Saturday, January 23, 2010

ตรวจสอบองค์การนำ ด้วยหลักการของระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์

จาก : คุณแก่นที่ บอร์ดไฟลามทุ่ง

ระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์คือ ระบอบที่ประสานกันเข้าระหว่าง การรวมศูนย์บนพื้นฐานประชาธิปไตย และประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำของการรวมศูนย์ เป็นหลักการจัดตั้งของพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพ เป็นการแสดงออกของการเดินแนวทางมวลชนภายในองค์กร อย่างที่เราเรียกว่า มาจากมวลชน กลับไปสู่มวลชน

มันเป็นเอกภาพของด้านตรงข้ามที่วิภาษกัน (ทั้งตรงกันข้ามกันและเป็นเอกภาพกัน) มีแต่อยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ จึงจะสามารถทำการรวมศูนย์ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ มีแต่อยู่ภายใต้การรวมศูนย์ที่ถูกต้องสมบูรณ์ จึงจะสามารถมีชีวิตประชาธิปไตยที่คึกคักมีชีวิตชีวา

ถ้ามีแต่รวมศูนย์ ไม่พูดถึงประชาธิปไตย นั่นคือการรวมศูนย์แบบลัทธิขุนนาง ถ้ามีแต่ประชาธิปไตย ไม่พูดถึงการรวมศูนย์ ย่อมจะนำไปสู่ประชาธิปไตยสุดขั้วและอนาธิปไตย

ระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ ได้จัดวางความสัมพันธ์ระหว่าง บุคคลกับจัดตั้ง ชั้นล่างกับชั้นบน ฝ่ายนำกับฝ่ายถูกนำ ภูมิภาคกับส่วนกลาง เฉพาะส่วนกับส่วนทั้งหมด ไว้อย่างถูกต้อง สมเหตุสมผล

บุคคลขึ้นต่อจัดตั้ง คำว่าจัดตั้งหมายถึงคณะบุคคล (หน่วยพรรครวมทั้งคณะกรรมการชั้นต่าง ๆ สมาชิกพรรคทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด ล้วนต้องมีสังกัดหน่วยหรือคณะกรรมการแต่ละชั้น ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับจัดตั้ง

เช่น นาย ก. เป็นกรรมการบริหารกลาง สังกัดคณะกรรมการบริหารกลาง นาย ข. เป็นสมาชิกพรรคธรรมดา สังกัดหน่วยพรรคใดหน่วยพรรคหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างนาย ก. กับ นาย ข. เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล ถ้านาย ก. มีความเห็นต่อปัญหาใดปัญหาหนึ่ง นาย ข. มีความเห็นแย้ง นาย ก.จะสวมหมวกให้ นาย ข. ว่าไม่ขึ้นต่อจัดตั้งไม่ได้

เพราะว่า นาย ก. เวลานี้ เป็นแค่ตัวบุคคลไม่ใช่คณะบุคคล แต่ถ้านาย ก.นำมติเกี่ยวกับปัญหาใดปัญหาหนึ่งของคณะกรรมการบริหารกลาง ลงมาถ่ายทอดต่อ นาย ข. นาย ข. ไม่ปฏิบัติตาม นั่นจึงจะเรียกว่านาย ข. ไม่ขึ้นต่อจัดตั้ง มีความผิดฐานละเมิดหลักการในระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ในข้อที่ว่า บุคคลขึ้นต่อจัดตั้ง

บุคคลขึ้นต่อจัดตั้ง ยังเป็นการแสดงออกของเสียงข้างน้อยขึ้นต่อเสียงข้างมากอีกด้วย เพราะว่า มติทุกมติที่ผ่านออกมานั้น ล้วนต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตย แล้วรวมศูนย์ขึ้นมา กลายเป็นมติโดยเสียงข้างมากแล้วทั้งสิ้น

ชั้นล่างขึ้นต่อชั้นบน ชั้นล่างกับชั้นบนในที่นี้หมายถึง องค์การจัดตั้งไม่ใช่ตัวบุคคล เช่น คณะกรรมการบริหารชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่หน่วยพรรค ซึ่งเป็นองค์การจัดตั้งชั้นพื้นฐานที่สุด ไปจนถึงคณะกรรมการบริหารกลาง

ชั้นล่างขึ้นต่อชั้นบนหมายถึงว่า หน่วยพรรคต้องขึ้นต่อและปฏิบัติตามคณะกรรมการบริหารตำบล คณะกรรมการบริหารตำบลขึ้นต่อและปฏิบัติตามคณะกรรมการบริหารอำเภอ คณะกรรมการบริหารอำเภอ ขึ้นต่อและปฏิบัติตามคณะกรรมการบริหารจังหวัด คณะกรรมการบริหารจังหวัดขึ้นต่อและปฏิบัติตามคณะกรรมการบริหารกลาง

