Thursday, November 25, 2010

งานเสวนา " อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ความฝันอันสูงสุดที่ไม่เคยมีอยู่จริง"




ขอเชิญร่วมงานเสวนา " อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ความฝันอันสูงสุดที่ไม่เคยมีอยู่จริง"




ในวันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ 2553 เวลา 12.00-18.00 น.


สถานที่ Natural Wellness Resort and Spa ต.หนองหาร อ. สันทราย จ.เชียงใหม่


บัตรราคา 1000 บาท ( มีอาหารกลางวันและอาหารว่าง ) รายได้ทั้งหมดนำไปสมทบทุนก่อสร้าง สถานีวิทยุ สร้างสรรค์ สังคมเชียงใหม่




สำรองที่นั่งหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 084-4875510,o88-2582816

Sunday, November 21, 2010

วัตถุประสงค์การจัดตั้งสถานี "สร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่"


สืบเนื่องปรากฏการณ์การตื่นตัวทางการเมืองของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน พบว่าสื่อโดยเฉพาะสื่อใหม่อย่างวิทยุชมชน มีบทบาทสำคัญในเรื่องของการให้การศึกษา ยกระดับความคิดทางการเมือง และเป็นช่องทางที่คนในชุมชนได้รับรู้ข่าวสารจากภายนอก รวมถึงสะท้อนความคิดเห็น ข้อมูลข่าวสารไปสู่ชุมชนอื่นๆ


ทั้งนี้จากการตื่นตัวของชาวเชียงใหม่ในเรื่องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นมานั้น ถือว่าเป็น "ฐาน" ที่สำคัญในการสร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่ ทั้งในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสิทธิ เสรีภาพ สิทธิพลเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชนชาวเชียงใหม่ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมการสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม


วัตถุประสงค์ของสถานีวิทยุชุมชน "สร้างสรรค์สังคมเชียงใหม่"


1. เป็นช่องทางในการส่งเสริมให้ความรู้ด้านสิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแก่คนชุมชน
2. เป็นช่องทางสื่อสารสาธารณะที่คนในชุมชนมีบทบาทเป็นทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสาร
3. เป็นช่องทางส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน
4. เป็นช่องทางส่งเสริมด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น รวมถึงเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์

*ตัวอย่างการดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์


(1) เป็นช่องทางในการส่งเสริมให้ความรู้ด้านสิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแก่คนชุมชน >>> มีรายการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมือง, รายการข่าวสารจากท้องถิ่นอื่นๆ (เช่น การต่อสู้พิทักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น, รายการข่าวสารการเมืองจากต่างประเทศ (ดำเนินรายการเป็นภาษาถิ่น)), มีรายการให้นักวิชาการ นักศึกษา ย่อยองค์ความรู้ด้านสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยสู่ชุมชนท้องถิ่น, ลิงค์สัญญาณเสียงการเสวนาวิชาการจากเวทีในส่วนกลางสู่ท้องถิ่น, ย่อยบทความวิชาการต่างๆ สู่ผู้ฟัง เป็นต้น


(2) เป็นช่องทางสื่อสารสาธารณะที่คนในชุมชนมีบทบาทเป็นทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสาร >>> เปิดที่ที่จัดรายการแบบ "ร่วมด้วยช่วยกัน" ให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในการสะท้อนความคิดเห็น รวมถึงปัญหาต่างๆ ในชุมชน เป็นต้น


(3) เป็นช่องทางส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน >>> มีการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ในชุมชนเชียงใหม่ กระตุ้นให้คนในชุมชนมีจิตสำนึกทำประโยชน์เพื่อสารธารณะร่วมกัน เป็นต้น


(4) เป็นช่องทางส่งเสริมด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น รวมถึงเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ >>> มีรายการเกี่ยวกับด้านบันเทิง อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น รวมถึงเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ (เช่น เรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตก-ตะวันออก เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์)

Wednesday, November 17, 2010

เมื่อตาสียายมาไปไกลกว่าเมืองกรุง


วิกฤติการเมืองไทยร่วมสมัยสามารถทำความเข้าใจได้หลายลักษณะ หากเน้นการเมืองของชนชั้นนำวิกฤติครั้งนี้เป็นเรื่องของการแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำไม่กี่กลุ่มโดย มีการผลัดอำนาจเป็นฉากหลัง หากเน้นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองในวงกว้าง วิกฤติเกิดขึ้นเพราะชนชั้นใหม่ไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ตามที่คาดหวัง หรือหากจำเพาะเจาะจงลงไปในเรื่องของจุดยืนและแนวคิด วิกฤติครั้งนี้เป็นเรื่องของจินตนาการทางการเมืองที่ต่างกันจนยากเกินกว่าจะประนีประนอม


วิกฤติการเมืองไทยสามารถเข้าใจได้ในอีกลักษณะ ศาสตราจารย์ชาร์ลส คายส์ แห่งภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เสนอว่าวิกฤติครั้งนี้มีความซับซ้อนและแหลมคมเพราะคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่รับรู้และไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน “ชนบท” และในตัว “คนชนบท” โดยเฉพาะในภาคอีสาน พวกเขาซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลและจำนวนมากสมาทานความคิดของกลุ่มเสื้อ เหลืองและเสื้อสีกลายพันธุ์อื่นๆ เชื่อว่ากลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ถูกจ้างมาจากต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน โดยนักการเมืองที่มีอดีตนายกฯ ทักษิณ หนุนหลัง เพื่อมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล พวกเขาคิดว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่อยู่แต่กับท้องนาท้องไร่ ไร้การศึกษา โง่และยากจนข้นแค้น จึงสามารถถูกหลอกและถูกซื้อได้โดยง่าย
ศาสตราจารย์คายส์เสนอว่าความเชื่อดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมหันต์ เพราะประสบการณ์การศึกษาหมู่บ้านอีสานอย่างต่อเนื่องยาวนานของเขาชี้ให้เห็นว่าชาวชนบทอีสานเริ่มออกนอกภาคเกษตรมากว่า 4 ทศวรรษแล้ว โดยในช่วงแรกผู้ชายในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งนิยมเดินทางไปรับจ้างในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่นอกฤดูการผลิตเป็นรายได้เสริม ต่อมาผู้หญิงก็ร่วมเดินทางไปด้วยในจำนวนที่เพิ่มขึ้น จนกระทั่งเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาครัวเรือนส่วนใหญ่มีรายได้นอกภาคเกษตรจากนอกหมู่บ้านเป็นสัดส่วนสำคัญ และหลายครัวเรือนมีรายได้เหล่านี้เป็นรายได้หลักแทนรายได้จากภาคเกษตร นอกจากนี้ผู้ชายในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งมักเดินทางไปทำงานต่างประเทศเป็นระยะ


ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้โลกของชาวอีสานเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมู่บ้านที่พวกเขาพำนักอีกต่อไป แม้ว่าพวกเขาจะยังเรียกตัวเองว่าชาวบ้านหรือเกษตรกร ศาสตราจารย์คายส์เรียกชาวอีสานเหล่านี้ว่า cosmopolitan villagers หรือ “ชาวบ้านที่มีโลกกว้างไกล” ซึ่งหมายถึงผู้คนที่ยังมีความผูกพันกับหมู่บ้านและสังคมวัฒนธรรมชนบท แต่ก็มีความเข้าใจในเศรษฐกิจโลกและประเทศที่เขาอาศัยและทำงานอยู่


ศาสตราจารย์คายส์กล่าวเพิ่มเติมว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยสถาปนาขึ้นตอบสนองโลกและชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวอีสานเหล่านี้ แทนที่จะใช้วิธีการอุปถัมภ์ผ่านระบบราชการเช่นพรรคการเมืองอื่น พรรคไทยรักไทยดำเนินนโยบายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากงบประมาณและทรัพยากรต่างๆของรัฐได้โดยตรง พวกเขาจึงเห็นความสำคัญของการเมืองระบบรัฐสภามากขึ้น การเลือกตั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาหมู่บ้านมีความคึกคักอย่างมาก เพราะคนที่ทำงานในที่ห่างไกลต่างพากันเดินทางกลับมาลงคะแนนเสียง มีรถแท็กซี่จอดตามบ้านต่างๆ หลายสิบคัน ฉะนั้นขณะที่คนกรุงเทพฯ ต่างพากันแสดงความยินดีปรีดากับรัฐประหาร 2549 ชาวอีสานเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความคับแค้นและขมขื่น ซึ่งพวกเขาแสดงออกผ่านการลงประชามติไม่รับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเข้าร่วมกลุ่มคนเสื้อแดง ศาสตราจารย์คายส์สรุปว่านอกจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นระบบ หากไม่สามารถทำให้คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ตระหนักในโลกและชีวิตอันกว้างไกลของ “ชาวบ้าน” เหล่านี้ และไม่สามารถทำให้ “ชาวบ้าน” เหล่านี้รู้สึกว่าเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันในชาติได้ วิกฤติครั้งนี้ก็ยากเกินกว่าจะเยียวยา


ข้อคิดเห็นของศาสตราจารย์คายส์สำคัญ เพราะในทางทฤษฎี ความมีโลกกว้างไกล หรือ cosmopolitanism ในแง่หนึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นอภิสิทธิ์ที่สงวนไว้สำหรับคนบางกลุ่ม คนที่จะมีโลกกว้างไกลได้ต้องมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงพอที่จะท่องเที่ยวไปทั่วโลกได้ดังใจ พวกเขาถือหนังสือเดินทางหลายฉบับ ตอนเช้าเดินทางไปประชุมธุรกิจประเทศหนึ่งที่ลงทุนไว้ ตกค่ำไปกินอาหารค่ำกับลูกที่ส่งไปเรียนอยู่อีกประเทศ จึงไม่ใช่รูปแบบชีวิตที่คนทั่วไปจะเอื้อมถึง

แต่ศาสตราจารย์คายส์ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานของคนชนบทก็สามารถเข้าถึงประสบการณ์ในโลกกว้างได้เช่นกัน แม้จะเป็นคนละลักษณะ นอกจากนี้การจัดวางประสบการณ์เหล่านี้เข้ากับบริบททางการเมืองในประเทศก็ชี้ให้เห็นว่าการเป็นผู้มีโลกกว้างไกลไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงข้ามกับการเป็นพลเมืองรัฐหรือคนในชาติอย่างที่นักคิดสายนี้หลายคนเสนอ

