Wednesday, April 7, 2010

พวกดัดจริตอ้างเป็นกลาง


6 เมษายน 2553
ใจ อึ๊งภากรณ์
ที่มา – RedSiam

ผมเชื่อมานานแล้วว่าคนที่อันตรายที่สุดเป็นพวกที่อ้างว่า “เป็นกลาง” เพราะในโลกจริง เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ เกิดขึ้น คนที่เป็นกลาง หรือคนที่ไม่มีจุดยืนใดๆ มีแค่สองประเภทคือ 1.คนโกหก หรือ 2.คนปัญญาอ่อนที่ไม่รู้เรื่องและไม่สนใจจะรู้เรื่องอะไร ประเภทที่อันตรายสุดคือพวกโกหกว่าเป็นกลาง

ในแวดวงวิชาการ มักจะมีการหลงตนเองคิดว่าตัวเก่งกว่าผู้อื่นหรือเข้าใจอะไรด้วยเหตุผล ไม่เหมือนไพร่ประชาชนธรรมดา แถมยังมีการสร้างภาพเท็จว่าตัวเอง “เป็นกลาง” ทั้งๆ ที่ทุกคนมีความเห็นและอคติต่างๆ เหมือนคนอื่น เวลาสอนหนังสือพวกนี้จะอ้างว่าไม่มีจุดยืนทางการเมือง แต่เนื้อหาที่สอนมันฟ้องเอง เพราะมีแต่การเสนอด้านเดียว และมีการกล่าวหาว่าคนที่มองต่างจากกระแสหลักคือพวก “หัวรุนแรง” ที่จุฬาฯ นักวิชาการส่วนใหญ่เป็นพวกเสื้อเหลืองที่สนับสนุนอำมาตย์ พวกนี้คิดว่านักวิชาการฝ่ายซ้ายอย่างผมจะต้อง “ล้างสมอง” นิสิตนักศึกษา เพราะเวลาเขาเองสอนและตรวจงานนักศึกษา เขาไม่มีวันให้ “A” หรือ คะแนนเต็มร้อยกับงานเขียนที่อาจารย์ไม่เห็นด้วย เขาไม่เข้าใจว่านักวิชาการที่ประกาศจุดยืนตนเองชัดเจนว่าเป็นซ้าย แต่ให้คะแนนเต็มกับความคิดที่ตรงข้ามกับตนเอง เป็นการสร้างกบฏต่อระบบอาวุโสเพื่อให้นักศึกษาคิดเองเป็น

นักวิชาการสายรัฐศาสตร์จำนวนมาก จะสอนว่าวิธีขยายพื้นที่ประชาธิปไตยคือการเคลื่อนไหวของ “ประชาสังคม” หรือการเคลื่อนไหวของประชาชนพลเมืองธรรมดาที่อิสระจากรัฐ โดยมีการคัดค้านเผด็จการหรือการลดทอนสิทธิเสรีภาพโดยรัฐ แต่ตอนนี้ดูเหมือนนักวิชาการจำนวนมากที่อ้างตัว “เป็นกลาง” แยกไม่ออกระหว่างสองฝ่ายที่มีความสำคัญในวิกฤตปัจจุบัน ฝ่ายที่หนึ่งคือพลเมืองธรรมดาชาวบ้านชาวเมืองเสื้อแดง ซึ่งเป็นคนยากจน เขามีจำนวนมากและเขาเรียกร้องประชาธิปไตย ส่วนฝ่ายที่สองคือทหารที่ทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา อภิสิทธิ์ชน รัฐบาลที่ไม่เคยชนะการเลือกตั้ง และขบวนการชนชั้นกลางที่ใช้ความรุนแรงเพื่อสร้าง “การเมืองระเบียบใหม่” ของเผด็จการซึ่งลดเสียงประชาชนในการเลือกตั้ง

ผมไม่ได้พูดเรื่องนักวิชาการเสื้อเหลืองที่ไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย พวกนั้นแสดงจุดยืนตรงไปตรงมา และคงสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางชนชั้นของเขาในฐานะอภิสิทธิ์ชน

ผมพูดถึงคนที่อยากใส่เสื้อสีขาว พูดแต่เรื่องสันติวิธีแต่ไม่วิจารณ์ทหาร อ้างว่าเป็นกลาง แล้วเสนอให้ยุบสภาภายในสามเดือน ซึ่งเป็นการพยายามประนีประนอมระหว่างจุดยืนรัฐบาลเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย และผลของการประนีประนอมแบบนั้นต้องจบด้วยระบบ “กึ่งเผด็จการ”

ในห้องเรียนถ้าท่านสอนเรื่องประชาสังคมและประชาธิปไตย แต่พอก้าวออกไปนอกห้องในโลกจริง ไม่สามารถมองเห็นประชาสังคมในแววตาคนเสื้อแดงจำนวนมาก มันก็แปลว่าท่านล้มเหลวในวิชาการแล้ว

การเรียกร้องให้ยุบสภา เพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าอยากได้พรรคไหนเป็นรัฐบาล เป็นมาตรการประชาธิปไตยชัดเจน แน่นอนมันมีปัญหาระยะยาวว่าอำนาจอำมาตย์ของทหาร ศาล ข้าราชการ และสถาบันหลักๆ ก็ยังอยู่ และเขาก็สามารถทำลายประชาธิปไตยได้อีกเสมอ พร้อมกันนั้นแนวร่วมชนชั้นกลางของพันธมิตรฯ ที่ชื่นชมเผด็จการก็จะยังอยู่ แต่การยุบสภาเป็นก้าวแรก ถ้าใครคัดค้านเพราะไม่ไว้ใจประชาชนตาดำๆ ในวันเลือกตั้ง ก็แปลว่าท่านไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย

นักวิชาการที่ดัดจริตอ้างตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงแต่ไปยืนอยู่ห่างๆ จากประชาสังคมของประชาชน คิดว่าการเป็นกลางของตนเองเพิ่มน้ำหนักและเหตุผลให้กับแถลงการณ์ที่เขาเสนอให้สังคม แต่ความจริงมันตรงข้าม ถ้าใครรักประชาธิปไตยและไม่สนับสนุนคนเสื้อแดงในยามวิกฤตนี้ ความเห็นของท่านไร้ค่าในการขยายประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ตอนนี้อ้างตัวเป็นกลางเพื่อ “ช่วยหาทางออกให้สังคม” ได้ทำลายความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิงนานแล้ว เพราะแต่งตั้งจากผลของรัฐประหาร ไม่ยอมคัดค้านการขู่ใช้กำลังของทหาร ไม่ยอมพูดถึงการเซ็นเซอร์สื่อหรือกฎหมายหมิ่นฯ แถมยังสวมเสื้อเหลืองสนับสนุนพันธมิตรฯ ฝ่ายองค์กรเอ็นจีโอหลักๆ ก็เช่นกัน ออกประกาศเพื่อปกป้องคนชั้นกลางรักเผด็จการในอดีต แต่ตอนนี้หันหลังให้คนจนเสื้อแดง กลายเป็นกองเชียร์ของอำมาตย์อย่างเบ็ดเสร็จ

ในยามที่อำมาตย์นำทหารมาล้อมประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ใครไม่ยืนข้างประชาชนเสื้อแดงโดยไม่มีเงื่อนไข ถือว่าคนนั้นคัดค้านประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมทางสังคม

No comments:

Post a Comment