นาย ก.เป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการบริหารกลาง นาย ข. เป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการบริหารจังหวัด นาย ก. เป็นชั้นบนของนาย ข. นาย ข. เป็นชั้นล่างของนาย ก. นาย ก. มีความเห็นต่อปัญหาใดปัญหาหนึ่ง นาย ข. ไม่เห็นด้วย ถามว่านาย ข.ผิดหลักการชั้นล่างขึ้นต่อชั้นบนหรือไม่

จะตอบปัญหานี้ได้ ก็ต้องถามว่านาย ก.แสดงความเห็นต่อปัญหานั้น ๆ ในฐานะส่วนตัวหรือว่าเป็นมติขององค์การจัดตั้งที่นาย ก.สังกัดอยู่ ถ้าเป็นความเห็นส่วนตัวของนาย ก. นาย ข.ไม่เห็นด้วย นาย ก.จะเที่ยวสวมหมวกให้นาย ข.ซึ่งเป็นชั้นล่างว่า ไม่ยอมขึ้นต่อชั้นบนไม่ได้

แต่ถ้าความเห็นของนาย ก.เป็นความเห็นโดยมติของคณะกรรมการบริหารกลางที่นาย ก.สังกัดอยู่ นำมาถ่ายทอดแก่นาย ข. นาย ข.ไม่เห็นด้วยและไม่ปฏิบัติตาม นาย ข.ก็มีความผิด ฐานละเมิดหลักการในระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ ในข้อที่ว่าชั้นล่างขึ้นต่อชั้นบน

ชั้นล่างขึ้นต่อชั้นบน ยังเป็นการแสดงออกของเสียงข้างน้อย ขึ้นต่อเสียงข้างมากอีกด้วย เพราะว่า มติทุกมติที่องค์การจัดตั้งชั้นบนผ่านออกมานั้น ล้วนต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตย แล้วรวมศูนย์ขึ้นมา เป็นมติโดยเสียงข้างมากแล้วทั้งสิ้น

การดำเนินระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ที่ถูกต้องเป็นระบบ ไม่โน้มเอียงไปทางหนึ่งทางใด ย่อมก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ในด้านเจตจำนง การจัดตั้งและการปฏิบัติ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน แต่หากไม่ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ มีการนำไปใช้หรือกล่าวอ้างอย่างผิด ๆ ย่อมทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม และสุดท้ายระบอบที่ดีก็พลอยถูกปฏิเสธไปด้วย

อย่างเช่นปัญหาที่ดำรงอยู่ภายใน พคท. ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ หลาย ๆ คนมีความรู้สึกว่า ภายใน พคท. ขาดประชาธิปไตย เน้นแต่การรวมศูนย์ด้านเดียว ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย

ถึงแม้ว่าในทางทฤษฎี ส่งเสริมให้ทุกคนมีลักษณะริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำ แต่ในทางปฏิบัติ กลับเน้นการขึ้นต่ออย่างหลับหูหลับตา ให้เชื่อฟังชั้นบน เชื่อพรรคเชื่อจัดตั้ง ตัวอย่างรูปธรรมก็คือ ถ้าใครมีความเห็นแย้งกับสหายนำ มักได้ชื่อว่า เป็นพวกทัศนะพรรคไม่ดี ทัศนะจัดตั้งไม่ดี หนักหน่อยอาจโดนข้อหาค้านพรรค

ใครเชื่อฟังฝ่ายนำ ขึ้นต่ออย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่มีความเห็นต่าง ไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ จะได้รับการยกย่องว่าเป็นลูกที่ดีของพรรค เป็นต้น

เนื่องจากมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ของ พคท.จึงน่าจะทำการสำรวจตรวจสอบ ค้นหาข้อดีข้อผิดพลาด เป็นการเก็บรับบทเรียนในอดีตเพื่อจะได้ระมัดวังในอนาคต

เนื้อหาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ก็คือ องค์การนำชั้นต่าง ๆ รวมทั้งบุคคลชั้นนำล้วนเกิดจากการเลือกตั้ง องค์การนำชั้นต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบต่อมวลสมาชิกพรรค รายงานผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อมวลสมาชิกพรรคตามเวลาที่กำหนด (ผ่านตัวแทนของพวกเขา-สมัชชาผู้แทนชั้นต่าง ๆ)