ชาวบ้านอีสานอาจมีวีซ่าของหลายประเทศ แต่ก็มีหนังสือเดินทางของประเทศไทยเพียงฉบับเดียว พวกเขาท่องไปในโลกกว้างไม่ใช่เพื่อจะได้มีประเทศหลายแห่งไว้พำนัก แต่เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจและประสบการณ์ชีวิตที่พวกเขาจะนำมาใช้ประโยชน์ใน ประเทศและโดยเฉพาะในหมู่บ้านที่พวกเขามีความผูกพันอยู่ด้วย
ในแง่นี้การที่ชาวอีสานจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ในโลกกว้างเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงจึงตอกย้ำว่าการเป็นผู้มีโลกกว้างไกลไม่จำเป็น ต้องแลกกับความเป็นพลเมืองรัฐหรือคนในชาติ ความรู้กว้างไกลทำให้พวกเขาตระหนักว่าประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่ตอบสนองความต้องการของคนหมู่มาก ประสบการณ์เฉพาะภายในประเทศช่วยตอกย้ำความสำคัญของระบบเลือกตั้งยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันสำนึกในความเป็นพลเมืองและคนในชาติก็ผลักดันให้พวกเขาร่วมสร้างสังคมที่เป็นธรรมขึ้นในประเทศไม่ใช่เฉพาะเพื่อตัวเองในวันนี้ หากแต่เพื่อลูกหลานที่จะเกิดมาอาศัยบนแผ่นดินนี้ในวันข้างหน้า รัฐประหาร 2549 ที่พาประเทศถอยหลังในสายตาของชาวโลกจึงไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ ระบบการปกครองที่ปฏิเสธอำนาจของประชาชนก็ไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน

สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจอีกประการที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มคน เสื้อแดงเรียกร้องระบบการปกครองที่ชาวโลกส่วนใหญ่ยอมรับ


ในทางกลับกัน คนชั้นกลางในเมืองที่ผ่านการศึกษาในระบบจำนวนมากกลับมีโลกทัศน์ทางการเมือง คับแคบ รวมทั้งมีความตื่นตัวทางการเมืองต่ำ (หากอาศัยร้อยละของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปเป็นเกณฑ์) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาในระบบถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือปลูกฝังความ ภักดีต่อผู้อยู่ในอำนาจ แบบเรียนประวัติศาสตร์ สังคมศึกษา และจริยธรรม รวมทั้งพิธีกรรมในวาระต่างๆ ทำหน้าที่ตอกย้ำความชอบธรรมของอำนาจครอบงำ เมื่อผนวกกับเป้าหมายเพื่อการตลาดของระบบการศึกษา

โอกาสที่ผู้ผ่านการศึกษาในระบบจะตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีจินตนาการทางการเมืองที่ต่างออกไปจึงจำกัด ขณะเดียวกันการจัดสรรงบประมาณที่กระจุกที่กรุงเทพฯ ก็ปิดกั้นโอกาสที่คนในเมืองนี้จะเห็นว่าการเมืองกับการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะไม่ว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ หรือว่าเลือกใคร กรุงเทพฯ ก็จะได้รับการปรนเปรอต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ฉะนั้น ในขณะที่บุคคลที่พวกเขาเหมาว่าเป็นตาสีตาสาได้ท่องไปไกลกว่ากรุงเทพฯ ในเชิงความคิด คนกรุงผู้มีการศึกษาจำนวนมากก็ยังมีจินตนาการทางการเมืองวนเวียนอยู่ไม่ไปไหนไกลกว่าปากซอย

############################################
[บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับการบรรยายของท่านอาจารย์ Charles F.Keyes จากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในหัวข้อชื่อ From Peasants to Cosmopolitan Villagers: the transformation of "rural" northeastern Thailand (จากชาวนาสู่คนงานโลก:ชีวิตทันสมัยของชาวชนบทอีสาน) เมื่อวันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2553 จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]

Wednesday, November 10, 2010

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: จดหมายถึงเพื่อนและสหาย

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: จดหมายถึงเพื่อนและสหาย

Tue, 2010-11-09 16:49

จรรยา ยิ้มประเสริฐ30 ตุลาคม 2553

ชื่อบทความเดิมสลายหมอกควันแห่งการคอรัปชั่น – จดหมายถึงเพื่อนและสหาย


ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้เขียนจดหมายและบทความหลายชิ้นเกี่ยวกับวิกฤติการเมืองในประเทศไทย แต่จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวถึงผลสะเทือนต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งด้านส่วนตัวและในงานต่างๆ

ข้าพเจ้าเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 เมษายน ตามคำเชิญของสหภาพแรงงานที่ฟินแลนด์ และจากอีกสองสามองค์กร พร้อมกับวีซ่าเดินทางเข้าออกยุโรป หลังจากข้าพเจ้าเดินทางมายุโรปได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์การปราบปรามคนเสื้อแดงอย่างเหี้ยมโหด
หลังจากการพยายามเกาะติดเหตุการณ์การปราบปราบที่สะเทือนขวัญครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้เผยแพร่งานเขียนที่เปิดเผยถึงความรู้สึกของตัวเองต่อการเมืองในประเทศไทย และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ข้าพเจ้าได้รับคำแนะนำว่าอย่าเพิ่งเดินทางกลับประเทศไทย (ดูรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ท้ายจดหมาย)
เพื่อนบางคนถามว่า “มันคุ้มกันหรือกับการลุกขึ้นมาเขียนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เมื่อต้องเผชิญกับความกดดันต่างๆ ทำไมไม่มุ่งหน้าทำงานที่สำคัญของคุณต่อไป โดยไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อการเมืองไทย?”

ขอบคุณอย่างยิ่ง แม้แต่ในประเทศไทย ยิ่งมีความพยายามจะทำให้ไพร่หุบปากมากเท่าไร เสียงของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกลับยิ่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าผู้ทรงภูมิปัญญาในบ้านเมืองส่วนใหญ่จะยังคงนิ่งเฉย แต่เราก็เห็นนักวิชาการที่ละคนสองคนได้ทยอยลุกขึ้นมาทำลายความเงียบงันเหล่านี้

อะไรทำให้ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดนี้?การสูญเสียชีวิตถึง 90 ชีวิตและกว่า 2,000 คนได้รับบาดเจ็บจากการปราบปรามเมื่อเดือนเมษายน และพฤษภาคมที่ผ่านมา นำมาซึ่งคำถามสำคัญ “ทำไม NGO และสหภาพแรงงานถึงได้เงียบเฉยต่อความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐบนท้องถนนที่กรุงเทพ?” ความอดกลั้นต่อการกดขี่ทางการเมืองในประเทศไทยกำลังจะสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่?

ความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐครั้งนี้ ไม่เหลือทางเลือกใดให้ข้าพเจ้า แทบจะทันทีหลังการปราบปราม ข้าพเจ้าได้เรียกร้องให้ขบวนการแรงงานในหลายประเทศร่วมสมานฉันท์กับประชาชนคนไทย เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการปราบปรามคนเสื้อแดง และได้จัดทำหนังสือถึงสหประชาชาติ โดยเปิดให้มีการลงชื่อทางอินเตอร์เนท พร้อมกับการกลั้นใจเฮือกใหญ่กับการลุกขึ้นมาเขียน “ทำไมถึงไม่รักในหลวง” และปรับปรุงบทความเรื่อง “ไพร่สู้ บนเส้นทาง 78 ปีประชาธิปไตย” ที่เขียนเมื่อเดือนเมษายน 2552

ข้าพเจ้าพบว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนในสองบทความนั้น แม้ว่าขณะนี้จะสิ้นเดือนตุลาคมแล้วก็ตาม สะท้อนอยู่ใน “รายงานเบื้องต้นการการะทำที่อาจถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในราชอาณาจักรไทย” ที่มีจำนวน 61 หน้า เพื่อยื่นต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยสำนักกฎหมายโรเบิรต์ อัมเตอร์ดัม ในนามแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) สำหรับรายละเอียดของรายงานโปรดอ่าน http://robertamsterdam.com/thailand/

กระแสตอบรับจากงานเขียนได้แสดงให้เห็นว่า มันช่วยในการให้คนไทยบางคนหลุดออกมาจากม่านหมอกแห่งความกลัวกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ปกคลุมทั่วประเทศไทยมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ
แต่ที่น่าประหลาดใจยิ่งนักคือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่จมอยู่ท่ามกลางความผิด กลับโหมกระหน่ำใช้กฎหมายหมิ่นฯ อย่างรุนแรงและเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ใช้อย่างพร่ำเพรื่อกับใครก็ตามที่สร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลและผู้บัญชาการ กองทัพบก นอกจากการเพิ่มงบทหารอีกเกือบเท่าตัว
รัฐบาลชุดนี้ได้เทเงินกว่าพันล้านบาทให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งกองกำลังพิทักษ์สถาบัน ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะระดมอาสาสมัคร 800,000 คนทั่วประเทศไทย และอีกหลายร้อยล้านไปกับการจัดตั้งลูกเสือไซเบอร์กว่า 200 คนเพื่อตรวจจับทางอินเตอร์เนท ซึ่งตัวเลขล่าสุด มีการบล๊อกเวบไซด์กว่า 250,000 แห่ง คงไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า เวบไซด์ที่เปิดใหม่ 82% ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อพูดคุยกันเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์

มีผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อของกรมสอบสวนพิเศษ (DSI) ที่ทะยอยถูกจับ สอบสวน และส่งเข้าคุกในข้อหาหมิ่นฯ โดยไม่มีการออกหมายเรียก ซึ่งหลายกรณีมีการข่มขู่ คุกคามญาติพี่น้องของพวกเขาด้วย

เพราะว่ามีภัยอยู่จริงในความมืด และอันตรายที่อาจจะเกิดกับคนรอบข้าง ข้าพเจ้าตัดการสื่อสารเกือบทั้งหมดกับเพื่อนร่วมงานในโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) และญาติพี่น้อง และหยุดใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้มานานกว่า 10 ปี

ไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะไม่เจ็บปวดไปกับการตัดสินใจเหล่านี้

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความยุ่งเหยิงเช่นนี้ได้อย่างไร?ประเทศไทยเริ่มเผชิญกับวิกฤติการเมืองที่รุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ต้นปี 2549 ด้วยการประท้วงบทท้องถนนที่แม้จะไม่รุนแรงในระยะแรก แต่ได้กลายเป็นการปะทะกันอย่างดุเดือดในเวลาต่อมา ความวุ่นวายทางการเมืองที่ส่งผลสะเทือนต่อทุกชีวิตในประเทศไทย
คุณเป็นสีเหลืองหรือสีแดง?นอกจากสองสีนี้แล้ว ยังมีประชาชนสีเขียวที่ออกมาเดินบนท้องถนนเพื่อประท้วงการสร้างโรงงานไฟฟ้า และขยะพิษจากนิคมอุตสาหกรรม และก็ยังมีขบวนแรงงานในเสื้อหลากสีที่เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบัน ILO 87และ98 เพื่อเปิดเสรีภาพในการรวมตัวและต่อรองร่วม TLC ร่วมขับเคลื่อนกับสหภาพแรงงานในเรื่องเหล่านี้มาหลายปี

