Wednesday, November 17, 2010

เมื่อตาสียายมาไปไกลกว่าเมืองกรุง


วิกฤติการเมืองไทยร่วมสมัยสามารถทำความเข้าใจได้หลายลักษณะ หากเน้นการเมืองของชนชั้นนำวิกฤติครั้งนี้เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำไม่กี่กลุ่มโดย มีการผลัดอำนาจเป็นฉากหลัง หากเน้นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองในวงกว้าง วิกฤติเกิดขึ้นเพราะชนชั้นใหม่ไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ตามที่คาดหวัง หรือหากจำเพาะเจาะจงลงไปในเรื่องของจุดยืนและแนวคิด วิกฤติครั้งนี้เป็นเรื่องของจินตนาการทางการเมืองที่ต่างกันจนยากเกินกว่าจะประนีประนอม


วิกฤติการเมืองไทยสามารถเข้าใจได้ในอีกลักษณะ ศาสตราจารย์ชาร์ลส คายส์ แห่งภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เสนอว่าวิกฤติครั้งนี้มีความซับซ้อนและแหลมคมเพราะคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่รับรู้และไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน “ชนบท” และในตัว “คนชนบท” โดยเฉพาะในภาคอีสาน พวกเขาซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลและจำนวนมากสมาทานความคิดของกลุ่มเสื้อ เหลืองและเสื้อสีกลายพันธุ์อื่นๆ เชื่อว่ากลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ถูกจ้างมาจากต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน โดยนักการเมืองที่มีอดีตนายกฯ ทักษิณ หนุนหลัง เพื่อมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล พวกเขาคิดว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่อยู่แต่กับท้องนาท้องไร่ ไร้การศึกษา โง่และยากจนข้นแค้น จึงสามารถถูกหลอกและถูกซื้อได้โดยง่าย
ศาสตราจารย์คายส์เสนอว่าความเชื่อดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมหันต์ เพราะประสบการณ์การศึกษาหมู่บ้านอีสานอย่างต่อเนื่องยาวนานของเขาชี้ให้เห็นว่าชาวชนบทอีสานเริ่มออกนอกภาคเกษตรมากว่า 4 ทศวรรษแล้ว โดยในช่วงแรกผู้ชายในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งนิยมเดินทางไปรับจ้างในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่นอกฤดูการผลิตเป็นรายได้เสริม ต่อมาผู้หญิงก็ร่วมเดินทางไปด้วยในจำนวนที่เพิ่มขึ้น จนกระทั่งเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาครัวเรือนส่วนใหญ่มีรายได้นอกภาคเกษตรจากนอกหมู่บ้านเป็นสัดส่วนสำคัญ และหลายครัวเรือนมีรายได้เหล่านี้เป็นรายได้หลักแทนรายได้จากภาคเกษตร นอกจากนี้ผู้ชายในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งมักเดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นระยะ


ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้โลกของชาวอีสานเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่บ้านที่พวกเขาพำนักอีกต่อไป แม้ว่าพวกเขาจะยังเรียกตัวเองว่าชาวบ้านหรือเกษตรกร ศาสตราจารย์คายส์เรียกชาวอีสานเหล่านี้ว่า cosmopolitan villagers หรือ “ชาวบ้านที่มีโลกกว้างไกล” ซึ่งหมายถึงผู้คนที่ยังมีความผูกพันกับหมู่บ้านและสังคมวัฒนธรรมชนบท แต่ก็มีความเข้าใจในเศรษฐกิจโลกและประเทศที่เขาอาศัยและทำงานอยู่


ศาสตราจารย์คายส์กล่าวเพิ่มเติมว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยสถาปนาขึ้นตอบสนองโลกและชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวอีสานเหล่านี้ แทนที่จะใช้วิธีการอุปถัมภ์ผ่านระบบราชการเช่นพรรคการเมืองอื่น พรรคไทยรักไทยดำเนินนโยบายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากงบประมาณและทรัพยากรต่างๆของรัฐได้โดยตรง พวกเขาจึงเห็นความสำคัญของการเมืองระบบรัฐสภามากขึ้น การเลือกตั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาหมู่บ้านมีความคึกคักอย่างมาก เพราะคนที่ทำงานในที่ห่างไกลต่างพากันเดินทางกลับมาลงคะแนนเสียง มีรถแท็กซี่จอดตามบ้านต่างๆ หลายสิบคัน ฉะนั้นขณะที่คนกรุงเทพฯ ต่างพากันแสดงความยินดีปรีดากับรัฐประหาร 2549 ชาวอีสานเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความคับแค้นและขมขื่น ซึ่งพวกเขาแสดงออกผ่านการลงประชามติไม่รับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเข้าร่วมกลุ่มคนเสื้อแดง ศาสตราจารย์คายส์สรุปว่านอกจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นระบบ หากไม่สามารถทำให้คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ตระหนักในโลกและชีวิตอันกว้างไกลของ “ชาวบ้าน” เหล่านี้ และไม่สามารถทำให้ “ชาวบ้าน” เหล่านี้รู้สึกว่าเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันในชาติได้ วิกฤติครั้งนี้ก็ยากเกินกว่าจะเยียวยา