รับฟังความคิดเห็นขององค์การจัดตั้งชั้นล่างและมวลสมาชิกพรรค รับการตรวจสอบจากมวลสมาชิกพรรค การกำหนดเข็มมุ่ง นโยบายและกฎข้อบังคับทั้งปวง รวมทั้งการจัดการปัญหาที่สำคัญ ๆ ล้วนต้องรวมศูนย์ขึ้นมา จากมวลสมาชิกชั้นล่างบนพื้นฐานประชาธิปไตย

จากนั้นจึงผ่านจากมวลสมาชิกชั้นล่างยืนหยัดลงไปสู่การปฏิบัติ องค์การนำชั้นต่าง ๆ ดำเนินหลักการนำรวมหมู่ประสานกับการแบ่งงานรับผิดชอบโดยบุคคล ซึ่งก็หมายความว่าจะต้องจัดให้มีการประชุมสมัชชาผู้แทนระดับต่าง ๆ ตามเวลาที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบการพรรค

ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงจะสามารถปรากฏเป็นจริงได้ แต่โดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของ พคท. ยังอยู่ห่างไกลจากข้อเรียกร้องเหล่านี้มาก นับแต่สมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2485 จนถึงปัจจุบันรวมเวลา 67 ปี พรรคได้ประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศรวม 4 ครั้ง ดังนี้

สมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2485 สมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2495 สมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2504 สมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2525

จากสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 4 ถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2553 จะเห็นได้ว่าจากสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 2 กินเวลา 10 ปี จากสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 2 ถึงครั้งที่ 3 กินเวลา 9 ปี จากสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 3 ถึงครั้งที่ 4 กินเวลา 21 ปี จากสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 4 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 28 ปีแล้ว

ยังมองไม่เห็นปลายอุโมงค์ว่า อยู่ตรงไหนกันแน่ ทั้ง ๆ ที่ในระเบียบการพรรคได้กำหนดเงื่อนเวลาไว้อย่างชัดเจนว่า ให้ประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศกี่ปีต่อครั้ง สำหรับสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 1 กำหนดไว้ปีละครั้ง แต่ในทางปฏิบัติของ พคท. ก็ยืดยาวออกไปเป็นเวลาถึง 10 ปี

ระเบียบการพรรคซึ่งผ่านจากที่ประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศ ครั้งที่ 3 ได้กำหนดให้ประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศทุก 5 ปีต่อครั้ง แต่ในทางปฏิบัติ ก็ยืดเวลาออกไปยาวนานถึง 21 ปี เหตุผลที่ยืด ซึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงก็คือ พรรคอยู่ในภาวะใต้ดิน สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย

ในที่ประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 4 น่าจะมีการถกเถียงปัญหานี้กันมาก เพราะมันเป็นจุดอ่อนที่สำคัญมากข้อหนึ่งของพรรค จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงให้ได้ ไม่ควรปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก ดังนั้น ในระเบียบการพรรค ที่ผ่านในสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 4 จึงได้เขียนไว้ในหมวดที่ 3 ข้อ 29 ดังนี้

“ ข้อ 29 การประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศ ให้คณะกรรมการบริหารกลางเป็นผู้กำหนดและเรียกประชุม ในสภาพปกติ ให้เรียกประชุมทุก 5 ปี ต่อครั้ง ในกรณีพิเศษ คณะกรรมการบริหารกลาง อาจเลื่อนหรือร่นเวลาการประชุมได้

แต่การเลื่อนจะต้องไม่เกินเวลา 1 เท่าตัวตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ต้องแจ้งเหตุผลให้องค์การพรรคชั้นจังหวัดทราบ และต้องให้องค์การพรรคชั้นจังหวัด ที่เป็นตัวแทนของสมาชิกพรรคเกินกว่าครึ่ง เห็นด้วย”

คณะกรรมการบริหารกลางชุดที่ 4 ซึ่งได้รับเลือกจาก ที่ประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2525 ต้องเป็นผู้กำหนดและเรียกประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 5 ถ้ามีเหตุอันควรต้องเลื่อน ก็เลื่อนได้ไม่เกินหนึ่งเท่าตัว ทั้งต้องแจ้งเหตุผลให้องค์การจัดตั้งชั้นจังหวัดทราบ และต้องให้องค์การพรรคชั้นจังหวัดที่เป็นตัวแทนของสมาชิกพรรค เกินกว่าครึ่งเห็นชอบด้วย