สำหรับผู้ที่ไม่ใช่คนไทย การเมืองที่จมอยู่ในปลักโคลนเช่นที่ประเทศไทย อาจจะดูซับซ้อนและสับสน แน่นอนมันยากจะเข้าใจ และเรายังต้องเผชิญกับสภาวะแทรกซ้อนเข้าไปอีก เมื่อภาพลักษณ์ของทักษิณไม่ดีนักในสายตาของโลกตะวันตก เป็นหนึ่งในตัวช่วยให้ขบวนการฝ่ายนิยมกษัตริย์ กลุ่มคนเสื้อเหลือง – ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ บุคคลที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย นักวิชาการ สหภาพแรงงาน และ NGO แถวหน้า สามารถปล้นอำนาจจากทักษิณไปได้โดยไม่มีความละอาย และโดยปราศจากการประท้วงจากโลกตะวันตก และไร้ซึ่งเสียงคัดค้านจากกลุ่มชาติ ASEAN

นับตั้งแต่ปี 2549 ปวงชนชาวไทยได้อยู่ภายใต้แรงกดดันให้ต้องรับมือกับรัฐบาล 6 ชุด ทักษิณที่มาจากการเลือกตั้ง คณะรัฐประหาร (พลเอกสนธิ) รัฐบาลที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร (พลเอกสุรยุทธ) รัฐบาลจากค่ายทักษิณ 2 คณะ (สมัครและสมชาย) และแม้ว่าจะแพ้ในการเลือกตั้งถึงสามครั้งติดต่อกัน รัฐบาลอภิสิทธิ์สามารถเลื้อยขึ้นสู่อำนาจได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2551

สงครามสีที่เริ่มโดยพันธมิตร เย้ยหยันและส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ตั้งแต่ในครอบครัว จนถึงในองค์กร NGO และสหภาพแรงงาน

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การแตกแยกเหล่านี้เริ่มปรากฎชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 เมื่อ NGO และสหภาพแรงงานที่ต่อต้านการทำข้อตกลงการค้าเสรีและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เพื่อร่วมโค่นทักษิณ “ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม

ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดตอนทางการเมืองด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ และถึงแม้ว่าพวกเราจะเคยร่วมต่อสู้ในหลายเรื่องร่วมกันมาหลายปี แต่การตัดสินใจของ NGO และสหภาพแรงงานในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ TLC มีสิทธิ์ส่วนบุคคลที่จะเลือกว่าจะอยู่การเมืองสีไหน แต่ในฐานะองค์กร TLC ยืนหยัดในหลักการ “ประชาธิปไตยที่ต้องมีส่วนร่วมของประชาชน” และไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองใด ไม่ว่าสีเหลืองหรือสีแดง ข้าพเจ้าไม่เคยเข้าร่วมในกิจกรรมเสื้อเหลืองเลยแม้แต่ครั้งเดียว และขาดการติดต่อกับเพื่อนไปจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากยิ่ง ผู้คนจำนวนไม่น้อยในประเทศไทยต้องเสียมิตรภาพเพราะสงครามสี
กระนั้นก็ตาม การสังหารหมู่ประชาชนใจกลางกรุงเทพมหานคนเป็นเรื่องจริง และขณะนี้พวกเราได้ประจักษ์ถึงคำถามที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า “ทำไม NGO สหภาพแรงงาน และนักวิชาการที่ออกมาเรียกร้องไม่ให้ค่ายทักษิณใช้ความรุนแรงในการปราบปรามคนเสื้อเหลือง กลับเงียบเฉยเมื่อค่ายอภิสิทธิ์ ส่งกองกำลังทหารกิตติมศักดิ์เข้าปราบปรามเสื้อแดงในปี 2552 และ 2553”

ขอยกตัวอย่าง FTA Watch ที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับขบวนการคนเสื้อเหลืองเมื่อเดือนธันวาคม 2548 ในที่ประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนเมื่อเดือนกันยายน 2553 และเวทีประชุมภาคประชาสังคมเอเชีย-ยุโรปเมื่อเดือนตุลาคมนี้ ตัวแทนจาก FTA Watch ยังคงกล่าวถึงความสำเร็จของพวกเขาที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่จัดทำโดยรัฐบาลของคณะรัฐประหาร

ความสับสนจนผิดพลาดอย่างมหันต์นี้ เป็นคุณลักษณะพิเศษของ “คนไทย” จริงๆ -การผสมผสานระหว่างขบวนการภาคประชาสังคมต่อต้านเสรีนิยมโลกาภิวัตน์กับกองทหารแห่งชนชั้นสูง ในนิยามแห่งคำว่า “ความมั่นคงของชาติ”
มันเป็นตลกร้าย ที่ต้องเฝ้ามองผู้คนที่มีชื่อเสียงทางสังคมพากันไหลบ่าเข้าสู่ขบวนการเสื้อเหลืองที่บ้าคลั่ง การกระทำของพันธมิตรสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ในความพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิวัติ 2549 ทำให้การปฎิวัติที่ไม่สูญเสียเลือดเนื้อ กลายเป็นเหตุการณ์เลือดนองท้องถนน
โศกนาฎกรรมที่ได้รับการตบรางวัลกันถ้วนหน้า เมื่อแกนนำพันธมิตรได้รับรางวัลจากจากฝ่ายกษัตริย์นิยมด้วยตำแหน่งรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และอีกมากมาย

ในความพยายายามที่จะยิ่งใหญ่ พันธมิตรที่น่าพิศวงได้จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ และแล้ว แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร ที่ควรจะเป็นพื้นที่หัวใจของพันธมิตร พรรคการเมืองใหม่กลับไม่ได้เลือกเข้าไปนั่งอยู่ใน สก. และ สข. ที่ผ่านมาแม้แต่คนเดียว
ผู้นำ NGO หลายคนที่เข้าร่วมกับพันธมิตร ขณะนี้นั่งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย และคณะอนุกรรมการ ด้วยงบประมาณปีละ 200 ล้านบาท ซึ่งบริหารโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีอภิสิทธิ์เป็นประธาน

กลุ่มคนกลุ่มแรกๆ ที่เข้าทำเนียบหลังจากการปราบปราบเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา – โดยการทำหนังสือเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการ – คือกลุ่มผู้นำสหภาพแรงงาน ที่ไม่ได้ใส่ใจแม้แต่น้อยที่จะพูดถึงชนชั้นกรรมาชีพ 90 คนที่ถูกสังหาร และคนร่วม 2,000 คนที่ถูกยิงจากทหาร พวกเขาเข้าพบรัฐบาลเพื่อเจรจาค่าเสียหายให้กับคนงานที่ไม่สามารถทำงานในระหว่างการประท้วงของคนเสื้อแดง (ดูรายละเอียด http://www.prachatai.com/journal/2010/05/29813)

เงินจำนวนไม่น้อยที่สหภาพแรงงานจากโลกเหนือส่งมาสนับสนุนกิจกรรมของสหภาพแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะนับต้ังแต่ปี 2513 เป็นต้นมา มีจำนวนไม่มากนักที่ตกถึงมือคนงานรากหญ้าอย่างแท้จริง ในทุกวันนี้สหภาพแรงงานในประเทศไทยทยอยของบสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งในทางปฏิบัติยิ่งลดทอนความสำคัญของความจำเป็นที่ขบวนการแรงงานจะทำงาน “ด้านสิทธิการรวมตัว” และการลงทำงานจัดตั้งในวิถีการเมือง “ล่างขึ้นบน”
สำหรับท่านที่ใส่ใจในประเด็นที่กล่าวมาข้างบน จะเข้าใจยิ่งขึ้นถ้าย้อนกลับไปดูว่า เพราะเหตุใดสมศักดิ์ โกศัยสุข (แกนนำพันธมิตรและหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่) ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนประจำปี 2549 จากมูลนิธิฟรีดริก เอแบรท (FES)
เพราะเหตุใด ผู้นำสหภาพแรงงานและ NGOs จำนวนมากถึงกระทำการที่ขัดต่อหลักการของตัวเองที่มุ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคม?
บางคนกล่าวกับข้าพเจ้าว่า “คุณอาจจะวิเคราะห์การเมืองไทยได้อย่างถูกต้อง แต่คุณจะสนับสนุนเสื้อแดงไปทำไมกัน เพราะถ้าเสื้อแดงชนะ ทักษิณกลับมาแน่ คุณต้องการเช่นนั้นหรือ?”

คนเสื้อแดงเริ่มปรากฎกายจำนวนเรือนแสนเมื่อต้นปี 2552 พวกเขาไม่มีทีท่าว่าจะพ่ายแพ้ แม้ว่าอภิสิทธิ์จะปราบปราบอย่างเหี้ยมโหดเมื่อเดือนเมษายน 2552 และ 2553 แน่นอนว่าพวกเขาจะยังคงไม่หยุดต่อสู้จนกว่าจะมีการประกาศวันเลือกตั้ง และจะไม่หยุดจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม
บุคคลที่มีชื่อเสียงและชี้นำในภาคสังคมทั้งหลายในประเทศไทย ได้ใช้ชีวิตอย่างหมิ่นเหม่บนหลังเสือ ที่พวกเขาขึ้นไปขี่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือเพราะความกลัวในกฎหมายหมิ่นฯ ก็ตาม เมื่อพวกเขาน่ังอยู่บนหลังเสือ ถ้าไม่อยากตกเป็นเป้านิ่งของสไนเปอร์ก็ต้องพูดภาษาเดียวกับค่ายกษัตริย์นิยม และถ้าพวกเขาตกจากหลังเสือ พวกเขาก็ต้องจ้องตากับเสือ

การที่ทักษิณได้รับความนิยมสูงมากทำให้สถานภาพของพวกเขาอยู่ในสภาวะที่ไร้ความหมาย ดังนั้นพวกเขาจึงเข้าร่วมกับฝ่ายกษัตริย์นิยมและเสื้อเหลืองในทุกช่องทางเพื่อช่วยพรรคประชาธิปัตย์โค่นทักษิณ และผลที่เกิดขึ้นคือ? ประชาธิปไตยที่เปราะบางอยู่แล้วของประเทศไทยถูกพัดปลิวว่อน
การโค่นผู้นำคนหนึ่งในสังคมที่ปกครองด้วยการคอรัปชั่นไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อย่างแท้จริง
อนาคตแห่งประชาธิปไตยในประเทศไทยขึ้นอยู่กับว่าพวกเราจะซื่อสัตย์กับตัวเองมากพอที่จะดึงสรรพกำลังของเราออกมา เพื่อสลัดไล่อำนาจแห่งกลุ่มทหาร-กษัตริย์นิยมที่ฉ้อฉลและครอบงำสังคมไทยมาตั้งแต่ปี 2490 ให้หลุดออกไปให้จงได้ได้อย่างไร? พวกเราจะสร้างระบบที่โปร่งใสมากพอที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักการประชาธิปไตยได้มากพอที่จะล้างระบบรัฐสภากันอีกครั้งหน่ึงและเป็นครั้งสุดท้ายไดหรือไม่?
คนที่กล้าลุกขึ้นสู้ จำเป็นจะต้องได้รับการพูดถึงอย่างชื่นชมในความมุ่งมั่นของพวกเขาที่ขอมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการกระทำที่สมควรได้รับการยกย่อง เป็นความจำเป็นที่ต้องทำและสำคัญอย่างยิ่งในสภาวะการเมืองในปัจจุบัน ประชาชนจำต้องตระหนักว่า พวกเขาจำต้องกำกับ ตรวจสอบ และแสดงความเป็นเจ้านายที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ

ทำไมทั้งผู้นำ NGO และนักวิชาการจำนวนมากจึงยังไม่ยอมตื่นมาสู่โลกของความจริง? พวกเขายังคงเชื่ออยู่อีกหรือว่าคนเสื้อแดงเป็นแค่ชาวนาผู้โง่เขลา? คำว่า “เที่ยงธรรม” สูญสิ้นความหมายไปหมดแล้วหรือในประเทศไทย?

