Wednesday, April 28, 2010

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ: กำลังแต่งภาพละครแขวนคอ”


28 เมษายน 2553

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ที่มา – ประขาไท
นักคิดที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งเคยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกในลักษณะโศกนาฏกรรม (tragedy) ครั้งที่สอง ในลักษณะ ตลกชวนสมเพช (farce)


เมื่อ 34 ปีก่อน ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล โดยมี มรว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี และมี ชวน หลีกภัย ฮีโร่ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งของรัฐบาล กลุ่มปฏิกิริยาขวาจัดได้ร่วมมือกันสร้างสถานการณ์ปลุกระดม ด้วยการนำภาพถ่ายการแสดงละครของนักศึกษาธรรมศาสตร์ เพื่อประท้วงเหตุการณ์ที่มีช่่างไฟฟ้านครปฐม 2 คน ที่กำลังร่วมกับขบวนการนักศึกษาขณะนั้นรณรงค์ต่อต้านการกลับมาของทรราชถนอม เพื่อฟื้นเผด็จการ ถูกแขวนคอตายอย่างสยดสยอง มาโฆษณาว่า นักศึกษากำลังกระทำการดูหมิ่นองค์รัชทายาท


อาศัยข้ออ้างนี้ อันธพาลการเมืองและกำลังตำราจ ตชด. ได้บุกโจมตีเข้าไปธรรมศาสตร์ ในเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม


สิ่งที่ตามมาคือ การฆ่าหมู่กลางเมืองที่ป่าเถื่อนที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย


หลังเหตุการณ์นั้น ชวน หลีกภัย เอง กับเพื่อน “ปีกซ้าย” ประชาธิปัตย์ อย่างสุรินทร์ มาศดิษถ์ บิดาของคุณหญิงสุพัตรา ต้องหลีกหนีภัยการเมืองขวาจัดกลับไปบ้านเกิดทางใต้ คุณสุรินทร์ต้องหนีไปบวช ขณะที่ ชวน หันไปจับปากกา เขียนสารคดีชุด “เย็นลมป่า” เพื่อเตือนให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า ผลจากการปราบปรามครั้งนั้น ได้ผลักดันให้คนดีๆจำนวนมาก ไม่มีทางเลือกทางอื่น นอกจากเข้าป่าจับปืนขึ้นสู้


34 ปีผ่านไป โดยการคอยยุเชียร์ของชวน หลีกภัย ที่ตอนนี้ สวมวิญญาณเหยี่ยวการเมืองกระหายเลือดเสียเอง รัฐบาลประชาธิปัตย์ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กำลังดำเนินการสร้างภาพ “ละครแขวนคอ” ชุดใหม่ เพื่อเตรียมใช้กำลังติดอาวุธเข้าปราบผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์


“ภาพละครแขวนคอ” ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งนี้ แม้หน้าตาภายนอกจะต่างออกไปจาก “ภาพละครแขวนคอ” ครั้งก่อน แต่เนื้อหาไม่ต่างกัน คือ ออกมาในรูปของ “แผนภูมิ” ของสิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เรียกว่า “เครือข่ายล้มเจ้า” ที่เผยแพร่โดย ศอฉ. เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา


ที่ไม่ต่างกันเลยคือ การใช้ข้อหาว่า มีการล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้น โดยที่ข้อหานั้น ไม่เป็นความจริงเลย (เช่นเดียวกับที่ ไม่เคยมีการเล่นละครแขวนคอหุ่นหรือคนที่แต่งหน้าเป็นองค์รัชทายาท ในสมัยนั้น ในปัจจุบัน ก็ไม่มี “เครือข่าย” เพื่อการ “ล้มเจ้า” แต่อย่างใด)


และจุดมุ่งหมายของ “ภาพละครแขวนคอ” ครั้งนี้ ก็เหมือนกันกับครั้งก่อน คือ เพื่อปูทาง เป็นข้ออ้างสำหรับการฆ่ากลางเมือง


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โชคดีที่โตไม่ทัน เมื่อมีเหตุการณ์ 6 ตุลา จึงไม่ต้องผ่านประสบการณ์ที่มีลักษณะ “บาดแผลร่วม” (collective trauma) ของสังคมไทย ที่เจ็บปวดและร้าวลึกอย่างไม่อาจบรรยายได้ ที่เป็นผลตามมาจากเหตุการณ์นั้น


เสียดายที่ ชวน หลีกภัย ครูการเมืองของอภิสิทธิ์เอง ได้เสียสติ เสียความจำไปเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผมหวังอย่างยิ่งว่า วินาทีนี้ ยังไม่สายเกินไป ที่ อภิสิทธิ์ จะตั้งสติ คิดถึงผลที่จะตามมา ของสิ่งที่เขากำลังตระเตรียมทำอยู่นี้


อันที่จริง ถ้าเพียงแต่ผมเป็นหนึ่งใน “เครือข่ายล้มเจ้า” จริง และถ้าเพียงแต่ผมจะต้องการอำนาจอย่างไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้นในลักษณะเดียวกับที่อภิสิทธิ์กำลังหวงอำนาจของตัวเอง, ผมควรยุเสียด้วยซ้ำว่า Bring It On “เอาเลยครับ” รีบทำขั้นตอนต่อไป หลังจากแต่งภาพ “ละครแขวนคอ” (เผยแพร่ “แผนภูมิเครือข่ายล้มเจ้า”) ไปแล้ว แบบเดียวกับที่พวกขวาจัด ทำต่อไปหลังโฆษณาภาพ “ละครแขวนคอ” ของพวกเขาเมื่อ 34 ปีก่อน


เพราะผมเชื่อแน่นอนว่า ถ้าอภิสิทธิ์ทำเช่นนั้น ไม่เพียงแต่ผู้คนจะตายเป็นเบือ แต่สิ่งที่จะตามมา จะเป็นการเริ่มต้นของจุดจบ ไม่เพียงของอภิสิทธิ์เอง แต่ของ “เครือข่าย” จริงๆ ที่หนุนหลังอภิสิทธิ์ตอนนี้ด้วย

No comments:

Post a Comment