ข้อคิดเห็นของศาสตราจารย์คายส์สำคัญ เพราะในทางทฤษฎี ความมีโลกกว้างไกล หรือ cosmopolitanism ในแง่หนึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นอภิสิทธิ์ที่สงวนไว้สำหรับคนบางกลุ่ม คนที่จะมีโลกกว้างไกลได้ต้องมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงพอที่จะท่องเที่ยวไปทั่วโลกได้ดังใจ พวกเขาถือหนังสือเดินทางหลายฉบับ ตอนเช้าเดินทางไปประชุมธุรกิจประเทศหนึ่งที่ลงทุนไว้ ตกค่ำไปกินอาหารค่ำกับลูกที่ส่งไปเรียนอยู่อีกประเทศ จึงไม่ใช่รูปแบบชีวิตที่คนทั่วไปจะเอื้อมถึง

แต่ศาสตราจารย์คายส์ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานของคนชนบทก็สามารถเข้าถึงประสบการณ์ในโลกกว้างได้เช่นกัน แม้จะเป็นคนละลักษณะ นอกจากนี้การจัดวางประสบการณ์เหล่านี้เข้ากับบริบททางการเมืองในประเทศก็ชี้ให้เห็นว่าการเป็นผู้มีโลกกว้างไกลไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงข้ามกับการเป็นพลเมืองรัฐหรือคนในชาติอย่างที่นักคิดสายนี้หลายคนเสนอ

ชาวบ้านอีสานอาจมีวีซ่าของหลายประเทศ แต่ก็มีหนังสือเดินทางของประเทศไทยเพียงฉบับเดียว พวกเขาท่องไปในโลกกว้างไม่ใช่เพื่อจะได้มีประเทศหลายแห่งไว้พำนัก แต่เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจและประสบการณ์ชีวิตที่พวกเขาจะนำมาใช้ประโยชน์ใน ประเทศและโดยเฉพาะในหมู่บ้านที่พวกเขามีความผูกพันอยู่ด้วย
ในแง่นี้การที่ชาวอีสานจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ในโลกกว้างเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงจึงตอกย้ำว่าการเป็นผู้มีโลกกว้างไกลไม่จำเป็น ต้องแลกกับความเป็นพลเมืองรัฐหรือคนในชาติ ความรู้กว้างไกลทำให้พวกเขาตระหนักว่าประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ตอบสนองความต้องการของคนหมู่มาก ประสบการณ์เฉพาะภายในประเทศช่วยตอกย้ำความสำคัญของระบบเลือกตั้งยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันสำนึกในความเป็นพลเมืองและคนในชาติก็ผลักดันให้พวกเขาร่วมสร้างสังคมที่เป็นธรรมขึ้นในประเทศไม่ใช่เฉพาะเพื่อตัวเองในวันนี้ หากแต่เพื่อลูกหลานที่จะเกิดมาอาศัยบนแผ่นดินนี้ในวันข้างหน้า รัฐประหาร 2549 ที่พาประเทศถอยหลังในสายตาของชาวโลกจึงไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ ระบบการปกครองที่ปฏิเสธอำนาจของประชาชนก็ไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน

สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจอีกประการที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มคน เสื้อแดงเรียกร้องระบบการปกครองที่ชาวโลกส่วนใหญ่ยอมรับ


ในทางกลับกัน คนชั้นกลางในเมืองที่ผ่านการศึกษาในระบบจำนวนมากกลับมีโลกทัศน์ทางการเมือง คับแคบ รวมทั้งมีความตื่นตัวทางการเมืองต่ำ (หากอาศัยร้อยละของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปเป็นเกณฑ์) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาในระบบถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือปลูกฝังความ ภักดีต่อผู้อยู่ในอำนาจ แบบเรียนประวัติศาสตร์ สังคมศึกษา และจริยธรรม รวมทั้งพิธีกรรมในวาระต่างๆ ทำหน้าที่ตอกย้ำความชอบธรรมของอำนาจครอบงำ เมื่อผนวกกับเป้าหมายเพื่อการตลาดของระบบการศึกษา

โอกาสที่ผู้ผ่านการศึกษาในระบบจะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีจินตนาการทางการเมืองที่ต่างออกไปจึงจำกัด ขณะเดียวกันการจัดสรรงบประมาณที่กระจุกที่กรุงเทพฯ ก็ปิดกั้นโอกาสที่คนในเมืองนี้จะเห็นว่าการเมืองกับการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะไม่ว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ หรือว่าเลือกใคร กรุงเทพฯ ก็จะได้รับการปรนเปรอต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ฉะนั้น ในขณะที่บุคคลที่พวกเขาเหมาว่าเป็นตาสีตาสาได้ท่องไปไกลกว่ากรุงเทพฯ ในเชิงความคิด คนกรุงผู้มีการศึกษาจำนวนมากก็ยังมีจินตนาการทางการเมืองวนเวียนอยู่ไม่ไปไหนไกลกว่าปากซอย

############################################
[บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับการบรรยายของท่านอาจารย์ Charles F.Keyes จากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในหัวข้อชื่อ From Peasants to Cosmopolitan Villagers: the transformation of "rural" northeastern Thailand (จากชาวนาสู่คนงานโลก:ชีวิตทันสมัยของชาวชนบทอีสาน) เมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2553 จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]

No comments:

Post a Comment