หลังจากที่ข้าพเจ้าส่งจดหมายประนาณรัฐประหารทันทีหลังจากที่ทหารทำรัฐประหารในปี 2549 เจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวไทยของแหล่งทุนแห่งหนึ่งได้เขียนอีเมลมาบอกข้าพเจ้าว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียน “ไม่ใช่จุดยื่นร่วมของขบวนการ NGO ในประเทศไทย” หนึ่งเดือนหลังการทำรัฐประหาร 19 กันยา ที่เวทีภาคประชาสังคมไทย มีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นระหว่าง NGO ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ในประเด็นว่า เราจะสามารถเดินขบวนภายใต้รัฐบาลทหารหรือไม่ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ได้รับการสนับสนุนโดย สสส. (ที่มาร่วมประชุมด้วยเสื้อสีเหลือง) ​ตัดสินใจไม่เดินขบวนกับพวกเรา และอีกครั้งหนึ่งหลังจากเหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 2553 เจ้าหน้าที่ไทยในองค์กรที่ทำงานระดับภูมิภาคเขียนถึงข้าพเจ้าว่า “พวกคุณไม่รักประเทศไทย และไม่สมควรจะเกิดเป็นคนไทย”

นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2543 แหล่งทุนเพื่อการพัฒนาได้ถอนประเทศไทยออกจากประเทศที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ ทำให้ NGO ต่างๆ ต้องแสวงหาผู้สนับสนุนกลุ่มใหม่ พวกเขาจำนวนไม่น้อยหันมาขอทุนจากงบประมาณของกรม กระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ก่อตั้ง 2544) มีบทบาทสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้การกำกับและตรวจสอบของ สสส. NGO จำนวนมากต้องปรับกลยุทธการทำงานจากการทำงาน “ต่อสู้เรื่องสิทธิ” มาสู่การทำงาน “แบบสังคมสงเคราะห์”
เมื่อองค์กรที่รับเงินทุน สสส. ต้องลดบทบาททางการเมือง และห้ามขับเคลื่อนบนท้องถนน NGO จำนวนมากยุติบทบาท อันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คือบทบาทการรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย
องค์กรแหล่งทุนที่ยังคงสำนักงานอยู่ในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย ใช้ประเทศไทยเพราะความสะดวกต่อการบริหารจัดการโครงการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็พากันปิดหูปิดตาที่จะรับรู้เรื่องราววิกฤติการเมืองที่ปกคลุมทั้งสังคมไทย และก็ทำงานของพวกเขาไปตามหน้าที่ ตราบใดที่ยังมีผัดไทย อาหารจานโปรดเป็นอาหารกลางวัน มันก็เพียงพอแล้วกับการอยู่ในประเทศไทย

แม้แต่ภายใต้รัฐบาลทักษิณ องค์กรพัฒนาเอกชนก็ทำงานกันได้ลำบากเพราะถูกตรวจสอบหรือต้องเซนเซอร์ตัวเอง และยังต้องส่งรายงานกิจกรรมหรือขออนุญาตทำกิจกรรมไปยังกระทรวงมหาดไทยหรือตำรวจ ฯลฯ
องค์กรที่ให้ทุนสนับสนุนงานที่ส่งเสริมเรื่องสิทธิ มักจะเผชิญกับการกดดันและข่มขู่อยู่บ่อยครั้ง – บางครั้งมีตำรวจมาขอตรวจสำนักงาน หรือสั่งปิดสำนักงาน เป็นต้น ทำให้มันจำเป็นที่ถ้าไม่อยากมีเรื่อง พวกเขาจำต้องยอมจำนนใต้อำนาจแห่งทรราชย์ไดโนเสาร์ – และประนีประนอมต่อหลักการสิทธิมนุษยชน
อย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เจ้าหน้าที่ขององค์กรภูมิภาคและองค์กรสากลเหล่านี้ ตามวีถีแห่งการขยับฐานะ ได้กลายเป็นคนเส้ือเหลือง

สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนเล็กๆ ที่ยังยืนหยัดทำงานเรื่องสิทธิ การหาทุนทำงานเป็นเรื่องยากลำบากมาก และหลายองค์กรก็ไม่สามารถหาทุนทำงานต่อได้
ใครบอกว่าเราจำเป็นจะต้องปรองดองกับรัฐบาล?นับตั้งแต่ปี 2549 NGO ที่ไม่ใช่เฉพาะ TLC พบว่า มันเป็นเรื่องยากลำบากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะขับเคลื่อนงานไปข้างหน้าให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สงครามสีที่บ้าคลั่งในประเทศไทย ไม่ได้สร้างให้เกิดการแบ่งแยกเฉพาะองค์กรของเราเท่านั้น แต่ได้ทำร้ายศักยภาพในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกเราลงไปด้วย

หลายองค์กรได้ใช้ทรัพยากรของตัวเองไปกับการระดมคนเข้าร่วมการประท้วงกับคนเสื้อเหลือง มันได้สร้างแรงกดดันอันมหึมาต่อการที่องค์กรเหล่านั้นจะดำรงไว้ซึ่งศักยภาพที่จะทำงานสอดประสานรับกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนได้ต่อไปหรือไม่

พวกเรามาถึงจุดที่จะต้องทำความเข้าใจว่า สงครามสีอันบ้าคลั่งนี้กำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อการพยายามดำรงไว้ซึ่งฟางเส้นสุดท้ายแห่งการครองสติสัมปชัญญะทางการเมืองไทยของคนไทยเอาไว้ ยามนี้เราจำเป็นจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นำพาประเทศให้สามารถปีนป่ายขึ้นไปจากหลุมดำอันมืดมิดนี้แห่งนี้ให้จงได้ แต่จะทำอย่างไร?
ทั้ง NGO ไทยและสากลจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เลยถ้ายังหลอกตัวเอง และจินตนาการอยู่ว่าจะสามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้ถ้ายอมเล่นไปกับเกมส์การเมืองที่ฉ้อฉล

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ได้แต่งตั้งอดีตนายกอานันท์ ปัญญารชุน เป็นหัวหน้าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย พร้อมทั้งงบประมาณ 600 ล้านบาทสำหรับการดำเนินงาน 3 ปี (ปีละ 200 ล้านบาท) ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว อานันท์ได้เลือกผู้นำ NGO และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงหลายคนมานั่งอยู่ในคณะกรรมการของเขา
ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเลย ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2553 คณะกรรมการปฎิรูปฯ ต้องเผชิญหน้ากับการประท้วงด้วยข้อความ “น่าเสียดายที่คนตายไม่ได้ปฏิรูป”
การประท้วงแบบนี้เป็นสัญญาณที่ดีว่า การฝ่าด่านวัฒนธรรมแห่งระบบ “อุปถัมภ์” ที่เป็นดังยาพิษที่กัดกร่อนสังคมไทย และลดทอนความสำคัญของคำว่าความ “เที่ยงธรรม” และ “ประสิทธิภาพ” ของเครือข่าย NGO มาหลายทศวรรษ ขณะนี้ -นับว่าในระดับหนึ่ง- ได้ถูกท้าท้ายและทำให้อยู่ภายใต้เลเซอร์ตรวจจับ โดยเฉพาะจากกลุ่มนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่

กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch)นักวิชาการและนักกิจกรรมรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความชอบธรรมของผู้นำ NGO และนักวิชาการที่มีชื่อเสียง กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย จึงได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 เพื่อช่วยนำเสียงของกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงาน และชาวบ้านที่เห็นและตระหนักอย่างถ่องแท้ถึงความหมายของคำว่า “ความอยุติธรรม” เช่นที่มันเป็น คือ “ความอยุติธรรม”

NGO จำเป็นต่อสังคม เพราะมีการดำเนินงานที่คล้ายกับบริษัท – ทำให้บ่อยครั้งพวกเขาสามารถระบุและนำเสนอปัญหาในวิธีการที่กลไกรัฐไม่อาจกระทำได้หรือไม่ต้องการจะทำ ปัญหาของ NGO คือ เมื่อพวกเขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ พวกเขามักจะมีแนวโน้มที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนเสียเอง แทนที่จะจัดการศึกษาและดำเนินการให้ประชาชนได้ช่วยเหลือตัวเอง

ระบบ “อุปถัมภ์” ของไทย เข้ากันได้ดีกับรูปแบบการทำงานของ NGO ที่ไม่ใส่ใจมากนักในเรื่องการปรับตัวให้ทันสมัย และยังส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรม ”พี่เบิ้ม” ซึ่งได้สะท้อนผ่านการทำงานที่ไม่ต้องใช้กลไกประชาธิปไตย และหยั่งรากลงลึกมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะถอนตัวออกจากเกมการเมืองกระแสหลักที่แสนสกปรกในประเทศไทยที่สอดรับกับแนวคิด “คนดี”
ถ้าประเทศไทยจะปีนป่ายขึ้นมาจากปลักโคลน เราจำเป็นจะต้องต้อนรับ กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการเปิดพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์ที่มุ่งเพื่อการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของ NGO

ด้วยการยอมรับเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปผู้นำ NGO และนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ได้มอบความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่ไม่สมควรได้รับความชอบธรรมแม้แต่น้อย พวกเขากลายเป็นผู้ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการประกาศใช้พระราชบัญญัติในสถานการณ์ฉุกเฉินของอภิสิทธิ์ และความพยายามอย่างสุดลิ่มทิมประตูของเขาที่จะทำให้การกำหนดวันเลือกตั้งสามารถเลื่อนออกไปได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เวลาที่นานพอจะช่วยให้เขาทำลายหลักฐานแห่งความผิดพลาดจากการกระทำอันโหดร้ายของรัฐบาลของเขา และช่วยให้ประชาธิปัตย์์สามารถเตรียมมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้สามารถเอาชนะการเลือกตั้งให้จงได้
เพื่ออนาคตของประชาธิปไตยทั่วทั้งคาบสมุทรอินโดจีน
เพื่ออนาคตของประชาชนพม่าและประชาชนอาเซียน องค์กรนานาชาติ สหภาพแรงงานสากล และองค์กรให้ทุนเพื่อการพัฒนาทั้งหลายจำต้องมองให้ลึกซึ้ง รอบด้าน และตรงไปตรงมา ถึงต้นตอที่มาว่า ทำไมบัน คี มูน ถึงกล่าวว่า “ปัญหาของไทยเป็นเรื่องภายในประเทศ” ปัญหาอันสกปรก “ปัญหาภายในประเทศ” ที่มีความชอบธรรมที่ได้ถูกนำฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

