Monday, January 11, 2010

สิ้นห้าสอง-มองห้าสาม "ความเก่าบางอย่างไม่ใช่ความดีที่สะสมมานาน. .ปิศาจในตัวเขามีมานานก่อนที่ผมจะเกิด.ปี 2553 จะไม่ได้ต่อกับ 2552 แต่ต่อโดยตรงกับการอภิวัฒน์ 2475"

โดย : จักรภพ เพ็ญแข

ปีใหม่ปีนี้มีความแปลกประหลาด เพราะเราล้วนอยู่ในโครงสร้างการเมืองแบบเก่าๆ และความทุกข์ทรมานแบบเก่าๆ จนหลายคนรู้สึกว่าเมืองไทยยังไม่ได้เปลี่ยนศักราชเลย ตั้งแต่วันอังคารที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ อันเป็นวันโค่นล้มทำลายรัฐบาลของประชาชนเป็นต้นมา

สอนกันมาเนิ่นนานว่า “สิ่งใหม่ในโลกมีเพียงอย่างเดียว คือประวัติศาสตร์ที่เรายังอ่านไม่พบ” จริงเสียยิ่งกว่าจริง

เพราะบัดนี้คนส่วนใหญ่ของประเทศไทยรู้แล้วว่า “ความเก่า” บางอย่างก็ไม่ใช่ “ความดีที่สั่งสมมาเนิ่นนาน” อย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่เป็น “ความเก่าแก่” ตามคติที่ว่าสมบัติข้าใครอย่าแตะ และหนาหนักพอที่เหนี่ยวรั้งบ้านเมืองไว้ไม่ให้ก้าวหน้า เพราะวิตกจริตที่ว่าเขาจะคิดโค่นล้มทำลายตน

เนื่องจากเราหลับตาและปล่อยให้เขากรอกหูมานานเกินไป คำโฆษณาชวนเชื่อจึงไหลผ่านหูถึงสมองและจิตโดยไม่ยาก ชีวิตของพวกเราจึงอยู่ในวังวนของข้อมูลเก่าอันเป็นข้อมูลชุดเดิมที่ย้อมสีทั้งประเทศครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างได้ผล

เราจึงไม่พบความจริงจากประวัติศาสตร์ไทย เพราะประวัติศาสตร์แท้จริงของไทยอยู่ใต้ดิน มิได้ผงาดเหนือดินเหมือนคำลวงโลกต่างๆ ที่นักวิชาการผู้อ่อนแอช่วยยกร่างขึ้นมาครอบงำสังคมไทยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ความจริงโอกาสที่จะเปลี่ยนศักราชใหม่ก็มี แต่เขาก็ปล่อยผ่านไป โอกาสเปรียบไปก็เหมือนแก้วมณีอันมีค่า เมื่อไม่ฉวยจับไว้ให้มั่นมือก็พลัดตกแตกไปต่อหน้า เพราะปัญญาบารมีที่เคยมีมาก บัดนี้ดูจะพ่ายแพ้ต่อแรงมหาศาลของโมหะจริตและอวิชชาที่ผุดพลุ่งขึ้นมาจากไหนก็ไม่รู้
ใครบางคนกระซิบผมว่ามาจากภายในนั่นเอง ปิศาจสันนิวาสในตัวเขามีมานานก่อนที่ผมจะเกิด ผมจึงไม่รู้ความใดๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และก็ลุ่มหลงอย่างเดียวกับคนทั้งหลายในระยะที่การชวนเชื่อปรากฏผลสัมฤทธิ์ จนกระทั่งรู้ความขึ้นและเริ่มตั้งคำถามที่ได้รับคำตอบที่ยากลำบากและเจ็บปวด

และมาตื่นเต็มที่เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เพราะถูกกระชากอย่างรุนแรงจนหลุดจากภวังค์ อย่างที่ฝรั่งใช้สำนวนว่า rude awakening
ชนชั้นนำในเมืองไทยในวาระจิตที่เรียกว่า “ปีใหม่หัวใจเก่า” จึงทำให้บ้านเมืองเป็นอัมพาต เดินต่อไม่ได้ ต้องร่วมฉลองปีเก่าและความเก่ากันอย่างจำใจในปีใหม่ที่มาถึง

ผมเชื่อว่าการเมืองภาคประชาชนกำลังถูกท้าทายอย่างรุนแรง อาจถึงขั้นสบประมาทว่ามีความสามารถที่จะต่อสู้ให้ได้มาซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองหรือไม่ในปีนี้