แต่จนบัดนี้ พ.ศ.2553 ผ่านมาแล้ว 28 ปี ยังไม่เห็นองค์การนำชุดนี้ มีคำชี้แจงต่อสมาชิกทั้งพรรคว่า มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงไม่ยอมเรียกประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 5 แม้แต่การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการบริหารกลาง ซึ่งระเบียบการพรรคฉบับสมัชชา 4 กำหนดให้เรียกประชุมปีละครั้ง ก็ไม่เคยเรียกประชุม

องค์การนำชุดหนึ่ง ทำงานตามที่สมัชชาผู้แทนทั่วประเทศมอบหมายเป็นเวลา 28 ปี โดยไม่มีการรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุม ไม่ต้องรับผิดชอบต่อมวลสมาชิกพรรค ที่เลือกตั้งตนขึ้นมา ไม่ต้องให้พวกเขาสำรวจตรวจสอบการทำงาน ไม่ต้องวิจารณ์ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติงาน

องค์การนำอย่างนี้ยังมีคุณสมบัติ มีความถูกต้องชอบธรรม ที่จะเป็นองค์การนำของพรรคอยู่อีกหรือไม่ ถ้าใช้หลักการของระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์ เป็นบรรทัดฐานในการตรวจสอบก็จะพบว่า

องค์การนำชุดนี้ ไม่ดำรงอยู่แล้วทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย คำพูดและการกระทำของสหายนำคนใดคนหนึ่งที่อยู่ในองค์การนำชุดนี้ จะถือว่าเป็นความเห็นหรือการกระทำของพรรคขององค์การจัดตั้งไม่ได้

ข้อบกพร่องผิดพลาดขององค์การนำชุดที่ 3 เกี่ยวกับปัญหาไม่เรียกประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศ ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งได้สรุปเป็นบทเรียนในที่ประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 4 ด้วยการเขียนปิดช่องโหว่ไว้ในระเบียบพรรค เพื่อป้องกันไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก

แต่องค์การนำชุดที่ 4 กลับซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ไม่เรียกประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศยาวนานถึง 28 ปี แสดงว่า ไม่ได้เก็บรับบทเรียนเลย ดังนั้น ในถ้อยแถลงเนื่องในวันก่อตั้งพรรคครบรอบ 66 ปี ท่านเลขาธิการใหญ่ ธง แจ่มศรี จึงได้ออกมาแถลงในนามส่วนตัว โดยยอมรับว่า

“ นับแต่การประชุมคณะกรรมการบริหารกลางเต็มคณะสมัยที่ 2 ชุดที่ 4 ในปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นมา เนื่องด้วยเหตุปัจจัยทั้งทางภววิสัยและอัตวิสัย โดยเฉพาะเหตุปัจจัยทางอัตวิสัย คณะกรรมการบริหารกลางชุดนี้ ก็ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์การนำสูงสุด ของพรรคมาจนบัดนี้ เท่ากับได้สูญเสียบทบาทขององค์การนำไปแล้วโดยสิ้นเชิง ”

ในฐานะองค์การนำก็คือ ในฐานะของคณะกรรมการบริหารกลางนั่นเอง ในเมื่อคณะกรรมการบริหารกลาง ไม่ได้เปิดประชุมนับแต่ปี พ.ศ. 2526 มาจนบัดนี้ ก็เท่ากับไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ถ้ามีการประชุม มีการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมต้องมีคำชี้แนะ ชี้แจง มีมติซึ่งผ่านในที่ประชุม มีหนังสือเวียน มีคำแถลง มีแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

แต่นี่ไม่มีเลย ไม่มีการสื่อสารอย่างเป็นทางการกับมวลสมาชิกทั่วทั้งพรรค สรุปก็คือ สูญเสียบทบาทขององค์การนำไปแล้วโดยสิ้นเชิง ดังที่ท่านอดีต เลขาธิการใหญ่ ธง แจ่มศรี ชี้ไว้ในถ้อยแถลงเนื่องในวันก่อตั้งพรรคครบรอบ 66 ปี

การไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์การนำสูงสุดของพรรค พอสรุปเป็นรูปธรรมได้ ดังนี้

- ไม่เรียกประชุมสมัชชาเพื่อแก้ปัญหาที่ดำรงอยู่ภายในพรรค ยาวนานถึง 28 ปี ทำผิดระเบียบการพรรคที่กำหนดให้เรียกประชุมสมัชชา 5 ปีต่อครั้ง โดยไม่มีเหตุผล

- แม้แต่คณะกรรมการบริหารกลาง ก็ไม่มีการประชุม นับแต่การประชุมครั้งที่ 2 ในปี 2526 เป็นต้นมา