เมื่อไรกันที่จดหมายลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องมีการเขียนกันอีกต่อไป?การได้สังเกตการณ์ถึงความสับสนและความขัดแย้งที่บ่งบอกถึงความรุนแรงของสงครามสีที่มีต่อการเมืองไทย TLC ตัดสินใจที่จะมุ่งเป้าไปที่การเดินทางศึกษาปัญหาในพื้นที่

นับตั้งแต่ปี 2549 พวกเราได้เดินสายลงพื้นที่กันหลายครั้ง ทั้งชายแดนไทย-พม่า เรียบแม่น้ำโขง และทั่วทั้งภาคอีสาน ทำงานเกี่ยวกับเรื่องคนงานต่างชาติในประเทศไทยและคนไทยที่ไปทำงานที่ต่างประเทศ ผลที่ได้จากการลงพื้นที่คือการประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเครื่องข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศเมื่อต้นปี 2550 และเมื่อปลายปี 2552 พวกเราประสบความสำเร็จในการจัดตั้งสหภาพคนทำงานต่างประเทศ
สามปีที่ผ่านมา งานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิคนงานต่างชาติที่พวกเราทำมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก (รวมทั้งการสมานฉันท์คนงานต่างชาติในประเทศไทยกับคนงานไทยที่ไปต่างประเทศ) ทั้งความรวมมือกับหลายองค์กรเพื่อยับยั้งขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติ เรามุ่งเป้าสู่การพัฒนาแนวคิดการฟื้นคืนถิ่นผ่านกระบวนการสร้างทางเลือกเพื่อการดำรงชีวิตในพื้นที่ ผ่านทางการส่งเสริมวิถีเกษตรอินทรีย์ ซึ่ง (ในที่สุด) เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ จากทั่วทุกมุมโลกว่า เป็นเส้นทางหนึ่งที่จะทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจน ที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถที่จะพึ่งพิงตนเอง การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขา
เพราะการทำงานให้กับสหภาพคนทำงานต่างประเทศนี่เอง ที่ข้าพเจ้าเดินทางมายุโรปเมื่อปลายเดือนเมษายน เพื่อมาศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยชาวอีสานหลายพันคนต้องมาตกทุกข์ได้ยาก เพราะหลงเชื่อในคำโฆษณาที่เกินจริงจากธุรกิจเก็บลูกเบอรรี่ที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียร์ และติดตามกรณีที่คนงานไทยถูกหลอกมาทำงานที่โปร์แลนด์และสเปน
แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ปราบปรามประชาชน การตัดสินใจพูดเกี่ยวกับปัญหาการคอรัปชั่นทางการเมืองไทยอย่างรุนแรงกว่าที่เคยทำมา ได้ส่งผลสะเทือนต่อชีวิตของข้าพเจ้า – รวมทั้งกระทบต่องานและแผนงานเกือบทั้งหมด

ข้าพเจ้าพยายามอย่างเต็มกำลังความสามารถที่จะสานงานต่อจากยุโรป นับตั้งแต่เดือนเมษายน ข้าพเจ้าและทีมงานที่นี่ได้เดินทาง 4,000 กิโลเมตร รอบกลุ่มประเทศบอลติกถึง 2 รอบ – รวมทั้งเข้าร่วมประชุมที่กรุงบูคาเรสต์ ตูริน เจนีวา และบรัสเซล
ในประเทศไทยเจ้าหน้าที่ TLC ยังคงมุ่งม่ันทำงานอย่างหนัก แต่การที่ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่เมืองไทย และไม่สามารถร่วมลงมือทำงานกับทุกคนได้ เป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจมาก ภายในสภาพการณ์เช่นนี้ พวกเราไม่สามารถคาดหวังได้มากเกินไป แต่ TLC เช่นเดียวกับองค์กรรากหญ้าอื่นๆ ในยามนี้ ต้องการความสมานฉันท์ต่อเนื่องจากเพื่อนและสหายทั้งหลาย เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถขับเคลื่อนงานผ่านความยากลำบาก และความสับสนทางการเมืองในประเทศไทยไปให้ได้
* * *
นี่เป็นจดหมายขนาดยาวถึ่งเพื่อนซึ่งอาจจะประหลาดใจว่า จรรยาอยู่ที่ไหน? และหรือว่า ทำไมเธอถึงเขียนอะไรที่ใช้ภาษาที่ดูแรงขึ้นมาก
ข้าพเจ้าไม่รู้สึกก้าวร้าว แต่แน่นอนข้าพเจ้ารู้สึกโกรธ มันมีความแตกต่างในคำสองคำนี้ ความลึกและขอบเขตที่กว้างใหญ่ของผลกระทบที่เกิดจากการเมืองและการคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทยทำให้ประชาชนรู้สึกโกรธแค้น ไม่ใช่เฉพาะข้าพเจ้าเท่านั้น ความฟอนเฟะเหล่านี้จะต้องถูกเปิดโปงและจัดการด้วยพลังที่เข้มแข็ง

หลังจากหลายทศวรรษที่พวกเราปล่อยให้หลักการแห่งประชาธิปไตย ตกอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของคำว่า “ความมั่นคงของชาติ” ที่ถูกปลุกปั่นโดยทหารกษัตริย์นิยม (หนุนหลังโดยสหรัฐอเมริกา) ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า พวกเราคนไทยกำลังอยู่ท่ามกลางการต่อสู้ที่แท้จริง เพื่อกู้และฟื้นคืนประชาธิปไตยของเราคืนมา
ข้าพเจ้าหวังว่า การนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับวิกฤติการเมืองของไทยอย่างต่อเนื่อง – กับสาธารณชนคนไทย ประชาคมนานาชาติ และประชาชนแห่งโลกทั้งหลาย อาจจะทำให้พวกเราค้นพบวิถีแห่งสันติวิธีที่จะลดช่องว่างประชาธิปไตยติดลบของไทย และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานของประชาธิปไตยของเรา
เพื่อสร้างให้เกิดการนำเสนอข้อมูลในวงกว้าง ข้าพเจ้าได้เปิดแผนรณรณรงค์ “แอ็คชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย” ซึ่งพวกเราคนทำงานได้รับการสนับสนุนที่เห็นด้วยในหลักการจากผู้คนหลายพันคน ซึ่งมากกว่าที่ข้าพเจ้าได้รับในช่วงเริ่มแรกแห่งการจัดตั้งโครงการรรณรงค์เพื่อแรงงานไทยเมื่อต้นปี 2543 ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจว่าไม่ได้สู้อยู่ตามลำพัง

การจะพูดอะไรได้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาในฐานะมนุษยชาติ และในฐานะปุถุชนคนไทยคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในท่ามกลางสภาวะการเมืองที่ยุ่งเหยิงและเสแสร้งในประเทศไทย
แอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย ขอกล่าวกับมิตรสหายหลายล้านคนในประเทศไทยที่พยายามลุกขึ้นสู้ กับสภาพการเมืองที่ไร้จุดหมายของไทย ว่าพวกท่านทุกคนมีเหตุผลดีๆ มากมายที่จะไม่ยอมแพ้ ทั่วทั้งโลกอยู่ในภาวะสับสน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ “ถ้าสู้รวมกันเราจะชนะแน่นอน!”

ในเวลานี้ ข้าพเจ้าคงต้องอยู่ที่ยุโรปสักระยะหนึ่ง แต่การทิ้งทั้งชีวิตที่เมืองไทยโดยไม่มีใครดูแล – ทั้งงาน TLC ครอบครัว และเพื่อน และโดยเฉพาะการทดลองวิถีเกษตรอินทรีย์เพื่อการพึ่งตนเองที่ไร่เปิดใจ นำความเจ็บปวดมาสู่ข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง

ไร่เปิดใจ ได้ต้อนรับเพื่อนฝูงและสหายหลายคณะ แม้ว่าโครงการนี้จะยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มันก็ได้สอนอะไรพวกเรามากมายเกี่ยวกับความมั่นคงเรื่องอาหารและการพึ่งตนเอง ถ้าเพื่อนๆ ท่านใดมีโอกาสไปเยือนไร่เปิดใจ ในขณะที่ข้าพเจ้าไม่อยู่ โปรดบอกข้าพเจ้าได้เลย ข้าพเจ้าจะเขียนเกี่ยวกับไร่เปิดใจในจดหมายฉบับหน้า
ข้าพเจ้าขอจบจดหมายฉบับนี้ว่า ข้าพเจ้าต้องกล่าวว่า คงไม่สามารถดำเนินชีวิตให้ผ่านมาได้ในช่วงสี่ปีแห่งความหนักหน่วงทางการเมืองไทย โดยปราศจากการสนับสนุนและช่วยเหลือจากเพื่อนฝูงหลายคน และถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากริกู
ขอให้ทุกท่านสนับสนุนการต่อสู้ของแอ็คชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย

ด้วยความสมานฉันท์

เล็ก


.............หมายเหตุ – กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จำนวนของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มสูงขึ้นถึง 2,000%

คำถามสำคัญที่ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีสถาบันกษัตริย์หรือไม่ หรือมีสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบใด คำตอบอาจจะขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง และการตัดสินใจของคณะรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมืองด้วยกระบวนการเลือกตั้ง ฯลฯ แต่ปีนี้เป็นปี 2553 คงไม่ยากนักที่จะทำความเข้าใจได้แล้วว่า ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชาติ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ในประเทศไทยกฎหมายหมิ่นฯ เป็นเพียงเครื่องมือที่จะปิดปาก กดทับ และปิดกั้นแรงบันดาลใจของชนชั้นล่างในสังคม มันมีประโยชน์ต่อคนกลุ่มเล็กที่่เห็นแก่ตัว ได้รับอภิสิทธิอันสูงยิ่ง และกลุ่มชนช้ันสูงที่กุมอำนาจเท่านั้นเอง มันไม่ได้ส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประการใดเลย เป็นเพียงเครื่องมือที่จะสร้างหลักประกันว่าทั้งประชาธิปไตยและการพัฒนาเพื่อคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่สามารถจะกระทำได้อย่างยั่งยืน
การยังคงใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรังแต่จะยิ่งกีดก้ันสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ออกห่างจากประชาชนมากยิ่งขึ้น – มันเป็นเพียงหลักประกันว่า จะทำให้สถาบันกษัตริย์ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

