาธิปไตยของเราคืนมา
ข้าพเจ้าหวังว่า การนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับวิกฤติการเมืองของไทยอย่างต่อเนื่อง – กับสาธารณชนคนไทย ประชาคมนานาชาติ และประชาชนแห่งโลกทั้งหลาย อาจจะทำให้พวกเราค้นพบวิถีแห่งสันติวิธีที่จะลดช่องว่างประชาธิปไตยติดลบของไทย และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานของประชาธิปไตยของเรา
เพื่อสร้างให้เกิดการนำเสนอข้อมูลในวงกว้าง ข้าพเจ้าได้เปิดแผนรณรณรงค์ “แอ็คชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย” ซึ่งพวกเราคนทำงานได้รับการสนับสนุนที่เห็นด้วยในหลักการจากผู้คนหลายพันคน ซึ่งมากกว่าที่ข้าพเจ้าได้รับในช่วงเริ่มแรกแห่งการจัดตั้งโครงการรรณรงค์เพื่อแรงงานไทยเมื่อต้นปี 2543 ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่าไม่ได้สู้อยู่ตามลำพัง
การจะพูดอะไรได้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาในฐานะมนุษยชาติ และในฐานะปุถุชนคนไทยคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในท่ามกลางสภาวะการเมืองที่ยุ่งเหยิงและเสแสร้งในประเทศไทย
แอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย ขอกล่าวกับมิตรสหายหลายล้านคนในประเทศไทยที่พยายามลุกขึ้นสู้ กับสภาพการเมืองที่ไร้จุดหมายของไทย ว่าพวกท่านทุกคนมีเหตุผลดีๆ มากมายที่จะไม่ยอมแพ้ ทั่วทั้งโลกอยู่ในภาวะสับสน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ “ถ้าสู้รวมกันเราจะชนะแน่นอน!”
ในเวลานี้ ข้าพเจ้าคงต้องอยู่ที่ยุโรปสักระยะหนึ่ง แต่การทิ้งทั้งชีวิตที่เมืองไทยโดยไม่มีใครดูแล – ทั้งงาน TLC ครอบครัว และเพื่อน และโดยเฉพาะการทดลองวิถีเกษตรอินทรีย์เพื่อการพึ่งตนเองที่ไร่เปิดใจ นำความเจ็บปวดมาสู่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง
ไร่เปิดใจ ได้ต้อนรับเพื่อนฝูงและสหายหลายคณะ แม้ว่าโครงการนี้จะยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มันก็ได้สอนอะไรพวกเรามากมายเกี่ยวกับความมั่นคงเรื่องอาหารและการพึ่งตนเอง ถ้าเพื่อนๆ ท่านใดมีโอกาสไปเยือนไร่เปิดใจ ในขณะที่ข้าพเจ้าไม่อยู่ โปรดบอกข้าพเจ้าได้เลย ข้าพเจ้าจะเขียนเกี่ยวกับไร่เปิดใจในจดหมายฉบับหน้า
ข้าพเจ้าขอจบจดหมายฉบับนี้ว่า ข้าพเจ้าต้องกล่าวว่า คงไม่สามารถดำเนินชีวิตให้ผ่านมาได้ในช่วงสี่ปีแห่งความหนักหน่วงทางการเมืองไทย โดยปราศจากการสนับสนุนและช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงหลายคน และถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากริกู
ขอให้ทุกท่านสนับสนุนการต่อสู้ของแอ็คชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย
ด้วยความสมานฉันท์
เล็ก
.............หมายเหตุ – กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จำนวนของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,000%
คำถามสำคัญที่ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีสถาบันกษัตริย์หรือไม่ หรือมีสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบใด คำตอบอาจจะขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง และการตัดสินใจของคณะรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองด้วยกระบวนการเลือกตั้ง ฯลฯ แต่ปีนี้เป็นปี 2553 คงไม่ยากนักที่จะทำความเข้าใจได้แล้วว่า ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชาติ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ในประเทศไทยกฎหมายหมิ่นฯ เป็นเพียงเครื่องมือที่จะปิดปาก กดทับ และปิดกั้นแรงบันดาลใจของชนชั้นล่างในสังคม มันมีประโยชน์ต่อคนกลุ่มเล็กที่่เห็นแก่ตัว ได้รับอภิสิทธิอันสูงยิ่ง และกลุ่มชนช้ันสูงที่กุมอำนาจเท่านั้นเอง มันไม่ได้ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประการใดเลย เป็นเพียงเครื่องมือที่จะสร้างหลักประกันว่าทั้งประชาธิปไตยและการพัฒนาเพื่อคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่สามารถจะกระทำได้อย่างยั่งยืน
การยังคงใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรังแต่จะยิ่งกีดก้ันสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ออกห่างจากประชาชนมากยิ่งขึ้น – มันเป็นเพียงหลักประกันว่า จะทำให้สถาบันกษัตริย์ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง
No comments:
Post a Comment