- อาศัยเพียงกรรมการการเมืองและกรรมการบริหารกลางบางคน ตั้งสิ่งที่เรียกว่าคณะทำงานซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของของสหาย รวมทั้งกรรมการบริหารกลาง ส่วนที่ไม่อยู่ในคณะทำงานด้วย

- การทำงานของคณะทำงาน แทนที่จะจับงานใจกลางเร่งด่วน คือแก้ปัญหาการนำที่ดำรงอยู่ สรุปบทเรียน แก้วิกฤติศรัทธา แก้ข้อเคลือบแคลงสัยสัยของมวลชน ที่มีต่อพรรค ต่อการนำในปัญหาต่าง ๆ เตรียมการเรียกประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศ

แต่กลับไปจับงานเศรษฐกิจ สุดท้ายทำความเสียหายทางด้านการเงิน เมื่อทำความเสียหายแล้ว ก็ไม่มีการสรุป วิพากษ์วิจารณ์ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เท่ากับไม่รับผิดชอบต่อพรรค ต่อมวลสมาชิกพรรค

- ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ เพราะระหว่างกรรมการการเมืองด้วยกันเอง มีปัญหาตั้งแง่ต่อกัน ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ปัญหาที่มีอยู่ในองค์การนำเอง ยังแก้ไม่ได้ จะไปแก้ปัญหาของมวลชนได้อย่างไร

แค่นี้ ก็เพียงพอแล้ว มิใช่หรือ กับข้อสรุปที่ว่า องค์การนำชุดที่ 4 ได้สูญเสียบทบาทการนำไปแล้วโดยสิ้นเชิง

แต่ว่า ในเอกสารคำชี้แจงภายในของการประชุมที่เรียกว่า “คณะกรรมการบริหารกลาง” ลงวันที่ 1 มกราคม ซึ่งปรากฏอยู่ในเวบบอร์ดของฟ้าเดียวกันและไฟลามทุ่ง ยืนยันว่า คณะกรรมการบริหารกลางชุดที่ 4 ยังดำรงอยู่อย่างถูกต้องทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย

และว่า ตัวเลขาธิการใหญ่ ธง แจ่มศรี ได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ แต่ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารกลางต่อไป นั้น ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า การประชุมครั้งนั้น ได้ดำเนินภายหลังที่กรรมการบริหารกลางส่วนหนึ่ง รวมทั้ง ตัวเลขาธิการใหญ่ ประกาศถอนตัวออกจากที่ประชุม เนื่องจากเห็นว่าการประชุมนี้

ไม่ใช่การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการบริหารกลางชุดที่ 4 ซึ่งได้หมดสภาพไปแล้วในทางเป็นจริงตามนัยที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่เมื่ออีกฝ่ายเห็นว่าใช่ ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ใช่ จึงขอถอนตัว ไม่ร่วมรับรู้ข้อคิดความเห็นหรือมติใด ๆ ซึ่งเกิดจากที่ประชุมแห่งนี้อีกต่อไป

และที่ว่า ตัวเลขาธิการใหญ่ ธง แจ่มศรี ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารกลางต่อไปนั้น ก็คงจะไม่ใช่ เพราะตัวเลขาธิการใหญ่ จะทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับตัวเองได้อย่างไร

สมาชิกพรรค ที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ มีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร ย่อมเป็นสิทธิอัตวินิจฉัยของแต่ละท่าน ที่จะพิจารณาตัดสินกันเอาเองว่า กรรมการบริหารกลางชุดที่ 4 ได้สิ้นสภาพแล้วหรือยังคงดำรงอยู่

การนำข้อเท็จจริงภายในพรรค หรือจะให้ถูกคือ ภายในองค์การนำมาเปิดเผย ไม่มีเจตนาทำลายเครดิตของการนำ ทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาของมวลชนที่มีต่อพรรค เพราะว่า เครดิตของการนำ ย่อมเกิดขึ้นเองจากความถูกต้องของแนวทางนโยบาย และความถูกต้องชอบธรรมของการนำ

ถ้าแนวทางถูกต้อง การนำถูกต้องชอบธรรม ความเชื่อมั่นศรัทธาของมวลชน ย่อมเกิดขึ้นเอง ไม่ว่าใครคิดจะทำลาย ย่อมไม่มีทางทำได้สำเร็จ แต่ในทางกลับกัน ถ้าการนำไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม เหินห่างมวลชน สูญเสียบทบาทที่เป็นกองหน้า ล้าหลังกว่ามวลชน ถ้าเป็นอย่างนี้ ต่อให้ยกย่องเชิดชูอย่างไร ก็ไม่สามารรถทำให้มวลชนเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาขึ้นมาได้

No comments:

Post a Comment