Monday, November 8, 2010

ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับกรณีของไทย



ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับกรณีของไทย


ธงชัย วินิจจะกูล


เกริ่นนำ คณะกรรมการ [คอป.] ชุดคณิต-สมชายใช้แนวคิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านอย่างฉ้อฉล (abused) พวกเขาใช้ถ้อยคำเหล่านี้เพื่อให้คณะกรรมการฯ ฉบับของไทยดูราวกับว่าเป็นไปตามมาตรฐานโลก โดยยืม “ฉลาก” อันเป็นที่ยอมรับกันในแวดวงสากล

แต่เอามาแต่ฉลาก ไม่มีเนื้อหาสาระอะไรเลย จะด้วยเจตนาที่จะโฆษณาชวนเชื่อหรือด้วยความเขลาไม่รู้เรื่องรู้ราวก็ตามแต่นี่เป็นนิสัยการยืมแบบไทยๆสาระสำคัญของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่คณะกรรมการฯ ของไทยขาดก็คือ

การต้องนำเอาการปราบปรามเข่นฆ่าที่เกิดขึ้นมาอยู่ในการพิจารณาด้วย เพราะเป็นประเด็นที่สำคัญและจำเป็นในการก้าวสู่ประชาธิปไตย คณะกรรมการเพื่อการสมานฉันท์และค้นหาความจริง (Truth and Reconciliation Commission (TRC)) ในรูปแบบและภายใต้ชื่อต่างๆ

เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่เป้าหมายนี้ อย่างไรก็ตาม ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านก็ไม่ใช่กระบวนการที่จะดำเนินไปอย่างตรงแหน่วโดยปราศจากข้อขัดแย้งในตัวของมันเอง (dilemma)


ประเด็นหลักและข้อขัดแย้งของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน


ในแทบทุกกรณีทั่วโลก ประเด็นพื้นฐานสองประเด็นที่แต่ละสังคมต้องเผชิญ และเป็นประเด็นแย้งกันคือ ความยุติธรรมกับการสมานฉันท์ (หรือการปรองดอง)

นอกจากนี้ยังมีอีกสองประเด็นที่เป็นประเด็นใหญ่เช่นกัน แต่ยังไม่ใช่หัวใจหรือเป็นประเด็นเร่งด่วนในตอนนี้ นั่นคือ การชดเชยหรือการเยียวยา (reparation) กับความทรงจำ

ความยุติธรรมกับการปรองดองอาจดูเป็นสองเรื่องแยกกัน แต่ถ้าคิดดูดีๆ จะพบว่าประเด็นพื้นฐานสองประเด็นนี้อาจเป็นสองขั้วอยู่ปลายสุดสองด้านในการพิจารณาเรื่องการปราบปรามเข่นฆ่าที่เกิดขึ้น


ความยุติธรรม <------------------------------------>การปรองดอง


ในแทบทุกกรณี การแสวงหาความยุติธรรมให้ได้อย่างเต็มที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง หรือกลับกันคือการปรองดองกีดขวางความยุติธรรม พูดอย่างอุดมคติ เราอยากจะได้ความยุติธรรมสูงสุด

และการเยียวยาที่ครบถ้วนเพื่อจะได้ก้าวไปข้างหน้า ในทางทฤษฎี ความยุติธรรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของการปรองดอง แต่ในความเป็นจริง เป็นไปได้ยากมากทุกสังคมที่เผชิญกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน พยายามหา “จุดสมดุลย์”

(แม้ว่าในความเป็นจริงจะหา “จุดสมดุลย์” ที่ลงตัวสมบูรณ์แบบไม่ได้ก็ตาม) เพื่อให้บรรลุได้ทั้งสองประการ แต่จุดดังกล่าวอยู่ตรงไหนนั้นขึ้นอยู่กับกรณีความรุนแรงโหดร้ายที่เกิดขึ้น และเงื่อนไขทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของแต่ละสังคม


จุดดังกล่าวสามารถแปรเปลี่ยนไปได้ตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมเมื่อเวลาผ่านไป (เช่น ชิลีและอาร์เจนตินา) ในหลายประเทศ ประเด็นการปรองดองมีน้ำหนักครอบงำประเด็นความยุติธรรม ทำให้กระบวนการแสวงหาความยุติธรรมอ่อนแอหรือมีการลงโทษผู้กระทำผิดเพียงเบาบางเพื่อให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้


ไต้หวัน: มีการพิจารณาการปราบปรามเข่นฆ่าที่ก๊กมินตั๋งกระทำต่อชาวพื้นเมืองไต้หวันในปี 2491 และไม่นานหลังจากที่ก๊กมินตั๋งยึดครองเกาะไต้หวัน


เกาหลี: มีการพิจารณาการปราบปรามเข่นฆ่าภายใต้เผด็จการหลายทศวรรษ ตั้งแต่ซิงมันรี ปักจุงฮี ถึงชุนดูวาน ในกรณีเช่น การปราบปรามนักศึกษาและฝ่ายซ้ายอย่างที่กวางจู ตลอดจนการสังหารหมู่ประชาชนที่เกาะเจจู (Jeju)


ฟิลิปปินส์: มีการพิจารณาการปราบปรามเข่นฆ่าที่กระทำต่อชาวมินดาเนาและในช่วงสงครามเย็น อดีตเยอรมันตะวันออก: สายสืบของ Stasi แทรกซึมอยู่ทั่วไปในสังคมจนหากต้องการความยุติธรรมและมีการลงโทษอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะมีคนต้องได้รับโทษเป็นจำนวนมาก หลายคนก่ออาชญากรรมต่อคนในครอบครัวของตัวเอง ในท้ายที่สุด ขอบเขตและเป้าหมายของการลงโทษถูกจำกัดให้แคบ เหลือแต่เฉพาะผู้นำระดับสูง

เราอาจพูดได้ว่า อินโดนีเซียและกัมพูชามีความลังเลที่จะเผชิญกับอดีตหรือการแสวงหาความยุติธรรมด้วยเหตุผลเดียวกัน


กรณีประเทศไทยก็อาจจัดอยู่ในข่ายนี้


ในหลายๆ ประเทศ ความยุติธรรมมีน้ำหนักเหนือการปรองดองที่ง่ายฉาบฉวย (simplistic) ทำให้การแสวงหาความยุติธรรมและการลงโทษดำเนินไปโดยเสี่ยงต่อการทำให้ความตึงเครียดในสังคมยืดเยื้อออกไปหรือปะทุขึ้นมาอีก

ชิลีกับอาร์เจนตินาคือตัวอย่างในกรณีนี้ แต่กรุณาสังเกตว่า ในทั้งสองกรณี การแสวงหาความยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างล่าช้าและกินเวลา อาร์เจนตินาหมดเวลาราวหนึ่งทศวรรษไปกับการปรองดองที่ฉาบฉวยโดยที่ไม่ค่อยมีความยุติธรรม ต้องรอจนกระทั่งประชาธิปไตยมีความมั่นคงมากขึ้นและมีผู้นำที่กล้าตัดสินใจรื้อฟื้นประเด็นนี้ขึ้นมา

ชิลีไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบอบหรือกลุ่มผู้ปกครอง (regime change) จริงๆ (ปิโนเชต์กับกองทัพ) และต้องอาศัยการแทรกแซงจากผู้พิพากษาชาวสเปนรายหนึ่งในการพลิกกระแส ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการรื้อฟื้นการแสวงหาความยุติธรรมขึ้นมาแอฟริกาใต้ได้รับการยกย่องสำหรับการริเริ่มในการยึด “ความจริง” เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ความจริงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงความยุติธรรมเข้ากับการปรองดอง และแอฟริกาใต้ยังเป็นกรณีที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม

กรุณาสังเกตว่า บางคนบอกว่าคนดำไม่ได้ยินดีนักกับกระยวนการนี้ ขณะที่บางคนในคณะกรรมการฯ ชุด อ.คณิตบอกว่าคนขาวไม่ยินดีนักกับกรณีนี้ แต่ข้อเท็จจริงเป็นทั้งสองด้านและอยู่ระหว่างสองด้าน เพราะความจริง (อันเป็นปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงความยุติธรรมกับการปรองดอง)


คือหัวใจสำคัญคณะกรรมการสมานฉันท์ (TRC) ในแอฟริกาใต้มีลักษณะเฉพาะและอาจจะไม่สามารถเลียนแบบได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมันสอดคล้องกับเงื่อนไขของประเทศนั้น แต่ก็เป็นเพราะการเน้นความสำคัญของความจริงในฐานะสิ่งเชื่อมโยงระหว่างความยุติธรรมกับการปรองดองด้วย

กล่าวในเชิงแนวคิดแล้ว เรื่องนี้ไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจ หากมองในเชิงการเมืองมันก็ไม่เป็นที่ปรารถนาทั้งสำหรับฝ่ายผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำ มันใช้ได้กับกรณีแอฟริกาใต้ (แม้ว่าความเลวร้ายของปัญหาการเหยียดผิวปรากฏชัดแจ้งอยู่แล้วก็ตาม)

เพราะเส้นแบ่งจำแนกผู้กระทำผิดกับผู้ถูกกระทำในช่วงการต่อสู้ที่รุนแรงนั้นได้พร่าเลือนไป คนดำและคนขาวจำนวนมาก ทั้งรัฐสภาแห่งชาติแอฟริกันและผู้ปกครองผิวขาว ต่างก็เป็นทั้งผู้ก่อความรุนแรงและเหยื่อในทุกกรณี มีเรื่องควรระวังที่รองลงไปอยู่หลายเรื่องด้วยกัน

อันแรก ระดับชั้นผู้ที่ควรได้รับการลงโทษควรจะลงลึกไปจากระดับหัวหรือผู้สั่งการมากน้อยแค่ไหน? รวมลงไปถึงผู้คุมในเรือนจำที่ทรมาณผู้ต้องข้ง หรือทหารระดับล่างที่เหนี่ยวไกยิงด้วยไหม? ในกรณีส่วนใหญ่ ต้องรวมพวกเขาด้วย แต่ต้องคำนึงถึงอีกเรื่องหนึ่งด้วยคือ

เรื่องที่สอง ระดับและประเภทของอาชญากรรม ในกรณีส่วนใหญ่ ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ของ “การสั่งการ” ของระดับบังคับบัญชา แต่ความทารุณโหดร้ายถูกดำเนินการโดยทหารระดับล่าง ความยุติธรรมต้องมีความเป็นธรรมด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์ในประเทศใดก็ตามล้วนเผชิญกับประเด็นเหล่านี้

เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าคณะกรรมการ คอป. ให้ความใส่ใจประเด็นเหล่านี้มากมายหรือไม่ หน้าที่ของพวกเขาคือการเบี่ยงเบนประเด็นไม่ให้รัฐบาลผิดอยู่ฝ่ายเดียว ถึงที่สุดแล้ว คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มีเพื่อแสวงหาความยุติธรรม และสายตาสั้นเรื่องการปรองดองเมื่อพูดถึงหลักการเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมายาวพอสมควรแล้ว