ทบทวนดูสิครับว่าเราผ่านบททดสอบอะไรกันมาบ้างจนถึงปี พ.ศ.๒๕๕๒

- รัฐบาลที่มาจากความนิยมอย่างสูงจนได้รับเลือกตั้งซ้ำสองและด้วยพลังศรัทธาที่เพิ่มขึ้น

- การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จทั้งที่นายกรัฐมนตรีผู้ถูกโค่นเป็นผู้เลือกสรรและวางตัวผู้นำทุกเหล่าทัพ รวมทั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้วยตนเอง

- ขบวนการต่อต้านเผด็จการที่เริ่มต้นอย่างสะเปะสะปะ เพราะส่วนกลางสับสนระหว่างการยกธงขาวยอมแพ้และการรณรงค์ต่อสู้ จนพลังบางส่วนเปลี่ยนเป็นเครื่องมือของนักการเมืองสายอำมาตย์ที่เข้ามาลดระดับความเข้มลง บางส่วนกลายเป็นกระแสหลักที่ไม่ยอมทำสงครามใหญ่และถูกทำให้เป็นมวลชนเลือกตั้ง และบางส่วนหายสาบสูญไปเพราะหมดกำลังทุน หมดกำลังใจ หรือไม่ก็ต้องคดีความต่างๆ จนโงหัวไม่ขึ้น ทั้งหมดเพราะขาดศูนย์บัญชาการ/ประสานงานภาคประชาชน พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยต่างก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการทำหน้าที่นั้น

- ความศรัทธาในลัทธิรัฐธรรมนูญ หรือความเชื่อว่ารัฐธรรมนูญจะบังคับพฤติกรรมของเผด็จการมิให้เป็นเผด็จการได้เริ่มลดลง เช่นเดียวกับการเลือกตั้งที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ในใจของปวงชนเท่ากับเมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ อันเป็นที่มาของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

- การสูญเสียคนชนิด เนวิน ชิดชอบ ทำให้ระบบนายหน้าทางการเมืองลดความสำคัญลง บังคับให้ขบวนการประชาธิปไตยสร้างความสัมพันธ์และสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มพลังประชาชนมากขึ้น ภาคประชาชนก็แข็งแรงและมีความมั่นใจขึ้น

- รัฐบาลที่ถูกชักใยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่สามารถทำหน้าที่บริหารประเทศได้ เพราะถูกกำหนดทุกย่างก้าวจากหน่วยเหนือ และขาดความสามารถในการทำงานเพราะหย่อนทั้งประสบการณ์และวิชาการ จนกลายเป็นหลักฐานที่ครบวงจรของระบอบอำมาตยาธิปไตยที่เชื่อมโยงผลประโยชน์กับชนชั้นนำของไทย ประชาชนรากหญ้าถูกกันให้อยู่รอบนอก ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ แถมต้องแบกภาระเพิ่มเติม เช่น อัตราภาษีที่เพิ่มสูง เป็นต้น

- แนวร่วมของฝ่ายประชาธิปไตยในต่างประเทศแสดงตัวชัดเจนขึ้น ไม่ว่ากรณีกัมพูชา ลาว และแม้กระทั่งเมียนมาร์ เพราะผลประโยชน์ของอำมาตย์ไทยสวนทางกับโลกาภิวัตน์และภูมิภาคนิยมมากขึ้นทุกที เครือข่ายประชาชนไทยในต่างประเทศก็ขยายตัวกว้างขวางและมีอิทธิพลขึ้น เพราะมีใจและมีทุน

ฯลฯ

ณ จุดเชื่อมต่อระหว่างปลายปี ๒๕๕๒ กับต้นปี ๒๕๕๓ ฝ่ายอำมาตย์คงจะเร่งรัดให้เรื่องทั้งหมดจบลง การไล่ล่าตัวบุคคลฝ่ายประชาธิปไตยด้วยความรุนแรงและผิดกฎหมาย การบีบคั้นด้วยคดีความทุกคดีไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ การปราบปรามขบวนการภาคประชาชน แม้กระทั่งการก่อรัฐประหารอีกรอบหนึ่ง ย่อมอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

ฝ่ายประชาธิปไตยเรียนรู้บทเรียนจากอดีตกว่าสามปี และมีความพร้อมขึ้น แต่ต้องไม่ประมาทไม่ว่าในกรณีใดๆ

ผมเชื่อว่าพุทธศักราช ๒๕๕๓ จะไม่ได้ต่อกับพุทธศักราช ๒๕๕๒

แต่ต่อโดยตรงกับการอภิวัฒน์ พ.ศ. ๒๔๗๕ เลยทีเดียว

No comments:

Post a Comment