ต่อไปนี้ขอพูดต่อเกี่ยวกับกรณีของไทย

ทำไมในหลายกรณีของไทย ความยุติธรรมจึงมักถูกโยนทิ้งไปเสมอ? ทุกกรณีของไทย (6 ตุลา, พฤษภา 35, เมษา-พฤษภา 53) จริงๆ แล้ว ไม่ซับซ้อนอะไรเลยเมื่อเทียบกับหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ในแง่ที่ว่าอาชญากรรมนั้นคืออะไร อะไรถูก อะไรผิด ใครเป็นผู้กระทำและใครเป็นเหยื่อ

กรณีของไทยไม่ซับซ้อนในแง่นี้ แต่กระนั้นก็ไม่ง่ายกว่ากรณีอื่นในการแสวงหาความยุติธรรมและการปรองดอง เนื่องจากเงื่อนไขทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมอย่างแรก

ไม่มี “การเปลี่ยนแปลงระบอบ (regime change)” อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่สุดในการแสวงหาความยุติธรรมหรือการปรองดองใดๆ ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองเพียงประการเดียวนี้ทำให้คณะกรรมการชุดคณิต-สมชายเป็นเรื่องตลก เหมือนคณะกรรมการต่างๆ ก่อนหน้าที่สอบสวนกรณีพฤษภา 35 และกรณีอื่นๆ

เงื่อนไขเดียวกันนี้ทำให้การสืบสวนกรณี 6 ตุลา หรือปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นไปไม่ได้เลยอะไรคือ “การเปลี่ยนแปลงระบอบ” ที่ว่า? พูดสั้นๆ ก็คือ ผู้ที่อาจมีบทบาทโดยตรงหรือโดยอ้อมในการปราบปรามเข่นฆ่า หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียกับผลของการสืบสวน จะต้องออกจากอำนาจและพ้นไปจากกลไกการแสวงหาความยุติธรรมและการปรองดอง คณะกรรมการชุดคณิต-สมชายนั้นถูกสร้างโดยอภิสิทธิ์เพื่อรับใช้อภิสิทธิ์ ช่างน่าขันเสียจริง! เราจะพูดถึง 6 ตุลาได้อย่างไรในเมื่อเครือข่ายราชสำนักกุมอำนาจและทรงอิทธิพลเหนือสังคมไทยอยู่?


ประการที่สอง การเมืองไทยและวาระทางสังคมสำคัญๆ ถูกครอบงำโดยคนในเมืองใหญ่ พวกเขาเลือกอยู่ข้างไหนในคราวนี้? คำตอบเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว นี่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ประการที่สาม สังคมไทยไม่ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมมากนัก ตรงกันข้าม เชิดชูแต่ความสามัคคี สังคมไทยไม่สนใจเท่าไรกับสิทธิและความเป็นปัจเจก สนใจแต่เสถียรภาพ ความมั่นคงและสถานะเดิม (status quo) ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมสังคมไทยจึงมีขันติต่ำต่อความขัดแย้งและการเห็นต่าง

การปรองดองที่ต้องแลกด้วยการสูญเสียความยุติธรรมจึง “สมเหตุสมผล” และรับกันได้ง่าย หรือเป็นที่พอใจสำหรับคนไทยมากกว่าคนในวัฒนธรรมอื่น

นี่คือรากฐานทางวัฒนธรรมของสังคมไทย แม้ไม่ชอบแต่ต้องอยู่กับมัน[เราอาจไม่ตระหนักว่า คำว่ายุติธรรมที่เราคุ้นเคยในภาษาไทยนั้นมาจากคำสันสกฤตที่ไม่ได้หมายความว่า Justice “ธรรม” หมายถึงระเบียบทางสังคมที่เหมาะสมตามธรรมชาติ

ในภาษาจีน บาฮาซา มาเลย์ เขมร พม่า ไม่มีคำที่แปลตรงตัวสำหรับคำว่า Justice เช่นกัน คำที่ใช้หมายถึง Justice ในภาษาเหล่านี้ล้วนมีรากมาจากอย่างอื่น ไม่ใช่ “straight” หรือ “upright”

อย่างในภาษาละตินสำหรับ justice]แนวคิดว่าด้วยความยุติธรรมและการปรองดองของพุทธอย่างที่พระไพศาลว่าไว้นั้น สะท้อนถึงคุณค่าบรรทัดฐานที่คนไทยยึดถือ

สิ่งที่พระไพศาลนำเสนอจึงเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและรับได้ง่าย แน่นอน วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดคุณค่าและบรรทัดฐานที่คลุมเครือ มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เราถึงสามารถที่จะต่อสู้และอาจจะเปลี่ยนแปลงมันได้

ประการที่สี่ ความยุติธรรมมีเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม ในสังคมส่วนใหญ่ ความยุติธรรมเป็นตัวแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ระหว่างประชาชนกับรัฐ บนหลักการว่าด้วยสิทธิของปัจเจกบุคคล ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมภายใต้กฎหมายเดียวกัน

แต่ระเบียบทางสังคมที่เหมาะสมในสังคมไทยไม่ใช่สิทธิปัจเจก หรือความเป็นธรรม และความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย ในความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ เป้าหมายของความยุติธรรมคือการดำรงสถานะเดิม คือ การรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีลำดับชั้นภายใต้รัฐความยุติธรรมในสังคมหลายแห่งไม่ใช่เป็นเรื่องขึ้นกับบุคคล (impersonal)

แต่ความยุติธรรมในสังคมไทยเป็นการใช้อำนาจของรัฐของชนชั้นนำเพื่อรักษาระเบียบทางสังคม ความยุติธรรมสนองรับใช้รัฐเพื่อระเบียบสังคมของชนชั้นนำ ดังนั้น

ความยุติธรรมจึงสามารถถูกเขี่ยทิ้งไปได้ หากทำอย่างนั้นแล้วชนชั้นนำได้ประโยชน์ยิ่งกว่านั้น สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่เชื่อว่าคนธรรมดาจะสามารถปกครองและอำนวยความยุติธรรมโดยไม่ต้องพึ่งพาใบบุญจากชนชั้นนำที่ปรีชาสามารถและเปี่ยมด้วยคุณธรรม ความยุติธรรมจักต้องบังเกิดจากชนชั้นนำที่ทรงคุณธรรมเท่านั้น โดยมีแหล่งกำเนิดมาจาก “ผู้ทรงความยุติธรรมหนึ่งเดียว” (the Justice One) ที่ส่งผ่านอำนาจบันดาลความยุติธรรมให้ศาลทั้งหลายอีกที

ศาลและกระบวนการยุติธรรมไม่ได้เป็นของประชาชน เมื่อไรที่ชนชั้นนำต้องการพักระงับความยุติธรรม ซึ่งเป็นของพวกเขาไม่ใช่ของเรา พวกเขาก็จะทำด้วยความมีเมตตากรุณาธิคุณต่อประชาชนเพื่อธำรงระเบียบทางสังคมที่เหมาะสม (แน่นอน ตามทัศนะของพวกเขา)

ประการที่ห้า ในสังคมไทย การปรองดองมักจะเป็นเป้าหมายที่สูงกว่าความยุติธรรมเสมอ ตราบใดที่มันหมายถึงการดำเนินระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมของชนชั้นนำสืบต่อไป

ยกตัวอย่างหลัง 2475 เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงไม่ได้พูดจาภาษาปรองดอง ในช่วงปั่นป่วนหลัง 2516 ชนชั้นนำก็ไม่พูดปรองดองเช่นกัน พวกเขาพูดแต่เรื่องกำจัดพวกคอมมิวนิสต์


ประเทศไทยต้องการการปรองดองที่มีความยุติธรรม การปราบปรามเข่นฆ่าที่ผ่านมาในประเทศไทยไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อนมากนักในการที่จะชี้ถูกชี้ผิด หาผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำ หากมีการยึดมั่นในหลักการความเป็นธรรมและความเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย แต่ความยุติธรรมในสังคมไทยจะต้องไม่ไประคายเคืองอำนาจครอบงำและระเบียบสังคมของชนชั้นนำ


อุปสรรคต่อความยุติธรรมอยู่ตรงนี้สังคมไทยมีวุฒิภาวะเพียงพอหรือมีศักยภาพที่จะพัฒนาและเติบโตบรรลุวุฒิภาวะที่จะรับมือความขัดแย้งที่ซับซ้อนในหมู่ประชาชนและระหว่างประชาชนกับรัฐได้ สังคมไทยไม่ได้เปราะบางหรือเป็นเด็กเหยาะแหยะเสียจนกระทั่งความยุติธรรมและการปรองดองก็ยังต้องถูกควบคุมและกำกับดูแลโดยชนชั้นนำผู้ทรงคุณธรรม

การลดทอนและการพักระงับความยุติธรรมโดยอ้างการปรองดองจึงมีที่มาจากโลกทัศน์ของชนชั้นนำว่าประชาชนเป็นเหมือนเด็กและจำเป็นต้องให้ชนชั้นนำอำนวยความยุติธรรมให้ทว่ามันเป็นไปเพื่อชนชั้นนำล้วนๆ เพื่อรักษาระเบียบสังคมที่มีลำดับชั้นอันมีพวกเขาอยู่บนสุด ที่มีการดำเนินการปรองดองโดยปราศจากความยุติธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า


ความยุติธรรมไม่ใช่ยาพิษ ความปรองดองที่ปราศจากความยุติธรรมต่างหากที่เป็นยาพิษ มันเป็นทั้งพิษทั้งมอมเมาประเทศไทยจะต้องเลิกการปรองดองที่ปราศจากความยุติธรรม และเริ่มแสวงหาความยุติธรรมเพื่อก้าวไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมที่ประชาชนสามารถอยู่ด้วยกันได้ภายใต้กฎหมายเดียวกัน นี่เป็นวิถีทางที่สังคมที่ซับซ้อนจัดการกับความขัดแย้ง ไม่ใช่การอวดอ้างการปรองดองที่ฉาบฉวยว่างเปล่าโดยปราศจากความยุติธรรม

Wednesday, November 3, 2010

ถ้าฉันเป็นนายกฯ ในประเทศที่กำลังมีน้ำท่วมหนัก


ถ้าฉันเป็นนายกรัฐมนตรี ในประเทศที่กำลังมีภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี
กินพื้นที่กว่า 30 จังหวัดหรือเกือบครึ่งประเทศ
ผู้คนเดือดร้อนหลายล้านคน
เป็นเวลายาวนานเกือบหนึ่งสัปดาห์เต็ม


…. ฉันจะ


ฉันจะสั่งทำถุงยังชีพ ให้ข้างถุงเขียนว่า “มาจากภาษีประชาชน” เพราะประชาชนเป็นคนทำงานเสียภาษีให้รัฐทุกปีอยู่แล้ว


ฉันจะจัดตั้ง “ศูนย์กลางแก้วิกฤติ” อย่างด่วนที่สุด ไม่รอให้เนิ่นช้ากว่า 7 วัน ไม่ปล่อยให้ “รัฐบาล” ซึ่งกินภาษีประชาชน ทำงานเชื่องช้ากว่าประชาชนด้วยกันเอง


ฉันจะเอา “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ศอฉ.” นั่นแหละมาปัดฝุ่นแล้วลุยงานเลย เพราะฉันเชื่อว่า “น้ำท่วม” ก็เป็นเรื่อง “ฉุกเฉิน” ของชาติเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะภารกิจปราบม็อบเสื้อแดงเท่านั้นที่ฉุกเฉิน


ฉันจะตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าศูนย์ เพราะฉันคือผู้นำประเทศ และนี่คือช่วงเวลาที่ประเทศต้องการผู้นำ
ฉันจะไม่ตั้งที่ปรึกษาฯของฉันซึ่งไม่มีอำนาจอะไรทางกฏหมาย เป็นหัวหน้าศูนย์ โดยเฉพาะหากที่ปรึกษาคนนั้นเคยต้องลาออกจากตำแหน่งการเมืองด้วยเรื่องอื้อ ฉาวในอดีต


ฉันจะเอาข้อมูลทั้งหมดมาประมวลในภาพกว้าง ฉันจะต้องรู้ให้ได้ว่า “น้ำ” ที่ท่วมหนักที่สุดในรอบ 50 ปีนั้นมาจากไหน มาอย่างไร มาเมื่อไหร่ แล้วมันแตกต่างจากน้ำในปีก่อนๆอย่างไร และทำไมถึงต่าง
ฉันจะต้องรู้ด้วยว่าพื้นที่ไหนบ้างที่เดือดร้อนไปแล้ว พื้นที่ไหนกำลังเดือดร้อนในตอนนี้ และ พื้นที่ไหนที่น้ำจะท่วมต่อไปในวันพรุ่งนี้และที่สำคัญคือ เมื่อไหร่ทุกอย่างจะคลี่คลาย


พื้นที่ไหนกำลังเดือดร้อน ฉันจะจัดแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ (แดง เหลือง เขียว) ฉันอยากรู้ด้วยว่าในพื้นที่แต่ละแบบนั้นมีประชาชนอยู่กี่คน จุดไหนบ้าง พื้นที่ไหนเป็นสภาพเมือง พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่การเกษตร ฉันจะได้ส่งการช่วยเหลือไปอย่างเหมาะสม


ฉันจะกำหนดให้ศูนย์กลางแก้วิกฤติเป็นมากกว่า “คนประสานงาน” ระหว่างหน่วยงานราชการที่เชื่องช้าศูนย์กลางของฉันจะต้องทำหน้าที่ “บริหารทรัพยากร” ที่มีอยู่ให้ใช้ไปอย่างถูกที่ ถูกเวลา ด้วย
เงินทองที่เบิกจ่ายต้องโปร่งใสรวดเร็วประมวลข้อมูลจากภาคสนามอย่างทันท่วงทีและประสานรับ “น้ำใจ” จากภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ


ดังนั้น ศูนย์ของฉันจะมีข้อมูลรายละเอียดว่าวันนี้ อำเภอไหนบ้างที่ขาดไฟฉายเข้าขั้นวิกฤตตำบลใดรับข้าวสารไปหุงกินเองได้ ตำบลใดต้องการอาหารสำเร็จรูปมากกว่าเส้นทางไหนต้องใช้เรือ ใช้กี่ลำ มีคนติดอยู่แถวนั้นกี่คน


ฉันจะรู้ด้วยว่าถึงนาทีนี้ข้าวสาร น้ำดื่ม ทั้งที่จัดซื้อมาเอง และประสานกับภาคเอกชนนั้น มีกี่ขวดแจกจ่ายไปจุดไหนบ้างแล้ว ไปถึงที่หมายช้าเร็วแค่ไหนมีใครได้เกินความจำเป็นหรือไม่ มีใครที่ขาดแคลนอย่างหนักแต่ยังไม่ได้หรือเปล่า


เงินบริจาคทุกบาทจะต้องทำบัญชี แสดงที่มาที่ไป หน่วยงานไหนรับบริจาคมาเท่าไหร่ ต้องแสดงให้ชัดเจน เพราะมันจะมีผลต่อการกล่าวอ้างเพื่อยกเว้นภาษี อีกทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการฉ้อฉลโดยใช้ความเดือดร้อนของคนร่วมชาติเป็น เครื่องมือ


อ้อ .. ฉันจะแจ้งให้กลุ่ม “ชาตินิยม” ทั้งหลายทราบด้วยว่า ตอนนี้แหละคือเรื่องของ “ชาติ” จริงๆ เพราะมันคือเรื่องของคนตัวเป็นๆที่อยู่ในประเทศเดียวกัน ไม่ใช่ที่ดินผืนน้อยที่มีปัญหามาแต่โบราณ ใครอยากกู้ชาติ อยากพลีชีพ เชิญได้เต็มที่ในครั้งนี้ อย่ามัวแต่ไปต่อแถวกินโดนัท


ฉันจะต้องรู้ด้วยว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ในแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัดนั้นมีที่ไหนบ้าง จุดไหนที่สามารถอพยพผู้คนเข้าไปได้ จุดไหนยังเสี่ยง


ฉันจะจัดทำแผนอพยพที่ชัดเจน จะไปเส้นทางใด ใช้พาหนะใด ใช้เวลาเดินเท่าไหร่ และที่สำคัญ วันนี้ปลอดภัยแล้วพรุ่งนี้จะปลอดภัยไหม ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทำนายว่าอย่างไร


ดังนั้นหากรู้ว่า น้ำกำลังไหลจาก อำเภอ ก. ไป อำเภอ ข. ภายใน 12 ชั่วโมง ฉันจะได้สั่ง “อพยพ” ผู้คนได้ล่วงหน้า ทันเวลา ไม่ใช่เพียงแต่ทำงาน “ตามปัญหา”


ด้วยความที่ฉัน (และศูนย์กลางของฉัน) มีข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน เห็นภาพกว้างที่สุด ฉันจะสามารถ “ประสาน” แนวทางการทำงานของแต่ละกลุ่ม ทั้งส่วนราชการต่างๆ หรือส่วนเอกชนอย่างอาสาสมัครกู้ภัย หรือกระทั่งสื่อมวลชน


ทุกคนจะได้ทำงานไปใน “ทาง” เดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน และได้ประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ซ้ำซ้อน ลักลั่น ไร้ทิศทาง


ฉันเชื่อว่าในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ การส่งทรัพยากรอันจำกัดไปให้ถูกที่ ถูกเวลา นั้นสำคัญมาก – ใครขาดน้ำดื่มต้องได้น้ำดื่ม ใครขาดอาหารแห้งต้องได้อาหารแห้ง ใครป่วยต้องได้ถูกเคลื่อนย้ายออกมาทันที – เพราะการใช้ทรัพยากรไปหนึ่งครั้ง มันมีค่าเสียโอกาสอยู่ด้วย


เรือที่ออกไปแจกข้าวสาร สามารถใช้ไปรับคนป่วยได้เช่นกันเราเพียงต้องรู้ให้ชัดว่าเมื่อไหร่ควรใช้อะไร ทำอะไร เพื่ออะไรซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ มันต้องมีข้อมูลมุมกว้าง และต้องตัดสินใจอย่างจากภาพรวม
สำหรับพื้นที่ไหนที่น้ำยังไปไม่ถึง ฉันจะสั่งให้รีบ “เตรียมตัว” รับมือ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเอากระสอบทรายมา “กั้น” น้ำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องหมายถึงการเตรียมทางหนี ทีไล่ ระบบแจ้งเตือน จัดพื้นที่ปลอดภัยไว้รอรับปัญหา จัดอาหาร ยารักษาโรค ไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน


พื้นที่ไหนน้ำเริ่มลดแล้ว ฉันจะเร่งช่วยเหลือประชาชน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการ “แจกเงิน” อย่างมักง่ายเพียงอย่างเดียว เพราะฉันรู้ดีว่าเงินมีจำกัด และในสภาวะฉุกเฉินนั้น เงินอาจไม่ต่างจากกระดาษปึกหนึ่ง ที่อาจเอาไปซื้ออาหารมากินได้ไม่กี่มื้อ


ฉันจะเร่งช่วยเหลือประชาชนในช่องทางอื่นด้วย เช่น อาจได้เวลาปล่อยสต๊อกข้าวในยุ้งของรัฐ อาจประสานงานกับภาคเอกชนว่าต้องการ “สินค้าเกษตร” เป็นของบริจาค และ อาจเอางบประมาณฉุกเฉินมา “จ้างงาน” ผู้ประสบภัยให้ “ทำอาหาร” แจกจ่ายคนอื่นๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยประชาชนได้ถึงสองต่อ (มีงานทำ ได้เงิน มีกิน) – ฉันหวังว่าไอเดียแบบเด็ก ป.4 ของฉันจะไม่ไร้เดียงสาเกินไปนัก


ฉันจะทำงานด้วยสำนึกในกะโหลกว่า “ผู้นำ” ประเทศมีหน้าที่รับทราบข้อมูล ประมวลผลในภาพกว้าง กำหนดกลยุทธ์ แนวทาง เป้าหมาย และ “ตัดสินใจ” ในทางเลือกสำคัญๆ


ผู้นำประเทศไม่ได้มีหน้าที่เพียง “รับฟัง” แล้วปล่อยให้ลูกน้องทำงานไปวันๆตามมีตามเกิด
ฉันรู้ดีว่าแนวทางเช่นนี้สำคัญมากในการ “บริหารวิกฤติ” และในฐานะ “นายกฯมือใหม่” ฉันจะตั้งใจทำมันให้ดีที่สุดเพราะจะว่าไป “น้ำท่วม” อาจเป็นภัยพิบัติที่ “เบา” ที่สุดแล้ว หากเทียบกับ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ หรือ ไวรัสระบาด


ฉันจะไม่ออกเดินทางพร่ำเพรื่อ หรือหากจะออกภาคสนาม ก็จะใช้ทรัพยากร (เช่น เจ้าหน้าที่ หรือ ยานพาหนะ) อย่างน้อยที่สุด เพราะสิ่งเหล่านั้นควรถูกนำไป “แก้ปัญหา” มากกว่ามาดูแลฉัน
ฉันจะพูดให้น้อย ทำงานให้มาก พูดเฉพาะเรื่องสำคัญๆเพราะรัฐบาลของฉันมีโฆษกกินเงินเดือนอยู่แล้ว
ฉันไม่อยากไปแย่งงานเขา ….


ที่มา >>> www.roodthanarak.com